การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกำลังก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง

แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ชอบรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันหลายเท่า (และกำลังเอาใจช่วยให้ คตส. จัดการกับมหกรรมการโกงของนักการเมืองในรัฐบาลชุดที่แล้วได้ในเร็ววัน เพราะพยานหลักฐานแวดล้อมหลายกรณีเห็นชัดมากๆ แต่ก็เข้าใจว่าความไร้ประสิทธิผลและล้าหลังของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งต้องใช้พยานหลักฐานแน่นหนาจนศาล “สิ้นสงสัย” นั้น แปลว่าสุดท้ายแล้วศาลอาจตัดสินลงโทษนักการเมืองในหลายๆ กรณีไม่ได้ เพราะคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่ย่อมไม่มี “ใบเสร็จ”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะเห็นดีเห็นงามกับทุกอย่างที่รัฐบาล หรือกองทัพกำลังทำ และผู้เขียนคิดว่าพฤติกรรมของกองทัพนั้น “แย่” กว่าของรัฐบาลเยอะ แต่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากเพราะตอนนี้อยู่ใต้อาณัติของกองทัพอยู่

ตัดสินใจแปลแถลงการณ์ด้านล่างของกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเห็นด้วยกับเขา อยากให้หลายๆ คนได้อ่าน (ไม่แน่ ในอีกวันสองวันนี้อาจมีเวอร์ชั่นภาษาไทยที่ดีกว่าการแปลแบบปัจจุบันทันด่วนของผู้เขียน ไปโผล่ที่ไทยโฮมเพจ ของกรรมาธิการฯ ก็ได้) และก็ค่อนข้างรู้สึก “เซ็ง” กับความลำเอียงของสื่อไทยตอนนี้ด้วย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อ” แต่ทำตัวไม่ดีไปกว่าแทบลอยด์เท่าไหร่ วิญญาณของท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ อาจถอนหายใจออกมาดังๆ เมื่อได้อ่านข่าวนี้

เพราะสื่อที่ดีไม่ควร “เอียง” จากความจริง ไม่ว่าผู้อยู่ในอำนาจจะเป็นใคร อยู่คนละขั้วกับอำนาจเดิมอันเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม.


การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกำลังก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
แปลจาก Self-censorship causing serious damage แถลงการณ์ของกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ชายผู้หนึ่งถูกตำรวจจับและตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยการพ่นสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในเชียงใหม่หลายภาพ ชายผู้นั้นอ้างว่าเขาเมาเหล้า และแสดงความเสียใจที่ทำลงไป อย่างไรก็ตาม สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติรายหนึ่งได้สั่งการให้กองทัพทำการสอบสวนชายผู้นี้ ซึ่งอาจต้องโทษจำคุก 15 ปี ต่างหาก(จากการสอบสวนของตำรวจ) เนื่องจากสงสัยว่ามีคนจ้างวานให้ทำ


แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ชอบรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันหลายเท่า (และกำลังเอาใจช่วยให้ คตส. จัดการกับมหกรรมการโกงของนักการเมืองในรัฐบาลชุดที่แล้วได้ในเร็ววัน เพราะพยานหลักฐานแวดล้อมหลายกรณีเห็นชัดมากๆ แต่ก็เข้าใจว่าความไร้ประสิทธิผลและล้าหลังของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งต้องใช้พยานหลักฐานแน่นหนาจนศาล “สิ้นสงสัย” นั้น แปลว่าสุดท้ายแล้วศาลอาจตัดสินลงโทษนักการเมืองในหลายๆ กรณีไม่ได้ เพราะคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่ย่อมไม่มี “ใบเสร็จ”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะเห็นดีเห็นงามกับทุกอย่างที่รัฐบาล หรือกองทัพกำลังทำ และผู้เขียนคิดว่าพฤติกรรมของกองทัพนั้น “แย่” กว่าของรัฐบาลเยอะ แต่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากเพราะตอนนี้อยู่ใต้อาณัติของกองทัพอยู่

ตัดสินใจแปลแถลงการณ์ด้านล่างของกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเห็นด้วยกับเขา อยากให้หลายๆ คนได้อ่าน (ไม่แน่ ในอีกวันสองวันนี้อาจมีเวอร์ชั่นภาษาไทยที่ดีกว่าการแปลแบบปัจจุบันทันด่วนของผู้เขียน ไปโผล่ที่ไทยโฮมเพจ ของกรรมาธิการฯ ก็ได้) และก็ค่อนข้างรู้สึก “เซ็ง” กับความลำเอียงของสื่อไทยตอนนี้ด้วย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อ” แต่ทำตัวไม่ดีไปกว่าแทบลอยด์เท่าไหร่ วิญญาณของท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ อาจถอนหายใจออกมาดังๆ เมื่อได้อ่านข่าวนี้

เพราะสื่อที่ดีไม่ควร “เอียง” จากความจริง ไม่ว่าผู้อยู่ในอำนาจจะเป็นใคร อยู่คนละขั้วกับอำนาจเดิมอันเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม.


การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกำลังก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
แปลจาก Self-censorship causing serious damage แถลงการณ์ของกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ชายผู้หนึ่งถูกตำรวจจับและตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยการพ่นสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในเชียงใหม่หลายภาพ ชายผู้นั้นอ้างว่าเขาเมาเหล้า และแสดงความเสียใจที่ทำลงไป อย่างไรก็ตาม สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติรายหนึ่งได้สั่งการให้กองทัพทำการสอบสวนชายผู้นี้ ซึ่งอาจต้องโทษจำคุก 15 ปี ต่างหาก(จากการสอบสวนของตำรวจ) เนื่องจากสงสัยว่ามีคนจ้างวานให้ทำ

ข่าวนี้ได้รับการรายงานไปทั่วโลกโดย Associated Press, Reuters, International Herald Tribune และสื่ออื่นๆ แต่ในประเทศไทยเองล่ะ? นอกจากข่าวเล็กๆ ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ไม่มีใครทำข่าวนี้เลย นั่นไม่ใช่เป็นเพราะข่าวนี้ถูกมองข้ามหรือไม่น่าเป็นข่าว: สื่อในประเทศเช็คแหล่งข่าวต่างประเทศตลอดเวลา และเหตุการณ์นี้เองก็ค่อนข้างหายากและน่าสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชายที่ถูกกล่าวหาเป็นคนสวิส ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ในประเทศไทยจงใจไม่เสนอข่าวชิ้นนี้

เรื่องนี้สำคัญเนื่องจากมันสะท้อนให้เห็นขอบเขตการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อไทย นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา แม้กระทั่งข่าวธรรมดาๆ ที่มีความเกี่ยวโยงน้อยมากกับคณะรัฐประหารหรือราชวงศ์ก็ยังไม่เป็นข่าว แต่เมื่อไหร่ที่คำวิจารณ์รัฐบาลที่กองทัพตั้งหรือที่ปรึกษาของรัฐบาล แม้กระทั่งคำวิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นข่าวขึ้นมา คำวิจารณ์นั้นก็จะถูกตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนรุนแรงด้วยคอลัมนิสต์ แขกรับเชิญ และจดหมายจากผู้อ่านหลายฉบับ ที่ล้วนปกป้องรัฐบาลและนโยบายรัฐ และให้ภาพอันจอมปลอมของวิวาทะสาธารณะ

หลังจากที่สื่อไทยได้ปกป้องการทำรัฐประหารของนายพลอย่างแข็งขันว่ามันเป็น “วิธีการแบบไทยๆ” ที่จะนำประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐกลับคืนมาสู่ประเทศ และสรรเสริญเยินยอนายกรัฐมนตรีที่นายพลเหล่านั้นแต่งตั้งอย่างไร้ยางอาย สื่อไทยตอนนี้ก็กลายเป็นสื่อที่นอบน้อมและจำกัดตัวเอง แทบไม่มีสื่อไทยใดๆ เลย ที่ออกความเห็นในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญมากหลายๆ ประเด็น เช่น การมอบและขยายอำนาจทหารให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ การเพิ่มงบประมาณในระดับมหาศาลให้กับกองทัพ นอกเหนือจากเช็คเงินเดือนที่คมช. ได้รับอยู่แล้ว ตลอดจนความพยายามอันต่อเนื่องและเป็นระบบของคมช. ในการกีดกันการประท้วงที่ต่อต้านพวกเขา

ภายใต้รัฐบาลที่แล้ว นักข่าว สำนักพิมพ์ และผู้ประกาศข่าวต้องเผชิญกับอันตรายที่น่ากลัวมากมาย รายได้จากค่าโฆษณาที่ได้จากบริษัทในครอบครัวของอดีตนายกรัฐมนตรี การฟ้องร้องหมิ่นประมาทในคดีอาญา และการสาดโคลนใส่ล้วนถูกใช้อย่างเปิดเผยเพื่อขู่ให้ผู้วิพากษ์รัฐบาลกลัว กฎเกณฑ์และสถาบันสื่อต่างๆ ถูกบิดเบือนและย่ำยีอย่างไม่ยั้งมือ แต่จิตวิญญาณของการต่อต้านก็ดำรงอยู่ได้ในหลายภาคส่วนของสื่อ และอย่างน้อยรัฐบาลก็ถูกบังคับให้แกล้งทำตามหลักประชาธิปไตย

