[UPDATE 8/2011: สุนทรพจน์ชิ้นนี้และของอีก 9 คน รวมเล่มในหนังสือชื่อ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน พิมพ์โดย สนพ.โอเพ่นบุ๊คส์ :)]
ไหนๆ ก็แปลสุนทรพจน์ของ สตีฟ จ็อบส์ แล้ว ก็เลยถือโอกาสแปลสุนทรพจน์ของเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ ปีนี้ด้วย เพราะเป็นสุนทรพจน์วันรับปริญญาที่ “เจ๋ง” ที่สุดที่ข้าพเจ้ารู้จัก แถมกล่าวโดยนักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมาก คือ David Foster Wallace หรือที่แฟนหนังสือเรียกชื่อย่อว่า DFW
ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็น “ค่าเริ่มต้น” ทางความคิด (default settings) ของชาวอเมริกันที่ DFW กล่าวถึง อาจไม่ใช่ค่าเริ่มต้นเดียวกับชาวไทย เพราะสังคมเรา (และสังคมตะวันออกส่วนใหญ่) ยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัว หมู่เพื่อน และชุมชน มากกว่าความต้องการของปัจเจกบุคคล แต่เมื่อคำนึงถึงกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเราหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่า วัฒนธรรมอันหลากหลายอาจถูกหลอมรวม กลืนหายไปในกระแสบริโภคนิยมอันทรงพลังแล้ว ความคิดของ DFW ก็น่าจะใช้ได้สำหรับสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
เมื่ออ่านสุนทรพจน์นี้จบลง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนกับได้อ่านบทความที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง ที่ “เข้าถึง” สัจธรรมทางพุทธ โดยเฉพาะเรื่องของสติ อคติ และอวิชชา ได้ดีกว่าข้อเขียนของพระแท้ๆ บางรูปเสียอีก 🙂
สุนทรพจน์ของ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ นักเขียน กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยเคนยอน วันที่ 21 พฤษภาคม 2548
สวัสดีครับพ่อแม่ทุกท่าน ขอแสดงความยินดีต่อบัณฑิตใหม่รุ่นปี 2544 ทุกคน ลูกปลาสองตัวกำลังว่ายน้ำอยู่ เจอปลาอาวุโสกว่าตัวหนึ่งว่ายสวนกัน ปลาอาวุโสผงกหัวให้พวกมันนิดหนึ่งแล้วถามว่า “อรุณสวัสดิ์ไอ้หนู น้ำเป็นไงบ้าง?” ลูกปลาไม่ตอบแต่ว่ายต่อไป ซักพักตัวหนึ่งหันมามองหน้าเพื่อนแล้วถาม “เฮ้ย ไอ้ “น้ำ” นี่มันคืออะไรวะ?!?”
นิทานเทศนาแนวนี้เหมือนเป็นภาคบังคับของสุนทรพจน์วันรับปริญญาในอเมริกา ลูกเล่นนี้จริงๆ แล้วไร้สาระน้อยกว่าลูกเล่นแบบอื่น แต่ถ้าน้องๆ กำลังกังวลว่าวันนี้ผมจะทำตัวเป็นปลาอาวุโสผู้ทรงปัญญา มาอธิบายให้ลูกปลาฟังว่าน้ำคืออะไรแล้วล่ะก็ อย่ากังวลเลยครับ ผมไม่ใช่ปลาอาวุโสผู้ชาญฉลาด ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ หลายครั้ง “ความจริงที่สำคัญ” นั้นยากที่จะมองเห็นหรือพูดถึง พูดแบบนี้อาจฟังดูซ้ำซากจำเจนะครับ แต่ในชีวิตประจำวันของเราเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น เรื่องซ้ำซากพวกนี้อาจสำคัญขนาดเป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะบอกน้องๆ ในเช้าที่สดใสของวันนี้
[UPDATE 8/2011: สุนทรพจน์ชิ้นนี้และของอีก 9 คน รวมเล่มในหนังสือชื่อ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน พิมพ์โดย สนพ.โอเพ่นบุ๊คส์ :)]
ไหนๆ ก็แปลสุนทรพจน์ของ สตีฟ จ็อบส์ แล้ว ก็เลยถือโอกาสแปลสุนทรพจน์ของเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ ปีนี้ด้วย เพราะเป็นสุนทรพจน์วันรับปริญญาที่ “เจ๋ง” ที่สุดที่ข้าพเจ้ารู้จัก แถมกล่าวโดยนักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมาก คือ David Foster Wallace หรือที่แฟนหนังสือเรียกชื่อย่อว่า DFW
ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็น “ค่าเริ่มต้น” ทางความคิด (default settings) ของชาวอเมริกันที่ DFW กล่าวถึง อาจไม่ใช่ค่าเริ่มต้นเดียวกับชาวไทย เพราะสังคมเรา (และสังคมตะวันออกส่วนใหญ่) ยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัว หมู่เพื่อน และชุมชน มากกว่าความต้องการของปัจเจกบุคคล แต่เมื่อคำนึงถึงกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเราหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่า วัฒนธรรมอันหลากหลายอาจถูกหลอมรวม กลืนหายไปในกระแสบริโภคนิยมอันทรงพลังแล้ว ความคิดของ DFW ก็น่าจะใช้ได้สำหรับสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
เมื่ออ่านสุนทรพจน์นี้จบลง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนกับได้อ่านบทความที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง ที่ “เข้าถึง” สัจธรรมทางพุทธ โดยเฉพาะเรื่องของสติ อคติ และอวิชชา ได้ดีกว่าข้อเขียนของพระแท้ๆ บางรูปเสียอีก 🙂
สุนทรพจน์ของ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ นักเขียน กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยเคนยอน วันที่ 21 พฤษภาคม 2548
สวัสดีครับพ่อแม่ทุกท่าน ขอแสดงความยินดีต่อบัณฑิตใหม่รุ่นปี 2544 ทุกคน ลูกปลาสองตัวกำลังว่ายน้ำอยู่ เจอปลาอาวุโสกว่าตัวหนึ่งว่ายสวนกัน ปลาอาวุโสผงกหัวให้พวกมันนิดหนึ่งแล้วถามว่า “อรุณสวัสดิ์ไอ้หนู น้ำเป็นไงบ้าง?” ลูกปลาไม่ตอบแต่ว่ายต่อไป ซักพักตัวหนึ่งหันมามองหน้าเพื่อนแล้วถาม “เฮ้ย ไอ้ “น้ำ” นี่มันคืออะไรวะ?!?”
