ความสบายของคนกรุง vs. ความเดือดร้อนของคนชนบท

วันนี้เป็นวันลอยกระทง คนกรุงเทพฯ นับล้านคงไปลอยกระทงตามริมแม่น้ำต่างๆ และดูการละเล่น แสงสว่างจากพลุเพลิงดอกไม้ไฟที่บดบังแสงจันทร์วันเพ็ญ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา

แต่จะมีคนกรุงเทพฯ กี่คนที่รู้ว่า ปีนี้เราฉลองวันลอยกระทงได้ เพราะพี่น้องชาวไทยอีกกว่า 3 ล้านคน ใน 15 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ ต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งจากพายุ “ช้างสาร” และจากการเสียสละ ยอม(โดยไม่มีทางเลือก)ให้กรมชลประทานผันน้ำท่วมเข้าทุ่งนาตัวเอง แลกกับเงินค่าชดเชยเพียง 230-1,000 บาทต่อไร่ ทั้งๆ ที่ข้าวนาปรังออกรวงจนเก็บเกี่ยวได้แล้ว ถ้าน้ำไม่ท่วมนาข้าวเสียก่อน

ทั้งหมดเพียงเพื่อให้กรุงเทพฯ แห้ง ให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องทนลำบากแม้กระทั่งน้ำท่วมสูงเท่าตาตุ่ม

จะบอกว่ากรุงเทพฯ น้ำไม่ค่อยท่วมปีนี้เพราะฝนตกไม่หนักเท่าปีก่อนๆ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะชาวบ้านหลายจังหวัดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยรุนแรงขนาดนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่จากรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงวันที่ 30 ต.ค. 2549 ก็เห็นชัดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ ไม่สูงเท่ากับปี 2538 และ 2545 ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนกัน:

เปรียบเทียบปริมาณน้ำปี 38, 45, 49

ผู้เขียนจำได้ว่าปีก่อนๆ ที่ฝนตกหนักกว่านี้ น้ำก็ท่วมภาคกลางเหมือนกัน แต่ชาวบ้านไม่เดือดร้อนขนาดนี้เพราะรัฐบาลไม่ปกป้องกรุงเทพฯ ขนาดนี้ ยอมให้น้ำกระจายไปทั่วที่ราบลุ่มในภาคกลาง ระดับน้ำโดยเฉลี่ยก็เลยไม่สูงมากนัก


วันนี้เป็นวันลอยกระทง คนกรุงเทพฯ นับล้านคงไปลอยกระทงตามริมแม่น้ำต่างๆ และดูการละเล่น แสงสว่างจากพลุเพลิงดอกไม้ไฟที่บดบังแสงจันทร์วันเพ็ญ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา

แต่จะมีคนกรุงเทพฯ กี่คนที่รู้ว่า ปีนี้เราฉลองวันลอยกระทงได้ เพราะพี่น้องชาวไทยอีกกว่า 3 ล้านคน ใน 15 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ ต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งจากพายุ “ช้างสาร” และจากการเสียสละ ยอม(โดยไม่มีทางเลือก)ให้กรมชลประทานผันน้ำท่วมเข้าทุ่งนาตัวเอง แลกกับเงินค่าชดเชยเพียง 230-1,000 บาทต่อไร่ ทั้งๆ ที่ข้าวนาปรังออกรวงจนเก็บเกี่ยวได้แล้ว ถ้าน้ำไม่ท่วมนาข้าวเสียก่อน

ทั้งหมดเพียงเพื่อให้กรุงเทพฯ แห้ง ให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องทนลำบากแม้กระทั่งน้ำท่วมสูงเท่าตาตุ่ม

จะบอกว่ากรุงเทพฯ น้ำไม่ค่อยท่วมปีนี้เพราะฝนตกไม่หนักเท่าปีก่อนๆ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะชาวบ้านหลายจังหวัดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยรุนแรงขนาดนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่จากรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงวันที่ 30 ต.ค. 2549 ก็เห็นชัดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ ไม่สูงเท่ากับปี 2538 และ 2545 ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนกัน:

