บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (10)

me-nathaniel.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้า, วันที่สิบ, วันที่สิบเอ็ด)

วันที่สิบสอง

วอชิงตัน ดี.ซี. : 10/10/2013

(ลืมเล่าว่าเวลาไปประชุม ผู้เขียนจะเกริ่นก่อนเริ่มคุยว่า กำลังเขียนบล็อกถ่ายทอดประสบการณ์การมา Fellowship ครั้งนี้ ถ้ามีอะไรที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้กรุณาบอกก่อน พยายามรักษาจรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ ;))

วันนี้มีนัดสองนัดสุดท้ายที่ดีซี ก่อนที่จะนั่งรถไฟจากดีซีไปนิวยอร์กตอนเย็น

นัดเช้าไปพบ นาธาเนียล เฮลเลอร์ (Nathaniel Heller) ผู้อำนวยการ Global Integrity อดีตลูกน้องของ ชาร์ลส์ ลูวิส นักข่าวเจาะหัวเห็ด ผู้ก่อตั้ง CPI ที่เราไปคุยวันก่อน องค์กรนี้ทำงานวิจัย ใช้ “เทคนิคเปิด” ใหม่ๆ เพื่อประเมินระดับความโปร่งใสของรัฐและผลักดันความรับผิด ซึ่งแน่นอนว่ามีอินเทอร์เน็ต โอเพ่นดาต้า (open data) และซอฟต์แวร์ เป็นส่วนสำคัญ

Nathaniel Heller

นาธาเนียลเล่าว่าชาร์ลส์ก่อตั้ง Global Integrity เป็นหน่วยเล็กๆ ภายใน CPI ราวปลายทศวรรษ 1990 เพราะอยากหาวิธีติดตามคอร์รัปชั่นที่ดีกว่าเดิม ไปจับมือกับนักข่าวและนักวิจัยระดับท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เพื่อผลิตข้อมูลและรายงานวัดระดับคอร์รัปชั่น หน่วยนี้แยกออกมาเป็นองค์กรต่างหากในปี 2005 และเขาก็ย้ายจาก CPI มาเป็นผู้อำนวยการของที่นี่

ผู้เขียนถามว่ารายงานคอร์รัปชั่นของ Global Integrity แตกต่างจากรายงานขององค์กรอื่นที่สื่อรู้จักดีกว่า อย่าง Corruption Perception Index ขององค์การความโปร่งใสสากล (Transparency International) อย่างไร เขาตอบว่างานของ TI ช่วยกระตุ้นให้คนเกิดความตื่นตัวเรื่องนี้ แต่ก็เป็นแค่ “เครื่องมือประชาสัมพันธ์” มากกว่าข้อมูลที่เอาไปต่อยอดได้ เช่น รายงาน TI ใช้เปรียบเทียบประเทศต่างๆ ข้ามเวลาไม่ได้ (ใช้วิธีสำรวจความคิดเห็นเป็นหลัก เวลาเปลี่ยนกลุ่มคนที่ถูกถามก็เปลี่ยน) เขาบอกว่ารายงานของ Global Integrity “ดีกว่า” ในแง่ที่ลงรายละเอียดมากกว่า ใช้เทคนิคของนักวิจัยผสมกับการทำข่าวเจาะของนักข่าว ใช้แหล่งข้อมูลมหาศาลผสมกับการสัมภาษณ์ (ดู รายงานประเทศไทย ปี 2007) แต่ตอนนี้หยุดทำรายงานนี้มานานกว่า 18 เดือนแล้ว เพราะวุ่นวายกับเรื่องอื่นมากมาย นอกจากนี้เขาคิดว่าระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการทำรายงานก็ “เก่า” ไป ดึงดูดเม็ดเงินจากแหล่งทุนได้ยากขึ้น แต่อีกไม่นานจะ re-launch รายงานนี้ใหม่

“เรื่องอื่น” ที่ทำให้ทีม Global Integrity ยุ่งมากนั้นมีมากมายและน่าตื่นเต้นทั้งนั้นเลย ตั้งแต่โครงการ State Integrity Analysis ที่ทำร่วมกับ CPI และ Public Radio International วัดระดับความโปร่งใสในมลรัฐต่างๆ (เอาเครื่องมือนี้ไปวัดรัฐต่างประเทศด้วย เช่นสิบเมืองในฟิลิปปินส์) จนถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านความโปร่งใส ซึ่ง Global Integrity ก่อตั้งกองทุนนวัตกรรมขึ้นมาควานหา “ไอเดียใหม่ๆ” โดยเฉพาะ เพราะนาธาเนียลเป็นห่วงว่า วงการนี้ “ยังเสี่ยงไม่พอ” (และเมื่อเสี่ยงไม่พอนวัตกรรมก็ไม่เกิด – อันนี้ผู้เขียนเติมเอง)