นิทานเทศนาแนวนี้เหมือนเป็นภาคบังคับของสุนทรพจน์วันรับปริญญาในอเมริกา ลูกเล่นนี้จริงๆ แล้วไร้สาระน้อยกว่าลูกเล่นแบบอื่น แต่ถ้าน้องๆ กำลังกังวลว่าวันนี้ผมจะทำตัวเป็นปลาอาวุโสผู้ทรงปัญญา มาอธิบายให้ลูกปลาฟังว่าน้ำคืออะไรแล้วล่ะก็ อย่ากังวลเลยครับ ผมไม่ใช่ปลาอาวุโสผู้ชาญฉลาด ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ หลายครั้ง “ความจริงที่สำคัญ” นั้นยากที่จะมองเห็นหรือพูดถึง พูดแบบนี้อาจฟังดูซ้ำซากจำเจนะครับ แต่ในชีวิตประจำวันของเราเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น เรื่องซ้ำซากพวกนี้อาจสำคัญขนาดเป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะบอกน้องๆ ในเช้าที่สดใสของวันนี้
แน่นอนครับ ข้อบังคับหลักของการกล่าวสุนทรพจน์ทำนองนี้คือ ผมควรจะพูดถึงความหมายของการศึกษาหลักสูตรเลือกเสรี ผมควรพยายามอธิบายว่า ทำไมปริญญาที่น้องๆ กำลังจะรับนี่ มีคุณค่าด้านจิตใจ ไม่ใช่เป็นแค่ผลตอบแทนด้านวัตถุ เพราะฉะนั้นผมจะเข้าสู่ประเด็นที่ใช้กันเกร่อที่สุด ในแนวสุนทรพจน์วันรับปริญญาทั้งหลาย นั่นก็คือความคิดที่ว่า โรงเรียนหลักสูตรเลือกเสรีไม่ได้เน้นการให้ความรู้ เท่ากับ “การสอนวิธีคิด” ให้กับนิสิตนักศึกษา ถ้าน้องๆ เหมือนผมตอนผมเป็นนักเรียน น้องๆ คงเกลี่ยดประโยคนี้มาก แล้วก็จะรู้สึกเหมือนโดนดูถูกว่าต้องมีใครสอนเราให้คิด เพราะการที่น้องๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ แบบนี้ได้ ก็น่าจะเป็นข้อพิสูจน์อยู่แล้วว่าคุณคิดเป็น แต่ผมจะพยายามชี้ให้น้องๆ เห็นว่า ไอ้ความคิดโหลๆ นี่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นคำดูถูกเลย เพราะความรู้เรื่องการใช้ความคิดที่เราได้รับในโรงเรียนแบบนี้มันไม่ค่อยเกี่ยวกับ สมรรถภาพในการใช้ความคิด เท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับ ความรู้ว่าจะเลือกคิดเรื่องอะไร มากกว่า ถ้าน้องๆ คิดว่าเรื่องทางเลือกในการใช้ความคิดนี้เป็นเรื่องพื้นๆ ที่งี่เง่าเกินกว่าที่เราควรมาคุยกัน ผมขอให้นึกย้อนไปถึงเรื่องปลาเมื่อตะกี้ แล้วเก็บเอาความสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของเรื่องงี่เง่า ไว้ในใจก่อนนะครับ
ต่อไปนี้เป็นนิทานเทศนาอีกเรื่อง มีชายสองคนนั่งกินเหล้ากันอยู่ในบาร์ที่อยู่ไกลกลางป่าในอลาสก้า คนหนึ่งเป็นคนคริสต์ที่เคร่งศาสนา อีกคนไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง สองคนนี้กำลังเถียงกันว่า พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า แบบเอาเป็นเอาตายชนิดที่ปกติเบียร์ต้องล่วงคอไปแล้วซัก 4 เหยือก คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็พูดขึ้นมาว่า “นี่คุณ ไม่ใช่ว่าผมไม่มีเหตุผลอะไรเลยนะที่จะเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีจริง ไม่ใช่ผมไม่เคยลองสวดภาวนาอะไร เดือนที่แล้วนี่เองผมตกอยู่ท่ามกลางพายุหิมะหนัก พลัดจากแค้มป์ หลงทาง มองอะไรไม่เห็น แล้วตอนนั้นอุณหภูมิประมาณติดลบห้าสิบได้ ผมก็เลยลองคุกเข่าลงแล้วก็ตะโกนว่า “ข้าแต่พระเจ้า ถ้าพระเจ้ามีจริง ตอนนี้ข้าหลงทางกลางพายุหิมะ ข้าต้องตายแน่ๆ ถ้าท่านไม่ช่วย” เล่าถึงตอนนี้ชายผู้เคร่งศาสนาก็จ้องอีกคนด้วยความฉงน “อ้าว งั้นคุณก็ต้องเชื่อในพระเจ้าแล้วสิ เพราะคุณรอดชีวิตมานั่งอยู่นี่ไง” ชายอีกคนกลอกตายักไหล่ “เปล่าเลย แค่มีเอสกิโมสองคนบังเอิญเดินผ่านมา ชี้ทางไปแค้มป์ให้ผมก็แค่นั้น”
