เดวิส ฟอสเตอร์ วอลเลซ – สูงส่งสู่สามัญ มหัศจรรย์แห่งภาษา และคุณค่าของปัจเจกในสังคมสูตรสำเร็จ

wallace600.jpg

เดวิส ฟอสเตอร์ วอลเลซ – สูงส่งสู่สามัญ มหัศจรรย์แห่งภาษา และคุณค่าของปัจเจกในสังคมสูตรสำเร็จ

สฤณี อาชวานันทกุล                                                                                                           

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Openbooks Review no. 2 (2553)

“This is so American, man: either make something your god and cosmos and then worship it, or else kill it.”

(พฤติกรรมที่เป็นอเมริกันมากๆ คือถ้าไม่อุปโลกน์ให้อะไรสักอย่างเป็นพระเจ้าหรือจักรวาลของคุณสำหรับกราบไหว้บูชา ก็ฆ่ามันซะ)

ในประสบการณ์การอ่านในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อย เครียด ปวดหัว ท้าทาย อัศจรรย์ใจ และสุขใจระคน แต่ถึงอย่างไรก็วางไม่ลงทุกครั้งที่เปิดอ่าน เท่ากับ Infinite Jest (ยั่วล้อไม่รู้จบ) หนังสือหนาและหนักทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม กว่าจะอ่านจบก็ต้องขอเวลานอกด้วยการสลับฉากไปอ่านหนังสือเล่มอื่นนับครั้งไม่ถ้วน

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะอธิบายความมหัศจรรย์ของหนังสือเล่มนี้ได้เพียงใด จะสรุปเนื้อเรื่องก็คงไม่ช่วยอะไร เพราะ Infinite Jest เป็นหนังสือส่วนน้อยที่ ‘เนื้อหา’ สำคัญน้อยกว่า ‘ประสบการณ์’ การอ่านชนิดเทียบกันไม่ติด

หวนนึกถึงเวลาเที่ยวสวนสนุกจนลืมเวลา สมองเล็กๆ ในวัยเยาว์จำรายละเอียดได้ไม่ครบว่าเล่นอะไรไปบ้างและเล่นกี่รอบ ฉากของเครื่องเล่นเหล่านั้นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำคือความรู้สึกสนุก เจือด้วยความเสียดายที่ต้องเลิกเล่น แต่ก็โล่งอกที่อาการหวาดเสียวขาสั่นตอนอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกาจะไม่หวนคืนมาอีก จนกว่าพ่อแม่จะพามาเที่ยวใหม่

Infinite Jest ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้น

ราวกับว่าวอลเลซเอาแว่นขยายกำลังสูงไปส่องดูวิถีชีวิตอเมริกันชนยุคปลายศตวรรษที่ 20 ชอนไชลงไปถึงก้นบึ้งของจิตใต้สำนึกว่าพวกเขาหมกมุ่นกับอะไรบ้าง กระแสที่มีอำนาจครอบงำสังคมสูงสุดคืออะไร ล้วงทั้งหมดนั้นออกมาขยายเป็นรูปธรรมของอนาคตอันใกล้ให้เราสัมผัสอย่างจะจะ ในมหากาพย์ที่ ‘เหนือจริง’ จนเปิดพื้นที่ให้วอลเลซได้บรรเลงอัจฉริยภาพทางภาษา ความเป็นพหูสูตร และอารมณ์ขันอันเหลือร้ายของเขาอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ ‘สมจริง’ พอจะทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ต่างๆ และมองสังคมด้วยสายตาใหม่หลังจากอ่านจบ

สายตาที่วอลเลซดูคล้ายจะวาดหวังผ่านตัวหนังสือของเขาว่า จะมีความลุ่มลึกและยาวไกลกว่าเดิม

