คำทำนายหลังจันทรคราส โดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ. มติชนรายวัน วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 ก็อปปี้จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยทางการเมืองย่อมมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาลทุกชนิดในโลก แต่ปัจจัยทางการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่สำคัญกว่านั้นคือผลประโยชน์ระยะยาวของสังคม ซึ่งอาจขัดแย้งกับปัจจัยทางการเมืองในบางช่วงขณะ รัฐบาลที่เก่งคือรัฐบาลที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ โดยไม่เสียเป้าหมายหลักคือผลประโยชน์ระยะยาวได้

น่าแปลกที่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถูกตั้งขึ้นภายใต้สภาพรัฐประหารที่ “หยุด” การทำงานของโครงสร้างทางการเมืองลง กลับตัดสินใจทุกอย่างด้วยปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะนอกโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกทำให้ “หยุด” ก็ยังมีโครงสร้างทางการเมืองอีกอันหนึ่งครอบอยู่ อันเป็นการเมืองที่ “ดิบ” กว่ากันมาก กล่าวคือสถาบันส่วนใหญ่ในโครงสร้างนี้ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองพอจะคุมอำนาจและบริหารโดยเปิดเผยได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, กลุ่มธุรกิจใหญ่, นักเคลื่อนไหวในหมู่คนชั้นกลาง, ระบบราชการ, เทคโนแครต และนักวิชาการ, เอนจีโอบางสาย, นักการเมืองที่ถูกปลด หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในโครงสร้าง ก็หาได้ลงตัวแน่นอนไม่ เป็นเรื่องของการต่อรองกดดันกันเอง (ไม่ต่างจากโครงสร้างทุกชนิดในโลก ย่อมมีพลวัติภายในเช่นนี้เป็นธรรมดา) ว่ากันที่จริง ครม.ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้เกือบครบ


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ. มติชนรายวัน วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 ก็อปปี้จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยทางการเมืองย่อมมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาลทุกชนิดในโลก แต่ปัจจัยทางการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่สำคัญกว่านั้นคือผลประโยชน์ระยะยาวของสังคม ซึ่งอาจขัดแย้งกับปัจจัยทางการเมืองในบางช่วงขณะ รัฐบาลที่เก่งคือรัฐบาลที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ โดยไม่เสียเป้าหมายหลักคือผลประโยชน์ระยะยาวได้

น่าแปลกที่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถูกตั้งขึ้นภายใต้สภาพรัฐประหารที่ “หยุด” การทำงานของโครงสร้างทางการเมืองลง กลับตัดสินใจทุกอย่างด้วยปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะนอกโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกทำให้ “หยุด” ก็ยังมีโครงสร้างทางการเมืองอีกอันหนึ่งครอบอยู่ อันเป็นการเมืองที่ “ดิบ” กว่ากันมาก กล่าวคือสถาบันส่วนใหญ่ในโครงสร้างนี้ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองพอจะคุมอำนาจและบริหารโดยเปิดเผยได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, กลุ่มธุรกิจใหญ่, นักเคลื่อนไหวในหมู่คนชั้นกลาง, ระบบราชการ, เทคโนแครต และนักวิชาการ, เอนจีโอบางสาย, นักการเมืองที่ถูกปลด หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในโครงสร้าง ก็หาได้ลงตัวแน่นอนไม่ เป็นเรื่องของการต่อรองกดดันกันเอง (ไม่ต่างจากโครงสร้างทุกชนิดในโลก ย่อมมีพลวัติภายในเช่นนี้เป็นธรรมดา) ว่ากันที่จริง ครม.ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้เกือบครบ