ง่ายมากเลยนะครับ ถ้าเราจะวิเคราะห์นิทานเรื่องนี้ตามหลักสูตรเลือกเสรีทั่วไป: ประสบการณ์เดียวกันอาจมีความหมายต่างกันสำหรับคนสองคน ถ้าพวกเขามีความเชื่อ และวิธีตีความจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะหลักสูตรเลือกเสรีสอนให้เรามีความใจกว้าง และเคารพในความหลากหลายของความเชื่อ เราจึงไม่อยากสรุปว่าการตีความของชายคนหนึ่ง “ถูก” ขณะที่ของอีกคน “ผิด” หรือ “ไม่ดี” ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไร แต่ปัญหาคือวิธีนี้ทำให้เราไม่เคยได้ถกกันจริงๆ ซักทีว่า ความเชื่อของเราแต่ละคนนั้น มาจากไหน ผมหมายถึงจากข้างใน ตรงไหนของชายสองคนนี้ มันเหมือนกับว่า วิธีมองโลก และความหมายของประสบการณ์ของเราแต่ละคน ได้ถูกฟ้าดินกำหนดมาตั้งแต่เกิด เหมือนส่วนสูงหรือขนาดรองเท้า หรือไม่เราก็ซึมซับมันมาจากวัฒนธรรมโดยอัตโนมัติ เช่น จากภาษา ราวกับว่าไม่มีทางที่เราจะสร้างความหมายได้ด้วยตัวเอง ด้วยเจตนาของเราเอง แล้วยังมีประเด็นเรื่องความหยิ่งยโสอีก คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็แน่ใจเหลือเกินว่า เอสกิโมที่ผ่านมานั้น ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับคำวิงวอนต่อพระเจ้า จริงอยู่ มีคนเคร่งศาสนาหลายคนเหมือนกันที่ดูเย่อหยิ่ง และมั่นใจกับการตีความของพวกเขา พวกนี้เผลอๆ อาจน่ารังเกียจกว่าพวกไม่นับถือพระเจ้าด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็สำหรับคนเราส่วนใหญ่ แต่ปัญหาของคนเคร่งศาสนาพวกนี้ เหมือนกับของชายผู้ปฏิเสธพระเจ้าในนิทาน: ความมั่นใจที่ไร้เหตุผล ความคับแคบทางความคิดที่แน่นหนาเสียจนนักโทษไม่รู้ตัวว่า เขาถูกจองจำ
ประเด็นของผมคือ ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในความหมายที่แท้จริงของการสอนให้รู้จักวิธีคิด คือให้รู้จักลดความหยิ่งลงบ้าง ลดดีกรีความมั่นใจในตัวเอง และความคิดของตัวเองลงหน่อย เพราะเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของสิ่งที่ผมค่อนข้างมั่นใจแบบอัตโนมัตินั้น มันกลายเป็นความคิดที่ผิดหรือผมถูกหลอก นี่เป็นบทเรียนราคาแพงของผม ดังนั้นผมเชื่อว่าวันหนึ่งน้องๆ จะรู้สึกเหมือนกัน
ผมจะยกตัวอย่างนึงที่แสดงให้เห็นว่า ผมผิดพลาดเต็มประตูขนาดไหน กับเรื่องที่ผมเคยเชื่อมั่นมาโดยอัตโนมัติ: ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเคยประสบมา สนับสนุนความเชื่อลึกๆ ของผมว่า ผมเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผมเป็นคนที่แท้จริงที่สุด มีชีวิตชีวาที่สุด และสำคัญที่สุดที่ดำรงอยู่ ปกติเราไม่ค่อยคิดเข้าข้างตัวเองแบบเป็นธรรมชาติ แบบเห็นแก่ตัวสุดขีดขนาดนี้ เพราะสังคมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าขยะแขยง แต่มันเป็นเรื่องจริงสำหรับเราทุกคนครับ มันเป็น “ค่าเริ่มต้น” (default setting) ของเราที่ฟ้าดินเซ็ทมาให้ตั้งแต่เกิด ลองคิดดู: ไม่มีประสบการณ์ไหนเลยที่น้องๆ ประสบมา ที่คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของมัน “โลก” ที่คุณสัมผัส ล้วนอยู่ต่อหน้าคุณหรืออยู่ข้างหลังคุณ อยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวาของคุณ เกิดขึ้นบนจอทีวีของคุณหรือจอคอมพิวเตอร์ของคุณ และอื่นๆ อีกมากมาย ความคิด และความรู้สึกของคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องสื่อให้เรารับรู้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ความคิด และความรู้สึกของเราเองนั้น เรารับได้ทันที ทันควัน และแท้จริง
