คำสารภาพของคอลัมนิสต์มือใหม่

ประมาณปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บล็อกเกอร์ขวัญใจ และอาจารย์จอมขยัน คุณปิ่น ปรเมศวร์โทรมาชวนเขียนคอลัมน์ลงใน OPEN Online

ตอบตกลงโดยไม่ต้องคิด อารามตื่นเต้นและดีใจ (มาก) จนวันนั้นไม่เป็นอันทำงาน

พอมีเวลาคิดจริงๆ จังๆ อีกที ความดีใจนั้นก็หายไป เปลี่ยนเป็นความกลัวเข้ามาแทนที่

กลัวว่าจะทำให้คุณปิ่น และแฟนๆ OPEN ทุกคนต้องผิดหวัง เพราะเกิดมายังไม่เคยเขียนบทความภาษาไทยเลย แล้วคิดว่าตัวเองยังเขียนภาษาไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่มั่นใจเท่ากับตอนเขียนภาษาอังกฤษ (ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าเวลาที่เขียนอะไรๆ เป็นภาษาไทยมาก)

อาจฟังเหมือนนักเรียนนอกกระแดะๆ คนหนึ่ง ที่ไม่น่าให้อภัย ภาษาพ่อแม่เราเองจะเขียนห่วยกว่าภาษาชาวบ้านได้ยังไง (วะ)? แต่นั่นคือความจริง เพราะบินไปเรียนเมืองนอกช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเขียนเยอะมากๆ ในห้องเรียนและตอนทำการบ้าน แถมไปเอกเศรษฐศาสตร์ ทีนี้เลยได้ฝึกเขียนภาษาอังกฤษทุกวัน ความรู้ภาษาไทยโดยเฉพาะศัพท์วิชาการ จึงเลือนรางลงไปเรื่อยๆ

ก่อนที่จะมีเวลาเปลี่ยนใจ คุณปิ่นก็ไปเขียนโฆษณาให้เรียบร้อยใน บล็อกคุณปิ่น ที่แจกแจงรายชื่อทั้งคนเขียน และชื่อคอลัมน์เสร็จสรรพ แถมบอกชื่อจริงเราอีกต่างหาก (!)

พอเห็นชื่อตัวเองอยู่เคียงข้างนักเขียนในดวงใจหลายท่าน อย่างคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ แทนไท ประเสริฐกุล วันชัย ตัน โตมร ศุขปรีชา ปกป้อง จันวิทย์ และคุณภิญโญ บก. OPEN มาเอง หัวใจก็หยุดเต้นไปหลายวินาที

เกิดมาไม่เคยรู้สึกตื่นเต้น กลัว และประหม่าเท่านี้มาก่อน

ประโยคนี้ไม่ได้พูดออกมาง่ายๆ เพราะเพื่อนทุกคนที่รู้จักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคนไม่กลัวใคร บ้าบิ่นเข้าขั้นบ้า สามารถพลิกเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งรถ ต่อราคาของ หรือเดินไปกดตังค์ที่ตู้ ATM ให้กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หรือประสบการณ์เหนือจริงได้ทุกเวลา

แต่ในความรู้สึกต่างๆ ตอนเห็นชื่อตัวเองที่บล็อกคุณปิ่น ก็เจือความดีใจ และต่อมาก็อิ่มใจที่รู้สึกถึงความดีใจนั้น

เพราะมันทำให้มั่นใจขึ้นไปอีกว่า เราชอบเขียนหนังสือจริงๆ และวันหนึ่งข้างหน้า (ไม่รู้เมื่อไหร่) คงไม่มีอะไรทำให้สุขใจมากกว่าการได้เขียนหนังสือเป็นอาชีพ

………

สำหรับตัวเอง ความสุขตอนเขียนหนังสือ กับความสุขตอนทำงานประจำ คือวาณิชธนกิจ (investment banking หรือที่ย่อว่า IB) ต่างกันลิบลับ


ประมาณปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บล็อกเกอร์ขวัญใจ และอาจารย์จอมขยัน คุณปิ่น ปรเมศวร์โทรมาชวนเขียนคอลัมน์ลงใน OPEN Online