Global Integrity ผลิตซอฟต์แวร์และโครงการหลายตัว (บางตัวก็เป็นผลข้างเคียงจากความพยายามที่จะจัดการทีมวิจัยหลายประเทศพร้อมกัน อย่าง Indaba) แต่การโค้ดจริงๆ ไม่ได้ทำในองค์กร เขา outsource ไปให้จีนทำทั้งหมด

การทำงานเรื่องความโปร่งใสของรัฐในวันนี้กับในอดีตแตกต่างกันอย่างไร? นาธาเนียลหยุดคิดครู่หนึ่งแล้วตอบว่า สมัยก่อนเราจะเชื่อว่า ถ้าเปิดเผยข้อมูลออกมา รัฐก็จะต้องออกมาแสดงความรับผิด คือ “ความโปร่งใส” นำไปสู่ “ความรับผิด” โดยตรง –

Transparency –> Accountability

นักข่าวเจาะรุ่นเดอะอย่างชาร์ลส์กับบิล (ผู้อำนวยการ CPI คนปัจจุบัน) ก็เชื่ออย่างนี้ พวกเขาเลยพยายามทำข่าวสืบสวนสอบสวน เปิดโปงเรื่องราวต่างๆ ออกมา แต่นาธาเนียลเองมองว่าความจริงซับซ้อนกว่านั้น วันนี้เราเริ่มมองเห็นว่า ความจริงน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า –

Transparency –> “magic box” –> Accountability

ใน “กล่องดำ” หรือ “magic box” คือปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ความโปร่งใสนำไปสู่ความรับผิดได้จริง ซึ่งอาจมีตั้งแต่ ระดับความตื่นตัวของประชาชน สถานการณ์ทางการเมือง แรงกดดันจากนายทุน ฯลฯ นาธาเนียลบอกว่า สองเรื่องที่เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์คือ 1) ทั่วโลกมีปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะมาก 2) ความคิดที่ว่านักการเมืองฟังเสียงประชาชนนั้นไม่จริง นักการเมืองที่จริงฟังเสียงผู้อุปถัมภ์ นายทุน ฯลฯ ฉะนั้นลำพังการเปิดโปงความเลวของนักการเมืองคนใดคนหนึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาโครงสร้างอำนาจด้วย ดูว่าเขาสนิทกับใคร ใครเป็นถุงเงิน ผลประโยชน์เรื่องไหนตกอยู่กับใคร ฯลฯ

นาธาเนียลสรุปว่า การศึกษา “เครือข่ายสังคม” ของผู้มีอำนาจนั้นเป็นประโยชน์และอธิบายสภาพความจริงได้มากกว่าการดูคนที่โกรธแค้นนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น เขาแนะนำให้ผู้เขียนตามงานของ Jeanine Wedel นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาโครงสร้างและเครือข่ายของชนชั้นนำ และตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทำแผนที่ความสัมพันธ์ของบริษัทขายอาวุธ นายพล และคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทหาร

ผู้เขียนถามว่า เคล็ดลับความสำเร็จของเขาคืออะไร นาธาเนียลบอกว่า ที่นี่เราล้มเหลวบ่อย หลายเรื่องที่ล้มไปไม่ได้สร้างผลกระทบอะไร แต่ทำให้เราได้บทเรียนดีๆ มากมาย หนึ่งในเรื่องที่เขาคิดว่าเป็น “ความล้มเหลวที่ดี” คือ ตอนที่ Global Integrity พยายามอาศัยเครือข่ายนักวิจัยทั่วโลกศึกษา “ความเสี่ยงทางการเมือง” ป้อนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ นักลงทุนเพื่อสังคม ฯลฯ ที่สนใจเรื่องนี้ (แน่นอนว่าพอขายนักลงทุน ก็ตั้งเป็นหน่วยแสวงกำไร)

