ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
นี่เป็นความเชื่อลึกๆ อันหนึ่ง เป็นกำแพงศรัทธาที่นับวันก็ยิ่งก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสอ่านความคิด สังเกตการทำงาน หรือพบปะพูดคุยกับศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ที่นับถือ
เพราะรู้สึกว่าพวกเขาต่างได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน คือความงดงามในธรรมชาติ
ต่างกันเพียงแค่ – ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความงามด้วยอารมณ์ความรู้สึก แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “งานศิลปะ” ตามอารมณ์นั้น ในขณะที่อีกฝ่ายรับรู้ความงามด้วยการใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเป็นไป แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “ความรู้” หรือทฤษฎี ตามกระบวนการใช้เหตุผล
สมัยเรียนหนังสือ เพื่อนที่เป็นนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง เคยพยายามอธิบายความงามของ sine curve ในธรรมชาติให้ฟัง ขณะที่เราเดินเล่นด้วยกัน แล้วสังเกตเห็นสายไฟฟ้าเหนือหัวโค้งขึ้นลงเป็น sine curve
แววตาของเขาตอนนั้น เป็นประกายไม่ต่างจากแววตาของอาจารย์วิชาดาราศาสตร์ ตอนอธิบายวิธีใช้กล้องดูดาว ที่อาจารย์เรียกเป็นลูก และไม่ต่างจากประกายในแววตาของเพื่อนจิตรกร ตอนระบายสีบนผืนผ้าใบ
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ อาจเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เพราะในศาสตร์มีศิลป์ และในศิลป์มีศาสตร์
และเพราะ “ความจริง” อาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ความงาม” ดังวาทะอมตะของ จอห์น คีตส์ (John Keats) กวีชาวอังกฤษ:
“ความงดงามคือความจริงสิ่งที่แท้
ความจริงนั้นงามแน่แม้ไม่เห็น
โลกสอนเจ้าเท่านี้ทุกเช้าเย็น
และนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ต้องรู้”
(Beauty is truth, truth beauty, – that is all
Ye know on earth, and all ye need to know.)
นักวิทยาศาสตร์และศิลปิน อาจมีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าความแตกต่างผิวเผินที่สื่อโดย “เส้นแบ่ง” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้นิยามของคำสองคำนี้
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
นี่เป็นความเชื่อลึกๆ อันหนึ่ง เป็นกำแพงศรัทธาที่นับวันก็ยิ่งก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสอ่านความคิด สังเกตการทำงาน หรือพบปะพูดคุยกับศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ที่นับถือ
เพราะรู้สึกว่าพวกเขาต่างได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน คือความงดงามในธรรมชาติ
ต่างกันเพียงแค่ – ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความงามด้วยอารมณ์ความรู้สึก แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “งานศิลปะ” ตามอารมณ์นั้น ในขณะที่อีกฝ่ายรับรู้ความงามด้วยการใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเป็นไป แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “ความรู้” หรือทฤษฎี ตามกระบวนการใช้เหตุผล
สมัยเรียนหนังสือ เพื่อนที่เป็นนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง เคยพยายามอธิบายความงามของ sine curve ในธรรมชาติให้ฟัง ขณะที่เราเดินเล่นด้วยกัน แล้วสังเกตเห็นสายไฟฟ้าเหนือหัวโค้งขึ้นลงเป็น sine curve
แววตาของเขาตอนนั้น เป็นประกายไม่ต่างจากแววตาของอาจารย์วิชาดาราศาสตร์ ตอนอธิบายวิธีใช้กล้องดูดาว ที่อาจารย์เรียกเป็นลูก และไม่ต่างจากประกายในแววตาของเพื่อนจิตรกร ตอนระบายสีบนผืนผ้าใบ
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ อาจเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เพราะในศาสตร์มีศิลป์ และในศิลป์มีศาสตร์
และเพราะ “ความจริง” อาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ความงาม” ดังวาทะอมตะของ จอห์น คีตส์ (John Keats) กวีชาวอังกฤษ:
“ความงดงามคือความจริงสิ่งที่แท้
ความจริงนั้นงามแน่แม้ไม่เห็น
โลกสอนเจ้าเท่านี้ทุกเช้าเย็น
และนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ต้องรู้”
(Beauty is truth, truth beauty, – that is all
Ye know on earth, and all ye need to know.)