ครม.เองกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีลับๆ สำหรับการต่อรองกดดันของสถาบันต่างๆ ไปด้วย การลาออกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เอง ก็สะท้อนความตึงเครียดบนเวทีลับนี้อยู่ส่วนหนึ่ง และด้วยเหตุนั้น รัฐบาลนี้จึงไม่เคยสามารถมีนโยบายอะไรที่แน่นอนได้สักเรื่อง มาตรการทางการเงินต้องผ่อนคลายในเวลาอันรวดเร็ว ไอทีวีเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด ทั้งนี้ยังไม่รวมนโยบายที่ คมช.ประกาศออกมา (เหมือนเป็นรัฐบาลแฝด) ก็หาอะไรที่แน่นอนไม่ได้สักอย่าง คณะปกครองของไทยเวลานี้ ไม่มีจุดยืน มีแต่จุดกระโดด และเบื้องหลังการกระโดดไปกระโดดมานี้ ก็คือการต่อรองกดดันของสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองนั่นเอง

เจตนาทางการเมืองอันเด็ดเดี่ยวไม่มี เพราะมีไม่ได้

โดยปราศจากทิศทางที่แน่นอน ชัดเจน เช่นนี้ เป็นธรรมดาย่อมไม่มีพลังจะผลักดันอะไรได้สักอย่างเดียว ข้าราชการที่อยู่ภายใต้รัฐบาลนี้ ย่อมอยู่ใน “เกียร์ว่าง” เป็นธรรมดาเหมือนกัน จะให้เข้าเกียร์ไปสู่อะไร ไม่มีใครสักคนบอกทิศทางแก่ข้าราชการ ขืนสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าเกียร์ เจ้านายก็อาจกระโดดหนีจากทิศทางนั้นไปเสียแล้ว เหลือแต่ตัวข้าราชการเดียวดายอยู่คนเดียว

ในขณะที่ไม่มีจุดยืนมีแต่จุดกระโดดดังกล่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมองอะไรให้ยาวไปกว่าเรื่องเฉพาะหน้า เช่นการลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปลายสมัยทักษิณ รัฐบาลคิดได้แต่การส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อมฝรั่งและญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุน อันเป็นมุมมองต่อโลกธุรกิจสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยที่วิสาหกิจยังเป็นของเอกชน และหาช่องทางการลงทุนตามคำเชื้อเชิญของญาติมิตร แท้จริงแล้วอุปสรรคการลงทุนของไทยนั้นมีหลายประการ เช่นที่เรียกว่า Red Tape ของระบบ, ความไม่โปร่งใสของตลาดหุ้น, การโทรคมนาคมที่ไม่ทันสมัย, ขาดกำลังแรงงานที่ขาดสมรรถภาพบางด้าน ฯลฯ แต่รัฐบาลนี้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เป็นพื้นฐานเหล่านั้นได้เลย

อันที่จริงนับตั้งแต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนบัดนี้ ท่านยังไม่เคยบอกเลยว่าท่านคิดจะทำอะไร นอกจากซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม ภารกิจของรัฐบาลกลายเป็นสิ่งที่คนอื่นสร้างให้ อันได้แก่เหตุผลสี่ประการที่คณะทหารใช้อ้างเพื่อยึดอำนาจบ้านเมือง แต่นั่นเป็นภารกิจของ คปค.หรือ คมช.ในปัจจุบันต่างหาก อีกทั้ง คปค.เองก็ได้ตั้งกลไกสำหรับทำภารกิจดังกล่าวไปแล้วไม่น้อย เช่น คตส., ป.ป.ช., และองค์กรตรวจสอบอื่นๆ รัฐบาลมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ทำภารกิจนั้นแทน

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่าปาฐกถาครั้งสุดท้ายของพลเอกสุรยุทธ์ที่แสดงในวันนักข่าว (ห้าเดือนหลังจากเป็นนายกฯ) ชี้ให้เห็นว่าท่านมีความเข้าใจปัญหาบางด้านของสังคมไทยได้ดี ท่านกล่าวว่าความแตกต่างทางรายได้ที่ถ่างกว้างขึ้นตลอดมาของคนรวยและคนจนในเมืองไทยนั่นแหละ คือตัวปัญหาที่แท้จริง ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ปัญหานี้บรรเทาลง รัฐบาลใดๆ ก็ตามย่อมประสบปัญหานานัปการทั้งสิ้น และการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นภารกิจของรัฐบาลของท่าน ทั้งในวันที่รับตำแหน่งหรือหลังจากวันที่ท่านได้ปาฐกถาไปแล้ว ว่ากันไปที่จริงแล้ว น่าสงสัยด้วยว่า นอกจากท่านนายกฯ แล้ว จะมี ครม.คนอื่นเข้าถึงและเข้าใจปัญหานี้อย่างเดียวกับท่านหรือไม่ ฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็คงอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีภารกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักเรื่อง

