ขออภัยทุกๆ ท่านที่ห่างหายจากบล็อกไปหลายวัน ตั้งแต่กลับมาจากเชียงใหม่ (ดูรูปได้ที่นี่) เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มัวแต่สาละวนกับการเขียนรายงานส่ง TDRI เรื่อง “ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์” ให้เสร็จ ซึ่งจะต้องไป present วันเสาร์ที่ 9 ธ.ค. นี้ กลับมาแล้วจะเขียนเล่าที่นี่ค่ะ อ้อ ใครที่ดาวน์โหลดรายงานไปแล้วจากเว็บไซด์ของกรุงเทพธุรกิจ ขอให้รอดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์จากบล็อกนี้ เพราะร่างที่กรุงเทพธุรกิจเอาไปลง ยังไม่มีหน้าสารบัญ แถม header & footer ยังไม่เรียบร้อยดี (คนเขียนอาย :P) ยังไม่นับคอลัมน์ประจำที่ต้องเขียนส่งประชาชาติธุรกิจ และโอเพ่นออนไลน์ ซึ่งรอบนี้เผอิญโชคดีเหลือเกินที่ถึงเวลาส่งพร้อมกันหมดเลย (เฮ่อ)
แต่ก็อย่างว่า คนมีงานยุ่งที่ดันหนีไปเที่ยวหลายวัน ย่อมโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง
เป้าหมายหลักของการไปเชียงใหม่รอบนี้คือไปเที่ยวงานพืชสวนโลกกับเพื่อนๆ น้องๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากก่อนไป เพราะได้ยินเรื่องแย่ๆ มามาก นับตั้งแต่ข่าวการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส ปัญหาการบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยและพื้นที่ของชาวสวน และการรวบงานให้พวกพ้องนักการเมืองได้ประโยชน์ เช่น ให้ supplier เจ้าเดียวจัดหาต้นไม้กว่าครึ่งที่แสดงในงาน โดยที่เกษตรกรและชาวสวนในเชียงใหม่แทบไม่ได้อะไรเลย ฯลฯ
เมื่อไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เมื่อไปดูมาแล้วก็เลยรู้สึกว่างานนี้โดยรวม “ดีกว่าที่คิด” โดยเฉพาะเรือนนิทรรศการดอกบัว และเรือนต้นไม้ทะเลทราย ซึ่งมีต้นไม้แปลกๆ เยอะดี แม้ว่าหลายบูธจะไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่กับสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เคยไปเยือนเมื่อปีกลาย ซึ่งเป็นสวนที่ผู้เขียนชอบ เพราะนอกเหนือจากบรรยากาศจะร่มรื่น มีดอกไม้สวยๆ ให้ชมมากมาย ก็มีดอกไม้ประจำจังหวัดของทุกจังหวัดในประเทศไทยให้ชมตามทางเดินด้วย
ขออภัยทุกๆ ท่านที่ห่างหายจากบล็อกไปหลายวัน ตั้งแต่กลับมาจากเชียงใหม่ (ดูรูปได้ที่นี่) เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มัวแต่สาละวนกับการเขียนรายงานส่ง TDRI เรื่อง “ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์” ให้เสร็จ ซึ่งจะต้องไป present วันเสาร์ที่ 9 ธ.ค. นี้ กลับมาแล้วจะเขียนเล่าที่นี่ค่ะ อ้อ ใครที่ดาวน์โหลดรายงานไปแล้วจากเว็บไซด์ของกรุงเทพธุรกิจ ขอให้รอดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์จากบล็อกนี้ เพราะร่างที่กรุงเทพธุรกิจเอาไปลง ยังไม่มีหน้าสารบัญ แถม header & footer ยังไม่เรียบร้อยดี (คนเขียนอาย :P) ยังไม่นับคอลัมน์ประจำที่ต้องเขียนส่งประชาชาติธุรกิจ และโอเพ่นออนไลน์ ซึ่งรอบนี้เผอิญโชคดีเหลือเกินที่ถึงเวลาส่งพร้อมกันหมดเลย (เฮ่อ)
