“ทุนนิยมเสรีเทียม”: เมื่อ “เสรีภาพส่วนตัว” นำไปสู่ภาวะ “ไร้เสรีภาพส่วนรวม”

[In this article, I lament the worsened situation of rampant crony capitalism in Thailand which led to what I call “fake free-market capitalism” because it is truly “free” in practice only to the few oligarchs who wield political power and use that power to tilt the playing field for their own benefits. As supplements, I translated two articles from English to Thai: Overthrowing the Tyranny of Vested Interests by Martin Wolf (which summarized a book by William Lewis about how “free and fair competition to all” is a prerequisite to prosperity), and Between Jam and Jelly: Regulation as the Default State of Affairs by Uriah Kriegel.]

ในบรรดาปัญหาต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยที่กำลังพัฒนาไปสู่ทุนนิยมแบบเสรีสุดขั้ว ที่เกือบทุกมิติของสังคมกำลังถูกอำนาจอันทรงพลังของ “ธนกิจการเมือง” (money politics) ครอบงำ ปัญหาหลักอันหนึ่งดูเหมือนจะเป็น “ความขัดแย้งในตัวเอง” (paradox) ของทุนนิยมเสรี: ยิ่งรัฐดำเนินนโยบาย “เปิดเสรี” ทางเศรษฐกิจ และ “ส่งเสริมการแข่งขัน” เท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จาก “เสรีภาพ” ที่เพิ่มขึ้น คือนักธุรกิจที่มีเส้นสายกับนักการเมือง หรือนักการเมืองที่ทำธุรกิจ ในขณะที่คนอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนคนธรรมดา กลับมี “เสรีภาพ” ลดลง โดยเฉพาะเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร และเสรีภาพในการแข่งขันอย่างยุติธรรม

สาเหตุที่สถานการณ์กลับตาลปัตรแบบนี้ เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ดำเนินนโยบายที่รักษาหรือเพิ่มพูน “เสรีภาพ” ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึง “เสรีภาพ” ของผู้อื่น

พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้วิธีการมากมาย เช่นสิ่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง กีดกันคนอื่นๆ ไม่ให้แข่งขันได้อย่างทัดเทียมกัน (หมายความว่าด้วยกฎกติกาเดียวกัน ไม่ใช่ด้วยทรัพยากรเท่ากัน เพราะความเท่าเทียมกันแบบนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว)

ผลที่เกิดขึ้นคือสภาพการแข่งขันที่บิดเบี้ยวบิดเบือน ไม่ “เป็นธรรม” สำหรับผู้ประกอบการรายอื่น ที่ไม่มีเส้นสายกับนักการเมือง เป็นทุนนิยมเสรีก็จริง แต่เสรีเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ ไม่เสรีสำหรับคนอื่นๆ ที่เสียเปรียบ ในภาษาของมาร์กซ์ อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของเรา คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ “เสรีภาพส่วนตัว” ของกลุ่มธนกิจการเมือง มีขอบเขตอำนาจมากเสียจนลิดรอน “เสรีภาพส่วนรวม” ของผู้อื่นในสังคม ให้ด้อยลงอย่างน่าวิตก

ในเมื่อทุนนิยมเสรีของเรามันไม่ “เสรี” จริงสำหรับทุกคน เรามาเรียกมันใหม่ว่า “ทุนนิยมเสรีเทียม” ดีไหม?


[In this article, I lament the worsened situation of rampant crony capitalism in Thailand which led to what I call “fake free-market capitalism” because it is truly “free” in practice only to the few oligarchs who wield political power and use that power to tilt the playing field for their own benefits. As supplements, I translated two articles from English to Thai: Overthrowing the Tyranny of Vested Interests by Martin Wolf (which summarized a book by William Lewis about how “free and fair competition to all” is a prerequisite to prosperity), and Between Jam and Jelly: Regulation as the Default State of Affairs by Uriah Kriegel.]

