คำถามถึงอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง– เราสิ้นศรัทธาไปตั้งแต่เมื่อใด?

ในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายกำลังชื่นชมยินดีกับรัฐธรรมนูญใหม่ถอดด้าม และชนชั้นกลางจำนวนนับไม่ถ้วนกำลังดีใจว่าจะได้เลือกตั้งเสียที น่าเสียดายที่หลายคนในจำนวนนี้ยัง “สายตาสั้น” เกินกว่าที่จะมองเห็นความขัดแย้งและปัญหาที่จะตามมาทันทีที่เราได้รัฐบาลใหม่ ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปไว้ในข้อเขียนเรื่องการเมืองไทยหลังประชามติ ดังจะยกมาบางตอนดังต่อไปนี้:

“…จริงอยู่ผู้ที่ไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระจายอยู่อย่างเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ทั่วทั้งประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) แม้แต่กรุงเทพฯ ยังมีอยู่ถึง 37% ของผู้ใช้สิทธิ (หากเอาตัวเลขนี้ไปคำนวณจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ตกประมาณกว่า 1.5 ล้านคน)

การกระจุกตัวของกลุ่มประชากรที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มักถูกอธิบายว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรค ทรท.หรือของคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 พื้นที่ซึ่งพรรค ทรท. ชิงที่นั่งได้ทั่วประเทศมีกว้างขวางกว่านั้นมาก ฉะนั้นคำอธิบายนี้คงถูก แต่ถูกไม่หมด และคงจะมีคำอธิบายจากมุมมองอื่นๆ ได้อีกมาก

และหนึ่งในคำอธิบายที่เป็นไปได้ ซึ่งผมเห็นว่าน่าคิดมากก็คือ ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ซึ่งประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คะแนนเสียงประชามติในครั้งนี้จึงเป็นคะแนนเสียงของคนจนกับของคนไม่จน, ของเกษตรกรรมและอะไรอื่นๆ ที่จัดว่าเป็นนอกระบบ กับเศรษฐกิจในระบบ, ของคนที่รู้สึกตัวว่าถูกทอดทิ้ง กับของคนที่วางเดิมพันไว้กับระบบการเมืองส่วนกลางมากกว่า, และของอะไรอื่นๆ อีกมากที่เป็นความแตกต่างเชิงโครงสร้างของกลุ่มประชากร

เพื่อชโลมหูผู้ฟัง เราอาจพูดถึง ‘แตกต่างแต่ไม่แตกแยก’ แต่ผมไม่เคยเห็นความแตกต่างเชิงโครงสร้างอย่างนี้ในสังคมใดว่าไม่ใช่ความแตกแยก ถ้อยคำหวานหูเช่น สมานฉันท์, สามัคคี, ปรองดอง, โซ่ข้อกลาง, ฯลฯ ไม่มีทางที่จะบรรเทาความแตกแยกเช่นนี้ได้ จนกว่าจะลงมือทำให้ความไม่ลงรอยของการพัฒนาส่งผลต่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น…

…ถ้าพรรคพลังประชาชนสามารถกวาดที่นั่งในพื้นที่เหล่านี้ได้เป็นส่วนใหญ่ (แน่นอน ท่ามกลางการกดดันของอำนาจทหารและอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหารดังปรากฏในการลงประชามติ) ก็หมายความว่าจะมีพรรคฝ่ายค้านที่เกาะติดกับ ‘ชนชั้น’ (ในความหมายหลวมๆ) แตกต่างจากที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็น เพราะประชาธิปัตย์เกาะติดกับพื้นที่ไม่ใช่ ‘ชนชั้น’

ไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองไทยนะครับ


ในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายกำลังชื่นชมยินดีกับรัฐธรรมนูญใหม่ถอดด้าม และชนชั้นกลางจำนวนนับไม่ถ้วนกำลังดีใจว่าจะได้เลือกตั้งเสียที น่าเสียดายที่หลายคนในจำนวนนี้ยัง “สายตาสั้น” เกินกว่าที่จะมองเห็นความขัดแย้งและปัญหาที่จะตามมาทันทีที่เราได้รัฐบาลใหม่ ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปไว้ในข้อเขียนเรื่องการเมืองไทยหลังประชามติ ดังจะยกมาบางตอนดังต่อไปนี้:

“…จริงอยู่ผู้ที่ไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระจายอยู่อย่างเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ทั่วทั้งประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) แม้แต่กรุงเทพฯ ยังมีอยู่ถึง 37% ของผู้ใช้สิทธิ (หากเอาตัวเลขนี้ไปคำนวณจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ตกประมาณกว่า 1.5 ล้านคน)

