เห็นคุณปริเยศ บล็อกเกอร์โปรดคนหนึ่งที่หายหน้าหายตาไปนาน โผล่มาโพสต์คอมเม้นท์ที่แสดงความคิดอันเฉียบคมเช่นเคยที่ บล็อกคุณสหายสิกขา เกี่ยวกับ “ทักษิโนมิคส์” ก็อยากเผยแพร่ให้อ่านโดยทั่วกัน
“บทความ” ที่เอามาแปะนี้ตัดต่อจากคอมเม้นท์ของคุณปริเยศ โดยคัดเอาความเห็นโต้ตอบ (ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน) ของคุณสหายสิกขาออกเพื่อความต่อเนื่องของข้อมูล ต้องขออภัยคุณสหายสิกขามา ณ ที่นี้
อ่านข้อคิดของคุณปริเยศจบแล้วก็ยิ่งทำให้เชื่อว่า ตราบใดที่สมาชิกชนชั้นกลางยังไม่พยายามทำความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจคนจนในชนบท (เช่น มองเห็นว่าเขาไม่ได้โง่ แต่รับเงินซื้อเสียงเพราะยากจน และไปเลือกคนให้เพียงเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณ) เพียงพอที่จะช่วย “เป็นปากเป็นเสียง” ให้พวกเขา โดยเรียกร้องและตรวจตราให้รัฐบาลดำเนินนโยบายช่วยเหลือคนจนอย่างจริงจัง มีประสิทธิผล และยั่งยืน ตลอดจนมอบอำนาจให้กับคนชนบทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของเขา ปรากฎการณ์ “คนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงไล่รัฐบาล” ก็คงจะยังเป็น “ความจริงอันน่าหดหู่” ของเมืองไทยไปอีกนาน
เพราะพฤติกรรมการ “ขายเสียง” ของคนชนบทนั้น ลึกๆ แล้วไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เท่ากับเป็นความผิดของพวกเราชนชั้นกลาง ที่นิ่งดูดายต่อความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ปล่อยให้เขาตกอยู่ในวังวน “โง่-จน-เจ็บ” และมี “ค่า” ต่อนักการเมืองในฐานะเพียง “ฐานเสียง” ทีจะ “หว่านเงินก่อนแล้วหลอกแดกทีหลัง” (ในวลีฮิตของงิ้วธรรมศาสตร์) เท่านั้น.
ทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงหรือ?
ขอรบกวนให้หลายท่านวิสัชนาให้ผมหน่อยเถอะ ว่าทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงๆ หรือเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐอีกรูปแบบหนึ่งกันแน่???
เหตุที่ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มรากหญ้าที่เป็นกำลังหลักของทักษิณเดิมก็อยู่กันแบบตามมีตามเกิด ผ่านเศษเงินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องไปเดินขบวนต่อรองช่วยเหลือเมื่อราคาพืชผลตกต่ำ แต่ก็ได้แค่นั้น จนกระทั่งทักษิณมาในปี 2544 มี OTOP มี 30 บาท มีพักชำระหนี้เกษตรกร มีเงินช่วยเหลือไปยังหมู่บ้าน แต่ได้แค่นั้นเช่นกัน ทักษิณเองไม่เคยแตะปัญหาหลักคือเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การกระจายรายได้ ซึ่งจะมีการปฏิรูปที่ดินได้อย่างไร ในเมื่อที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของตระกูลชินวัตร ตระกูลสิริวัฒนภักดี ตระกูลอัศวโภคิน และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใครจะกล้าไปทำลายผลประโยชน์ของตนเองและผลประโยชน์ของชนชั้นสูง เรื่องการเก็บภาษีมรดกเพื่อช่วยการกระจายรายได้ ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสมัยทักษิณ
ผมคิดว่า ทักษิณให้แก่คนรากหญ้า ชาวบ้านต่างจังหวัดมากกว่านายกฯ คนอื่นๆ เท่านั้นเอง การที่ให้เงินแก่ชาวบ้าน เพื่อเป็นฐานหลักสำหรับการดำรงอำนาจในระบอบการเลือกตั้งที่ตัดสินตามคะแนนเสียงทุกๆ 4 ปีเท่านั้นเอง ทักษิณไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านในเชิงโครงสร้างอย่างจริงๆ เลย แต่กำลังดึงให้ชาวบ้านกลุ่มรากหญ้าเข้ามาสู่ระบบอุปถัมภ์โดยรัฐต่างหาก เช่นเดียวกับชนชั้นสูงที่เคยได้อภิสิทธิ์นี้ แต่ระดับการอุปภัมภ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เห็นคุณปริเยศ บล็อกเกอร์โปรดคนหนึ่งที่หายหน้าหายตาไปนาน โผล่มาโพสต์คอมเม้นท์ที่แสดงความคิดอันเฉียบคมเช่นเคยที่ บล็อกคุณสหายสิกขา เกี่ยวกับ “ทักษิโนมิคส์” ก็อยากเผยแพร่ให้อ่านโดยทั่วกัน
“บทความ” ที่เอามาแปะนี้ตัดต่อจากคอมเม้นท์ของคุณปริเยศ โดยคัดเอาความเห็นโต้ตอบ (ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน) ของคุณสหายสิกขาออกเพื่อความต่อเนื่องของข้อมูล ต้องขออภัยคุณสหายสิกขามา ณ ที่นี้
อ่านข้อคิดของคุณปริเยศจบแล้วก็ยิ่งทำให้เชื่อว่า ตราบใดที่สมาชิกชนชั้นกลางยังไม่พยายามทำความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจคนจนในชนบท (เช่น มองเห็นว่าเขาไม่ได้โง่ แต่รับเงินซื้อเสียงเพราะยากจน และไปเลือกคนให้เพียงเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณ) เพียงพอที่จะช่วย “เป็นปากเป็นเสียง” ให้พวกเขา โดยเรียกร้องและตรวจตราให้รัฐบาลดำเนินนโยบายช่วยเหลือคนจนอย่างจริงจัง มีประสิทธิผล และยั่งยืน ตลอดจนมอบอำนาจให้กับคนชนบทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของเขา ปรากฎการณ์ “คนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงไล่รัฐบาล” ก็คงจะยังเป็น “ความจริงอันน่าหดหู่” ของเมืองไทยไปอีกนาน
เพราะพฤติกรรมการ “ขายเสียง” ของคนชนบทนั้น ลึกๆ แล้วไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เท่ากับเป็นความผิดของพวกเราชนชั้นกลาง ที่นิ่งดูดายต่อความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ปล่อยให้เขาตกอยู่ในวังวน “โง่-จน-เจ็บ” และมี “ค่า” ต่อนักการเมืองในฐานะเพียง “ฐานเสียง” ทีจะ “หว่านเงินก่อนแล้วหลอกแดกทีหลัง” (ในวลีฮิตของงิ้วธรรมศาสตร์) เท่านั้น.
ทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงหรือ?
ขอรบกวนให้หลายท่านวิสัชนาให้ผมหน่อยเถอะ ว่าทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงๆ หรือเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐอีกรูปแบบหนึ่งกันแน่???
เหตุที่ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มรากหญ้าที่เป็นกำลังหลักของทักษิณเดิมก็อยู่กันแบบตามมีตามเกิด ผ่านเศษเงินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องไปเดินขบวนต่อรองช่วยเหลือเมื่อราคาพืชผลตกต่ำ แต่ก็ได้แค่นั้น จนกระทั่งทักษิณมาในปี 2544 มี OTOP มี 30 บาท มีพักชำระหนี้เกษตรกร มีเงินช่วยเหลือไปยังหมู่บ้าน แต่ได้แค่นั้นเช่นกัน ทักษิณเองไม่เคยแตะปัญหาหลักคือเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การกระจายรายได้ ซึ่งจะมีการปฏิรูปที่ดินได้อย่างไร ในเมื่อที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของตระกูลชินวัตร ตระกูลสิริวัฒนภักดี ตระกูลอัศวโภคิน และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใครจะกล้าไปทำลายผลประโยชน์ของตนเองและผลประโยชน์ของชนชั้นสูง เรื่องการเก็บภาษีมรดกเพื่อช่วยการกระจายรายได้ ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสมัยทักษิณ
ผมคิดว่า ทักษิณให้แก่คนรากหญ้า ชาวบ้านต่างจังหวัดมากกว่านายกฯ คนอื่นๆ เท่านั้นเอง การที่ให้เงินแก่ชาวบ้าน เพื่อเป็นฐานหลักสำหรับการดำรงอำนาจในระบอบการเลือกตั้งที่ตัดสินตามคะแนนเสียงทุกๆ 4 ปีเท่านั้นเอง ทักษิณไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านในเชิงโครงสร้างอย่างจริงๆ เลย แต่กำลังดึงให้ชาวบ้านกลุ่มรากหญ้าเข้ามาสู่ระบบอุปถัมภ์โดยรัฐต่างหาก เช่นเดียวกับชนชั้นสูงที่เคยได้อภิสิทธิ์นี้ แต่ระดับการอุปภัมภ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
1. การช่วยคนรากหญ้าในโลกทุนนิยม มี 2 วิธีหลัก คือ
ก. ปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร และปกป้องภาคเกษตรกรรมของประเทศ
วิธีนี้ต้องเชื่อว่าประเทศไทยมีทักษะความชำนาญเฉพาะด้านภาคการเกษตรจริงๆ มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านอุปทานในภาคการเกษตร
ถึงบรรทัดนี้อยากถามว่า แน่ใจหรือว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบเทียบในด้านนี้ โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านที่ดิน???
และเมื่อเพื่อพิจารณาบริบทแวดล้อมระดับโลกในกรอบของความสามารถเชิงแข่งขัน แน่ใจหรือว่าประเทศไทยมีความสามารถในด้านภาคเกษตรกรรม ผมตอบได้เลยว่าไม่มีครับ ประเทศไทยล้าหลังในด้านเทคนิคการเกษตร (ผมหมายถึงชาวนารายย่อย แต่อันที่จริงบริษัทการเกษตรรายใหญ่ของไทยไม่ว่าจะเป็นด้านข้าว น้ำตาล ก็มีประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำมากในระดับโลกทั้งสิ้น) การชลประทาน ปุ๋ย การเพาะพันธุ์พืชและ ฯลฯ ประเทศไทยมีทักษะด้านอะไรไปแข่งกับโลก ไม่มีเลย เพราะเราไม่เคยใส่ปัจจัยทุนใช้ในการวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้จริงจัง แม้กระทั่งรัฐบาลไทยรักไทย ตลอด 5 ปีไม่เคยสนใจที่ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรกรรม
ข. เปลี่ยนชนชั้นรากหญ้าให้เป็นชนชั้นกลางซะ
วิธีนี้เป็นวิธีที่กลุ่มโลกที่1 ทำกันอยู่โดยทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาสินค้าเกษตรโดยมากมักผันผวน ไม่แน่นอน มูลค่าเพิ่มต่ำ ไม่สามารถสะสมทุนและยกระดับการพัฒนาประเทศไทยโดยรวมได้ ที่ผ่านมานโยบายแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแผน 1 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เข้าใจถึงข้อนี้ดี โดยพยายามบีบแรงงานภาคเกษตรออกมาเป็นแรงงานในเมือง เก็บภาษีส่งออกข้าว หรือพรีเมียมข้าว แต่แผนดังกล่าวไมได้ชดเชยผลลบที่เกิดจากการโยกย้ายแรงงานในภาคการเกษตรมาสู่โรงงานสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอื่นๆ
แผนพัฒนาฯ ตั้งแต่แผนแรกถึงแผน 6 หรือ 7 (ผมจำไม่ได้) ไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าหลักประกันทางสังคม สหภาพแรงงาน สวัสดิการทำงานเยี่ยงประเทศอุตสาหกรรม
ดังนั้น แรงงานภาคการเกษตรที่โยกย้ายเข้าสู่ภาคการผลิตในเมืองต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในเมือง (ราคาสินค้าและบริการทั่วไปในเขตเมืองสูงกว่าเขตชนบท) และผลลบจากอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ยิ่งทักษะแรงงานไทยไม่ได้พัฒนาในระดับเดียวกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีปรากฏการณ์ทักษะแรงงานไทยระดับเดียวกับพม่าและกะเหรี่ยง แต่ค้าจ้างสูงกว่า นายจ้างจะเลือกใคร?
2. รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ช่วยคนจนหรือไม่?
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ โอฬาร ชัยประวัติ 2 ในคณะที่ปรึกษาสำคัญในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยรักไทย เสนอถึงความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยการสร้างอุปทานที่เข้มแข็ง ด้วยการยกระดับฐานการศึกษาของพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศ สร้างสาธารณูปโภคที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นการเปลี่ยนชนชั้นรากหญ้าให้เป็นชนชั้นกลาง และเป็นการแก้ปัญหาคนจนที่ดีที่สุดและยังเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศไปสู่ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะมีแต่ชนชั้นกลางเท่านั่นที่ว่างพอที่จะเป็นธุระบ้านเมือง ตรวจสอบบ้านเมือง และคานอำนาจชนชั้นสูงและนายทุน ตลอดจนภาษีจากฐานชนชั้นกลางนำไปเลี้ยงดูชนชั้นล่างหรือรากหญ้า เพราะไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาคนจนได้หมดจากประเทศ ไม่มีประเทศที่ไหนในโลกนี้ทำได้ (สำหรับผมมีเงื่อนไขเดียวที่ทำได้ในการแก้ปัญหาคนจนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือการพัฒนาระดับเทคโนโลยีที่ชั้นสูงมากๆ จนแก้ปัญหาการกระจายรายได้ การกระจายสินค้าและการขาดแคลนปัจจัย 4 ด้วยต้นทุนที่เป็นศูนย์) ตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว ฐานชนชั้นกลางจะกว้าง ในขณะที่ฐานคนรวยและฐานคนจนจะแคบ
ที่ผ่านมาตลอด 5 ปี รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ความช่วยเหลือแก่ชนชั้นรากหญ้า ผ่านการอัดงบประมาณรัฐลงไปเพื่อให้ถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่เคยตรวจสอบถึงประสิทธิภาพของกลไกอุปถัมภ์คนรากหญ้า ไม่เคยตรวจสอบประสิทธิผลของนโยบายที่อุ้มชูคนรากหญ้าเลย ผมเชื่อว่าสิ่งที่ไทยรักไทยทำในการช่วยเหลือคนจน ไม่ใช่เพราะพรรคไทยรักไทยรักคนจนมากกว่าพรรคอื่นอะไรหรอก หากแต่คนจนคือฐานคะแนนเสียงขนาดใหญ่ในการยึดอำนาจรัฐ และไทยรักไทยฉลาดกว่าประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ในการดึงดูดล่อหลอกคนพวกนี้มาลงคะแนนให้ ……
ในตลาด Voter คนจนคือกลุ่ม Voter หลัก เป็น Target Group ที่บริษัทไทยรักไทยจะต้องแย่งมาลงคะแนนให้พรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า Product ที่พรรคไทยรักไทยเสนอขายให้แก่คนจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพักชำระหนี้ 30 บาท ฯลฯ ไม่ได้มาจากเงินส่วนตัวของทักษิณ หรือสมคิด หากแต่มาจากเงินภาษีอากรของประเทศไทย ซึ่งแหล่งใหญ่ของภาษีอากรมาจากคนชั้นกลาง เพราะฉะนั้นบริษัทไทยรักไทยจึงไม่เคยคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเงินที่อัดลงไปให้รากหญ้าเลยว่า เม็ดเงินที่ลงกับผลลัพธ์มันคุ้มกันหรือไม่
สิ่งที่ไทยรักไทยทำกับคนจน รัฐบาลประชานิยมห่วยๆ ที่ไหนในโลกก็ทำได้ แต่สิ่งที่วัดกันจริงๆ ในการช่วยคนจน คือการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยไม่ดำเนินตามรูปแบบ East Asia Economic Model (EAEM) ที่เน้นขายแรงงานราคาถูก เป็นประเทศรับจ้างการผลิตแก่บรรษัทข้ามชาติ ฯลฯ ต่างหาก และนี่คือสิ่งที่ Daniel Lian และ ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ยกย่องนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย ไม่ใช่นโยบายแจกเงินแก่คนจน
ดังนั้นคำถามคือ ไทยรักไทยมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนหรือไม่ โดยเฉพาะในสมัยทักษิณ 2 (กพ. 48 – กพ. 49)
โดยสรุป ผมเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยมิได้จริงใจต่อคนจนจริงเท่าที่มุมมองของคนจนที่มีต่อไทยรักไทยและทักษิณ
นับตั้งแต่มีนโยบายประชานิยม ผมพบว่ากลไกการดำเนินงานของนโยบายประชานิยมมีปัญหามาโดยตลอด อาทิเช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีข่าวสารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมถึงประสิทธิภาพในการใช้บริการโครงการดังกล่าว จนเป็นวลีว่า “30 บาทตายทุกโรค” แก่นหลักของปัญหาคืองบประมาณของรัฐที่ให้แก่โครงการนี้ต่ำเกินไป จนทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากขาดทุน หมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำงาน Over Load จนต้องลาออกกันไปจำนวนมาก นโยบายนี้ทำลายประสิทธิภาพของโรงเรียนแพทย์หลายแห่งของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการพักชำระหนี้ต่อเกษตรกร การปล่อยกู้ให้แก่รากหญ้าในเมือง ที่กระทบต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์และธนาคารออมสินตามลำดับ รายงานหลายชิ้นระบุว่า รากหญ้าที่กู้เงินจากธนาคารทั้ง 2 แห่งต้องกู้เงินนอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่ามาหมุนเวียนผ่อนชำระคืนแก่ธนาคารรัฐที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อรักษาเครดิตเพื่อที่การขอกู้เงินในครั้งต่อไป รายงานหลายชิ้นเช่นกันระบุว่า หนี้เสียของธนาคารทั้ง 2 แห่งสูงกว่าที่รัฐบาลประกาศมาก
ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อวาน หากแต่ปะทุมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2545 ตามลำดับ แต่พรรคไทยรักไทย ในฐานะรัฐบาลไม่เคยจัดการปัญหานี้ กลับเอางบประมาณของรัฐถมไปกับโครงการดังกล่าว โดยไม่ได้แก้ปัญหากลไกการบริหาร การจัดการ ที่กำลังจะพังอยู่รอมร่อ ขอเพียงแต่ประเทศไทยเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินโครงการ ระบบดังกล่าวจะล้มลงทันที ซึ่งถ้ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยดูแลคนจนและใส่ใจคนจนจริง มีหรือที่จะปล่อยปัญหาเหล่านี้ทิ้งไว้ตามมีตามเกิดและปะทุขึ้นมาขนาดนี้
อย่าลืมว่าคณะรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทยและตัวนายกฯ ทักษิณ เป็นนักบริหารมืออาชีพและประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการ ตลอดจนโครงการขนาดใหญ่มาตลอด ทำไมจะไม่เข้าใจขีดจำกัดการปฏิบัติงานของโครงการประชานิยมอาทิเช่นโครงการ 30 บาท และเข้าใจถึงทิศทางในอนาคตของโครงการดังกล่าวเมื่อคำนึงถึงประสิทธิภาพของระบบและงบประมาณที่จัดสรร ………
ซึ่งถ้าโครงการนี้ดำเนินการโดยทรัพยากรส่วนตัวของทักษิณและคณะรัฐมนตรี ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะมากกว่านี้หรือไม่ และทักษิณตลอดจนคณะรัฐมนตรีจะกล้าเอาทรัพยากรส่วนตัวเป็นงบประมาณสำหรับโครงการประชานิยมหรือไม่
3. นโยบายการพัฒนาประเทศไทยของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
ในส่วนนี้ผมชื่นชมพรรคไทยรักไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่เข้าใจโจทย์หรือปัญหาในการบริหารและพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าในยุคโลกาภิวัตน์
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองใดและบุคลากรในพรรคการเมืองใดทั้งประชาธิปัตย์และชาติไทยตลอดจนมหาชน รวมถึงขาประจำทั้งหลายที่ออกมาด่าทักษิณและรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะเข้าใจถึงปัญหาและความท้าทายในการบริหารจัดการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เต็มไปด้วยความผันผวนของทุน เทคโนโลยี และการเคลื่อนไหวที่ไร้พรมแดนของทุน ความรู้ สินค้า บริการ เชื้อโรค
แต่การเข้าใจและทราบถึงโจทย์ในการบริหารจัดการประเทศ เป็นเงื่อนไขอันจำเป็น แต่ไม่ใช่เงื่อนไขอันเพียงพอในการยกระดับประเทศไทย
เงื่อนไขอันเพียงพอคือการคัดสรรนโยบาย ออกแบบนโยบายและดำเนินนโยบาย ที่จะมีผลในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า
แต่การคัดสรรนโยบาย ออกแบบนโยบาย รวมทั้งดำเนินนโยบาย ในยุคปัจจุบันไม่ง่าย ไม่ง่ายเมื่อเทียบกับความสำเร็จในสิ่งที่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ได้ดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาไปก่อนหน้าไทยและในสภาพแวดล้อมแตกต่างจากไทยเมื่อ 30 หรือ 40 ปีก่อน แต่ในยุคปัจจุบัน การคัดสรรนโยบาย ออกแบบนโยบาย รวมทั้งดำเนินนโยบาย เรียกร้อง ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ความเชื่อมั่น ของผู้กระทำหน้าที่ดังกล่าวในที่นี้คือรัฐบาล
เดิมยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยก่อนยุค 2540 ถูกยกร่าง ดำเนินการ และบริหารจัดการ โดยเทคโนแครตในกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงคนอื่นๆ จนกระทั่งวิกฤติการเงิน 2540 ทำให้ความน่าเชื่อถือของเทคโนแครตลดทอนลงไป โดยเฉพาะเทคโนแครตจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลหลังจากนั้นก็ไปปฏิบัติตามเงื่อนไขของเทคโนแครตโลกบาล คือ เทคโนแครตจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศแทน กว่าจะต่อรองได้ก็ผ่านจดหมายแสดงเจตจำนงระหว่างรัฐบาลไทยกับ IMF ไปหลายฉบับ และในยุคของทักษิณนี้เอง ที่เทคโนแครตไม่มีสิทธิในการคัดสรรนโยบาย ออกแบบนโยบาย รวมทั้งดำเนินนโยบาย ทุกอย่างอยู่ในมือของนักการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ แต่นั่นยิ่งเรียกร้อง ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ความเชื่อมั่นในระดับที่มากกว่าเดิม
ตั้งแต่ปี 2544 เราถึงได้ยินคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตเชิงนโยบาย แต่เสียงเหล่านั้นรวมทั้งหนังสือรู้ทันทักษิณหลาย Volume ก็ไม่ได้ทำให้ชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่สั่นสะเทือนหรือหันมาตั้งข้อสังเกตตามอุปนิสัยของชนชั้นกลางที่ควรจะเป็น
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะวิกฤติปี 2540 ที่ส่งผลสะเทือนต่อชนชั้นกลางในระดับสูง ถ้าจำกันได้รัฐธรรมนูญที่กำลังถูกฉีกในไม่นานนี้ ก็เกิดขึ้นจากแรงกดดันจากชนชั้นกลางที่เผชิญวิกฤติในขณะนั้น ….. โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าวิกฤติดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อจิตสำนึกของชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมาก แน่นอนผมเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เต็มที่เลยทีเดียวแม้ว่าในขณะนั้นผมจะเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ก็ตาม ไว้โอกาสเหมาะสมผมคงจะเขียนเรื่องโลกทัศน์และจิตสำนึกของชนชั้นกลางหลังวิกฤติ 2540
