พระไพศาล วิสาโล กรุณาเขียนคำนำให้กับ “กลอนสดกรุงแดงเดือด” – หนังสือรวมเล่มกลอนสดที่เจ้าของบล็อกนี้แต่งโต้ตอบกับคุณสุรวิชช์ วีรวรรณ (อ่านออนไลน์และดาวน์โหลด PDF ได้จากหน้านี้ค่ะ ไม่แน่ใจว่าฉบับหนังสือจะใช้ชื่อนี้หรือเปล่า เลยห้อยวงเล็บ “working title” ท้ายชื่อไปก่อน) ผู้เขียนขอนำมาเผยแพร่ในบล็อกนี้ก่อนหนังสือเสร็จ เพราะคำนำของพระไพศาลหลายตอนเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและน่าจะช่วยเตือนสติทุกคนได้เป็นอย่างดีค่ะ
ตอนนี้หนังสืออยู่ระหว่างการใส่ภาพประกอบ เชิงอรรถ และลำดับเหตุการณ์ต่างๆ น่าจะเรียบร้อยภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ 🙂
คำนำ “กลอนสดกรุงแดงเดือด” (working title)
การชุมนุมกลางกรุงของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งกินเวลานานกว่า ๒ เดือนนั้น ได้ก่อผลสะเทือนอย่างมากในสังคมไทย นอกจากจะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนเรือนหมื่นกับรัฐบาลจนนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสียอย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิดการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงจนกลายเป็นความแตกแยกในแทบทุกวงการ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยมากเท่าครั้งนี้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าในอดีตนั้นคู่กรณีสามารถแยกเป็น “ขาว” และ “ดำ” ได้อย่างชัดเจน ผู้คนจึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรสนับสนุนฝ่ายใดและต่อต้านฝ่ายใดไม่ว่ากรณี ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา ๓๕ แต่กรณีคนเสื้อแดงกับรัฐบาล(และผู้ค้ำจุนของทั้งสองฝ่าย) หาเป็นเช่นนั้นไม่ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย)มองเห็นชัดว่า ใครเป็น “ขาว” ใครเป็น “ดำ” คนอีกกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน) กลับเห็นตรงกันข้าม
การมองเห็นอย่างตรงข้ามเป็นคนละขั้วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในความเป็นจริงคู่ขัดแย้งนั้นต่างเป็น “เทา” ทั้งคู่ หรือมีทั้ง “ขาว” และ “ดำ” ปะปนกันในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายเห็นแต่สีขาวของฝ่ายตน และเห็นแต่สีดำของฝ่ายตรงข้าม ทั้งสองฝ่ายจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างนำเอาข้อผิดพลาดของอีกฝ่ายมาโจมตี และแปลกใจระคนขุ่นเคืองใจที่เหตุใดผู้คนยังไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ในเมื่อพวกนั้นเป็น “มาร” มิใช่ “เทพ” (แม้ว่าในคติพุทธ มารก็คือเทพจำพวกหนึ่งนั่นเอง)
มุมมองเช่นนี้ทำให้ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้ผู้คนเลือกข้าง และต้องเลือกข้างเดียวกับตนเท่านั้น เพราะ “ถ้าไม่เป็นพวกเดียวกับฉัน ก็แสดงว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามฉัน” แต่ละฝ่ายไม่เพียงผลักคนที่มองต่างจากตนให้เป็นศัตรูเท่านั้น หากยังมีการตีตราปิดฉลากเพื่อให้อีกฝ่ายเป็นตัวเลวร้ายมากขึ้น ผลก็คือใครที่สนับสนุนเสื้อแดงคือพวกทักษิณ ขบวนการล้มเจ้า ฯลฯ ส่วนใครที่สนับสนุนรัฐบาลคือพวกอำมาตย์ สองมาตรฐาน ฯลฯ นอกจากมองคนละมุมแล้ว ต่างฝ่ายยังอ้างหลักการคนละชุด ใช้วาทกรรมคนละแบบ ฝ่ายหนึ่งอ้างความถูกต้อง อีกฝ่ายชูธงความเป็นธรรม จึงสื่อสารให้เข้าใจกันไม่ได้เลย
พระไพศาล วิสาโล กรุณาเขียนคำนำให้กับ “กลอนสดกรุงแดงเดือด” – หนังสือรวมเล่มกลอนสดที่เจ้าของบล็อกนี้แต่งโต้ตอบกับคุณสุรวิชช์ วีรวรรณ (อ่านออนไลน์และดาวน์โหลด PDF ได้จากหน้านี้ค่ะ ไม่แน่ใจว่าฉบับหนังสือจะใช้ชื่อนี้หรือเปล่า เลยห้อยวงเล็บ “working title” ท้ายชื่อไปก่อน) ผู้เขียนขอนำมาเผยแพร่ในบล็อกนี้ก่อนหนังสือเสร็จ เพราะคำนำของพระไพศาลหลายตอนเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและน่าจะช่วยเตือนสติทุกคนได้เป็นอย่างดีค่ะ
ตอนนี้หนังสืออยู่ระหว่างการใส่ภาพประกอบ เชิงอรรถ และลำดับเหตุการณ์ต่างๆ น่าจะเรียบร้อยภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ 🙂
คำนำ “กลอนสดกรุงแดงเดือด” (working title)
การชุมนุมกลางกรุงของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งกินเวลานานกว่า ๒ เดือนนั้น ได้ก่อผลสะเทือนอย่างมากในสังคมไทย นอกจากจะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนเรือนหมื่นกับรัฐบาลจนนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสียอย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิดการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงจนกลายเป็นความแตกแยกในแทบทุกวงการ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยมากเท่าครั้งนี้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าในอดีตนั้นคู่กรณีสามารถแยกเป็น “ขาว” และ “ดำ” ได้อย่างชัดเจน ผู้คนจึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรสนับสนุนฝ่ายใดและต่อต้านฝ่ายใดไม่ว่ากรณี ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา ๓๕ แต่กรณีคนเสื้อแดงกับรัฐบาล(และผู้ค้ำจุนของทั้งสองฝ่าย) หาเป็นเช่นนั้นไม่ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย)มองเห็นชัดว่า ใครเป็น “ขาว” ใครเป็น “ดำ” คนอีกกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน) กลับเห็นตรงกันข้าม
การมองเห็นอย่างตรงข้ามเป็นคนละขั้วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในความเป็นจริงคู่ขัดแย้งนั้นต่างเป็น “เทา” ทั้งคู่ หรือมีทั้ง “ขาว” และ “ดำ” ปะปนกันในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายเห็นแต่สีขาวของฝ่ายตน และเห็นแต่สีดำของฝ่ายตรงข้าม ทั้งสองฝ่ายจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างนำเอาข้อผิดพลาดของอีกฝ่ายมาโจมตี และแปลกใจระคนขุ่นเคืองใจที่เหตุใดผู้คนยังไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ในเมื่อพวกนั้นเป็น “มาร” มิใช่ “เทพ” (แม้ว่าในคติพุทธ มารก็คือเทพจำพวกหนึ่งนั่นเอง)
มุมมองเช่นนี้ทำให้ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้ผู้คนเลือกข้าง และต้องเลือกข้างเดียวกับตนเท่านั้น เพราะ “ถ้าไม่เป็นพวกเดียวกับฉัน ก็แสดงว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามฉัน” แต่ละฝ่ายไม่เพียงผลักคนที่มองต่างจากตนให้เป็นศัตรูเท่านั้น หากยังมีการตีตราปิดฉลากเพื่อให้อีกฝ่ายเป็นตัวเลวร้ายมากขึ้น ผลก็คือใครที่สนับสนุนเสื้อแดงคือพวกทักษิณ ขบวนการล้มเจ้า ฯลฯ ส่วนใครที่สนับสนุนรัฐบาลคือพวกอำมาตย์ สองมาตรฐาน ฯลฯ นอกจากมองคนละมุมแล้ว ต่างฝ่ายยังอ้างหลักการคนละชุด ใช้วาทกรรมคนละแบบ ฝ่ายหนึ่งอ้างความถูกต้อง อีกฝ่ายชูธงความเป็นธรรม จึงสื่อสารให้เข้าใจกันไม่ได้เลย
การมองความขัดแย้งชนิดที่เป็น “ขาว” และ “ดำ” เกิดขึ้นได้ยากหากเรามองแบบแยกแยะไม่เหมารวม หรือไม่เลือกมองเฉพาะจุดที่ตรงกับอคติของตน จะว่าไปแล้วความจริงมักมีอย่างน้อยสองด้านเสมอ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ใจกลางของความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล ในด้านหนึ่งเขาคือผู้ที่สร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองด้วยการใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาคือผู้รับเคราะห์จากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม (เช่น ถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร) รวมทั้งเป็นเหยื่อของสังคมสองมาตรฐาน (อย่างน้อยก็ในสายตาของคนเสื้อแดง) เห็นได้ชัดว่าในความขัดแย้งดังกล่าว แต่ละฝ่ายเลือกมอง พ.ต.ท.ทักษิณเพียงแง่ใดแง่หนึ่งเท่านั้น รวมทั้งนำความจริงแง่นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน โดยปฏิเสธที่จะมองความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่เป็นคุณแก่พวกตน
เป็นการมองง่ายเกินไปหากจะสรุปว่าทั้งหมดที่พูดมาคือรากเหง้าของความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล เหตุปัจจัยนั้นมีมากกว่านี้และสลับซับซ้อนไม่น้อย เพราะโยงไปถึงการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองภายใต้โครงสร้างที่สะสมปัญหามาไว้ยาวนาน ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลจะไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกหากผู้คนไม่ถูกครอบงำด้วยทัศนะการมองโลกเป็นขาวและดำและเลือกมองเฉพาะจุดโดยขยายให้กลายเป็นภาพรวมทั้งหมด