ในบรรดาปัญหาต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยที่กำลังพัฒนาไปสู่ทุนนิยมแบบเสรีสุดขั้ว ที่เกือบทุกมิติของสังคมกำลังถูกอำนาจอันทรงพลังของ “ธนกิจการเมือง” (money politics) ครอบงำ ปัญหาหลักอันหนึ่งดูเหมือนจะเป็น “ความขัดแย้งในตัวเอง” (paradox) ของทุนนิยมเสรี: ยิ่งรัฐดำเนินนโยบาย “เปิดเสรี” ทางเศรษฐกิจ และ “ส่งเสริมการแข่งขัน” เท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จาก “เสรีภาพ” ที่เพิ่มขึ้น คือนักธุรกิจที่มีเส้นสายกับนักการเมือง หรือนักการเมืองที่ทำธุรกิจ ในขณะที่คนอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนคนธรรมดา กลับมี “เสรีภาพ” ลดลง โดยเฉพาะเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร และเสรีภาพในการแข่งขันอย่างยุติธรรม

สาเหตุที่สถานการณ์กลับตาลปัตรแบบนี้ เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ดำเนินนโยบายที่รักษาหรือเพิ่มพูน “เสรีภาพ” ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึง “เสรีภาพ” ของผู้อื่น

พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้วิธีการมากมาย เช่นสิ่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง กีดกันคนอื่นๆ ไม่ให้แข่งขันได้อย่างทัดเทียมกัน (หมายความว่าด้วยกฎกติกาเดียวกัน ไม่ใช่ด้วยทรัพยากรเท่ากัน เพราะความเท่าเทียมกันแบบนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว)

ผลที่เกิดขึ้นคือสภาพการแข่งขันที่บิดเบี้ยวบิดเบือน ไม่ “เป็นธรรม” สำหรับผู้ประกอบการรายอื่น ที่ไม่มีเส้นสายกับนักการเมือง เป็นทุนนิยมเสรีก็จริง แต่เสรีเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ ไม่เสรีสำหรับคนอื่นๆ ที่เสียเปรียบ ในภาษาของมาร์กซ์ อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของเรา คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ “เสรีภาพส่วนตัว” ของกลุ่มธนกิจการเมือง มีขอบเขตอำนาจมากเสียจนลิดรอน “เสรีภาพส่วนรวม” ของผู้อื่นในสังคม ให้ด้อยลงอย่างน่าวิตก

ในเมื่อทุนนิยมเสรีของเรามันไม่ “เสรี” จริงสำหรับทุกคน เรามาเรียกมันใหม่ว่า “ทุนนิยมเสรีเทียม” ดีไหม?

ถ้ากลุ่มทุนการเมืองใช้อิทธิพลให้รัฐออกกฎหมาย หรือมาตรการใดๆ ที่ทำให้บริษัทของตนได้เปรียบกว่าคู่แข่งมากมาย เป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้คู่แข่งต้องพับเสื่อเลิกกิจการไป แบบนี้ถึงคู่แข่งขันมี “เสรีภาพ” ในการแข่งขัน เสรีภาพนั้นมีประโยชน์อันใด?

เหมือนเราไปจับคนมาขังคุกแคบๆ แล้วบอกว่า “เอ้า เราอนุญาตให้คุณไปไหนมาไหนก็ได้นะ เชิญตามสบาย คุณมีเสรีภาพ”

นึกถึงคำพูดของ Noam Chomsky (นักคิดที่ไม่ค่อยชอบ เพราะดู paranoid เกินไปและมองโลกในแง่ร้ายเอามากๆ แต่ก็มีแง่คิดที่น่าสนใจเยอะ) ที่ว่า:

“เสรีภาพที่ปราศจากโอกาสเปรียบเสมือนของขวัญจากมารร้าย และการปฏิเสธไม่ให้โอกาสนั้น ต้องนับเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง”

(Freedom without opportunity is a devil’s gift, and the refusal to provide such opportunity is criminal.)