ท่ามกลางความนิ่งเฉยของชนชั้นกลางในปี 2544 ถึง 2548 ตัวทักษิณเองกลับดำเนินนโยบายการเมืองแบบปิด ไม่เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียง อภิปรายด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างตามสิ่งที่ควรจะเป็นในระบอบทุนนิยม จัดวางคนของตัวในระบบราชการ องค์กรอิสระและแทรกแซงองค์กรอิสระจะแทรกแซง แทรกซื้อในระดับน้อยหรือมาก ไม่มีใครทราบเพราะพื้นที่ในการอภิปรายและแสดงความเห็นถูกคุกคาม ผมเองอดสงสัยและแปลกใจไม่ได้ว่าตัวนายกฯและรัฐบาลทำไมถึงปิดพื้นที่ทางการเมือง จนเป็นสภาพ Open Macro, Closed Politics ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีในระยะยาวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อได้คะแนนเสียงถล่มทลายหลัง 6 กพ. 2548 และทิศทางเศรษฐกิจไทยพบกับความผันผวน อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ชนชั้นกลางคือผู้เสียประโยชน์
ผมเองได้ตั้งข้อสังเกตนี้ตั้งแต่กลางปี 2548 ไว้กับเพื่อนฝูง และบทความของ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ว่าจะต้องมีการยุบสภาอย่างเร็วในกลางปี 2549 อย่างช้าปี 2550 แต่การยุบสภามาเร็วกว่าที่ผมคาดถึง 4 เดือน เพราะความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ความเชื่อมั่นของชนชั้นกลางที่มีต่อ ทักษิณ ลดทอนอย่างรวดเร็ว เหตุที่ลดทอนอย่างรวดเร็วเพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามเหตุน้ำมัน ทำให้ชนชั้นกลางไทยหันมาทบทวนประสิทธิภาพของรัฐบาลทักษิณ กับผลประโยชน์ที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดินกับการคอร์รัปชั่น ตลาดหุ้นชะลอตัว ผลลัพธ์จากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี แบบทวิภาคี (FTA) กับประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีทิศทางของข่าวสาร (จริงหรือเท็จก็ไม่มีใครทราบแต่เชื่อกันไว้ก่อนว่าน่าจะจริง) ว่าผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาล ผลประโยชน์ในเชิงมูลค่ารูปตัวเงินที่ได้จาก FTA อาจจะมากแต่ในเชิงจำนวนผู้รับ ผลประโยชน์จาก FTA ดูเป็นจำนวนน้อยเหลือเกิน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ทุกชนชั้น ทุกภาคส่วนเสียประโยชน์ไปแทบหมดสิ้น เพราะการดำเนินข้อตกลง FTA กับรัฐบาลประเทศต่างๆ ของรัฐบาลไทย คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ ว่ารัฐบาลเอาอะไรไปแลกและได้อะไรกลับมา และเสียอะไรไป รัฐบาลไม่ปรึกษากับรัฐสภา กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามที่ควรจะเป็นก่อนลงนาม กลับเดินหน้าลงนามไปก่อนและแจ้งแก่ภาคเอกชนทราบทีหลัง แม้ว่า FTA จะไม่มีผลทันทีและมีช่วงเวลาให้ภาคเอกชนปรับตัว แต่ภาคเอกชนส่วนมากเริ่มไม่ศรัทธาในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาลกลับขาดความโปร่งใส ขาดความน่าเชื่อถือและขาดความเชื่อมั่น และเชื่อกันว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่ผลประโยชน์รอบตัวผู้นำรัฐบาล
ศูนย์กลางของวิกฤติเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ การเงินสมัยใหม่ ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว หรือภาวะอุปทานล้นเกิน ภาวะเงินเฟ้อ หรือ ภาวะเงินฝืด หากแต่อยู่ที่ การดำรงคงอยู่ของความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ ของตลาด ซึ่งตลาดในที่นี้ถูกกำหนดโดยความคิดความรู้สึก ของภาคเศรษฐกิจต่างๆโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจการเงินในระดับโลกเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนผ่านปัจจัย จิตวิทยา สารสนเทศ และการคาดการณ์ ของภาคเอกชนต่างๆในระบอบเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ ของชนชั้นกลางที่มีต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ ความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ ถูกลดทอนลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากข้อมูลใหม่เชิงลบที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ จากการขายหุ้นในปลายเดือนมกราคม 2549 ความเชื่อมั่น ความศรัทธาของชนชั้นกลาง ต่อนายกรัฐมนตรีลดทอนลงอย่างรวดเร็ว ดุจดังปรากฏการณ์หลัง 2 กค. 2540 ที่ทุนจำนวนมาก (ไม่ใช่ Hedge Fund)ระแวงว่าสิ่งที่เกิดกับไทยจะเกิดกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ จึงเร่งพากันย้ายเงินทุนออก จนเป็นผลกระทบเชิงโดมิโนที่ส่งตรงไปยังอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ มีเพียงมาเลเซีย ที่รอดจากความแตกตื่นทางการเงินในขณะนั้น
