ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คาดว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูหรืออ่านพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประธานและคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา เมื่อวานนี้คงปลาบปลื้มเช่นเดียวกับผู้เขียนว่า เรามีพระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่เพียงแต่ทรงห่วงใยพสกนิกรเท่านั้น แต่ยังมีพระประสงค์ที่จะเห็นระบอบประชาธิปไตยดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องชอบธรรม และเป็นธรรมต่อประชาชนชาวไทย

แม้ว่าพระราชดำรัสครั้งนี้จะ “ชัดเจน” ชนิดที่เรียกว่าแทบไม่ต้อง “อ่านระหว่างบรรทัด” แต่เพื่อความกระจ่าง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนขอน้อมนำบางส่วนจากพระราชดำรัสมาลงไว้ในที่นี้ พร้อมอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปและข้อคิดเห็นส่วนตัว

เพราะ “บริบท” (context) เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจพระราชดำรัส ถ้าไม่เข้าใจบริบททางการเมือง โดยเฉพาะลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ก็จะไม่สามารถเข้าใจพระราชดำรัสอย่างถ่องแท้ได้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คาดว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูหรืออ่านพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประธานและคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา เมื่อวานนี้คงปลาบปลื้มเช่นเดียวกับผู้เขียนว่า เรามีพระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่เพียงแต่ทรงห่วงใยพสกนิกรเท่านั้น แต่ยังมีพระประสงค์ที่จะเห็นระบอบประชาธิปไตยดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องชอบธรรม และเป็นธรรมต่อประชาชนชาวไทย

แม้ว่าพระราชดำรัสครั้งนี้จะ “ชัดเจน” ชนิดที่เรียกว่าแทบไม่ต้อง “อ่านระหว่างบรรทัด” แต่เพื่อความกระจ่าง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนขอน้อมนำบางส่วนจากพระราชดำรัสมาลงไว้ในที่นี้ พร้อมอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปและข้อคิดเห็นส่วนตัว

เพราะ “บริบท” (context) เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจพระราชดำรัส ถ้าไม่เข้าใจบริบททางการเมือง โดยเฉพาะลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ก็จะไม่สามารถเข้าใจพระราชดำรัสอย่างถ่องแท้ได้


พระราชดำรัส

“ในเวลานี้ ถ้าจะให้พูด ศาลเองมีสิทธิที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งคนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ คือว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบ

ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้…

บอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ใช่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง ก็เลยขอร้องท่านอย่าไปทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้

แล้วก็อีกข้อหนึ่งคือการที่จะบอกว่าจะมีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่…ไม่พูดถึง ไม่พูดเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งท่านจะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควรหรือไม่ควร ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งขึ้นพรรคเดียวคนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป มีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย”

เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็ควรคิดว่า ต้องดูว่าเกี่ยวข้องกับศาลปกครองหรือไม่ ตรงนี้ขอฝาก อย่างดีที่สุด ถ้าท่านทำไม่ได้ ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณ ไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ

…ตั้งแต่ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกหลัก

…ฉะนั้นขอฝาก ไม่อย่างนั้นยุ่ง เพราะถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และทุกแบบจะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้”

บริบทและข้อคิดเห็น

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นการโยนวิกฤติส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีไปให้เป็นวิกฤติของสภา การเลือกตั้งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะปัญหาคือความเคลือบแคลงใจที่ประชาชนมีต่อตัวนายกฯ ว่าทำผิดกฎหมาย (โดยเฉพาะประเด็นซุกหุ้น และขายหุ้น) หรือไม่ ซึ่งควรแก้ด้วยการให้ตัวนายกฯ เอง ยอมลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอำนาจอันล้นเหลือของรัฐบาลและภาวะ “เป็นหมัน” ขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง (อาทิ ปปง. และศาลรัฐธรรมนูญ) ทำให้กระบวนการสอบสวนไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ถ้านายกฯ ไม่ยอมลาออก