นักวิทยาศาสตร์และศิลปิน อาจมีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าความแตกต่างผิวเผินที่สื่อโดย “เส้นแบ่ง” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้นิยามของคำสองคำนี้
การศึกษาวิเคราะห์ความเหมือนเหล่านี้ อาจทำให้เราเข้าใจทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะดีขึ้น และก็น่าคิดกว่าการจำแนกแจกแจงความแตกต่างด้วย เพราะความต่างนั้นใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว
วันนี้เริ่มกันที่ “ความเป็นศิลปะ” อย่างหนึ่งในวิทยาศาสตร์ก่อน
……
หนึ่งในวาทะอมตะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (imagination is more important than knowledge)
ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่า กระบวนการทำงานของวิทยาศาสตร์นั้น ไม่สำคัญเท่ากับจินตนาการของมนุษย์ และไอน์สไตน์ก็ไม่ได้เสนอว่า ทุกคนควรใช้เวลาจินตนาการเพ้อฝันเรื่อยเปื่อย มากกว่าหาความรู้อย่างมีระบบแบบแผน
ความเข้าใจผิดแบบนี้เกิดขึ้นง่าย ถ้าเราคิดว่า “จินตนาการ” และ “ความรู้” เป็นสองสิ่งที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างกันเลย
แต่ในความเป็นจริง จินตนาการและความรู้เกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีใครอธิบายได้ เช่น การทำงานของสมองมนุษย์ ล้วนเข้าใจดีว่า จินตนาการเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ที่นำไปสู่ความรู้ และความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ
เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะค้นพบความรู้ใหม่โดยไม่อาศัยจินตนาการ เพราะสิ่งที่เราไม่รู้นั้น มีตัวแปรและความเป็นไปได้มากมายเป็นพันเป็นหมื่น เกินกว่่่าลำพังเหตุผล และกระบวนการค้นคว้าทดลองในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง จะรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาเป็น “ความรู้” ได้
และที่ร้ายไปกว่านั้น โดยมากเรามักไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความจริงที่เรายังไม่รู้นั้น มีหน้าตาขอบเขตอย่างไร เหมือนกับนักสำรวจที่กำลังเดินสำรวจถ้ำมืด ที่ไม่มีใครเคยเข้ามาก่อน
ตราบใดที่นักสำรวจยังหาทางออกไม่เจอ เขาก็ไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดว่า ถ้ำนี้มีขนาดกว้างยาวเท่าไหร่ และไปโผล่ที่ไหน
ต้องอาศัยการคาดเดาอย่างมีเหตุผล สัญชาติญาณ และจินตนาการ ผสมรวมกันในการตัดสินใจเลือกว่าจะเดินทางไหน ทุกครั้งที่เจอทางสองแพร่งหรือมากกว่า ท่ามกลางหลืบถ้ำอันสลับซับซ้อน
ระหว่างสำรวจถ้ำ นักสำรวจบันทึกเส้นทางที่เขาใช้ลงในแผนที่ และทาสีหินไปเรื่อยๆ จนเจอทางออก
นักสำรวจอาจเจอทางออกอีกทาง ที่ไม่เคยคาดคิดว่ามีอยู่ก็ได้
(เหมือนยาไวอะกร้า (Viagra) ที่โด่งดัง เกิดขึ้นหลังจากที่นักวิจัยประสบความล้มเหลวในการคิดค้นยาชื่อซิลเด็นนาฟิล (sildennafil) ซึ่งตั้งใจผลิตเพื่อรักษาโรคหัวใจ แต่กลับพบว่ายานี้สามารถรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายได้)
งานของนักสำรวจ ทำให้คนอื่นๆ สามารถมาเที่ยวชมถ้ำนี้ได้ โดยอาศัยแผนที่ และสีที่เขาทาไว้ตามหิน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหลงทาง
……
จอห์น ดูวี่ย์ (John Dewey) นักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวว่า “การค้นพบในวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทุกอย่าง เกิดจากจินตนาการที่แรงกล้ากว่าเดิม” (Every great advance in science has issued from a new audacity of imagination.)
