คนบ้าอนุรักษ์ vs. คนตีตั๋วฟรี

ลูกสาวพิพิธภัณฑ์
ได้อ่านหนังสือเรื่อง “ลูกสาวพิพิธภัณฑ์” เขียนโดยคุณพรศิริ บูรณเขตต์ ทายาทผู้ก่อตั้งและดำเนินการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี หนึ่งในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ดีที่สุดของไทย เป็นการระบายความในใจของคุณพรศิริผ่านหน้ากระดาษ ในรูปจดหมายถึงพ่อ น้า พี่ ครู และคนที่เธอนับถืออื่นๆ

อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่า ประสบการณ์ของคุณพรศิริในฐานะผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่มีตัวตน และประสบการณ์ของข้าพเจ้าในฐานะเว็บมาสเตอร์ของพิพิธภัณฑ์เกมเก่า แห่งหนึ่งในโลกไซเบอร์ มีอะไรๆ คล้ายกันหลายอย่าง แม้ว่าเกมเก่าๆ บนเว็บข้าพเจ้านั้น เทียบไม่ได้เลยในแง่ “คุณค่าทางวัฒนธรรม” กับสิ่งที่จ่าทวีและคุณพรศิริพยายามอนุรักษ์ และแม้ว่าคนที่สนใจวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย เทียบกับคนที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูเผินๆ น่าจะเป็นคนสองประเภทที่อยู่กันคนละขั้วก็ตาม ความเหมือนต่างๆ ระหว่างประสบการณ์ของคุณพรศิริและของข้าพเจ้า ก็มากพอที่จะสะท้อนให้สะเทือนใจว่า พฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะพวกชอบ “ตีตั๋วฟรี” นั้น เป็น “สากล” ขนาดไหน แต่ความเหมือนบางด้านก็ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงความสุขที่ได้รับจากการเป็นคน “บ้าอนุรักษ์” คนหนึ่งได้เหมือนกัน

ก่อนที่จะขยายความ ขอเกริ่นคร่าวๆ ถึงประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่ง ว่ามีเจตนารมณ์ และวิวัฒนาการที่ต่างกันและคล้ายกันอย่างไร


ลูกสาวพิพิธภัณฑ์
ได้อ่านหนังสือเรื่อง “ลูกสาวพิพิธภัณฑ์” เขียนโดยคุณพรศิริ บูรณเขตต์ ทายาทผู้ก่อตั้งและดำเนินการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี หนึ่งในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ดีที่สุดของไทย เป็นการระบายความในใจของคุณพรศิริผ่านหน้ากระดาษ ในรูปจดหมายถึงพ่อ น้า พี่ ครู และคนที่เธอนับถืออื่นๆ

อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่า ประสบการณ์ของคุณพรศิริในฐานะผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่มีตัวตน และประสบการณ์ของข้าพเจ้าในฐานะเว็บมาสเตอร์ของพิพิธภัณฑ์เกมเก่า แห่งหนึ่งในโลกไซเบอร์ มีอะไรๆ คล้ายกันหลายอย่าง แม้ว่าเกมเก่าๆ บนเว็บข้าพเจ้านั้น เทียบไม่ได้เลยในแง่ “คุณค่าทางวัฒนธรรม” กับสิ่งที่จ่าทวีและคุณพรศิริพยายามอนุรักษ์ และแม้ว่าคนที่สนใจวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย เทียบกับคนที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูเผินๆ น่าจะเป็นคนสองประเภทที่อยู่กันคนละขั้วก็ตาม ความเหมือนต่างๆ ระหว่างประสบการณ์ของคุณพรศิริและของข้าพเจ้า ก็มากพอที่จะสะท้อนให้สะเทือนใจว่า พฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะพวกชอบ “ตีตั๋วฟรี” นั้น เป็น “สากล” ขนาดไหน แต่ความเหมือนบางด้านก็ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงความสุขที่ได้รับจากการเป็นคน “บ้าอนุรักษ์” คนหนึ่งได้เหมือนกัน

