การขาดดุล – ปัญหาแท้หรือเทียม? มุมต่างมองระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กับนักบริหารเงิน

เห็นนักเศรษฐศาสตร์มืออาชีพอย่างคุณ kickoman โพสต์ “การบ้าน” น่าคิดในบล็อกสองข้อแล้วก็อดรู้สึกคันไม้คันมือไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมีปัญญาจะไปร่วมวงสนทนากับท่านด็อกเตอร์ทั้งหลายหรอกค่ะ แต่เพราะคำถามของคุณ kickoman ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดดุลของประเทศ ทำให้นึกถึง “มุมต่างมอง” ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ และคนที่อยู่ในแวดวงการเงิน เช่นนักบริหารเงินมืออาชีพ เกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” จากการเคลื่อนไหวระดับโลกของทุน และภาวะการขาดดุลหรือเกินดุลของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน

มุมต่างมองนี้น่าสนใจ เพราะเป็นจุดที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีวิวาทะร่วมกันมากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายแรกมักจะ “กลัว” เกินไป ในขณะที่ฝ่ายหลังก็มักจะ “กล้า” เกินไป ถ้าทั้งสองวงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยๆ ก็อาจมาบรรจบกันตรง “ทางสายกลาง” ที่ทำให้เราอธิบายพฤติกรรมของทุน และระบบเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นมากขึ้น

ส่วนหนึ่งจาก คำตอบของคุณ corgiman ต่อการบ้านของคุณ kickoman อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเล่าเรื่องในวันนี้:

โดยธรรมชาติของตัวผม ..ผู้เชื่อมั่นอย่างสนิทใจในกลไกตลาดเสรี ว่ามีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมแทบจะไม่กังวลใจสักนิดเลยว่า นี่จะเป็นปัญหาอย่างไร เพราะในที่สุด “ตลาด” มันก้อจัดการได้เอง

กังวลไปใยกับปัญหาการขาดดุล ในเมื่อการขาดดุลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปรากฎการณ์ระยะสั้น และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบประมาณที่จะต้องได้ดุลในมูลค่าปัจจุบันเสมอ … การขาดดุลในวันนี้ ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า จะมีการเกินดุลในอนาคต นั่นเอง…

หากการขาดดุลการค้านั้นมีสาเหตุมาจากการที่ประเทศเรามีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่น จนทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในคลาดโลกแล้วไซร้ เราก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงไป จนรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือนอกจากประกาศลดค่าเงิน

ก่อนอื่น ในฐานะคนที่ไม่ชื่นชอบกระบวนการของ “ตลาดเสรี” ซักเท่าไหร่ ขอขยาย “คำตอบ” ของคุณ corgiman เล็กน้อย คือตอนที่คุณ corgiman บอกว่า “กลไกตลาดเสรี …มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เนี่ย ความหมายเดียวของ “ประโยชน์” ที่ทำให้คำกล่าวนี้เป็นจริงได้คือ ประโยชน์ของทุน ซึ่งแปลว่าผลตอบแทน (พูดง่ายๆ คือ “กำไร”) ที่ได้รับจากการลงทุนเท่านั้น

ประโยชน์ของทุนนั้นอาจไม่ตรงกับ ประโยชน์ของสังคม เพราะหลายๆ ครั้ง การลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากจนไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากลงทุน ทำให้รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนเสียเอง เช่นการสร้างเขื่อน รถไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย สวนสาธารณะ ฯลฯ นอกจากนี้ประโยชน์หลายๆ อย่าง เช่น ความสุข หรืออากาศบริสุทธิ์ ยากที่จะวัดเป็นตัวเงินได้ จึงต้องตกจากสมการผลตอบแทนไปอย่างน่าเสียดาย

อาจเรียกได้ว่า ข้อเท็จจริงนี้เป็น “ธรรมชาติ” ของทุนนิยมเลยก็ว่าได้ เพราะการลงทุนใดๆ ที่ทำไปเพื่อประโยชน์สังคมเป็นหลัก ย่อมให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อทุนนิยมใช้ “ผลตอบแทนของทุน” เป็น “มาตรวัด” ที่สำคัญที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรแล้ว ก็แปลว่าการหาคนมาลงทุนเพื่อส่วนรวมนั้นอาจยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร และระบบนี้ยังส่งเสริมให้นักธุรกิจมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบและเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเลขผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (return to equity) ในไตรมาสหน้าออกมาดีกว่าเดิม (หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ไว้ ถ้าบริษัทนั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์)


