จริยธรรมนักกฎหมาย กับประเด็นหลีกเลี่ยงภาษี

จริยธรรมนักกฎหมาย กับประเด็นหลีกเลี่ยงภาษี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนสพ. ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 หน้า 2

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นนิติรัฐ คือ เป็นรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง แต่ในระยะนี้นักกฎหมายจำนวนหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ได้ใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม พยายามหลีกเลี่ยงบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกและผู้มีอำนาจ เพื่อประโยชน์ส่วนตน และเพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น

แม้กระทั่งนักกฎหมายที่มีตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองยังถูกสื่อมวลชนขนานนามว่า “เนติบริกร” ซึ่งนับว่าเป็นการนำความอัปยศอดสูมาสู่วงการนักกฎหมายที่ยึดมั่นในคุณธรรม และใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมายิ่ง

การโอนขายหุ้น 73,000 ล้านบาท ของบุคคลในครอบครัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทุนต่างชาติก็เช่นกัน ประชาชนโดยทั่วไปเชื่อว่ามีการเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องชำระตามกฎหมาย แต่นักกฎหมายกลุ่มนี้ได้เรียกวิธีการดังกล่าวอย่างสวยหรูว่า “การวางแผนภาษี”

นักกฎหมายกลุ่มนี้ได้ช่วยนักธุรกิจตระกูลชินวัตรวางแผนให้มีการซื้อขายหุ้นโดยใช้วิธีสลับซับซ้อน มีการทำสัญญาโอนขายหุ้นกว่า 300 ล้านหุ้น จากบริษัท แอมเพิลริช ซึ่งไปแอบตั้งไว้ที่ต่างประเทศ ให้แก่บุตรชายและบุตรสาวของนายกรัฐมนตรี ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่จะนำไปขายให้ต่างชาติ หุ้นละ 49 บาท

รวมทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่า มีการวางแผนให้คนไทยเป็นตัวแทนชาวต่างชาติตั้งบริษัทหลายแห่งมารับโอนหุ้น


จริยธรรมนักกฎหมาย กับประเด็นหลีกเลี่ยงภาษี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนสพ. ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 หน้า 2

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นนิติรัฐ คือ เป็นรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง แต่ในระยะนี้นักกฎหมายจำนวนหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ได้ใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม พยายามหลีกเลี่ยงบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกและผู้มีอำนาจ เพื่อประโยชน์ส่วนตน และเพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น

แม้กระทั่งนักกฎหมายที่มีตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองยังถูกสื่อมวลชนขนานนามว่า “เนติบริกร” ซึ่งนับว่าเป็นการนำความอัปยศอดสูมาสู่วงการนักกฎหมายที่ยึดมั่นในคุณธรรม และใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมายิ่ง

การโอนขายหุ้น 73,000 ล้านบาท ของบุคคลในครอบครัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทุนต่างชาติก็เช่นกัน ประชาชนโดยทั่วไปเชื่อว่ามีการเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องชำระตามกฎหมาย แต่นักกฎหมายกลุ่มนี้ได้เรียกวิธีการดังกล่าวอย่างสวยหรูว่า “การวางแผนภาษี”

นักกฎหมายกลุ่มนี้ได้ช่วยนักธุรกิจตระกูลชินวัตรวางแผนให้มีการซื้อขายหุ้นโดยใช้วิธีสลับซับซ้อน มีการทำสัญญาโอนขายหุ้นกว่า 300 ล้านหุ้น จากบริษัท แอมเพิลริช ซึ่งไปแอบตั้งไว้ที่ต่างประเทศ ให้แก่บุตรชายและบุตรสาวของนายกรัฐมนตรี ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่จะนำไปขายให้ต่างชาติ หุ้นละ 49 บาท

รวมทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่า มีการวางแผนให้คนไทยเป็นตัวแทนชาวต่างชาติตั้งบริษัทหลายแห่งมารับโอนหุ้น

ถึงกับใช้ช่องทางของรัฐสภาออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อการขายหุ้น เพื่อให้ชาวต่างชาติมีสิทธิถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 แล้วตกลงโอนขายหุ้นชินคอร์ปถึงร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมดให้ต่างชาติถือครองในวันที่กฎหมายที่แก้ไขมีผลใช้บังคับพอดี

เมื่อรวมหุ้นที่ต่างชาติรับโอนมาโดยตรงเข้ากับหุ้นที่คนไทยถือไว้แทนต่างชาติแล้ว ทำให้ต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่างชาติจึงเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งเป็นกิจการเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไทย รวมทั้งเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่ตั้งอาคาร และทรัพย์สินอื่นๆ ของชินคอร์ป

ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมหรือคลื่นความถี่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยส่วนรวม ที่จะต้องจัดสรรใช้ให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคน ก็ตกเป็นของต่างชาติโดยผลของกฎหมายที่มีการวางแผนกันมาตั้งแต่ต้น

วิธีการข้างต้น ยากที่นักกฎหมายซึ่งมีมโนธรรมโดยทั่วไปจะคิดออกได้จริงๆ

เพราะได้วางแผนแยบยลสลับซับซ้อนเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งนักกฎหมายและคนทั่วๆ ไป เข้าใจว่า การซื้อขายหุ้นมูลค่ามากถึง 73,000 ล้านบาทนั้น ไม่จำต้องเสียภาษีตามกฎหมายแม้แต่บาทเดียว

แต่หากเป็นนักกฎหมายที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม และมีจิตวิญญาณรับใช้สังคมแล้ว ควรจะต้องพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้เข้าไปแสดงความจำนงตกลงซื้อขายหุ้นโดยวิธีการซื้อขายตามปกติในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายที่ไปทำความตกลงซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดหลักทรัพย์ แล้วใช้วิธีการแยบยลโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยการสมรู้กัน อันเป็นการซื้อขายที่มิได้มีเจตนากระทำในตลาดหุ้นตามปกติ และเป็นธรรมแก่ผู้ซื้อและผู้ขายรายอื่น

จึงต้องถือว่า การซื้อขายหุ้นรายนี้เป็นการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

เพราะวิธีการดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายรายอื่นๆ ไม่มีสิทธิซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมเท่ากับผู้ซื้อชาวต่างชาติที่แอบไปทำสัญญาซื้อขายหุ้นจำนวนมากมหาศาลนอกตลาดหลักทรัพย์ (แต่เชื่อว่าคนวงในในตลาดหลักทรัพย์น่าจะทราบข้อมูลดี)

ส่วนที่ครอบครัวชินวัตร ให้ ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร ออกมาชี้แจงข้อข้องใจของประชาชนผู้เสียภาษีอากรทั่วประเทศว่า การโอนขายหุ้น 73,000 ล้านบาท ทุกขั้นตอนได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ย่อมเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวนายกรัฐมนตรีจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แอมเพิล ริช มีความเป็นมาอย่างไร และได้รับโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวมาจากใคร เมื่อใด นำเงินที่ไหนมาซื้อหุ้น พร้อมทั้งต้องนำพยานหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ให้ชัดแจ้งด้วย ไม่ควรยอมให้มีการกล่าวอ้างลอยๆ

กรมสรรพากร และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัวนายกรัฐมนตรีในเรื่องการตรวจสอบการเสียภาษี และการปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นธรรมเท่าเทียมกับที่ปฏิบัติต่อประชาชนทั่วๆ ไป โดยไม่ควรเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากนั้น การที่แอมเพิลริชขายหุ้นในราคาหุ้นละ 1 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 48 บาท เป็นการเลี่ยงภาษีอย่างชัดแจ้ง ต้องถือว่าส่วนต่างของราคาขายกับราคาที่แท้จริง เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ และบุตรชายนายกรัฐมนตรีผู้ซื้อหุ้นซึ่งอยู่ในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งกรมสรรพากรแทนแอมเพิลริชซึ่งอยู่ต่างประเทศ

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ที่บัญญัติว่า “บริษัทนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวัน นับแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น”

ถ้าหากจะตีความหลีกเลี่ยงภาษีอีกว่า แอมเพิลริชขายหุ้นในราคาเท่าทุนจึงไม่มีกำไร ตามที่ดร. สุวรรณ กล่าวอ้าง ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าใครได้ประโยชน์หรือกำไรจากการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า ขณะที่บุตรชายนายกรัฐมนตรีรับโอนหุ้น 300 กว่าล้านหุ้น ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ทั้งๆ ที่ราคาซื้อขายที่แท้จริงในตลาดหลักทรัพย์มีราคาถึงหุ้นละเกือบ 50 บาท ย่อมถือได้ว่า ในขณะที่มีการรับโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวในราคาหุ้นละ 1 บาทนั้น บุตรชายนายกรัฐมนตรีได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น ซึ่งสามารถคำนวณได้เป็นเงินเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ได้รับโอนหุ้น

จำนวนเงินส่วนต่างดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ที่บัญญัติไว้ว่า ” “เงินได้พึงประเมิน” ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ประกอบกับมาตรา 40 (8)”

แนวทางการตีความข้างต้นเคยมีคำวินิจฉัยที่ 28/2538 ของคณะกรรมการประเมินภาษี และหนังสือของอธิบดีกรมสรรพากรที่ตอบข้อหารือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นตรงกันว่า ผู้รับโอนหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากผลประโยชน์ส่วนต่างของราคาขายกับราคาตลาดดังกล่าว

เมื่อกรมสรรพากรมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้พึงประเมิน จึงต้องเรียกเก็บภาษีและค่าปรับจากบุตรชายนายกรัฐมนตรีให้ครบถ้วน เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีให้แก่ผู้รับโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีเงินได้พึงประเมิน และต้องตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีย้อนหลังไปถึงการโอนหุ้นระหว่างคนในครอบครัวชินวัตรกรณีซุกหุ้นรอบแรกเสียด้วย

กรมสรรพากรต้องไม่ตีความกฎหมายภาษีอากรให้เลือกปฏิบัติเป็น 2 มาตรฐาน เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลในครอบครัวชินวัตร โดยไม่เรียกเก็บภาษีที่จะต้องชำระ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

หากมีข้อสงสัยประการใด ก็ควรให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากรกลางให้วินิจฉัยชี้ขาดคดี

กรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า หากนักกฎหมายไม่ได้นำวิชาความรู้ทางกฎหมายไปใช้อย่างตรงไปตรงมา ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแต่ประเทศชาติ และจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม

นักกฎหมายที่ดีย่อมทราบว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์คุ้มครองเฉพาะบุคคลที่กระทำการโดยสุจริตเท่านั้น กฎหมายจะไม่คุ้มครองบุคคลที่ไม่สุจริต และไม่มีคำว่า “บกพร่องโดยสุจริต” ในกฎหมายฉบับใด ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยและสถาบันสอนวิชากฎหมายทุกแห่งจึงควรทบทวนบทบาทในการผลิตบุคลากรทางด้านกฎหมาย โดยเน้นหนักในเรื่องการอบรมจริยธรรมให้มากขึ้น

และควรสอดส่องพฤติกรรมของนักกฎหมายที่ขาดจริยธรรม เพื่อป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวเข้าไปเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายแก่นิสิตนักศึกษา ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคมสูงเพียงใดก็ตาม

ทั้งนี้ เพื่อมิให้นักกฎหมายรุ่นหลังประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ไม่ดีอีกต่อไป.

นายสุวัตร อภัยศักดิ์
ทนายความ