ความเข้าใจผิดและทัศนคติ “คับแคบ” เกี่ยวกับคำตัดสินคดี ปตท.

เมื่อวานเป็นวันแรกในรอบหลายเดือนหลังเกิดรัฐประหาร ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าศาลเป็น “ที่พึ่ง” ของประชาชนได้จริงๆ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การแปรรูป ปตท. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไม่ร้ายแรงถึงขนาดต้องเพิกถอน ปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ – ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้จากที่นี่: ฉบับเต็ม (99 หน้า) และ สรุปในข่าวศาลปกครอง (4 หน้า)

ขอแสดงความคารวะคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดไว้ ณ ที่นี้ (และก็รู้สึกโล่งอกที่ ความกังวล ของผู้เขียนว่าศาลจะเอาผิดเรื่องท่อก๊าซไม่ได้ ไม่เป็นผล เพราะศาล “ฉลาด” พอที่จะตีข้อนั้นว่าเข้าข่าย “สาธารณสมบัติ” ไม่ใช่ “กิจการผูกขาด”) พร้อมกันนี้ก็หวังว่าภาคประชาชนจะนำคำพิพากษาของศาลที่ว่าการแปรรูป ปตท. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ไปขยายผลในลำดับต่อไป โดยเฉพาะการฟ้องแพ่ง และฟ้องอาญาผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดที่แล้ว โทษฐานดำเนินการแปรรูปในทางที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542

เนื่องจากผู้เขียนคิดว่านักลงทุนหลายคน โดยเฉพาะคนไทย ยังมีความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล โดยเฉพาะในเมื่อดูเหมือนผู้บริหาร ปตท. เอง และ “ผู้มีชื่อเสียง” ในแวดวงตลาดทุนหลายคน จะยังให้ข่าวแบบ “พูดความจริงครึ่งเดียว” (คือเข้าข้าง ปตท.) อยู่ จึงขอรวบรวมความเข้าใจผิดเหล่านี้สั้นๆ ในลักษณะ ถาม-ตอบ ไว้ในบล็อกนี้ก่อน ก่อนที่จะเขียนบทความขนาดยาวในลำดับต่อไป (ซึ่งคงต้องรอดูแผนการโอนทรัพย์สินที่กระทรวงพลังงานจะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าก่อน ก่อนที่จะคอมเม้นท์อะไรได้)

1. ความผิดตามกฎหมายของ ปตท. ที่ศาลตัดสิน เป็น “ความผิดทางเทคนิค” เท่านั้น ไม่ได้เป็นความผิดที่ร้ายแรงอะไรไม่ใช่หรือ? เพราะถึงแม้ว่า ปตท. จะแปรสภาพเป็นนิติบุคคลเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว รัฐก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คือ 52% อยู่

ตอบ: ความเชื่อที่ว่า ปตท. ย่อมดำเนินกิจการเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” เป็นหลัก ไม่ใช่ “นำส่งกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น” เพราะยังมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ เป็นความเข้าใจผิดที่แพร่หลายอย่างน่าเสียดาย เพราะข้อเท็จจริงคือ ไม่สำคัญเลยว่ารัฐจะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ – เมื่อกิจการใดก็ตามกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหุ้น บริษัทนั้นย่อมทำตามเป้าหมาย “นำส่งกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น” ในฐานะบริษัทจดทะเบียน ตามธรรมชาติของกลไกตลาดทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนสนใจซื้อหุ้น ดังนั้นแม้ในกรณีที่รัฐบาลจะถือหุ้น 80% และเป็นรัฐบาลที่คำนึงถึง “ประโยชน์สาธารณะ” เป็นหลัก (ซึ่งรัฐบาลที่แล้วไม่ใช่แน่ๆ) ปตท. ก็ยังต้องดำเนินธุรกิจในทางที่เน้นกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นอยู่นั่นเอง จะอ้างว่า “รัฐยังเป็นเจ้าของ” เท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น


เมื่อวานเป็นวันแรกในรอบหลายเดือนหลังเกิดรัฐประหาร ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าศาลเป็น “ที่พึ่ง” ของประชาชนได้จริงๆ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การแปรรูป ปตท. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไม่ร้ายแรงถึงขนาดต้องเพิกถอน ปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ – ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้จากที่นี่: ฉบับเต็ม (99 หน้า) และ สรุปในข่าวศาลปกครอง (4 หน้า)

ขอแสดงความคารวะคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดไว้ ณ ที่นี้ (และก็รู้สึกโล่งอกที่ ความกังวล ของผู้เขียนว่าศาลจะเอาผิดเรื่องท่อก๊าซไม่ได้ ไม่เป็นผล เพราะศาล “ฉลาด” พอที่จะตีข้อนั้นว่าเข้าข่าย “สาธารณสมบัติ” ไม่ใช่ “กิจการผูกขาด”) พร้อมกันนี้ก็หวังว่าภาคประชาชนจะนำคำพิพากษาของศาลที่ว่าการแปรรูป ปตท. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ไปขยายผลในลำดับต่อไป โดยเฉพาะการฟ้องแพ่ง และฟ้องอาญาผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดที่แล้ว โทษฐานดำเนินการแปรรูปในทางที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542