เห็นนักเศรษฐศาสตร์มืออาชีพอย่างคุณ kickoman โพสต์ “การบ้าน” น่าคิดในบล็อกสองข้อแล้วก็อดรู้สึกคันไม้คันมือไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมีปัญญาจะไปร่วมวงสนทนากับท่านด็อกเตอร์ทั้งหลายหรอกค่ะ แต่เพราะคำถามของคุณ kickoman ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดดุลของประเทศ ทำให้นึกถึง “มุมต่างมอง” ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ และคนที่อยู่ในแวดวงการเงิน เช่นนักบริหารเงินมืออาชีพ เกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” จากการเคลื่อนไหวระดับโลกของทุน และภาวะการขาดดุลหรือเกินดุลของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน

มุมต่างมองนี้น่าสนใจ เพราะเป็นจุดที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีวิวาทะร่วมกันมากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายแรกมักจะ “กลัว” เกินไป ในขณะที่ฝ่ายหลังก็มักจะ “กล้า” เกินไป ถ้าทั้งสองวงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยๆ ก็อาจมาบรรจบกันตรง “ทางสายกลาง” ที่ทำให้เราอธิบายพฤติกรรมของทุน และระบบเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นมากขึ้น

ส่วนหนึ่งจาก คำตอบของคุณ corgiman ต่อการบ้านของคุณ kickoman อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเล่าเรื่องในวันนี้:

โดยธรรมชาติของตัวผม ..ผู้เชื่อมั่นอย่างสนิทใจในกลไกตลาดเสรี ว่ามีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมแทบจะไม่กังวลใจสักนิดเลยว่า นี่จะเป็นปัญหาอย่างไร เพราะในที่สุด “ตลาด” มันก้อจัดการได้เอง

กังวลไปใยกับปัญหาการขาดดุล ในเมื่อการขาดดุลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปรากฎการณ์ระยะสั้น และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบประมาณที่จะต้องได้ดุลในมูลค่าปัจจุบันเสมอ … การขาดดุลในวันนี้ ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า จะมีการเกินดุลในอนาคต นั่นเอง…

หากการขาดดุลการค้านั้นมีสาเหตุมาจากการที่ประเทศเรามีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่น จนทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในคลาดโลกแล้วไซร้ เราก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงไป จนรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือนอกจากประกาศลดค่าเงิน

ก่อนอื่น ในฐานะคนที่ไม่ชื่นชอบกระบวนการของ “ตลาดเสรี” ซักเท่าไหร่ ขอขยาย “คำตอบ” ของคุณ corgiman เล็กน้อย คือตอนที่คุณ corgiman บอกว่า “กลไกตลาดเสรี …มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เนี่ย ความหมายเดียวของ “ประโยชน์” ที่ทำให้คำกล่าวนี้เป็นจริงได้คือ ประโยชน์ของทุน ซึ่งแปลว่าผลตอบแทน (พูดง่ายๆ คือ “กำไร”) ที่ได้รับจากการลงทุนเท่านั้น

ประโยชน์ของทุนนั้นอาจไม่ตรงกับ ประโยชน์ของสังคม เพราะหลายๆ ครั้ง การลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากจนไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากลงทุน ทำให้รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนเสียเอง เช่นการสร้างเขื่อน รถไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย สวนสาธารณะ ฯลฯ นอกจากนี้ประโยชน์หลายๆ อย่าง เช่น ความสุข หรืออากาศบริสุทธิ์ ยากที่จะวัดเป็นตัวเงินได้ จึงต้องตกจากสมการผลตอบแทนไปอย่างน่าเสียดาย

อาจเรียกได้ว่า ข้อเท็จจริงนี้เป็น “ธรรมชาติ” ของทุนนิยมเลยก็ว่าได้ เพราะการลงทุนใดๆ ที่ทำไปเพื่อประโยชน์สังคมเป็นหลัก ย่อมให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อทุนนิยมใช้ “ผลตอบแทนของทุน” เป็น “มาตรวัด” ที่สำคัญที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรแล้ว ก็แปลว่าการหาคนมาลงทุนเพื่อส่วนรวมนั้นอาจยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร และระบบนี้ยังส่งเสริมให้นักธุรกิจมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบและเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเลขผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (return to equity) ในไตรมาสหน้าออกมาดีกว่าเดิม (หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ไว้ ถ้าบริษัทนั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์)

