บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (14)

me-carol.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่, วันที่สิบห้า)

วันที่สิบหก

นิวยอร์ก ซิตี้ : 14/10/2013

ที่จริงวันนี้เป็นวันหยุดอเมริกา เรียกว่า Columbus Day ฉลองวันขึ้นฝั่งทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หยุดวันจันทร์ที่สองของเดือนตุลาคมทุกปี แต่ผู้เขียนมีนัดสองนัด เพราะหนังสือพิมพ์กับนักรณรงค์สิทธิดิจิตอลไม่หยุดกับเหมือนใครเขา 🙂

New York Times Building

นัดแรกตอนเช้าที่ New York Times ไปกับลูกเต๋าและโอมาร์เจ้าเก่า (จริงๆ ไม่ได้ไปเจอใครพร้อมกันตั้งแต่คราวที่ไปหา ชาร์ลส์ ลูวิส นักข่าวเจาะชั้นเซียน) เราไปพบ แครอล จิอาโคโม Carol Giacomo สมาชิกคณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ต้องนั่งรอสิบกว่านาทีเพราะเธอติดประชุมคณะบรรณาธิการ วันที่เรามาพบเธอคือ 14 ต.ค. เป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นวันสุดท้ายที่ International Harald Tribune จะวางจำหน่ายในชื่อนี้ ตั้งแต่พรุ่งนี้ (15 ต.ค.) เป็นต้นไป จะถูกรีแบรนด์เป็น International New York Times ถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของ New York Times อย่างเต็มตัว

บทสนทนากับแครอลส่วนใหญ่ผู้เขียนเล่าให้ฟังไม่ได้ เพราะเธอขอเล่า “off the record” และอยากให้สรุปแต่เพียงว่า เราคุยกันเรื่องความทุ่มเทของ New York Times ต่อการเป็น “สื่อคุณภาพ” และการรีแบรนด์ International Herald Tribune (เมื่อก่อนฉบับนี้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง New York Times กับ Washington Post แต่ Washington Post ขอขายคืน เลยเป็นของ Times เจ้าเดียว) ก็เป็นสัญญาณว่า Times จะรุกตลาดต่างประเทศมากกว่าเดิมอีก จากเดิมที่มีคนอ่านต่างประเทศหลายล้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะผ่านเว็บ

ข้อมูลอื่นเธอบอกให้ผู้เขียนอ้างอิงจากข่าว “A Leaner Times Aims for Global Growth” ซึ่งตีพิมพ์ในหน้าธุรกิจของ Times เอง ผู้เขียนเลยจะสรุปข่าวนี้มาประมาณนี้ –

เมื่อธุรกรรมขายกิจการ Boston Globe เสร็จสิ้นลงในเดือนนี้ (โดยตัดขายในราคาขาดทุนมหาศาล) New York Times ก็จะเหลือ “ผลิตภัณฑ์” หลักเพียงตัวเดียวเท่านั้น คือ New York Times วันที่ 15 ต.ค. ค่ายนี้จะเริ่ม International New York Times ซึ่งเป็นก้าวใหญ่สำหรับสื่อที่ลดขนาดพนักงานและสินทรัพย์ลงมาเหลือ 3,500 คน น้อยกว่าตัวเลขเมื่อสองปีก่อนกว่าครึ่งหนึ่ง และเท่ากับหนึ่งในสี่ของขนาดกำลังพลในปี 2002

การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้นสำหรับ Times คือ จากการเป็นสื่อที่อยู่ได้ด้วยโฆษณาเป็นหลัก กลายมาเป็นสื่อที่อยู่ด้วยยอดการจำหน่ายและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคเป็นหลัก รายได้โฆษณาปี 2012 ลดเหลือเพียง 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002 ในทางกลับกัน ตลอดห้าปีที่ผ่านมายอดคนอ่าน Times ฉบับวันอาทิตย์ถ้ารวมฉบับกระดาษและดิจิตอลเพิ่มขึ้น 57 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.3 ล้านคน และยอดคนอ่านฉบับวันจันทร์รวมกระดาษและดิจิตอลก็เพิ่มขึ้น 73 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.9 ล้านคน จำนวนผู้อ่านที่สมัครสมาชิกฉบับดิจิตอลเพิ่มเป็น 700,000 คน และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ Times ก็ยังมีกำไร : 133 ล้านเหรียญในปี 2012

Times ประกาศว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้คนสมัครเป็นสมาชิก ดึงดูดผู้อ่านจากต่างแดนให้จ่ายสตางค์ (ตอนนี้มีคนอ่านนอกอเมริกาเข้าไปอ่านเว็บ Times ถึง 15-20 ล้านครั้งต่อเดือน แต่มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จ่ายเงิน) และขยายกำลังการผลิตวีดีโอ แผนของ Times รวมถึงการขยายแหล่งรายได้ไปยังการจัดสัมมนาหนึ่งวัน และทริปเรือสำราญให้ผู้อ่านกระทบไหล่กับนักข่าว Times และคอลัมนิสต์

