ความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากมุมมองของสื่อพลเมือง

[UPDATE 12/11/50: อัพเดทลิ้งวีดีโอในกรุงเทพธุรกิจ เพิ่มลิ้งก์บทสัมภาษณ์คุณ bact’ และลิ้งก์ข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนา จากเว็บประชาไท]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 ผู้เขียนได้รับเชิญไปพูดเรื่องสิทธิของบล็อกเกอร์ในฐานะ “สื่อพลเมือง” และความกังวลที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่ ในงานสัมมนาหัวข้อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์ : จากตำราสู่การปฏิบัติจริง” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูคลิป webcast ของ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ (มีสัมภาษณ์ผู้ร่วมอภิปรายสามสี่คน) ได้ที่หน้านี้ของเว็บกรุงเทพธุรกิจ และขอเชิญดาวน์โหลดไฟล์ presentation ของผู้เขียนที่ใช้ในการบรรยายได้ที่นี่ (อยู่ในหน้า writings แล้ว): Powerpoint format [87KB] และ PDF format [141KB]

นอกจากนี้ก็ขอเชิญอ่านข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาจากเว็บประชาไท: เวทีอภิปรายแรก, เวทีอภิปรายที่สอง และบทสัมภาษณ์คุณ bact’ ฉบับเต็ม (ฉบับย่อกำลังจะลง “จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ”)

ดาวน์โหลด พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วได้ที่นี่

ความรู้สึกส่วนตัวโดยรวม คิดว่างานสัมมนาจะมีประโยชน์กว่านี้ และวิวาทะจะน่าสนใจกว่านี้มากถ้าหากเอาวงอภิปรายสองวงมารวมกันเป็นวงเดียว จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนที่พูดแต่ “ข้อดี” ของ พ.ร.บ. คอมฯ และกลุ่มคนที่พูดแต่ “อันตราย” ของกฎหมายฉบับนี้ แต่อย่างไรก็ตาม งานสัมมนาครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาชนจะได้มีโอกาสพูดจากมุมมองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าง

มุมมองของผู้เขียนต่อกฎหมายฉบับนี้ และต่อประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement effectiveness) ที่มีผลมาแล้วสี่เดือน สรุปสั้นๆ ได้(ดูรายละเอียดได้ในเอกสาร และโพสเรื่องอันตรายของ พ.ร.บ. คอมฯ) ดังต่อไปนี้:

  1. กฎหมายที่ดีจะต้องมีทั้งบทลงโทษคนผิด (ในที่นี้คือแฮกเกอร์ สแปมเมอร์ ฯลฯ) และบทคุ้มครองคนดี (ในที่นี้คือประชาชนทุกคนที่มีเสรีภาพในการแสดงออก) มาตรา 1-13 ใน พ.ร.บ. คอมฯ ทำให้จับคนผิดได้ แต่หลายมาตราที่เหลือไม่ได้คุ้มครองคนดี เพราะนิยามของความผิดหลายข้อ (เช่น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ …โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน”) มีความคลุมเครือ และกว้างจนความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐจะนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขู่หรือปิดกั้นเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้น มีสูงมากจนน่ากังวล
  2. นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีอำนาจเรียกดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล แถมยังฟ้องร้องและดำเนินคดีแทน “ผู้เสียหาย” ได้เอง (ไม่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทปกติ ซึ่งเจ้าตัว คือ “ผู้เสียหาย” ต้องเป็นฝ่ายยื่นฟ้องเอง ทำให้ พ.ร.บ. คอมฯ กลายเป็นกฎหมายฉบับที่สองที่ให้อำนาจคนที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท กฎหมายฉบับแรกที่มีลักษณะนี้คือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนักวิชาการหลายคนกำลังเรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไข เนื่องจากถูกผู้มีอำนาจใช้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา) ซึ่งยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะถูกนำไป “รับใช้” ผู้มีอำนาจในทาง “ปิดปาก” ประชาชน ยิ่งสูงเข้าไปอีก (ในประเทศที่เจริญแล้ว การขอดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องใช้คำสั่งศาล)
  3. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ตำรวจ และแม้กระทั่งไอเอสพีหลายราย ดูเหมือนจะชอบพูดถึงแต่ “ข้อดี” ของ พ.ร.บ. คอมฯ โดยไม่เคยพูดถึงความเสี่ยงของการใช้อำนาจรัฐผ่านกฎหมายฉบับนี้ในทางมิชอบ (เช่น ปิดปากผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยอ้างว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคง”)
  4. พ.ร.บ. คอมฯ ประกาศใช้มาแล้วสี่เดือนเศษ ยังไม่มีแฮกเกอร์หรือมิจฉาชีพคนไหนถูกจับ มีแต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2 คน ถูกจับแบบเงียบๆ โดยแทบไม่มีใครรู้ (และไอซีทีก็ไม่ประกาศ) แถมโดนจับในข้อหาที่น่าจะเข้าข่าย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มากกว่าฐานความผิดใดๆ ใน พ.ร.บ. คอมฯ ด้วย
  5. การไร้ความโปร่งใสอย่างสิ้นเชิงของภาครัฐในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 2 รายแรกที่ถูกจับภายใต้ พ.ร.บ. คอมฯ และความไม่ชอบมาพากลหลายประการของคดีนี้ ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าผลลัพธ์ของ พ.ร.บ. คอมฯ น่าจะมี “เสียมากกว่าดี” – มิจฉาชีพตัวจริงก็ลอยนวลต่อไป ประชาชนก็หวาดกลัวจนไม่กล้าอภิปรายหรือฟอร์เวิร์ดเมล์หลายเรื่องที่เป็น “ประเด็นสาธารณะ” ส่งผลให้วุฒิภาวะโดยรวมของสังคมยิ่งถดถอยลงไปอีก
  6. ภาคประชาชนควรผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ โดยเร็ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เพื่อลดอำนาจรัฐที่สูงเกินไป ในฐานความผิดที่มีกฎหมายอื่นๆ (เช่น กฎหมายอาญา) รองรับอยู่แล้ว และห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่มีคำสั่งศาล