ความเหลื่อมล้ำหรือขัดแย้งระหว่างประโยชน์ของทุน และประโยชน์ของสังคม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราต้องอาศัยรัฐที่มีคุณธรรมเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ที่ไม่มีทุน กฎหมายที่ยุติธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีทุนมากเอาเปรียบผู้มีทุนน้อย ผู้นำศาสนาที่ไม่ยึดติดกับการสอนศาสนาแบบเก่าๆ เพื่อสอนให้คนเข้าใจในประโยชน์ของ “ความรู้จักพอ” ตลอดจนนักคิดที่มีความเสียสละเพื่อช่วยกันหาวิธีนิยาม คำนวณ และ “แปลง” ปัจจัยสำคัญต่างๆ นอกเหนือจากทุน (เช่น ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือความสามัคคีในชุมชน) ให้เป็นตัวแปรในการคำนวณผลตอบแทนของทุกฝ่าย ทั้งนักธุรกิจและรัฐให้ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยผลักดันให้ระบบทุนนิยม ซึ่งไม่มีใครเถียงว่าไร้ประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าและจัดสรรทุน แบ่งผลประโยชน์ได้ตรงกับความต้องการส่วนรวมกว่าเดิม

ถ้าทุนนิยมเป็นรถเมล์ มันก็เป็นรถเมล์ที่ไม่มีเกียร์ และกำลังเร่งเครื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งรถวิ่งเร็วขึ้นเท่าไหร่ ผู้โดยสารก็ยิ่งรู้สึกเครียดและหวาดกลัวมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้เราทุกคนในฐานะผู้โดยสาร ต้องหาวิธีติดเกียร์ให้กับรถ เพื่อเปลี่ยนเกียร์ไปอยู่ในระดับที่แม้จะทำให้รถเมล์วิ่งช้าลง (เช่น GDP ไม่โตอย่างก้าวกระโดด) แต่ก็ทำให้เราสบายใจกว่าเดิม และมีเวลาชื่นชมกับทิวทัศน์สองข้างทางมากขึ้น

แต่ก่อนที่เราจะรู้วิธีติดเกียร์ให้รถได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ทุน” ในระบบทุนนิยมปัจจุบันนั้นเคลื่อนไหวอย่างไร จะได้รู้ว่าควรเอาเกียร์ไปติดไว้ตรงไหนของรถ

นั่นหมายความว่าเราต้องทำความเข้าใจกับมุมมองของ “นักบริหารเงิน” ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้จัดการ hedge fund ระดับโลก เพราะคนเหล่านี้ (เช่น จอร์จ โซรอส ซึ่งคนไทยรู้จักดีตอนที่ขนเงินมาเก็งกำไรช่วงวิกฤติค่าเงินบาท) บริหารเงินเป็นหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐ สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย แม้รัฐบาลไทยปัจจุบันจะทำตัวเหมือนเราเป็นประเทศร่ำรวยขนาดไหนก็ตาม)

นักการเงินการธนาคารหลายคนที่คร่ำหวอดอยู่ในตลาดเงินและตลาดทุน โดยเฉพาะผู้จัดการ hedge fund หลายรายในอเมริกา มองว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความคิด และมุมมองของนักบริหารเงินทั้งหลายดีพอ ทำให้ไม่เข้าใจการเคลื่อนไหวข้ามชาติของทุน เลยทำให้ตีความภาวะการขาดดุลของอเมริกาผิดพลาด คือกลัวว่าเป็นหนึ่งใน “ความไม่สมดุลระดับโลก” (global imbalance) ที่อาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้

ทั้งๆ ที่ global imbalance ประเด็นนี้ อาจเป็นภาวะ “ปกติ” ที่ไม่น่าตื่นเต้น ไม่เป็นปัญหา และไม่น่าจะก่อให้เกิดวิกฤติอะไรด้วย นักการเงินเหล่านี้บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์อาจหวาดระแวงเกินไปเพราะไม่เข้าใจว่า ปัจจัยขับเคลื่อนทุนทั่วโลกที่สำคัญที่สุดนั้น ไม่ใช่ดุลบัญชีการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัดของแต่ละประเทศ (ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีที่นักเศรษฐศาสตร์นิยามขึ้นมาเอง) หากเป็น ความสามารถในการทำกำไร (profitability) ของธุรกิจ หลักทรัพย์ และช่องทางอื่นๆ ในการลงทุนต่างหาก

