กลอนเก่าเล่าใหม่ / ธรรมเนียมอวยพร

แด่ มิตรบัณฑิต 2539

เรียบเรียงถ้อยร้อยกรองแด่ผองเพื่อน
แด่วันเดือนผันผ่านเฉกธารใส
แด่ชีวิตวันวานอันเยาว์วัย
แด่น้ำมิตรแจ้งใจไม่จืดจาง
ในวาระเรียนจบครบปีสี่
ปัญญามีช่วยรัฐเข้าขัดขวาง
มิจฉากรทรฤทธิ์ทุกทิศทาง
ขอสรรค์สร้างพรชัยจากใจจริง […]

แด่ มิตรบัณฑิต 2539

เรียบเรียงถ้อยร้อยกรองแด่ผองเพื่อน
แด่วันเดือนผันผ่านเฉกธารใส
แด่ชีวิตวันวานอันเยาว์วัย
แด่น้ำมิตรแจ้งใจไม่จืดจาง
ในวาระเรียนจบครบปีสี่
ปัญญามีช่วยรัฐเข้าขัดขวาง
มิจฉากรทรฤทธิ์ทุกทิศทาง
ขอสรรค์สร้างพรชัยจากใจจริง
ไม่ขอบุญคุณไสยใดใดช่วย
หากจะอวยพรให้หัวใจสิงห์
ไม่คอยง้อขอใครไม่ประวิง
หากพักพิงพึ่งตนบนสองมือ
ไม่ขอดลเงินตรามหาศาล
หากจงพานพบสุขทุกข์อย่าถือ
ไม่ขอเทพอวยชัยให้ระบือ
หากเลื่องลือด้วยจิตคิดชอบธรรม์
ไม่บันดาลสังขารยืนฝืนวิสัย
หากจงใช้ชีพกู้ผู้โศกศัลย์
ปริญญามีกี่ใบไม่สำคัญ
เท่าความฝันจงได้ดังใจปอง.

ค้นพบกลอนเ่่ก่าบทนี้ตอนจัดห้องเมื่อวาน เขียนให้เพื่อนๆ เนื่องในโอกาสวันรับปริญญาตรี 9 ปีมาแล้ว อ่านแล้วก็รู้สึกว่าถ้าให้เขียนใหม่วันนี้ ก็คงเขียนเหมือนเดิม (ยกเว้นท่อนที่บอกว่าอยากให้ช่วยรัฐกำจัดคนชั่ว เพราะปัจจุบันดูเหมือนรัฐจะเป็นแหล่งชุมนุมคนชั่วเสียเอง) เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเป็นส่วนประกอบของ “พร” ที่แท้จริงนั้นมันก็ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะความคิดว่าคนเราไม่ควรได้อะไรมาฟรีๆ โดยไม่ลงแรง หรือโดยปราศจากความชอบธรรม ข้าพเจ้าไม่อยากอวยพรให้เพื่อนๆ ประสบความสำเร็จ หากความสำเร็จของเขามาจากการเอาเปรียบผู้อื่น เมื่อเร็วๆ นี้อ่านหนังสือ ธรรมะทำไม ของท่าน ว. วชิรเมธี ได้ความรู้ใหม่ว่าจริงๆ แล้วคำว่า “อธิษฐาน” ในศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้หมายถึงการ “ขอพร” อย่างที่นิยมใช้ในภาษาไทย แต่หมายถึงการตั้งปณิธาน วางเป้าหมายในอนาคตแล้วจึงลงมือทำ โดยมีธรรมะประจำใจ พอมาอ่านกลอนบทนี้ก็เลยทำให้รู้สึกภูมิใจนิดๆ ว่า ตัวเองได้ช่วย “สร้างพร” ให้เพื่อนๆ ตามหลักศาสนาที่แท้จริงโดยไม่รู้ตัว 🙂