การกระจุกตัวของกลุ่มประชากรที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มักถูกอธิบายว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรค ทรท.หรือของคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 พื้นที่ซึ่งพรรค ทรท. ชิงที่นั่งได้ทั่วประเทศมีกว้างขวางกว่านั้นมาก ฉะนั้นคำอธิบายนี้คงถูก แต่ถูกไม่หมด และคงจะมีคำอธิบายจากมุมมองอื่นๆ ได้อีกมาก

และหนึ่งในคำอธิบายที่เป็นไปได้ ซึ่งผมเห็นว่าน่าคิดมากก็คือ ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ซึ่งประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คะแนนเสียงประชามติในครั้งนี้จึงเป็นคะแนนเสียงของคนจนกับของคนไม่จน, ของเกษตรกรรมและอะไรอื่นๆ ที่จัดว่าเป็นนอกระบบ กับเศรษฐกิจในระบบ, ของคนที่รู้สึกตัวว่าถูกทอดทิ้ง กับของคนที่วางเดิมพันไว้กับระบบการเมืองส่วนกลางมากกว่า, และของอะไรอื่นๆ อีกมากที่เป็นความแตกต่างเชิงโครงสร้างของกลุ่มประชากร

เพื่อชโลมหูผู้ฟัง เราอาจพูดถึง ‘แตกต่างแต่ไม่แตกแยก’ แต่ผมไม่เคยเห็นความแตกต่างเชิงโครงสร้างอย่างนี้ในสังคมใดว่าไม่ใช่ความแตกแยก ถ้อยคำหวานหูเช่น สมานฉันท์, สามัคคี, ปรองดอง, โซ่ข้อกลาง, ฯลฯ ไม่มีทางที่จะบรรเทาความแตกแยกเช่นนี้ได้ จนกว่าจะลงมือทำให้ความไม่ลงรอยของการพัฒนาส่งผลต่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น…

…ถ้าพรรคพลังประชาชนสามารถกวาดที่นั่งในพื้นที่เหล่านี้ได้เป็นส่วนใหญ่ (แน่นอน ท่ามกลางการกดดันของอำนาจทหารและอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหารดังปรากฏในการลงประชามติ) ก็หมายความว่าจะมีพรรคฝ่ายค้านที่เกาะติดกับ ‘ชนชั้น’ (ในความหมายหลวมๆ) แตกต่างจากที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็น เพราะประชาธิปัตย์เกาะติดกับพื้นที่ไม่ใช่ ‘ชนชั้น’

ไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองไทยนะครับ

รัฐบาลใหม่จะตอบสนองต่อพรรคฝ่ายค้านเช่นนี้อย่างไร หันกลับไปเอาใจประชาชนกลุ่มนี้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ฐานเสียงเดิมของตนคลายความนิยมลง (เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องของนโยบาย-ไม่ใช่แค่เหม็นสาบคนจน หรือหมั่นไส้คนรวย) เกาะติดกับฐานเสียงเดิม ก็เท่ากับทำให้ฝ่ายค้านยิ่งเกาะติดกับ ‘ชนชั้น’ มากขึ้น นั่นหมายความว่าจะขยายต่อไปยังกลุ่มคนจนเมืองได้อีกมาก

ยิ่งรัฐธรรมนูญใหม่บังคับให้ต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทุกพรรคล้วนมีนายทุนใหญ่หนุนหลัง ต้องเกี้ยเซี้ย แบ่งปันผลประโยชน์ในการวางนโยบายสาธารณะ เพื่อตอบแทนแก่นายทุนพรรคหลายกลุ่ม จะเหลือกำลังอะไรไว้เยียวยาความแตกแยกเชิงโครงสร้างที่ร้าวลึกขึ้นไปเรื่อยๆ…”

……

ลิ้นชักที่เลิกใช้

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จริง ตราบใดที่ชนชั้นกลางไทยยังดูถูกพี่น้องร่วมชาติของตัวเองว่า “โง่” และยังไม่เข้าใจว่า “ความจน” นั้นไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล (เช่นอคติที่มองว่า คนจนคือคนขี้เกียจทำงานทั้งนั้น คนขยันไม่มีวันจน) เท่ากับเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเด็ดขาด ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายในสังคม นับตั้งแต่รัฐบาลที่มี “กึ๋น” พอที่จะประกาศนโยบายปฏิรูปที่ดิน โครงสร้างภาษี และสวัสดิการสังคม, ข้าราชการที่เข้าใจคนท้องถิ่นและทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนมากกว่า “เบ่ง” ไปวันๆ, ตลอดจนชนชั้นกลางที่ “ตาสว่าง” พอที่จะเห็นว่า ตราบใดที่โครงสร้างสังคมของประเทศไทยยังมีความบิดเบี้ยวบิดเบือน คนกลุ่มน้อยอยู่อย่างสุขสบายบนกองทรัพยากรที่เบียดเบียนมาจากคนหมู่มาก ความขัดแย้งของสังคมก็จะไม่มีวันยุติลง ไม่ว่ารัฐบาลจะโหมโฆษณาป่าวประกาศให้ทุกคน “สมานฉันท์” กันมากเพียงใด

