เพื่อนคนหนึ่งส่งสายมาบอกว่า โมฮัมหมัด ยุนุส ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank “ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้” ที่เคยเขียนถึงในคอลัมน์ “คนชายขอบ” เมื่อปลายปีที่แล้ว เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ ร่วมกับ Grameen Bank 🙂
ในฐานะนักการเงิน/นาย(นาง?)ธนาคารที่ชื่นชมยุนุสและ Grameen Bank มาหลายปี และได้มีโอกาสไปฟังเขาบรรยายตอนมาเมืองไทยปีที่แล้ว ก็ขอปรบมือดังๆ ให้กับคณะกรรมการผู้ตัดสิน เพราะยูนุสเหมาะสมกับรางวัลนี้ด้วยประการทั้งปวง และสมควรจะได้รับรางวัลนี้มานานแล้ว
หวังว่าข่าวการได้รับรางวัลของยูนุสในครั้งนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้สื่อต่างๆ ในเมืองไทย ตลอดจนสถาบันการเงินและรัฐบาล หันมาเอาจริงกับการโปรโมท และลงมือใช้แนวคิด microcredit (เงินกู้ไร้หลักประกันสำหรับคนจน บางแห่งเรียกว่า “microfinance” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าเล็กน้อย เพราะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดอื่นๆ ที่ขายให้กับผู้ยากไร้ นอกเหนือจากเงินกู้) ในเมืองไทยอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเสียที เพราะธนาคารหลายแห่งที่ปล่อยกู้แบบ microcredit ตามแนวคิดของยูนุสนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถ ช่วยคนจนได้อย่างแท้จริง และมี ผลกำไรจากการทำธุรกิจ ไม่ใช่ปล่อยกู้เป็นการกุศลเฉยๆ (ที่มีกำไรก็เพราะคนจนสามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้และเงินต้นได้จริง ไม่ได้กลายเป็นหนี้เสีย)
microcredit ที่แท้จริงไม่เหมือนกับโครงการปล่อยกู้เพื่อคนจนส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่แล้ว ที่มุ่งเน้นการให้คนจนได้ “เข้าถึง” แหล่งเงินกู้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้จัดโครงสร้าง วิธีการติดตาม กรอบวัตถุประสงค์ และเงื่อนไขของเงินกู้เหล่านั้นให้พวกเขาสามารถชำระหนี้ได้อย่างแ้ท้จริง และในทางที่นำเงินกู้นั้นไปลงทุนเิพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่กู้ไปใช้จ่ายเฉยๆ (แถมบางครั้งยังไป “หลอก” คนจนเสียอีก ว่าพวกเขาจะสามารถใช้เิงินที่รัฐให้กู้นั้นสร้างตัวเป็น “เุ้ถ้าแก่” ได้อย่างสบายๆ โดยรัฐไม่ต้องให้ความรู้ด้านการเงิน ทักษะด้านธุรกิจ หรือแผนการตลาดอะไรมากมาย)
ตั้งใจจะเขียนขยายความเรื่อง microcredit (ซึ่งปัจจุบันเป็นแนวคิดที่ขยายวงจาก “ธนาคารพาณิชย์กึ่งเอ็นจีโอ” อย่าง Grameen Bank ไปสู่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่ทำการค้าเต็มรูปแบบ อย่าง Citigroup และ Standard Chartered แล้ว) วันใดวันหนึ่งข้างหน้า ไม่ในบล็อกนี้ก็ในคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” ค่ะ โปรดติดตาม 🙂