ความประทับใจจากการเป็น ‘อาจารย์’ ครั้งแรกในชีวิต

ระหว่างเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นอาจารย์พิเศษหนึ่งเทอม ไปสอนวิชา International Corporate Finance ให้กับนักศึกษาโครงการ Bachelors of Economics, International Program (ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ) ร่วมกับคุณกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความที่คุณกรณ์งานยุ่งมาก ทั้งเทอมจึงมีเวลามาบรรยายเพียงสี่ครั้ง วันไหนคุณกรณ์มาสอนจึงเป็นวันที่ผู้เขียนออกแบบให้เป็นการพูดคุยกันเรื่อง “กรณีศึกษา” เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่เรียนในห้อง ไม่ใช่เป็นวันเลคเชอร์ธรรมดา เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้รับข้อคิดจากประสบการณ์ของคุณกรณ์ในฐานะที่เคยเป็นนักการเงินมืออาชีพในยุค ‘มนุษย์ทองคำ’ ของภาคการเงินไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ว่าทฤษฎีไหนๆ ในสาขาธุรกิจหรือการเงิน ก็ไม่มีทางสู้ประสบการณ์จริงได้

เพราะระบบตลาด โดยเฉพาะตลาดการเงิน ไม่เคยทำงานอย่าง ‘สมบูรณ์แบบ’ ตามทฤษฎี ซึ่งบอกว่าผลลัพธ์ในตลาดมาจากการตัดสินใจอย่าง ‘มีเหตุผล’ ของผู้เล่นทุกคน ที่ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ ‘เท่าเทียมกัน’

ในเมื่อตลาดในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ตรงตามสมมุติฐานข้อหลักๆ ของทฤษฎี ทฤษฎีจะมีประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างไร?

วิชานี้เป็นวิชาเลือก นักศึกษาในห้องประมาณ 60% เป็นนิสิตปีสี่ ส่วนที่เหลือเป็นนิสิตปีสาม ต่อไปนี้เป็นบันทึกความประทับใจบางประการจากการเป็น ‘อาจารย์’ ครั้งแรกในชีวิต

[ท่านใดที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเลคเชอร์ทุกครั้ง และเอกสารอื่นๆ ได้ที่ FN313 class blog ซึ่งผู้เขียนคงไม่ ‘ปิด’ แม้ว่าจะไม่ได้อัพเดทบล็อกนั้นแล้วก็ตาม]

ว่าด้วยการสอน

ปัญหาใหญ่ของผู้เขียนตลอดทั้งเทอม คือความไม่แน่ใจว่านักศึกษาระดับนี้ ‘รู้’ อะไรมาแล้วบ้างก่อนลงเรียนวิชานี้ และ ‘ควรรู้’ อะไรบ้าง ความไม่แน่ใจนี้ส่วนหนึ่งมาจากความที่ไม่เคยเรียนปริญญาตรีในเมืองไทย ทำให้ไม่สามารถเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเปรียบเทียบได้ทั้งหมด (แต่ที่แน่ๆ คือได้รู้ว่า ผู้เขียนสมัยเรียนปริญญาตรีขยันไม่ได้ครึ่งของนักเรียนวิชานี้หลายคน) ความไม่แน่ใจอีกส่วนมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เขียนไม่ได้ออกแบบหลักสูตรและตารางสอนของวิชานี้เอง แต่ต้องยึดตามหลักสูตรที่อาจารย์คนก่อนๆ เคยใช้สอน เนื่องจากคอร์สนี้ไม่ใช่คอร์สที่ตัวเองเป็น ‘เจ้าของ’ จริงๆ และเนื่องจากไม่ใช่คอร์สในคณะบัญชีฯ (ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยกับหลักสูตรมากกว่า) แต่เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถสอนเนื้อหาครึ่งแรกของวิชาที่เกี่ยวกับโครงสร้างตลาดการเงินโลกได้ดีหรือไม่เพียงใด เพราะความรู้เศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคเลอะเลือนไปมากแล้ว (ตั้งแต่ทำงานมาแทบไม่ค่อยได้ใช้) มั่นใจ(บ้าง)เฉพาะเนื้อหาครึ่งหลังของวิชาเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของการเงินในระดับย่อยลงมาคือระดับบริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่ คือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทเอกชนขนาดกลาง ที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