การลงทุนในคน วีดีโอ ฯลฯ ใช่ว่าจะราบรื่น หลายคนกังวลว่า Times จะทำกำไรเพิ่มได้ขนาดไหนในเมื่อเนื้อหาส่วนใหญ่ที่จะเพิ่มนั้นทำให้คนดูฟรีบนเน็ต แต่ผู้บริหาร Times ย้ำว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลายตัวที่ทำเงินได้ (จากคนอ่านหรือสปอนเซอร์) อย่างเช่นการจัดสัมมนา พาคนลงเรือสำราญไปกับนักข่าว รวมถึงการต่อยอดเนื้อหาคุณภาพ เช่น ในปี 2014 คิดว่าจะเริ่มเปิดให้คนจ่ายเงินสมัครเป็นสมาชิกฐานข้อมูล “สูตรอาหารและคำแนะนำในการทำอาหาร” ของ Times

สิ่งที่ผู้บริหารของ Times เน้นมากในข่าวนี้ (และแครอลก็ย้ำแล้วย้ำอีกกับผู้เขียน) คือ โครงการต่างๆ ตั้งอยู่บนฐานของการทำ “ข่าวคุณภาพ” ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับ Times มายาวนาน หาวิธีทำเงินจากงานที่นักข่าวทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้นักข่าวไปทำธุรกิจ

ผู้บริหารในข่าวบอกว่า “สิ่งสุดท้ายในโลกที่เราต้องการ คือฝั่งธุรกิจเข้ามาพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ข่าว …อนาคตของวารสารศาสตร์จะต้องถือกำเนิดในห้องข่าวของ New York Times ไม่ใช่ในฝ่ายโฆษณา”

แครอลสำทับก่อนจากกันว่า “ที่นี่เราเชื่อว่าจะต้องสร้างธุรกิจจากฐานการทำข่าว ไม่ใช่สร้างข่าวบนฐานการทำธุรกิจ”

ก่อนจากกันขอถ่ายรูปคู่ เธอบอกว่าที่ Times มีนโยบายห้ามถ่ายรูปในสำนักงาน (ซึ่งเป็นตึกที่ดังมากๆ ตึกหนึ่งในนิวยอร์ก) ก็เลยเดินต้อนพวกเราลงมา ถ่ายรูปกันที่ล็อบบี้

Carol Giacomo

ตอนบ่ายไปเจอ เบรทท์ โซโลมอน (Brett Solomon) ผู้ก่อตั้ง Accessnow.org องค์กรปกป้องและขยับขยายสิทธิดิจิตอลสำหรับทุกคน โดยเฉพาะ “ผู้ใช้เน็ตที่ตกอยู่ในความเสี่ยง” (เช่น นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนที่ทำงานในประเทศเผด็จการ) ทั่วโลก องค์กรนี้ค่อนข้างใหม่ ก่อตั้งในปี 2009 หลังเกิดเหตุรัฐออกมาปราบปรามผู้ประท้วงในอิหร่าน เขามานั่งคุยร่วมกับ โยชาย เบน-อาวี (Jochai Ben-Avie) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย

Accessnow ร่วมมือกับนักกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิดิจิตอลและภาคประชาสังคมทั่วโลก ทำงานสามด้านคือ 1) ช่วยเพิ่มศักยภาพทางเทคนิคของคนทำงานด้านนี้ (จัดอบรมและมีสายด่วน โทรไปถามได้ถ้ามีคำถาม เช่น กลัวว่าอีเมลจะถูกแฮ็ก) 2) ช่วยทำแคมเปญรณรงค์เรียกร้องสิทธิดิจิตอลและอินเทอร์เน็ตเปิดทั่วโลก และ 3) แสดงตัวเป็นผู้นำทางความคิด ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ใช้ได้จริงในเรื่องของเสรีภาพเน็ต

ก่อนถึงตึก Accessnow มองขึ้นไปเห็นป้ายโฆษณา BitTorrent พูดเรื่อง “พลังประชาชน” พอดี เข้ากับบรรยากาศมาก เพราะพอยิงคำถามแรกกับเบรทท์ว่า สถานการณ์เสรีภาพเน็ตดูน่าหดหู่ เขามีความหวังบ้างไหม เขาก็ตอบว่า กลุ่มต่อต้านอย่าง Anonymous ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจ และก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ระบบอะไรก็แล้วแต่ที่เน้นการปิดกั้นและควบคุม จะต้องมีขบถ มี digital radicals ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อหนีการควบคุมเสมอ

BitTorrent ad

ป้ายโฆษณา BitTorrent

เบรทท์มองว่า ระบบจะต้อง “ปรับตัว” ให้เข้ากับ Wikileaks, Snowden และยิ่งออกมาแฉระดับการสอดแนมของรัฐ ประชาชนยิ่งตื่นตัวและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น ยกตัวอย่างร่างกฎหมาย Amarsh-Conyers ซึ่งจะห้าม NSA สอดแนมพลเมืองว่าขาดคะแนนเสียงเพียงนิดเดียว (ตัวอย่างเดียวกับที่ซูซานจาก Global Network Initiative ยกเมื่อวันก่อน) นอกจากนี้องค์กรกำกับมาตรฐานเน็ตอย่าง ICANN ก็เริ่มมองประเด็นระหว่างประเทศมากขึ้น