เปรียบเทียบปริมาณน้ำปี 38, 45, 49

ผู้เขียนจำได้ว่าปีก่อนๆ ที่ฝนตกหนักกว่านี้ น้ำก็ท่วมภาคกลางเหมือนกัน แต่ชาวบ้านไม่เดือดร้อนขนาดนี้เพราะรัฐบาลไม่ปกป้องกรุงเทพฯ ขนาดนี้ ยอมให้น้ำกระจายไปทั่วที่ราบลุ่มในภาคกลาง ระดับน้ำโดยเฉลี่ยก็เลยไม่สูงมากนัก

แผนที่การระบายน้ำ สำหรับจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แผนที่ระบบระบายน้ำในพื้นที่ทุ่งฝั่งตอนล่างของเจ้าพระยา ของกรมชลประทาน แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ มีทางระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยสองข้าง คือฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันออกระบายได้ 29 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มากกว่าศักยภาพของฝั่งตะวันตกเกือบ 3 เท่า (คลิ้กที่รูปเพื่อขยาย)

ฉะนั้นสมัยก่อนเวลาต่างจังหวัดท่วม กรุงเทพฯ ก็ท่วมด้วย ดูแล้วก็ค่อนข้างยุติธรรมดีเพราะคนกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยมีฐานะดีกว่าคนต่างจังหวัดหลายเท่า มีกำลังรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่าอยู่แล้ว น้ำท่วมอย่างมากก็ 7-10 วันเท่านั้น อย่างมากรัฐบาลก็ประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว คนกรุงเทพฯ ที่น้ำเข้าบ้านก็ขนของหนีน้ำ ถือโอกาสพักผ่อนจากงานประจำ น้ำลดเมื่อไหร่ก็ออกไปทำงานได้

ไม่เหมือนชาวนาต่างจังหวัดที่น้ำท่วมไม่ได้หมายถึงความลำบากชั่วคราวเท่านั้น แต่หมายถึงการสุ่มเสี่ยงต่อการอดตาย ครอบครัวขาดรายได้ไปเป็นปี เพราะข้าวที่ปลูกไว้หลายเดือนก่อนและกำลังจะได้เกี่ยวไปขาย ต้องตายไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลหลาก บางคนที่ปลูกบ้านชั้นเดียวต้องถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว

แต่ปีนี้ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกระบายน้ำไม่ได้แล้วเพราะติดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่รัฐบาลย้ำนักหนาว่าเป็น “ความภูมิใจของไทยทั้งชาติ” ทีนี้ทางระบายน้ำท่วมก็เหลือแต่ฝั่งตะวันตก แต่แทนที่จะระบายน้ำเข้ามา รัฐก็เลือกกั้นคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาหมด เพื่อกันไม่ให้กรุงเทพฯ ต้องน้ำท่วมเลย

ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากเวลาเราเอามือบีบปลายสายยางไว้ อุดไม่ให้น้ำไหลผ่าน น้ำก็ต้องไปป่องตรงกลางสายยาง หนักมากๆ จนท้ายที่สุดก็ต้องท่วมทะลักออกไปทั้งสองข้าง

บริเวณน้ำท่วม ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างบริเวณที่น้ำท่วม (สีฟ้า) และบริเวณที่น้ำไม่ท่วม (สีเขียว) จะเห็นว่าจังหวัดภาคกลางตอนล่างแทบทุกจังหวัด ตั้งแต่ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม ลงมาถึงปทุมธานี และนนทบุรี มีน้ำท่วมขังกว่าครึ่งจังหวัดทั้งนั้น บางส่วนทางตอนใต้ของสมุทรสาครและสมุทรปราการ สองจังหวัดที่ขนาบซ้ายขวาของกรุงเทพฯ ก็มีน้ำท่วมเอ่อเข้ามาจากปากอ่าวไทย

แผนที่ real-time ของ NECTEC ที่ใช้ Google Earth ก็ให้ภาพไม่ต่างกันเท่าไหร่

เห็นชัดว่ากรุงเทพฯ แห้งอย่างผิดปกติ แห้งจนทำให้เห็นชัดว่ารัฐบาลตั้งใจกั้นน้ำไว้ไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพฯ เลย ผิดกับปีก่อนๆ ที่ยังมีการระบายน้ำเข้ามาบ้าง

