(เซิร์ฟเวอร์มีปัญหา ทยอยอัพรูปไม่ได้ ไว้จะลองใหม่นะคะ ระหว่างนี้ค้นคำว่า “Eisenhower” บนบล็อก หรือใช้แท็ก “EF2013” ถ้าอยากดูเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทริปนี้ ทั้งข้อเขียนและรูป)
วันที่หนึ่ง
ฟิลาเดลเฟีย: 29/9/13
วันนี้พวกเรา Eisenhower Fellow ทั้ง 23 คน ได้มาอยู่พร้อมหน้ากันที่เมืองฟิลาเดลเฟียเต็มวันเป็นวันแรก หลังจากที่ทยอยมาถึงกันเมื่อคืนวาน หกโมงเย็นแล้วก็ยังง่วงๆ งงๆ อยู่ ถึงแม้เมื่อคืนจะพยายามถ่างตาทำงานถึงเที่ยงคืนก่อนนอน สงสัยเป็นเพราะไฟลท์ขามานอนหลับๆ ตื่นๆ ตลอดยี่สิบชั่วโมง
ที่เรามาเมืองนี้เพราะเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ Eisenhower ที่ออกทุนให้ โปรแกรมจริงๆ ของโครงการนี้ยังไม่เริ่ม เริ่มวันพรุ่งนี้ (วันจันทร์ 30 ก.ย.) วันนี้เขาให้พวกเรา 23 คนจาก 5 ประเทศมาทำความรู้จักกันก่อน ด้วยการแบ่งกลุ่มให้เล่นเกมหาสมบัติ ชื่อเกม Scavenger Hunt แต่ไม่ได้ให้หาของ ให้หาคำตอบของคำถาม 24 ข้อ ให้เวลาสองชั่วโมง ไม่มีทีมไหนได้คำตอบครบทุกข้อ แต่โชคดีที่วันนี้อากาศดีมาก แดดออกทั้งวัน อุณหภูมิ 20-22 องศา ไม่งั้นคงจะเล่นด้วยความทรมานถ้ามันหนาวกว่านี้
คำใบ้หลายข้อง่ายมาก คือเราแค่เดินหาตึกประวัติศาสตร์ในคำถามให้เจอแล้วก็จะพบคำตอบ (เช่น ในบ้าน Betsy Ross (ผู้หญิงที่เย็บธงชาติอเมริกันผืนแรกในประวัติศาสตร์) ถามว่า “รัฐที่รูปปั้นสัตว์ตัวสุดท้ายยืนอยู่ในสวน คือรัฐอะไร?”) แต่บางข้อคำถามและคำใบ้ก็โคตรยากเพราะมันเป็นอเมริกันมากๆ เช่น มีข้อนึงคำตอบคือ “clubfoot” ซึ่งแปลว่าโรคเท้างอ อดค้อนในใจไม่ได้ว่า ใครจะไปรู้วะถ้าไม่ใช่คนอเมริกัน :p
กว่าจะเล่นเกมจบ (ซึ่งเล่นเอาเหนื่อยและปวดเข่าเลยทีเดียว) ก็เกือบบ่ายโมงครึ่ง เขาพาพวกเราไปกินข้าวที่ร้านอาหารไทยผสมมาเลเซียชื่อ Aqua เขาบอกว่าที่เลือกร้านนี้เพราะกลัวพวกเราคิดถึงบ้าน :p
ถามลีห์ (Leigh) เจ้าหน้าที่มูลนิธิที่เป็น Program Officer (ย่อว่า PO) ของผู้เขียน (จัดโปรแกรมส่วนตัวให้) ว่าคนฟิลาเดลเฟียคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นหรือยัง ลีห์บอกว่าตอบยาก ไม่รู้จะวัดจากอะไรดี เพราะฟิลาเดลเฟีย “เสื่อม” (เธอใช้คำว่า decline) ลงเรื่อยๆ มาห้าสิบปีแล้ว ตั้งแต่อุตสาหกรรมหลายบริษัทย้ายออกไปอยู่เมืองอื่น เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนที่นี่เลยทรงๆ ไม่ดีมากแต่ก็ไม่ทรุดมาก ช่วงที่หลายเมืองในประเทศเกิดฟองสบู่บ้าน (ก่อนแตกปี 2008) ราคาบ้านในเมืองนี้ก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก คนที่นี่เลยไม่รู้สึกว่าลำบากมากขึ้นหรือน้อยลง
วันที่สอง
ฟิลาเดลเฟีย: 30/9/13
ในที่สุดก็เริ่มนอนตรงเวลาอเมริกาแล้ว
โปรแกรมวันนี้ทั้งวันเป็นวันแห่งการแนะนำตัว – ทั้งตัวโครงการ Eisenhower และตัวพวกเรา fellow ทั้ง 23 คน ตอนเช้าเริ่มจากคุณ จอห์น วูล์ฟ ตำแหน่ง President ของมูลนิธิ แนะนำว่าปีนี้มูลนิธิครบรอบ 60 ปีแล้ว (ก่อตั้งปี 1953) เปิดวีดีโอสั้นแนะนำโครงการ รวบรวมคำพูดสั้นๆ ของ Fellow คนก่อนๆ ที่น่าสนใจคือหลายคนพูดว่าโครงการนี้เป็น “การขัดขวาง” (disruption) การดำเนินชีวิต เพราะดึงเอาคนที่มีชีวิตการงาน “เข้าที่” พอสมควรแล้วมาอยู่อเมริกา 7 สัปดาห์ แต่ก็ถือเป็น “การขัดขวางเชิงบวก” เพราะทำให้ได้มีเวลาหยุดคิดใคร่ครวญ เปิดโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนความคิดกับคนหลายสาขาอาชีพที่มาจากทั่วโลก