ผู้เขียนถามเรื่องแนวโน้มที่รัฐบาลหลายประเทศตอนนี้อ้างว่าต้องมี “อธิปไตยข้อมูล” (data sovereignty) จะบังคับให้บริษัทเน็ตเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ในประเทศตัวเอง เบรทท์มองว่าในแง่หนึ่งก็ถูกต้องแล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ควรยอมให้รัฐบาลอเมริกา (ผ่าน NSA) ดักข้อมูลประชาชนของตัวเอง แต่การตีกรอบเรื่องนี้ไม่ควรใช้คำว่า data sovereignty เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเลยธงการ “คุ้มครอง” ข้อมูล เลยเถิดไปเป็นกลไก “ควบคุม” ข้อมูล ควรตีกรอบเรื่องนี้ว่า “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” (data/privacy protection)  มากกว่า data sovereignty เพราะนั่นคือสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ใช้เน็ต เขาบอกว่าตอนนี้ Council of Europe กำลังจะแก้ไขกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว น่าจะเสร็จในปี 2014

ยิ่งคุยก็ยิ่งรู้สึกว่ามีหลายงานที่น่าจะทำร่วมกับเขาได้ เช่น ตอนนี้ Accessnow ทำโครงการ Digital Due Process รวบรวมและเขียน “แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ” ของการดำเนินคดีคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาหนึ่งที่พบคือ ผู้พิพากษาหลายประเทศยังไม่เข้าใจว่าเน็ตทำงานอย่างไร เลยไม่มั่นใจว่าควรมีจุดยืนอย่างไร (ในไทยตำรวจยังใช้กระบวนการที่ไม่ค่อยมี due process เช่น อายัดคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ทั้งที่ไม่ใช่เซิร์ฟเวอร์ที่มีข้อมูลผิดกฎหมาย)

เบรทท์เล่าว่าการทำงานของ Accessnow แบ่งเป็นสองทีมใหญ่ ทีมให้คำปรึกษาทางเทคนิคตอนนี้อยู่ที่ตูนีเซีย (บ่อเกิด “Arab Spring” เมื่อสองปีก่อน) ส่วนทีมขับเคลื่อนนโยบายอยู่ที่อเมริกา มีแผนจะขยายทีมเทคนิคไปที่เอเชียกับอเมริกาใต้ในอนาคตอันใกล้

ผู้เขียนถามว่าทำไม Accessnow ถึงไม่เข้าเป็นสมาชิกของแนวร่วม Global Network Initiative (GNI) ถ้าอยากหาทางออกที่รวมผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (multi-stakeholder) โจชายตอบว่าเขาเลือกที่จะไม่ร่วมเพราะ Accessnow จะได้ติดตามตรวจสอบ GNI จากข้างนอกได้ในฐานะ “watchdog”

โจชายชี้ว่าวันนี้บริษัทเน็ตเริ่มตื่นตัวและร่วมมือกันมากขึ้น Asia Internet Coalition เป็นความพยายามแบบ GNI แต่เกิดในระดับเอเชีย และบริษัทเน็ตก็เริ่มใช้เทคนิคหลบเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์โดยไม่ผิดกฏหมาย เขายกตัวอย่างกรณีที่ Yahoo! เลือกที่จะไม่แปลเงื่อนไขการให้บริการ (Terms of Service : TOS) เป็นภาษาเวียดนาม เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้ Yahoo! อยู่ใต้กฎหมายเวียดนาม (ซึ่งยังเซ็นเซอร์เน็ตเข้มมาก)

เบรทท์บอกว่าเขากำลังรณรงค์เรียกร้องและกดดันให้บริษัทโทรคมนาคมเข้ามาร่วมในวงสนทนา ให้ร่วม GNI เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น ทำแคมเปญต่อต้าน Vodafone ที่ช่วยรัฐบาลอียิปต์เซ็นเซอร์และโฆษณาชวนเชื่อ สืบสาวความเป็นเจ้าของบริษัทโทรคมนาคมในมาเลเซีย ติดต่อบริษัทแม่ในยุโรป เรียกร้องให้หยุดเซ็นเซอร์

Brett Solomon

Brett Solmon ผู้ก่อตั้ง Accessnow.org

ตกเย็นเดินไปกิน Le Bernardin ร้านอาหารฝรั่งเศสระดับสามดาวมิเชลินกับเมเกน ร้านนี้อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมเท่าไร เป็นร้านสามดาวมิเชลิน เราสั่งเมนูสี่คอร์ส (รวมของหวาน) ราคา $130 ต่อหัว คิดว่าโอเคทีเดียวสำหรับอาหารฝรั่งเศสระดับนี้ อาหารอร่อยทุกจานอีกต่างหาก

Black Bass

ปลากะพงปากกว้าง (black bass)

Tuna on bread

ปลาทูน่าบนขนมปังกรอบ

Mille-Feuille

Mille-Feuille