เมื่อนักวิทยาศาสตร์เกิดจินตนาการ เขาต้องสามารถ “โยง” จินตนาการนั้น ให้เชื่อมต่อกับความรู้เดิมที่มีอยู่ ด้วยหลักเหตุผล เพื่อให้เกิดการค้นพบ เป็น “ความรู้” ขึ้นมาได้
ไม่อย่างนั้นความรู้ก็จะไม่มีวันเกิดจากจินตนาการ เหมือนคนธรรมดาที่ถูกลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัว ก็อาจจินตนาการว่านี่เป็นการลงโทษจากพระเจ้า เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และไม่ได้กำลังคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง เหมือนเซอร์ไอแซ็ค นิวตัน
ถ้าเขียนเป็นสมการ อาจได้ประมาณนี้:
ความบังเอิญ + ความรู้เดิม + จินตนาการ = การคาดเดาอย่างชาญฉลาด (intelligent guess) –> การค้นพบทางปัญญา (intellectual discovery)
การค้นพบทางปัญญา + บทพิสูจน์จากการทดลอง หรือคณิตศาสตร์ = ความรู้ที่พิสูจน์ได้
ฝรั่งเรียกการค้นพบทางปัญญาที่มีความบังเอิญเป็นองค์ประกอบที่เด่นที่สุดว่า “serendipity” (ซึ่งเป็นคำที่ชาวอังกฤษทั่วประเทศ โหวตให้เป็นคำที่พวกเขาชอบที่สุด เมื่อปี 2543)
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะหากเราไร้จินตนาการ องค์ความรู้ของเราก็จะถูกแช่แข็ง หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดไป เราจะไม่สามารถค้นพบสัจธรรมใหม่ๆ ในธรรมชาติ ที่จะช่วยเพิ่มพูนและปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ของเรา ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และถ่องแท้กว่าเดิม
ที่สำคัญที่สุดคือ นักวิทยาศาสตร์ที่ไร้จินตนาการ จะไม่สามารถคิดอย่าง “บูรณาการ” (integrated thinking) คือนำความรู้จากนอกสาขาวิชาของตน มาประยุกต์ใช้ หรือวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในสาขาวิชาที่ตัวเองถนัด โดยเฉพาะระหว่างกลุ่ม “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ และกลุ่ม “วิทยาศาสตร์สังคม” เช่น มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมือง
เพราะความรู้ และการค้นพบใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นในปัจจุบัน มักมาจากการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้เดิมแบบบูรณาการ เช่น ใช้ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ มาตีความพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้เงินในเศรษฐศาสตร์ ใช้โมเดลทางฟิสิกส์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวิวัฒนาการตามธรรมชาติระบบเครือข่าย มาอธิบายโครงสร้างสังคมเมืองยุคใหม่ ใช้ความรู้ด้านธรณีวิทยาและชีววิทยา มาอธิบายประวัติศาสตร์มนุษยชาติในระดับทวีป ฯลฯ
จินตนาการจึงเปรียบเสมือน “หัวเทียน” จุดประกายให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในความพยายามที่จะหลอมรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ ของเรา เข้าเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่อผนวกกับฐานความรู้เดิม จินตนาการทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถ “คาดเดาอย่างชาญฉลาด” (intelligent guess) ได้ ซึ่งการคาดเดาเหล่านี้ เมื่อมีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎีหรือจากการทดลอง ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นความรู้
บทความต่อไปนี้ยกตัวอย่างของการคาดเดาอย่างชาญฉลาดในวิทยาศาสตร์ ได้อย่างน่าสนใจและน่าคิด:
……
การคาดเดาอย่างชาญฉลาดเป็นแรงขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์จริงหรือ?
(Is science driven by inspired guesswork?)