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังไม่ตระหนักดีว่า เศรษฐกิจสมัยใหม่ของอเมริกา ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแกนหลัก (intellectual property economy) นั้น แตกต่างจากเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มีอุตสาหกรรมเป็นแกนหลัก (industrial economy) อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่ต้องใช้ทฤษฎีใหม่ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์เน็ตเวิร์ค (network economics) จึงจะอธิบายได้อย่างชัดเจนและมีเหตุผล

Andy Kessler เป็นหนึ่งในผู้จัดการ hedge fund ที่เน้นการลงทุนในหุ้นบริษัทคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอเมริกา ระหว่างปี 1996-2001 ทำกำไรให้กับนักลงทุนกว่า 50% ติดอันดับหนึ่งในห้าของ hedge fund ที่ทำกำไรดีที่สุดในช่วงนั้น และฉลาดพอที่จะปิดกองทุน คืนเงินให้กับนักลงทุนก่อนที่ฟองสบู่หุ้นอินเตอร์เน็ตในตลาด NASDAQ จะแตก

ตอนหนึ่งในหนังสือของ Kessler เรื่อง Running Money (“บริหารเงิน”) เขาอธิบายมุมมองแบบนักบริหารเงิน ในฐานะเหตุผลหลักที่ทำให้อเมริกายังเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก ไว้อย่างน่าสนใจ แม้ว่ามุมมองนี้จะเป็นการ “เข้าข้าง” อเมริกา และแสดงให้เห็นประสิทธิภาพอันไร้มนุษยธรรม (ruthless efficiency) ของระบบทุนนิยมเสรีก็ตาม ก็มีส่วนถูกอยู่มากในการอธิบายเหตุปัจจัยต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวข้ามชาติของทุนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคำถามที่ “คาใจ” หลายๆ คนในขณะนี้ – ทำไมนักธุรกิจ และรัฐบาลประเทศต่างๆ จึงยังเอาเงินไปให้อเมริกากู้อย่างไม่ขาดสาย ทั้งๆ ที่อเมริกากำลังขาดดุลมากมายมหาศาล?

Kessler สรุปมุมมองของเขาไว้ดังนี้:


Running Money โดย Andy Kessler

ในอเมริกา การปฏิวัติอุตสาหกรรมตายแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองคือ กระบวนการออกแบบ (design) และกระบวนการผลิต (manufacturing) กลายเป็นสองกระบวนการที่ไม่เชื่อมกันอีกต่อไป คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เราสามารถส่งดีไซน์ไปทั่วโลกในช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาที ในขณะที่โรงงานยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรืองต้องไปตั้งอยู่ใกล้แหล่งแรงงานถูก

ชิพคอมพิวเตอร์ operating system (เช่น วินโดวส์) หรือ wireless packet switching network – สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตอันชาญฉลาด ที่เกิดจากมันสมองของมนุษย์มากกว่าวัตถุดิบใดๆ สินค้าแบบนี้รวมถึงรองเท้ารุ่น swoosh ของไนกี้ หนังที่ Adam Sandler เล่น ละครทีวีเรื่อง Baywatch ยาต่างๆ ไดเอ็ทโค้กรสวานิลลา และกาแฟรส macchiato ผสมคาราเมลที่ร้านกาแฟ Starbucks

การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีอายุเก่าแก่กว่า 225 ปีไม่ได้มอดดับไปด้วยความรุ่งโรจน์ของมัน แต่ค่อยๆ เลือนหายไปในหลุมดำแห่งการขาดทุนหรือกำไรต่ำ ในทางกลับกัน สินค้าประเภททรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property เรียกสั้นๆ ว่า IP) ให้อัตรากำไรสูงลิบลิ่ว ทำให้นักการเงินทั่วโลกดีใจ เป็นธรรมชาติของเงินที่ต้องไหลไปยังธุรกิจที่ให้ผลกำไรสูงสุด