ระหว่างเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นอาจารย์พิเศษหนึ่งเทอม ไปสอนวิชา International Corporate Finance ให้กับนักศึกษาโครงการ Bachelors of Economics, International Program (ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ) ร่วมกับคุณกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความที่คุณกรณ์งานยุ่งมาก ทั้งเทอมจึงมีเวลามาบรรยายเพียงสี่ครั้ง วันไหนคุณกรณ์มาสอนจึงเป็นวันที่ผู้เขียนออกแบบให้เป็นการพูดคุยกันเรื่อง “กรณีศึกษา” เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่เรียนในห้อง ไม่ใช่เป็นวันเลคเชอร์ธรรมดา เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้รับข้อคิดจากประสบการณ์ของคุณกรณ์ในฐานะที่เคยเป็นนักการเงินมืออาชีพในยุค ‘มนุษย์ทองคำ’ ของภาคการเงินไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ว่าทฤษฎีไหนๆ ในสาขาธุรกิจหรือการเงิน ก็ไม่มีทางสู้ประสบการณ์จริงได้

เพราะระบบตลาด โดยเฉพาะตลาดการเงิน ไม่เคยทำงานอย่าง ‘สมบูรณ์แบบ’ ตามทฤษฎี ซึ่งบอกว่าผลลัพธ์ในตลาดมาจากการตัดสินใจอย่าง ‘มีเหตุผล’ ของผู้เล่นทุกคน ที่ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ ‘เท่าเทียมกัน’

ในเมื่อตลาดในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ตรงตามสมมุติฐานข้อหลักๆ ของทฤษฎี ทฤษฎีจะมีประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างไร?

วิชานี้เป็นวิชาเลือก นักศึกษาในห้องประมาณ 60% เป็นนิสิตปีสี่ ส่วนที่เหลือเป็นนิสิตปีสาม ต่อไปนี้เป็นบันทึกความประทับใจบางประการจากการเป็น ‘อาจารย์’ ครั้งแรกในชีวิต

[ท่านใดที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเลคเชอร์ทุกครั้ง และเอกสารอื่นๆ ได้ที่ FN313 class blog ซึ่งผู้เขียนคงไม่ ‘ปิด’ แม้ว่าจะไม่ได้อัพเดทบล็อกนั้นแล้วก็ตาม]

ว่าด้วยการสอน

ปัญหาใหญ่ของผู้เขียนตลอดทั้งเทอม คือความไม่แน่ใจว่านักศึกษาระดับนี้ ‘รู้’ อะไรมาแล้วบ้างก่อนลงเรียนวิชานี้ และ ‘ควรรู้’ อะไรบ้าง ความไม่แน่ใจนี้ส่วนหนึ่งมาจากความที่ไม่เคยเรียนปริญญาตรีในเมืองไทย ทำให้ไม่สามารถเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเปรียบเทียบได้ทั้งหมด (แต่ที่แน่ๆ คือได้รู้ว่า ผู้เขียนสมัยเรียนปริญญาตรีขยันไม่ได้ครึ่งของนักเรียนวิชานี้หลายคน) ความไม่แน่ใจอีกส่วนมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เขียนไม่ได้ออกแบบหลักสูตรและตารางสอนของวิชานี้เอง แต่ต้องยึดตามหลักสูตรที่อาจารย์คนก่อนๆ เคยใช้สอน เนื่องจากคอร์สนี้ไม่ใช่คอร์สที่ตัวเองเป็น ‘เจ้าของ’ จริงๆ และเนื่องจากไม่ใช่คอร์สในคณะบัญชีฯ (ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยกับหลักสูตรมากกว่า) แต่เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถสอนเนื้อหาครึ่งแรกของวิชาที่เกี่ยวกับโครงสร้างตลาดการเงินโลกได้ดีหรือไม่เพียงใด เพราะความรู้เศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคเลอะเลือนไปมากแล้ว (ตั้งแต่ทำงานมาแทบไม่ค่อยได้ใช้) มั่นใจ(บ้าง)เฉพาะเนื้อหาครึ่งหลังของวิชาเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของการเงินในระดับย่อยลงมาคือระดับบริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่ คือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทเอกชนขนาดกลาง ที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ผู้เขียนคิดว่าสอนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะยังควบคุมตัวเองให้พูดช้าลงไม่ค่อยได้ แถมหลายครั้งยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะไม่เรียบเรียงประโยคให้ดีก่อนพูด (นิสัย ‘พูดก่อนคิด’ นี่แก้ยากจริงๆ) มิหนำซ้ำยังสอนนักเรียนผิดไปประมาณ 5% ของเนื้อหา เพราะคนสอนสับสนเองในห้อง นำความปวดหัวโดยใช่เหตุมาสู่นักศึกษา เพราะนอกจากจะทำให้คนขยันจดเครียดกับการจดไม่ทันแล้ว ยังต้องมึนงงกับคำพูดวกวนของอาจารย์ และคอยตามลบแก้ส่วนที่สอนผิดๆ ถูกๆ อีกต่างหาก