แต่ก็อย่างว่า คนมีงานยุ่งที่ดันหนีไปเที่ยวหลายวัน ย่อมโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง
เป้าหมายหลักของการไปเชียงใหม่รอบนี้คือไปเที่ยวงานพืชสวนโลกกับเพื่อนๆ น้องๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากก่อนไป เพราะได้ยินเรื่องแย่ๆ มามาก นับตั้งแต่ข่าวการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส ปัญหาการบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยและพื้นที่ของชาวสวน และการรวบงานให้พวกพ้องนักการเมืองได้ประโยชน์ เช่น ให้ supplier เจ้าเดียวจัดหาต้นไม้กว่าครึ่งที่แสดงในงาน โดยที่เกษตรกรและชาวสวนในเชียงใหม่แทบไม่ได้อะไรเลย ฯลฯ
เมื่อไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เมื่อไปดูมาแล้วก็เลยรู้สึกว่างานนี้โดยรวม “ดีกว่าที่คิด” โดยเฉพาะเรือนนิทรรศการดอกบัว และเรือนต้นไม้ทะเลทราย ซึ่งมีต้นไม้แปลกๆ เยอะดี แม้ว่าหลายบูธจะไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่กับสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เคยไปเยือนเมื่อปีกลาย ซึ่งเป็นสวนที่ผู้เขียนชอบ เพราะนอกเหนือจากบรรยากาศจะร่มรื่น มีดอกไม้สวยๆ ให้ชมมากมาย ก็มีดอกไม้ประจำจังหวัดของทุกจังหวัดในประเทศไทยให้ชมตามทางเดินด้วย
สรุปว่า ระดับความประทับใจที่ได้รับจากงานพืชสวนโลก น่าจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคนไป เพราะไม่ใช่งานที่ทุกคนจะพูดได้เป็นเสียงเดียวกันว่า “ยอดเยี่ยม”
ใครที่อยากไปเห็นต้นไม้แปลกๆ เป็นหลัก คงชอบงานนี้ แต่ต้องทนยืนเข้าคิวรอดูบูธยอดฮิตอย่างเรือนต้นไม้เมืองหนาวและเรือนต้นไม้ทะเลทราย นานนับ 30-40 นาที (แต่พวกเราไปงานนี้วันเสาร์ หนึ่งวันหลังจากที่คนแห่กันไปงานวันเดียวกับที่เจ้าชายจิกมีจากภูฏานเสด็จฯ มา คนเลยยังค่อนข้างหนาแน่น)
ใครที่อยากไปชมการจัดสวนสวยๆ เป็นหลักคงจะผิดหวัง เพราะสวนส่วนใหญ่ดู “fake” และ “ดัดจริต” พอสมควร ต้นไม้สวยๆ ถูกดัด ตัด และงอให้เป็นลวดลายต่างๆ นาๆ เหมือนต้นไม้แต่งที่เอาไว้ประดับสวนสนุก มากกว่าจะเป็นจุดสนใจหลักของงาน
ถ้าตั้งชื่องานนี้ว่า “นิทรรศการต้นไม้นานาชาติ” น่าจะสื่อความจริงได้ชัดกว่า “งานพืชสวนโลก”
ใครที่อยากไปชมหอคำหลวง อาคารที่สร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ต้นบรมโพธิสมภาร” ต้นไม้เทียมที่มีใบทอง 21,915 ใบ เท่ากับจำนวนวันที่ทรงครองราชย์ คงปลื้มใจที่ได้มีโอกาสไปดู หอคำหลวงเองก็เป็นอาคารแบบล้านนาที่สวยสมคำร่ำลือ รอถ่ายรูปยามสายัณห์ ให้เห็นหลังคาสีน้ำตาลเข้มตัดกันแบบกลมกลืนกับท้องฟ้าสีชมพูเรื่อๆ ยิ่งสวย