ตอบตกลงโดยไม่ต้องคิด อารามตื่นเต้นและดีใจ (มาก) จนวันนั้นไม่เป็นอันทำงาน

พอมีเวลาคิดจริงๆ จังๆ อีกที ความดีใจนั้นก็หายไป เปลี่ยนเป็นความกลัวเข้ามาแทนที่

กลัวว่าจะทำให้คุณปิ่น และแฟนๆ OPEN ทุกคนต้องผิดหวัง เพราะเกิดมายังไม่เคยเขียนบทความภาษาไทยเลย แล้วคิดว่าตัวเองยังเขียนภาษาไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่มั่นใจเท่ากับตอนเขียนภาษาอังกฤษ (ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าเวลาที่เขียนอะไรๆ เป็นภาษาไทยมาก)

อาจฟังเหมือนนักเรียนนอกกระแดะๆ คนหนึ่ง ที่ไม่น่าให้อภัย ภาษาพ่อแม่เราเองจะเขียนห่วยกว่าภาษาชาวบ้านได้ยังไง (วะ)? แต่นั่นคือความจริง เพราะบินไปเรียนเมืองนอกช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเขียนเยอะมากๆ ในห้องเรียนและตอนทำการบ้าน แถมไปเอกเศรษฐศาสตร์ ทีนี้เลยได้ฝึกเขียนภาษาอังกฤษทุกวัน ความรู้ภาษาไทยโดยเฉพาะศัพท์วิชาการ จึงเลือนรางลงไปเรื่อยๆ

ก่อนที่จะมีเวลาเปลี่ยนใจ คุณปิ่นก็ไปเขียนโฆษณาให้เรียบร้อยใน บล็อกคุณปิ่น ที่แจกแจงรายชื่อทั้งคนเขียน และชื่อคอลัมน์เสร็จสรรพ แถมบอกชื่อจริงเราอีกต่างหาก (!)

พอเห็นชื่อตัวเองอยู่เคียงข้างนักเขียนในดวงใจหลายท่าน อย่างคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ แทนไท ประเสริฐกุล วันชัย ตัน โตมร ศุขปรีชา ปกป้อง จันวิทย์ และคุณภิญโญ บก. OPEN มาเอง หัวใจก็หยุดเต้นไปหลายวินาที

เกิดมาไม่เคยรู้สึกตื่นเต้น กลัว และประหม่าเท่านี้มาก่อน

ประโยคนี้ไม่ได้พูดออกมาง่ายๆ เพราะเพื่อนทุกคนที่รู้จักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคนไม่กลัวใคร บ้าบิ่นเข้าขั้นบ้า สามารถพลิกเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งรถ ต่อราคาของ หรือเดินไปกดตังค์ที่ตู้ ATM ให้กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หรือประสบการณ์เหนือจริงได้ทุกเวลา

แต่ในความรู้สึกต่างๆ ตอนเห็นชื่อตัวเองที่บล็อกคุณปิ่น ก็เจือความดีใจ และต่อมาก็อิ่มใจที่รู้สึกถึงความดีใจนั้น

เพราะมันทำให้มั่นใจขึ้นไปอีกว่า เราชอบเขียนหนังสือจริงๆ และวันหนึ่งข้างหน้า (ไม่รู้เมื่อไหร่) คงไม่มีอะไรทำให้สุขใจมากกว่าการได้เขียนหนังสือเป็นอาชีพ

………

สำหรับตัวเอง ความสุขตอนเขียนหนังสือ กับความสุขตอนทำงานประจำ คือวาณิชธนกิจ (investment banking หรือที่ย่อว่า IB) ต่างกันลิบลับ

“ความสุข” ตอนทำงาน IB สำเร็จ เป็นความสุขแบบที่สมกับลักษณะฉาบฉวย เร่งรีบ และวัตถุนิยมของงาน

คือมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นความ “สะใจ” แบบที่ฝรั่งเรียกว่า “adrenaline rush” มากกว่า เหมือนความรู้สึกตอนกระโดดบันจี้จัมป์ หรือเล่นรถไฟเหาะตีลังกา

เป็นความสุขแบบประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นานก็หาย เหลือไว้แต่ความภูมิใจลึกๆ ว่า เออ เราก็ทำได้แฮะ