นึกย้อนไปแล้วก็รู้สึกสงสารลูกศิษย์ไม่น้อย เสียดายที่ไม่ได้เตรียมการสอนล่วงหน้าให้ดีกว่านี้ 🙁

ว่าด้วยการสอบ

เนื่องจากผู้สอนไม่แน่ใจว่าสอนรู้เรื่องขนาดไหน และนักเรียนมีพื้นฐานด้านการเงินมากน้อยเพียงใด จึงไม่กล้าออกข้อสอบ ‘ยาก’ มาก เพราะถ้านักศึกษาส่วนใหญ่ทำข้อสอบไม่ได้ ก็คงเป็นความผิดของผู้เขียนเองที่สอนไม่เป็น มากกว่าจะเป็นความผิดของนักศึกษา

ข้อสอบที่ออกทุกครั้งจึงค่อนข้างง่าย และในเมื่อออกข้อสอบง่าย จะให้คะแนนหรือตัดเกรด ‘โหด’ เกินความจำเป็น (เช่น สมมุติถ้าจะให้ A เฉพาะคนที่ได้คะแนนเกิน 95% ขึ้นไป แทนที่จะเป็นเกณฑ์ปกติคือ 90% เพราะคะแนนเฉลี่ยทั้งห้องสูงมาก เป็นต้น) ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับนักศึกษา ดังนั้นลูกศิษย์ของผู้เขียนจึงได้คะแนนดีกันแทบทุกคน

เพิ่งมารู้ตอนสอนว่ามหาวิทยาลัยไทยไม่มีคะแนน – (ลบ) เช่น ไม่มี A- หรือ B- มีแต่ B, B+ แล้วเป็น A เลย และผู้เขียนก็เพิ่งรู้ด้วยว่าตามกฎของมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะไม่ได้ข้อสอบปลายภาคคืนโดยอัตโนมัติ แต่ต้องเก็บไว้กับอาจารย์ผู้สอน ถ้านักศึกษาคนใดอยากดู จะต้อง ‘ทำเรื่อง’ ขอดูข้อสอบ ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นกฎที่แปลกประหลาดและไม่ค่อยมีเหตุผล เพราะคะแนนข้อสอบปลายภาคส่วนใหญ่คิดเป็นกว่า 50-60% ของเกรดทั้งเทอม เหตุใดนักศึกษาจึงดูไม่ได้ว่าทำข้อสอบได้หรือไม่ได้? และถ้าไม่ได้ข้อสอบคืนเมื่ออาจารย์ตรวจเสร็จ นักศึกษาจะรู้ได้อย่างไรว่าทำผิดข้อไหน และจะรู้ได้อย่างไรว่าอาจารย์มีข้อคิดเห็นหรือข้อวิจารณ์อย่างไรบ้าง (เพราะข้อสอบส่วนใหญ่เป็นเรียงความซึ่งเป็นอัตตวิสัย ไม่มีถูกผิด) คราวหน้าจะได้เรียนรู้วิธีใช้เหตุผลที่ดีกว่าเดิม?