ไฮไลต์ของงานพืชสวนโลกสำหรับผู้เขียน ไม่ใช่ต้นบรมโพธิสมภารหรือหอคำหลวง หากเป็นจิตรกรรมฝาหนังในนั้น ฝีมือศิลปินเอก อาจารย์ปรีชา เถาทอง ถ่ายทอดภาพพระราชจริยวัตรตั้งแต่ยังเยาว์วัยจากภาพถ่ายหลายสิบรูป เป็นภาพในโทนสีขมุกขมัว ฟ้า-เทา-ทอง-น้ำตาล-ดำ ที่ผู้ติดตามผลงานอาจารย์ปรีชาคงคุ้นเคยดี
เนื่องจากมีคนอยากเข้าข้างในหอคำหลวงไม่ขาดสาย ผู้จัดจึงต้องกั้นราวให้ผู้ชมเข้าคิวรอ ปล่อยคนให้เข้าทีละ 40-50 คน ให้เวลาชมคนละ 4-5 นาที ก่อนจะต้อนคนออกไป ให้ชุดใหม่เข้ามาแทนที่
ตรงข้ามกับหอคำหลวง มีโรงละครกลางแจ้งหลังคาผ้าใบ วันที่เราไป หุ่นละครเล็กจากโจหลุยส์เธียเตอร์กำลังเล่นอยู่พอดี หน้าคนดูแน่นขนัดเต็มลาน ผู้เขียนนึกเอาใจช่วยให้คนแน่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจบงาน เพราะชอบละครหุ่นคณะนี้ และเคยได้ข่าวว่าโจหลุยส์เธียเตอร์มีปัญหาทางการเงิน
ก่อนออกจากงาน มีโอกาสได้ดูการแสดงสองอย่างที่จัดให้ชมทุกวัน คือน้ำพุเต้นระบำที่เขาเรียกว่า “ม่านน้ำ” ยิงแสงเลเซอร์ประกอบ กับขบวนพาเหรด อย่างแรกสวยกว่าอย่างหลัง แต่ก็ไม่ค่อยคุ้มที่รอดูทั้งคู่ การแสดงทั้งสองชุดเป็นการแสดงเทิดพระเกียรติ ซึ่งถ้าจะทำให้น่าสนใจจริงๆ คงทำได้ เสียดายที่ผู้จัดเน้นแต่พรรณนาโวหารที่เยิ่นเย้อและ “เลี่ยน” เกินไปในการแสดงม่านน้ำ และใช้แสงสีเสียงแบบรกรุงรัง ดูไม่เป็นศิลปะเลยในการเดินขบวนพาเหรด
เราไม่มีเวลาไปดูสวนนานาชาติ แต่ตอนเดินผ่านสวนที่ติดป้ายว่าเป็นของไทย ก็เห็นการจัดแปลกๆ เช่น มีตุ๊กตาล้มลุกขนาดเท่าเด็กตัวเล็กๆ ใส่ชุดซุปเปอร์แมน เลยไม่แน่ใจว่าต้องการจะสื่ออะไร ความสามารถของคนไทยในการจับแพะชนแกะ เก็บเล็กผสมน้อยจากวัฒนธรรมอื่นๆ มาแปลงให้เป็นไทย? อย่างไรก็ดี สวนนี้ดูสุกเอาเผากินมากๆ ตุ๊กตาหลายตัวดูเหมือนจะยังทาสีไม่เสร็จด้วยซ้ำ
แต่มาคิดอีกทีก็ไม่เลวเหมือนกัน เพราะถ้าเราอยากแสดงความมักง่าย สุกเอาเผากินของคนไทย ก็คงต้องจัดสวนแบบนี้แหละ
การแสดงพาเหรดจบลงตอนประมาณสองทุ่ม เวลาปิดงานพอดี ฝูงชนหลายพันคนกรูออกมาพร้อมกัน เจ้าหน้าที่ต้อนทุกคนให้เดินผ่านบูธขายของสองข้างทาง แทนที่จะให้ออกตรงทางออกไปที่จอดรถได้ตรงๆ เลยต้องเดินอ้อมไกลมาก เข้าใจว่าผู้จัดต้องการประนีประนอมกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่ต้องจ่ายค่าเช่าในราคา 8,000-18,000 บาทต่อเดือนโดยต้องเหมาจ่าย 3 เดือนรวดล่วงหน้า แต่พองานเปิดกลับขายของไม่ค่อยออก นำไปสู่การประท้วงครึกโครมจนเป็นข่าวไปแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
