ข้อคิดจากประสบการณ์ปฏิบัติธรรมครั้งแรก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพิ่งกลับมาจากการปฏิบัติธรรมครั้งแรกในชีวิต กับพระอาจารย์ชยสาโร ที่อาคารบ้านบุญ บริเวณบ้านไร่ทอสี อ. ปากช่อง นครราชสีมา ไปนอนค้างบ้านรุ่นพี่คนหนึ่งที่มีบ้านอยู่ในนั้น กับเพื่อนๆ พี่ๆ อีกสามคน

ชยสาโรภิกขุ

กลับมาแล้วผู้เขียนก็ยังนั่งสมาธิไม่เป็น แถมอาการเจ็บเข่าก็กำเริบเสิบสานไปสองวันจากการเดินจงกรมแบบคนโง่ คือไม่คิดถึงสังขารตัวเอง แต่การเดินทางเที่ยวนี้ต้องนับว่าเป็นกำไรชีวิต เพราะได้ข้อคิดกลับมาพอสมควร โดยเฉพาะที่จดบันทึกมาจากธรรมเทศนาของพระอาจารย์ เลยขอเล่าสู่กันฟังในบล็อกวันนี้ เพราะท่านชยสาโรเทศน์เก่งมาก ใช้ภาษาง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง สมกับเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท พระนักปฏิบัติผู้ล่วงลับไปแล้ว

อ่านจบแล้วใครอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขอเชิญคอมเม้นท์ ผู้เขียนอยากฟังนะคะ เพราะตั้งใจจะไปอีก 🙂

……

การปฏิบัติธรรมครั้งนี้จัดโดย “กลุ่มร่มโพธิ์” มีคนไปประมาณ 150 คน สังเกตคนส่วนใหญ่ที่ไปเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 35-50 ปี ไม่ได้เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราอย่างที่คิดไว้ตอนแรก เห็นมีหนุ่มสาวไปกับพ่อหรือแม่หลายคู่ ดูน่ารักดี

การปฏิบัติธรรมครั้งนี้จัดสามคืนสองวันครึ่ง คือตั้งแต่เย็นวันพฤหัส ถึงเช้าวันอาทิตย์ ทุกคนต้องถือศีลแปด ต้องสำรวมกาย วาจา ใจ แปลว่าห้ามคุยกัน แต่อนุญาตให้เอาสมุดไปจดได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะสำหรับตัวเอง เพราะถ้าไม่ให้พูดกับใครนานกว่า 5 วัน และไม่ให้เขียนอะไรเลยด้วย (เหมือนกับกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดของสถานปฏิบัติธรรมบางแห่ง เช่นของคุณแม่สิริ ที่เพื่อนเคยเล่าให้ฟัง) คงกระสับกระส่ายกว่านี้หลายเท่า ดีไม่ดีอาจหนีกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่สี่ก็ได้


เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพิ่งกลับมาจากการปฏิบัติธรรมครั้งแรกในชีวิต กับพระอาจารย์ชยสาโร ที่อาคารบ้านบุญ บริเวณบ้านไร่ทอสี อ. ปากช่อง นครราชสีมา ไปนอนค้างบ้านรุ่นพี่คนหนึ่งที่มีบ้านอยู่ในนั้น กับเพื่อนๆ พี่ๆ อีกสามคน

ชยสาโรภิกขุ

กลับมาแล้วผู้เขียนก็ยังนั่งสมาธิไม่เป็น แถมอาการเจ็บเข่าก็กำเริบเสิบสานไปสองวันจากการเดินจงกรมแบบคนโง่ คือไม่คิดถึงสังขารตัวเอง แต่การเดินทางเที่ยวนี้ต้องนับว่าเป็นกำไรชีวิต เพราะได้ข้อคิดกลับมาพอสมควร โดยเฉพาะที่จดบันทึกมาจากธรรมเทศนาของพระอาจารย์ เลยขอเล่าสู่กันฟังในบล็อกวันนี้ เพราะท่านชยสาโรเทศน์เก่งมาก ใช้ภาษาง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง สมกับเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท พระนักปฏิบัติผู้ล่วงลับไปแล้ว