เอียน แม็คยวน (Ian McEwan)
บทพิสูจน์ ไม่ว่าจะในวิทยาศาสตร์หรือชีวิตจริง เป็นไอเดียที่ยืดหยุ่นได้ เพราะได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอนานานัปการ และความช่างคิดช่างฝันของมนุษย์
ตราบเวลาหลายร้อยปี ปัญญาชนผู้ปราดเปรื่องที่นับถือคริสต์หลายคนใช้หลักเหตุผล “พิสูจน์” ว่าพระเจ้ามีจริง แม้พวกเขารู้ตัวดีว่าไม่สามารถยอมรับข้อสรุปอย่างอื่นได้ [เพราะเป็นความเชื่อสูงสุดในศาสนาคริสต์]
[ในตำนานกรีก] เมื่อเพเนโลปี (Penelope) ไม่แน่ใจว่า ชายแปลกหน้าที่ปรากฏตัวในเมืองอิธาก้า (Ithaca) นั้น คือยูลิสซีส (Ulysses) สามีของเธอผู้หายสาบสูญไปนานจริงหรือไม่ เธอคิดค้นวิธีพิสูจน์ซึ่งอาศัยการสร้างเตียงที่ใช้ในคืนแต่งงาน วิธีนี้อาจทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ แต่ไม่ใช่นักตรรกวิทยาส่วนใหญ่
แม่คนหนึ่งที่ถูกศาลตัดสินผิดพลาด สั่งให้จำคุกในข้อหาฆาตกรรมลูกตัวเอง โดยศาลอาศัยความเห็นของแพทย์เด็กผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเป็นพยานหลักฐาน ตั้งคำถามอย่างมีเหตุผลว่า ผู้พิพากษาศรัทธาเกินไปหรือไม่ ในบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโรคตายเฉียบพลันในเด็ก
นักคณิตศาสตร์น้อยอายุ 10 ขวบทุกคนที่ตื่นเต้นดีใจกับบทพิสูจน์ว่ามุมสามเหลี่ยมบวกกันได้ 180 องศาเสมอ จะค้นพบก่อนเขาได้โกนหนวดครั้งแรกว่า ความข้อนี้ไม่เป็นจริงเสมอไปในเรขาคณิตระบบอื่น [เช่น มุมของสามเหลี่ยมมุมฉากที่วาดบนผิวของลูกบอล จะบวกกันได้ 270 องศาดังรูป]
มีน้อยคนบนโลกนี้ที่รู้วิธีสาธิตว่า สองบวกสองเป็นสี่ในทุกๆ กรณี แต่เราเชื่อว่านั่นคือความจริง เว้นเสียแต่ว่าเราจะโชคร้ายที่อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่บังคับให้เราเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ สตาลิน เหมาเจ๋อตุง พอลพต และผู้นำอื่นๆ อีกมากมายแสดงให้เราเห็นว่า ผลลัพธ์อาจเท่ากับห้า
การหาวิธีพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่า อะไรต่างๆ เป็นความจริงแท้แน่นอนนั้น เป็นเรื่องยากเย็นจนน่าแปลกใจ มันยากมากที่จะจำแนกแยกแยะสมมุติฐานของเราที่ติดตัวมาแต่กำเนิด นอกจากนี้ การท้าทายภูมิปัญญาของผู้อาวุโส หรือประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ก็เคยเป็นการกระทำที่อันตราย ในอดีต ไม่ค่อยมีใครกล้ายั่วยุทวยเทพ หรืออย่างน้อยก็ผู้แทนของพวกเขาบนโลก
บางที นี่อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ยิ่งใหญ่กว่าล้อ หรือเกษตรกรรม: ระบบความคิดที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพัฒนาการอันเชื่องช้าแต่ประณีต มีการพิสูจน์หักล้าง (disproof) เป็นหัวใจ และการตรวจแก้ตัวเอง (self-correction) เป็นกระบวนการสำคัญ
คนจำนวนมากในโลก เพิ่งเริ่มลบล้างความเชื่องมงายในอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติ และหันมาสนับสนุนภารกิจทางความคิดอันกว้างขวาง ที่ทำงานด้วยการเพิ่มพูน โต้เถียง ขัดเกลา และเผชิญหน้าการท้าทายแบบถอนรากถอนโคนเป็นครั้งคราว เมื่อไม่ถึงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ไม่มีคัมภีร์ใดๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป – จริงๆ แล้ว สิ่งที่อาจนับเป็นการดูหมิ่นศาสนาอย่างหนึ่ง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ แน่นอน การสังเกตและบทพิสูจน์จากประสบการณ์หรือการทดลองนั้นสำคัญอย่างยิ่ง แต่วิทยาศาสตร์บางประเภทไม่มีอะไรมากไปกว่าอรรถาธิบายและการจัดหมวดหมู่ ไอเดียบางอย่างแพร่หลายเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เพราะมันได้รับการพิสูจน์ แต่เพราะมันสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เรารู้แล้วในหลายสาขาวิชา หรือเพราะมันสามารถทำนายหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ หรือเพราะมันเป็นสิ่งที่ผู้นำทางความคิดที่มีอำนาจอุปถัมภ์เชื่อมั่น – เป็นเรื่องธรรมดาที่วิทยาศาสตร์มีตัวอย่างมากมายเรื่องความบอบบางของธรรมชาติมนุษย์