อย่างไรก็ตามความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในยุคปัจจุบันก็คือ ทัศนะการมองโลกที่แตกต่างกันจนกลายเป็นคนละขั้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์อย่างไร จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ประเด็นสำคัญก็คือ ความแตกต่างทางความคิด มิใช่เป็นปัญหาในตัวมันเอง มันสามารถขยายมุมมองของเราให้กว้างขึ้นได้ ขอเพียงแต่เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง แม้จะมองคนละขั้ว พูดคนละมุม แต่วิวาทะที่เกิดขึ้นนั้น สามารถจะเพิ่มพูนปัญญาได้ ไม่จำต้องลงเอยด้วยการวิวาทเสมอไป
หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนบันทึกวิวาทะจากสองมุมมองต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่เป็นวิวาทะที่ไม่เหมือนกรณีอื่น ๆ เพราะเป็นการโต้ตอบในรูป “กลอนสด” สฤณี อาชวานันทกุลนั้นมีความเห็นใจคนเสื้อแดง และอยากเห็นนายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภาตามข้อเรียกร้องของแกนนำนปช. ขณะที่สุรวิชช์ วีรวรรณ เห็นว่าขบวนการคนเสื้อแดงนั้นเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง รัฐบาลจึงไม่ควรอ่อนข้อให้
ตลอดสองสัปดาห์ของการโต้ตอบกันทางเว็บไซต์วันละหลายครั้ง ดูเหมือนว่าทั้งสองคนยืนอยู่คนละจุด มองคนละมุม ต่างตอบโต้และกล่าวแก้ ไม่ต่างจากการโต้วาที แต่เมื่อตามอ่านไปเรื่อย ๆ จะพบว่า ทั้งสองคนมีความคิดเห็นหลายอย่างที่คล้ายกันหรือเขยิบเข้ามาใกล้กันซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการได้รับรู้ความเห็นของอีกฝ่าย การเปิดใจรับฟังกันดังกล่าวเป็นสิ่งหาไม่ได้จากการโต้วาที เพราะต่างฝ่ายคิดแต่จะเอาชนะกันยิ่งกว่าอะไรอื่น
กลอนสดซึ่งเริ่มต้นจากวิวาทะต่างมุมมอง จนบางครั้งกลายเป็นเสมือนเส้นขนาน แต่แล้วก็โน้มมาบรรจบกันเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับแผนปรองดองของนายกฯ อภิสิทธิ์ กลอนสดดังกล่าวจึงจบลงด้วย “ความปรองดอง” ของทั้งสองฝ่าย แต่น่าเศร้าที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงหาได้จบลงอย่างราบรื่นเช่นนั้นไม่ กลับลงเอยด้วยความเจ็บปวดและแตกแยกของคนในชาติอย่างยากที่จะประสาน
การโต้ตอบกันด้วยกลอนนั้นเป็นศิลปะที่มีมาช้านานแล้วในสังคมไทย จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การละเล่น” โดยเฉพาะในประเพณีพื้นบ้านของเรา ดังนั้นจึงมักมีลักษณะทีเล่นทีจริง เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และการหยอกเย้ากระเซ้าแหย่ แต่กลอนสดในหนังสือเล่มนี้หาใช่เช่นนั้นไม่ กล่าวคือเป็นการโต้ตอบและแสดงความเห็นอย่างขึงขังจริงจัง จนผู้อ่านคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกขึ้งเครียด ไม่ต่างจากเวลาฟังการถกเถียงโต้แย้งทางการเมืองไม่ว่าในร้านกาแฟหรือในสภา แต่สิ่งหนึ่งที่หาได้ยากจากบรรยากาศดังกล่าวก็คือ ลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้ทั้งสฤณีและสุรวิชช์จะเห็นต่างกันมากจนเรียกได้ว่าอยู่คนละฝ่าย แต่ก็ไม่ได้กล่าวร้ายหรือป้ายสีให้แก่กันและกัน ต่างเคารพความเห็นของอีกฝ่าย น่าเสียดายที่ท่าทีอย่างนี้มีให้เห็นน้อยมากในสังคมไทยปัจจุบัน ในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผู้คนมีความเห็นแตกต่างกันไปคนละทาง ความขัดแย้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว การโต้เถียงหรือวิวาทะกันจึงเป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ก็คือวิวาทะอย่างอารยชน นี้เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนคำนำไม่มีทั้งความรู้และทักษะด้านกาพย์กลอน แต่ตระหนักดีว่าการนำเสนอความคิดความอ่านที่ลึกซึ้งจริงจังผ่านกาพย์กลอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันทลักษณ์หรือเงื่อนไขของกาพย์กลอนมักเป็นข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหา แม้จะคิดชัดเพียงใดแต่หากไม่จัดเจนทางฉันทลักษณ์หรือเป็นนายของภาษาก็ยากจะนำเสนอได้อย่างสุดความคิดได้ อย่างไรก็ตามในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนทั้งสองได้ใช้ฉันทลักษณ์ให้เป็นประโยชน์ในการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างมีอรรถรส รสชาติและความเพลิดเพลินจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ ส่วนจะมีข้อสรุปอย่างไรเกี่ยวกับคนเสื้อแดงและรัฐบาล ขอให้เป็นวิจารณญาณของผู้อ่านเอง
พระไพศาล วิสาโล
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