“Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”
(ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)
ประโยคนี้พระเจ้า Jigme Wangchuck กษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบัน กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515
พระราชดำรัสของกษัตริย์ภูฏาน ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดเพราะๆ ธรรมดา แต่เป็นหลักการที่พระองค์และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโดยใช้หลักศาสนาพุทธเป็นที่ตั้ง ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอันน่าติดตามอย่างยิ่ง
ตอนนี้หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจโลกตะวันตกทั้งหลาย กำลังหันมาสนใจเรื่องนี้กันแล้ว เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างขึ้น และคุณภาพชีวิตตกต่ำ ล้วนทำให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า GNP หรือ GDP เป็นตัววัด “ความเจริญ” ที่แย่มากสำหรับโลกปัจจุบัน เพราะวัดการ “สะสมด้านวัตถุ” เพียงมิติเดียวเท่านั้น แถมเป็นด้านวัตถุที่ถูกครอบงำโดยบริษัทและภาครัฐอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะไม่รวมกิจกรรมของผู้ที่อยู่ใน “informal economy” – “เศรษฐกิจชายขอบ” ซึ่งไม่มีรายได้ประจำ และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายใดๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น กรรมกรรายวัน ฯลฯ (เศรษฐกิจชายขอบของไทยมีมูลค่า กว่า 50% ของเศรษฐกิจรวม)
“Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”
(ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)
ประโยคนี้พระเจ้า Jigme Wangchuck กษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบัน กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515
พระราชดำรัสของกษัตริย์ภูฏาน ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดเพราะๆ ธรรมดา แต่เป็นหลักการที่พระองค์และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโดยใช้หลักศาสนาพุทธเป็นที่ตั้ง ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอันน่าติดตามอย่างยิ่ง
ตอนนี้หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจโลกตะวันตกทั้งหลาย กำลังหันมาสนใจเรื่องนี้กันแล้ว เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างขึ้น และคุณภาพชีวิตตกต่ำ ล้วนทำให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า GNP หรือ GDP เป็นตัววัด “ความเจริญ” ที่แย่มากสำหรับโลกปัจจุบัน เพราะวัดการ “สะสมด้านวัตถุ” เพียงมิติเดียวเท่านั้น แถมเป็นด้านวัตถุที่ถูกครอบงำโดยบริษัทและภาครัฐอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะไม่รวมกิจกรรมของผู้ที่อยู่ใน “informal economy” – “เศรษฐกิจชายขอบ” ซึ่งไม่มีรายได้ประจำ และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายใดๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น กรรมกรรายวัน ฯลฯ (เศรษฐกิจชายขอบของไทยมีมูลค่า กว่า 50% ของเศรษฐกิจรวม)
นอกจากนี้ GNP/GDP ก็ไม่สามารถแยกแยะระหว่างสินค้า “ดี” และ “เลว” (เช่น ปืน มีด รวมทั้งค่าจ้างของที่ปรึกษาเฮงซวยทั้งหลาย เช่น ทนายที่หาช่องโหว่ของกฎหมายให้คนเลว หรือสถาบันการเงินที่หาวิธีต้มตุ๋นนักลงทุนให้ลูกค้า เช่นกรณีอื้อฉาวของ Enron) ออกจากกันได้ ดังนั้นปีไหนปืนขายดี (ซึ่งอาจทำให้สถิติการปล้นฆ่าสูงขึ้น) หรือปีไหนธุรกิจทนายรวยขึ้นเพราะมีลูกค้ามาจ้างทนายเลวๆ ให้แนะวิธีโกง ตัวเลข GDP ของประเทศก็ยังคงสูงขึ้น ทั้งๆ ที่สินค้า “เลว” เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