วันนี้เราเห็นชะตากรรมของบริษัท General Motors (GM) อย่างเด่นชัด นักลงทุนรู้แล้วว่าบริษัทนี้ไม่สามารถกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่สมัย 40 ปีก่อนได้อีก เมื่อก่อน GM ควรไปตั้งบริษัทย่อยในญี่ปุ่น แทนที่จะพยายามล็อบบี้รัฐบาลเพื่อกีดกันไม่ให้รถญี่ปุ่นเข้ามาขายในอเมริกาได้ แน่นอนว่าตลาดทุนตอนนั้นจะให้เงินเท่าไหร่ก็ได้ที่ GM ต้องการ แต่ไม่ใช่วันนี้ วันที่เรารู้แล้วว่า GM เป็นอย่างไร

การปฏิวัติอุตสาหกรรมทุกแห่งล้วนเกิดขึ้นบนสมมุติฐานว่า ถ้าบริษัทไหนออกแบบสินค้า บริษัทนั้นก็ต้องผลิตสินค้านั้นเองด้วย จึงจะได้เงิน วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากโรงงานใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและพลังงานไอน้ำ ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น เชื่อมโยงกันทางแนวนอน (horizontally organized) มีประสิทธิภาพมหาศาล และมีเครือข่ายทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีในการผลิต และความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานในประเทศต่างๆ

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนเศรษฐกิจของอเมริกาที่มี IP เป็นแกน อเมริกาขายชิพคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในมาร์จิ้น (= อัตรากำไร) สูงลิบลิ่ว ให้กับชาวต่างชาติที่ประกอบมันขึ้นมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ขายในมาร์จิ้นต่ำ นี่เป็นการแลกเปลี่ยนที่วิเศษ เพราะชาวอเมริกันสามารถซื้อคอมพิวเตอร์ในราคา $799 ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานด้อยการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาอย่าง จีน มาเลเซีย และไทย มีงานทำที่ดีกว่าทางเลือกอื่น ในอเมริกา แรงงานทั่วไปในโรงงานประกอบรถยนต์ได้เงินเดือนประมาณ $70,000 ต่อปี หรือ $20 ต่อชั่วโมง แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาได้ค่าแรง $1 ต่อชั่วโมง นี่เป็นการเอาเปรียบหรือเปล่า? ถ้าเราไม่จ่ายพวกเขาในอัตรานี้ พวกเขาอาจยังทำงานอื่นที่ได้ค่าแรงต่ำกว่านี้อีก ความต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างงาน และชนชั้นกลางในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และเมื่อพวกเขาเหล่านั้นมีรายได้ดีขึ้น วันหนึ่งเขาก็จะต้องการสินค้าประเภท IP ของเราอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

นี่เป็นคุณสมบัติหนึ่งของ IP: ปกติเราต้องใช้เงินมหาศาลในการพัฒนามันขึ้นมา แต่หลังจากนั้นค่าใช้จ่ายในการขายต่อชิ้น (marginal cost) ของเราแทบไม่มีเลย รายได้จากโปรแกรมวินโดวส์อีกหนึ่งกล่อง หรือยารักษาโรคข้อเสื่อมอีกหนึ่งเม็ด คือผลกำไรล้วนๆ ดังนั้นบริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทที่มีมาร์จิ้นสูงทุกบริษัทในอเมริกา จึงควรอยากเห็นชนชั้นกลางในโลกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะได้เอาเงินมาซื้อสินค้าของพวกเขา

เมื่อชนชั้นกลางต้องการสินค้าของอเมริกา หมายความว่าเราต้องซื้ออะไรซักอย่างจากประเทศอื่นๆ คนของเขาจะได้มีเงินดอลลาร์มาซื้อสินค้าของเรา ผมแน่ใจว่าตอนนี้ท่านผู้อ่านหลายๆ คนคงกำลังร้องว่า ดูสิ อเมริกากำลังขาดดุลการค้าถึง $500,000 ล้านต่อปีหรือมากกว่านั้น ใจเย็นๆ ครับ มันก็แค่เงิน และเงินที่เป็นเพียงตัวเลขเสียด้วย ผมจะชี้ให้เห็นนะครับ คือถ้าเราใช้มาตรวัดของยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรือง เราก็ต้องบอกว่า “เงินไหลออก สินค้าไหลเข้า” ใช่ไหมครับ? คนส่วนใหญ่มองว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังทำให้เราขาดดุลการค้ามหาศาล เอาอนาคตของเขามาผ่อนส่ง ทำให้ชะตาชีวิตของอเมริกาทั้งประเทศไปอยู่ในกำมือของชาวต่างชาติไม่กี่ราย

