ดนตรี ครีเอทีฟคอมมอนส์ และเบื้องหลังคอนเสิร์ต Love is Hear

เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนไปร่วมงาน ccSalon ครั้งแรกในประเทศไทย หัวข้อ “ดนตรีกับครีเอทีฟคอมมอนส์” ดาวน์โหลดไฟล์เสียงได้จากหน้า “Media” ของบล็อกนี้ หรือจากที่นี่ – แนะนำ CC โดย พิชัย พืชมงคล [3MB], วงเสวนา+ถาม/ตอบ [70MB] ร่วมสนทนาโดย กิจ โมโนโทน (@kijjaz), อธิป จิตตฤกษ์ (FxxkNoEvil), พัชร เกิดศิริ (@iPattt) และ จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ (@iMenn), คเณศ พักตระเกษตริน และ พรภัฏ ชีวีวัฒน์ (@Noterious) จากวงกาเนชา, และผู้เขียน ดำเนินรายการโดย ภาสกร หงษ์หยก (@hongsyok)

เป็นวงเสวนาที่สนุกและได้ความรู้เยอะมาก ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน รวมทั้ง @bact ผู้ปิดทองหลังพระ 😉 อ่านรายงานบรรยากาศของงานนี้ได้จาก เว็บฟิ้ว และขอแนะนำให้อ่านความคิดของคุณพัชรต่อที่ บล็อกคุณพัชร เพราะมีประเด็นน่าสนใจเยอะมาก คงต้องจัดคุยรอบสอง สาม สี่ ฯลฯ ไปเรื่อยๆ 🙂

ดู/ดาวน์โหลดสไลด์ที่ใช้ในงานได้จากที่นี่ค่ะ –

ถัดมาอีก 3 วัน ได้รับเกียรติจากบี๋ – ปรารถนา จริยวิลาศกุล จาก Nude Communication เอเยนซีผู้จัดคอนเสิร์ต Love is Hear เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ซึ่งปรากฎว่าเป็นเพื่อนสมัยประถม ไม่ได้เจอกันมา 20+ ปี) มาบรรยายเรื่องเบื้องหลังการจัดงานนี้ในชั้นเรียนของผู้เขียน วิชา “ธุรกิจกับสังคมและชุมชน” ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าใครสนใจ ดาวน์โหลดไฟล์เสียงการบรรยาย [30MB] ได้จากที่นี่ พร้อมดู/ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบได้จากด้านล่าง

สองงานนี้ถ้าดูเผินๆ อาจไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่ถ้ามองให้ลึก ผู้เขียนคิดว่ามีส่วนคล้ายและจุดร่วมที่น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะสปิริตของการแบ่งปัน การ “มองเห็น” และ “สร้าง” มูลค่าทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน โดยไม่ใช้เงิน และการใช้ “ทุน” รูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากเงิน เช่น เครือข่ายคนรู้จัก เพื่อนฝูง ฯลฯ เป็น “คานงัด” ในการทำงานสร้างสรรค์ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้มี “กำไรสูงสุด” เป็นเป้าหมาย แต่ทำเพราะต้องการสร้างผลตอบแทนต่อสังคมเป็นหลัก

ระบอบทุนนิยมที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 จะต้องสามารถสร้างและบริหารจัดการมูลค่าที่ไม่ใช่เงินทำนองนี้ให้ได้ ไม่ใช่มองว่ามันเป็นตัวแปรนอกระบบ ใครที่สนใจประเด็น triple bottom line, blended value, การลงทุนเพื่อสังคม ฯลฯ ติดตามอ่านชุดบทความเกี่ยวกับงาน Social Capital Markets 2009 ที่ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วม ได้ในเซคชั่น Special Issue ประชาชาติธุรกิจ (เวอร์ชั่นสรุป) สองตอนจบ และเว็บไซต์ออนไลน์ (เวอร์ชั่นเต็ม) ภายในอีกไม่กี่วันนี้ค่ะ เอาขึ้นโอเพ่นออนไลน์เมื่อไหร่จะโพสแจ้งอีกที 😀