หากในสถานการณ์อื่น รัฐบาลเช่นนี้คงมีอายุสั้นที่สุดรัฐบาลหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ที่สถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองที่กล่าวแล้ว ล้วนมีศัตรูทางการเมืองร่วมกันคือที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร) จึงเป็นการยากที่จะคาดได้ว่า รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์จะมีอายุยืนยาวไปถึงส่งมอบหน้าที่ให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่

ยากที่จะคาดเดาได้พอๆ กับที่จะคาดเดาว่า ลำดับต่อไปของการเมืองไทยคืออะไร ว่าเฉพาะสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างการเมืองที่กล่าวแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า การต่อรองกดดันจะทำกันบนเวทีลับเช่นนี้สืบไป ยกเว้นแต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคำนวณผิด คิดว่าจะดึงเอาคนนอกเข้ามาร่วมในการต่อรองกดดัน เพื่อความได้เปรียบของตัว เมื่อนั้นก็ไม่แน่ว่า ฝ่ายอื่นจะยอมจำนนแต่โดยดี อาจต้องใช้กำลังภายในของแต่ละฝ่ายกันมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง และไม่มีใครคุมได้อีกต่อไป โครงสร้างการเมืองแบบนี้ก็พัง

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองดังกล่าวประเมินไว้ต่ำ นั่นคือภาคประชาสังคม ทั้งในระดับคนชั้นกลางและประชาชนระดับล่าง. ภาคประชาสังคมไทยมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองมาร่วมสองทศวรรษแล้ว จึงไม่มีปัญหาด้านประสบการณ์และทักษะในการจัดองค์กรอย่างแน่นอน ปัญหามาอยู่ที่ปริมาณหรือจำนวนว่าจะมีพลังเพียงพอหรือไม่ และถูกสยบให้ยอมจำนนโดยองค์กรภายนอกได้หรือไม่ ตรงนี้แหละที่ทำให้การประเมินพลังของภาคประชาสังคมอาจถูกหรือผิดได้เท่าๆ กัน

ควรกล่าวด้วยว่าภาคประชาสังคมที่ประเมินพลังได้ยาก คือภาคประชาสังคมที่ไม่ถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน จึงไม่มีโอกาสต่อรองกดดันบนเวทีลับเลย

หากรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะที่ “รับไม่ได้” สำหรับภาคประชาสังคม หรือกระบวนการลงประชามติไม่โปร่งใส ค่อนข้างแน่นอนว่า รัฐบาลใหม่ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจหาความชอบธรรมจากคนกลุ่มนี้ได้ ฉะนั้นรัฐบาลใหม่จึงเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอทางการเมืองค่อนข้างมาก (สมเจตนารมณ์ของหลายสถาบันในโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน)

แต่ยังมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างโครงสร้างการเมืองนี้โดยตรง โดยเฉพาะในยามที่สถาบันต่างๆ ในโครงสร้างเกิดความแตกแยกกันหนักๆ จนบางสถาบันอาจหันมาร่วมมือกับภาคประชาสังคม เมื่อนั้นก็จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันโดยตรง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

โอกาสของความรุนแรงจึงเกิดได้สองทาง

– หนึ่ง, หากดุลแห่งอำนาจของสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองเสียไป ก็อาจเกิดความรุนแรงได้
– สอง, หากภาคประชาสังคมมีพลังมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจเกิดความรุนแรงได้

แม้ไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงในทางการเมืองมาก ในระดับที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทยมาก่อน