ก่อนที่จะขยายความ ขอเกริ่นคร่าวๆ ถึงประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่ง ว่ามีเจตนารมณ์ และวิวัฒนาการที่ต่างกันและคล้ายกันอย่างไร

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวบ้านแท้ๆ แห่งแรกๆ ของไทย เป็นแหล่งสะสมข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมนับหมื่นชิ้น ซึ่งจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ใช้เวลาเก็บสะสมนานถึง 30 ปี ยามว่างจากงานหล่อพระ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาไทย และปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก จุดที่ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้มีคุณค่ามากกว่าเป็น “โกดังเก็บของ” คือ การที่จ่าทวีไม่ได้เก็บสะสมอย่างเดียว แต่ใช้เวลาพูดคุยกับชาวบ้าน ถึงวิธีการใช้ข้าวของเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นสุ่มก็ถามจนเข้าใจว่า ใช้จับปลาแบบไหน เดือนไหนมีปลาชุก ตอนไม่จับปลาทำอะไร ทำไมใช้สุ่มแบบนี้ ฯลฯ ทำให้จ่าทวีเป็นมากกว่าคนบ้าหอบฟาง เป็น “นักมานุษยวิทยา” ผู้ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างถูกต้องและสมบูรณ์

หลังจากที่พิพิธภัณฑ์อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคมานาน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของจำนวนผู้เข้าชม ของสะสม บริเวณที่เก็บของ ขนาดทีมงานดูแล และความโด่งดังของพิพิธภัณฑ์ กดดันให้คุณพรศิริ ตัดสินใจเปลี่ยนระบบจากการให้เข้าชมฟรี มาเป็นการเก็บเงินค่าบำรุงพิพิธภัณฑ์เมื่อไม่นานมานี้

ส่วน “พิพิธภัณฑ์” บนอินเตอร์เน็ตของข้าพเจ้าชื่อ Home of the Underdogs (“HOTU”) ก่อตั้งประมาณ 7 ปีที่แล้ว จากความที่อยากอนุรักษ์เกมคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่หาซื้อยาก ให้คนมาดาวน์โหลดฟรี มีแฮกเกอร์บางคนบัญญัติศัพท์ “abandonware” สำหรับเรียกโปรแกรมคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่บริษัทผู้ผลิตไม่สนใจจะขายแล้ว เพื่อแยกตัวจาก “warez” ซึ่งเป็นคำใช้เรียกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ค่อนข้างใหม่ที่ยังขายกันอยู่ในท้องตลาด ตัวอย่างเช่น โปรแกรม Windows XP เป็น warez แต่โปรแกรม Windows 1.0 ที่วางตลาดครั้งแรกกว่า 10 ปีที่แล้ว เป็น abandonware ดังนั้น HOTU จัดเป็นเว็บไซด์ abandonware เพราะให้ดาวน์โหลดเฉพาะเกมเก่าๆ ที่ไม่มีขายแล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้ง warez และ abandonware ก็เป็นของ “ผิดกฎหมาย” ทั้งคู่ เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คือ เผยแพร่โปรแกรมหรือเกมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์ก่อน (ปัญหาของ abandonware คือ บริษัทผู้ผลิตเกมพวกนี้ส่วนใหญ่ล้มละลายไปแล้ว ถึงอยากจะขออนุญาตก็ไม่รู้ต้องไปขอใคร) ปัจจุบัน HOTU มีเกมเก่าให้ดาวน์โหลดกว่า 4,500 เกม ยังไม่เคยเรียกเก็บเงินผู้เข้าชม แต่มีโฆษณา pop-up ค่อนข้างมากเพราะมีภาระต้องจ่ายค่าใช้ bandwidth กว่า 7,500GB (กิกาไบท์) ต่อเดือน เพราะแต่ละวันมีคนมาดาวน์โหลดกว่า 15,000 คน

เมื่อเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างประสบการณ์ที่คุณพรศิริถ่ายทอดลงในหนังสือ กับประสบการณ์ของตัวเองจากการทำเว็บ HOTU ก็ได้ข้อสังเกตบางประการ:

1) คนชอบของฟรีที่เอาแต่ได้ถ่ายเดียว มีมากกว่าคนใจดีที่เห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ หลายร้อยเท่า