เนื่องจากผู้เขียนคิดว่านักลงทุนหลายคน โดยเฉพาะคนไทย ยังมีความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล โดยเฉพาะในเมื่อดูเหมือนผู้บริหาร ปตท. เอง และ “ผู้มีชื่อเสียง” ในแวดวงตลาดทุนหลายคน จะยังให้ข่าวแบบ “พูดความจริงครึ่งเดียว” (คือเข้าข้าง ปตท.) อยู่ จึงขอรวบรวมความเข้าใจผิดเหล่านี้สั้นๆ ในลักษณะ ถาม-ตอบ ไว้ในบล็อกนี้ก่อน ก่อนที่จะเขียนบทความขนาดยาวในลำดับต่อไป (ซึ่งคงต้องรอดูแผนการโอนทรัพย์สินที่กระทรวงพลังงานจะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าก่อน ก่อนที่จะคอมเม้นท์อะไรได้)

1. ความผิดตามกฎหมายของ ปตท. ที่ศาลตัดสิน เป็น “ความผิดทางเทคนิค” เท่านั้น ไม่ได้เป็นความผิดที่ร้ายแรงอะไรไม่ใช่หรือ? เพราะถึงแม้ว่า ปตท. จะแปรสภาพเป็นนิติบุคคลเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว รัฐก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คือ 52% อยู่

ตอบ: ความเชื่อที่ว่า ปตท. ย่อมดำเนินกิจการเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” เป็นหลัก ไม่ใช่ “นำส่งกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น” เพราะยังมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ เป็นความเข้าใจผิดที่แพร่หลายอย่างน่าเสียดาย เพราะข้อเท็จจริงคือ ไม่สำคัญเลยว่ารัฐจะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ – เมื่อกิจการใดก็ตามกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหุ้น บริษัทนั้นย่อมทำตามเป้าหมาย “นำส่งกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น” ในฐานะบริษัทจดทะเบียน ตามธรรมชาติของกลไกตลาดทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนสนใจซื้อหุ้น ดังนั้นแม้ในกรณีที่รัฐบาลจะถือหุ้น 80% และเป็นรัฐบาลที่คำนึงถึง “ประโยชน์สาธารณะ” เป็นหลัก (ซึ่งรัฐบาลที่แล้วไม่ใช่แน่ๆ) ปตท. ก็ยังต้องดำเนินธุรกิจในทางที่เน้นกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นอยู่นั่นเอง จะอ้างว่า “รัฐยังเป็นเจ้าของ” เท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น

ในบรรดาวิธี “ทำกำไรสูงสุด” ทั้งหลายในโลกธุรกิจ ไม่มีอะไรจะ “ง่าย” ไปกว่าวิธีใช้อำนาจผูกขาด กำหนดราคาตามใจชอบ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ ปตท. กระทำในกิจการส่งก๊าซผ่านท่อมาตลอดระยะเวลา 5 ปี เพราะเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่มีอำนาจทำแบบนี้ได้ (และถ้าจะให้พฤติกรรม “เถลิงอำนาจผูกขาด” ของ ปตท. แจ่มชัดกว่านั้น ก็ต้องไปถามคนในการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดูว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูก ปตท. “โขก” ค่าก๊าซ เรียกเก็บในอัตราสูงกว่าอัตราที่เรียกเก็บบริษัทอื่น)

แน่นอน กิจการผูกขาดย่อมได้กำไรดีกว่ากิจการที่มีการแข่งขัน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ ปตท. สามารถนำส่งเงินปันผลงามๆ ต่อผู้ถือหุ้น (และเงินภาษีส่งรัฐ) ได้ทุกปี และทำให้ราคาหุ้น ปตท. วิ่งฉิวอย่างฉุดไม่อยู่ เพราะมีใครบ้างที่ไม่อยากซื้อหุ้นบริษัทที่ผูกขาดธุรกิจอยู่คนเดียว?

