บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (11)

me-michael.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ด, วันที่สิบสอง)

วันที่สิบสาม

นิวยอร์ก ซิตี้ : 11/10/2013

วันแรกในนิวยอร์กไปคุยกับคนรุ่นใหม่ (อายุราว 27-35) ทั้งวัน ได้อารมณ์กระฉับกระเฉงเร่งรีบ แตกต่างจากประชุมวันก่อนๆ พอสมควร 🙂

นัดแรกวันนี้ไปเจอ แมเดอลีน เอิร์พ (Madeline Earp) นักวิจัยเสรีภาพเน็ตประจำ Freedom House สาขานิวยอร์ก เธอเป็นสมาชิกทีมเขียนรายงาน Freedom on the Net 2013 โดยรับผิดชอบเอเชีย (ทีม Freedom House ประจำดีซีแนะนำให้ผู้เขียนมาคุยกับเธอ เพราะที่ดีซีเน้นเรื่องการออกทุนเป็นหลัก)

Madeline Earp

ดูเหมือนจะคุยเรื่องเน็ตกับใครไม่ได้เลยถ้าไม่เปิดด้วยเรื่อง Snowden แฉ NSA แมเดอลีนชี้ว่าคะแนนเสรีภาพเน็ตของสหรัฐอเมริกาหล่นไป 5 คะแนนก็เพราะเรื่องนี้ ผู้เขียนถามว่าแนวโน้มที่ดีที่สุดของเอเชียอยู่ที่ไหนบ้าง เธอตอบว่าพม่า คะแนนเสรีภาพเน็ตปีนี้เพิ่มถึง 13 คะแนนจากปีที่แล้ว เป็นเพราะกำลังพยายามเปิดประเทศ เพิ่งเลิกเซ็นเซอร์เนื้อหาออนไลน์ปีที่แล้ว ส่วนเกาหลีใต้ก็มีข่าวดีตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายที่บังคับให้ผู้ใช้เน็ตเปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริงก่อนโพสความเห็นออนไลน์ (เพี้ยนดีไหม) นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และปีเดียวกันศาลก็อนุญาตให้นักการเมืองใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงได้

ผู้เขียนถามเล่นๆ ว่า ทำไมกัมพูชาถึงได้คะแนนเสรีภาพเน็ตสูงกว่าไทย แมเดอลีนตอบซีเรียสว่าเป็นเพราะที่กัมพูชาคนยังใช้เน็ตน้อยมาก (แปลว่าถ้ามีคนใช้เน็ตมากกว่านี้ รัฐบาลอาจเซ็นเซอร์หนักกว่าไทยก็ได้!)

ผู้เขียนแลกเปลี่ยนว่าการขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพเน็ตในไทยยังยากมากเพราะ 1) เวลาจะพูดเรื่องเสรีภาพเน็ตทีไร คนไทยจำนวนหนึ่งจะหาว่า “ไม่จงรักภักดี” ทันที เพราะกฎหมายหมิ่นฯ ในไทยยังเข้มงวดมาก ถึงแม้ผู้ตรวจการจากสหประชาชาติจะเสนอให้แก้เพราะขัดต่อกติการะหว่างประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะแก้ และ 2) สื่อกระแสหลักโดยรวมยังไม่มองเสรีภาพเน็ตว่าเป็นส่วนสำคัญของเสรีภาพสื่อ ไม่สนใจและไม่รายงานข่าวเวลาที่บล็อกเกอร์ คนโพสเนื้อหา หรือเว็บมาสเตอร์ถูกจับ ทำให้คนทั่วไปไม่รู้เรื่องเวลามีคนถูกจับในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เป็นเรื่องของเนื้อหา ไม่ใช่อาชญากรรมคอมพิวเตอร์จริงๆ (ขโมยเบอร์บัตรเครดิต แฮ็กเครื่องคนอื่น ฯลฯ)

แมเดอลีนบอกว่าเห็นใจ ประเทศอื่นในเอเชียก็ดันเรื่องนี้ยากเหมือนกัน เพราะสภาพความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก (เธอใช้คำว่า “partisan environment”) ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดยากมาก อีกทั้งตำรวจและผู้พิพากษาโดยรวมก็ยังไม่เข้าใจลักษณะทางเทคนิค ไม่เข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตทำงานยังไง อีกเรื่องที่เธอเป็นห่วงคือ การสอดแนมของภาครัฐ ยิ่งมีคนรณรงค์ต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ นักกิจกรรมยิ่งควรตื่นตัวในประเด็นความปลอดภัย รู้ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร (จากการสอดแนมของรัฐ)

