เหรียญบาท
— ๑ —
เศรษฐีใหญ่จ่ายอาหารในร้านหรู
ใบเสร็จดูเสร็จสรรพจับกระเป๋า
พบเหรียญถ่วงขุ่นใจไม่อยากเอา
เหรียญบาทเก่าเทใส่ในถาดเงิน
— ๒ —
บริกรยกถาดกวาดเหรียญเก็บ
กระเป๋าเหน็บเทใส่ไม่ขัดเขิน
เลิกงานผ่านขอทานนั่งโดยบังเอิญ
เหรียญบาทเกินตัดใจให้เป็นทาน […]
เหรียญบาท
— ๑ —
เศรษฐีใหญ่จ่ายอาหารในร้านหรู
ใบเสร็จดูเสร็จสรรพจับกระเป๋า
พบเหรียญถ่วงขุ่นใจไม่อยากเอา
เหรียญบาทเก่าเทใส่ในถาดเงิน
— ๒ —
บริกรยกถาดกวาดเหรียญเก็บ
กระเป๋าเหน็บเทใส่ไม่ขัดเขิน
เลิกงานผ่านขอทานนั่งโดยบังเอิญ
เหรียญบาทเกินตัดใจให้เป็นทาน
— ๓ —
กระยาจกงกเงิ่นเดินกุมขัน
กำเหรียญมั่นพลางตั้งจิตอธิษฐาน
เดินเข้าวัดสู่ตู้หน้าพระประธาน
เหรียญบาทซ่านเหงื่อชื้นฝืนใจคลาย
— ๔ —
เศรษฐีิหย่อนแบ๊งค์ใหม่ใบละร้อย
ไม่หยุดคอยชมแรงแสงแดดฉาย
แบ๊งค์กระดาษไม่เืรืองรองส่องประกาย
เหรียญบาทปลายโลหะสะท้อนแวว.
กลอนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายสัปดาห์ เมษายน 2540 ผ่านไปแล้วกว่า 8 ปี แต่็ดูเหมือนความจริงในสังคมยังไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่ คนมีเงินน้อยก็มักทำบุญในสัดส่วนต่อรายได้ที่มากกว่าคนรวยล้นฟ้า น่าจะมีนักเศรษฐศาสตร์ทำวิจัยเรื่องความอยากทำบุญ (propensity to ‘perform merit’) ของคนจนเทียบกับคนรวย ผลที่ออกมาคงน่าตกใจกว่าตัวเลข Gini coefficient (ค่าแสดงความไม่เท่าเทียมของรายได้) ของเมืองไทยหลายเท่า
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้สามารถโลภได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพราะกระเพาะ และอายุขัยของมนุษย์ต่างก็ไม่ได้ขยายตัวตามเงินทองที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