อ่านจบแล้วใครอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขอเชิญคอมเม้นท์ ผู้เขียนอยากฟังนะคะ เพราะตั้งใจจะไปอีก 🙂

……

การปฏิบัติธรรมครั้งนี้จัดโดย “กลุ่มร่มโพธิ์” มีคนไปประมาณ 150 คน สังเกตคนส่วนใหญ่ที่ไปเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 35-50 ปี ไม่ได้เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราอย่างที่คิดไว้ตอนแรก เห็นมีหนุ่มสาวไปกับพ่อหรือแม่หลายคู่ ดูน่ารักดี

การปฏิบัติธรรมครั้งนี้จัดสามคืนสองวันครึ่ง คือตั้งแต่เย็นวันพฤหัส ถึงเช้าวันอาทิตย์ ทุกคนต้องถือศีลแปด ต้องสำรวมกาย วาจา ใจ แปลว่าห้ามคุยกัน แต่อนุญาตให้เอาสมุดไปจดได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะสำหรับตัวเอง เพราะถ้าไม่ให้พูดกับใครนานกว่า 5 วัน และไม่ให้เขียนอะไรเลยด้วย (เหมือนกับกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดของสถานปฏิบัติธรรมบางแห่ง เช่นของคุณแม่สิริ ที่เพื่อนเคยเล่าให้ฟัง) คงกระสับกระส่ายกว่านี้หลายเท่า ดีไม่ดีอาจหนีกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่สี่ก็ได้

เนื้อหาของ “การปฏิบัติธรรม” ในแต่ละวันประกอบด้วยการนั่งสมาธิและเดินจงกรมวันละสี่รอบ ฟังท่านอาจารย์ชยสาโรแสดงธรรมวันละสองรอบ และตอบคำถามธรรมะวันละรอบ ทำวัตร (สวดมนต์) รอบเช้าและรอบเย็น เล่นโยคะหรือชี่กงตอนเช้าเป็นการออกกำลังกาย (ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง เพราะเข่าไม่ดี) ทานอาหารมังสวิรัติสองมื้อ คือมื้อเช้าและเที่ยง ไม่มีมื้อเย็น ทานแต่น้ำปานะเป็นมื้อสุดท้ายราวสี่โมงครึ่ง

การไม่กินข้าวเย็นนี่ไม่ได้เป็นเรื่องทรมานอย่างที่คิด คงเป็นเพราะนอนเร็วกว่าปกติ คือสามทุ่มกว่า ต้องตื่นตีสี่ทุกวันไปนั่งสมาธิ นั่งไม่เคยสำเร็จเสียที ถ้าไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่ ก็ผล็อยหลับ โดยเฉพาะนั่งสมาธิตอนเช้า นั่งเมื่อไหร่ก็หลับเมื่อนั้น

ก็แหม ปกติตีสี่นี่เป็นเวลาที่บางวันเราเพิ่งจะนอน ไม่เคยตื่นเวลานี้โดยสมัครใจเลยตั้งแต่เกิดมา

พระอาจารย์ท่านอยู่กับเราตลอดทุกครั้งที่นั่งสมาธิ แต่ท่านไม่ได้สอนวิธีนั่งแบบเป็นขั้นตอน แค่บอกให้ทำจิตให้ว่าง ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดเรื่องอดีตหรืออนาคต ไม่ต้องกังวลเรื่องทางโลก ฯลฯ พูดง่ายแต่ทำยากมาก ยิ่งผู้เขียนเป็นพวกช่างคิดอยู่แล้ว บอกให้ “เลิกคิด” นี่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี

ขนาดพระอาจารย์ท่านแนะให้ใช้คำว่า “รู้ตัว” และ “ปัจจุบัน” ช่วยบริกรรม หรือให้นับเลขเวลาหายใจเข้าออก ในหัวเรายังอุตส่าห์จินตนาการตัวเลขเป็นไฟดิจิตัลสีแดงแจ๋ เหมือนกับไฟแดงตามสี่แยกจราจร

สงสัยกิเลสจะพอกหนาจนตัดนิวรณ์ไม่ขาด

เวลาเดียวที่รู้สึกว่าได้ทำสมาธิจริงๆ คือตอนเดินจงกรม เพราะอาการเจ็บหัวเข่าขวา (ที่กำเริบตั้งแต่เช้าวันออกเดินทาง เพราะดันอุตริลองนั่งสมาธิในท่าขัดสมาธิ ตอนนั่งก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ตอนจะลุกขึ้นยืนหลังนั่งแล้วนี่สิ… ทำให้ความรู้สึกตอนเข่าหลุดสมัยเด็กๆ แวบเข้ามาในหัว) ทำให้ถึงอยากจะคิดก็คิดอะไรไม่ออก สมองมันตกไปอยู่ที่เข่า แถมต้องคอยระวังไม่ให้เดินสะดุดก้อนหิน หรือเหยียบมดและไส้เดือนตัวยาวเฟื้อยที่ออกมาตากลมหลังฝนตก เพราะพยายามรักษาศีลแปดอย่างเคร่งครัดตามกฎของผู้จัด

เลยได้มีโอกาส “ดูกาย ดูใจ” อย่างที่ท่านอาจารย์แนะให้ทำ หลายครั้งหลายหน จนคิดว่าตอนนี้เข้าใจดีว่า “ทุกข์” นั้นต่างจาก “เวทนา” ยังไง

“เวทนา” คือความเจ็บปวด เป็นอาการของกาย ในกรณีของผู้เขียนคือความรู้สึกเจ็บแปลบที่เข่าขวาทุกครั้งที่ก้าวเท้าเดิน แต่ถ้าเราไม่เอาใจไปจดจ่ออยู่กับความเจ็บปวดนั้น ไม่พยายามเอาชนะมัน หากคอยสังเกตอาการ คิดว่ามันเป็นเพื่อนที่เราต้องอยู่ด้วยตลอดชีวิต ความรู้สึก “ทุกข์” ก็ไม่เกิด

เพราะสุขทุกข์คือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ที่เกิด อยู่ และดับที่ใจเท่านั้น

กลับมาก็เลยรู้สึกขอบคุณเข่าขวาเจ้ากรรม ที่ทำให้เราฝึกสมาธิได้ดี แถมยังได้ความรู้ใหม่ด้วยว่า ท่าบริหารเข่าที่หมอสอนนานแล้ว แต่ไม่เคยทำได้ครบ คือนั่งเหยียดขาบนพื้นราบแล้วเกร็งเข่าทั้งสองข้างกดลงไปบนพื้น นับหนึ่งถึงสิบแล้วคลาย ทำซ้ำๆ อย่างนี้ไปสองร้อยครั้งทุกวัน เพื่อสร้างกล้ามเนื้อน่องให้ช่วยพยุงเข่า เป็นการฝึกสมาธิที่ดีมากๆ วิธีหนึ่ง

ก่อนไปปฏิบัติธรรมเที่ยวนี้ ทุกครั้งที่นั่งบริหารเข่า จะพยายามทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น อ่านหนังสือ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเสียเวลา แต่ครั้งนี้ทำให้ได้รู้ว่า การบริหารเข่าแบบตั้งใจทำจริงๆ นั้น นอกจากจะไม่ใช่เรื่องเสียเวลาแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับการพัฒนาจิตใจเราอีกต่างหาก

อยู่กับโรคเข่าเสื่อมมาตั้งนาน เพิ่งจะเห็นข้อดีจริงๆ ก็คราวนี้เอง เมื่อก่อนเคยคิดว่าข้อดีข้อเดียวของโรคนี้คือ ช่วยเราฝึกความอดทน ไม่เคยคิดว่าจะช่วยเจริญสมาธิได้เลย