แห้งจนทำให้สมาชิกชนชั้นกลางอย่างผู้เขียน ต้องรู้สึกละอายใจ ที่ความสบายของตัวเองตั้งอยู่บนความทุกข์ร้อนของผู้อื่นอย่างโทนโท่ขนาดนี้

เลยชวนป้อ เพื่อนรุ่นน้องที่ไปถ่ายรูปสวยๆ ในภูฏานด้วยกัน ไปบันทึกภาพสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2549 ที่ผ่านมา

ผู้เขียนหวังว่า เมื่อทุกท่านได้อ่านบล็อกวันนี้แล้ว จะมีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาวนาให้ชีวิตพวกเขาเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว (รายละเอียดสถานที่และจุดรับบริจาค อยู่ท้ายบล็อกตอนนี้) และหวังว่าในอนาคต หากรัฐบาลยอมปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ บ้าง เราชาวกรุงเทพฯ จะไม่ “เคยตัว” เหมือนอย่างวันนี้

……

สุพรรณบุรีตอนนี้มีปัญหาน้ำท่วมขัง สูงถึง 1-1.50 เมตรกว่าครึ่งจังหวัด เพราะเพิ่งรับน้ำที่ทะลักเข้าจากสิงห์บุรีและอ่างทองทางตอนเหนือ ข่าววันที่ 30 ตุลาคม 2549 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า “…สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุพรรณบุรี และปทุมธานี ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำจากจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ไหลหลากเข้าท่วมทุ่ง ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ส่วน จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะ อ.เมือง อ.สามโคก อ.ลาดหลุมแก้ว เป็นพื้นที่รับน้ำจากพระนครศรีอยุธยา”

ทางแยก 340 ไป 3321

จากกรุงเทพฯ เราลงทางด่วนที่ศรีสมาน วิ่งตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 340 จนถึงสี่แยกประมาณ กม. ที่ 54 ถนนปิดเพราะน้ำท่วม มีป้ายบอกให้ใช้ “เส้นทางแนะนำ” (จริงๆ แล้วมันเป็นเส้นบังคับ) ไปทางซ้าย เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3422 แทน

ถนนสายนี้เชื่อมเขต อ. บางเลน จังหวัดนครปฐม กับ อ. สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปทะลุถนนใหญ่ 340 อีกทีตรงป้ายเลี้ยวซ้ายเข้าตัว อ. บางปลาม้า (ร้านแม่บ๊วย)

สองข้างทาง ที่นาทุกผืนที่เราเห็นล้วนจมอยู่ใต้แผ่นน้ำจนสุดลูกหูลูกตา ราวกับเมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองทะเลสาบ ภาพชาวนาพายเรือเข้าบ้านกลายเป็นเรื่องปกติ ป้าคนหนึ่งที่หมู่บ้านหนองปรงเล่าให้ฟังว่า น้ำทะลักเข้าบ้านเขาเวลาประมาณตีสามสัปดาห์ก่อน (ประมาณวันที่ 29 หรือ 30 ต.ค. 2549) ต้องรีบขนข้าวของหนีน้ำอย่างฉุกละหุก

ไม่มีใครบอกล่วงหน้าว่ากรมชลประทานจะปล่อยน้ำมาท่วมทุ่ง

นาข้าวของป้าทั้ง 10 กว่าไร่จมหายไปภายในชั่วข้ามคืน

้น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี

ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาให้ความช่วยเหลือ มีแต่เต๊นท์ที่ อบต. ปลูกให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวตรงหมู่ 8 (ว่าแล้วก็ชี้มือไปลิบๆ) อบต. บอกว่าให้ชาวนาทุกคนถ่ายรูปที่นาที่จมน้ำเก็บเอาไว้ เป็นหลักฐานเวลาไปขึ้นเงิน

…เขาบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ 230 บาทต่อไร่

แล้วป้าจะทำยังไงกับข้าวที่จมน้ำไปแล้ว

…ก็ ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกใหม่ ราคาถังละ 100 บาท ไร่นึงต้องใช้ 2-3 ถัง