แต่การที่สื่อเชียร์ผู้นำรัฐประหาร แทนที่จะมีจุดยืนที่เป็นอิสระและเน้นการวิพากษ์วิจารณ์เป็นหลัก ทำให้สื่อไทยได้ทำลายจิตวิญญาณแห่งการต่อต้านนั้นลงไป แน่นอน คมช. ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนที่จะปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ 19 กันยายนเป็นต้นมา คำสั่งของ คมช. ว่าสื่อต้อง “ร่วมมือ” กับประวัติศาสตร์ที่เป็นเวอร์ชั่นของกองทัพ ประกอบกับการส่งกำลังทหารไปคุมสื่อต่างๆ และคำสั่งปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นที่เซ็นเซอร์ไม่ได้หลายช่องทาง เช่น รายการวิทยุท้องถิ่นและเว็บไซต์ และกฎอัยการศึกที่ยังมีผลบังคับใช้ในครึ่งประเทศหลังจากรัฐประหารผ่านไปแล้ว 3 เดือน ล้วนแสดงให้เห็นความยึดมั่นถือมั่นของกองทัพว่าจะต้องควบคุมความเห็นสาธารณะให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีช่องทางให้สื่อสิ่งพิมพ์ได้อย่างน้อยต้านทานความกลัวที่คืบคลานเข้ามา และรายงานข่าวอย่างซื่อสัตย์ สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น

หนึ่งในหัวข้อของการพัฒนาสังคมที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสียงที่หลากหลายจะชี้ให้เห็นความขัดแย้ง เนื่องจากมันจะทดสอบขีดจำกัดของกฎเกณฑ์ และแนวทางการพูดคุยกันในสังคม สังคมเปิดคือสังคมที่มีจิตวิญญาณของความไม่เห็นด้วย และการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ไม่ตรงกัน สังคมปิดคือสังคมที่มีแต่มติมหาชน และปลาสนาการของความขัดแย้งที่เปิดเผย ความแตกต่างระหว่างสังคมทั้งสองแบบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเซ็นเซอร์โดยตรง หากเป็นแนวโน้มของการเซ็นเซอร์ตัวเอง และการที่คนทั่วไปไม่อยากใช้สิทธิในการพูดออกมาดังๆ

ในบทความที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1945 จอร์จ ออร์เวล อธิบายความแตกต่างระหว่างสังคมที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และสังคมที่การแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด ไว้ดังต่อไปนี้:

“เสรีภาพที่เรามีขึ้นอยู่กับความเห็นสาธารณะ กฎหมายไม่คุ้มครองเรื่องนี้ รัฐเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ประเด็นว่ามันจะถูกบังคับใช้หรือไม่ และตำรวจจะทำตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับอารมณ์ทั่วไปของคนในประเทศ ถ้าคนจำนวนมากสนใจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพนั้นก็จะบังเกิดขึ้น แม้ในกรณีที่กฎหมายห้ามไม่ให้มี ถ้าความเห็นสาธารณะนั้นเงื่องหงอยซึมเซา คนกลุ่มน้อยที่ทำความยุ่งยากให้รัฐก็จะถูกจัดการ แม้ในกรณีที่มีกฎหมายคุ้มครองพวกเขา… แนวคิดที่ว่ารัฐไม่สามารถยอมให้คนได้รับฟังความคิดเห็นบางอย่างอย่างปลอดภัยได้ กำลังขยายวงออกไป มันกำลังเป็นที่ยอมรับของปัญญาชนที่ทำให้คนสับสนกับประเด็นนี้ ด้วยการไม่แยกแยะระหว่างการต่อต้านที่เป็นประชาธิปไตย (democratic opposition) และการก่อกบฏอย่างเปิดเผย (open rebellion)… และแม้กระทั่งคนที่ประกาศตัวเองว่าสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ยังเลิกอ้างคำนี้ เมื่อไหร่ที่ศัตรูของพวกเขากำลังถูกจัดการ”

ถ้อยคำข้างต้นเป็นจริงเหลือเกินสำหรับประเทศไทยในวันนี้

กรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องให้นักข่าวไทยต่อต้านแรงกดดันให้พวกเขาเซ็นเซอร์ตัวเอง กรรมาธิการฯ ขอเรียกร้องให้พวกเขาหวนคืนสู่บทบาทของผู้ตรวจสอบและนักวิจารณ์รัฐบาลและนโยบายสาธารณะผู้มีใจเป็นกลาง แทนที่จะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ กรรมาธิการฯ ขอเรียกร้องให้พวกเขาต้านทานความพยายามใดๆ ของบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ และผู้ประกาศข่าว ที่จะบังคับให้พวกเขาบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในทางที่ตรงต่อความต้องการของคณะรัฐประหารที่ควบคุมประเทศอยู่ในปัจจุบัน กรรมาธิการฯ ขอเรียกร้องให้พวกเขาตระหนักในหน้าที่ที่จะสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และป้องกันไม่ให้สังคมปิดตัวลงสู่ภายใน และกรรมาธิการฯ ขอเรียกร้องให้บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ และผู้ประกาศข่าวต่างๆ ตื่นขึ้นมาสู่ความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน และระลึกถึงเนื้อหาในมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถูกยกเลิกไป:

“พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน…”

นักข่าวแห่งประเทศไทย จงทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ดำรงอยู่ต่อไป จงมีความกล้าที่จะกระตุ้นความเห็นสาธารณะ แทนที่จะดับมันให้มอดลง จงช่วยให้สังคมของพวกท่านตื่นรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ.