ซุกหุ้น 301: เคล็ดวิชาขั้นสูงจากคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ “ยึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 มีแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้ขบคิดต่อมากมาย ในบรรดาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฎ ผู้เขียนคิดว่าข้อเท็จจริงในประเด็นการอำพรางหุ้น หรือที่เรียกว่า “ซุกหุ้น” นั้นมีความน่าสนใจและสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะวิชาที่ว่าด้วยธรรมาภิบาลภาครัฐ และธรรมาภิบาลตลาดทุน
กรณี “ซุกหุ้นภาคพิสดาร” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาสำคัญในคดียึดทรัพย์ และองค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผิดจริงนั้น มีความสลับซับซ้อนกว่ากรณี “ซุกหุ้นภาคแรก” ซึ่งเป็นการใช้ชื่อคนขับรถและคนใช้ถือหุ้นแทนค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นการซุกในช่วงเวลาที่ พ.ต.ท. ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ในคดีซุกหุ้นภาคแรกนั้น ลำพังการพบชื่อคนใช้และคนขับรถว่าเป็นผู้ถือหุ้นก็ส่อแววแล้วว่าน่าจะซุกหุ้น เพราะคนรับใช้และคนขับรถไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้อหุ้นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และก็ไม่ใช่ลูกหรือญาติที่เจ้าของอาจจะอยากให้หุ้น “โดยเสน่หา” จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ พ.ต.ท. ทักษิณหรือภรรยาจะโอนหุ้นให้ เว้นเสียแต่ว่าอยากให้ถือหุ้นแทนตนเอง
ถ้าพฤติกรรม “ซุกหุ้นภาคแรก” (ที่ พ.ต.ท. ทักษิณบอกว่า “บกพร่องโดยสุจริต”) เป็นวิชาซุกหุ้นขั้นพื้นฐาน หรือซุกหุ้น 101 ข้อเท็จจริงกรณี “ซุกหุ้นภาคพิสดาร” ที่ปรากฏในคดียึดทรัพย์ ก็เรียกได้ว่าเป็นวิชาซุกหุ้นขั้นสูง หรือซุกหุ้น 301 เลยทีเดียว
การซุกหุ้นรอบนี้ปรากฏหลักฐานว่ากระทำผ่านทั้งตัวบุคคล คือลูกและญาติ และผ่านบริษัทหุ่นเชิด คือ แอมเพิลริช และ วินมาร์ค ลิมิเต็ด
1. การซุกหุ้นในชื่อลูกที่บรรลุนิติภาวะ
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดการโอนหุ้นให้ลูกจึงทำให้ศาลมองว่าซุกหุ้น ถ้าพ่อแม่อยากโอนหรือขายหุ้นให้ลูก ไม่ว่าจะในราคาทุนหรือราคาอื่น หรือแม้แต่โอนให้ฟรีๆ ก็น่าจะมีสิทธิทำได้ตามกฎหมายมิใช่หรือ?
คำตอบคือ เรื่องซุกหุ้นจะดูจากเอกสารยืนยันการโอนหุ้นไม่ได้ ต้องดูหลักฐานใน 3 ประเด็นคือ 1. วิธีการโอนหุ้น เพื่อประเมินว่า ที่อ้างว่าโอนไปแล้วนั้นโอนจริงหรือโอนหลอก เช่น อ้างว่าขายแต่ไม่มีเงินเปลี่ยนมือ 2. ผู้รับหุ้นนั้นได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ (เช่น เงินปันผล) ในฐานะผู้ถือหุ้นชินคอร์ปจริงหรือไม่ และ 3. ผู้รับหุ้นใช้สิทธิออกเสียงตามหุ้นที่ถือหรือไม่
1.1 กรณีของพานทองแท้ จำเลยให้การว่าขายหุ้นให้ลูกที่ราคาทุน แต่ไม่มีเงินเปลี่ยนมือ ทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างกันไว้เฉยๆ นอกจากนี้ มีหลักฐานว่า 1 วันก่อนโอนหุ้นชินคอร์ปให้ลูก พานทองแท้ต้องทำหนังสือใช้หนี้แม่อีก 4,500 ล้านบาท ซึ่งจำเลยให้การว่าเป็นค่าหุ้นธนาคารทหารไทย 150 ล้านหุ้น และค่าใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (warrant) อีก 300 ล้านหน่วย ทั้งที่ราคาทุนไม่ใช่ 4,500 ล้านบาทตามที่อ้าง แต่อยู่ที่ 1,500 ล้านบาทเท่านั้น เพราะ warrant 300 ล้านหน่วยนั้นแถมมากับหุ้น ดังนั้นจึงเท่ากับมี “หนี้ปลอม” ถึง 3,000 ล้านบาท ทำให้น่าสงสัยว่าลูกซื้อหุ้นจากแม่จริงหรือเปล่า และทำให้น่าเชื่อว่า หนี้ปลอมก้อนนี้เป็น “เครื่องมือ” ให้ลูกคืนปันผลให้แม่มากกว่า กล่าวคือ เงินโอนให้แม่ที่อ้างว่าเป็นการชำระคืนหนี้นั้น แท้จริงแล้วน่าจะเป็นการโอนเงินปันผลให้แม่ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงตั้งแต่ต้น
คตส. พบว่า “เมื่อตรวจบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้ที่ใช้รับเงินปันผลหุ้นชินคอร์ปแล้ว พบว่าบัญชีนี้ต้องส่งเงินปันผลให้คุณหญิงพจมานจนหมดแทบทุกงวด รวมยอดแล้วสูงเกินกว่าจำนวนที่อ้างว่าเป็นหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินถึง 1,100 ล้านบาท ซึ่งหากนายพานทองแท้ได้เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปทั้ง 293 ล้านหุ้นจริงแล้ว เงินปันผลก้อนนี้ก็จะต้องเป็นของเขาโดยแท้จริงด้วย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย”
1.2 กรณีของพินทองทา สำนวนระบุคำให้การว่า “อธิบายว่ามารดาให้เงินในวันเกิดเพื่อไปซื้อหุ้นแบ่งจากพี่ชาย 367 ล้านหุ้น โดยทำเป็นซื้อขายนอกตลาดในราคาทุน (ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี) พี่ชายได้เงินแล้วก็นำส่งคืนมารดาทันที วันเกิดที่ว่านี้คือวันครบรอบ 20 ปี ในปี 2545”
การซื้อหุ้นครั้งนั้นไม่มีการชำระเงินค่าหุ้นกันจริงๆ เพราะมารดาให้เงินในวันเกิด แล้วนำเงินไปซื้อจากพี่ชาย พี่ชายก็นำมาคืนมารดาในทันที จำนวนหุ้นที่ซื้อจากพี่ชาย 367 ล้านหุ้น ทำให้หุ้นที่พานทองแท้ถืออยู่เหลือประมาณ 367 ล้านหุ้นเท่าๆ กัน จึงน่าเชื่อว่าถูกพ่อแม่ใช้ชื่อเพื่อปรับจำนวนหุ้นที่ต้องการใช้ชื่อถือแทนมากกว่า ทันทีที่พินทองทาบรรลุนิติภาวะ (20 ปี ซึ่งเป็นจุดที่ถือหุ้นได้โดยไม่ถูกนับตามกฎหมายว่าเป็นของบิดา) เพราะขณะนั้นพานทองแท้ถือหุ้นชินคอร์ปในนามตัวเอง 24.99% และถือผ่านบริษัทแอมเพิลริชอีก 10.44% รวมแล้วเกิน 25% แต่ไม่แจ้ง ก.ล.ต. ตามกฎหมายหลักทรัพย์ ทำให้สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกค้นพบและเอาผิดได้ตลอดเวลา
ในด้านสิทธิประโยชน์จากหุ้น คตส. พบว่า “หุ้นก้อนนี้ก่อเกิดให้เงินปันผลในบัญชีที่มีชื่อนางสาวพินทองทาเป็นระยะ แล้วเก็บสะสมไว้ไม่มีการส่งคืนเข้าบัญชีมารดา และมีการนำไปใช้สองครั้งคือ ใช้ซื้อหุ้นเอสซี แอสเสท คืนจากวินมาร์ค 71 ล้านบาท และซื้อบริษัทอสังหาริมทรัพย์อีก 5 บริษัทคืนจากกองทุนสองกองทุน ในปี 2547 อีก 485 ล้านบาท ซึ่งบริษัทวินมาร์คและกองทุนทั้งสองนี้ คตส. และดีเอสไอกับ ก.ล.ต. มีหลักฐานชี้บ่งร่วมกันว่า แท้จริงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิง ดังนั้น การนำเงินปันผลไปจ่าย…ทั้งสองครั้งนี้ แท้จริงจึงเป็นการส่งเงินปันผลคืนเข้าบัญชีวินมาร์คของบิดามารดานั่นเอง”
2. การซุกหุ้นในชื่อญาติ
2.1 กรณีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กรณีนี้สำนวนระบุว่า “ต้องแยกหุ้นชินฯ เป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกมีจำนวน 1.62% ที่เชื่อได้ว่าเป็นของนายบรรณพจน์จริงตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป กลุ่มที่สอง 10.75% เป็นส่วนที่ถูกใช้ชื่อถือหุ้นแทนเท่านั้น มีสองก้อนด้วยกัน ก้อนแรก 1.62% คือหุ้นเพิ่มทุนที่ใช้สิทธิของตนเองซื้อหุ้น แต่ใช้เงินคุณหญิง ก้อนสอง 9.13% เป็นก้อนที่ทำเป็นซื้อจากคุณหญิง พร้อมกับที่คุณหญิงขายให้บุตรเมื่อกันยายน 2543 ก้อนนี้ทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้ยึดถือไว้”
หุ้น 10.75% นั้นไม่มีการชำระเงินค่าหุ้นจริง ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำให้คุณหญิงสำหรับก้อนสองคือ 9.13% ก็ระบุว่าจ่าย “คุณหญิงพจมาน” ทั้งที่ในขณะนั้นยังมิได้เป็นคุณหญิงแต่อย่างใด ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการทำหลักฐานย้อนหลังทั้งสิ้น
2.2 กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้รับหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 20 ล้านบาท มีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าซุกหุ้นชัดเจนกว่ากรณีของบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กล่าวคือ มีตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงในเครือชินคอร์ป แต่ไม่เคยจ่ายค่าหุ้น 20 ล้านบาทให้กับพี่ชาย อ้างว่าเป็นการค้างชำระหนี้ ต่อมาอีก 3-4 ปี เมื่อชินคอร์ปเริ่มจ่ายปันผล ถึงค่อยๆ ทยอย “ชำระหนี้” ด้วยเงินปันผลที่ได้รับ (คือไม่ใช้เงินของตนเองเลย) 2 ครั้ง คือ 9 ล้านบาท และ 11 ล้านบาท ครั้งที่สองนั้นเขียนตัวเลขบนเช็ค 13.5 ล้านบาท เท่ากับเงินปันผลที่ได้รับในงวดนั้นเต็มจำนวน แล้วจึงค่อยขีดฆ่าเปลี่ยนตัวเลขใหม่เป็น 11 ล้านบาท คงเป็นเพราะฉุกคิดได้ว่าจ่ายเกินหนี้แล้ว บ่งชี้ว่าหนี้ 20 ล้านบาทนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณไม่เคยขายหุ้นให้จริง เพียงแต่ใช้ชื่อถือหุ้นแทนเท่านั้น
ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3-6 ก็จ่ายเข้าบัญชีตัวเองเพียง 2.1 ล้านบาท ที่เหลืออีก 68 ล้านบาทเขียนเช็คเงินสด (หมายความว่าใครก็ตามที่ถือเช็คสามารถนำไปขึ้นเงินได้) โดยอ้างว่านำไปใช้เป็นค่าตกแต่งบ้าน ทำสวน สระว่ายน้ำ ฯลฯ แต่ไม่สามารถนำหลักฐานใดๆ มายืนยันต่อศาลได้ว่าใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้จริง (รายละเอียดอ่านได้ในคำพิพากษาหน้า 98-99)
ในประเด็นอำนาจในการตัดสินใจขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ซึ่งถ้าลูกๆ และญาติของ พ.ต.ท. ทักษิณพิสูจน์ได้ว่าตัดสินใจขายเองในฐานะเจ้าของหุ้นตัวจริง ก็อาจทำให้ข้ออ้างที่ว่าไม่ใช่นอมินีมีน้ำหนักมากขึ้น แต่คำพิพากษาระบุคำเบิกความชัดเจนว่า บรรณพจน์ ดามาพงศ์ อ้างว่าตนเป็นผู้ตัดสินใจจะขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กก่อน และแจ้งให้หลานและยิ่งลักษณ์ทราบ บรรณพจน์ให้เหตุผลว่าที่ตัดสินใจขายนั้นเป็นเพราะ “อายุมากแล้ว การบริหารงานในชินคอร์ปต่อไปจะลำบากเพราะต้องลงทุนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เกือบแสนล้านบาท”
ศาลเห็นว่าข้ออ้างนี้ “รับฟังไม่ได้” เนื่องจากนายบรรณพจน์ถือหุ้นชินคอร์ปเพียง 13.8% เทมาเส็กจึงน่าจะต้องขอเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือพานทองแท้และพินทองทา (ถือหุ้นรวมกัน 35.4%) ก่อน ไม่ใช่บรรณพจน์ นอกจากนี้ เหตุผลที่บรรณพจน์ให้ก็ขัดกับข้อมูลที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2548 ของบริษัทเอไอเอส ที่ระบุว่า “บริษัทเอไอเอสมีความสนใจและความพร้อมทั้งในด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาไปสู่การให้บริการ 3G” (ดูคำพิพากษาหน้า 105-107)
หลักฐานทั้งหมดที่ปรากฏในส่วนของการซุกผ่านตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการไม่จ่ายเงินค่าหุ้นที่อ้างว่าซื้อขายกันจริง ทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างกันไว้เฉยๆ การโอนเงินปันผลทุกงวดให้กับคุณหญิงพจมานหรือพ.ต.ท. ทักษิณทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด หรือนำไปใช้จ่ายแทนสามีภรรยาคู่นี้ เช่น ใช้ซื้อหุ้นเอสซี แอสเสท คืนจากวินมาร์ค หรือไปรวมกับเงินก้อนที่ไปซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษ ตลอดจนข้ออ้างที่มีพิรุธเกี่ยวกับการตัดสินใจขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก ทำให้ศาลตัดสินว่าเป็นการใช้ชื่อลูกและญาติถือหุ้นแทนทั้งสิ้น
3. การซุกหุ้นในชื่อบริษัทหุ่นเชิด
สำหรับส่วนของหุ้นที่ซุกผ่านบริษัทหุ่นเชิด คือแอมเพิลริช (ถือหุ้นชินคอร์ปประมาณ 11%) และวินมาร์ค ลิมิเต็ด (1.8%) นั้น มีเอกสารหลักฐานชัดเจนจากธนาคารยูบีเอส เอจี สาขาสิงคโปร์ ว่า ผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในบัญชีของแอมเพิลริชแต่เพียงผู้เดียวคือ “ดร. ที ชินวัตร” เพิ่งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในบัญชีดังกล่าวในเดือนมิถุนายน ปี 2548 ส่วนกรณีของวินมาร์ค ศาลตัดสินว่า “ไม่มีเหตุต้องวินิจฉัย” ว่าเป็นนอมินีหรือไม่ เนื่องจากจำนวนหุ้นชินคอร์ปที่วินมาร์คถือไม่อยู่ในจำนวนหุ้นที่ขายให้กับเทมาเส็ก (ซึ่งกลายเป็นเงินที่อัยการร้องต่อศาลให้ยึดเป็นของแผ่นดิน)
ถ้าหุ้นชินคอร์ปในส่วนของวินมาร์คซุกจริง ก็นับว่าเป็นส่วนที่ซุกอยู่ “ลึกที่สุด” คือไม่ได้ขายให้กับเทมาเส็ก พ.ต.ท. ทักษิณ อาจยังถือครองอยู่จวบจนปัจจุบัน ในเมื่อ ก.ล.ต. ให้การว่ามีหลักฐานจากการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นเจ้าของวินมาร์ค ก็ควรจะดำเนินการสอบสวนประเด็นนี้ต่อไปในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์ เพราะหุ้นที่ซุกผ่านบริษัทหุ่นเชิดนั้นสามารถนำไปซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (insider trading) ได้ค่อนข้างง่าย (เพราะไหนๆ ก็ซุกแล้ว) ยังไม่นับความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์อีกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเท็จ ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ไม่ทำรายงานถือครองหุ้นข้ามเส้น 5% ฯลฯ
ประเด็นที่น่าสังเกตเป็นพิเศษจากหลักฐานในกรณี “ซุกหุ้นภาคพิสดาร” คือ พยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยใช้ในการสู้คดีนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ และเอกสารที่จัดทำขึ้นเองได้ ไม่มีบุคคลที่สามรับรอง เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างกัน หรือรายงานประจำปีของแอมเพิลริช ไม่ใช่เอกสารที่ทำเองไม่ได้หรือปลอมแปลงยาก เช่น เอกสารการเปิดบัญชีกับธนาคาร จดหมายจากธนาคารยูบีเอสที่ยืนยันว่าพานทองแท้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง หรือรายการบัญชีในธนาคารที่จะยืนยันว่ามีการจ่ายเงินค่าหุ้นกันจริงๆ (ซึ่งในกรณีของวินมาร์ค จะเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามี “นักลงทุนต่างชาติ” มาซื้อหุ้นวินมาร์คไปจริง)
การทำความเข้าใจกับมติเอกฉันท์ของศาลฎีกาที่ว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปกึ่งหนึ่งหรือ 50% ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็น “จุดเริ่มต้น” ที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เพราะนั่นหมายความว่า พ.ต.ท. ทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อนอันใหญ่หลวง ระหว่างสถานภาพ “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจควบคุม” ชินคอร์ปและบริษัทในเครือ กับสถานภาพผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของประเทศ
หลายคนอาจสงสัยว่า นี่แปลว่านักธุรกิจที่เข้ามาเล่นการเมืองจะต้องเสียสละความมั่งคั่งทางธุรกิจทั้งหมดที่สะสมมาก่อนเข้าสู่วงการเมืองเลยหรือ คำตอบคือไม่ใช่ กฎหมายไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 209 เปิดช่องให้นักการเมืองโอนหุ้นให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทนระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ผ่านกลไกที่เรียกว่า blind trust หรือผู้ดูแลผลประโยชน์ที่จะดูแลแทนให้ เป้าหมายของ blind trust อยู่ที่การช่วยให้นักธุรกิจอยากรับใช้ชาติยังคงได้รับผลตอบแทนต่อไปจากธุรกิจที่เคยทำ แต่ในทางที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนอาจจูงใจให้นักการเมืองใช้อำนาจรัฐออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเองอย่างถูกกฏหมาย หรือที่ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมซุกหุ้นของนักการเมืองระดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ได้ด้วยสัมปทานจากรัฐ จึงเป็นพิรุธให้สงสัยว่าน่าจะซุกเพราะอยาก “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ระหว่างที่ครองอำนาจรัฐ เพราะการถือหุ้นใหญ่ทำให้มี “แรงจูงใจ” ที่จะทำเช่นนั้น การพิสูจน์ก่อนว่าจำเลยในคดีนี้มี “แรงจูงใจ” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” โดยธรรมชาติแล้วจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่านักการเมืองที่ซุกหุ้นเป็นผู้สั่งการ
พูดอีกอย่างคือ เนื่องจากคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่โดยธรรมชาติไม่มี “ใบเสร็จ” ศาลจึงจำต้องพิจารณาจากพยานเอกสารและหลักฐานแวดล้อมต่างๆ พฤติการณ์ของจำเลย และคำให้การของจำเลยว่าฟังขึ้นหรือไม่เพียงใด (ความยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้ในการหาหลักฐาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่มาตรฐานกฎหมายสากลกำหนดให้จำเลยที่ต้องสงสัยว่าได้เงินมาโดยมิชอบเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าได้เงินมาอย่างไร ไม่ใช่ยกให้เป็นภาระของอัยการ)
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในคดีนี้ที่หลายคนดูจะเข้าใจผิด ลืมคิด หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นคือ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” นั้น ถ้าเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของนักการเมือง (คือทำให้ “ร่ำรวยผิดปกติ”) ก็ผิดมหันต์แล้ว โดยเฉพาะนโยบายที่ตอกลิ่มความไม่เป็นธรรมในสนามแข่งขันให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ด้วยการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจนักการเมืองมากกว่าเก่า หรือเอื้อประโยชน์ให้ทั้งธุรกิจของตัวเองและคู่แข่งรายเดิมด้วยการกีดกันคู่แข่งรายใหม่
ประเด็นที่ว่านโยบายนั้นทำให้คนอื่น (เช่น ผู้บริโภคหรือลูกค้าของธุรกิจนักการเมือง) พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วยหรือไม่เพียงใดนั้นเป็นประเด็นรองที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับข้อหา “ร่ำรวยผิดปกติ” และดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะมา “ลบล้าง” ความผิดฐาน “ร่ำรวยผิดปกติ” ที่เกิดจากการซุกหุ้นและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้เลย.
หมายเหตุ: ครึ่งแรกของบทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “รู้ทันตลาดทุน”, หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2553