และจากมุมมองนี้ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย หรือมาตรการอุปถัมภ์ต่างๆ จากรัฐ ให้มีอำนาจตลาดเหนือคู่แข่งคนอื่น ไม่ควรเรียกว่าเป็น “นักธุรกิจ” ในระบบทุนนิยมเสรี – เรียกว่า “มาเฟียเศรษฐกิจ” อาจจะเหมาะกว่า

ปิดท้ายด้วยบทความน่าสนใจสองชิ้นที่เพิ่งอ่านจบเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับอันตรายของผลประโยชน์ทับซ้อน และการใช้กฎหมายควบคุมเป็นมาตรฐานสังคม อ่านแล้วยิ่งทำให้รู้สึกว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญอันตรายหลายด้าน ที่คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะยังไม่รู้สึกว่ามันอันตรายขนาดไหน….

……

การโค่นอำนาจบาตรใหญ่ของผลประโยชน์ทับซ้อน
โดย มาร์ติน วูลฟ์

แปลจาก Overthrowing the tyranny of vested interests by Martin Wolf

The Power of Productivity

ทำไมบางประเทศจึงร่ำรวย และอีกหลายประเทศยากจน? ทำไมประเทศยากจนจึงประสบความลำบากแสนสาหัสในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศร่ำรวย? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดในเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ (Adam Smith) พูดเรื่องนี้ หลายคนเจริญรอยตามเขา แต่มีน้อยคนที่จะเดินตามรอยได้อย่างถ่องแท้เท่ากับวิลเลียม ลูอิส (William Lewis) ผู้ก่อตั้งสถาบัน McKinsey Global Institute คำตอบของเขา[ในหนังสือเรื่อง The Power of Productivity: Wealth, Poverty and the Threat to Global Stability] น่าจะทำให้[สมิธ]ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ความมั่งคั่งของนานาประเทศ” (The Wealth of Nations) พอใจ: การแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม แพร่หลาย และไม่มีข้อยกเว้น

ความรู้ว่าเราจะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไรให้มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องลึกลับอีกต่อไป ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จทุกรายในโลก รู้วิธีทำแบบนี้ในทุกสาขาธุรกิจที่เรานึกออก นักลงทุนเองก็กำลังดิ้นรนอย่างเต็มที่ ในการค้นหาช่องทางลงทุนทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนงามๆ แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด พวกเขาก็ไม่สามารถหาช่องทางลงทุนแบบนี้ในหลายๆ ประเทศที่ผู้ผลิตไร้ประสิทธิภาพอย่างน่าตกใจ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? คำตอบคือกลุ่มคนที่มีอำนาจ – ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศ ข้าราชการและนักการเมืองที่คอรัปชั่น ลูกคนรวยที่ทำงานสบาย แรงงานภาครัฐที่ได้รับการคุ้มครอง และผู้ได้ประโยชน์จากสัมปทานรัฐ – รวมตัวกันต่อต้านการแข่งขันที่จะบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่น่าอึดอัด ผสมโรงด้วยเสียงชื่นชมจากปัญญาชนที่ต่อต้านระบบตลาด ผลที่เกิดขึ้นคืออคติต่อต้านการแข่งขัน

ผลผลิตมวลรวมประชาชาติต่อหัวรายประเทศ

ลูอิสและเพื่อนร่วมงานของเขา สามารถสาธิตความสำคัญของการแข่งขัน – และสภาวะไร้การแข่งขัน – ด้วยการทุ่มเททรัพยากรให้กับการศึกษาธุรกิจแต่ละประเภท และบริษัทต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน การเชื่อมโยงเศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics) เข้ากับผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) ของพวกเขา ทำให้เราเข้าใจเงื่อนงำและที่มาของความสามารถในการผลิต (productivity) – ซึ่งที่แท้ก็เป็นเพียงศัพท์อีกคำที่มีความหมายเดียวกับ “ความเจริญ” (prosperity) – ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

แล้วข้อสรุปหลักๆ ของลูอิสคืออะไร?

ก่อนอื่น เขาชี้ว่า มนุษย์กว่า 5 พันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความสามารถในการผลิตต่ำ (ดูแผนที่ด้านล่างประกอบ) อีก 800 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสูงมาก และอีกไม่เกิน 340 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ลูอิสเรียกว่า “ประเทศเชิงเขา” (foothills) โดยรวม เราต้องบอกว่า การพัฒนาในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่

เส้นทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ประการที่สอง มีวิถีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงสองทางเท่านั้นที่เราค้นพบ: ความสามารถในการผลิตระดับสูงผสานกับปัจจัยการผลิตต่ำ ซึ่งเป็นวิถีของอเมริกา และความสามารถในการผลิตระดับต่ำผสานกับปัจจัยการผลิตสูง ซึ่งเป็นวิถีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (ดูแผนผังด้านซ้ายประกอบ) แม้ระดับการใช้ทุนและแรงงานในการผลิตต่อหัว (labor and capital per head) ของเกาหลีใต้ จะใกล้เคียงกับระดับของอเมริกา แต่ GDP ของเกาหลีใต้กลับต่ำกว่าระดับของอเมริกาสองเท่า ปัจจัยการผลิตต่อหัวของญี่ปุ่นสูงที่สุดในโลก ประเทศในทวีปยุโรปตะวันตกเจริญรอยถามวิถีของอเมริกา แต่ด้วยหนทางที่วกวนซับซ้อนกว่า โดยเฉพาะในด้านการใช้แรงงาน

ประการที่สาม คนจำนวนมากทำงานในธุรกิจภาคบริการหรือธุรกิจก่อสร้าง แม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้น ความสามารถในการผลิตของธุรกิจเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่กำหนดตัวเลขผลผลิตต่อหัวของทั้งประเทศ ข้อสรุปนี้เป็นจริงทั้งทางตรง และทางอ้อม: ความสามารถในการผลิตที่สูงลิบลิ่วของธุรกิจเหล่านี้ในอเมริกา โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ส่งผลกระทบทางบวกให้กับเศรษฐกิจทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ในประเทศส่วนใหญ่ ธุรกิจเหล่านี้ถูกใช้เป็นที่ “แขวน” พนักงาน[ศักยภาพต่ำ] ส่งผลให้ความสามารถในการผลิตรวมลดลง

ประการที่สี่ ปัญหาการขาดการศึกษาหรือขาดเงินทุน ไม่ได้เป็นข้อจำกัดความสามารถในการผลิตเสมอไป ชาวเม็กซิกันผู้ไร้การศึกษา แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสามารถในการผลิตระดับโลก ในการสร้างบ้านเรือนในเมืองฮิวสตัน (Houston) ในทำนองเดียวกัน โตโยต้าประสบความสำเร็จในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ของโรงงานโตโยต้าทั่วโลก ธุรกิจใดที่มีแนวโน้มทำกำไร ย่อมดึงดูดเงินทุนและนักลงทุน การลงทุนโดยตรง[ในธุรกิจต่างๆ]โดยบริษัทข้ามชาติทั่วโลก สามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ ถ้าได้รับการอนุญาต[จากรัฐ]

ข้อสรุปประการสุดท้ายคือ การแข่งขันที่ไม่ถูกบิดเบือน (undistorted competition) ในตลาดสินค้า เป็นตัวกำหนดความสามารถในการผลิตและความเจริญระยะยาว ได้ดีที่สุด การแข่งขันเป็นสนามประลองที่เอื้อให้บริษัทที่มีความสามารถในการผลิตสูง ได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ดี ในประเทศอังกฤษ การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกถูกบิดเบือนด้วยมาตรการควบคุมของรัฐ และในญี่ปุ่น ธุรกิจนี้ก็ถูกบิดเบือนด้วยมาตรการคุ้มครองร้านค้าปลีกรายย่อย

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันถูกบิดเบือนที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แค่อ่านตอน[ในหนังสือ]ที่เกี่ยวกับบราซิล รัสเซีย และอินเดีย แล้วคุณจะร้องไห้ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศกำลังพัฒนามากมาย บริษัทที่ทำทุกอย่างตามกฎเกณฑ์ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ต้องเสียภาษี ไม่แยแสกฎหมาย และขโมยสินทรัพย์ทางปัญญา ในประเทศบราซิล ที่รัฐบาลต้องใช้เงินถึง 39 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ภาษีที่บริษัทถูกกฎหมายต้องเสียจึงเป็นภาระอันใหญ่หลวง และสัดส่วนอัตราการจ้างงานของบริษัทเหล่านี้จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน อินเดียเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องบิดเบือนการแข่งขันจนกลายเป็นศิลปะไปแล้ว รัฐบาลขนาดใหญ่ (big government) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลที่ชอบแทรกแซงและคอรัปชั่นในประเทศยากจน เป็นคำสาปอันร้ายแรง

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ประเทศร่ำรวยในยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นให้บทเรียนเราสองบท: การแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ และการบิดเบือนโครงสร้างการแข่งขัน – ยกตัวอย่างเช่น โดยการคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย – เป็นหนทางที่ทำลายเป้าหมายอันสูงส่งด้านการกระจายความเจริญ

บทเรียนเหล่านี้มีความนัยที่มีคุณค่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นที่ประสงค์ที่สุด สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา การปฏิวัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งคือด้านวิธีคิด ผู้วางนโยบายต้องเข้าใจว่า เป้าหมายของนโยบายต้องไม่ใช่การอนุเคราะห์ผู้ผลิตบางราย หากเป็นการสนับสนุนผลประโยชน์ของผู้บริโภค ผ่านการแข่งขัน การเปิดเสรีต่อเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องจำเป็นเพราะเหตุนี้ การแข่งขันระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุว่าทำไมอุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จึงมีความสามารถในการแข่งขันสูงมาก ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ของพวกเขาไม่เป็นเช่นนั้นด้วย

แต่โชคร้ายที่สิ่งที่จำเป็นนี้ เท่ากับเป็นการก่อกบฏต่อขบวนการผลประโยชน์ทับซ้อนที่มุ่งร้าย (predatory vested interests) ถ้าเราแก้ปมผลประโยชน์ทับซ้อนเหล่านี้พร้อมๆ กันได้ แทบทุกคนจะได้ประโยชน์ในทันที แต่นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเสมอ และแทบเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศประชาธิปไตยที่การเมืองถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ อินเดียเป็นตัวอย่างหนึ่งของอาการนี้ ผลลัพธ์ที่เราเห็นไม่ใช่การแก้ปมผลประโยชน์ หากเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อาจฟังดูเหมือนว่า เป็นเรื่องง่ายที่เราจะบรรลุการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม (free and fair competition) แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม: การแข่งขันนำความขุ่นเคืองมาสู่ปัญญาชนที่ชื่นชมแนวคิดเรื่องเมตตาธรรมของรัฐ ข้าราชการที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ธุรกิจที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ และทุกคนที่ได้ประโยชน์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากการบิดเบือน[การแข่งขัน] การแข่งขันนำประโยชน์มาสู่ “คนนอก” ที่มักจะถูกเหยียดหยามโดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีเส้นสายอันลึกซึ้ง[กับนักการเมือง] นอกจากนั้น การแข่งขันยังต้องการกระบวนการยุติธรรมและรัฐบาลที่ซื่อสัตย์และเป็นกลาง เราน่าจะประหลาดใจเพราะเห็นบางประเทศร่ำรวยขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะเห็นประเทศส่วนใหญ่ยากจนเหลือเกิน.