ผู้เขียนถามว่า แมเดอลีนคิดว่าประโยชน์ของรายงาน Freedom on the Net คืออะไร เธอคิดอย่างไรที่บางคนมองว่ารายงานนี้เป็น “โฆษณาชวนเชื่อ” ของรัฐบาลอเมริกัน เพราะ Freedom House ได้ทุนอุดหนุนส่วนใหญ่จากรัฐ เธอตอบว่าองค์กรไม่ได้พยายามปิดบังแหล่งทุนอะไร เปิดเผยอย่างชัดเจนบนเว็บว่าได้ทุนจากใครบ้าง คุณภาพของรายงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นกลางของทีมวิจัยเอง และที่ผ่านมา การที่รายงานนี้ถูกเอาไปใช้อย่างกว้างขวาง แม้แต่ธนาคารโลกก็อ้างอิงดัชนีนี้เวลาจัดอันดับประเทศต่างๆ ก็เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของรายงานฉบับนี้

ผู้เขียนขอให้ยกตัวอย่างประเทศที่มีกฎหมายอินเทอร์เน็ตดี เสรีภาพเน็ตสูง เธอบอกว่าเอสโตเนีย (Estonia) มีเสรีภาพเน็ตเป็นอันดับสองของโลก (รองจากไอซ์แลนด์) เพราะตอนที่ประเทศนี้เพิ่งใช้เน็ตแรกๆ ถูกแฮ็กเกอร์โจมตี (DDoS attacks) บ่อยมาก รัฐบาลเอสโตเนียคำนวณต้นทุนเปรียบเทียบ ระหว่างเก็บข้อมูลรัฐเป็นความลับ กับเปิดข้อมูลและโดนโจมตี พบว่าต้นทุนของการเก็บเป็นความลับสูงกว่ามากจนไม่คุ้มที่จะทำ ตั้งแต่นั้นมาเอสโตเนียก็เป็นประเทศที่เปิดเสรีเน็ตตลอดมา

แมเดอลีนคล่องภาษาจีนและรับผิดชอบรายงานเสรีภาพเน็ตส่วนประเทศจีนมานาน ผู้เขียนเลยถามว่า คิดว่าประเทศจีนจะเปิดเสรีภาพเน็ตเมื่อไร เธอตอบว่าคงอีกนาน เพราะทุกอย่างที่รัฐบาลจีนทำนั้นทำไปเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง และมีคนจำนวนมากที่มีผลประโยชน์กับระบบนี้ ไม่อยากเป็นก้างขวางคอรัฐเพราะตัวเองจะเสียประโยชน์ รัฐบาลจีนปีหนึ่งๆ ใช้เงินไปกับการเซ็นเซอร์และจัดการกับ “ผู้ก่อความไม่สงบ” ภายในประเทศมากกว่าเงินที่ใช้ไปกับการป้องกันชาติ เท่ากับว่าใช้เงินสู้กับประชาชนตัวเองมากกว่าศัตรูข้างนอกอีก

นัดที่สองผู้เขียนไปเจอ Purpose องค์กรค่อนข้างใหม่ (เว็บไซต์ก็สวย) ที่ทำงานด้วยโมเดลน่าสนใจมาก คือเป็นส่วนผสมระหว่างเอ็นจีโอที่ขับเคลื่อนประเด็นสังคม กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดเชิงสังคม ผู้เขียนลองแปลหน้า “เกี่ยวกับเรา” จากเว็บเขามา เพราะสรุปความเป็นมาได้ดี –

Purpose สร้างขบวนการเคลื่อนไหวสำหรับศตวรรษที่ 21 เราอาศัยพลังส่วนรวมของพลเมืองและผู้บริโภคนับล้านเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในโลก เราพัฒนาและริเริ่มขบวนการเชิงสังคมและขบวนการของผู้บริโภคด้วยการใช้โมเดล “ผู้ประกอบการการเคลื่อนไหว” (movement entrepreneurship) ของเราเอง และทำงานร่วมกับองค์กรและบริษัทหัวก้าวหน้าเพื่อช่วยให้พวกเขาผลักดันการกระทำเปี่ยมความหมายขนานใหญ่ของมวลชน

