บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (17)

me-ona.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ด, วันที่สิบแปด)

วันที่สิบเก้า

แอตแลนต้า : 17/10/2013

เมื่อคืนไฟลต์จากนิวยอร์กถึงแอตแลนต้ารอคิวขึ้นบินนานมาก พอเครื่องลงจอดแล้วก็รองวงอีกสิบกว่านาที กว่าจะถึงโรงแรมก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน หลับเป็นตายไปเลย

รู้สึกเหมือนได้มา “พักผ่อน” ชั่วคราว เพราะวันนี้เป็นวันทำงานวันแรกที่ผู้เขียนไม่มีนัดไปเจอใครที่ไหน ไปนั่งฟังงานสัมมนา Online News Association 2013 (ONA13) ที่โรงแรม Marriott Marquis โรงแรมใหญ่ยักษ์กลางเมืองแอตแลนต้า (เมื่อก่อนเคยได้ชื่อว่า “นิวยอร์กแห่งภาคใต้”) งานนี้นับว่าเป็นงานรวมดาวค่ายสื่อและนักข่าวดิจิตอลของอเมริกา ซึ่งเครือข่ายก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีสื่อค่ายไหนที่ไม่อยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอีกต่อไป

ONA Registration

NewsCred

ทุกวันนี้สื่ออเมริกันเลิกพูดถึงผลกระทบชนิด “พลิกแผ่นดิน” ของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อสื่อกันแล้ว แต่พูดถึงการทำข่าวแบบใหม่ที่อาศัยความ “เข้าใจ” และ “วิเคราะห์” ข้อมูลท่วมท้นบนเน็ตเป็นฐาน เกิดเป็นศาสตร์ใหม่ๆ อย่าง data journalism (วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล) และ sensor journalism (วารสารศาสตร์เชิงตรวจวัด) ไปจนถึง drone journalism (วารสารศาสตร์โดยอากาศยานไร้คนขับ) ซึ่งก็ทำให้งานสัมมนาของ ONA โดดเด่นและคึกคักมาก เป็นที่รวมตัวของนักข่าว โปรแกรมเมอร์ นักเทคโนโลยี นักประดิษฐ์ นักวิชาการด้านสื่อ บรรณาธิการ เว็บมาสเตอร์ นักธุรกิจดิจิตอล ฯลฯ ที่อยากมองเห็น “แนวโน้ม” และชำเลืองมอง “อนาคต” ของวารสารศาสตร์ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน มีโอกาส ความเสี่ยง และข้อควรระวังอะไรบ้าง

งานนี้จัดสามวัน แต่ละวันมีสัมมนาและ workshop ที่จัดพร้อมกันหลายห้อง ต้องเลือกว่าจะไปฟังห้องไหน คืนสุดท้ายมีงานเลี้ยงและแจกรางวัล ONA ประจำปี อารมณ์เหมือนรางวัลออสการ์ของนักข่าวดิจิตอล 🙂

Stuff

(คลิกที่ชื่อ Session เพื่ออ่านสรุปเนื้อหา คลิปเสียง และวีดีโออัดงานสัมมนาบนเว็บ ONA)

Session 1: “A Fragile Trust: Public Faith in the Media – Where Have We Been, Where Are We Going?”

Session แรกที่ผู้เขียนเลือกเข้าในเช้าวันแรกของงานสัมมนาแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “ความไว้วางใจอันเปราะบาง: ศรัทธาของสาธารณชนต่อสื่อ – เราไปไหนมาแล้วบ้าง และกำลังจะก้าวไปทางไหน?” ที่เลือกเข้าห้องนี้เพราะอยากดู preview สารคดีเรื่อง Fragile Trust ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของ เจสัน แบลร์ (Jayson Blair) อดีตนักข่าว New York Times ที่ลาออกหลังจากถูกเปิดโปงว่าลอกข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นและแต่งเรื่องโกหกในข่าว เช่นอ้างว่าเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้เคราะห์ร้ายทั้งที่ไม่ได้ไป สารคดีเรื่องนี้มีกำหนดฉายทางช่อง PBS (ทีวีสาธารณะของอเมริกา) ประมาณกลางปีหน้า

Samantha Grant

ซามานธา แกรนท์ (Samantha Grant) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ฉายบางตอนของสารคดีให้เราดู ดูน่าสนใจดีนะ สัมภาษณ์ทั้งตัวนักข่าวที่ทำผิด บรรณาธิการและเพื่อนนักข่าวใน New York Times และคนนอก บางประโยคน่าสนใจที่ผู้เขียนจดมาได้จากสารคดี แต่จดชื่อคนพูดไม่ทัน –

“บ.ก. New York Times หลายปีก่อนบอกผมว่า เขาไม่สนใจอินเทอร์เน็ต เพราะไม่มีใครหรอกที่จะแบกคอมพิวเตอร์เข้าไปนั่งอ่านในห้องน้ำ”

“ห้องข่าวเผชิญกับแรงกดดันให้ยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่ …ส่งผลให้การทำงานในห้องข่าวเข้มข้นและเครียดกว่าเดิมมาก”