แต่ถ้านักลงทุนรู้จักถอดหมวก “นักลงทุน” ออกหลังจากตลาดหุ้นปิดทำการในแต่ละวัน และสวมหมวก “ประชาชนคนไทย” แทน ก็จะเห็นชัดว่าการปล่อยให้บริษัทในตลาดหุ้นที่ย่อมต้อง “ทำกำไรสูงสุด” ดำเนินธุรกิจผูกขาด ซึ่งหมายความว่าตั้งราคาได้ตามอำเภอใจนั้น ย่อมไม่ส่งผลดีต่อประชาชนผู้บริโภคแน่ๆ

และในกรณีของ ปตท. อำนาจผูกขาดในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติก็ส่งผลเสียชัดเจนในรูปราคาก๊าซที่ผู้ใช้ก๊าซต้องซื้อแพงเกินเหตุไปมาก (กำไรจากธุรกิจก๊าซคิดเป็นกว่า 70-80% ของกำไร ปตท. ทั้งหมด) และในเมื่อก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ประเทศไทยใช้ในการผลิตไฟฟ้า การใช้อำนาจผูกขาดของ ปตท. จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก

(ส่วนที่ ปตท. ชอบอ้างว่าน้ำมันแพงเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงนั้น ผู้เขียนไม่เถียง แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า การที่ ปตท. สามารถนำกำไรมหาศาลจากการผูกขาดท่อส่งก๊าซ มา subsidize ธุรกิจน้ำมันของตัวเองนั้น ก็ทำให้สามารถ “ไล่” คู่แข่งขันในกิจการปั๊มน้ำมันออกจากตลาดได้ง่ายด้วยการทำสงครามราคา เพราะคู่แข่งคนอื่นๆ ไม่มีปัญญาเอากำไรจากธุรกิจผูกขาดที่ไหนมารองรับการตัดราคาแข่ง)

การ “ใช้อำนาจผูกขาด” ด้วยเป้าหมาย “ทำกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น” นั้นส่งผลเสียต่อประชาชนผู้บริโภคเสมอ และในเมื่อเรากำลังพูดถึงกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิบริโภคในราคา “ไม่แสวงหากำไรสูงสุด” คือไฟฟ้า และในเมื่อ “อำนาจผูกขาด” ของ ปตท. คืออำนาจผูกขาดการใช้สิ่งที่ควรเป็นสาธารณสมบัติ คือท่อก๊าซ จึงถูกต้องแล้วที่กฎหมายจะระบุว่า รัฐต้องแยกเอาอำนาจมหาชน ทรัพยสิทธิ (สิทธิเหนือทรัพย์สิน) และที่ดินที่เป็นของรัฐออกมา ก่อนที่จะเอารัฐวิสาหกิจไปแปรรูปและเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

เพราะถ้ามีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำกิจการอะไรก็ตามแบบผูกขาดจริงๆ คนเดียวที่ควรมีอำนาจทำเช่นนั้นคือ รัฐ เพราะรัฐไม่มีเป้าหมาย “ทำกำไรสูงสุด” ไม่เหมือนกับบริษัท มิพักต้องพูดถึงบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นไปแล้ว

การไม่แยกสาธารณสมบัติออกมาก่อนเอา ปตท. เข้าตลาดหุ้น จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และนำไปสู่การ “เถลิงอำนาจผูกขาด” อย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ก๊าซ และผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศตลอดมาเป็นเวลา 5 ปี และดังนั้น จึงเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมแล้ว ที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาว่าเรื่องนี้ “ผิดกฎหมาย” และมีคำสั่งชัดเจนให้แยกอำนาจ ทรัพยสิทธิและที่ดินที่เป็นสมบัติของชาติออกจาก ปตท. ให้แล้วเสร็จ ก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะแล้วเสร็จตาม พ.ร.บ. พลังงาน 2550

2. แต่ถ้าโอนทรัพย์สินท่อก๊าซ ที่ดิน ฯลฯ กลับไปเป็นของรัฐ ปตท. ก็แค่ต้องจ่ายค่าเช่านิดหน่อยเท่านั้น ราคาหุ้น ปตท. คงจะตกไม่เท่าไหร่?

ตอบ: ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนบางคนจะออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า “นักลงทุนซึมซับข่าวในเรื่องนี้มาแล้ว” และ “ราคาหุ้นคงไม่ลงไปมากกว่านี้” ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าราคาหุ้น ที่ควรจะทำอย่างยิ่งตอนนี้ คือการที่ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนและนักลงทุนไทยทุกคน จะลองตั้งสติพร้อมใจกันถอดหมวก “นักลงทุน” ชั่วคราว หันมาสวมหมวก “พลเมืองไทย” ผู้มี “จิตสาธารณะ” ในมโนสำนึกกันหน่อย เพราะเรากำลังพูดถึง “ประเด็นสาธารณะ” ไม่ใช่เรื่องธุรกิจเอกชนธรรมดาๆ

ในฐานะนักลงทุน แน่นอน เราย่อมไม่อยากเห็นหุ้นในพอร์ตของเราต้องราคาตก

แต่ในฐานะพลเมืองจิตสาธารณะ ผู้เคารพในเจตนารมณ์ของกฎหมายและเข้าใจเรื่องความเลวร้ายของ “กิจการผูกขาด+เป้าหมายกำไรสูงสุด” เราย่อมเข้าใจดีว่า ถ้าหุ้น ปตท. “สมควร” จะตก มันก็ต้องตก