อ้าว ถ้าอย่างนั้นค่าชดเชยก็ไม่พอค่าเมล็ดสิ

ป้ายิ้มแห้งๆ แทนคำตอบ

น้ำท่วมหนักขนาดนี้ คิดว่าเมื่อไหร่จะลง

…โอ้ย ลอยกระทงจะลงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย

เราจากไปอย่างเงียบๆ เพราะป้าคงรู้อยู่แล้วว่า สุพรรณบุรีเป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมขังแล้วไปไหนไม่ได้ ไม่เหมือนที่ราบสูงในอีสานอย่างนครราชสีมา น้ำท่วมไม่กี่วันก็ไหลลงสู่ที่ราบต่ำได้

ไม่กล้าบอกป้าว่า น้ำคงยังท่วมขังไปอีกนาน เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้คนกรุงเทพฯ ลำบาก

เลยบอกไปแต่ว่า ป้าไม่น่าจะขอเงินค่าชดเชยที่รัฐผันน้ำเข้านาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทวงรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่เกี่ยวข้าวไปขายไม่ได้ด้วย เพราะมันเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่ากันหลายเท่า ถ้าไม่มีรายได้ตรงนี้ ป้าจะอยู่อย่างไร?

แกผงกหัวอือออ แต่แววตาดูสิ้นหวัง

……

น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี

คะเนด้วยสายตาจากต้นไม้ ต้นกล้วย ฯลฯ ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ว่าน้ำท่วมน่าจะสูง 1-1.50 เมตรโดยเฉลี่ย คือประมาณเท่าคอ ใครปลูกบ้านทรงไทยใต้ถุนสูงก็โชคดีหน่อย ระดับน้ำปริ่มๆ เข้าบ้านได้นิดหน่อยแต่ถ้ามีชั้นสอง มีเรือ ก็พออยู่ได้ แต่ชาวบ้านหลายคนก็ต้องงัดฝากระดาน (พื้น) ยกขึ้นมาตอกให้สูงขึ้น เพื่อหนีน้ำ

เรือพายกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนแถวนี้ ป้าเมื่อกี้เล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้มีรถกระบะเร่ขายเรือพายไปตามบ้าน ลำละ 2,200-2,300 บาท ส่วนใหญ่คนต้องซื้อไว้ เพราะไม่อย่างนั้นเดินทางจากบ้านออกมาที่ถนนไม่ได้

ใครว่าคนไทยไม่มีหัวพ่อค้า ผู้เขียนเถียงหัวชนฝาแน่ๆ

น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี

จริงๆ แล้วเราคงจะดื่มด่ำกับทัศนียภาพแถวนี้ หากไม่คิดว่าน้ำสวยๆ นิ่งๆ ที่เห็นทั้งหมดนี้คือมหันตภัยที่พัดพาเอาความหวังของชาวบ้านไปหมดสิ้น น้ำท่วมเข้าไปในวัดหลายแห่ง และโรงเรียนวัดที่อยู่ในบริเวณก็ต้องหยุดพักการเรียนการสอน เลื่อนกำหนดเปิดออกไปอย่างไม่มีกำหนด

น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี

อดคิดแบบตลกร้ายไม่ได้ว่า ถ้าสุพรรณบุรีทั้งเมืองเปลี่ยนมาปลูกผักที่อยู่ในน้ำแทน เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ฯลฯ อาจช่วยให้ชาวบ้านรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีต่อๆ ไปได้ดีขึ้น

เพราะน้ำต้องท่วมหนักอีกแน่ๆ ตราบใดที่โลกยังร้อนขึ้นไม่หยุด และรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับตัวเลข “ความเสียหายทางเศรษฐกิจ” มากกว่า “ความเดือดร้อนของประชาชน”

ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพฯ มูลค่าความเสียหายอาจสูงนับหลายหมื่นล้านบาท แต่จะมีคนกรุงเทพฯ กี่คนที่ต้องสูญเสียรายได้และทรัพย์สินไปถึงขั้นล้มละลายเหมือนชาวนาต่างจังหวัด?

ตลอดเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งที่ขับผ่านสุพรรณและนครปฐม เราเห็นเครื่องสูบน้ำเพียงสองจุดเท่านั้น คือตรง อ. บางปลาม้า และตรงหน้าศาลาระหว่างทาง

แต่ก็อย่างว่า จะสูบไปไหนได้ ในเมื่อแม่น้ำลำคลองต่างๆ ก็เต็มปรี่หมดแล้ว และถึงอย่างไรรัฐก็ไม่ปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่ๆ

น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี น้ำท่วม จ. สุพรรณบุรี

ถนนสาย 3422 ที่เราขับผ่านก็มีน้ำท่วมเป็นบางช่วงเหมือนกัน ทะลุกระสอบทรายที่กั้นแนวถนนเข้ามา มีคนเตือนว่า ให้รีบกลับกรุงเทพฯ ก่อน 5 โมงเย็น เพราะช่วงนั้นน้ำจะขึ้นอีกจนท่วมถนน

สังเกตเห็นถนนเล็กๆ บางสายที่เลี่ยงออกไปจาก 3422 ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงด้วยน้ำ รถลุยลงไปไม่ได้

พี่คนหนึ่งที่ไปติดตั้งพัดลมให้ร้านอาหารแม่บ๊วย ที่ อ. บางปลาม้า ร้านอร่อยที่เราไปแวะกินข้าว บอกว่าบ้านเขาที่ชัยนาทตอนนี้น้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร แต่อย่างน้อยเขาก็ชินแล้วเพราะชัยนาทน้ำท่วมเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี สงสารคนสุพรรณมากกว่าเพราะไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน

พี่อีกคนที่ทำความสะอาดร้านบอกว่า ตอนนี้เขาต้องนอนบนไหล่ถนนตอนกลางคืนเพราะบ้านถูกน้ำท่วม อยู่ไม่ได้

ลิงเป่าแคน งานวัดที่พระปฐมเจดีย์

ระหว่างความเศร้าก็มีเรื่องให้ยิ้มได้เหมือนกัน เช่นรถรดน้ำต้นไม้ของเทศบาลในรูปข้างบน (จริงๆ แล้วเขากำลังสูบน้ำจากน้ำท่วมในนา ไม่ใช่รดน้ำ แต่คงมีแต่ป้ายนี้) กับตุ๊กตาลิงเป่าแคนในงานวัดพระปฐมเจดีย์ ที่เราไปแวะชมตอนขากลับ ถ้ายิงปืนไปโดนมันจะโยกตัวไปมา น่ารักดี

นึกปลอบใจตัวเองว่าอย่างน้อยบริเวณพระปฐมเจดีย์ไม่ท่วม ชาวสุพรรณอาจมีเวลามาเที่ยวงานวัดให้ลืมความทุกข์ร้อนได้ชั่วคราว

……

ท่านใดที่สนใจ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้ที่เว็บศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ ของกรมชลประทาน และเว็บศูนย์ศึกษาขั้นสูงเพื่อการคาดการณ์สภาวะน้ำ สถานการณ์ทางหลวงสายต่างๆ ที่เว็บไซด์กรมทางหลวง และดูรูปถ่ายน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ที่เว็บไซด์รายงานสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2549

ท่านใดที่มีจิตศรัทธา ขอเชิญร่วมบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ดังต่อไปนี้:

  1. บริจาคเงินออนไลน์ผ่านสภากาชาดไทย
  2. บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ที่ศูนย์รับความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ หรือบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ชื่อบัญชีเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เลขที่บัญชี 006-0-012730-0 สอบถามรายละเอียดที่ศูนย์บริการข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1170
  3. ข้อมูลที่รับบริจาคแหล่งอื่นๆ เช่น มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก กองทัพบก ฯลฯ จากเว็บ emergency.thai.net

ลอยกระทงปีนี้ อย่าลอยแต่เคราะห์ของเราคนเดียวเลย มาช่วยกันลอยเคราะห์ของพี่น้องชาวชนบทกันดีกว่า.