สถิติรัฐบาลอเมริกาบอกว่า เราขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 (ยกเว้นปีสองปีเท่านั้นที่เราเกินดุล) แต่นั่นเหมือนกับรัฐบาลไปนับจำนวนรางรถไฟทั้งหมดในประเทศ แล้วใช้จำนวนนั้นเป็นตัววัดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ – มันเป็นตัววัดที่ไม่เหมาะสมเลยครับ

ตัวเลขการขาดดุลการค้าสะสมตั้งแต่ปี 2519 อยู่ที่ประมาณ $4 ล้านล้าน คนขี้ตกใจหลายคนก็บอกว่า นี่เท่ากับว่าเรากำลังเอาเงินของรุ่นหลานเรามาใช้ก่อน เพราะเราใช้เงินเกินกว่าที่เราหามาได้ไป $4 ล้านล้าน รุ่นหลานเราต้องทำงานเยี่ยงทาสกว่าจะหาเงินคืนต่างชาติได้ครบถ้วน

ถ้าเรากำลังผลาญเงินจำนวนนี้ไปกับเบียร์เยอรมันหรือไวน์ฝรั่งเศส ผมคงตกใจเหมือนกัน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ IP ที่เราส่งออก และนำกลับเข้ามาในรูปสินค้าสำเร็จรูป เป็นสินค้าประเภทที่ทำให้เรามีความสามารถในการผลิต (productivity) สูงขึ้น คอมพิวเตอร์ที่เราเป็นคนออกแบบแต่ใช้ชิพที่ผลิตในไต้หวันและประกอบในมาเลเซียนั้น ขับเคลื่อนฝ่ายสนับสนุนต่างๆ (back offices) ของบริษัทอเมริกันทั่วประเทศ ในทำนองเดียวกัน เน็ตเวิร์คดิจิตัลและระบบอื่นๆ ทำให้ค่าโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายในการส่งอีเมล์ ถูกลงเรื่อยๆ ทุกปี

ลองมองอีกมุมนะครับ ชาวต่างชาติผลิตสินค้าให้อเมริกาในมูลค่ารวม $4 ล้านล้าน แลกกับพันธบัตรกระดาษใบหนึ่งที่มีหน้าเบนจามิน แฟรงคลินแปะอยู่ กระดาษนั้นสัญญาว่าเราจะจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้ภายในเวลา 10 ปี หรือไม่อย่างนั้นเขาก็ไปซื้อใบหุ้นที่มีสีสันสวยงามหน่อย แสดงว่าชาวต่างชาติพวกนี้ต้องเป็นคนโง่ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมีเหตุผลอื่นที่อธิบายการขาดดุลเหล่านี้ได้

เราได้ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของเงิน $4 ล้านล้านนั้นคืน ด้วยการวิ่งไล่ผลกำไรอย่างไม่หยุดยั้ง ตลาดหุ้นกู้และพันธบัตรตอนนี้มีขนาด $19 ล้านล้าน ตลาดหุ้นมีมูลค่า $15 ล้านล้าน และโตขึ้นทุกปี ตลาดทุนอเมริกาตระหนักดีว่า การสร้าง IP นั้นเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงมาก ไมโครซอฟท์ขายวินโดวส์ก็อปปี้ละ $50 โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายวัตถุดิบเลย มีเพียงค่าใช้จ่ายในการวิจัยค้นคว้าจำนวนมหาศาล แม้ในช่วงตลาดหุ้นตกต่ำปี 2545 ไมโครซอฟท์ ซึ่งมีมาร์จิ้นกว่า 40% ก็ยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศ อันดับหนึ่งคือ General Electric ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ hedge fund ใหญ่ๆ กองหนึ่ง

เงินไหลมาจากทุกแห่งหนเพื่อไล่ผลตอบแทนดีๆ อย่างนี้ โดยมีตลาดทุนอเมริกาเป็นตัวเชื่อมที่ขาดไม่ได้ ทุนส่วนเกินของประเทศคู่ค้าของเรา ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความตะกละตะกรามของเรา ไหลกลับมาลงทุนในอเมริกา