อเมริกาปี 2014 ในโลกเสมือนที่สมจริงของวอลเลซ คืออเมริกาที่กระแสนิยมของวงการบันเทิงและมหกรรมบริโภคนิยมพุ่งพรวดถึงขีดสุด แปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ปี ค.ศ. บริษัทยักษ์ใหญ่แข่งกันซื้อ ‘สิทธิในการตั้งชื่อปี’ จากรัฐบาล (ถึงตอนนั้นทุกประเทศบนทวีปอเมริกาเหนือได้รวมตัวเป็นรัฐเดี่ยวชื่อ Organization of North American Nations ย่อว่า ONAN) เช่น “ปีแห่งผลิตภัณฑ์นมจากใจกลางอเมริกา” (Year of Dairy Products from the American Heartland) หรือ “ปีแห่งเครื่องล้างจานยี่ห้อเมย์แท็กที่เดินอย่างเงียบกริบ” (Year of the Whisper-Quiet Maytag Dishmaster) เทคโนโลยีผลิตความบันเทิงรุดหน้าจนฉุดผู้คนให้จมปลักกับการคิดเล็กคิดน้อย หมกมุ่นกับความต้องการส่วนตัวที่จุกจิกยิบย่อยยิ่งกว่าในโลกจริง

ในโลกนี้ ขบวนการสิ่งแวดล้อมล่มสลายลงอย่างบริบูรณ์ (Infinite Jest ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1996 – นานนับสิบปีก่อนที่ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้นจนเป็นทั้งกระแสและแฟชั่น ชุบชีวิตขบวนการสิ่งแวดล้อมให้มีพลังอีกครั้ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาและตะวันออกเฉียงใต้ของแคนาดากลายเป็นที่ทิ้งขยะมีพิษขนาดมหึมา ชาวอเมริกันเรียกว่า “อภิมหาเบ้า” (Great Concavity) แต่ชาวแคนาดากลับเรียกว่า “อภิมหาเนิน” (Great Convexity) เพราะอเมริกากำจัดขยะในเขตตัวเองด้วยการให้เครื่องตักขยะขนาดยักษ์ใกล้กรุงบอสตันตักขยะมีพิษ เหวี่ยงข้ามพรมแดนเข้าไปในแคนาดาเป็นระยะๆ

โลกของ Infinite Jest อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของหลากหลายปัจเจกและครอบครัวของพวกเขาที่วอลเลซแนะนำให้เรารู้จักอย่างน่าเวียนหัวและจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก พล็อตใหญ่ พล็อตรอง และพล็อตย่อยวาดลวดลายทับซ้อนกันไปมาจนนับไม่หวาดไม่ไหวว่ามีกี่พล็อต (เผลอๆ อาจถึงร้อย) การสลับฉากไปมาระหว่างตัวละครเหล่านี้ให้ความรู้สึกคล้ายกับการกดรีโมทเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ทุกๆ 60 วินาที งานอดิเรกประจำชาติของคนอเมริกันที่วอลเลซทั้งล้อเลียนและท้าทายด้วยหนังสือหนาหนึ่งพันหน้า

…There’s an unignorable line between demonstrating skill and charm to gain trust for the story vs. simple showing off.

(มีเส้นที่เราละเลยไม่ได้ที่ขีดคั่นระหว่างการแสดงทักษะและเสน่ห์เพื่อดึงดูดให้คนอ่านเชื่อใจในเนื้อเรื่อง กับการแค่อยากอวดเก่งเฉยๆ)

พล็อตใหญ่ของ Infinite Jest มีสามพล็อตที่พัวพันกันตลอดเล่ม พล็อตแรกว่าด้วยเรื่องราวของคนในตระกูลอินคันเดนซา (Incandenza) อันมีชื่อเสียงในวงสังคมว่าเต็มไปด้วยปัญญาชนชั้นหัวกะทิ หัวหน้าตระกูลชื่อเจมส์ ประดิษฐ์เครื่องมือเกี่ยวกับสายตาจนร่ำรวย ใช้ชีวิตวัยเกษียณเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ท้าทายศีลธรรมแนว อาวอนท์-การ์ด เช่น ศตวรรษอเมริกัน ชื่อหนังสือคือ ยั่วล้อไม่รู้จบ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เจมส์สร้าง ภรรยาของเขาชื่อเอวริล (อ่านว่า เอ-วริล) เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างภาษา เรื่องราวของเธอ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเพศที่ผันแปรไม่แน่นอน เป็นจุดโฟกัสจุดหนึ่งให้วอลเลซถ่ายทอดความรักในภาษาอังกฤษและความเชี่ยวชาญอย่างน่าทึ่งของเขาในการ ‘เล่น’ กับภาษา ราวกับว่ามันเป็นดินเหนียวที่เขาจะหยิบมาปั้นให้เป็นอะไรก็ได้