ข้อคิดสองประการที่ผู้เขียนได้รับจากการตรวจข้อสอบคือ ประการแรก เป็นเรื่องยากที่จะแยก ‘ระดับความมีเหตุผลหรือตรรกะ’ ออกจาก ‘ความสละสลวยของภาษา’ ในคำตอบของนักศึกษา เนื่องจากวิชานี้ไม่ใช่วิชาภาษาอังกฤษ ประเด็นแรกจึงสำคัญกว่าประเด็นหลังหลายเท่า แต่หลายครั้ง ผู้เขียนต้องอ่านคำตอบของนักศึกษาซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะภาษาที่สละสลวยสวยงามนั้นสามารถบดบังความไร้เหตุผลหรือการใช้ตรรกะผิดๆ ได้ เพราะทำให้คนอ่านมัวแต่เคลิบเคลิ้มไปกับพรรณนาโวหาร (ในทางกลับกัน ‘ประโยชน์’ ของภาษาที่ห้วน รวบรัด หรือไม่สละสลวยคือทำให้มองออกได้อย่างรวดเร็วว่า คำตอบของนักศึกษามีเหตุผลหรือไม่)

ข้อคิดประการที่สองที่ได้รับคือ ผู้เขียนชั่งใจอยู่นานว่า ระหว่างคำตอบที่อธิบายห่วงโซ่เหตุผลดีมาตลอด แต่มาผิดเอาตอนสุดท้าย กับคำตอบสุดท้ายที่ถูกต้อง แต่อธิบายด้วยเหตุผลผิดๆ หรือไม่มีคำอธิบายเลยนั้น ใครควรจะได้คะแนนมากกว่ากัน สุดท้ายผู้เขียนก็ตัดสินใจให้คะแนนในทั้งสองกรณีนี้เท่าๆ กัน เพราะนักศึกษาที่อุตส่าห์คิดหาเหตุผลมาอย่างดีแต่ตกม้าตายตอนจบ ควรได้ partial credit ค่อนข้างมาก ในขณะที่นักศึกษาที่ใช้เหตุผลผิดๆ มาตลอดแต่มาตอบถูกเอาตอนสุดท้าย อาจตอบถูกเพราะความบังเอิญมากกว่าจะรู้เหตุผลจริงๆ ว่าเหตุใดคำตอบนั้นจึงถูก ฉะนั้นจึงไม่ควรได้คะแนนเต็มเพียงเพราะเขียนคำตอบบรรทัดสุดท้ายถูกต้องเท่านั้น

ว่าด้วยลูกศิษย์

ไม่รู้จะบรรยายความรู้สึกเกี่ยวกับลูกศิษย์อย่างไรดี เพราะเป็นความรู้สึกอันยากจะบรรยาย แต่สรุปรวมความพอได้ประมาณว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อาจารย์’ ของนักศึกษาเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นอาจารย์ที่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไรนักก็ตาม

ทุกครั้งที่เข้าห้องเรียนมาเห็นแววตาไร้เดียงสาและเปี่ยมความเลื่อมใสของนักศึกษา ก็รู้สึกทุกครั้งว่าคนที่จะเป็น ‘อาจารย์ประจำ’ ได้นั้นต้องมีความทุ่มเทและความรับผิดชอบสูงจริงๆ เพราะนักศึกษามีแนวโน้มที่จะ ‘เชื่อ’ อะไรก็ตามที่อาจารย์สอนอยู่แล้ว ถ้าอาจารย์ไม่พูดอะไรผิดออกมาแบบโต้งๆ ดังนั้น ในฐานะผู้มี ‘อำนาจทางปัญญา’ ที่(น่าจะ)เหนือกว่า อาจารย์ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่สอน พยายามให้ข้อมูลรอบด้านอย่างเป็นกลางและเป็นภววิสัย (objective) ที่สุด ไม่บิดเบือนข้อมูลเพื่อชักจูงให้นักศึกษาคล้อยตามกับความเห็นส่วนตัว และไม่ลงโทษนักศึกษาที่ตอบไม่ตรงกับความคิดของตัวเอง ทั้งๆ ที่แสดงความเข้าใจเป็นอย่างดีในเนื้อหาวิชา