อย่ากังวลว่าผมจะกำลังจะเทศน์เกี่ยวกับความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือ “ศีลธรรม” ทั้งหลาย ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมครับ มันเป็นเรื่องที่ผม เลือก ที่จะพยายามเปลี่ยนหรือหลุดออกจากค่าเริ่มต้นทางความคิด ที่กำหนดให้ผมเห็นแก่ตัว และตีความประสบการณ์ทุกอย่างผ่านเลนส์ของอัตตา ใครที่สามารถเปลี่ยนค่าเริ่มต้นธรรมชาตินี้ได้ ก็มักจะถูกอธิบายว่าเป็นคนที่ “ปรับตัวได้ดี” (well-adjusted) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ผมคิดว่า ไม่ได้คิดขึ้นโดยบังเอิญนะครับ
เมื่อคำนึงถึงความแข็งแกร่งทางวิชาการของสถาบันแห่งนี้ คำถามที่เห็นชัดข้อหนึ่งคือ ไอ้การเปลี่ยนค่าเริ่มต้นของเรานี่ มันต้องใช้ความรู้หรือความฉลาดขนาดไหน อันนี้เป็นคำถามที่ตอบยากครับ อันตรายที่ร้ายแรงที่สุดของการศึกษาในโรงเรียน – อย่างน้อยก็ในกรณีของผม – คือมันชอบทำให้ผม “ใช้เหตุผลมากไป” (over-intellectualize) ทำให้ผมหลงอยู่กับข้อถกเถียงที่ล้วนเป็นนามธรรมในหัวผม แทนที่จะให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าผม หรือในใจผม
น้องๆ ทุกคนในที่นี้คงรู้ดีแล้วว่า มันยากแค่ไหนที่เราจะตื่นตัว ว่องไวตลอดเวลา แทนที่จะตกอยู่ในมนต์สะกดของเสียงตัวเองในหัว (อาจกำลังเกิดตอนนี้ด้วยนะครับ) ยี่สิบปีหลังจากที่ผมจบมหาวิทยาลัย ผมค่อยๆ เข้าใจว่า ไอเดียพร่ำเพรื่ออันหนึ่งที่บอกว่า หลักสูตรเลือกเสรีสอนวิธีคิดให้เรานั้น เป็นแค่บทสรุปของความคิดที่ลึกซึ้ง และจริงจังกว่านั้นมาก: การเรียนรู้วิธีคิดนั้น จริงๆ แล้วแปลว่า การเรียนรู้วิธีควบคุมตัวเรา ว่าให้คิดอะไร และคิดอย่างไร มันหมายถึงการให้เรามีจิตสำนึก และมีสติพอที่จะเลือกว่าเราจะให้ความสนใจกับอะไร และจะสร้างความหมายจากประสบการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร เพราะถ้าน้องๆ เลือกคิดแบบนี้ไม่ได้ในชีวิตนอกรั้วโรงเรียน คุณจะลำบากมาก ลองนึกถึงสุภาษิตคร่ำครึที่บอกว่า จิตเป็นทาสที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นนายที่เลวทราม
สุภาษิตบทนี้อาจฟังดูโบราณ น่าเบื่อ แต่มันบอกสัจธรรมอันยอดเยี่ยม และร้ายกาจครับ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่ผู้ใหญ่ที่ฆ่าตัวตายด้วยปืน แทบทั้งหมดยิงตัวเองเข้าที่หัว พวกเขายิงนายผู้เลวทราม ความจริงก็คือ คนพวกนี้ส่วนใหญ่ตายก่อนที่จะเหนี่ยวไกปืนด้วยซ้ำ
ดังนั้นผมขอเสนอว่า นี่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาหลักสูตรเลือกเสรีที่น้องๆ ควรจะได้รับ: วิธีที่จะใช้ชีวิตผู้ใหญ่โดยไม่ตกอยู่ในภาวะไร้ความรู้สึก มึนชา ตกเป็นทาสของความคิดตัวเอง และทาสของค่าเริ่มต้นธรรมชาติที่กำหนดให้มนุษย์เป็นคนโดดเดี่ยว ใช้ชีวิตไปวันๆ ตอนนี้อาจฟังเหมือนผมพูดเกินความจริง หรือพูดเรื่องนามธรรมงี่เง่าใช่ไหมครับ งั้นเรามาทำให้มันเป็นรูปธรรมกัน ความจริงก็คือว่า น้องๆ ปีสี่ทุกคนไม่รู้หรอก ว่าคำว่า “ใช้ชีวิตไปวันๆ” มันหมายถึงอะไร ไม่มีใครพูดถึงชีวิตก้อนใหญ่ของชาวอเมริกัน ในสุนทรพจน์วันรับปริญญาหรอกครับ ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของความน่าเบื่อ กิจวัตรประจำวันซ้ำซาก และเรื่องน่ารำคาญเล็กๆ น้อยๆ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ และผู้มีอาวุโสในที่นี้ทุกท่านคงรู้ดีว่าผมหมายถึงอะไร