คุณแดน ไกส์เลอร์ รองผู้อำนวยการ (vice president) เปิดฉากด้วยการพูดติดตลกว่า เขาคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ vice president ทุกคนเจอเหมือนกันคือ คนอื่นจะงงว่า vice president นี่ทำหน้าที่อะไร :p
เขาบอกว่างานที่ใหญ่ที่สุดของมูลนิธิ Eisenhower ซึ่งใช้เงิน 45-50% ของงบประมาณทั้งหมดแต่ละปี คือโครงการนานาชาติ (International) ที่เชิญพวกเรามา โครงการนี้จัดปีละสองรอบ คือรอบฤดูใบไม้ผลิ เดือนเมษายน-พฤษภาคม กับรอบฤดูใบไม้ร่วง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
โครงการรอบฤดูใบไม้ผลิเรียกว่า Multi-Nation Program (MNP) เชิญ Fellow 25 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลก คือประเทศละคน มาใช้เวลา 7 สัปดาห์ที่อเมริกาเหมือนพวกเรา ทุกปีจัดโปรแกรมแบบนี้เหมือนกัน ส่วนในฤดูใบไม้ร่วงจะเลือกทำโครงการหนึ่งในสองแบบ คือ 1) โครงการตามภูมิภาค (Regional Program) อย่างปีที่พวกเรามาคือระดับอาเซียน ก่อนหน้านี้เขาเคยจัดโครงการเอเชียใต้ เอเชียเหนือ ฯลฯ หรือ 2) โครงการตามหัวข้อ (topic) เช่น ฤดูใบไม้ร่วงปีหน้าเขาจะจัดโครงการ Fellow เรื่อง “นวัตกรรม” ฉะนั้นคนที่จะได้รับเลือกจากทั่วโลกก็ต้องสมัครมาดูงานเกี่ยวกับนวัตกรรม
นอกจากโครงการนานาชาติ งานอีกส่วนของมูลนิธิซึ่งเล็กกว่ากันมาก (มีคนทำงาน 2 คน เทียบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายนานาชาติ 7 คน ใช้เงินประมาณ 15% ของงบมูลนิธิทั้งหมด) คือโครงการ USA Fellow โครงการนี้ส่งคนอเมริกัน 8-10 คน โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกร (เจ้าของฟาร์มขนาดเล็ก) ทุกปี แยกย้ายกันไปคนละประเทศ จะไปประเทศไหนก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของ Fellow แต่ละคน โดยให้ Fellow เลือกเองได้ว่าอยากไปประเทศไหนเวลาไหน ไม่ต้องไปในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดขึ้นล่วงหน้าแล้วเหมือนอย่างพวกเรา
คุณแดนเล่าเรื่องแหล่งทุนของมูลนิธิ Eisenhower ว่า เงินส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากรัฐอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ 95% มาจากเงินบริจาคของคนรวย (“high net worth” ทั้งหลาย) มีแค่ 5% เท่านั้นที่มาจากเงินสนับสนุนของรัฐ คือทรัสต์ที่ก่อตั้งเป็นเกียรติแด่อดีตประธานาธิบดี Eisenhower เมื่อปี 1990 แกบอกว่าหลายคนเข้าใจผิด คิดว่ามูลนิธินี้เป็นของรัฐเพราะโครงการแลกเปลี่ยนทำนองนี้หลายโครงการเป็นโครงการของรัฐบาลอเมริกัน
คุณแดนเน้นว่า โครงการ Eisenhower Fellowship เป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” ของชีวิตการเป็น Fellow เท่านั้น เขาจึงไม่ใช้คำว่า “ศิษย์เก่า” (Alumni) เฉยๆ หลังจากที่จบโครงการไปแล้ว แต่ใช้คำว่า “Alumni Fellow” เพื่อสื่อว่าเราจะได้เพื่อนใหม่ มีเครือข่าย Fellow ไปตลอดชีวิต สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับโครงการนี้คือสิ่งที่มูลนิธิเรียกว่า “ผลลัพธ์ที่มีนัยยะ” (consequential outcome) หมายถึงผลลัพธ์จากการมาโครงการนี้ของแต่ละคนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ถ้าผู้เขียนนำบันทึกเหล่านี้ไปรวมเล่มเป็นหนังสือ ก็นับว่าเป็น consequential outcome อย่างหนึ่ง หรือถ้า Fellow สองคนได้มาจับมือเป็นพันธมิตรกันในงานที่ทำ หรือ Fellow ได้ริเริ่มโครงการกับคนที่ไปคุยด้วยระหว่างที่อยู่อเมริกา แบบนี้ก็นับเป็น consequential outcome เหมือนกัน คุณแดนกับจอห์นบอกว่าอยากเห็นผลลัพธ์ที่มีนัยยะเยอะๆ ฟังแล้วนึกถึงคำพูดของลีห์วันก่อนว่า สมัยนี้แหล่งทุนอยากเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม วัดได้ชัดเจน อยากรู้ว่าบริจาคเงินให้แล้วเกิดอะไรบ้าง
ช่วงแนะนำตัวของ Fellow แต่ละคนสนุกมาก มีเวลาแค่คนละไม่เกิน 3-4 นาที ต้องอธิบายประวัติย่อ ความสนใจส่วนตัวและสถานภาพทางครอบครัว แต่ละคนมาด้วยความสนใจและอาชีพที่แตกต่างกันมากๆ หลายคน (ประมาณเกือบครึ่ง) พาภรรยาหรือสามีมาด้วย ฝากลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ขอยังไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ว่าแต่ละคนทำอะไรกันมาบ้าง เพราะเขียนสิบหน้าก็เล่าไม่หมด เอาไว้ค่อยหาเวลาเล่าเรื่องคนที่ได้คุยกับเขาเยอะๆ 🙂
รู้สึกว่าพวกเราจะมาที่นี่ในวันที่อเมริกาขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างสูง และ “ความฝันแบบอเมริกัน” ดูจะลอยอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับ Fellow หลายคนที่ได้พูดคุย โดยเฉพาะคนเวียดนาม มากกว่าคนอเมริกันเอง คนเวียดนามเวลาเขาแนะนำตัวจะใช้คำประมาณ “สร้างชาติ” ขณะที่คนมาเลเซีย อินโดนีเซีย จะใช้คำว่า “แก้ปัญหา” มากกว่า (บางคนบอกว่า ประเทศเขาตกรางผิดทิศไปไกล)
ที่อเมริกาเพิ่งเกิดเรื่องใหญ่เรียกว่า government shutdown เพราะรัฐบาลกับสภาคองเกรสตกลงกันเรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการประกันสุขภาพของโอบามา (ชื่อเล่น “Obamacare”) ไม่ได้ รัฐบาลอเมริกันเลยต้องปิดหน่วยงานราชการ “ที่ไม่ใช่บริการสำคัญ” ชั่วคราว อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ อุทยานแห่งชาติ ส่วน “บริการสำคัญ” อย่างไปรษณีย์ กลาโหม การจ่ายประกันสังคม ประกันการว่างงาน ยังดำเนินต่อไป ถ้าเรื่องนี้ลากยาว รัฐบาลกับสภาสูงยังตกลงกันไม่ได้ไปเป็นเดือน รัฐอาจจะต้องหั่นงบถึง 30% ซึ่งหลายคนก็กลัวว่ามันจะไปกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่อีก (ข่าวเรื่องนี้ของ Slate แสบมาก เขียนโดยจินตนาการว่าถ้าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดในอเมริกา แต่เป็นประเทศอื่น สื่ออเมริกาจะรายงานเรื่องนี้ยังไง)
เหตุการณ์ government shutdown จะกระทบคนจนก่อนเพื่อนเพราะต้องพึ่งพาบริการของรัฐมากกว่าคนรวย มีหางเลขมากระทบพวกเรา Fellow บางคนด้วย เพราะหลายคนอยากไปคุยกับหน่วยงานราชการ (ไม่ใช่ผู้เขียน)
ช่วงบ่ายแนะนำตัวต่อ แต่คราวนี้แทนที่จะให้แนะนำตัวเฉยๆ บอกให้เราแต่งกลอนไฮกุ (ต้องใช้คำหกคำพอดีเป๊ะ) ที่เกี่ยวกับตัวเรา ให้เวลาแปดนาที กลอนของพี่ก็ (ดร.วิรไท) ถูกเสนอชื่อให้ผู้ดำเนินรายการอ่านหน้าห้องให้เพื่อนๆ ฟัง กลอนของผู้เขียนก็ถูกเลือกเหมือนกัน แต่เป็นคนละแนวกับพี่ก็ 🙂
กลอนของพี่ก็สื่อว่าเขาเชื่อมั่นในระบบทุนนิยมใหม่ที่ต้องมีศีลธรรมมากขึ้น (ประมาณว่า “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ละมัง ;)) และเชื่อว่าจิตกับกายต้องสมดุลกัน –
Dhamma. Capitalism. Mind and body balance.