ปัญหาของ “คนตีตั๋วฟรี” (ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า free rider) เป็นปัญหาที่มีมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะกับบริการสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถกีดกันคนที่ไม่จ่ายเงิน ไม่ให้ได้ใช้ประโยชน์ได้ นี่เป็นเหตุที่ปกติรัฐบาลต้องยอมลงทุนเป็นผู้ผลิตบริการสาธารณะเสียเอง (เช่น สวนสาธารณะ หรือพิพิธภัณฑ์) เพราะมิฉะนั้นก็จะมีแต่คนที่รอ “ตีตั๋วฟรี” ใช้ประโยชน์จากบริการโดยไม่รับภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุน เป็นผลให้ไม่มีใครผลิตบริการนั้น แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ตาม

ดังนั้น เอกชนที่ลงทุนเป็นผู้ผลิตบริการสาธารณะ ควรนับเป็นผู้เสียสละเพื่อสังคมที่หาได้ยากยิ่ง

การที่เว็บไซด์ของข้าพเจ้ายังฟรีอยู่ (อยากเก็บค่าดาวน์โหลดเหมือนกัน แต่ติดที่มีของผิดกฎหมายเยอะ แค่นี้ก็ยังมีทนายบริษัทเกมคอยรังควานทุกๆ 2-3 เดือนอยู่แล้ว) ทำให้มีปัญหา “คนตีตั๋วฟรี” ค่อนข้างมาก คือคนส่วนใหญ่มาดาวน์โหลดเกมทีละหลายร้อยเกม ทำให้ใช้ bandwidth สูงและฉุดให้เว็บไซด์ช้าลง ข้าพเจ้ามักได้ e-mail ด่า ประณามว่าเว็บไซด์ช้ามาก ดาวน์โหลดช้าไม่ทันใจ (สงสัยนึกว่า bandwidth หล่นมาจากฟ้า) หรือไม่ก็ด่าว่าทำไมไม่มีเกมใหม่ (คือ warez ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับจริงแล้ว ยังผิดเจตนารมณ์ของข้าพเจ้าอย่างรุนแรง เพราะต้องการให้ดาวน์โหลดเฉพาะเกมเก่าขาดตลาดเท่านั้น) หรือไม่ก็ด่าว่าโฆษณาเยอะ มีทั้ง banners และ pop-ups น่ารำคาญ เอาเปรียบคนดู หน้าเงิน (หารู้ไม่ว่าเงินที่ได้จากโฆษณาเหล่านี้ บางเดือนยังไม่พอจ่ายค่า bandwidth ด้วยซ้ำ) นี่ยังไม่นับวัยรุ่นลามกทั้งหลาย ที่ e-mail มาแซวแบบเถื่อนๆ เมื่อรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้หญิง

เพราะได้ e-mail ด่าจากคนตีตั๋วฟรีแบบนี้วันละหลายโหล เลยไม่แปลกใจที่คุณพรศิริเล่าว่า “เงินที่มักเป็นภาพว่าคนละด้านกับใจ ช่วยหนูได้อย่างนึกไม่ถึงมาก่อน [หลังเริ่มเก็บเงิน] คือ คนที่ไม่ยอมเสียเงิน ก็จะไม่เข้ามาดู ส่วนคนที่เสียเงินเข้ามาก็จะดูจนคุ้มค่า ดูครึ่งค่อนวัน …บริษัทนำเที่ยวที่มักดูฟรี ไม่ช่วยหยอดเงินใส่ตู้บริจาค กระทั่งไกด์คนหนึ่งพาลูกทัวร์ปีนออกระเบียง เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินผ่านตู้บริจาค ก็หายไป ถามว่าอยู่ได้ไหม ดีกว่าเดิมค่ะ คนน้อยลงกว่าเดิมสัก 30 เปอร์เซ็นต์ แต่สภาพพิพิธภัณฑ์และคนงานพิพิธภัณฑ์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งร่ายกายและจิตใจ”