ไม่ว่าจะมีประชาชนกี่สิบล้านเสียงลงคะแนนให้ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนายกฯ ต่อไป ก็ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมที่ทำไว้ในอดีตจะเป็นเรื่อง “ถูกกฎหมาย” โดยอัตโนมัติ “ความไว้วางใจของเสียงส่วนใหญ่” เป็นคนละประเด็นกันกับ “ความถูกต้องทางกฎหมาย” สิ่งที่บ้านเมืองต้องการคือการพิสูจน์ประเด็นหลัง ซึ่งต้องใช้กระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่ขั้นตอนทางศาลสถานเดียว ไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้ง

เราต้องแยกแยะระหว่าง “หลักรัฐศาสตร์” กับ “หลักนิติศาสตร์” พร้อมทั้งทำความเข้าใจด้วยว่า หลักที่ “ชอบธรรม” ในทั้งสองมิตินั้น มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และควรใช้หลักใดเวลาใด

ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีความคิดที่จะทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร โดยไม่ระบุวันที่ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เปิดสภาได้ ทั้งๆ ที่มีส.ส. ไม่ครบ 500 คน จึงเป็นการ “ตะแบง” แบบไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และ “โยน” วิกฤติของรัฐบาลรักษาการไปให้พระมหากษัตริย์ทรงตัดสิน แทนที่จะมุ่งเน้นวิธีแก้ชนวนของปัญหาทั้งหมดในตอนนี้ คือการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ…

…ซึ่งนอกจากจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ยังมี กกต. “อำนวยความสะดวก” ทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การรีบร้อนจัดวันเลือกตั้งที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ชนิดที่พรรคการเมืองอื่นไม่ทันตั้งตัว หันคูหาลงคะแนนออกด้านนอกด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น (และทำให้หัวคะแนนต่างจังหวัดทำงานง่ายกว่าเดิมมาก) รวมทั้งการสั่งให้ยุบพรรคเล็กสองพรรคด้วยข้อหาเป็น “นอมินี” ให้พรรคใหญ่ แต่ไม่สั่งให้ยุบพรรคใหญ่ผู้ว่าจ้างนั้นด้วย ทั้งๆ ที่หลักฐานที่พิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้จ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” ย่อมเป็นหลักฐานชุดเดียวกันอยู่แล้ว

โชคดีที่พระมหากษัตริย์ของเรา ทรงมีพระปรีชาญาณสูงส่ง ไม่ยอมตกเป็น “เครื่องมือ” ของนักการเมือง ที่ตั้งใจจะขอพระราชทานในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ (เพราะมาตรา 98 ระบุว่าสภาต้องมี ส.ส. ครบ 500 คน จึงจะเปิดสภาได้)

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยยื่นคำร้องไปที่ศาลปกครองสูงสุดแล้วเมื่อวันที่ 3 เม.ย. (หนึ่งวันหลังวันเลือกตั้ง) เสนอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะเนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำตอบ

แต่เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ศาลใดเล่าจะกล้านิ่งดูดายอีกต่อไป?

ถ้าศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. เป็นโมฆะ กกต. แสดงสปิริตลาออกทั้งชุด (เพราะเป็นผู้ดำเนินการการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) และให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้นภายในเวลาอันควร (เช่น ภายใน 90 หรือ 120 วัน) ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พรรคฝ่ายค้านจะไม่ลงเลือกตั้งเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินต่อไปได้ ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน “โชคดี” ที่ความไร้เหตุผลของการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประกาศไม่ลงเลือกตั้ง มี “เหตุผล” ที่ฟังขึ้นและยอมรับได้ (เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครเชื่อว่า พรรคฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งได้ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีความชอบธรรมหรือไม่) แต่เนื่องจากตอนนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ประกาศเว้นวรรคแล้ว ถ้ามี กกต. ชุดใหม่มาดูแล การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จัดขึ้นภายในเวลาเหมาะสม จึงต้องนับเป็นการเลือกตั้งที่ “ชอบธรรม” ด้วยประการทั้งปวง