เจมส์กับเอวริลมีลูกสามคน ลูกชายคนสุดท้องชื่อ ฮาล กล่าวได้ว่าเป็น ‘ตัวเอก’ ของเรื่องถ้าวัดจากปริมาณเนื้อหาที่พูดถึงเขา ฮาลเป็นอัจฉริยะด้านเทนนิส อ่านพจนานุกรมฉบับอ็อกซ์ฟอร์ดและชอบแก้ไวยากรณ์ของคนรอบตัวเป็นงานอดิเรก (อีกหนึ่งโอกาสให้วอลเลซบรรเลงพรสวรรค์) ตั้งแต่เด็ก ชีวิตของฮาลโดยเฉพาะบนสนามเทนนิสดูจะล้อเลียนความเชื่อของชาวอเมริกัน (และปรัชญาตะวันตกโดยรวม) ว่าเสรีภาพคือคุณค่าสูงสุดที่มนุษย์ควรเชิดชู เพราะแทบทุกเมื่อที่เขาเดินออกไปพ้นกรอบกติกาบนสนามเทนนิส ฮาลจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองจนบ่อยครั้งต้องหันไปพึ่งยา ทุกข์ทรมานกับความเบาหวิวของชีวิตจนเปล่าเปลี่ยวและแปลกแยกกับผู้คนเกินเยียวยา

พล็อตที่สองคือชีวิตของ ดอน เกตลีย์ อดีตนักย่องเบาผู้เคยติดยาแก้ปวดขนาดหนักจนแทบถอนตัวไม่ขึ้น ผันตัวมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาประจำสถานบำบัดผู้ติดสุราและยาเสพติด ชีวิตของเกตลีย์กับคนในตระกูลอินคันเดนซาเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมหาศาล การที่วอลเลซเลือกที่จะถ่ายทอดชีวิตของคนที่ต่างฐานะกันมากแบบล้อกันไปมาตลอดเล่ม ก็เป็นโอกาสให้เขาได้แสดงความเชี่ยวชาญตลอดทั้งพรมแดนของภาษา นับจากภาษาดอกไม้ของชนชั้นสูง ไปจนถึงสำนวนขากถุยของชนชั้นติดดินอย่างเกตลีย์

พล็อตที่สามซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือ เล่าเรื่องของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวควีเบค (รัฐหนึ่งของแคนาดาในปัจจุบัน ประชากรพูดภาษาฝรั่งเศสเพราะเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) ที่พยายามตามหาฟิล์มฉบับมาสเตอร์ของภาพยนตร์ในตำนานเรื่อง ยั่วล้อไม่รู้จบ เพราะร่ำลือกันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สนุกเสียจนทำให้คนดูทุกคนกลายเป็นทาสบันเทิงติดโซฟา หมดความสนใจที่จะทำอะไรอย่างอื่นนอกจากดูมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้แต่เจมส์ อินคันเดนซา ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ก็เพลิดเพลินจนเตลิดเปิดเปิงไปฆ่าตัวตายด้วยวิธียื่นหัวตัวเองเข้าไปช็อตในตู้อบไมโครเวฟ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต้องการหาตัวมาสเตอร์มาปั๊มเพื่อเผยแพร่เป็นอาวุธ เพื่อกดดันรัฐบาลแคนาดาให้แยกตัวออกมาจาก ONAN และกดดันให้รัฐบาลสหรัฐเลิกยึดครองดินแดนของแคนาดาด้วยการโยนขยะมีพิษมาถมที่

กลุ่มชาวควีเบคเรียกตัวเองว่า Wheelchair Assassins (มือสังหารนั่งรถเข็น) เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีขา ที่ไม่มีขาก็เพราะตอนเด็กๆ พวกเขาเล่นเกมข้างรางรถไฟ ท้ากันให้กระโดดตัดหน้ารถไฟที่กำลังแล่นมา เกมนี้ทำให้เด็กหลายคนถูกรถไฟชนตาย ถ้าไม่ตายก็พิการตลอดชีวิต

‘เกม’ ที่อันตรายถึงชีวิตแต่คนก็ไม่ยอมเลิกเล่นทำนองนี้ เป็นหนึ่งในธีมหลักของ Infinite Jest และเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของ ‘ตลกร้าย’ ที่วอลเลซสรรหามาท้าทายความอดทนของคนอ่านอย่างสม่ำเสมอตลอดเล่ม

“The great thing about irony is that it splits things apart, gets up above them so we can see the flaws and hypocrisies and duplicates.”
(ตลกร้ายยอดมากตรงที่มันผ่าสิ่งต่างๆ ออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่ไปเหนือมัน ให้เรามองลงมาเห็นข้อบกพร่องและการเสแสร้งและการลอกเลียนทั้งหลาย)

หากจะต้องจัดประเภทว่ามันเป็นนิยาย ‘แบบ’ ไหน หลายคนลงความเห็นว่า Infinite Jest ถ้าไม่ใช่นิยาย “โพสต์โมเดิร์น” ก็ต้องจัดเป็นนิยาย “ดิสโทเปีย” แนว Brave New World ของ อัลดัส ฮักซเลย์ (Aldous Huxley) หรือ Gravity’s Rainbow ของ ธอมัส พินชอน (Thomas Pynchon)

แต่ผู้เขียนคิดว่า Infinite Jest ไม่ใช่ทั้งโพสต์โมเดิร์นและดิสโทเปีย เพราะมันทำให้คนอ่านหัวเราะมากเกินไป ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นขันขื่น และทำให้คนอ่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจในตัวละครมากเกินไป ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อว่าเราไม่มีวันประสบเหตุการณ์เหล่านั้นในโลกจริง

มหากาพย์เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนมองเห็น “ตลกร้าย” ของชีวิตยุคดิจิตอล ไม่ใช่ด้วยการทำให้รู้สึกคลื่นเหียนจนอยากออกไปสำรอกอิทธิพลของบริโภคนิยมออกมาจนหมดไส้หมดพุงเหมือนกับหนังสือเรื่อง Naked Lunch ของ William S. Burrough ไม่ใช่ด้วยการทำให้รู้สึกว่าโดนกระแทกกลางแสกหน้าเหมือนกับ Fight Club ของ ชัค พาลานุค (Chuck Palaniuk) และไม่ใช่ด้วยการบรรยายชีวิตจริงของวัยรุ่นข้างถนนที่โลกลืมเหมือนกับ Trainspotting ของ เออร์ไวน์ เวลช์ (Irvine Welsh) แต่ด้วยอารมณ์ขัน ตลกร้าย และความเอื้ออาทรในเพื่อนมนุษย์ ที่ทำให้ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ เป็น “นักมนุษยนิยม” ในความหมายที่ดีที่สุดของคำคำนี้

จุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนคิดว่าเขาเป็นนักเขียนที่สืบทอด ‘จิตวิญญาณ’ และ ‘พรสวรรค์’ ของ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกันยุคปลายศตวรรษที่ 19 ผู้ยิ่งใหญ่ ได้อย่างหมดจดที่สุด ทั้งด้านที่เป็นสากลในฐานะเสรีชนผู้ห่วงใยสังคม และด้านที่สะท้อนความหมกมุ่นของอเมริกันชนมาช้านาน – เจตจำนงที่จะค้นหา ‘ตัวตน’ อันเป็นอิสระ ในสังคมที่เชิดชูความเป็นปัจเจกแต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยสลัดพ้นสูตรสำเร็จของ “ดิ อเมริกัน ดรีม” รวมถึงบูชาความเท่าเทียมทางโอกาสแต่ก็ไม่เคยสลัดพ้นอคติเหยียดผิวที่ฝังรากลึก (อย่างน้อยก็ในยุคของทเวน ขณะที่เขาแต่งเรื่อง The Adventures of Huckleberry Finn)