Purpose ถือกำเนิดในการทดลองที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมออนไลน์ ผู้ร่วมก่อตั้งของเราคือผู้ร่วมก่อตั้ง Avaaz ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิก 15 ล้านคน ทำงาน 14 ภาษา และผู้ก่อตั้ง GetUp! ในออสเตรเลีย ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวทางสังคมที่มีสมาชิกมากกว่าสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคในออสเตรเลียรวมกัน Purpose ช่วยผลักดันความพยายามที่จะต่อกรกับโรคมะเร็ง กำจัดอาวุธนิวเคลียร์ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอาหาร ไม่นานมานี้เราริเริ่ม All Out – ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกเพื่อคว้าสิทธิและการยอมรับทางวัฒนธรรมครั้งประวัติศาสตร์มาสู่คนหลากเพศ

เทคโนโลยีกำลังปลดล็อกรูปแบบใหม่ๆ ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางสังคม Purpose ทำงาน ณ พรมแดนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และทีมระดับโลกของเราก็กำลังบุกเบิกวิธีใหม่ๆ ที่จะให้คนรวมพลังกันในฐานะพลเมือง ผู้บริโภค และผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ขบวนเคลื่อนไหวของเราขับเคลื่อนคนจำนวนมหาศาลทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อส่งอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมือง ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังทำงานเพื่อสร้างความต้องการและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ลำพังการเมืองทำไม่ได้”

ฟังดูน่าทึ่งไม่น้อย ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตคงคิดโมเดลอะไรแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ ผู้เขียนพบ อาลี ไวเนอร์ (Ali Weiner) ฝ่ายกลยุทธ์ ทำงานที่นี่มาเจ็ดเดือนแล้ว ก่อนหน้านี้ทำงานเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ที่เมืองไทยกว่าหนึ่งปี ปลายเดือน พ.ย. นี้ อาลีจะกลับไปเมืองไทยอีก

Ali Weiner

อาลีอธิบายว่า Purpose จดทะเบียนเป็นบริษัท B-Corp (ย่อมาจาก benefit corporation คือยึด “ธุรกิจที่ยั่งยืน” เป็นที่ตั้ง (ทำกำไรทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) ไม่ใช่มุ่งทำกำไรสูงสุด) ขาหนึ่งเป็นบริษัท อีกขาเป็นมูลนิธิ ให้บริการสองด้านคือ 1) “ฟูมฟัก” (incubate) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตัวอย่างที่ดีมากคือ All Out กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิของคนหลากเพศ ตอนนี้มีสมาชิกล้านกว่าคนแล้ว และ 2) ทำงานเป็นพันธมิตรหรือให้คำปรึกษา (สไตล์เอเยนซีโฆษณาหรือพีอาร์) แก่บริษัทหรือองค์กรอื่นๆ ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดย “ลูกค้า” ของบริการหลังนี้ก็มีตั้งแต่เอ็นจีโอไปจนถึงบริษัทในธุรกิจกระแสหลัก

ผู้เขียนบอกว่าหลายบริษัทในเมืองไทยชอบจ้างเอเยนซีให้ทำโครงการซีเอสอาร์เพื่อ “สร้างภาพ” หรือ “ฟอกเขียว” (greenwash) ตัวเองเป็นหลัก โดยที่การดำเนินธุรกิจหลักก็ยังเหลวแหลก ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมต่อไป Purpose มีวิธีหลีกเลี่ยงลูกค้าแบบนี้หรือไม่อย่างไร อาลีตอบว่า Purpose มีกระบวนการ “ethical due diligence” ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่อยากมาจ้างทำงานว่าตั้งใจจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนจริงๆ หรือเปล่า ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่อยากจ้างให้ Purpose สร้างภาพหรือฟอกเขียว แต่ Purpose ปฏิเสธที่จะทำงานให้