ก็หวังว่านับจากนี้ สุขภาพเข่าจะดีขึ้นพร้อมๆ กับสมาธิ

……

รุ่นพี่บอกว่า ที่นี่สอนแบบ “ระบบเปิด” คือไม่สอนขั้นตอนอะไรมาก สอนเพียงหลักกว้างๆ ไม่เหมือนกับ “ระบบปิด” ที่อื่นอีกหลายที่ เช่นของคุณแม่สิริ ซึ่งเคร่งครัดกว่า สอนวิธีการนั่งสมาธิและเดินจงกรมเป็นขั้นตอนชัดเจน เหมาะสำหรับ “มือใหม่” อย่างผู้เขียน

ส่วนตัวคิดว่า ระบบเปิดก็ดีในแง่ที่ปล่อยให้ทุกคนได้มีโอกาส และแรงจูงใจที่จะค้นหาวิธีปฏิบัติธรรมที่เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อจำกัดของแต่ละคน โดยไม่ต้องมัวแต่พะวงว่าที่เราทำอยู่นี้ “ถูก” หรือ “ผิด”

ดังนั้น ในช่วงเวลาส่วนตัวก่อนที่กิจกรรมต่อไปจะเริ่ม ก็จะเห็นคนทำกิจกรรมต่างๆ แตกต่างกันไป บ้างนั่งสมาธิ บ้างเดินจงกรม ผู้ใหญ่บางท่านกลับที่พักไปนอนเอาแรง คนหนุ่มสาวบางกลุ่มกลับไปเม้าธ์กันหลังจากที่อัดอั้นมาตลอดวัน

ผู้เขียนหมดเวลาส่วนตัวส่วนใหญ่ไปกับการจดบันทึก อ่านหนังสือธรรมะบนหิ้งในบ้านบุญ และเดินจงกรมในบริเวณบ้านไร่ทอสี (ที่รู้ว่าบางคนกลับไปเม้าธ์กัน ก็เพราะได้ยินเสียงเล็ดลอดออกมาจากบ้านต่างๆ ตอนเดินนี่แหละ)

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่ง “วิทยาศาสตร์” ที่ส่งเสริมให้ทุกคนลงมือคิดค้นและปฏิบัติด้วยตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำเพราะฟังตามๆ กันมา หรือทำเพราะเชื่อผู้รู้

ทุกคนที่ไปที่นี่ต้องใส่เสื้อสีขาว กางเกงดำสำหรับผู้ชาย และกระโปรงหรือผ้าถุงสีดำสำหรับผู้หญิง ผู้เขียนมีโรคเข่าประจำตัว งอเข่ามากๆ ไม่ได้ ต้องนั่งเหยียดขาตลอดเวลา (โชคดีที่เขามีเก้าอี้ให้นั่ง สำหรับคนที่นั่งขัดสมาธิไม่ได้) เลยใส่กางเกงดำ กลายเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ใส่กางเกง ตอนแรกพี่คนหนึ่งในคณะผู้จัดทำท่าจะบังคับให้ซื้อผ้าถุงของเขาไปใส่ แต่พอเห็นอาการแล้วก็อนุโลมให้ เพื่อนอีกคนที่ไปด้วยกันโชคไม่ดี เอาแต่กระโปรงสีเทาไป เลยถูกบังคับให้ยืมกระโปรงคนอื่นมาใส่ทุกวัน

ผู้เขียนคิดว่ากฎเกณฑ์อย่างนี้ค่อนข้างจุกจิก ไม่น่าจะต้องเคร่งครัดเข้มงวดถึงขนาดนั้น ไม่ว่าใครจะใส่เสื้อผ้าแบบไหนสีอะไร ถ้ามันไม่โป๊น่าเกลียดก็ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหาย ตราบใดที่ผู้ร่วมปฏิบัติธรรมมีความตั้งใจจริงที่จะสำรวมกาย วาจา ใจ ตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับคนอื่น