ใน 50 ปีที่ผ่านมา รายได้ของชาวอเมริกันสูงขึ้นสามเท่า แต่คนไม่ได้รู้สึกมีความสุขมากกว่าเดิม ผลการวิจัยใน “เศรษฐศาสตร์ความสุข” (happiness economics) เศรษฐศาสตร์แขนงใหม่มากๆ ก็กำลังชี้ให้เห็นว่า เงินอย่างเดียวซื้อความสุขไม่ได้ มีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่ผลต่อความสุขของคนสมัยใหม่ เช่น ความรัก สุขภาพจิต ความรู้สึกปลอดภัย ระดับรถติด ระดับมลพิษ ฯลฯ
เพราะฉะนั้นการที่ GDP ของเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อาจเป็นข่าวดีส่วนน้อยเมื่อเทียบกับข่าวร้ายส่วนใหญ่ และเมื่อการใช้จ่ายเงินของภาครัฐเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ GDP แปลว่าเมื่อไหร่รัฐบาลอยากโชว์ผลงาน ก็แค่อัดเงินลงไปเยอะๆ GDP ก็ขึ้นเอง แม้ชาวนาจะได้แค่น้ำเชื้อวัว ไม่ใช่วัวเป็นตัวๆ อย่างที่รัฐบาลประกาศ และการ “หว่านเงิน” ของรัฐบาลก็อาจทำให้ประเทศชาติ “ถังแตก” ได้ง่ายๆ เพราะเป็นการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย (เช่น กระตุ้นให้คนไปซื้อมือถือ) ไม่ใช่การลงทุนที่จะให้ผลอะไรที่ยั่งยืนในระยะยาว
ก่อนจะนอกเรื่องไปเป็นการด่ารัฐบาลล้วนๆ ขอรีบวกกลับมาเรื่อง Gross National Happiness (GNH) ของภูฐานดีกว่า 😉
ภฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่วัดความเจริญของประเทศด้วยหลักการ GNH แสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในปี 2541 รัฐบาลภูฏาน (ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีถวายคำปรึกษา) ประกาศแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แผนนี้ตั้งอยู่บนหลักการ “Four Pillars of Happiness” (สี่เสาหลักแห่งความสุข) คือ:
- การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainable economic development)
- การรักษาสภาพแวดล้อม (conservation of the environment)
- การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ (promotion of national culture)
- ธรรมาภิบาลที่ดี (good governance)
แม้ภูฏานจะยังไม่มีวิธีวัดค่า GNH อย่างเป็นทางการ (คงต้องรอผลจากการเสวนาเรื่องนี้ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี) แต่นโยบายเศรษฐศาสตร์ “นอกกระแส” ของภูฏาน กำลังเกิดผลในทิศทางที่ดีโดยรวม ตัวอย่างเช่น ภูฏานมีนโยบายปลูกป่าทดแทนอย่างเคร่งครัด ทำให้ยังมีป่ากว่า 70% ของประเทศ แม้จะมีการตัดถนนอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ด้วยโควต้าคนและภาษีท่องเที่ยวที่แพงลิบลิ่ว (US$200 ต่อคนต่อวัน) เพราะไม่ต้องการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเป็นแสนๆ เข้าไปทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขา หรือความเงียบสงบของวัด อีกตัวอย่างที่น่าคิดคือ เมื่อไม่นานมานี้หมู่บ้านหนึ่งติดตั้งไฟฟ้าให้ทุกบ้าน แต่เมื่อค้นพบว่านกกระเรียนหลายตัวบินไปติดสายไฟฟ้า ถูกไฟช็อตตาย ชาวบ้านก็พร้อมใจกันถอนเสาไฟฟ้าออกหมด แล้วหันมาใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน
ยอมลดระดับเทคโนโลยีลงมา เพราะไม่ต้องการเห็นนกกระเรียนถูกฆ่า นี่เป็นตัวอย่างของการหาจุดสมดุลระหว่างคุณธรรมทางพุทธ กับความสะดวกสบายสมัยใหม่ ที่น่าประทับใจและหายากในความเห็นของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนภูฏานเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ตลอด 10 วันในภูฏาน ข้าพเจ้าไม่เห็นขอทานเลยแม้แต่คนเดียว คนภูฏานที่เห็นส่วนใหญ่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะภูฏานจนเป็นอันดับ 189 ของโลก จาก 222 ประเทศทั้งหมด คือมีรายได้ต่อหัวเพียง US$1,300 ต่อปี หรือเพียง 4,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น เทียบกับประเทศไทยแล้ว ภูฏานจนกว่าเราประมาณเกือบ 2 เท่า แต่คนของเขาดูมีความสุขจริงๆ
ถามไกด์ชาวภูฏาน เขาถามข้าพเจ้ากลับว่า ความจนนั้นควรวัดกันยังไง? ตามกฎหมายภูฏาน คนภูฏานทุกคนได้ที่ทำกินประมาณ 10 ไร่ฟรีจากรัฐบาล และคนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกันทำมาหากิน ใครเข้าเมืองไปหางานทำ ไม่มีงานก็กลับมาทำนา ยังไงๆ ก็ไม่อดตาย