แต่วิธีบังคับคนให้เดินผ่านร้่า่นค้าแบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าช่วยอะไรได้มาก เพราะกว่าคนจะหาทางออก ก็คงจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยขาเป็นอันมากแล้วจากการเดินหลายชั่วโมง ไม่มีกะจิตกะใจจะหยุดดูของ แถมตอนสองทุ่มคนก็เฮโลกันออกมาเป็นพันๆ หยุดดูของสบายๆ ไม่สะดวก ถ้าจะให้ดีน่าจะแทรกร้านค้ารายย่อยไว้เป็นระยะๆ สองข้างทางตามทางเดินในงานมากกว่า เหมือนดิสนีย์แลนด์ ไ่ม่ใช่รวมกันไว้ในจุดๆ เดียวอย่างนี้
……
นอกจากงานพืชสวนโลก ก็เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้ไปเยือนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พอไปเห็นของจริงแล้วทำให้รู้สึกว่า กลอนของคุณศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ที่เคยคิดว่า “เว่อร์ไปหน่อย” นั้น ไม่เว่อร์อย่างที่คิด
เพราะรถรางคันแรกที่เรานั่ง ฉายไฟแบบสป็อตไล้ท์สว่างจ้าใส่สัตว์สองข้างทางเวลาบรรยาย ตลอด 30 นาทีที่นั่งรถดู
รถรางคันที่สองค่อยยังชั่วหน่อย ฉายไฟไม่สว่างเท่าคันแรกและหลบไปส่องต่ำๆ แทนที่จะส่องระดับสายตาตรงๆ แต่ก็อดสงสารสัตว์ไม่ได้อยู่ดี
ต่างกันมากกับไนท์ซาฟารีของสิงคโปร์ ที่น้องชายของเพื่อนคนหนึ่งทำงานนอกเวลาเรียนเป็นไกด์ เคยพาผู้เขียนเข้าไปดูเมื่อสามปีก่อน ไนท์ซาฟารีของสิงคโปร์เขาทำเป็นทางเดินเท้าเข้าไปดูสัตว์ บรรยากาศร่มรื่น ไฟฉายที่เขาใช้ก็เป็นไฟฉายแรงต่ำ เวลาส่องไฟต้องมองตามมือไกด์ดีๆ ถึงจะเห็นสัตว์ในเงามืด
แต่ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี คนดูต้องหยีตาเพราะไฟจ้ามาก ไม่ใช่เพราะมองหาสัตว์ในความมืด
ขนาดคนสายตาสั้นอย่างเรายังว่าจ้า สัตว์ที่โดนไฟส่องหน้าเต็มๆ ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง จะรู้สึกอย่างไร?
ไนท์ซาฟารีของสิงคโปร์มีสัตว์น้อยกว่า พื้นที่เล็กกว่า และใช้เงินสร้างไม่มากเท่าของไทย แต่สัตว์ของเขาดูมีความสุขกว่าของเราเยอะ
สัตว์ส่วนใหญ่ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีดูไม่ค่อยอ้วนท้วนสมบูรณ์ เดินช้าๆ ซึมกะทือเหมือนถูกวางยา อีแร้งที่เกาะขอนไม้ก็ยืนนิ่งเหมือนถูกสต๊าฟไว้ แปลกใจว่าทำไมมันไม่บินหนีไป เพราะปีกก็ไม่ได้ถูกขลิบ ถ้าไม่ถูกวางยาก็คงต้องเป็นอีแร้งที่ขี้เกียจไม่ใช่เล่น
เนินเขาส่วนใหญ่ที่เห็นในซาฟารีดูแห้งแล้ง น้ำก็มีน้อยมาก สังเกตได้จากบริเวณที่เลี้ยงฮิปโป ที่เคยเห็นในเขาดินคือเห็นแต่หัวหรือรูจมูกสองรูที่โผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ แต่ฮิปโปของที่นี่เห็นทั้งตัว เดินคลุกน้ำสูงเลยตีนขึ้นมานิดเดียว น่าสงสาร
เคยได้ยินมาว่าไนท์ซาฟารีเบียดบังน้ำจากเกษตรกรแถวนั้นไปใช้จำนวนมหาศาล พอมาเห็นน้ำน้อยในคอกฮิปโปแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า น้ำหายไปไหนหมด?