ถามว่าจุดแข็งของ Purpose คืออะไร อาลีตอบว่าคือทีมงานที่ประกอบด้วยคนเก่งๆ จากหลากหลายสาขามาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ครีเอทีฟดิจิตอล นโยบายรัฐ การสร้างแบรนด์ การตลาด เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โซเชียลมีเดีย และวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันบนเน็ต ทั้งทีมตอนนี้มี 70 คน ผู้เขียนถามต่อว่าที่นี่แก้ปัญหาเรื่อง “clicktavism” อย่างไร (หลายคนค่อนขอดการเคลื่อนไหวออนไลน์ว่า เป็นเรื่องของคน “ขี้เกียจ” คือแค่คลิกไลก์แล้วก็รู้สึกว่าได้กู้โลกหรือช่วยสังคม ปัญหานั้นหมดไปแล้ว) อาลีชี้ว่าเขามอง “commitment curve” (เส้นความทุ่มเท) ของคนเราว่ามีสามขั้น ขั้นแรกคือ “ขั้นต่ำ” (low-level) เช่น กดแชร์เนื้อหา ต่อมา “ขั้นกลาง” คือควักเงินบริจาค ออกจากบ้านไปร่วมอีเวนท์หรือการชุมนุมประท้วง ส่วนความทุ่มเท “ขั้นสูง” (high-level) คือกลายเป็นนักรณรงค์เอง เปิดเพจเฟซบุ๊กเชิญคนอื่นมาร่วม อะไรแบบนี้ แน่นอนว่าความทุ่มเทขั้นสูงวัดยากกว่าขั้นต่ำ แต่เป็นสิ่งที่ Purpose พยายามทำมากกว่า

ถามว่ากุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของการผลักดันประเด็นสังคมในโลกออนไลน์ กระตุ้นให้คนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องคืออะไร อาลีมองว่าขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่หัวใจที่เหมือนกันคือ แคมเปญนั้นๆ ต้องมี “เรื่องราว” ที่น่าสนใจ คำถามคือคุณสามารถหาคนที่เป็น “ตัวแทน” ประเด็นนี้ได้หรือเปล่า? เรื่องยากคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน อีกเรื่องที่สำคัญคือ คนต้องรู้ว่าก้าวต่อไปเขาควรทำอะไร ไม่อย่างนั้นความตื่นตัวก็จะเสียเปล่า (ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพจรณรงค์จำนวนมากบนเฟซบุ๊กไทย คือคลิกไลก์เสร็จแล้วไม่รู้ว่าควรทำอะไรต่อ ทั้งที่น่าจะมีขั้นตอนต่อเนื่อง อย่างเช่นการรวบรวมรายชื่อเสนอแก้กฎหมาย หาตัววุฒิสมาชิกหรือ ส.ส. ที่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ แล้วคอยยื่นเข้าสภาเป็นระยะๆ)

ออฟฟิศของ Purpose เจ๋งมาก โปร่งโล่งน่าทำงาน ชอบประตูห้องน้ำเป็นพิเศษ 😉

Purpose Bathroom

Purpose office

นัดสุดท้ายของวันนี้ไปคุยกับ ไมเคิล แม็คคัทเชียน (Michael McCutcheon) บรรณาธิการฝ่ายการเมืองประจำ PolicyMic (อ่านว่า “โพลิซีไมค์”) เว็บไซต์ “โดย millennial เพื่อ millennial” (ไม่แน่ใจว่าควรแปล “millennial” เป็นไทยว่าอะไรดี แต่ความหมายคือ Gen-M : คนที่เกิดหลังปี 1980 เป็นต้นมา)

สิ่งที่น่าทึ่งมากสำหรับเว็บนี้คือ ภายในปีเดียวคนอ่านเติบโตจาก 2 ล้าน เป็น 9 ล้านคนต่อเดือน พนักงานประจำตอนนี้มีประมาณ 20 คน ดูแลนักเขียน Gen-M กว่า 3,000 คน (หลากหลายมากตั้งแต่นิสิตเอกเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย นักเรียนแพทย์ ฯลฯ) ที่ส่งบทความมาให้จาก 20 ประเทศทั่วโลก แต่ละวันเว็บนี้ตีพิมพ์บทความใหม่ราว 75 ชิ้นโดยเฉลี่ย โค้ดระบบจัดการเนื้อหาและโพสคอมเม้นท์เอง เป้าหมายคืออยากสร้างชุมชนของคน Gen-M ดังนั้นก็เลยเชื้อเชิญให้คนเข้ามาโพสความเห็นท้ายบทความเยอะๆ

ที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคือ ในจำนวนนี้มีนักเขียนราว 100 คนเท่านั้นที่ได้ค่าตอบแทน ที่เหลือเขียนส่งมาเพราะอยากเขียน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น (ผู้เขียนเข้าใจ “แรงขับ” ของคนเขียนพอสมควร ในฐานะบล็อกเกอร์ที่ไม่เคยได้เงินโดยตรงจากการเขียนบล็อก แต่ได้เปลี่ยนอาชีพ :))