ตอนนี้ภฏาน ประเทศเล็กๆ ในเทือกเขาหิมาลัยที่มีประชากรเพียง 600,000 คน กำลังเป็นผู้นำในการเสวนาระดับโลกเรื่อง GNH ภูฐานจัดสัมมนาเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว มีนักวิชาการ นักวิจัยและนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 82 คน จาก 20 ประเทศ บทความต่างๆ จากการสัมมนานี้ มีการรวมเล่มเป็นหนังสือ ที่ท่านสามารถ ดาวน์โหลด ได้ที่นี่ (PDF format, 233 หน้า) หรือจาก เว็บไซด์ Gross National Happiness ที่มีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแนวคิดและการค้นคว้า GNH ที่น่าสนใจอีกมาก การสัมมนานานาชาติเรื่องนี้ครั้งที่สอง เพิ่งจบไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อีกสักพักคงได้เห็นการสรุปผลบนเว็บไซด์ GNH ด้วย
ต่อไปข้าพเจ้าอยากแปลบางส่วนจากบทความเรื่อง GNH ใน Alternet.org ที่สรุปผลการสัมมนา GNH ปีที่แล้ว และพัฒนาการใหม่ๆ ของแนวคิดนี้ไว้อย่างน่าสนใจมาก (แค่ลิ้งค์ไปเว็บไซด์ต่างๆ ที่อ้างอิงในบทความก็น่าสนใจแล้ว):
————–
แนวคิดเรื่อง GNH อาจเป็นความก้าวหน้าทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา ในความเห็นของแฟรงค์ ดิ้กสัน บัณฑิตจาก Harvard Business School ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ แห่ง Innovest Strategic Value Advisors ซึ่งเป็นสถาบันการเงินข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด ที่เน้นการทำงานให้กองทุนที่มีคุณธรรม (ethical investment funds)
“GNH เป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ระบบของมนุษย์ดีขึ้นมาก ด้วยการเลียนแบบระบบธรรมชาติที่มีความละเอียดซับซ้อนกว่าหลายร้อยเท่าตัว” ดิ้กสันกล่าว
แต่ระบบเศรษฐกิจที่ “เลียนแบบธรรมชาติ” นั้น แปลว่าอะไร? ดิ้กสันและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ อธิบายดังนี้: ตอนนี้บริษัทและประเทศทั้งหลายถูกกระตุ้นให้เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างเดียวในธรรมชาติที่สะท้อนพฤติกรรมแบบนี้คือ เซลล์มะเร็ง ซึ่งเติบโตด้วยการทำลายร่างที่ใช้อาศัย (host body) และทำลายตัวมันเองในที่สุด
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า เศรษฐกิจมนุษย์นั้น ไม่สามารถเติบโตได้โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียทางสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ ได้อีกต่อไป แต่แม้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จะเข้มงวดขึ้นมากใน 20 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการแข่งขันที่จะกอบกู้โลกให้พ้นจุดอันตราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกินกว่าที่โลกของเราจะรองรับได้ แรงกดดันให้ประเทศต่างๆ สร้างมูลค่า GNP ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหานี้ที่เห็นได้ชัดเจน
แนวคิดเรื่อง GNH เป็นหนึ่งในวิธีการเราอาจใช้แก้ไขความไม่สมดุลต่างๆ เหล่านี้ได้ การสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ที่ภูฐาน [ในปี 2547] สะท้อนความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมว่า เราควรต้องวัดและให้ความสำคัญต่อ GNP ต่อไป แต่ในลักษณะที่ไม่ทำให้ GNH ลดลง ที่ผ่านมา [แวดวงวิชาการ] มีแนวโน้มที่จะมอง GNH ว่าเป็นเพียงสโลแกนสวยหรูจากประเทศเล็กๆ ที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมเท่านั้น นอกจากนี้ ปัญหาของการให้คำจำกัดความ และวัดค่า “ความสุข” เป็นตัวเลข เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเรื่อง GNH อยู่เพียงชายขอบของวาทกรรมเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม การสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราควรวัดระดับความสุขขั้นพื้นฐานได้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของโภชนาการ (nutrition), การมีที่อยู่อาศัย, การศึกษา, สุขภาพ, และชีวิตชุมชน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ GNH จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง แนวคิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อนักพัฒนาทุกคน ในความเห็นของมิเอโกะ นิชิมิสุ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารโลก ในภาคพื้นเอเชียใต้ และเข้าร่วมการสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ที่ผ่านมาด้วย…