อาจารย์ที่ดีควรสอนให้ลูกศิษย์รู้จักคิดรู้จักเถียง ไม่ใช่สอนให้ทวนหนังสือเรียนหรือความคิดของอาจารย์เหมือนนกแก้วนกขุนทอง เพื่อตอกย้ำอคติหรืออีโก้ของอาจารย์เอง

อยากจะบอกลูกศิษย์ทุกคนว่า พยายามอย่าเครียดกับอาการ ‘คิดมาก’ เรื่องอนาคตของพวกคุณ เพราะชีวิตมันไม่ใช่เส้นตรง จาก A ไป B ที่เรามองเห็นชัดเจนตลอดเวลา เมื่อคุณรู้จักชีวิตมากขึ้นแล้วจะพบว่า สิ่งที่คุณได้ ‘เป็น’ จริงๆ ในอนาคต มันขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและ ‘เหตุบังเอิญ’ ต่างๆ มากมาย ที่คุณไม่ได้เลือกหรือไม่มีสิทธิเลือก มากพอๆ กับผลจากการตัดสินใจของคุณเอง หรือมากกว่าด้วยซ้ำในกรณีส่วนใหญ่ ไม่ว่าคุณจะวางแผนมาดีเพียงใด ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ที่คุณคาดไม่ถึงอยู่เสมอ เพราะไม่มีใครสามารถควบคุมทางเดินชีวิตของตัวเองได้ 100% และหลายครั้ง เราก็มองไม่เห็นทางเดินนั้นด้วยซ้ำ แต่ต้องอาศัยการคลำทางไปเรื่อยๆ เหมือนคนตาบอด

ดังนั้น สิ่งที่อาจจะสำคัญกว่าการคำนึงถึงเรื่องอนาคต คือการรู้จัก ‘อยู่กับปัจจุบัน’ อย่างมีสติสัมปชัญญะ ลี ไอเอค็อกก้า (Lee Iacocca) มหาเศรษฐีอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า : Do your best today, and tomorrow will take care of itself. (ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วพรุ่งนี้จะดูแลตัวมันเอง)

และถ้าพวกคุณเป็นห่วงว่าจะได้คะแนนไม่ดี หรือคะแนนไม่สูงพอจะได้งานดีๆ อย่าลืมว่าคะแนนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของชีวิต ที่จะช่วย ‘เปิดประตู’ สู่โลกแห่งการทำงานเท่านั้น หลังจากข้ามพ้นธรณีประตูนั้นไปแล้ว ทางเดินที่เหลือย่อมเป็นของคุณเอง และยิ่งคุณเดินห่างจากประตูบานแรกนั้นไปไกลเท่าไร คะแนนก็จะยิ่งหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ เท่านั้น

เหนือสิ่งอื่นใด อย่ายอมให้การเรียนในมหาวิทยาลัยมาขัดขวางการศึกษาของคุณ ดังที่มาร์ค ทเวน (Mark Twain) เคยกล่าวไว้ว่า : I have never let my schooling interfere with my education.

……

ไม่ว่าใครจะนินทาว่าร้ายนักศึกษาสมัยนี้ว่าอย่างไร ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าพวกเขาทุกคน ‘คิดดี’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากพวกเขาจะทำตัว ‘เหลวแหลก’ ในสายตาของผู้ใหญ่ นั่นก็เป็นเพราะพวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่เกินตัว หรือไม่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ยึดติดกับความคิดโบราณแบบอนุรักษ์นิยมเกินเหตุ จนไม่ยอมเปิด ‘พื้นที่’ ให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของนิยามของ ‘ศีลธรรม’ กันบ้าง

กล่าวให้ถึงที่สุดคือ หากเด็กวัยรุ่นสมัยนี้จะน่าตำหนิที่ทำตัวไม่เคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หลายคนก็น่าตำหนิไม่แพ้กัน เพราะไม่ทำตัวเองให้น่าเคารพ.