นักเศรษฐศาสตร์วัด GDP ที่แปลว่า Gross Domestic Product และแขวนอนาคตของพวกเขาไว้กับทิศทางของมัน ในขณะที่นักบริหารเงินทั้งหลายมอง GDP อีกตัวหนึ่งที่แปลว่า Gross Domestic Profit เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญเพียงประการเดียว คุณต้องไปตั้งบริษัทที่มีมาร์จิ้น 1% ขนาดเท่าไมโครซอฟท์ถึง 40 แห่ง เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนเท่าที่ไมโครซอฟท์ได้รับจาก IP ของเขา นั่นหมายถึงโรงงานมากมายหลายแห่งในหลายประเทศที่ผลิตของให้เรา ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราขาดดุล $4 ล้านล้าน และไมโครซอฟท์มีมูลค่ามากกว่าทวีปในโลกส่วนใหญ่ ตัวเลขขาดดุลนี้คงสูงขึ้นไปอีก แต่เราจะกังวลไปทำไมครับ? จริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็น “หนี้” ใครจำนวน $4 ล้านล้าน เพราะเราเอาเงินนี้มาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มในอเมริกาเอง ด้วยการลงทุนเงินจำนวนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเอาเงินจำนวน $1 ล้านไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีมาร์จิ้นดี สามารถทำให้บริษัทนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า $100 ล้าน ในเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน เงินดอลลาร์ที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นอเมริกานั้นอาจไม่สามารถสาวกลับไปหาแหล่งที่มาได้ (เพราะไม่มีนักบัญชีคนไหนตามเงิน $4 ล้านล้านนี้ ว่ามันไหลไปไหนบ้าง) แต่มันช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทเก่งๆ ทั้งหลายในอเมริกา เงิน $4 ล้านล้านนั้นอาจสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวน $7 $8 หรือ $9 ล้านล้าน ใครจะรู้? แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มันทำให้เราร่ำรวยขึ้น

ลองเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของโตชิบาออกมาดูกันนะครับ โตชิบาซื้อชิพของอินเทลในราคา $300 (ซึ่งอินเทลได้กำไร $250) และวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ในราคา $50 (ซึ่งไมโครซอฟท์ได้กำไร $49.95) ไปใส่ในเครื่อง แล้วก็ส่งโน้ตบุ๊คนี้กลับมาขายเราในราคา $1,000 ผู้ผลิตโน้ตบุ๊คอย่างโตชิบามีกำไรอย่างเก่งประมาณ $50 จากยอดขายโน้ตบุ๊คแต่ละเครื่อง

ในตัวอย่างของผม อเมริกาส่งออกชิพของอินเทลราคา $300 และวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ราคา $50 เพื่อแลกกับโน้ตบุ๊คนำเข้าราคา $1,000 ทำให้เราขาดดุลการค้าจำนวน $1,000 – $300 – $50 = $650 แต่พอเรามองด้านกำไร บริษัทอเมริกันได้กำไร $250 + $49.95 = $299.95 ในขณะที่บริษัทต่างชาติได้กำไรเพียง $50 เท่านั้น คุณจะเลือกลงทุนในประเทศไหนครับ? นั่นสิ ผมก็เหมือนกัน

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายอาจยืนกรานว่า เรากำลังขาดดุลการค้า แต่ในความเป็นจริง เรากำลังเกินดุลมาร์จิ้น (margin surplus) ต่างหาก ในโลกที่ทุนไหลข้ามพรมแดนได้ในชั่วพริบตาเดียว กำไรเท่านั้นที่สำคัญ มาร์จิ้นหรือกำไรที่เป็นส่วนเกินต้นทุนการผลิตสินค้าหรือบริหาร เป็นตัววัดการค้าระหว่างประเทศ ที่ “แท้จริง” เพียงตัวเดียวเท่านั้น ผมยินดีเสมอที่จะให้ไอเดียที่ผมได้กำไร $1 ล้าน แลกกับของห้าอย่างที่คุณได้กำไร $0.05 ยินดีแลกไม่เว้นวันเลยครับ