ทักษิณแสดงออกมาในวิทยุเช้าวันเสาร์เสมอ ถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นหัวใจที่ให้ภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนลืมหรือแกล้งลืมไปว่านอกจากเศรษฐกิจแล้ว ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศย่อมสำคัญเฉกเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสียง 375 เสียง หรือมากกว่านั้นในสภาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเสียงนอกสภาจากชนชั้นกลางโดยเฉพาะในเมืองหลวงลงมติไม่ไว้วางใจ
ในแง่นี้การดำเนินนโยบายของพรรคไทยรักไทยในช่วงปลายปี 2547 ถึงปัจจุบัน ชนชั้นกลางต่างหากที่เสียประโยชน์จากนโยบาย FTA นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการรีดภาษีจากชนชั้นกลางเพื่อรองรับนโยบายการอุ้มชูคนจน การหาประโยชน์จากอภิมหาโครงการของรัฐโดยชนชั้นกลางเป็นผู้รับภาระในเชิงภาษี แต่ชนชั้นนายทุนโดยเฉพาะเครือข่ายทักษิณได้ผลประโยชน์ ส่วนของชนชั้นล่างหรือรากหญ้าก็รับการอุปถัมภ์ในนามของทักษิณ แต่เงินที่อุปถัมภ์มาจากชนชั้นกลาง
ถ้าคิดกันแค่เป็นเรื่องสงครามของชนชั้น ดังนั้นชอบธรรมแล้วที่ชนชั้นกลางกรีธาทัพกันออกมาต่อต้านทักษิณ ชอบธรรมแล้วที่ชนชั้นล่างออกมาปกป้องทักษิณ
สุดท้ายจะนำไปสู่อะไร
ผมคิดว่าปัญหาสำคัญของทักษิณ คือ ทักษิณไม่น่าไว้วางใจ สำหรับคนชั้นกลางกลุ่มทุนที่ไม่ได้อานิสงส์จากทักษิณ และกลุ่มชนชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทักษิณดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อกระทบผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มจำนวนมาก อาทิเช่น FTA แปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งน้องเขย(สมชาย)ไปคุมกองทุนเงินประกันสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย
ตลอด 5 ปีที่ผ่านของทักษิณ ได้มีการปิดกั้นการตรวจสอบจากองค์กรอิสระอย่างทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าการแทรกแซงของทักษิณจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าทักษิณไม่ต้องการตรวจสอบ ยิ่งองค์กรอิสระทำงานไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลคือชนชั้นกลางในเมืองเลือกที่เชื่อว่าเป็นการบงการของทักษิณ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ คุณหญิงจารุวรรณ พระราชอำนาจ การหายไปของปปช. ทำให้สารพัดข่าวลือหลายรูปแบบซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ แต่ผลคือ ทักษิณนั้นถูกเชื่อจากชนชั้นกลางว่า โคตรโกงและโกงทั้งโคตร รวมทั้งข่าวลือเรื่องความเหิมเกริมในรูปแบบต่างๆ ที่ท้าทายอำนาจของชนชั้นสูง
ผมมีความเชื่อว่า ที่ทักษิณมีอำนาจสูงมาตลอด 5 ปีนี้ เพราะชนชั้นกลางอนุญาตให้ทักษิณ มีอำนาจ เพราะความเชื่อ 2 ประการ
1. ทักษิณเท่านั้นที่บริหารจัดการเศรษฐกิจได้ดี
2. ทักษิณ โคตรโกงและโกงทั้งโคตร
ความเชื่อทั้ง 2 สัมพันธ์กับปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยและของโลกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วิกฤติปี 2540 ที่ทักษิณเป็นความหวังอันสูงยิ่งของชนชั้นกลาง ลองนึกถึงบรรยากาศศาลรัฐธรรมนูญในปี 2544 และในช่วงต้นปีและกลางปี 2548 ชนชั้นกลางในเมืองวางเฉยต่อกรณีทุจริต CTX ทั้งๆ ที่หลักฐานและข้อสงสัยถึงเรื่องการทุจริตในกรณีดังกล่าวหนักแน่นมาก แต่เลือกที่จะวางเฉยเมื่อทักษิณปรับย้ายสุริยะออกจากกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลลอยตัวกองทุนน้ำมัน ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ เสียงสงสัยต่อความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเริ่มทวีจำนวนขึ้น พร้อมๆ กับเรื่องอื้อฉาวทางทุจริตที่ปะทุขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวผู้นำรัฐบาล มาโดยตามลำดับ
ชนชั้นกลางหลายคนยอมให้มีการทุจริตเพราะเชื่อว่าทุกพรรค ทุกนักการเมืองย่อมทุจริตแต่ขอให้บริหารให้มีผลงาน ให้เศรษฐกิจไทยไปได้ดี ถือเสียว่าเป็นค่า Management Fee ไป ณ วันนี้ คนที่เชื่อดังกล่าวเริ่มคิดว่า ค่า Management Fee ดังกล่าว แพงเกินไปหรือไม่และคุ้มค่ากับผลงานของรัฐบาลหรือไม่ ถึงที่สุดความเชื่อดังกล่าวของระบบทักษิณในชนชั้นกลางข้อแรกเริ่มสั่นคลอนและมีแต่ลดน้อยถอยลงตามลำดับ แต่ความเชื่อข้อที่ 2 เริ่มทวีความเชื่ออย่างรุนแรงมากขึ้น ผนวกกับนโยบายของทักษิณที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางส่วนใหญ่อันที่จริงกระทบต่อทุกชนชั้นแม้แต่รากหญ้าเสียด้วยซ้ำไป โดยรัฐสภาไม่ได้มีโอกาสได้ตรวจสอบผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวตามวิถีทางที่ควรจะเป็น เช่นผลกระทบจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี หรือ FTA นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คนส่วนหนึ่งเลยไม่เชื่อว่า ทุกนโยบายจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ
อันที่จริงคำว่าประเทศชาติ โดยรูปธรรมเราก็ไม่รู้ว่าประเทศชาตินี่เป็นใคร? เพราะเมื่อใดก็ตามที่นักการเมืองหรือใครก็ตามเอ่ยถึงคำนี้ มันก็หมายถึงชนชั้นสูง กลุ่มทุน และชนชั้นกลางในเมืองและแน่นอนที่สุดคือผลประโยชน์ของผู้เอ่ยอ้างทุกทีอยู่ร่ำไป ดังนั้นเมื่อทักษิณดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทบผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม เช่นการทำ FTA การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและ ฯลฯ โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ (รัฐสภา) ภาคประชาชน นโยบายของทักษิณ จึงกระทบต่อกลุ่มรากหญ้า กลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มนายทุน ชนชั้นสูง และกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ
รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เป็นกติกาของการจัดสรรอำนาจของทุกฝ่ายหรือทุกกลุ่มผลประโยชน์ให้เข้ามาร่วมในการจัดสรรผลประโยชน์อย่างชอบธรรม (คือมีความชอบธรรม ถูกต้องตามกติกาและกลุ่มผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยอมรับ) และไม่ให้เป็นเป็นภาวะจลาจลอันเกิดจากการเปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลงของผู้เสวยอำนาจ…. แต่การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นระบอบรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย หลังเลือกตั้งจึงมี การ Lobby นโยบายจากกลุ่มผลประโยชน์ การคานอำนาจ และการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งความเข้มข้นที่ว่านี้มีทั้งตามกฎหมายและไม่ตามกฎหมาย ประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูง การตรวจสอบจากภาคสังคม โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางจะเข้มข้นเป็นพิเศษ เพราะชนชั้นกลางเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นกระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตย หรือแม้แต่ระบอบทุนนิยม แต่ประเทศไทยมีคนชั้นกลางน้อยเกินไป
ทักษิณเข้าใจระบอบทุนนิยมน้อยเกินไป ถ้าเข้าใจดังที่อวดอ้างทุกเช้าวันเสาร์ตลอด ทักษิณไม่ควรจะปล่อยให้ศรัทธาของชนชั้นกลางต่อตัวทักษิณสั่นคลอนขนาดนี้
4. สรุปผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย
ผมเชื่อว่า ระดับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยแยกไม่ออกกับภาวะเศรษฐกิจในระดับโลก ดูได้จากระดับการเปิดประเทศที่หาด้วย รายได้ประชาชาติจากการส่งออก (X: Export) + รายได้ประชาชาติจากการนำเข้า (M: Import) และหารด้วยผลผลิตมวลรวมประชาชาติ(GDP) ระดับการเปิดประเทศของประเทศไทยสูงขึ้นโดยตลอด ในปัจจุบันถ้าผมจะไม่ผิด ระดับการเปิดประเทศน่าจะมากกว่า 130% เมื่อเทียบกับ GDP
ระดับการเปิดประเทศที่สูงดังกล่าวสะท้อนว่า ประเทศไทยเปิดรับต่อการผันผวนทางเศรษฐกิจของโลกค่อนข้างสูง นับตั้งแต่ปี 1998 อดีตประธานธนาคารกลาง กรีนสแปนได้ลดอัตราดอกเบี้ยมาตลอด เพื่อจะแก้ปัญหาภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นไฮเทค แต่นั่นเป็นการส่งเสริมให้มีการบริโภคในอัตราสูงอย่างมากของสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก และเกิดภาวะเฟื่องฟูในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี่ส่งผลในทางบวกต่ออุปสงค์การส่งออกของประเทศไทยด้วย เมื่อคำนึงว่าในกลางปี 1997 ประเทศไทยได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทมีค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ฯ ดังนั้นประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 1999 ได้ประโยชน์จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด โดยคู่ค้าหลักของประเทศไทยคือ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน ก็ได้อานิสงส์จากการเฟื่องฟูของสหรัฐฯ และนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและปริมาณการส่งออกของประเทศไทย
ผมไม่เชื่อว่า ผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นตัวงบประมาณภาครัฐ (G) หรือ การบริโภค (C) เป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย แต่ผมมั่นใจว่า มาจากการขยายตัวของการส่งออกของประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งนั่นไม่ใช่ความสามารถของภาคการผลิตของไทย ที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง หากแต่เป็นเพราะความเฟื่องฟูของสหรัฐฯ ที่ส่งผลโดยตรงมายังตัวเลขการส่งออกของไทย และผลโดยอ้อมต่อประเทศคู่ค้าของไทย เช่น จีน อาเซียน สั่งซื้อสินค้าจากไทย