ยกตัวอย่างนะครับ ลองคิดภาพวันธรรมดาๆ วันหนึ่งในชีวิตผู้ใหญ่ของคุณ คุณตื่นนอนแต่เช้า ไปทำงานนั่งโต๊ะที่ท้าทายสำหรับบัณฑิตปริญญาตรี หลังจากที่คุณทำงานหนักประมาณ 8-10 ชั่วโมง กว่าจะจบเวลางาน คุณก็รู้สึกเหนื่อยล้าและเครียด ต้องการเพียงอย่างเดียวคือ กลับบ้านไปกินอาหารเย็นดีๆ ซักมื้อ อาจมีเวลาคลายเครียดซักหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ต้องเข้านอนแต่หัวค่ำเพราะ – แน่นอนละครับ – พรุ่งนี้คุณต้องตื่นแต่เช้า และทำแบบนี้ใหม่ แต่แล้วคุณก็นึกขึ้นได้ว่าที่บ้านไม่มีอะไรกิน คุณไม่มีเวลาไปจ่ายตลาดเลยทั้งสัปดาห์ เพราะไอ้งานที่ท้าทายของคุณ ดังนั้นคุณก็เลยต้องขับรถไปซุปเปอร์มาร์เก็ต มันเป็นเวลาเลิกงานแล้ว รถย่อมติดมากเป็นธรรมดา คุณก็เลยใช้เวลาขับรถนานกว่าที่คิดเยอะ กว่าคุณจะไปถึง ซุปเปอร์ฯ ก็แน่นขนัดไปด้วยคน ก็เพราะแน่นอนล่ะครับ มันเป็นเวลาที่มนุษย์เงินเดือนคนอื่นๆ เจียดเวลามาซื้อกับข้าวเหมือนคุณ แล้วซุปเปอร์ฯ นี่ก็เปิดไฟซะสว่างโร่ แถมเปิดดนตรีน่ารำคาญ เป็นแบ็คกราวน์อีกต่างหาก มันเป็นที่สุดท้ายที่คุณอยากไป แต่คุณวิ่งเข้าวิ่งออกเร็วๆ ไม่ได้ เพราะคุณต้องใช้เวลาเดินหาของที่คุณต้องการ ท่ามกลางทางเดินระหว่างหิ้งอันมหึมา และน่าเวียนหัว ต้องเข็นรถเข็นผ่านคนเข็นรถคนอื่นๆ ที่เหนื่อย และรีบร้อนไม่น้อยไปกว่าคุณ (ฯลฯ ตัดฉากไปเลยนะครับ เพราะพิธีนี้ยาว) ในที่สุดคุณก็หยิบกับข้าวได้ครบ แต่ซุปเปอร์ฯ ก็ดันไม่เปิดช่องแคชเชียร์ให้พออีก แม้จะเป็นเวลาเร่งด่วน คิวก็เลยยาวเหยียด ถึงจะเซ็ง และโมโหยังไง คุณก็ต้องพยายามข่มใจ ไม่อาละวาดกับแคชเชียร์สาว ที่ทำงานหนักเกินควร และต้องเจอกับความน่าเบื่อในชีวิต ที่ไร้ความหมายเกินกว่าที่เราๆ ทั้งหลาย ณ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ จะสามารถจินตนาการได้
แต่เอาละครับ ในที่สุดคุณก็ไปถึงเครื่องคิดเงินจนได้ คุณจ่ายค่ากับข้าว ฟังแคชเชียร์พูดว่า “ขอให้วันนี้มีความสุขนะคะ” ด้วยน้ำเสียงที่เย็นชืดเหมือนคนตาย แล้วคุณก็ต้องเข็นรถเข็นใกล้พัง ที่ล้อเฮงซวยดึงรถให้เอียงกะเท่เร่ไปทางซ้ายอยู่เรื่อย ใส่ถุงพลาสติกบางๆ แหยะๆ ที่ใส่กับข้าวคุณจนเต็ม ฝ่าฝูงชน ข้ามที่จอดรถโสโครกที่เต็มไปด้วยขยะ แล้วคุณก็ต้องขับรถกลับบ้านอย่างทุลักทุเล บนถนนแออัดที่คลาคล่ำไปด้วยรถ SUV ฯลฯ
น้องๆ ในที่นี้คงเคยทำมาแล้วทั้งนั้นนะครับ เพียงแต่มันยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันจริงๆ ที่ต้องทำทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน ทุกปี
แต่ตัวอย่างที่ผมเล่ามันจะกลายเป็นกิจวัตรของน้องๆ ครับ นี่ยังไม่นับกิจวัตรอื่นๆ อีกมากมายที่น่าเบื่อหน่าย น่ารำคาญ และไร้ความหมาย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นครับ ประเด็นอยู่ที่ ไอ้เรื่องน่าเบื่อพวกนี้แหละ ที่ทำให้เราต้องเลือก เพราะภาวะรถติด คนแน่น และคิวยาวเหล่านี้ทำให้ผมมีเวลาคิด และถ้าผมไม่ใช้สติ ตัดสินใจว่าผมจะคิดยังไง จะสนใจอะไรแล้วละก็ ผมจะต้องรู้สึกเซ็ง และไม่มีความสุข ทุกครั้งที่ผมต้องไปซื้อของ เพราะค่าเริ่มต้นของผมคือความเชื่อว่า สถานการณ์พวกนี้จริงๆ แล้วเป็น “เรื่องของกู” คนเดียว เป็นเรื่องความหิวของกู ความเหนื่อยของกู และความอยากกลับบ้านของกู ทำให้รู้สึกว่าคนอื่นในโลกล้วนขวางทางกู ไอ้คนพวกนี้เป็นใครมาจากไหนวะ? ดูซิว่าพวกมันน่ารังเกียจขนาดไหน ท่าทางโง่เหมือนควาย ทำหน้าซังกะตายยังกะผีดิบมาเข้าคิว แล้วไอ้พวกที่ชอบคุยมือถือกลางแถวอีก โคตรน่ารำคาญและไร้มารยาท โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมกับกูเลย
หรือถ้าค่าเริ่มต้นของผมอยู่ในโหมดปัญญาชนผู้มีการศึกษา มีสำนึกทางสังคม ผมก็อาจใช้เวลาหลังเลิกงาน นั่งนึกขยะแขยงกับไอ้พวกรถ SUV ที่แสนจะเทอะทะทั้งหลาย กับพวกรถจี๊ป รถปิ๊กอัพ ที่กำลังเผาผลาญน้ำมันในถัง 40 แกลลอนของพวกมัน อย่างเห็นแก่ตัวและสิ้นเปลือง ผมอาจหมกมุ่นอยู่กับความจริงที่ว่า สติ๊กเกอร์ที่มีสโลแกนรักชาติ และรักศาสนาทั้งหลาย มักแปะอยู่หลังรถคันใหญ่ยักษ์ที่เห็นแก่ตัวที่สุด มีคนขับที่หน้าตาอัปลักษณ์… [เสียงปรบมือดังสนั่น] (นี่ผมกำลังยกตัวอย่างวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง อยู่นะครับ) …มีคนขับที่หน้าตาอัปลักษณ์ เห็นแก่ตัว และก้าวร้าวที่สุด ผมอาจคิดไปไกลถึงว่า ลูกหลานเราในอนาคตคงด่าคนรุ่นเราว่า สิ้นเปลืองพลังงาน ทำให้ชั้นบรรยากาศพังพินาศ ถูกตามใจจนเสียคน งี่เง่า เห็นแก่ตัว และน่ารังเกียจ คิดไปจนถึงว่า สังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่มันเฮงซวยยังไง และอื่นๆ อีกมากมาย
น้องๆ คงเห็นภาพนะครับ
ถ้าผมเลือกที่จะคิดแบบนี้ในร้านหรือบนถนน โอเค คนเราหลายๆ คนก็คิดแบบนี้ แต่ปัญหาคือวิธีคิดแบบนี้ มันง่ายดายและอัตโนมัติซะจนเราไม่ต้อง “เลือก” ที่จะคิด มันเป็นค่าเริ่มต้นทางธรรมชาติของผม เป็นวิธีอัตโนมัติที่ผมใช้ตีความประสบการณ์ชีวิตผู้ใหญ่ของผมอันแสนจะน่าเบื่อ น่ารำคาญ และแสนจะพลุกพล่าน เมื่อไหร่ที่ผมอยู่ในโหมดอัตโนมัติของความเชื่อในจิตใต้สำนึกว่า ผมเป็นศูนย์กลางของโลก โลกควรลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ตามความต้องการ และความรู้สึกของผม
เรื่องของเรื่องก็คือ เราสามารถคิดเรื่องสถานการณ์เหล่านี้ได้หลายแง่มุม ในภาวะที่การจราจรติดขัด รถทุกคันแน่นิ่งขวางทางผมอยู่นั้น เป็นไปได้ว่า คนขับรถ SUV บางคนอาจเคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ร้ายแรงจนทำให้ไม่กล้าขับรถอีก หมอเลยสั่งให้เขาซื้อรถ SUV คันใหญ่ๆ จะได้รู้สึกปลอดภัยเวลาขับรถ หรือบางทีคนขับรถฮัมเมอร์ที่เพิ่งปาดหน้าผมไป อาจเป็นพ่อเด็กตัวเล็กๆ ที่กำลังป่วยหนักอยู่ข้างๆ เขากำลังรีบพาลูกไปโรงพยาบาล แปลว่าเขาอาจมีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบ ที่มีเหตุผลกว่าผมเยอะ: จริงๆ แล้วผมเองนั่นแหละที่ขวางทางเขา
หรือผมสามารถเลือกบังคับตัวเองให้คิดว่า มันเป็นไปได้ที่คนทุกคนที่ต่อแถวรอคิดตังค์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น ล้วนกำลังรู้สึกเบื่อและเซ็งเช่นเดียวกับผม บางคนในแถวอาจมีชีวิตที่ยากลำบาก หรือน่าเบื่อกว่าผมซะอีก
ย้ำอีกครั้งนะครับว่า อย่าคิดว่าผมกำลังสอนเรื่องศีลธรรม อย่าคิดว่าผมกำลังบอกว่าน้องๆ ทุกคนควรคิดแบบนี้ และอย่าคิดว่าทุกคนหวังให้น้องๆ คิดได้โดยอัตโนมัติ เพราะมันเป็นเรื่องยาก มันต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามเยอะ และถ้าน้องๆ เหมือนผมละก็ บางวันคุณจะทำไม่ได้ หรือไม่งั้นก็ไม่อยากที่จะคิดแบบนี้เลย