…ตั้งแต่ปี 2538 ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกาชื่อ Redefining Progress (ความเจริญนิยามใหม่) ได้วัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจอเมริกาทุกปีโดยใช้ดัชนีชื่อ Genuine Progress Indicator (GPI – “ดัชนีความก้าวหน้าแท้จริง”) ซึ่งให้ภาพที่น่าหดหู่กว่า GNP มาก [ดูรูปข้างล่างประกอบ]
ดัชนี GPI เข้าใกล้ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนดังนี้: ตัวเลขนี้รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนและภาคอาสาสมัคร ที่ถูก GNP มองข้ามไป หักด้วยมูลค่า “ความเสียหาย” (loss) ที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม และค่าใช้จ่ายในการป้องกันอาชญากรรม ในทางเดียวกัน เงินที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ และวิธีอื่นๆ ที่ใช้รับมือกับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ก็นับเป็นค่าความเสียหายด้วย นอกจากนี้ค่าความเสียหายยังนับรวมมูลค่าเงินที่เข้ามาหมุนเวียนอยู่ในระบบจากอุบัติเหตุรถชน และการหย่าร้าง ดัชนี GPI ยังรวมผลการประเมินว่า ประชากรทั้งประเทศ มีส่วนร่วมในการสะสมทางวัตถุมากน้อยเพียงใด
ดัชนี GPI เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามที่จะคิดค้นดัชนีใหม่ๆ ที่ใช้วัดระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง นักวิจัยเรื่องนี้หลายๆ คนเข้าร่วมการสัมมนาที่ภูฐานด้วย รวมทั้งแฟรงค์ บราโก จากเวเนซุเลอา อดีตเอกอัตรราชทูตประจำประเทศอินเดีย 15 ปีที่แล้ว บราโกชี้ว่า แม้หลายประเทศเช่น คอสตาริกา, แคนาดา, ไอซ์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, ศรีลังกา, และมองโกเลีย จะเริ่มใช้ดัชนีคุณภาพชีวิตแล้ว GNP ยังเป็นดัชนีที่ทรงอำนาจที่สุดอยู่…
…ปฏิญญาที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ปีที่แล้ว ตกลงร่วมกันกล่าวว่า การพัฒนา GNH ควรกระทำควบคู่ไปกับ “การพัฒนาดัชนีต่างๆ ที่สะท้อนสุขภาพกาย และสุขภาพใจของมนุษย์ ดัชนีดังกล่าวควรใช้ในระดับปัจเจกบุคคลได้ เพื่อให้ประชาชนแต่ละคนและชุมชนของตน สามารถวัดความคืบหน้าของตนในการแสวงหาความสุข นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวต้องสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาลที่ดี และการดำเนินธุรกิจที่จรรโลงสร้างสรรค์สังคมส่วนรวม ทั้งในชีวิตประจำวัน และในกิจกรรมและนโยบายระยะยาว”
————–
ในเมื่อชาวไทยส่วนใหญ่ยัง(อ้างว่า)เป็นพุทธศาสนิก และเมื่อรัฐบาลตอนนี้ดูเหมือนจะหายใจเข้าออกเป็น GDP รายไตรมาสไปหมด จนละเลยปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน มากกว่าตัวเลขรายได้หรือผลผลิต ควรหรือที่นักวิชาการของไทย จะยังไม่เริ่มพัฒนาคิดค้น GNH เวอร์ชั่นประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กันให้มากขึ้น? อย่างน้อยที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ไทยน่าจะเริ่มวัดและติดตามดัชนีความเจริญใหม่ๆ ทีสะท้อนความเป็นอยู่คนได้ดีกว่า GDP หรืออย่างน้อยก็เพิ่มมิติของ คุณภาพ การเิติบโตทางเศรษฐกิจ เข้าไปเสริมการวัดปริมาณมิิติเดียว เช่นการคิด Genuine Progress Indicator ข้างต้น หรือไม่ก็เปิดคอร์ส สอนเรื่อง happiness economics กันในมหาวิทยาลัยเสียเลย
ก็ขอเป็นกำลังใจให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลายด้วยคน 🙂