ความเห็นเกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร และ ชินคอร์ป”

มีเพื่อนส่งลิ้งก์หนึ่งมาให้อ่าน เป็นบทความชื่อ “ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร และ ชินคอร์ป” สามารถดาวน์โหลดได้จาก บล็อกชื่อ Thai For Thai หรืออ่านออนไลน์ได้จาก หน้านี้ของบล็อกสาระสนเท่ห์

บทความนี้มีเนื้อหาน่าสนใจ เพราะสะท้อนจุดยืนที่มองว่า การขายหุ้นชินของนายกฯ นั้น ไม่มีอะไรผิดกฎหมายหรือชอบมาพากล ซึ่งเป็นจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับบทความที่เคยโพสต์บนบล็อกนี้ (ซึ่งตอนนี้รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “25 คำถาม” แล้ว หาซื้อได้ทั่วไป)

บทความทั้งสองนี้ไม่สามารถเทียบกันได้ชัดเจน เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นกันคนละประเด็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบทความของ Thai For Thai บางตอน มีลักษณะไม่ครบถ้วน และ “ไม่ตรงประเด็น” ในแง่ที่ไม่ได้ไขข้อข้องใจที่เป็นประเด็นหลักจริงๆ ในดีลนี้ แต่กลับไปอธิบายประเด็นรองแทน จึงอยากบันทึกความเห็นคร่าวๆ ของตัวเองไว้ตรงนี้ เพื่อส่งเสริมให้เราทุกคนคุยเรื่องนี้กันอย่าง “ตรงประเด็น” ที่สำคัญจริงๆ มากขึ้น

ตัวสีดำคือข้อเขียนที่คัดมาจากบทสรุปของ Thai For Thai ตัวสีน้ำเงินคือความเห็นของตัวเอง

ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเรื่อง “กรณีไทยคมกับ BOI, FTA, Exim Bank” เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะวิเคราะห์ แต่จะพยายามใช้เวลาศึกษาหาความรู้ในด้านนี้ เพราะกำลังเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่

การเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ

* ขายหุ้นในตลาดไม่มีภาษี

ข้อนี้ไม่ควรมีใครเถียง เพราะเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักอยู่ที่ “วิธีการ” ซื้อขายที่จะนำมาสู่การขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรในลักษณะที่ไม่ต้องเสียภาษีมากกว่า อ่านรายละเอียดได้ในบทความ 25 คำถาม


มีเพื่อนส่งลิ้งก์หนึ่งมาให้อ่าน เป็นบทความชื่อ “ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร และ ชินคอร์ป” สามารถดาวน์โหลดได้จาก บล็อกชื่อ Thai For Thai หรืออ่านออนไลน์ได้จาก หน้านี้ของบล็อกสาระสนเท่ห์

บทความนี้มีเนื้อหาน่าสนใจ เพราะสะท้อนจุดยืนที่มองว่า การขายหุ้นชินของนายกฯ นั้น ไม่มีอะไรผิดกฎหมายหรือชอบมาพากล ซึ่งเป็นจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับบทความที่เคยโพสต์บนบล็อกนี้ (ซึ่งตอนนี้รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “25 คำถาม” แล้ว หาซื้อได้ทั่วไป)

บทความทั้งสองนี้ไม่สามารถเทียบกันได้ชัดเจน เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นกันคนละประเด็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบทความของ Thai For Thai บางตอน มีลักษณะไม่ครบถ้วน และ “ไม่ตรงประเด็น” ในแง่ที่ไม่ได้ไขข้อข้องใจที่เป็นประเด็นหลักจริงๆ ในดีลนี้ แต่กลับไปอธิบายประเด็นรองแทน จึงอยากบันทึกความเห็นคร่าวๆ ของตัวเองไว้ตรงนี้ เพื่อส่งเสริมให้เราทุกคนคุยเรื่องนี้กันอย่าง “ตรงประเด็น” ที่สำคัญจริงๆ มากขึ้น

ตัวสีดำคือข้อเขียนที่คัดมาจากบทสรุปของ Thai For Thai ตัวสีน้ำเงินคือความเห็นของตัวเอง

ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเรื่อง “กรณีไทยคมกับ BOI, FTA, Exim Bank” เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะวิเคราะห์ แต่จะพยายามใช้เวลาศึกษาหาความรู้ในด้านนี้ เพราะกำลังเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่

การเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ

* ขายหุ้นในตลาดไม่มีภาษี

ข้อนี้ไม่ควรมีใครเถียง เพราะเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักอยู่ที่ “วิธีการ” ซื้อขายที่จะนำมาสู่การขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรในลักษณะที่ไม่ต้องเสียภาษีมากกว่า อ่านรายละเอียดได้ในบทความ 25 คำถาม

* ขายแอมเพิลริชนอกประเทศก็ไม่มีภาษี ขายโอนตัวหุ้นที่ถืออยู่ให้ตัวเอง ไม่มีเงินได้เพิ่มที่ต้องเสียภาษี ทั้งสองกรณีได้เท่าสิทธิ์เดิม

* ที่เอาหุ้นชินคอร์ปฯเข้าแอมเพิลริช 11% ในปี 42 เพราะเตรียมเอาชินคอร์ปฯเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ (ตอนหลังเลิกแผน) หากขายนอกประเทศ ก็ไม่มีภาษี (แต่ตั้งใจโอนกลับเพื่อให้เงินอยู่ในประเทศ)

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า นายกฯ ตั้งแอมเพิลริชขึ้นมาทำไม หากอยู่ที่ว่า เมื่อเห็นชัดว่าชินคอร์ปไม่ได้เข้าตลาดแนสแดกแล้ว ครอบครัวชินวัตรเก็บแอมเพิลริช และหุ้นชินที่แอมเพิลริชถือ ไว้เพื่อทำอะไรต่างหาก

การขายหุ้นชินของแอมเพิลริช ในวันที่ 20 มกราคมนั้น ควรต้องมีการประเมินภาษีเงินได้แน่นอน เพราะเป็นการขายหุ้นจดทะเบียนในไทยของบริษัทที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด บทความเรื่อง 25 คำถาม อธิบายได้ค่อนข้างละเอียดดีแล้วว่าทำไม ผู้เชี่ยวชาญภาษีหลายท่านก็ออกมาพูดแล้วว่า้กรณีนี้ต้องเสียภาษี คนอื่นที่ทำธุรกรรมแบบเดียวกันนี้ก็ต้องเสียภาษีมาแล้วทั้งนั้น

การที่แอมเพิลริชต้องขายหุ้นชินออกมาให้พานทองแท้และพินทองทา ก่อนที่จะขายให้เทมาเสกนั้น เป็นเพราะกฎของเทมาเสก ห้ามไม่ให้ซื้อหุ้นจากนอมินี ต้องซื้อจากเจ้าของหุ้นโดยตรง (ซึ่งเป็นกฎที่ดีมาก เพราะทำให้รู้ตัวตนที่แท้จริงของคนซื้อขาย กฎหมายเมืองไทยน่าจะเอาอย่าง) ดังนั้นไม่ว่าครอบครัวชินวัตรจะอยากหรือไม่อยากให้เงินอยู่ในประเทศ ก็ต้องทำตามกฎของเทมาเสก

นอกจากนั้น ถ้าอยากให้เงินอยู่ในประเทศจริงๆ ก็ควรยุบแอมเพิลริช โอนหุ้นชินในแอมเพิลริชกลับมาให้พานทองแท้ถือเองตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนขายหุ้นให้เทมาเสก

* ตัว ดร.ทักษิณ ครอบครัว บริษัท และพนักงานกว่า 12,000 คน เสียภาษีและค่าสัมปทานสูงมากรวมปีละหลายหมื่นล้านบาท ไม่ใช่พวกเลี่ยงภาษีไม่รักชาติแน่

อันนี้คงต้องบอกว่า “แล้วไง?” ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้ สมมุติว่าขโมยขึ้นบ้านคุณ แล้วคุณไปขึ้นศาล ศาลตัดสินว่าขโมยไม่ผิดเพราะดูจากประวัติแล้วเขาไม่เคยขโมยของมาก่อน แทนที่จะตัดสินจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้ คุณรับได้หรือไม่?

การจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company) แบบแอมเพิลริช ไม่ผิดกฎหมาย ทำกันทั่วไป

* เมืองไทยก็มี Offshore เรียกว่า BIBF วาณิชธนกิจ คนต่างชาติมาตั้งในไทยได้ไม่เสียภาษีไทยเช่นกัน

ประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ว่า การไปจดทะเบียนที่ BVI หรือคอนเซ็ปท์ของการมีเขตปลอดภาษีนั้น เป็นเรื่อง “ธรรมดา” หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า บริษัทนอมินีของครอบครัวชินวัตรนั้น เป็นนอมินีของนายกฯ (ไม่ใช่ของลูกชาย ซึ่งถ้าเป็นของนายกฯ จริง จะผิดมาตรา 209 ของรัฐธรรมนูญทันที เพราะเป็นการ “ซุกหุ้น”) หรือไ่ม่ และเอาไว้ปั่นหุ้น SHIN ในหลายปีที่ผ่านมา จริงหรือไม่

* แอมเพิลริช มีหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ป ไม่ใช่เพื่อฟอก (หุ้นมีทะเบียน) ไม่ใช่เพื่อเลี่ยงภาษี (ไม่มีภาษีอยู่แล้ว)

คำถามที่คนคาใจคือ แอมเพิลริช “เอาไว้ซุกหุ้น และปั่นหุ้นชินหรือไม่?” ไม่ใช่ “เอาไว้ฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษีหรือไม่?” คนเขียนบทความจึงตอบไม่ตรงคำถาม

* บริษัท Offshore จำนวนมากเข้าตลาดหลักทรัพย์สากล เช่น แนสแดก เป็นเรื่องธรรมดา

ใช่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ในเมื่อบริษัทชินคอร์ปไม่ได้เข้าตลาดแนสแดกแล้ว (แนสแดก crash คือหุ้นตกมโหฬาร เมื่อปี 2544) ทำไมไม่โอนหุ้นในส่วนของแอมเพิลริชกลับมาเมืองไทย? (เช่น โอนให้พานทองแท้หรือพินทองทา) แล้วทำไมต้องมีการ “แตก” หุ้นชินที่แอมเพิลริชถือ ออกมาเป็นสองส่วน คือ 22 ล้านหุ้น และ 10 ล้านหุ้น? (ดูแผนผังได้จากบทความเรื่อง 25 คำถาม) ส่วนแรกอยู่ในบัญชีชื่อแอมเพิลริชเอง ส่วนที่สองอยู่ในบัญชีที่ UBS เป็นผู้ดูแล (คัสโตเดียน) ซึ่งส่วนนี้มีการโอนไปโอนมาระหว่างบัญชีต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง ในรอบห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า บัญชี 10 ล้านหุ้นนี้ ใช้ปั่นหุ้นชิน (หรือที่เรียกว่า “ฝรั่งหัวดำปั่นหุ้น”) หรือไม่?

* ชินคอร์ปและดร.ทักษิณก็รายงานตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 42 มีจดหมายหลักฐานชัดเจน

หลักฐานที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน ส่อให้เห็นว่า ดร. ทักษิณ มีเจตนาที่จะปกปิดสถานภาพ “นอมินีตระกูลชินวัตร” ของแอมเพิลริชมาตลอด ที่รายงานนั้นเพราะถูกรัฐบังคับ มากกว่ารายงานตามหน้าที่ (เช่น เมื่อต้นปี 2544 นายกฯ แจ้งต่อ กลต. ว่าโอนหุ้นแอมเพิลริชให้ลูกชายแล้ว ก็ต่อเมื่อถูกปปช. สอบสวนในคดีซุกหุ้น หลังจากได้รับหนังสือสอบถามจาก กลต.) นอกจากนั้นก็มีรายการ “ติ๊กผิด” มากมายหลายรายการ ดูชาร์ทสรุปความไม่ชอบมาพากลของแอมเพิลริช ได้จากการ์ตูนชั้นยอด เรื่องทศหมึก ของทีมงาน สว. แก้วสรร อติโพธิ

ครอบครัวชินวัตรขายแค่หุ้นชินคอร์ปแค่ที่ตนเป็นเจ้าของ 49% ให้กองทุนเทมาเสกและพันธมิตร

* ไม่ใช่ขายทั้งบริษัท 100% เพราะที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นอื่น… ไม่ใช่ขายสัมปทาน, ความถี่, เครือข่าย, หรือหุ้นของบริษัทสัมปทานผู้ให้บริการมือถือ ดาวเทียม ทีวี