แต่ในวันส่วนใหญ่ ถ้าน้องๆ มีสติพอที่จะเลือกวิธีคิดให้กับตัวเอง คุณสามารถเลือกมองในมุมที่ต่างจากเดิม เมื่อเห็นผู้หญิงอ้วนแก่ๆ พอกหน้าหนาเตอะ ตะคอกใส่ลูกของเธอในคิว บางที ปกติเธออาจไม่เป็นแบบนี้ก็ได้ บางทีเธออาจอดหลับอดนอนมาสามคืนติดกัน กุมมือสามีที่ใกล้ตายจากมะเร็งกระดูก หรือบางทีเธออาจเป็นเสมียนเงินเดือนนิดเดียวที่กรมการขนส่งทางบก ที่เมื่อวานเพิ่งช่วยแฟนคุณให้ผ่านพ้นกระบวนการทางราชการที่น่าโมโหและยืดเยื้อ ด้วยการแสดงความกรุณาเล็กๆ น้อยๆ แน่นอนครับ ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ แต่มันก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่คุณเลือกจะคิดยังไง ถ้าคุณเชื่อมั่นโดยอัตโนมัติว่า คุณรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และถ้าคุณกำลังอยู่ในโหมดค่าเริ่มต้นแล้วละก็ คุณก็คงไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่น่ารำคาญและน่าหดหู่ แต่ถ้าคุณพยายามที่จะสนใจจริงๆ คุณจะรู้ว่ามีวิธีคิดแบบอื่นอีกเยอะ มันเป็นไปได้ ที่คุณจะสามารถรับรู้สถานการณ์ที่แออัด เชื่องช้า เป็นเสมือนนรกของผู้บริโภค ในทางที่ไม่เพียงแต่มีความหมายเท่านั้น แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเดียวกันกับที่สร้างดวงดาวทั้งหลายในจักรภพ: ความรัก มิตรภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสรรพสิ่งทั้งมวล
ไม่ใช่ว่าเรื่องพลังเร้นลับพวกนี้จะเป็นของแท้แน่นอนนะครับ ความจริงที่เป็นสัจธรรมมีอยู่ประการเดียวเท่านั้นคือ น้องๆ สามารถเลือกได้ว่าจะพยายามมองเห็นมันอย่างไร
เพราะนี่เป็นความจริงข้อหนึ่งที่แปลกแต่จริงครับ: ในการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่นั้น ความเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีจริง (atheism) นั้น ไม่มีหรอกครับ ไม่มีหรอกครับภาวะที่คนเราไม่บูชาอะไร เราทุกคนล้วนบูชาทั้งนั้น ทางเลือกเดียวที่เรามีคือ เลือกว่าจะบูชาอะไร และเหตุผลทีดีมากเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนการบูชาพระเจ้า หรืออะไรที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ – ไม่ว่าจะเป็นพระเยซู พระอัลเลาะห์ ยาห์เวห์ พระแม่ธรณี ในศาสนาวิคคาน อริยสัจ 4 หรือธรรมะข้ออื่นๆ ที่ล่วงละเมิดไม่ได้ – ก็คือ อย่างอื่นที่คุณบูชามันจะดูดกลืนคุณทั้งเป็น ถ้าคุณบูชาเงินหรือวัตถุต่างๆ ถ้าสิ่งเหล่านี้ให้ความหมายกับชีวิตของคุณ คุณก็จะไม่มีวันพอ ไม่มีวันรู้สึกว่าคุณมีพอ นี่เป็นสัจธรรมครับ ถ้าคุณบูชาร่างกายของคุณและความดึงดูดใจทางเพศ คุณจะรู้สึกอยู่เสมอว่า ตัวเองอัปลักษณ์ และเมื่อเวลาและอายุขัยเริ่มปรากฏร่องรอยของมัน คุณก็จะตายเป็นล้านๆ ครั้ง ก่อนที่จะมีใครมาหลั่งน้ำตาให้คุณ ในระดับหนึ่ง เราทุกคนรู้เรื่องนี้อยู่แก่ใจ มันเป็นเรื่องที่จารึกไว้ในนิทานปรัมปรา สุภาษิต ประโยคพร่ำเพรื่อ คำคม – เป็นเค้าโครงของเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทุกเรื่อง ประเด็นคือทำอย่างไรให้สัจธรรมนี้ อยู่แถวหน้าของสติเรา ในการใช้ชีวิตประจำวัน