แต่ความทะเยอทะยานของคนหนุ่มสาว วิธีการโต้แย้ง และความตายที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เป็นผู้กำกับดูแลอันทรงพลัง[ของวิทยาศาสตร์] นักวิจารณ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า วิทยาศาสตร์เดินได้ดัวยงานศพ
วิทยาศาสตร์บางอย่างดูเป็นความจริงเพราะมีความสละสลวยงดงาม – ใช้สูตรที่ประหยัดเครื่องหมายถ้อยคำ แต่มีอำนาจอธิบายกว้างไกล แม้ทำความเดือดดาลให้กับสถาบันศาสนาคริสต์ ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน (theory of natural selection) ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ในบรรทัดฐานของแวดวงปัญญาชนสมัยวิคตอเรีย
บทพิสูจน์ทฤษฎีนี้ของดาร์วินเต็มไปด้วยตัวอย่างที่เขาจัดวางลำดับอย่างละเอียดลออ ไอเดียที่ฟังดูไม่ซับซ้อนนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้หลากหลายกรณีและสภาวะแวดล้อม นี่เป็นความจริงที่ประทับใจพระในคริสต์ศาสนานิกายแองกลิแคนหลายรูปที่ทำงานในชนบท ให้อุทิศเวลาว่างที่พวกเขามีเหลือหลาย ให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
คำอธิบายของไอน์สไตน์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาว่า แรงโน้มถ่วงเป็นผลลัพธ์จากส่วนโค้งของ “กาล-อวกาศ” (space-time curvature) ที่เกิดจากมวลและพลังงานที่อยู่ภายในของวัตถุนั้นๆ ไม่ใช่แรงลึกลับที่ดึงดูดวัตถุเข้าด้วยกัน ถูกนำ “ขึ้นหิ้งบูชา” บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนทั่วโลก ภายในไม่กี่ปีหลังจากที่เขาประกาศทฤษฎีนี้
สตีเว่น ไวน์เบิร์ก (Steven Weinberg) เล่าว่า นับจากปี พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์หลายคณะพยายามทดสอบทฤษฎีนี้ ด้วยการวัดระดับความหักเหของแสงดาว ที่เกิดจากดวงอาทิตย์ช่วงสุริยุปราคา แต่โลกต้องรอการประดิษฐ์กล้องดูดาวที่วัดคลื่นวิทยุ ประมาณปี 2500 ก่อน จึงจะได้ค่าวัดที่เที่ยงตรงพอที่จะใช้เป็นบทพิสูจน์อย่างแท้จริง
ในช่วงเวลา 40 ปี [ก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์ด้วยข้อมูลว่าเป็นจริง] คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในทฤษฎีของไอน์สไตน์เพราะมันเป็น “ความงดงามที่มีเสน่ห์” ในคำกล่าวของไวน์เบิร์ก
บทบาทของจินตนาการในวิทยาศาสตร์ ได้รับการกล่าวอย่างแพร่หลาย มีเรื่องเล่าจำนวนมากเกี่ยวกับสังหรณ์ใจที่กลายเป็นจริง ความสัมพันธ์ที่นึกออกทันควัน และเบาะแสที่ได้จากเหตุการณ์ปกติ (คงไม่มีใครลืมว่าเคคูเล่ (Kekulé) ค้นพบโครงสร้างของเบนซินด้วยแรงบันดาลใจจากงูกินหางที่เขาเห็นในฝัน) และชัยชนะของความงดงามเหนือความจริง ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
เจมส์ วัตสัน (James Watson) [หนึ่งในทีมผู้ค้นพบดีเอ็นเอ] เล่าว่า เมื่อโรซาลิน แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) ยืนมองโมเดลสุดท้ายของโมเลกุลดีเอ็นเอ ที่สร้างขึ้นตามทฤษฎี เธอ “ยอมรับว่า โครงสร้างนี้สวยงามเกินกว่าจะไม่เป็นจริงได้”
อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาพิสูจน์ไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด พวกเราก็เรียกร้องให้พวกเขาใช้เกณฑ์การพิสูจน์หลักฐาน ที่สูงกว่านักวิจารณ์วรรณกรรม นักข่าว หรือนักบวช
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สาธารณชนให้ความสนใจมากมายกับคำตอบของนักวิทยาศาสตร์ ต่อคำถามว่า “อะไรที่คุณเชื่อว่าเป็นจริง แม้คุณจะพิสูจน์ไม่ได้?” ที่ตั้งโดยจอห์น บร็อคแมน (John Brockman) เจ้าของเว็บไซด์ The Edge
ดูเหมือนเราจะเจอข้อขัดแย้ง (paradox) ที่น่าคิด: ปัญญาชนที่เดิมพันความน่าเชื่อถือทางวิชาการของตนบนบทพิสูจน์อันเคร่งครัด กำลังต่อคิวประกาศความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ของเขา ความแคลงใจมิใช่เพื่อนรักของวิทยาศาสตร์หรอกหรือ?