หลายคนคงมองว่าการบังคับใช้กฎต่างๆ อย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องดีเพราะช่วยฝึกวินัยของผู้ปฏิบัติธรรม แต่ผู้เขียนคิดว่ากฎแต่ละข้อมี “สาระ” ไม่เท่ากัน กฎเกี่ยวกับการแต่งกายนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างฉาบฉวย ที่ไม่เกี่ยวกับสาระของการปฏิบัติธรรมเท่าไหร่

สู้กฎบางข้อไม่ได้ ที่ส่วนตัวชอบและสนับสนุนที่ผู้จัดบังคับให้ทุกคนทำตาม เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมจริงๆ หรืออย่างน้อยก็เป็นการสร้างนิสัยที่ดี เช่นกฎที่ให้ล้างถ้วย แก้ว และชามข้าวของตัวเอง ทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จ

บันทึกความประทับใจเรื่องนี้ไว้ในสมุดว่า “อ่างล้างชามมี 4 อ่าง อ่างล้างถ้วยมี 3 อ่าง คงเป็นเพราะถ้วยสะอาดกว่าชามข้าว สงสัยว่าใจเราเป็นชามหรือเป็นถ้วย?”

……

ท่านอาจารย์ชยสาโรเป็นพระที่เทศน์เก่งมาก แม้พื้นเพของท่านจะเป็นคนอังกฤษ แต่ก็อยู่เมืองไทยมานาน ใช้ภาษาไทยเก่งกว่าคนไทยหลายคน สามารถทำเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย แยกแยะระหว่าง “แก่นสาร” กับ “กระพี้” หลายเรื่องให้เห็นชัด ขอคัดลอกธรรมเทศนาบางตอนของท่านจากสมุดบันทึกที่ไปจดมา อนุโมทนาเป็นธรรมทานแด่ทุกท่าน ตามที่สติปัญญาอันน้อยนิด และความเร็วในการจดของผู้เขียนจะเอื้ออำนวย:

(อนึ่ง ท่านใดที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์ชยสาโร และบทเทศน์ในรูปไฟล์ MP3 ได้ที่หน้านี้ของเว็บโรงเรียนทอสี)

ศีลแปดเปรียบเสมือน “สิกขาบท” คือบทศึกษา บทฝึกหัด ฝึกให้เราควบคุมเจตนาของตน เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติธรรม

ศีลที่แท้นั้นไม่สามารถแยกออกจากสมาธิ และปัญญาได้ เพราะการถือศีลอย่างถูกต้องจะนำไปสู่ความสงบ ซึ่งนำไปสู่ปัญญา ดังนั้น ศีลแต่ละข้อจึงเปรียบเสมือนแบบฝึกหัด ให้เราพิจารณาให้เห็นโทษของการไม่ปฏิบัติตาม และประโยชน์ของการปฏิบัติตาม

ในการปฏิบัติตามศีลนั้นควรปฏิบัติให้เกิดฉันทะ (ความชอบ) ไม่ใช่ตัณหา เพราะศีลในภาคปฏิบัติคือการไม่ทำ ไม่พูดสิ่งใดก็ตามที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส เช่น หากเราพูดความจริง แต่พูดด้วยโทสะเพื่อปองร้ายผู้อื่น อย่างนี้ก็ถือว่าศีลเสีย เหมือนกัน

ในเบื้องต้นของการฝึก จิตของเราอาจยังมีเจตนาอยู่ เช่น ยังอยากได้ หรืออยากทำ แต่ขอให้ฝึกความอดทนอดกลั้น ไม่ทำตามเจตนานั้นๆ

ศีลสามข้อสุดท้ายของศีลแปด ไม่เกี่ยวกับเรื่องบาปกรรม แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสียสละ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น มีเวลาในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น เช่น อานิสงส์ของการไม่ทานข้าวเย็นคือมีเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิมากขึ้น ความอยากน้อยลงกว่าตอนที่ทานข้าวเย็น

การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเราฝึกดูกาย ดูใจอย่างละเอียด ก็จะทำให้เกิดความชำนาญในการดูทุกขเวทนา ดังนั้นขอให้เราถือว่าทุกขเวทนาเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ศึกษาชีวิต อย่ารู้สึกน้อยใจหรือเสียใจเวลาปวดหลัง ปวดเข่า ฯลฯ เพราะทุกครั้งที่เราปฏิบัติธรรมนั้น ถือเป็นกำไรชีวิตทั้งนั้น

คุณธรรมข้อหนึ่งที่ควรเกิดจากการปฏิบัติธรรม คือการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลดความเห็นแก่ตัว ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น

ถ้ามีความอดทนแล้ว คุณธรรมข้ออื่นเกิดไม่ยาก แต่คนไม่ค่อยสนใจข้อนี้ เพราะมัวแต่อยากได้ญาณ ได้ฌาน ได้สิ่งที่สูงกว่าความอดทน

การถือศีลคือการกำกับกายและวาจา ไม่ใช่ใจ ดังนั้นจึงไม่สามารถแก้ความโกรธได้ ทำได้เพียงไม่ให้เราแสดงออกซึ่งความโกรธเท่านั้น ถ้าเราต้องการระงับอารมณ์ไม่ให้รู้สึกโกรธตั้งแต่แรก ต้องใช้มากกว่าศีล คือต้องใช้ทั้งสมาธิ และปัญญา

การฆ่าสัตว์หลังจากที่เราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว เช่น ฆ่าจอมปลวกที่กำลังกินบ้าน อย่างน้อยก็ถือว่าเรามีความเพียรที่จะไม่ฆ่า นับเป็นกรรมของฆราวาสคือผู้ครองเรือน พระเองบางครั้งก็ต้องฆ่าปลวกที่มากินกุฎิเหมือนกัน

หลายคนที่มาปฏิบัติธรรมจะถามหา “เคล็ดลับ” ในการฝึกจิต จริงๆ แล้วไม่มีเคล็ดลับอะไรหรอก ปัญหาอยู่ที่วิถีชีวิตต่างหาก คนหลายคนที่อยากได้ “ทางลัด” ในการปฏิบัติธรรม ไม่เคยย้อนไปสำรวจดูว่า วิถีชีวิตของพวกเขานั้นทำให้ฟุ้งซ่านเพราะอะไร ลดทอนอะไรในชีวิตได้หรือไม่ พูดอะไรไร้สาระหรือไม่ขนาดไหน

มีธรรมะสามข้อที่อาตมาคิดว่าเอื้อต่อการปฏิบัติธรรม: การสำรวมอินทรีย์ (คือกาย วาจา ใจ) การประมาณตนในการบริโภค และการไม่เห็นแก่นอน

“คำตอบ” ของการปฏิบัติธรรม หรือจุดมุ่งหมายของศาสนาพุทธนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคน “รู้” อยู่แล้ว (เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ) ฉะนั้นเรื่องสำคัญไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบ หากอยู่ที่ “การเดินทาง” จากคำถามไปสู่คำตอบ คำตอบเป็นเรื่องที่ทุกคนต้อง “เข้าใจ” ด้วยตัวเอง

“จำเป็นมั๊ย” เป็นคำพูดของคนที่ไม่อยากทำอะไร ถ้ามีฉันทะ (ความชอบ) ที่จะทำ จะไม่พูดคำนี้หรอก

ธรรมะต่างๆ ในศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นชุด ต้องเข้าใจเป็นองค์รวม ไม่สามารถดึงออกมาใช้แบบเดี่ยวๆ ได้ เช่น หลักพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องใช้ทั้งหมด ไม่ใช่เวลามีใครทำผิดแล้วบอกว่าควรเมตตาเขาอย่างเดียวแล้วจบเลย ควรมีการลงโทษด้วย จะได้ช่วยไม่ให้เขามีโอกาสทำผิดอีก.