ถ้าคุณบูชาอำนาจ ในที่สุดคุณจะรู้สึกอ่อนแอและหวาดกลัว แล้วคุณก็จะต้องการอำนาจเหนือผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้คุณชินชากับความกลัว ถ้าคุณบูชาปัญญาของตัวเองเพราะคนอื่นมองว่าคุณเป็นคนฉลาด ในที่สุดคุณจะรู้สึกโง่และแปลกปลอม กลัวตลอดเวลาว่าคนอื่นจะค้นพบตัวตนของคุณ การบูชาเหล่านี้ร้ายกาจมาก ไม่ใช่เพราะมันเป็นความชั่วหรือเป็นบาป แต่เพราะมันอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา มันเป็น “ค่าเริ่มต้น” มันเป็นการบูชาแบบที่เราทำทีละเล็กทีละน้อยเมื่อวันเวลาผ่านไป ทำให้กรอบความคิด ที่เราใช้ในการเลือกสิ่งที่จะเห็น และใช้ในการวัดคุณค่าของสิ่งต่างๆ คับแคบลงเรื่อยๆ โดยที่เราไม่เคยรู้ตัวเลยว่า เรากำลังทำอย่างนั้นอยู่
“โลกแห่งความเป็นจริง” จะไม่ทัดทานคุณ ไม่ให้ใช้ค่าเริ่มต้นเหล่านี้ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เต็มไปด้วยคน เงิน และอำนาจ ที่หมุนไปเรื่อยๆ ในวังวนแห่งความกลัว ความโกรธ ความโลภ และการบูชาอัตตาตน วัฒนธรรมของเราปัจจุบันได้ใช้พลังเหล่านี้ในทางที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งอันน่าทึ่ง ความสะดวกสบาย และเสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพที่ทำให้มนุษย์เป็นนายแห่งอาณาจักรขนาดเท่าหัวกะโหลกตน เดียวดายในศูนย์กลางแห่งจักรวาล เสรีภาพแบบนี้มีประโยชน์มากมายครับ แต่แน่นอน เสรีภาพมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่มีคุณค่าที่สุด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คุณจะได้ยินใครๆ ในโลกภายนอกที่เน้นความอยาก ความสำเร็จ และการโอ้อวด พูดถึงกันมากนัก เสรีภาพที่สำคัญจริงๆ นั้นต้องใช้สติ ความสนใจ วินัย และความสามารถที่จะเอาใจใส่ต่อผู้อื่น และเสียสละเพื่อคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่าตื่นเต้น ไม่เว้นวันของชีวิต
นี่คือเสรีภาพที่แท้จริง นี่คือความหมายของ “ผู้มีการศึกษา” และความเข้าใจว่าควรคิดอย่างไร ทางเลือกที่เหลือคือความชินชาไร้จิตสำนึก ค่าเริ่มต้น การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น และความรู้สึกลึกๆ ที่ค่อยๆ สะกิดใจว่า เรา้เคยมีอะไรซักอย่างที่สำคัญ แต่แล้วก็สูญเสียมันไป
ผมรู้ว่าเรื่องพวกนี้คงฟังไม่สนุก สบายๆ หรือให้แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ แบบที่สุนทรพจน์วันรับปริญญาควรจะเป็น แต่ผมว่ามันเป็นสัจธรรม ที่ปราศจากวาทศิลป์อันอ่อนหวานใดๆ แน่นอนครับ น้องๆ มีสิทธิ์ที่จะคิดยังไงก็ได้ แต่ผมอยากจะขอว่า อย่าเห็นมันเป็นบทเทศนางี่เง่า เรื่องที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ มันไม่เกี่ยวกับศีลธรรม ศาสนา คำสั่งสอน หรือคำถามแฟนซีเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
สัจธรรมที่สำคัญจริงๆ เกี่ยวกับชีวิตก่อนตายครับ
มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา ที่แทบไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความรู้ิ แต่เกี่ยวข้องทุกประการกับสติ: ความสำนึกว่าอะไรแท้ อะไรสำคัญ อะไรซ่อนอยู่ในความเป็นจริงรอบตัวเราตลอดเวลา อะไรที่เราต้องเตือนสติตัวเองให้นึกถึงอยู่เสมอ:
“นี่คือน้ำ”
“นี่คือน้ำ”
การมีสติและมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมผู้ใหญ่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากจริงๆ ครับ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ประโยคที่ใช้กันเกร่ออีกหนึ่งประโยคนั้น กลายเป็นความจริง: การศึกษาเป็นสิ่งที่ใช้เวลาชั่วชีวิต และมันเริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้
ผมหวังให้น้องๆ ทุกคนมีมากกว่าโชคครับ.