แต่ที่ไหนมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่นั่นย่อมมีเรื่องกลุ้มใจตามมา สำหรับคุณพรศิริ เรื่องกลุ้มใจคือสิ่งที่เธอเรียกว่า “มหกรรมนินทานานาชาติ” คือ “คนที่ไม่ยอมเสียเงินเข้ามาดู จึงพูดว่าพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนไป ไร้อุดมการณ์”

อ่านแล้วก็นึกโกรธแทน คนที่มีอุดมการณ์ ต้องยอมอดตายเสมอไปหรือเพื่อพิสูจน์ว่ามีอุดมการณ์นั้นจริง คนเห็นแก่ตัวมักจะมอง “เงิน” ว่าเป็นเรื่องดีเมื่อตัวเองได้ แต่เป็นเรื่องร้ายเมื่อตัวเองเสีย

“คุณค่า” ที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์นั้น ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเงิน และการเก็บเงินก็ไม่ได้แปลว่าบริการของพิพิธภัณฑ์นั้นต้องกลายเป็น “สินค้า” และทำให้คนทำพิพิธภัณฑ์ต้องกลายเป็น “พ่อค้า” ที่มีหน้าที่ “ให้บริการ” ให้สมราคาที่เรียกเก็บ ขนาดตอนนี้ข้าพเจ้าทำเว็บ HOTU เป็นงานอดิเรก ไม่เก็บเงิน ยังมีคนเขียน e-mail มาด่าว่าเมื่อข้าพเจ้าสร้างเว็บนี้ ก็มี “หน้าที่” ที่จะต้องให้บริการที่ดี โอ้โห ใช้คำพูดราวกับข้าพเจ้าเป็นบริกรร้านอาหาร ที่เขาสั่งแล้วไม่อร่อยเหมือนที่คิด

สำหรับคนทำพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งในคำจำกัดความก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า มันไม่ได้เป็นธุรกิจ) เงินเป็นเพียงสิ่งจำเป็น เป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึง ต้องใช้จ่ายเพื่อให้พิพิธภัณฑ์ดำรงอยู่ได้เท่านั้น แต่น่าเสียดายที่คนเราส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ไม่สามารถเห็นเงินเป็นอื่นไปได้ นอกจากสมบัติล้ำค่าที่ต้องสะสม ซื้อได้ทุกอย่าง ดังนั้นก็เลยคิดว่าคนอื่นโลภเหมือนตัวเอง เห็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเก็บเงิน ก็ต้องนึกในใจก่อนว่าไร้อุดมการณ์ ค้ากำไรเกินควร

ข้าพเจ้าอดนึกถึงคำคมของ Oscar Wilde ไม่ได้:

“A cynic is a man who knows the price of everything and the value of nothing.”
(คนที่คิดว่าทุกคนเห็นแก่ตัวคือคนที่รู้ราคาของทุกสิ่ง แต่ไม่รู้คุณค่าของอะไรเลย)

คนตีตั๋วฟรีทุกคนเห็นแก่ตัว ดังนั้นจึงมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์

2) แม้ว่าจะมีคนตีตั๋วฟรีมากมาย คนส่วนน้อยที่เป็นคนใจดีเห็นคุณค่า ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้คนทำพิพิธภัณฑ์ ตั้งใจทำต่อไป

แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรค คำครหานินทามากมาย คุณพรศิริก็ยังยืนหยัดสู้ต่อไป เพราะสำหรับคนทำพิพิธภัณฑ์แล้ว คนส่วนน้อยที่เห็นคุณค่า ทำให้ลืมความลำบากไปได้หลายเปลาะ ในหนังสือ คุณพรศิริเล่าถึงตอนหนึ่งที่นำคณะนักเรียนยากจนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ว่า “หนูตั้งใจอธิบายพวกเขามาก หนูรู้จากสภาพที่เห็นว่า ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีโอกาสเจอพวกเขาอีก ก็อธิบายเกือบ 2 ชั่วโมง ถ้าสรุปผลเป็นธุรกิจ การทำงาน 2 ชั่วโมง ได้เงิน 20 บาท พิพิธภัณฑ์ก็เจ๊งยับค่ะพ่อ …แต่ถ้าพูดเรื่องคุณค่าในความเป็นคน ใจหนูเป็นสุข …เขาจะไม่ลืมเรื่องราวในวันนั้นแน่ๆ”