ส่วนกลอนของผู้เขียนเอาคำสามชุดมาเปรียบเทียบกัน โกงเล็กน้อยเพราะเล่นใช้สัญลักษณ์ ≠ แทนคำว่า not equal to (ไม่งั้นหกคำไม่ได้) พยายามจะสื่อประมาณว่า 1) คนในเน็ตสับสนระหว่าง “ข้อมูล” กับ “ความรู้” 2) สิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ตลอดแปดปีหลังจากที่ออกจากงานประจำคือ “ความเป็นมืออาชีพ” ไม่จำเป็นต้อง “มีอาชีพ” นั้นๆ และในทางกลับกันคนที่มีอาชีพนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ (คิดถึงตัวเองว่า ได้รับการยอมรับว่า “มีความเป็นมืออาชีพ” ในฐานะนักเขียนกับสื่อ ทั้งที่ไม่เคยเรียนมาเป็นนักเขียนหรือนักข่าว และ 3) คนไทยยังไปไม่พ้นความขัดแย้งทางการเมือง รุนแรงจนด่ากันโดยไม่ฟัง แต่คนที่หุบปากไม่พูดเพราะขี้เกียจพูดแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าเขากำลังฟังหรืออยากฟังคนอื่นอยู่ดี –
Information ≠ Knowledge
Career ≠ Professionalism
Silence ≠ Listening
ตกเย็นพวกเราได้รับเชิญไปกินข้าวที่บ้านของคุณ จอห์น วูล์ฟ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ไม่ไกลจากโรงแรม แกลงทุนทำเค้กให้เรากินด้วย คุยไปคุยมากลายเป็นว่าผู้เขียนได้คุยกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิหลายคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันสนุกดี
เมโลนี (Melony) เจ้าหน้าที่มูลนิธิคนนึง เป็นผู้หญิงผิวดำตัวใหญ่ยิ้มเก่ง ยืนคุยกับเธอนานมากเพราะเธอบอกว่าอยากเริ่มต้นเขียนบล็อกถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้หญิงผิวสี เพราะเธอบอกว่าสื่ออเมริกันชอบฉายภาพให้คนเข้าใจผิดว่าผู้หญิงผิวดำต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เธอบอกว่าพวกผู้ชายผิวดำตอนนี้ในสื่อ “ดูดี” กว่าผู้หญิงผิวดำ และมีบทที่หลากหลายในหนัง ทีวี ละคร ฯลฯ มากกว่าผู้หญิง ผู้เขียนถามว่าแล้วโอปราห์ล่ะ นั่นไอดอลผู้หญิงผิวดำโคตรดัง น่าจะทลายอคติคนไปเยอะแล้ว เมโลนีตอบว่าโอปราห์เจ๋งมากแต่ก็ยังเป็นแค่คนเดียว เสริมด้วยว่าดาราผู้ชายผิวดำบางคนก็ทำตัวไม่ถูก อย่างเจ้าพ่อวัฒนธรรมฮิปฮ็อป JayZ ชอบอวดว่าเคยค้ายาเสพติด เคยยิงคน เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กๆ เอาเสียเลย
เมโลนีตบท้ายว่า เธอไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงเปลือยอกให้นมลูกในที่สาธารณะไม่ได้ แต่ป้ายโฆษณาโชว์นมทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ผิดกฎหมาย ผู้เขียนบอกว่าเมืองไทยก็ใช่ย่อย ช่องฟรีทีวีเดี๋ยวนี้เบลอนมตัวการ์ตูน (เช่น ชิซูกะอาบน้ำในโดเรมอน) แต่ในละครหลังข่าวผู้ชายสามารถตบตี ข่มขืน กระทำชำเราผู้หญิงสารพัด แถมนางเอกละครก็ยังซื่อบื้อหลงพระเอกต่อไปจนจบเรื่องอีกต่างหาก!
Eisenhower Fellow 2013 จากประเทศไทยห้าคน ถ่ายรูปกับ จอห์น วูล์ฟ ผู้อำนวยการมูลนิธิ