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเคารพในคำพิพากษาของศาล และเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างแท้จริง ก็จะต้องกำหนดค่าเช่าท่อก๊าซอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่อนุญาตให้ ปตท. “ส่งต่อ” ค่าเช่าไปยังผู้บริโภคในอัตรา “กำไรสูงเกินควร” อย่างในอดีตอีก เพราะไม่อย่างนั้นก็เท่ากับว่า คำตัดสินของศาลที่ให้โอนทรัพย์สินกลับไปเป็นของรัฐ จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลยต่อประชาชน

ในกรณีนี้ราคาหุ้น ปตท. ก็จะต้องลดลงแน่นอน เพราะ ปตท. “เถลิงอำนาจผูกขาด” ไม่ได้สบายๆ เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่จะลดลงแค่ไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องคอยดูต่อไป เพราะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่าง ปตท. กับรัฐ เป็นหลัก ซึ่งถ้ารัฐไม่ “โอ๋” ปตท. แต่ยืนอยู่ข้างประชาชน ราคาหุ้นก็คงตกมาก แต่ในทางกลับกัน ประชาชนก็น่าจะได้ประโยชน์มาก (เช่น ไม่ต้องเห็นค่าไฟฟ้าพุ่งพรวดๆ)

(จริงๆ แล้ว ผู้เขียนคิดว่าศาลปกครองสูงสุด “กรุณา” มากแล้วที่ไม่เรียกเก็บ “ภาษีย้อนหลัง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า windfall tax เพื่อให้ ปตท. ชดใช้กำไรเกินควรที่เคยได้ในอดีต ความคิดที่จะเก็บภาษีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันทั่วไปในหลายประเทศ เมื่อธุรกิจได้กำไรสูงมหาศาล ดูตัวอย่างได้จาก กรณีของอเมริกา (ธุรกิจน้ำมัน) และ กรณีของอังกฤษ (ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) แต่อย่างไรก็ดี ถ้า ปตท. ต้องจ่ายภาษีโอนเป็นหมื่นล้านบาทเมื่อโอนทรัพย์สินกลับไปเป็นของรัฐ ภาษีตรงนี้ก็อาจอลุ้มอล่วยว่าใช้แทน windfall tax ได้)

ผู้เขียนคิดว่า ผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดคราวนี้ถือเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนไทยในตลาดหุ้นทุกคนที่เคยคำนึงถึงแต่ราคาหุ้นบนกระดาน หรือกำไรในกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง จะหันมามองในมุมมองที่ใหญ่กว่า และใช้ “หัวใจ” มากกว่าการเล่นหุ้นกันบ้าง

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราคนไทยไม่ใช่ทุกคนที่เล่นหุ้น แต่เราแทบทุกคนต้องใช้ไฟฟ้าและก๊าซ

นอกจากนี้ กำไรที่ยั่งยืนแท้จริงจากการเล่นหุ้น ที่จะสะท้อนความ “เก่ง” และความ “เก๋า” ของคนเล่น ไม่ใช่กำไรที่มาจากการนอน “กอด” ดูหุ้นขึ้นไปไม่หยุด แต่มาจากการ “รู้จังหวะ” ในการลงทุนต่างหาก

หุ้นขึ้นก็ขาย หุ้นตกก็ซื้อ หุ้นจะตกเพราะบริษัทถูกทำโทษฐานทำผิดกฎหมายในอดีตก็ต้องเข้าใจได้ และยอมรับได้ (และถ้าโชคดี ก็อาจจะดีใจด้วยซ้ำที่เตรียมเงินไว้ซื้อถูกเวลา) ไม่ใช่มัวแต่โวยวายเวลาหุ้นตก ถ้าคิดว่าบริษัทรู้ว่าตัวเองทำผิดกฎหมายมานานแล้วแต่ปิดบังผู้ถือหุ้น ก็ไปฟ้องบริษัทเรียกค่าเสียหายคืน (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฉบับใหม่ และกฎหมายฟ้องแบบรวมกลุ่ม (class action law) ที่ยังไม่ออก จะช่วยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันฟ้องบริษัทได้ง่ายขึ้น)

ขอเชิญชวนที่ปรึกษาทางการเงิน โบรกเกอร์ และนักลงทุนรายย่อยไทยทุกคน ให้ร่วมกันถอดหมวก “นักลงทุน” และหันมาสวมหมวก “พลเมืองไทย” ในการมองคำตัดสินคดี ปตท. ซึ่งผู้เขียนคิดว่า สร้างบรรทัดฐานใหม่อย่างน่าชื่นชมให้กับวงการกฎหมายมหาชนของไทย และทำให้คนเข้าใจมากขึ้นในประเด็น “สาธารณสมบัติ” และ “กิจการผูกขาด”.