หนังสือออกสักพักแล้ว แต่เพิ่งนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้เอาคำนิยมมาแปะในนี้ วันนี้เลยเอามาแปะค่ะ เพราะชอบทั้งคนเขียนและคนแปลมาก 🙂 ป.ล. หนังสือใหม่สองเล่มของตัวเองที่ออกในงานหนังสือ เม.ย. 2555 คือ วิชา 50 เล่มเกวียน เล่มสอง และ รอยเลื่อนเขย่าเศรษฐกิจโลก หาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ร้านคิโนะคูนิยะ ซีเอ็ด และร้านหนังสือทั่วไป (คลิกที่ปกเพื่อสั่งซื้อ) คำนิยม เอ่ยถึงเศรษฐศาสตร์ หลายคนคงนึกถึงตัวเลขน่าเวียนหัวอันยากแก่การทำความเข้าใจว่าเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีตลาดหุ้น ดุลการค้า จนถึงการถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดว่า เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีน่าจะโตสามจุดแปดเปอร์เซ็นต์ หรือสามจุดหกเปอร์เซ็นต์กันแน่ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่หมกมุ่นกับจุดทศนิยมมีส่วนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด คิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ การใช้เหตุผลแบบตามกฎตายตัว หรือการคิดคำนวณแข็งกระด้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง วิชาเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันมีพลังในการอธิบายแรงจูงใจของมนุษย์ รวมถึงพฤติกรรมที่เรามองว่า “ไร้เหตุผล” ได้ดีไม่แพ้เรื่องไกลตัว และ ไทเลอร์ โคเวน ก็เป็นคนที่อธิบายเรื่องนี้ได้เก่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สวมวิญญาณนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผลงานชิ้นเอกของโคเวนที่ผู้เขียนคิดว่า “ต้องอ่าน” สำหรับทุกคนที่สนใจเศรษฐศาสตร์ อยากรู้เรื่องแรงจูงใจของมนุษย์ หรือเพียงแต่อยากอ่านคำอธิบายสนุกๆ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ธรรมดาสามัญ เช่น คำอธิบายว่าเหตุใดความสำเร็จจึงต้องอาศัยการ “หลอกตัวเองด้วยการมองโลกในแง่ดี” และเหตุใดเราจึงมักจะไม่รู้สึกเพลิดเพลินเวลาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ประสบการณ์ของโคเวนที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มาเยือนจำนวนมากที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง มาร์จินัล เรโวลูชัน ซึ่ง วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ขนานนามว่า “บล็อกเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก” ทำให้เขาสามารถเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแรงจูงใจด้วยภาษาธรรมดา ไร้ซึ่งศัพท์แสงสวยหรูใดๆ เมื่อได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดยคุณอรนุช อนุศักดิ์เสถียร นักแปลมือฉมังผู้พิถีพิถันที่สุดคนหนึ่งในวงการ ก็รับประกันได้ว่า สวมวิญญาณนักเศรษฐศาสตร์ จะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ก่อนที่จะโอ้อวดโมเดลคณิตศาสตร์สวยหรูและคุยโวว่าเป็นวิทยาศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญาศีลธรรม เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับมนุษยศาสตร์สาขาอื่น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมองมนุษย์อย่างที่มนุษย์เป็น คือในฐานะปุถุชนที่ทำอะไรๆ ด้วยแรงจูงใจ ซึ่งก็มักจะเป็นส่วนผสมของเหตุผล อารมณ์ความรู้สึก และอารมณ์ทางศีลธรรม ไม่ใช่ในฐานะ “สัตว์เศรษฐกิจ” ที่ถูกขับดันด้วยความเห็นแก่ตัวและแรงจูงใจแคบๆ ทางการเงินเพียงมิติเดียว เชื่อว่าเมื่อทุกท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วคงเห็นตรงกับผู้เขียนว่า ไทเลอร์ โคเวน หัวหอกนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรง กำลังใส่หัวใจที่หล่นหายคืนให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์ และชี้วิธีที่เราสามารถ “ปลุก” นักเศรษฐศาสตร์ที่หลับใหลอยู่ในตัวเราแต่ละคนขึ้นมา – ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์สัตว์เศรษฐกิจ หากแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มีหัวใจ ผู้มองเห็นความสำคัญของสามัญสำนึก และพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอว่าจะสร้างสรรค์หรือปรับแต่งแรงจูงใจของเราให้เอื้อต่อชีวิตที่อยู่ดีมีสุขได้อย่างไร สฤณี อาชวานันทกุล เมษายน 2555