กิจการนี้ทำกำไรให้เขาพอประมาณ แต่ไม่เคยขยายขนาดได้ ก็เลย spin-off ออกไปเป็นบริษัทวิจัยต่างหากชื่อ Foglamp แต่สิ่งที่สำคัญกว่าในสายตาของนาธาเนียลคือ โครงการนี้ทำให้เข้าใจว่านักลงทุนและภาคธุรกิจคิดอย่างไรจริงๆ กับคอร์รัปชั่น – เอ็นจีโอมักจะตั้งสมมุติฐานว่าบริษัทต่างๆ ใส่ใจเรื่องคอร์รัปชั่น แต่สมมุติฐานนี้ผิด ที่จริงธุรกิจไม่ได้ใส่ใจคอร์รัปชั่นเพราะเป็น “พลเมืองดี” หรอก ที่ใส่ใจจริงๆ คือผลกระทบของคอร์รัปชั่นต่อโอกาสการเข้าถึงตลาดในแต่ละประเทศ และกลัวถูกฟ้องต่างหาก “ความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียง” (reputation risk) เป็นเพียงมายาคติเท่านั้น

วันนี้ Global Integrity มีเวลาและทรัพยากรมากพอที่จะคิดเรื่องกลยุทธ์ขององค์กร จากที่หลายปีก่อนต้องปวดหัวกับการหาทุนทุกสามเดือน โครงการใหม่ล่าสุดของเขาโครงการหนึ่งคือ OpenGov Hub เป็นศูนย์ co-working space (ผู้เขียนไม่รู้ว่ามีใครแปลเป็นภาษาไทยหรือยัง หมายถึงพื้นที่สำนักงานที่หลายองค์กรมาใช้พื้นที่ร่วมกัน ช่วยกันแชร์ค่าเช่า ในเมืองไทยก็มีหลายเจ้าแล้ว) สำหรับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความโปร่งใสโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

หลักเกณฑ์ที่นาธาเนียลเลือกเพื่อนร่วมสำนักงานคือ ต้องทำงานด้านความโปร่งใส เน้นระบบเปิดและการมีส่วนร่วมของประชาชน ข้อดีของที่นี่คือ 1) ประหยัดค่าเช่าสำนักงาน 2) สร้างความสัมพันธ์ แนะนำคนใหม่ๆ ที่มีความสนใจคล้ายกัน ได้ขยายเครือข่าย เขาบอกว่าเวลามีแหล่งทุนมาเยี่ยมใครก็ตามที่นี่ เขาจะเชิญให้นั่งลงกินข้าวเช้ากับทีมอื่นด้วย จะได้รู้จักกัน และ 3) ได้ทำงานร่วมกันจริงๆ เขายกตัวอย่าง Feedback Labs โครงการใหม่เอี่ยม เป็นความร่วมมือกันของทีมที่ใช้พื้นที่ OpenGov Hub สี่องค์กร คือ Development Gateway, GroundTruth Initiative, Ushahidi, และ FrontlineSMS ร่วมกับองค์กรอื่น

ก่อนจากกันเขาเชิญให้ผู้เขียนมานั่งทำงานที่นี่ด้วย หลังจากที่บอกว่าจะกลับมาดีซีสี่วันหลังจบโปรแกรม คิดว่าคงจะกลับมาจริงๆ เพราะอยากเจอคนที่ทำงานเรื่อง open budget ที่นี่สองคน 😉

OpenGov Hub

บรรยากาศห้องทำงาน OpenGov Hub

ตอนบ่ายผู้เขียนไปคุยกับ Global Network Initiative (GNI) แนวร่วมระหว่างบริษัทเน็ตใหญ่ๆ อย่าง Google, Microsoft, Yahoo! (Facebook เพิ่งเข้าร่วมในฐานะ observer status) กับองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง CDT, Berkman Center @ Harvard, Committee to Protect Journalists, Human Rights Watch, Index on Censorship ฯลฯ

GNI ทำงานในห้องเล็กๆ ทั้งองค์กรมีพนักงานประจำสองคน ก็เลยวุ่นวายตลอดทั้งวัน

จุดประสงค์ของ GNI คือ “ปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัวในธุรกิจข้อมูลและโทรคมนาคม” จากมุมมองของผู้ใช้เน็ต ด้วยการสร้าง “มาตรฐาน” ให้บริษัททำตาม – พูดง่ายๆ คือ สร้างมาตรฐานซีเอสอาร์สำหรับธุรกิจเน็ตและโทรคมนั่นเอง จนถึงวันนี้ยังไม่มีบริษัทโทรคมเข้าร่วม แต่ ซูซาน มอร์แกน (Susan Morgan) ผู้อำนวยการ GNI มองว่าในอนาคตจะมี