บางที สวนสัตว์อาจต้องกันน้ำส่วนใหญ่ไว้รดน้ำต้นไม้ และแสดงระบำน้ำพุทุกคืน (ซึ่งก็เป็นการแสดงที่สวยดี ผู้เขียนว่าเทียบกับระบำน้ำพุหน้าโรงแรม Bellagio ที่กรุงลาสเวกัสได้สบายๆ) แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็อธิบายไม่ได้อยู่ดีว่าทำไมไม่มีน้ำพอให้สัตว์ได้อยู่สบาย ถ้าคนทำสวนสัตว์ไม่ใช่คนโหดร้าย ก็คงบริหารจัดการน้ำไม่เก่งเท่าที่ควร
เพื่อนคนหนึ่งที่ไปด้วยกันบอกว่า สวนสัตว์โดยปกตินั้นสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เป็นหลัก การเปิดให้คนเข้าไปดูนั้นเป็นเป้าหมายรอง เพื่อหารายได้มาทำวิจัยและใ้ห้การศึกษานอกห้องเรียน ยิ่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักสัตววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ทำงานอยู่ในนั้นเท่าไหร่ สัตว์ในสวนสัตว์ก็ยิ่งได้รับการเอาใจใส่ดูแลดีขึ้นเท่านั้น เพราะผู้เชี่ยวชาญย่อมรู้วิธีดูแลสัตว์ดีกว่าคนทั่วไป
ในเมื่อเป้าหมายหลักของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีคือ สร้างให้เป็น “สถานที่ท่องเที่ยว” โดยไม่มีเป้าหมายเชิงวิชาการใดๆ รองรับ จึงไม่น่าแปลกใจที่สัตว์จะดูไม่มีความสุข
……
ไปเชียงใหม่เที่ยวนี้มีเวลาหลายวัน เลยมีเวลาแวะไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ที่เมืองลำพูน ห่างจากเชียงใหม่เพียง 50 นาทีเท่านั้นเอง เพราะเคยอ่านในบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “เอกลักษณ์ของท้องถิ่น” ว่าเป็นพระธาตุที่คนเชียงใหม่นับถือว่าสำคัญไม่แพ้พระธาตุดอยสุเทพ อาจารย์อธิบายเรื่องนี้ในบทความว่า
ในทัศนะของราชวงศ์ที่ปกครองเชียงใหม่ รวมทั้งคนชั้นสูงในเชียงใหม่ ซึ่งทิ้งร่องรอยความคิดของเขาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้เราศึกษา พระธาตุหริภุญไชยที่ลำพูนน่าจะมีความสำคัญสุดยอดกว่า โดยเฉพาะในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
มีเรื่องราวที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหริภุญไชยอย่างสืบเนื่องเสมอมาหลายรัชกาล โคลงกำสรวลเล่มแรกในภาษาไทยก็คือ นิราศหริภุญไชย มีการอ้างถึงพระธาตุองค์นี้ในหลักฐานบ่อยครั้งกว่าพระธาตุดอยสุเทพและจนถึงที่สุด มีตำนานของพระธาตุหริภุญไชย เป็นเนื้อความพิสดารปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ เป็นอันมาก
แต่ในทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไม่รู้จักหรือไม่สนใจพระธาตุหริภุญไชย นอกจากนี้ เมืองลำพูนก็แยกออกไปจากเชียงใหม่ กลายเป็นอีกจังหวัดหนึ่งอย่างเด็ดขาด พระธาตุหริภุญไชยจึงไม่ใช่เอกลักษณ์ของเชียงใหม่อีกต่อไป ในขณะที่พระธาตุดอยสุเทพกลายเป็นรูปในตราเมืองเชียงใหม่และตรานั้นก็เป็นตราที่กรุงเทพฯคิดขึ้นเมื่อรวมประเทศราชเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามแล้ว