ตราบใดที่อเมริกาเน้นการผลิต IP เราอาจไม่มีวันต้องจ่าย “หนี้” จำนวนนี้คืน มันก็แค่เลื่อนกำหนดการชำระออกไปเรื่อยๆ และมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับมูลค่า IP ของเราที่เจ้าหนี้ต่างชาติซื้อ และกำไรที่เขาไปวิ่งไล่ในตลาดทุนของเรา ในระยะยาว ค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งขึ้น แต่ใครบ้างจะสนใจกับค่าเงินดอลลาร์ล่ะครับ ในเมื่อมันเป็นแค่นิยามทางเศรษฐศาสตร์อีกคำเท่านั้น? ความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้นเกิดจากผลกำไร ไม่ใช่แท่นพิมพ์ธนบัตร อัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่นักค้าเงินใช้ ขยับตามอัตราดอกเบี้ยเปรียบเทียบระหว่างประเทศมากกว่าปัจจัยอื่นใด นี่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของ hedge fund อย่างของ จอร์จ โซรอส และไทเกอร์ ฟันด์ครับ

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ยุคอุตสาหกรรมบอกว่า ดุลการค้าระหว่างประเทศต้องปรับสู่จุดสมดุลด้วยกลไกของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าอเมริกาขาดดุล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเราควรลดค่าเงินดอลลาร์ลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของเรา ทำให้เราส่งออกได้มากขึ้น และในที่สุดก็ทำให้ดุลการค้ากลับมาสู่จุดสมดุลได้ แต่ทฤษฎีนี้ใช้กับสินค้าประเภท IP ไม่ได้ จริงอยู่ เงินกำลังไหลเข้า แต่บางที ของของเรา (บริษัท สินค้า IP ฯลฯ) อาจมีราคาถูกเกินไป!

ทีนี้ทุกอย่างก็กลับตาลปัตรละครับ ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ต้องซื้อวินโดวส์ XP ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าดอลลาร์แข็งขึ้น แปลว่าต้องใช้เงินหยวนจีน บาทไทย และยูโรมากขึ้นเพื่อซื้อวินโดวส์ การลดค่าเงินดอลลาร์จะไม่ช่วยให้ไมโครซอฟท์ขายวินโดวส์ได้มากขึ้น เพราะโปรแกรมนี้ไม่มีสินค้าทดแทน ดังนั้น เมื่อค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ระดับการขาดดุลของเราอาจลดลง เพราะชาวต่างชาติต้องใช้เงินของเขามากขึ้นในการซื้อ IP ของเรา

ตอนนี้ชาวต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลเราถึง 45% ของยอดรวม IMF บอกว่าในปี 2537 ชาวต่างชาติถือหลักทรัพย์ระยะยาวของอเมริกาจำนวน 11% ของมูลค่ารวม ในปี 2544 ตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 18.3% ในขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจาก 7% เป็น 12.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ตลาดหุ้นเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า นั่นแปลว่าแม้ชาวต่างชาติจะเป็น “เจ้าของ” อเมริกามากขึ้น เราเองก็ร่ำรวยขึ้น นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็นหรือครับ? เมื่อไหร่ที่ธุรกิจมาร์จิ้นต่ำทั้งหลายปิดตัวลงหรือย้ายออกจากประเทศ มาร์จิ้นของอเมริกาจะสูงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเราทั้งระบบมีกระแสเงินสดเป็นบวก

นี่อาจฟังดูเหมือนเศรษฐศาสตร์จอมปลอม แต่เฉพาะสำหรับคนที่มองโลกผ่านมุมมองของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเท่านั้นครับ นักเศรษฐศาสตร์ทำงานในกรุงวอชิงตันและนิวยอร์ค ไม่ใช่ซิลิคอน แวลเลย์ พวกเขามองไม่เห็นมาร์จิ้นเลยครับ

อย่าดูถูกความสามารถของรัฐบาลในการยึดติดอยู่กับความคิดเดิมๆ ยุคอุตสาหกรรมนะครับ ต่อให้ค่าเงินดอลลาร์อยู่ที่เดิม และเราขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น $6 ล้านล้าน ตลาดทุนของเราอาจมีมูลค่า $50 $60 $70 ล้านล้าน สองหรือสามเท่าของมูลค่าวันนี้ ไล่ขึ้นโดยนักลงทุนที่แสวงหากำไร แต่อเมริกายุคใหม่มีโควตาสิ่งทอ อุ้มภาคเกษตร ตั้งกำแพงภาษีเหล็ก นี่เป็นเรื่องงี่เง่ามาก ก็เพราะเราเกินดุลมาร์จิ้นน่ะสิ เราจึงสมควรขาดดุลการค้า นั่นไม่ใช่ผลเสียเลยครับ.