ไม่เหลืออะไรไว้ให้ดูต่างหน้า ยกเว้นเอกสารสัญญาหนาเป็นปึก ใบหุ้น บรรทัดใหม่ในประวัติการทำงานที่แสดงถึงประสบการณ์ที่มากขึ้น และตัวเลขบนกระดานหุ้นที่วิ่งขึ้นวิ่งลง สลับไปมาระหว่างแดงกับเขียว

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในเสี้ยวนาที อาจทำให้เศรษฐีหนึ่งคนรวยขึ้นมาอีกร้อยล้าน – จำนวนเงินซึ่งคนจนหลายล้านคนทั้งประเทศต้องทำงานอีกเจ็ดชั่วโคตรกว่าจะหามาได้

ทุนนิยมไม่เคยปรานีผู้ไร้ทุน

แต่ความสุขตอนเขียนหนังสือ เป็นความสุขลึกๆ เป็นความรู้สึก “อิ่มใจ” เหมือนตอนที่ทำอะไรให้คนอื่น แล้วเขาไม่รู้ว่าเราทำให้ หรือตอนที่ได้สังเกตความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นเมฆเรียงตัวกันเป็นรูปนกเป็ดน้ำ หรือวันนี้ได้ค้นพบเพลงเพราะๆ เพลงใหม่จากวิทยุ

นักเขียนอาชีพหลายคนบอกว่า หนอนหนังสือคนไหนที่ชอบอ่านหนังสือมากๆ วันหนึ่งจะอยากเขียนหนังสือ เพราะอยาก “ระบาย” สิ่งที่ตัวเองซึมซับเข้าไปในสมอง ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ก่อนที่มันจะล้นออกมา

อันนี้เห็นจะจริง

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่มีคุณค่า ถ้าไม่ได้แบ่งปันให้ผู้อื่น

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ไปเจรจากับลูกค้า ชนะดีลให้บริษัทได้สำเร็จ มีแนวโน้มทำรายได้เข้าบัญชีบริษัทเป็นสิบล้าน ก็ไม่อิ่มใจเท่ากับตอนเห็นชื่อตัวเองปรากฎบนบล็อกของคุณปิ่น

เป็นความอิ่มใจที่นิ่ง นาน และลึก ตอนนี้ก็ยังรู้สึกได้อยู่

………

การเขียนหนังสือ อาจเป็นสิ่งที่ “เป็นธรรม” ที่สุดในโลก

ไม่ว่าคนเขียนคนนั้นจะรวยหรือจน เป็นดาราหรือชาวบ้าน สวยหรือขี้เหร่ จบปอหกหรือเป็นด็อกเตอร์ ขี้อายหรือช่างคุย คุณสมบัติเหล่านั้นไม่สำคัญเลยเมื่อคนอ่านกับคนเขียนมาพบกันบนหน้ากระดาษ

ในฐานะนักเขียน ทุกคนวัด “ผลงาน” กันตรงตัวอักษรที่เขียนอย่างเดียวเท่านั้น

แม้ตอนนี้สังคมไทยอาจกำลังเห่อคนดัง แต่หนังสือห่วยเล่มไหนที่เขียนโดยคนดัง อาจ “ขายได้” เฉพาะช่วงนี้ ช่วงที่คนดังเหล่านั้นยัง “ดัง” อยู่

เมื่อไหร่ความดังสิ้นสุด เมื่อนั้นความดี (หรือไม่ดี) ของหนังสือจะปรากฏ ศิลปะที่แท้จริงย่อมไม่มีวันตาย

จะหาวงการที่ทุกคน “เท่าเทียม” กันอย่างนี้ ไม่ตัดสินผลงานที่ “เปลือกนอก” แบบนี้ ได้ที่ไหนอีกเล่า?