เหล่าชายหญิงที่ตำหนิพวกเราว่ายึดติดในความเชื่องมงายที่ไม่สามารถทดสอบได้ซ้ำๆ ในห้องทดลอง กำลังคุกเข่าลงประกาศศรัทธาของพวกเขา
แต่ข้อขัดแย้งนี้จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นข้อขัดแย้งอะไรเลย เพราะธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างที่นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ลีออง เลเดอร์แมน (Leon Lederman) ว่าไว้: “การเชื่ออะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรา(ยัง)ไม่สามารถพิสูจน์มันได้นั้น คือหัวใจของฟิสิกส์”
ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่พวกเขาพิสูจน์ไม่ได้นั้น ไม่ได้เป็นข้อต่อต้านวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงการรำพึงรำพันของนักวิทยาศาสตร์อาชีพ ในยามที่พวกเขาว่างจากงาน ความคิดเหล่านี้ ซึ่งครอบคลุมสาขาวิชาหลากหลาย แสดงให้เห็นสปิริตสูงสุดของจิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์ – การคาดเดาอย่างมีเหตุผลที่เปี่ยมไปด้วยความใจกว้าง สร้างสรรค์ และกระตุ้นต่อมคิด
คำตอบของนักวิทยาศาสตร์หลายคนแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเพลิดเพลินกับความกระหายใฝ่รู้ พิศวงหลงใหลในโลกของสิ่งมีชีวิต และปราศจากชีวิต บางที บทกวีอาจเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความรู้สึกนี้ที่สุด
ลักษณะอีกอย่างของคำตอบที่น่าสนใจคือ สิ่งที่ อี.โอ. วิลสัน (E.O. Wilson) เรียกว่า “การหลอมรวม” (consilience) เส้นแบ่งเขตระหว่างวิชาเฉพาะด้านต่างๆ เริ่มแตกสลายลง เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกเขาต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ หรือกระบวนการจากสาขาวิชาอื่น ที่ใกล้เคียงกันหรือเป็นประโยชน์ต่อสาขาของตัวเอง
ความปรารถนาสูงสุดใน “ยุคแห่งเหตุผล” (Age of Reason หรือ Age of Enlightenment คือศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์หลายแขนง) คือการมีองค์ความรู้รวมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น เขยิบเข้ามาใกล้อีกนิดเมื่อนักชีววิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ นำความรู้ของกันและกันมาประยุกต์ใช้ นักวิทยาศาสตร์สมอง (neuro-scientist) ต้องการนักคณิตศาสตร์ ในขณะที่นักชีววิทยาโมเลกุล ล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตที่ไม่เคยถูกตีกรอบอย่างชัดเจน ของนักเคมีและนักฟิสิกส์ แม้กระทั่งนักดาราศาสตร์ก็ยังใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการในการทำงาน และแน่นอน ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำการคำนวณที่ซับซ้อน
ในการสื่อสารกับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ต่างสาขา นักวิทยาศาสตร์จำต้องทิ้งศัพท์แสงเฉพาะด้านของพวกเขา และหันมาพูดภาษาที่ทุกคนเข้าใจ คือภาษาอังกฤษธรรมดา แน่นอน ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ตั้งใจจากปรากฏการณ์นี้ คือชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ที่สามารถติดตามการสนทนาต่างสาขาเหล่านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคุ้นเคยกับศัพท์แสงต่างๆ พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายอันต่อเนื่องและน่าตื่นเต้น ที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น.