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า นายกฯ ขายหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า เทมาเสกมี “อำนาจควบคุม” การบริหารจัดการของชินคอร์ป ซึ่งมีอำนาจบริหารจัดการในบริษัทสัมปทานผู้ให้บริการมือถือ ดาวเทียม ทีวี หรือไม่ เพราะถ้าเทมาเสกควบคุมชินคอร์ปได้ (ไม่ว่าจะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม) ก็หมายความว่าเทมาเสกมีสิทธิดำเนินกิจการตามสัมปทานได้ทั้งหมด

คนที่บอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะสัมปทานให้เพียง “สิทธิ” ในการดำเนินกิจการ โดยที่สินทรัพย์สัมปทานทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงนั้น คงต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพราะ “ความเป็นเจ้าของ” ในอะไรก็ตาม ไม่มีความหมายเท่ากับ “สิทธิในการใช้” ของนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณมีบ้านหลังหนึ่ง แล้วเซ็นสัญญาอนุญาตให้นายเส็กเป็นผู้มีอำนาจเอาบ้านคุณให้ใครเช่าก็ได้ ภายในเวลา 10 ปี นายเส็กก็อาจกีดกัน ไม่ให้เพื่อนคุณที่เขาเกลียดเช่าบ้านนั้นอยู่ ถึงคุณจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ คุณก็ต้องเดือดร้อนไปปลอบใจเพื่อน หา “นายหน้า” รายใหม่มาแทนนายเส็ก ฯลฯ ก่อน ดังนั้นแม้คุณจะเป็นเจ้าของบ้าน คุณก็ไม่มีอำนาจบริหารจัดการบ้านนั้น ตราบใดที่สัญญาที่ทำกับนายเส็กยังมีผลบังคับใช้อยู่

ฉะนั้น หากเทมาเสกมีอำนาจควบคุมชินคอร์ปจริง จะเรียกดีลนี้ว่าเท่ากับเป็นการ “ขายสัมปทาน” ก็ไม่ผิดนัก เพราะเราต้องดูสิ่งที่เทมาเสกทำได้ ไม่ใช่ดูแค่ว่า ไปซื้อหุ้นระดับไหนเท่าไหร่

* ชินคอร์ปถือหุ้นในเอไอเอส 43% ในชินแซทเทลไลท์ 41% ในไอทีวี 53% ดังนั้น ถือได้ว่าเทมาเสก (ผ่านการถือหุ้น 49% ในชินคอร์ป) มีความเป็นเจ้าของ เอไอเอส 21% ชินแซทเทลไลท์ 20% ไอทีวี 26% ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ถือว่าปกติ

ประการแรก เราจะดูสัดส่วนการถือหุ้นง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะนั่นคือสัดส่วนการถือหุ้นก่อนที่เทมาเสกจะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ตามกฎหมาย (เสนอซื้อหุ้นชินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด) เสร็จ ซึ่งหลังจากเทมาเสกทำเทนเดอร์หุ้นชินจบไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ออกมาประกาศแล้วว่า หลังจากเทนเดอร์เสร็จสิ้นลง เทมาเสกถือหุ้นชินทั้งหมดกว่า 96%

ประการที่สอง ประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนการถือหุ้น แต่อยู่ที่อำนาจควบคุมที่อาจส่อว่า เทมาเสกทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. ต่างด้าว ดูประเด็นก่อนประกอบ

* บริษัทโทรคมนาคมในภูมิภาค มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติจำนวนมาก เช่น Singtel ถือหุ้น 100% ใน Optus บริษัทมือถือและดาวเทียมอันดับสองของออสเตรเลีย เป็นโลกาภิวัฒน์ ไม่กระทบความมั่นคงของชาติ เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายไทยและเครือข่ายติดอยู่ในประเทศ (ถอดออกไปไม่ได้) ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายของกระทรวงไอซีที, กทช

การจะดูว่า การให้อำนาจต่างชาติในการทำธุรกิจดาวเทียม มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติจริงหรือไม่นั้น (ผู้เขียนไม่ติดใจเรื่องโทรศัพท์มือถือ เพราะเป็นกิจการที่ควรเปิดเสรีให้ต่างชาติแข่งขันได้) ต้องคำนึงว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน ไม่ได้มีดาวเทียมมากมายเหมือนประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยกว่าอย่างออสเตรเลีย จะได้ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามา “มีเอี่ยว” ได้ง่ายๆ (และแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย ก็ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการระดับชาติที่มีนัยยะด้านความมั่นคงและอธิปไตยของชาติง่ายๆ เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาออสเตรเลียลงมติไม่อนุญาต ให้สายการบิน Singapore Airlines ของสิงคโปร์ บินระหว่างออสเตรเลียและอเมริกา)