……

ระหว่างแยมกับเยลลี่: เมื่อการใช้กฎหมายควบคุมเป็นภาวะปกติของโลก
โดย ยูไรอาห์ ครีเกล

แปลบางตอนจาก Between Jam and Jelly: Regulation as the Default State of Affairs by Uriah Kriegel

ในนวนิยายชนะรางวัล Booker Prize เรื่อง “พระเจ้าของสิ่งเล็กๆ” (The God of Small Things) นักเขียนชาวอินเดีย อรุณดาธี รอย ทำให้เรายิ้มด้วยเกร็ดนี้:

พวกเขาเคยทำ[ผลไม้]แช่อิ่ม แยม ผงเครื่องแกง และสับปะรดกระป๋อง และแยมกล้วยหอม (อย่างผิดกฎหมาย) หลังจากที่องค์กรผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Products Organization) สั่งห้ามผลิตเพราะตามเกณฑ์ขององค์กร แยมชนิดนี้ไม่เป็นทั้งแยมและเยลลี่ เจ้าหน้าที่บอกว่า มันบางเกินไปที่จะเรียกว่าเยลลี่ และหนาเกินไปที่จะเรียกว่าแยม มันมีความเหนียวข้นแบบคลุมเครือที่ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้

ถ้าคุณคิดว่าเรื่องไร้สาระแบบนี้มีอยู่แต่ในโลกของเรื่องแต่งเท่านั้น คุณคิดใหม่ได้แล้วครับ มอริทาเนีย (Mauritania) เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก มีรายได้ประชากรต่อหัวเพียง 17,200 บาทต่อปี และสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 80 บาทต่อวัน สูงเป็นอันดับสี่ของโลก ประเทศนี้มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินอกเหนือจากน้ำมันน้อยมาก เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย และเต็มไปด้วยอูฐ แต่สภาวะทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเยอรมันแห่งหนึ่งคิดค้นวิธีผลิตเนยแข็งจากนมอูฐได้สำเร็จ นี่เป็นปาฏิหาริย์สำหรับชาวมอริทาเนียหรือเปล่า? เปล่าเลย คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ไม่อนุมัติสินค้าใหม่นี้ ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมสำหรับสินค้าที่ทำจากอูฐ

ในอดีต กฎหมายควบคุมเป็นสถาบันที่มีเป้าหมายจำกัดขอบเขตของเสรีภาพ แนวคิดหลักคือ ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้ามคุณไม่ให้ทำอะไร คุณก็ทำสิ่งนั้นได้ เมื่อไม่มีกฎหมายควบคุม ก็ไม่เกิดคำถามว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ การไม่มีบทบัญญัติใดๆ ควบคุมนั่นแหละ แปลว่ากฏหมายอนุญาตให้คุณทำสิ่งนั้นได้

คำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวอันน่าหนักใจ ที่จะพลิกระเบียบธรรมชาติแบบนั้น ให้กลับเป็นตรงกันข้าม หลายต่อหลายคน โดยเฉพาะในทวีปยุโรป มองว่าการใช้กฎหมายควบคุมกลายเป็นภาวะปกติ หรือ “ค่าตั้งต้น” (default state) ไปแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ ภาวะปราศจากกฎหมายควบคุมไม่ได้แปลว่าภาวะที่คนมีเสรีภาพ หากเป็นภาวะอีหลักอีเหลื่อคลุมเครือในแง่ศีลธรรมและกฎหมาย: เราต้องรอคำวินิจฉัยจากองค์กรทางกฎหมายก่อน ว่าจะอนุญาตให้เรามีเสรีภาพในเรื่องนั้นหรือไม่