ไม่น่าเชื่อว่า มาร์ค ทเวน ยุคปลายศตวรรษที่ 20 จะเผยโฉมเพียงนิยายเล่มที่สองในชีวิตผู้ประพันธ์ ตีพิมพ์ขณะที่เขามีอายุ 33 ปี เป็นหนังสือหนา 1,097 หน้า รวมเชิงอรรถขนาดสั้นและยาวที่นับรวมกันเกินร้อยหน้า (วอลเลซเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาใช้เชิงอรรถเป็นเครื่องมือ ‘ก่อกวน’ ไม่ให้เนื้อหาเดินเป็นเส้นตรงมากเกินไป แต่ผู้เขียนคิดว่าเขาใช้พื้นที่นี้แสดงกลเม็ดพราวพรายทางภาษาด้วย) ที่เสริมแต่งให้เรื่องเหนือจริงมีรายละเอียดสมจริงมากขึ้น Infinite Jest ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์แทบทุกค่าย วารสาร ไทม์ ถึงกับขนานนามว่าเป็นหนึ่งในนิยาย 100 เล่มที่ดีที่สุดระหว่างปี 1923-2006

ถ้าหากความรุ่มร่ามของภาษา(ที่จงใจ)และความเพี้ยนหลุดโลกของตัวละคร(ที่จงใจยิ่งกว่า)หลายคนใน Infinite Jest จะกลบความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ของวอลเลซจนมองแทบไม่เห็น คุณสมบัติข้อนี้ของเขาก็ฉายแววอย่างชัดเจนในบทความสารคดีต่างๆ ที่เขาเขียนหลังจากนิยายเล่มนี้ออกตีพิมพ์

เมื่อวอลเลซนำพรสวรรค์ในการเขียนและความเป็นพหูสูตรที่สร้างชื่อตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี (ที่มหาวิทยาลัยแอมเฮิร์ทซ์ เขาเลือกเอกอังกฤษและปรัชญา เน้นตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์) มาสู่การถ่ายทอดความจริงจากโลกจริง แทนที่ความจริงจากโลกเหนือจริง ก็ไม่แปลกที่บทความสารคดีของวอลเลซจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางกว่านิยายชิ้นเอกของเขา (ซึ่งมีแฟนพันธุ์แท้จำนวนไม่น้อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่หนอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีเวลาอ่านหนังสือหนาหนักและชอบแข่งกัน ‘ถอดรหัส’ ข้อมูลและข้อความปริศนาต่างๆ ใน Infinite Jest)

Maybe there should be a word; maybe being able to communicate with people outside one’s area of expertise should be taught, and talked about, and considered as a requirement for genuine expertise.

(ผมว่าบางทีเราน่าจะมีคำ บางที ความสามารถในการสื่อสารกับคนนอกสาขาที่ตัวเองเชี่ยวชาญน่าจะเป็นทักษะที่เราสอนกันในโรงเรียน อภิปรายกัน และยกย่องให้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราจะเรียกว่า ความเชี่ยวชาญที่แท้)