การให้สิทธิเทมาเสก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ เข้ามามีอำนาจควบคุมดาวเทียมส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งต้องเดินตามวงโคจรที่แต่ละประเทศได้รับในโควต้าจำกัด เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคง และอธิปไตยของชาติ

ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ และเห็นด้วยว่าประเทศไทยไม่ควรกีดกันการค้ากับต่างประเทศ แต่เราต้องคำนึงให้ดีว่า ธุรกิจใดบ้างที่เราควรอนุญาตให้ต่างชาติ (โดยเฉพาะรัฐบาลต่างชาติ ไม่ใช่บริษัทเอกชน) เข้ามาทำ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอเมริกาไม่อนุญาตให้บริษัทจีนคือ CNOOC เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทน้ำมันอเมริกันชื่อ UNOCAL ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เพราะน้ำมันเป็นทรัพยากรสำคัญ อย่างนี้แปลว่ารัฐบาลอเมริกา ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งในโลก ปฏิเสธโลกาภิวัตน์หรือไม่?

นอกจากนั้น สังคมไทยก็ยังไม่สนิทใจว่า กระทรวงไอซีที และ กทช. ภายใต้รัฐบาลนี้ จะสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระจากกลุ่มชินคอร์ป ได้จริงหรือไม่

* วงโคจรดาวเทียมได้รับสิทธิจากสหประชาชาติ (UN) และ ITU ต้องทำตามกฎนานาชาติ รัฐบาลไทยได้สิทธิ์แต่ไม่ใช่เจ้าของ การให้บริการต้องเป็นสากล เน้นธุรกิจ อิงการเมืองไม่ได้ หากไทยอ้างหรือเน้นความมั่นคงหรือชาตินิยม ชาติอื่นก็จะเกิดกีดกันบ้าง

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับวาทกรรม “ชาตินิยม” แบบไร้เหตุผล (เช่น ไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาทำอะไรทั้งสิ้น โดยไม่ดูว่าคนไทยได้ประโยชน์หรือไม่) แต่ความมั่นคงอ้างได้แน่นอน โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ที่มีทรัพยากรจำกัด และมีบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่พัวพันการเมือง มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนตลอดมา ถ้าประเทศทุกประเทศมีอำนาจการต่อรองเท่ากัน มีระดับการพัฒนาเท่ากัน ก็คงเปิดประเทศได้กว้างเท่ากัน แต่ความจริงไม่ใช่ เราต้องระวังตัวไม่ให้ประเทศใหญ่กว่ามาเอารัดเอาเปรียบ การที่ประเทศไทยควรสนับสนุนโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมายความว่าเราควรหลับหูหลับตา เปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง เราควรเลือกเดินอยู่บน “ทางสายกลาง” ที่อยู่ระหว่างชาตินิยมไร้เหตุผล และเสรีนิยมสุดขั้ว

* ยูคอม ดีแทค มือถือรายใหญ่อันดับสองของไทย ก็เป็นของบริษัทเทเลนอร์ ของรัฐบาลนอร์เวย์เกือบ 100% ไม่มีภาษีจากการขายหุ้นเช่นกัน มีการถือหุ้นทางอ้อมผ่านตัวแทน ทำไมไม่ประท้วง

ความจริงก็คือ คนไม่สนใจดีลยูคอมเท่ากับดีลชิน เพราะดีลชินเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรี และเป็นการเทคโอเวอร์ที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่เราก็ควรวิเคราะห์กันว่า การที่คนไม่ประท้วงยูคอมนั้น สมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร

ยูคอม ดีแทค ไม่ได้ทำธุรกิจทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจ “ต้องห้าม” (บัญชีหนึ่ง) ในพ.ร.บ. ต่างด้าว หรือธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติและประเทศไทยมีโควตาวงโคจรจำกัด ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว กลุ่มยูคอมทำเพียงธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายต่างด้าว (ซึ่งมีบทลงโทษเรื่องการใช้โครงสร้างตัวแทน หรือนอมินี) และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยต้องเปิดเสรีอยู่แล้วตามข้อตกลง WTO