เมื่อเราอยู่ในภาวะที่กฎหมายควบคุมเป็นค่าตั้งต้นเช่นนี้ สถาบันกฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่ยกป้ายห้าม จำกัดเสรีภาพต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากกลายเป็น ผู้สร้างเสรีภาพ (creator of liberties) ไม่มีเสรีภาพอะไรที่เรามีได้ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ผู้คุมกฎถือเสรีภาพต่างๆ เป็นกลุ่มก้อนไว้ในมือ มีภาระที่จะแจกจ่ายเสรีภาพเหล่านี้ให้เรา ตามมาตรฐานอะไรก็ตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสม

เรื่องนี้มีประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นอีก นั่นคือ “แก่นสาร” ของเสรีภาพ วิธีที่เราจะถกเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือการพิจารณาความแตกต่างระหว่าง “เสรีภาพทางลบ” (negative freedom) และ “เสรีภาพทางบวก” (positive freedom) ซึ่งเสนอครั้งแรกโดย อีไซอาห์ เบอร์ลิน นักปรัชญาชาวอังกฤษ เสรีภาพทางลบคือเสรีภาพ ที่จะไม่ได้หรือไม่ทำ [สิ่งที่ไม่อยากได้หรือไม่อยากทำ] ในขณะที่เสรีภาพทางบวกคือเสรีภาพ ที่จะได้หรือจะทำ [สิ่งที่อยากได้หรืออยากทำ] ยกตัวอย่างเช่น เสรีภาพที่คุณจะไม่ถูกบังคับให้ซื้อไอศกรีมให้เพื่อนบ้าน เป็นเสรีภาพทางลบ ในขณะที่เสรีภาพในการไปซื้อไอศกรีมให้เพื่อนบ้าน เป็นเสรีภาพทางบวก

ในประเพณีการเมืองแบบเสรีนิยม แก่นสารของเสรีภาพคือ ขอบเขตที่เปิดกว้าง (open-ended horizon) ของเสรีภาพทางลบ มนุษย์มีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ ตราบใดที่เขาไม่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ในทางกลับกัน ประเพณีการเมืองแบบสังคมนิยมเชื่อว่า เสรีภาพของมนุษย์ประกอบด้วยเสรีภาพทางบวกต่างๆ เรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ตาม ที่รัฐอนุญาตให้เราทำ รัฐอาจใจดีให้เสรีภาพเรามามากมาย แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น เราไม่มีเสรีภาพใดๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นของตัวเอง [ผู้แปลคิดว่า ข้อสรุปนี้ของผู้เขียนดูเป็นอคติเล็กน้อย เพราะเกิดจากการ “กรอง” ความคิดของมาร์กซ์ ด้วย “ตะแกรงร่อน” ของเสรีนิยม (นั่นคือ สมมุติฐานต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์) เป็นเกณฑ์ จริงๆ แล้วมาร์กซ์ไม่ได้คิดว่ามนุษย์จะรู้สึกอึดอัดกับภาวะ “เสรีภาพทางบวก” เหล่านี้ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นการบีบบังคับ เพราะมาร์กซ์มองว่า มนุษย์ทุกคนไม่ได้เป็นเพียง “ปัจเจกชน” ที่ทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการส่วนตน (ในคติของเสรีนิยม) อย่างเดียว แต่ยังต้องการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติด้วย ดังนั้นจึงต้องหาจุดที่จะประนีประนอมระหว่าง “เสรีภาพส่วนบุคคล” ของตน และ “เสรีภาพส่วนรวม” ของสังคม อันเป็นที่มาของ “เสรีภาพทางบวก” ต่างๆ]

แนวคิดเรื่องเสรีภาพทางบวก ได้รับแรงสนับสนุนในทวีปยุโรป มากกว่าในทวีปอเมริกาตลอดมา โชคดีที่แนวคิดเรื่องเสรีภาพทางลบ เป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ เพียงประโยคแรกของรัฐธรรมนูญก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่า เสรีภาพไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากอากาศโดยกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน – และนอกเหนือจาก – รัฐบาลด้วยซ้ำไป.