หนังสือรวมบทความเล่มสุดท้ายในชีวิต คือ Consider the Lobster (2005) เป็นกระจกเงาที่สะท้อนความคิด ความรักในภาษา และความเป็นนักมนุษยนิยมของวอลเลซได้อย่างแจ่มชัด วิธีเขียนของเขาคือเลือกหัวข้อที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไร้สาระหรือไม่น่าสนใจ คัดแต่เฉพาะหัวข้อที่เขามีประสบการณ์ตรง จะได้สามารถพลิกดูมันอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากทุกแง่มุมด้วยความอดทนและอยากรู้อยากเห็นเกินคนทั่วไป จนความไม่ธรรมดาที่ฝังแฝงอยู่ในความธรรมดาสามัญค่อยๆ ปรากฏให้เรารับรู้ผ่านปลายปากกาของเขา ด้วยเหตุนั้น เราจึงเข้าใจอารมณ์ขันของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยมอันหนักอึ้ง พร้อมกับวิธีสอนหนังสือของวอลเลซในเนื้อที่ 3,000 คำ รับรู้ความหมายของโศกนาฎกรรม 9/11 ต่อชีวิตคนเดินดินในอเมริกา (เรื่องนี้วอลเลซเขียนคำเตือนก่อนเริ่มเรื่องอย่างห่วงใยคนอ่านว่า “เขียนเร็วมากในภาวะที่น่าจะเข้าข่าย ‘ช็อค’”) และได้เรียนรู้วิถีธุรกิจและชีวิตวงในของอุตสาหกรรมหนังโป๊ เมื่อวอลเลซเดินทางไปทำสารคดีเกี่ยวกับรางวัล “ภาพยนตร์โป๊ดีเด่นแห่งปี” และรายงานอย่างตื่นเต้นให้เรารู้ว่า คำว่า “mook” เป็นสำนวนที่ชาวอุตสาหกรรมนี้เรียกคนติดหนังโป๊, “woodman” หมายถึง “พระเอกที่เชื่อมือได้ว่านกเขาจะขันตลอด” และ “money” ก็เป็นคำแสลงที่หมายถึงจุดสุดยอดของผู้ชาย บทความเรื่องนี้เพียบพร้อมด้วยเชิงอรรถที่น่าขบขันมากมาย ทั้งตลกแบบอมยิ้มและตลกโปกฮา อาทิ “คุณ จัสมิน เซนต์ แคลร์ ยอมให้ปั๊มก๊าซบิวเทนผ่านท่อพีวีซีเข้าไปในลำไส้ใหญ่ของเธอเพื่อจะได้พ่นไฟออกมาทางก้น สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Blow it Out Your Ass” (พ่นมันออกมาทางก้น) ของสตูดิโอ ครีม โปรดักชั่นส์”

ความเป็นนักมนุษยนิยมของวอลเลซปรากฏในความใส่ใจของเขาที่ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกับมนุษย์ทุกผู้นามที่เขาเขียนถึง ไม่ว่าจะในโลกจริงหรือโลกในจินตนาการ ไม่เว้นแม้แต่กับสัตว์ด้วย – ในบทความชิ้นเอกเรื่อง Consider the Lobster (ลองคิดถึงกุ้งมังกร) ชื่อเดียวกับหนังสือ วอลเลซเบนเข็มจากการถ่ายทอดบรรยากาศของเทศกาลกุ้งมังกรในรัฐเมนอย่างรวดเร็วด้วยการตั้งคำถามว่า “เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือที่จะต้มสัตว์ที่มีความรู้สึกทั้งเป็น เพียงเพื่อความเพลิดเพลินทางชิวหาของเราเท่านั้น?” และไล่เรียงข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทกุ้งมังกร ราวกับว่าลำพังคำถามนี้จะไม่กระตุกใจคนอ่าน ไม่น่าแปลกใจที่บทความชิ้นนี้ของวอลเลซจะถูกโจมตีอย่างหนักจากผู้อ่านนิตยสาร กูร์เมต์ ซึ่งตีพิมพ์บทความชิ้นนี้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการ ‘ก่อกวนมโนสำนึก’ อันเป็นงานถนัดของวอลเลซนั้น ไม่ควรเป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของนักเขียนผู้รุ่มรวยอารมณ์ขันอย่างเขา

I’ve found the really tricky discipline to writing is trying to play without getting overcome by insecurity or vanity or ego. 