การใช้โครงสร้างนอมินีของเทเลนอร์ เป็นโครงสร้างเพื่อทำให้มีอำนาจควบคุมยูคอม ในขณะที่ยังถือหุ้นสูงสุด 49% ตามกฎหมาย พ.ร.บ. โทรคมนาคม และสัญญาสัมปทาน โครงสร้างนี้ไม่ต่างจากโครงสร้างที่เทมาเสกใช้ควบคุมชินคอร์ป แต่ พ.ร.บ. โทรคมนาคม ไม่มีข้อห้ามเรื่องการใช้คนไทยหรือบริษัทไทยเป็นนอมินี ไม่เหมือน พ.ร.บ. ต่างด้าว ที่ห้ามชัดเจน

ดังนั้น โครงสร้างการนอมินีถือหุ้นยูคอมของเทเลนอร์ เรียกได้ว่า “น่าเกลียด” (ถ้าเรามองว่า กฎที่จำกัดการถือหุ้นของต่างชาติไว้ที่ 49% ในกฎหมายไทยทุกฉบับ มีเจตนารมณ์ที่จะจำกัดอำนาจควบคุมไว้แค่นั้นด้วย) แต่ก็เป็นความน่าเกลียดระดับ “ปกติ” ที่บริษัทต่างชาติหลายรายทำ ไม่ได้ “น่าเกลียดสุดขั้ว” อย่างกรณีของเทมาเสก เพราะเทมาเสกไม่ได้ละเมิดแค่เจตนารมณ์ แต่ละเมิดตัวบทกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ต่างด้าว (เพราะมีอำนาจควบคุมไอทีวี) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเมื่อเร็วๆ นี้เทมาเสกได้แก้ไขความผิดนี้แล้ว ด้วยการไปหาคนไทย คือดาโต๊ะสุรินทร์ มาลงทุนในชินคอร์ป ซึ่งดูจากการเข้ามามีอำนาจจริงๆ และเอาเงินมาจริงๆ คิดว่าไม่น่าจะเป็นนอมินีของใคร

นอกจากนี้ หุ้นที่กลุ่มเบญจรงค์กุล นำมาขายให้กับกลุ่มเทเลนอร์ ก็เป็นหุ้นที่ “สะอาด” กว่าหุ้นของครอบครัวชินวัตรมาก ไม่ใช่หุ้นที่คนกังขาว่าใช้ซุก ปั่น หรือมีประวัติการ “เลี่ยงภาษี” ของคนในตระกูลเมื่อโอนหุ้นระหว่างกันหลายปีก่อน

ดังนั้น เมื่อมันเป็นเรื่องต่างกรรม ต่างวาระ ที่มีระดับความ “น่าเกลียด” น้อยกว่ากัน จึงถูกต้องแล้วที่ไม่มีใครประท้วงการขายหุ้นของยูคอม

* ขณะนี้นายสนธิทำโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง ASTV แพร่ภาพในไทยโดยใช้ดาวเทียมต่างชาติ (New Sky Network NSN ยิงสัญญาณภาพจากฮ่องกง) ผิดกฎหมายไทย ทั้งโทรคมนาคมและโทรทัศน์ อ้างเรื่องเสรีสื่อ แต่เป็นภัยต่อความมั่นคงในการร่วมมือกับต่างชาติเพื่อทำสื่อข้ามประเทศเข้ามาประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าข้อกล่าวหานี้จริงเท็จเพียงใด เพราะไม่มีความรู้เพียงพอ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าสนธิทำผิดกฎหมายเหล่านี้จริง ทำไมยังไม่มีหน่วยงานรัฐเอาเรื่องเขา เพราะ ASTV ก็แพร่ภาพมาเป็นปีๆ แล้ว ส่วนเรื่องความมั่นคงของชาติในกรณีนี้ ไม่น่าจะเป็นปัญหาเท่ากับเรื่องเทมาเสกควบคุมดาวเทียม เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ต่างชาติยิงสัญญาณดาวเทียมเข้ามาในประเทศตามอำเภอใจได้ (แม้ว่าจะทำได้ในทางเทคนิค) ต้องอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นคนไทย เช่นสนธิ รัฐบาลไทยมีอำนาจควบคุมสั่งการคนไทยให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อยู่แล้ว