ข้าพเจ้าเองอดยิ้มไม่ได้ ทุกครั้งที่มีคน e-mail มาขอบคุณที่ทำให้เขาได้เจอเกมเก่าสมัยเด็ก ที่ไม่คิดว่าจะได้เล่นอีกแล้ว บางทีก็เห็นประโยชน์ของเว็บแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่น ข้าพเจ้าเคยได้ e-mail จากผู้เข้าชม HOTU คนหนึ่ง เขียนมาขอบคุณที่ HOTU ช่วยชีวิตเขาไว้ เพราะเจอเว็บเข้าโดยบังเอิญตอนที่เขาคิดจะฆ่าตัวตาย ปรากฏว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง พอได้ดาวน์โหลดเกมเก่าๆ ที่เขาเคยเล่นสมัยเป็นเด็ก ทำให้รู้สึกมีความสุขขึ้น เลิกล้มความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

อีกคราวหนึ่ง หลังจากที่เปลี่ยนระบบดาวน์โหลดของเว็บ จากเดิมให้คลิ้กง่ายๆ เป็นบังคับให้คนต้องพิมพ์โค้ดในรูปภาพก่อน (เพื่อป้องกันพวกเว็บมาสเตอร์เลวๆ ที่ชอบก็อปปี้ดาวน์โหลดลิ้งค์ของข้าพเจ้าไปใช้ (เรียกว่า “link stealing”) เพื่อหลอกชาวบ้านว่าเป็นไฟล์ใน server ของตัวเอง) เคยได้ e-mail จากบก. ของ Audyssey วารสารเกี่ยวกับเกมเพื่อคนตาบอด ขอให้เปลี่ยนระบบดาวน์โหลดใหม่ เพราะคนตาบอดอย่างเขาไม่สามารถอ่านโค้ดในรูปได้ สรุปก็เลยสร้างโค้ดพิเศษให้ใช้ได้เฉพาะสำหรับผู้อ่านวารสารนี้

เลยทำให้รู้ว่ามีคนตาบอดมากมายที่ชอบ HOTU เพราะเกมเก่าๆ หลายเกมมีแต่ข้อความ ไม่มีรูป (เช่น text-only adventures สมัย 15-20 ปีก่อนที่ใช้พิมพ์คำสั่งอย่างเดียว) เกมพวกนี้เป็นประเภทเดียวที่เขาเล่นได้

ถ้าข้าพเจ้าต้องทนคำบ่นคำด่าต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับความเชื่องช้าของดาวน์โหลด ฯลฯ เป็นพันเป็นหมื่นครั้งต่อปี เพื่อรอรับ e-mail แบบนี้สักครั้งสองครั้งในชีวิต ข้าพเจ้าก็ยินดี

นอกจากนี้ การทำพิพิธภัณฑ์ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับคนใจดีทั่วโลก อาทิ โปรแกรมเมอร์รุ่นเก๋าที่ช่วย crack เกมเก่าๆ ให้คนเล่นได้โดยไม่ต้องใส่ password, คนบ้าสะสมที่บริจาคเกมและคู่มือต่างๆ มาถึงเมืองไทย ให้สแกนขึ้นเว็บให้คนอื่นใช้, และเพื่อน on-line หลายคนทีไม่เคยเห็นหน้ากันเลยแต่มีความสนใจตรงกัน เช่นเดียวกัน การทำพิพิธภัณฑ์นำให้คุณพรศิริ ได้พบปะติดต่อกับนักอนุรักษ์อื่นๆ หลายคน เช่น อาจารย์ฝรั่งที่ช่วยแปลคำอธิบายต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์เป็นภาษาอังกฤษ คนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอื่นๆ ทั่วประเทศ และกระทั่งศจ. ระพี สาคริก “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”

ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณพรศิริ มีแรงฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป

3) พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน ตั้งอยู่ใน “ช่องว่าง” ระหว่างรัฐและธุรกิจ ทำให้อยู่ในสภาวะล่อแหลม ไร้กฎหมายใดๆ คุ้มครอง