(ผมพบว่าวินัยที่สร้างยากมากในการเขียน คือการพยายาม ‘เล่น’ โดยไม่ถูกความรู้สึกไม่มั่นคงหรือโอหังหรืออัตตาเข้าครอบงำ)

ในบทความเรื่อง Up, Simba (เปลี่ยนชื่อจาก The Weasel, Twelve Monkeys And The Shrub ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เดอะ โรลลิ่ง สโตน) วอลเลซสำแดงทั้งพลังของนักเขียนและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นในการเมืองอเมริกัน เมื่อเขาลงสนามติดตามคณะหาเสียงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันของ จอห์น แมคเคน (John McCain) ในปี 2000 ก่อนพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดให้กับ จอร์จ บุช (George Bush) ผู้ลูก เขียนบทความที่จริงใจและซื่อสัตย์เกี่ยวกับนักการเมืองที่จริงใจและซื่อสัตย์ไม่แพ้กัน แถมท้ายด้วยอภิธานศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ –

“เงินมัด (Bundled Money) – วิธีหลบเลี่ยงกฎของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่ให้คนธรรมดาบริจาคเงินเกิน 1,000 เหรียญให้กับแคมเปญหาเสียงของนักการเมือง ผู้บริจาคสามารถบอกว่า 1,000 เหรียญแรกเป็นเงินที่เขาบริจาคเอง อีก 1,000 มาจากภรรยา อีก 1,000 มาจากลูก อีกก้อนหนึ่งมาจากคุณน้าเอ็ดนา ฯลฯ กลเม็ดที่ชอบใช้กันคือประกาศให้ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ เป็น “ผู้บุกเบิก” (Pioneers) แต่ละคนปวารณาว่าจะระดมทุน 100,000 เหรียญให้กับแคมเปญของบุช โดย 1,000 เหรียญในนั้นมาจากพวกเขาแต่ละคน อีก 99 ก้อนมาจากพนักงานที่บริจาคให้ “โดยสมัครใจ” แมคเคนประกาศจุดยืนชัดเจนว่าแคมเปญของเขาไม่รับเงินแบบนี้”

We all suffer alone in the real world; true empathy’s impossible.

(เราทุกคนล้วนทนทุกข์ทรมานอย่างเดียวดายในโลกจริง การเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างแท้จริงนั้นเป็นไปไม่ได้)

เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ อัจฉริยะนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้อาจเป็นนักเขียนแนวมนุษยนิยมคนสุดท้ายของยุคปลายศตวรรษที่ 20 ผูกคอตายในวันที่ 12 กันยายน 2008 สิริอายุรวม 46 ปี ภรรยาของเขาเป็นผู้พบศพ

บิดาของวอลเลซเปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ค ไทมส์ ว่า วอลเลซทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้ายาวนานกว่าสองทศวรรษ พลังที่ดูเหลือเฟือของเขาในการเขียนหนังสือส่วนหนึ่งมาจากยาต้านอาการซึมเศร้าที่เขาต้องใช้เป็นประจำ อาการของโรครุนแรงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะผูกคอตาย

ความตายของวอลเลซทำให้ผู้เขียนกระหวัดถึงความนัยของ Infinite Jest ที่ว่า ผู้อ่านอาจเป็นตัวตลกเสียเอง เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่มีไคลแมกซ์ (ความที่มัน ‘ยั่วล้อไม่รู้จบ’)

แต่ถ้าผู้เขียนจะเป็นตัวตลกในสายตาของเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ ผู้เขียนก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง

เพราะอย่างน้อย วอลเลซก็ช่วยทำให้มองเห็น ‘กรง’ ที่กักขังเราทุกคน และหัวเราะให้กับมันได้อย่างเต็มภาคภูมิขณะหยิบยื่นไมตรีจิตให้กับนักโทษด้วยกัน

ขอภาวนาให้ดวงวิญญาณของนักเขียนที่รักล่วงสู่สัมปรายภพ.

หมายเหตุ: อ่านบทแปลสุนทรพจน์ของ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ กล่าวในวันรับปริญญาของวิทยาลัยเคนยอน วันที่ 21 พฤษภาคม 2005 ได้ใน “วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, สนพ. โอเพ่นบุ๊คส์, 2551.