ผู้เขียนถามซูซานว่า ทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ยังไม่เคารพกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เธอตอบว่าจริงอยู่ GNI ไม่อาจขอให้บริษัทสมาชิกละเมิดกฎหมายแต่ละประเทศได้ แต่เชื่อว่ามาตรฐานของ GNI เป็นประโยชน์ตรงที่บริษัทต่างๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต้านทานรัฐได้ ยกตัวอย่างกรณีที่กูเกิลถูกรัฐบาลตุรกีขอให้ลบวีดีโอชิ้นหนึ่งทั่วโลก กูเกิลตกลงลบเฉพาะในประเทศตุรกี (คือคนที่ใช้ IP Address จากตุรกีเข้าไปดูไม่ได้) เท่านั้น

ประเทศที่ GNI ตอนนี้ให้ความสนใจมากคืออินเดีย เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ บริษัทเน็ตหลายบริษัททำธุรกิจที่นั่น แต่กฎหมายอินเทอร์เน็ตยังแย่มาก เพราะผ่านอย่างรีบร้อนหลังเกิดเหตุวางระเบิด 2008 ที่เมืองมุมไบ ทำให้ “การส่งข้อความที่น่ารังเกียจอย่างรุนแรงหรือคุกคาม” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ซูซานไม่แปลกใจเรื่อง Snowden ออกมาแฉ NSA แต่คิดว่าเป็นเรื่องดีที่ข่าวนี้ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น ประเด็นการสอดแนมของรัฐกลายเป็นวิวาทะสาธารณะ ก่อนหน้านี้คนอาจคิดว่าเรื่องแบบนี้เกิดแต่ในประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ตอนนี้จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่ารัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าก็ทำเหมือนกัน

ข่าวดีคือตอนนี้คนอเมริกันเริ่มตื่นตัว และมีความพยายามใหม่ๆ ที่จะปฏิรูปกฎหมาย ต่อต้านการเซ็นเซอร์ของรัฐ (สามเดือนก่อน ร่างกฎหมาย Amarsh-Conyers ซึ่งจะห้าม NSA สอดแนมพลเมืองที่ไม่ได้ตกเป็นเป้าการสืบสวนของรัฐอยู่ก่อนแล้ว ถูกตีตกแต่คะแนนขาดเพียง 12 เสียงเท่านั้น) เธอบอกว่าคนอังกฤษยังไม่ตื่นตัวขนาดนี้ เธอเห็นตรงกับผู้เขียนว่า “เหตุผลทางเศรษฐกิจ” (ของการไม่เซ็นเซอร์) สามารถเป็น “คานงัด” ที่ดีได้ เพราะบริษัทเน็ตเผชิญกับแรงกดดันของตลาดทุกประเทศทั่วโลก

ซูซานย้ำว่า GNI เน้นเรื่อง “กระบวนการ” (process) คือให้บริษัทมีกระบวนการกลั่นกรองที่ดี คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เน็ตในการตัดสินใจ ใช้มาตรฐาน GNI เป็นเครื่องมือประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เธอบอกว่า GNI ห้ามไม่ให้บริษัททำธุรกิจไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจได้ว่าบริษัทสมาชิกจะเข้าไปอย่าง “รับผิดชอบ” ที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้

(เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ซีเอสอาร์ที่แท้จริงนั้นจะต้องตอบสนองต่อประเด็นที่สังคมกังวลเรื่องผลกระทบของธุรกิจนั้นๆ ไม่ใช่คิดเอาเอง ฉะนั้นซีเอสอาร์ของบริษัทโทรคมและบริษัทอินเทอร์เน็ตจึงต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นหัวใจสำคัญ)

Shake Shack

ตกเย็นเรานั่งรถไฟไปนิวยอร์ก กว่าจะถึงโรงแรมก็สามทุ่ม หิวโซมากจนต้องโซซัดโซเซออกมาหาอะไรกินนอกโรงแรม ลงเอยที่ Shake Shack ร้านแฮมเบอร์เกอร์เจ้าดัง (เจ้าของคือ Danny Meyer หัวข้อโปรดของ Grenny ที่สอนเราเรื่อง “ผู้ทรงอิทธิพล”) แฮมเบอร์เกอร์อร่อย ใส่พริกด้วย คุ้มที่ต่อคิวเกือบ 20 นาทีกว่าจะได้กิน

Times Square

เขาให้เราพักที่โรงแรม Millennium Broadway Hotel โลเกชั่นดีมาก เดินไม่กี่ก้าวก็ถึง Times Square เราอยู่ส่วนที่แพงขึ้นมาอีกชื่อ Premier Hotel มีทีวีจอแบน 28 นิ้วในห้องด้วย แต่คงไม่ได้ดู เพราะไม่มีเวลาจ้องจออื่นนอกจาก notebook ตัวเอง