เมื่อไปถึงพระธาตุหริภุญไชย ก็รู้สึกประทับใจในความงดงามของทั้งตัวพระธาตุ และวิธีการไหว้พระแบบทางเหนือ ที่พับใบตองเป็นกรวยใส่ธูปเทียนอย่างเรียบร้อย เสียอย่างเดียวที่เขาขายกรวยนี้พร้อมกับเทียนเล่มใหญ่ 3 เล่ม ทำให้คนซุ่มซ่ามอย่างผู้เขียนใช้เวลานานพอสมควรในการจุดเทียน แล้วลนก้นไปปักหน้าพระธาตุ เพราะจุดทีไร ไฟก็พุ่งขึ้นมาเป็นพวย โดนน้ำตาเทียนหกใส่มือไปหลายหยด
บนตัวพระธาตุ (เจดีย์) เห็นคุณลุงคนหนึ่งกำลังไต่เชือกขึ้นไปสูงน่าหวาดเสียว ถามคนแถวนั้นได้ความว่า ถ้าให้เงินแก 20 บาท แกจะเอาผ้าสีเหลืองไปพันรอบตัวพระธาตุให้ เป็นการสักการะบูชา
บริเวณวัดรอบพระธาตุเงียบสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวเป็นพันแบบที่ดอยสุเทพ หน้าวัดข้างที่ติดแม่น้ำมีสะพานไม้ข้ามไปอีกฝั่ง ที่นั่นมีร้านขาย “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย” คือก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นธรรมดาแต่ใส่ลำไยกระป๋องเข้าไป ทำให้น้ำแกงหวานอร่อยดี ป้าเจ้าของร้านบอกว่าได้ไอเดียจากตอนที่ลำไยราคาตกต่ำเมื่อหลายปีก่อน (ที่ราคาตกต่ำเพราะชาวสวนใส่สารเคมีเข้าไปเร่งผลผลิตลำไย ทีนี้เลยเกิดปัญหาลำไยล้นตลาดขายไม่หมด) อยากซื้อลำไยช่วยชาวสวนแถวนั้น และคิดว่าอาจจะใช้เป็นจุดขายที่โดดเด่นได้
ดูเหมือนไอเดียของป้าจะประสบผลสำเร็จไม่น้อย ดูจากโต๊ะในร้านเกือบเต็ม มีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ไปลงหลายฉบับ
กลางสะพานไม้มีสินค้า OTOP จาก อบต. แถวนั้นวางขายตลอดสองข้างทาง สงสารคนขายที่รายได้ไม่น่าจะดี เพราะพระธาตุหริภุญไชยมีนักท่องเที่ยวน้อย ตอนเดินผ่านเตาขนมครก ได้ยินป้าคนขายร้องเรียกด้วยเสียงอันแหบแห้งว่า อย่าเพิ่งรีบไปสิลูก ช่วยอุดหนุนป้าหน่อย เลยซื้อมาหนึ่งกล่อง อร่อยดีเหมือนกัน
นอกจากจะประทับใจกับความงามของพระธาตุหริภุญชัย และความกล้าของคุณลุงปีนพระธาตุแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกประทับใจที่การเดินทางไปเที่ยวลำพูนครั้งนี้ใช้เงินเพียง 75 บาทเท่านั้นเอง –
ค่ารถแดง (สองแถว) จากเชียงใหม่ไปลำพูน 15 บาท
ค่าก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย พิเศษ25 บาท
ค่าดอกไม้ธูปเทียนไหว้พระธาตุ ในกรวยใบตอง10 บาท
ค่ารถเมล์กลับเชียงใหม่จากลำพูน 15 บาท
ค่าขนมครกของป้าที่ขอให้ช่วยซื้อหน่อย10 บาท (อร่อยดี)
รวมค่าใช้จ่าย 4 ชั่วโมงในลำพูน75 บาท
คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อนาที0.31 บาท
เทียบกับค่าใช้จ่าย 15 นาทีแรก หลังกลับจากลำพูน ไปนั่งจิบกาแฟคลายร้อนในสตาร์บัคส์ สาขาท่าแพ –
ค่ากาแฟมอคค่าร้อนแก้วกลาง ไม่ใส่วิปครีม100 บาท
รวมค่าใช้จ่าย 0.25 ชั่วโมงในสตาร์บัคส์100 บาท
คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อนาที6.67 บาท
เมื่อความจริงปรากฏโต้งๆ ขนาดนี้ สงสัยจะถึงเวลาที่ผู้เขียนต้องเลิกกินกาแฟสตาร์บัคส์เสียที (แต่พูดมาหลายทีแล้ว ไม่เคยทำได้จริงสักที ไม่ใช่เพราะไม่รู้จักค่าของเงิน เท่ากับติดนิสัยเสียเข้าแล้ว เพราะโซฟาในร้านสตาร์บัคส์นุ่มสบายเกือบทุกสาขา แถมมีปลั๊กให้เราเสียบสายไฟโน้ตบุ๊ค ใช้ TRUE WiFi นั่งทำงานได้ทั้งวัน)
……