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สุวิทย์ เมษิณทรีย์ เรื่องความสามารถเชิงแข่งขันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นตลาดภายในประเทศ การส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะการพึ่งพิงการส่งออกจนระดับการเปิดประเทศของไทยอยู่ในอัตราสูงเป็นสุ่ม เสี่ยงที่จะได้ผลลบหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผมพอใจกับสินค้า OTOP แม้ว่ายังไม่เคยมีใครประเมินประสิทธิผลของโครงการดังกล่าวกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป ว่าคุ้มค่าหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าผลจาก OTOP เป็นการเปิดให้ชุมชนท้องถิ่นได้แปรทรัพย์สินทางปัญญาไปเป็นผลิตภัณฑ์ และใส่คุณค่าทั้งเชิงเรื่องเล่า (story) ท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมลงไปในผลิตภัณฑ์ แม้ว่าในระยะยาว ส่วนใหญ่ของ OTOP จะล้มเหลว แต่ส่วนที่รอดมาได้จะเป็นกำลังหลักของชุมชนต่อไปในอนาคต
ผมผิดหวังกับนโยบายประชานิยมดังเหตุผลในข้อ 1 แต่ผมผิดหวังมากที่สุดคือ การไม่ปฏิรูปการศึกษาและเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2544 แม้ว่ารัฐบาลจะเข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยี ดังจะเห็นปาฐกถาของ ทักษิณ สมคิด และ ฯลฯ แต่นโยบายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก็มีน้อยเกินไป น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับปาฐกถาและสิ่งที่ทักษิณและสมคิดได้บรรยายในที่สาธารณะมาตลอด 5 ปี
5. เว้นวรรคทักษิณไม่ใช่เว้นวรรคไทยรักไทย
ผมเรียกร้องให้ทักษิณ ลาออก จากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี และเลื่อนการเลือกตั้งไปให้ไกลเท่าที่สุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต และให้พรรคไทยรักไทยสรรหา บุคคลอื่นเป็นตัวแทนพรรคในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถ้าพรรคไทยรักไทยยังได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้
การลาออกของทักษิณ เป็นการลดโอกาสที่จะก่อเกิดความแตกแยกของสังคมไทย ลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการนองเลือด และความเสี่ยงจะรัฐธรรมนูญจะถูกแทรกแซงเพื่อให้มีนายกฯพระราชทาน ด้วยมาตรา 7
นับตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 33ปี คนไทยฆ่ากันในกรุงเทพฯ 3 ครั้ง เฉลี่ยแล้วทุกๆ 11 ปี เราฆ่ากันเองครั้งหนึ่ง ……
ผมคิดว่าประเทศไทยไม่ควรที่จะมีเหตุการณ์ป่าเถื่อน เกิดขึ้นอีกแล้ว เรามาไกลเกินกว่าที่จะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก
ผมอยากให้ ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีทันที เพื่อลดกระแสของฝ่ายต่อต้านทักษิณไม่ให้ขยายตัวไปเป็นการต่อต้านพรรคไทยรักไทย เพราะนั่นจะเข้าใกล้ภาวะสงครามกลางเมืองเข้าทุกขณะ
ผมเชื่อว่าถ้ามีการลาออกของทักษิณ และมีการประกาศการเลื่อนการเลือกตั้ง ไม่มีเหตุผลอันใด ที่ 3 พรรคฝ่ายค้านจะปฏิเสธการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเงื่อนไขแรกสุดของระบอบประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจต่อรองต่างๆกัน ได้ Deal กับพรรคการเมือง เพราะหลังเลือกตั้ง การ Deal กับพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจต่อรองสูงเท่านั้น
โดยสรุป ผมเชื่อ “ทักษิณ” เป็นกรณีพิเศษของสังคมการเมืองไทยเท่านั้น อย่าทำลายกติกาทั้งหมดเพื่อจัดการบุคคลเพียงคนเดียว เพราะกติกาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ถูกร่างเพื่อตอบสนองระบอบประชาธิปไตยและระบอบทุนนิยมของประเทศไทย ในการที่จะให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งพอที่จะดำเนินบริหารประเทศไปได้ โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับการต่อรองทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ จนต้องยุบสภากันทุกๆ 2-3 ปี … ต่อให้นายกฯ คนต่อไป เป็นสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลุ่มการเมืองอย่างกลุ่มวังน้ำยม พ่อมดดำ จะมีอิทธิฤทธิ์บ้างก็แค่ช่วงเปิดสภาและผ่านกฎหมายสำคัญๆ ประจำปีได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี แต่อิทธิฤทธิ์ในระดับนั้นก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากนัก เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลุ่มการเมืองรู้ดีว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะต่อรองขั้นแตกหักกับนายกรัฐมนตรีเช่นโหวตไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ งบประมาณ และที่สำคัญหลังการจากไปของทักษิณ องค์กรอิสระที่ถูกออกแบบจะได้ทำหน้าที่ภายใต้ความเชื่อมั่นของชนชั้นกลาง หลังจากที่ความเชื่อมั่นเหล่านี้ได้เจือจางลงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ทักษิณต้องลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ขยายเวลาเลือกตั้งไปปลายเดือนเมษายน และสรรหาตัวแทนจากพรรคไทยรักไทยเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยไม่ต้องสนใจว่า 3 พรรคฝ่ายค้านจะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ เพราะฝ่ายต่อต้านทักษิณมีศัตรูที่ตัวทักษิณ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกของฝ่ายต่อต้านขยายไปไกลถึงขั้นต่อต้านพรรคไทยรักไทย เพราะนั่นไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.