ตอนหนึ่งในหนังสือ ความในใจที่คุณพรศิริระบายทำให้ข้าพเจ้าสะท้อนใจไปด้วย:

“ปฏิกิริยาที่ตัวแทนหน่วยงาน [ภาครัฐ] ทำกับหนู ไม่ต่างจากที่เขาทำกับคนทำผิดกฎหมาย …หวังว่าเขาจะเข้าใจว่า งานพิพิธภัณฑ์คือความหวังดี มิใช่ว่าใครที่มิใช่รัฐทำอะไร จะเป็นคนละอย่างกับที่ภาครัฐทำ เขามาใช้บริการ ส่งคนในเครือข่ายมาเรียนรู้ เราเป็นหน้าเป็นตาให้เขา …พูดได้ว่าในทางปฏิบัติเขาเรียกหา แต่ในทางเลี้ยงดูออกหน้าออกตา เขาไม่ยอมรับ พูดแบบชาวบ้านร้านช่องเขาเรียก นางบำเรอ คือ เห็นประโยชน์เวลาต้องการ แต่มิอาจจุนเจือได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ”

ปัญหานี้คล้ายกันมากกับ HOTU ที่ไม่สามารถเรียกร้องความเห็นใจจากใครได้ เพราะมีดาวน์โหลดมากมายที่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แม้ว่าทำหน้าที่เสมือนเป็นคลังเก็บของเก่าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้กับบริษัทเกมต่างๆ และแม้ว่ากฎหมายนั้นจะคร่ำครึ และเป็นผลเสียสังคมส่วนรวมเพียงใด (เพราะกีดกันไม่ให้ใครใช้ประโยชน์จากสินค้าเก่าที่ผู้ผลิตไม่สนใจขาย ทั้งๆ ที่หลายคนยังยินดีจ่ายเงินซื้อ ท่านใดที่สนใจจะอ่านความเห็นของข้าพเจ้าที่ยาวกว่านี้ กรุณาอ่านหน้านี้ และหน้าถัดไปในบทความเรื่อง abandonware ที่ Gamespot.com มาสัมภาษณ์ข้าพเจ้าหลายปีก่อน วันหลังจะลองเขียนอธิบายยาวๆ ดูสักตั้งว่า ทำไมข้าพเจ้าถึงคิดว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน เป็นปฏิปักษ์ต่อการอนุรักษ์ทั้งหลาย)

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน มีต้นตอมาจากการแบ่งกลุ่มในสังคมเป็นสองกลุ่มหลัก คือ “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน” เท่านั้น หลังจากระบอบทุนนิยมขวาจัด ก่อให้เกิดช่องทางกอบโกยกำไรแบบไม่ต้องสนใจสังคมส่วนรวมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ภาค “เอกชน” ก็ไม่ต่างอะไรกับ “ธุรกิจ” ซึ่งต้องการแสวงหาแต่ผลกำไรเท่านั้น

ไม่มีที่ว่างสำหรับ “ชาวบ้าน” – ภาคที่เป็นเอกชน แต่มีความต้องการแตกต่างกับธุรกิจ เพราะชาวบ้านบางคนยังมีสำนึกทางสังคมเพียงพอที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งอื่นนอกเหนือจากเงิน เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือเกมคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของความทรงจำวัยเยาว์ของคนนับล้าน

ดังนั้นประเด็นอยู่ที่ ทำอย่างไรให้ “ชาวบ้าน” ที่มีสำนึกทางสังคม ระดมสมอง รวมตัวกันจนเกิดเป็นพลัง “ชุมชน” ที่ใหญ่พอที่จะส่งเสียงดัง บังคับให้รัฐและธุรกิจต้องหันมารับฟังได้

เป็นโจทย์ที่สำคัญ และท้าทายยิ่งนักในโลกยุคโลกาภิวัตน์

————–

ท้ายนี้ก็ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีเมื่อมีโอกาส ข้าพเจ้าเองตั้งใจว่าจะไปให้กำลังใจคุณพรศิริด้วยตัวเองในอนาคตอันใกล้ ไปเมื่อไหร่ก็คงได้เขียนบล็อกมาเล่าสู่กันฟัง 🙂