ผู้เขียนขอร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการทำให้เพื่อนร่วมชนชั้นร่วมกัน “ตื่น” ขึ้นจากอคติ ด้วยการแบ่งปันหนังสือและข้อเขียนที่คิดว่า “ตีแผ่” และ “อธิบาย” ความจริงของความจนในประเทศไทยได้ดีที่สุด (โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้เผยแพร่ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ภายใต้ลิขสิทธิ์เสรีแบบ Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported) พร้อมกันนี้ก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านหาซื้อหนังสือนิยายเรื่อง ลิ้นชักที่เลิกใช้ ของ วัน ณ จันทร์ธาร มาอ่าน เพราะเป็นหนังสือที่ “ตีแผ่” มโนทัศน์ ปัญหา และอคติของชนชั้นกลางไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรม ดีเสียจนควรเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “สารคดี” มากกว่า “นิยาย”:

  1. ความจริงของความจน [PDF, 82 หน้า] – โดย คณะทำงานวาระทางสังคม
  2. วัฒนธรรมความจน? [PDF, 54 หน้า] – โดย ศจ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
  3. เหมือนอย่างไม่เคย… มีแต่พวกมัน จากวิทยากร เชียงกูล ถึง วัน ณ จันทร์ธาร [PDF, 6 หน้า] – โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
  4. ลิ้นชักที่เลิกใช้ คำถามถึงอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง– เราสิ้นศรัทธาไปตั้งแต่เมื่อใด – บทวิจารณ์หนังสือ “ลิ้นชักที่เลิกใช้” ของ วัน ณ จันทร์ธาร วิจารณ์โดย มาตารี

เพราะประเทศไทยจะเจริญไม่ได้ ถ้าพวกเราสมาชิกชนชั้นกลางทุกคนมองไม่เห็นความอยุติธรรมในสังคมที่พวกเราเป็นผู้ก่อ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัว เต็มใจ และสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม.


บางตอนจาก “ความจริงของความจน”:

วิธีคิดของทุนนิยมเสรี ทำให้เรามักมองความยากจนจากแง่ของปัจเจกบุคคล คือมีคนจำนวนหนึ่งยากจน นั่นก็คือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่รัฐต่าง ๆ กำหนดขึ้นและอาจนำไปสู่ข้อสรุปว่า ในสังคมไหน ๆ ก็มีคนรวยคนจนเป็นธรรมดา แต่ความยากจนที่ปรากฎโดยทั่วไปทั้งโลกในเวลานี้ ไม่อาจเข้าใจได้จากมุมมองของปัจเจกบุคคล เพราะความยากจนของโลกปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากนโยบายพัฒนา ซึ่งมหาอำนาจใช้องค์กรด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือผลักดัน

ความยากจนในแง่นี้ หมายถึงความไร้สมรรถภาพของผู้คนที่จะเข้าถึงทรัพยากรอันจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะตัวนโยบายพัฒนาได้แย่งเอาทรัพยากรที่เขาใช้อยู่ไปให้คนอื่นใช้ เช่น เอาแหล่งจับปลาไปทำเขื่อนไฟฟ้าหรือทำลายทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อสังเวยนายทุนเลี้ยงกุ้ง หรือนายทุนเรือปลากะตัก เป็นต้น ในที่สุดคนเหล่านี้ก็พึ่งตนเองไม่ได้ และไร้อำนาจทั้งในตลาดและในการเมือง ทั้งนี้ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนระดับล่างเท่านั้น คนชั้นกลางอาจเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่สะสมทรัพยากรใหม่ให้ตนเองได้สำเร็จ คือการศึกษา จึงทำให้ได้รับผลกำไรจากนโยบายพัฒนาในสัดส่วนที่สูง แต่ในปัจจุบัน ประตูสู่การศึกษากำลังมีราคาแพงมากขึ้น และการศึกษาในระดับที่คนชั้นกลางทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ก็มีกำลังมีมูลค่าเพิ่มน้อยลงทุกที ปริญญานอกกลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งหันไปร่วมมือผลิตปริญญาตรีกับต่างประเทศ โดยยอมเป็นเหมือน Junior College ในมหาวิทยาลัยอเมริกัน

ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางการศึกษาของไทยซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งลดน้อยถอยลง ในขณะเดียวกัน การศึกษาในฐานะทรัพยากรของคนชั้นกลางก็กำลังกลายเป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่ได้มากขึ้น นั่นก็คือความยากจนตามความหมายดังที่กล่าวข้างต้น กำลังกลายเป็นสมบัติของชนชั้นกลางจำนวนมากขึ้น แม้ว่ารายได้ที่เป็นตัวเงินอาจไม่ได้ลดลงก็ตาม

กล่าวโดยสรุป ความยากจนที่ปรากฏในสังคมไทยและทั่วโลกเวลานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก และเมื่อวิเคราะห์ความยากจนเชิงโครงสร้างแล้ว ก็พบว่ามีที่มาจากหลายทางด้วยกัน นับตั้งแต่ในทางวัฒนธรรมไทยปัจจุบันซึ่งสอนให้รังเกียจคนจน (เพราะเมื่อมองคนจนในเชิงปัจเจก ก็จะเห็นแต่ความบกพร่องของเขา) และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่พร้อมจะให้สิทธิเสมอภาคแก่คนจน เช่น ไม่ยอมรับอำนาจที่เท่าเทียมกันในทางสติปัญญา ในเชิงเทคโนโลยี ในเชิงการต่อรองในตลาดและในทางการเมือง

นโยบายพัฒนาที่มุ่งแต่จะสร้างความมั่นคั่งให้แก่คนจำนวนน้อย โดยการที่รัฐแย่งชิงเอาทรัพยากรจากคนส่วนใหญ่ไปบำเรอผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความยากจนในเมืองไทย ยิ่งคนจนไร้อำนาจก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาได้เลย ดังเช่นที่มีผู้ยกตัวอย่างจากการศึกษามูลค่าน้ำในเขื่อนที่สร้างอ่างเก็บน้ำบางแห่งว่า น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรจะมีราคาต้นทุนตั้งแต่ ๒๐-๔๐ กว่าบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาไปใช้ในการผลิตอะไรให้กำไร แต่ที่สามารถทำได้ก็เพราะผลักภาระต้นทุนส่วนใหญ่ไปให้ประชาชนโดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยต่างหาก

กระแสบริโภคนิยมที่ครอบงำสังคมอย่างกว้างขวาง ก็มีส่วนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว และทรัพยากรของคนอ่อนแอถูกแย่งเอาไปอย่างชอบธรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้ “ประชาสังคม” ของคนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ฟูมฟายมีส่วนทำร้ายคนจนอยู่ไม่น้อย จนไม่อาจเป็นที่หวังได้ว่าประชาสังคมที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหาความยากจนได้

ความเฉยเมยของสื่อต่อชะตากรรมของคนจนเป็นตัวอย่างอันดีของ “ประชาสังคมเข้มแข็ง” แม้ว่าสื่อจะพัฒนาไปมากไปทุกทาง รวมทั้งการมีหลักประกันของเสรีภาพที่มั่นคงขึ้น แต่สื่อก็ยิ่งละเลยที่จะรายงานความเป็นไปในภาคประชาชนมากขึ้น

ความยากจนมีมูลเหตุมาจากการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่กระทบถึงการจัดการทรัพยากร ในขณะที่คนจนไร้อำนาจที่จะเข้าไปร่วมในการตัดสินใจ ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยากจนเป็นผลผลิตของการเมือง ตราบเท่าที่คนจนยังไร้อำนาจ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดความยากจนไปจากประเทศไทย นโยบายโอนอ่อนต่อแรงกดดันของมหาอำนาจโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตถูกดึงเข้าไปสู่ตลาดมากขึ้น เช่น เงื่อนไขเงินกู้ ADB ที่กำหนดให้เก็บค่าน้ำแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทำให้น้ำเป็นสินค้า ซึ่งอาจมีนายทุนมาลงทุน “พัฒนา” ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำ เพื่อทำกำไรได้ในอนาคต ทั้งนี้ไม่ต่างจากการนำเอาที่ดินเข้าสู่ตลาดเต็มที่ ซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นผลให้ที่ดินหลุดจากมือเกษตรกรไปเป็นอันมาก ทั้งนี้ล้วนเป็นสัญญาณว่า คนจนจะเข้าไม่ถึงแม้แต่ทรัพยากรระดับพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ทางออกของสังคมไทยจากความยากจนนั้น มีหลายประเด็นด้วยกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันหลายฝ่ายคือ ความรู้ ฉะนั้นจึงต้องสร้างความรู้ที่ถูกต้องและเป็นจริงขึ้นถ่วงดุลกับความรู้บิดเบือนเหล่านั้น จะต้องมีการสร้างเครือข่ายของนักวิชาการและชาวบ้าน และสื่อ เพื่อสร้างและขยายความรู้ที่ถูกต้องเหล่านี้แก่สังคมในวงกว้าง.