ในขณะเดียวกัน กระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน ต้องเน้นหนักที่การปรับเปลี่ยนกลไกการคัดเลือก และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างปราศจากการแทรกแซงของนักการเมือง หรืออย่างน้อยก็ลดดีกรีของการแทรกแซงลงได้บ้าง


พระราชดำรัส

“ในปัจจุบันนี้มีปัญหาด้านกฎหมายที่สำคัญ คือว่าถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามที่ท่านได้ปฏิญาณว่าจะทำให้ประเทศชาติปกครองได้โดยแบบประชาธิปไตย คือเวลานี้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ฉะนั้นก็ขอไปปรึกษากับผู้ที่มีหน้าที่ในศาลปกครอง

แต่ก่อนมีอย่างเดียวมีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง เมื่อมีก็ต้องไปดำเนินการ ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองประชาธิปไตย กลับไปอ่านมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีตามที่เคยทำมา ไม่มีที่เขาอยากจะได้นายกฯพระราชทาน เป็นต้น

จะขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่เรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ…ขอโทษ…แบบมั่ว แบบไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่แจ่มใส สามารถกลับไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติคือปกครองต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ว่าไม่ได้ แต่อาจจะต้องหาวิธีที่ตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน แบบทำงานได้ แต่ก็มั่ว…ขอโทษอีกทีนะ…ใช้คำมั่วไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดแบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จ ถ้าทำไม่ได้ก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอีก เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไป ก็เลยต้องมาขอร้องฝ่ายศาลให้คิดและช่วยกันคิด”

บริบทและข้อคิดเห็น

ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม “กู้ชาติ” (ส่วนน้อย?) ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการอ้างมาตรา 7 ขอนายกฯพระราชทาน ผู้เขียนมีความตื้นตันใจเมื่อได้อ่านพระราชดำรัสข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ “เข้าใจ” เหตุผลของฝ่ายที่ขอนายกฯพระราชทาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือพรรคฝ่ายค้าน ว่าทำอย่างนั้นไปเพราะมองไม่เห็น “ทางออก” อื่น (ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีอำนาจอะไรที่จะไป “ชี้นำ” ศาลต่างๆ ให้ทำอะไรได้ ทำได้แต่แสดงออกด้วยการประท้วง เช่นประท้วง กกต. เท่านั้น) แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ หากศาลต่างๆ สนองพระราชดำรัสจริง (เช่น ด้วยการประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ) ก็น่าจะเป็น “ทางออก” ที่ดีของสังคมไทย ที่จะนำไปสู่การเดินหน้าของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและชอบธรรม

รู้สึกปลาบปลื้มที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดทรงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อ้างมาตรา 7 ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเข้าใจและเห็นใจใน “ข้อจำกัด” ที่นำไปสู่การอ้างมาตรา 7 ดังสะท้อนให้เห็นในการชี้นำของพระองค์ให้ศาลร่วมกันหา “ทางออก” ให้กับบ้านเมือง ซึ่งเป็นการชี้นำ “ศักดิ์สิทธิ์” จากสถาบันสูงสุด ทรงพลานุภาพซึ่งไม่มีประชาชนหรือพรรคการเมืองใดจะเทียบเทียมได้

ใครที่คิดอย่างฉาบฉวยว่าผู้สนับสนุนการขอนายกฯพระราชทาน ควรถูกฟ้องข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้น ควรคิดทบทวนพระราชดำรัสครั้งนี้และครั้งที่ผ่านมา (ในประเด็น “king can do wrong”) ให้ดีๆ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเข้าใจความหมาย และขอบเขตหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มากกว่านักการเมืองหลายคนที่ไม่เข้าใจมิติอื่นใดของระบอบ นอกเหนือไปจากหีบบัตรเลือกตั้ง และพยายามตีความพฤติกรรมของทุกคนที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ในทางที่ “เข้าข้าง” ผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึง “เนื้อแท้” และ “เจตนารมณ์” ของพฤติกรรมนั้นๆ ว่าทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นพระประสงค์สูงสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากน้อยเพียงใด

ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.