Michael McCutcheon

ไมเคิลเล่าจุดกำเนิดของ PolicyMic ว่า เกิดจากความคิดของผู้ก่อตั้ง (อายุ 25 ทั้งคู่) ที่อยากเห็นเวทีที่คนรุ่น Gen-M จะมาคุยกัน ปรึกษาหารือกันเรื่องซีเรียส ไม่ใช่แค่แชร์คลิปวีดีโอตลก เขาควานหานักเขียนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ บรรณาธิการแต่ละฝ่ายจะส่งไอเดียใหม่ๆ สำหรับการเขียนบทความให้กับนักเขียนที่เขาดูแลทุกสัปดาห์ ดูจากกระแสข่าวในสังคมประกอบกับสถิติคนอ่านสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นี่เขาวัดสถิติละเอียดมาก วิเคราะห์ว่าคนอ่านเรื่องแบบไหนมากที่สุดเพราะอะไร และให้ความสำคัญกับการดันเรื่องบนเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine Optimization: SEO) อย่างมาก ตอนนี้คนอ่านบนเว็บ 60% มาจากการเสิร์ช อีก 40% มาจากการแชร์เนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย

ผู้เขียนถามว่าเขาเจอจุดร่วมบ้างไหมของเรื่องที่มีคนคลิกไลก์และแชร์เยอะๆ (เป็นหลักหมื่น) ไมเคิลตอบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทันต่อเหตุการณ์และเล่าเรื่องราวส่วนตัว เช่น ประสบการณ์หางานไม่ได้ของคนเขียนในยุคเศรษฐกิจซบเซา และ/หรือมีกราฟฟิกประกอบที่น่าดึงดูด (ตอนนี้จ้างข้างนอกทำ ระยะยาวน่าจะจ้างดีไซเนอร์เอง) เขาบอกว่า “ความยาว” ไม่เป็นประเด็นเท่ากับ “คุณภาพ” ของงานเขียน คือถ้าเขียนดี ยาวแค่ไหนคนก็อ่าน (ไม่ใช่ “ยาวไปไม่อ่าน” แบบที่คนไทยชอบท่อง ซึ่งผู้เขียนก็สงสัยตลอดมาว่าจริงหรือ)

ผู้เขียนถามว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับเขาคืออะไร ไมเคิลหยุดคิดแล้วตอบว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ PolicyMic ยังตอบไม่ได้ว่าอยากเป็นอะไรกันแน่ระหว่าง เครือข่ายสังคม (ระบบเปิด ใครจะเขียนอะไรก็เขียน) กับสื่อมวลชน (ต้องมีบรรณาธิการกลั่นกรองก่อน) เขาบอกว่าตอนนี้สมดุลระหว่างสองขั้วนี้อยู่ที่บรรณาธิการแต่ละคนที่ดูแลแต่ละฝ่าย ไม่สม่ำเสมอเท่ากันทั้งเว็บ ผู้เขียนชี้ว่าส่วนการเมืองก็มีเนื้อหาจากคนข้างนอก (Op-ed) เหมือนกัน ไม่ได้มีแต่นักเขียน Gen-M เขาตอบว่าใช่ เขาพยายามเชิญนักการเมืองทุกขั้วอย่างเช่น Rand Paul มาเขียนบทความลงในนี้ จะได้รู้ว่าคน Gen-M คิดอย่างไร โดยมีเงื่อนไขว่าเขียนเสร็จแล้วห้ามหายตัวไปเฉยๆ แต่ต้องมาตอบคอมเม้นท์ของคนอ่านด้วย

หลายวันที่ผ่านมาผู้เขียนคุยกับนักข่าวมาแล้วหลายโมเดลหลายรูปแบบ ตั้งแต่รุ่นเดอะอย่าง CPI มาถึงรุ่นกลางอย่าง Global Integrity และรุ่นเล็กอย่าง PolicyMic ได้เห็นภาพความแตกต่างทางความคิดระหว่างรุ่นชัดดี คนรุ่นเดอะมุ่งทำงานหนัก เชื่อว่าถ้าทำงานหนักถึงยังไงก็ชนะคนอื่น คนรุ่นกลาง(อย่างผู้เขียน)พยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ มาต่อยอดการทำงานคุณภาพ ส่วนคนรุ่นเล็กเปิดเวทีใหม่ให้กับคนรุ่นตัวเองไปเลย (และแน่นอนว่าเว็บดูสวยงามน่าใช้กว่าเว็บของคนรุ่นเดอะหลายเท่า :))