………

หนึ่งในความท้าทายของการดำรงชีวิต คือการหาจุดสมดุลระหว่างเส้นทางแห่ง “ความรัก” และ “หน้าที่”

ไม่ใช่หมายถึงคนเท่านั้น แต่ทุกอย่างที่เราใส่ใจ

เมื่อไหร่ที่ทางสองสายนี้มาบรรจบกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้นชีวิตจะลงตัว

สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งที่เรารักที่สุด ในทางกลับกัน สิ่งที่เรารักที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด

ชีวิตของคนชั้นกลางที่ทำงานนั่งโต๊ะ เงินเดือนดี มีรถเก๋งใช้ ดูเผินๆ เหมือนมีพร้อมทุกอย่าง ก็ท้าทายได้แบบนี้ และไม่ลงตัวได้ด้วยเหตุนี้

ณ จุดนี้ คิดว่าทำสิ่งที่ชอบได้ดีทุกอย่าง ยกเว้นสองสิ่งที่มี “ค่า” ที่สุดสำหรับตัวเอง: เขียนภาษาไทยให้ได้ดี และไม่ทำให้คนที่รักต้องเสียใจ

ทั้งสองอย่างใช้เวลา แต่อย่างหลังต้องใช้ทั้งเวลาและการเปลี่ยนแปลงบุคลิก หรือแม้แต่สันดาน (ตอนนี้ยังไม่แน่ใจ ว่าเป็นสันดานหรือเปล่า)

หวังว่าการเขียนหนังสือจะปรับปรุงทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน เพราะเวลาเขียน ต้องใช้ทั้งสติและสมาธิสูง ทำให้อารมณ์เย็นลงโดยปริยาย

เมื่อใจเย็น ความเสี่ยงที่จะไปทำให้ใครๆ เสียใจ ย่อมลดน้อยลงด้วยเป็นธรรมดา

………

หนังสืออันสวยงามเรื่อง God of Small Things (“พระเจ้าของสิ่งเล็กๆ”) โดยอรุณดาธี รอย เป็นเรื่องของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่ต้องปกปิดความสัมพันธ์แบบคู่รัก เพราะเป็นความรักต่างชั้นวรรณะที่สังคมอินเดียไม่ยอมรับ คือชายหนุ่มมาจากวรรณะจัณฑาล ซึ่งเป็นชนชั้นที่ไม่มีใครอยากแตะต้อง อย่าว่าแต่มีความสัมพันธ์กันเลย

เพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยมาก หนุ่มสาวในเรื่องจึงให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว พยายามจดจำรายละเอียดต่างๆ เช่น ชนิดของแมลงที่ไต่อยู่บนผนังห้อง หรือตำแหน่งของรอยแตกบนเพดาน

สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขา มากกว่าสิ่งใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเขาได้อยู่ด้วยกัน

ทหารหลายคนที่ผ่านการรบในสงครามเวียดนาม และล่าสุดสงครามอิรัก บอกว่าการรอดชีวิตมาได้ ทำให้พวกเขาซาบซึ้งในคุณค่าของชีวิตมากขึ้น มีความสุขทุกวันที่ได้ลืมตาตื่น เพราะทุกวันที่ตื่นมาใช้ชีวิต ถือว่าเป็น “กำไร” แล้ว

คนหลายๆ คนผ่านชีวิตไปอย่างเรียบง่าย ไม่เคยต้องประสบกับสถานการณ์คับขันใดๆ

มีชีวิตที่สุขสบาย แต่อาจไม่มีความสุข เพราะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมาอย่างง่ายดายเกินไป ง่ายจนทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสำนึกถึงคุณค่าของมัน

บางที การระลึกถึงคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยมองข้ามไป อาจเป็นเคล็ดลับของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ในโลกแห่งการเร่งรีบก็เป็นได้

วิลเลียม เวิร์ดส์เวิร์ธ กวีชาวอเมริกันคนหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า ส่วนที่ดีที่สุดในชีวิตของคนดีคือ การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงความรักและเมตตา ที่ไม่มีชื่อ และไม่มีใครจดจำ

(The best portion of a good man’s life: his little, nameless, unremembered, acts of kindness and of love).

การเขียนหนังสือเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนชายขอบคนนี้ ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ และตอนนี้ไม่ทำก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะแม้คิดว่ามีคนอ่านเพียงไม่กี่คน ก็รู้สึกอิ่มใจที่มีคนอ่าน

หวังว่าการเล่าเรื่องความคิดชายขอบ จากนักคิดที่อยู่ชายขอบของวิชาการกระแสหลัก จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้ ไม่มากก็น้อย (ถ้าเขียนรู้เรื่องนะ ตอนนี้หนทางดูไกลเหลือเกิน)

หลังจาก OPEN Online เปิดตัว เนื้อหาในบล็อกนี้ก็คงเน้นเรื่องเบาๆ มากขึ้น และเป็นส่วนตัวมากขึ้น คิดว่าอยากจะเล่าเรื่องเพลง การ์ตูน หรือหนังที่ชอบ เพราะขืนไปเล่าใน OPEN Online คงดูเปิ่น เชย และฉาบฉวยมากๆ เมื่อเทียบกับนักวิจารณ์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ที่กำลังเตรียมตวัดปากกากันอยู่ในนั้น 🙂

ขอขอบคุณคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บก. OPEN และคุณปกป้อง จันวิทย์ บก. OPEN Online ที่ให้เวทีกับคนตัวเล็กๆ คนนี้ ได้แสดงความคิดเคียงข้างนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในบรรณภพไทยทั้งหลาย

ขอฝากคอลัมน์ “คนชายขอบ” ให้อยู่ในความอนุเคราะห์ของท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ ถ้าเขียนห่วย เข้าใจยาก ข้อมูลผิดพลาด น่าปวดหัว น่าเบื่อ ฯลฯ ช่วยกรุณาติชมได้ตามอัธยาศัยโดยไม่ต้องเกรงใจกัน เพราะถ้าคนอ่านไม่คอมเม้นท์ ก็คงอีกนานกว่าคนเขียนคนนี้จะเขียนได้ดี (อนึ่ง ถ้าท่านคอมเม้นท์มา เพื่อนร่วมงานทั้งหลายของคนเขียนก็จะอนุโมทนาสาธุ เพราะตอนนี้ไปขอร้องแกมบังคับ ให้เขาช่วยวิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขียน จนคนทั้งฝ่ายแทบไม่มีเวลาทำงานของตัวเองอยู่แล้ว 🙂 )

ขอทิ้งท้ายด้วยบทกวีที่ชื่นชอบที่สุด จากครูกวีที่ชื่นชมที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างบล็อกนี้ และเริ่มเขียนหนังสือ

จะพยายามอย่างสุดความสามารถ ให้คอลัมน์ “คนชายขอบ” สืบสานเจตนารมณ์ของท่านนายผี ในการ “ขวางโลกอย่างสร้างสรรค์”

แล้วพบกันใน OPEN Online ค่ะ

คนขวางโลก
— อัศนี พลจันทร์ (นายผี)

……ผมนายผีพิศดูหมู่นักปราชญ์
เหลือฉลาดลิ้นลมหล่อนคมสัน
กะทบกะเทียบเปรียบเปรยเยาะเย้ยกัน
ว่าคนนั้นนี้ช่างขวางโลกจริง
……อันถ้อยคำสำคัญฉันฉะนี้
เคยมากมีในหมู่พวกผู้หญิง
มีผู้ชายใช้บ้างมาอ้างอิง
ก็เล่ห์ลิงหลุกหลิกจุกจิกใจ
……อันโลกกว้างขวางไว้จะได้หรือ
ใครล่ะคือโลกกว้างขวางไม่ได้
ถ้าโลกเลวเราขวางบ้างเป็นไร
พิเคราะห์ในสิ่งนี้ดีกระมัง
……ผิโลกเป็นปฐพีมีแผ่นพื้น
เรายังยืนอยู่ได้ดังใจหวัง
ส่วนสัตว์อื่นดื่นคลานมานานยัง
เป็นที่ชังฉินด่าว่าขวางเดิน
……สัตว์หัวเราะเยาะว่าคนบ้ายิ่ง
คนและลิงยืนอย่างท่าขวางเขิน
คนตั้งฉากชคแท้หนอยแน่เพลิน
เล่นลิ้นเยินยอตนว่าคนตรง
……ผิโลกคือมวลชนคนส่วนใหญ่
ความคิดใครขวางเล่นจะเป็นผง
คนส่วนน้อยร้อยลิ้นปลิ้นเป็นวง
ว่าตนตรงเยี่ยมยอดยุคนธร
……ใครขวางตนเป็นคนมาขวางโลก
เลยสับโขกเขาเล่นเช่นเขียงขอน
ที่แท้ตนคนเคอะสะเออะนอน
ขวางโลกสอนศาสตร์บ้าอยู่ตาปี