ไปเชียงใหม่คราวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสแวะชมบ้านของคุณเทพศิริ สุขโสภา หนึ่งในนักเขียนในดวงใจ โชคดีที่คุณเทพศิริอยู่บ้าน และได้กรุณาพาชมห้องทำงานกึ่งแกลลอรี่ ที่เต็มไปด้วยภาพวาดทิวทัศน์สวยๆ จากปลายพู่กันของแก และหนังสือศิลปะน่าอ่านหลายร้อยเล่ม
นอกบ้าน คุณเทพศิริชี้ให้ดูต้นหิรัญญิกา กำลังออกดอกสีชมพูเรื่อๆ เต็มต้น คุณเทพศิริบอกว่าดอกสีชมพูแบบนี้หาดูยากมาก แกเป็นคนผสมพันธุ์ด้วยตัวเอง ผู้เขียนมีความรู้เรื่องดอกไม้แค่หางอึ่งก็เลยรีบบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก
ถ้าคุณเทพศิริไม่มาอธิบายให้ฟัง ผู้เขียนก็คงนึกในใจเพียงว่า ต้นไม้ต้นนี้สวยดี แล้วก็เดินผ่านไปไม่คิดอะไรอีก
ยิ่งของสิ่งใดมีคุณค่ามากเท่าไหร่ คุณค่านั้นยิ่งมองไม่เห็นได้ด้วยตา ต้องมองด้วยใจอันละเอียดอ่อนเหมือนเจ้าชายน้อย หรือด้วยปัญญาความรู้เหมือนท่านพุทธทาส
คนที่ด้อยทั้งใจทั้งปัญญาอย่างผู้เขียน เลยได้แต่นึกในใจว่า ถ้าไปงานพืชสวนโลกกับคุณเทพศิริ เราจะได้ทั้งความรู้และความชื่นชมในดอกไม้นานาชนิดมากเพียงใดหนอ
……
ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม “พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน” ขนานแท้และดั้งเดิมแห่งเดียวในเชียงใหม่ ที่นี่ดัดแปลงกุฏิวัดหลังหนึ่งเป็นที่จัดนิทรรศการ แสดงของเก่าหลากหลายมากมายตั้งแต่ตู้เย็นโบราณ รูปถ่ายสมัยเมื่อ 150 ปีที่แล้ว หนังสือและแบบเรียนโบราณ พระพุทธรูป กะโหลกวัว ธนบัตร กลอง หม้อไหจานชาม ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านที่ใช้ในการทำไร่ไถนาหรือทำสวน
คุณลุงที่พาชมคุยสนุกมาก ออกตัวอยู่ตลอดเวลาว่าแกไม่มีความรู้อะไรหรอก อาศัยอ่านเอาหรือฟังจากอาจารย์นั่นแหละ ถามชื่อแกก็บ่ายเบี่ยงไม่ตอบ สงสัยไม่มั่นใจว่าเรื่องที่แกเล่านั้นถูกหรือเปล่า สงสัยกลัวเราจะเอาข้อมูลผิดไปอ้างให้คนอื่นฟัง แต่ผู้เขียนว่าแกไม่ควรถ่อมตัวเลย เพราะเล่าประวัติศาสตร์ได้สนุกกว่าอาจารย์แท้ๆ ที่จบปริญญาสูงๆ หลายคนเสียอีก และ “เนื้อหา” ของประวัติศาสตร์ที่ทำให้มันน่าสนใจนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ข้อมูลว่า ชื่อของสิ่งนี้คืออะไร หรือเรื่องนี้เกิดปี พ.ศ. อะไร เท่ากับ “ลีลา” ของคนเล่า และ “สีสัน” ที่ตั้งใจใส่ลงไปให้เรื่องนั้นมีชีวิตชีวาขึ้น เรื่องนี้คุณลุงทำได้ดีจริงๆ ฟังแกเล่าไม่เบื่อเลย
คุณลุงไม่มีรายได้จากการดูแลหรือพานักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ทำเำพราะใจรักและความศรัทธาในตัวคุณจรินทร์ เบน อดีตนักธุรกิจผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล้วนๆ
พิพิธภัณฑ์วัดเกตุไม่เก็บค่าเข้าชม มีแต่ตู้รับบริจาคตั้งไว้ด้านใน รายได้ทั้งหมดมอบให้วัดจัดสรรมาให้พิพิธภัณฑ์ทีหลัง แขกทุกคนที่เข้าชมจะได้รับคู่มือธรรมะ ที่แขกคนหนึ่งถ่ายสำเนามาให้วัด เก็บกลับบ้านไปเป็นที่ระลึก ถ้าใครไปเยือนหลังเวลาประมาณบ่ายโมงขึ้นไป อาจโชคดีได้คุยกับคุณจรินทร์ เบน หรือ “ลุงแจ็ค” ของชาวบ้าน
ขอเป็นกำลังใจให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่คู่เมืองเชียงใหม่ตลอดไป.