“ผมไม่คิดว่าห้องข่าวที่ไหนจะมีวิธีตรวจจับคำโกหกได้”

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นไม่นานมานี้รายงานว่าระดับความไม่ไว้วางใจสื่อเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากการที่สื่อค่ายต่างๆ เริ่มมีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น อ้างแหล่งข่าวอย่างชัดเจนในเนื้อข่าวว่าเป็นใคร กรณีฉาวเรื่อง เจสัน แบลร์ นั้นสื่อส่วนใหญ่มองว่าเป็นประเภท “ร้อยปีมีหน” และไม่น่าจะเกิดได้ง่ายๆ อีก

ซามานธาแบ่งกลุ่มพวกเราในห้องออกเป็นสี่กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มคิดคำถามและระดมสมองหาคำตอบ คำถามที่คิดกันคือ นักข่าวต้องการ “เครื่องมือ” อะไรบ้างที่จะช่วยอธิบายเรื่องจรรยาบรรณ ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากสาธารณะมากขึ้น? วงการสื่อจะ “ลงโทษ” นักข่าวที่ทำผิดจรรยาบรรณอย่างไร? นักข่าวจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าตัวเองน่าไว้วางใจ? นักข่าวจะ “ให้การศึกษา” แก่คนอ่านได้อย่างไร (ว่าข่าวคุณภาพแตกต่างจากข่าวด้อยคุณภาพตรงไหน)?

หลังแบ่งกลุ่มระดมสมองกันสิบนาทีก็ได้เวลามาแลกเปลี่ยนคำตอบ กลุ่มที่คิดเรื่องเครื่องมือช่วยเหลือนักข่าวบอกว่าตอนนี้ก็มีเว็บไซต์และคู่มือที่อธิบายจรรยาบรรณอยู่ไม่น้อย อาทิ Poynter Online หรือ AP Stylebook แต่จะดีกว่านี้อีกถ้ามีสายด่วนคอยช่วยเหลือเวลานักข่าวมีปัญหา แอพพลิเคชั่นที่โค้ดคำถาม ใช่/ไม่ใช่ ง่ายๆ ให้อ่าน บางคนเสนอว่าควรมีใครทำฐานข้อมูลแหล่งข่าวให้นักข่าวเช็คง่าย ไอเดียที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือ จัดทำมาตรฐาน “แถลงการณ์ความโปร่งใส” ท้ายบทความทุกชิ้น คนอ่านจะได้รู้ว่าค่ายหรือคนเขียน (นักข่าวหรือบล็อกเกอร์ก็ตาม) มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรหรือไม่

อีกสองประเด็นที่ฟังแล้วชอบคือ 1) มีคนเสนอว่าโปรแกรมเมอร์ควรหาวิธีทำให้คนมองเห็นความแตกต่างระหว่างการ “รวบรวมข่าว” (aggregation) ไปนำเสนอ กับการ “ขโมย” เนื้อหา (plagiarism) เพราะหลายคนสับสนว่าอะไรเป็นอะไร และ 2) ควรให้สื่อทุกค่ายมีวัน “โปร่งใสสุดขั้ว” สัปดาห์ละหนึ่งวัน คืออธิบายอย่างละเอียดว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ในเนื้อข่าวมาจากไหน ทำไมกองบรรณาธิการถึงเลือกทำข่าวนี้ ฯลฯ แล้วถามความเห็นของคนอ่าน วิธีนี้จะช่วยให้สื่อเข้าใจดีขึ้นว่าความโปร่งใสแบบไหนที่ “ใช้ได้” (ทำให้คนเชื่อมั่นมากขึ้น) จริงๆ

ซามานธาพูดปิด session นี้ว่า มีไอเดียดีๆ หลายอันที่ต้องใช้เทคโนโลยี น่าจะไปคุยกับนักไอที/โปรแกรมเมอร์ที่ห้อง Midway กลางงาน เผื่อเมล็ดไอเดียเหล่านี้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

ทำให้นึกออกว่า หัวใจสำคัญของงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหลายสาขาอย่างสื่อดิจิตอลคือ ต้องรู้จักและทำงานร่วมกับคนต่างสาขาให้ได้ งานอย่าง ONA มีประโยชน์มากตรงที่ชักนำให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกันแต่อยู่กันคนละสาขาอาชีพได้มาทำความรู้จักกัน สร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อจะได้ทำงานร่วมกันในอนาคต

งานสัมมนาที่สร้างและสานสัมพันธ์ข้ามสาขาแบบนี้ในเมืองไทยยังมีน้อยเกินไปมาก

Session 2: “Analytics in the Newsroom: What’s Next?”

Session นี้ว่าด้วยการ “วัดผล” ในห้องข่าวดิจิตอล คำถามใหญ่คือ ควรใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง เพราะดูแค่ page views (จำนวนครั้งที่คนคลิกเข้ามาอ่าน) บอก “คุณภาพ” และ “ผลกระทบ” (เชิงบวก คือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง) ของข่าวไม่ได้

Session 2

ดานา ชิน (Dana Chinn) จากมหาวิทยาลัย USC Annenberg เจ้าของบล็อก News Numbers อธิบายว่า “การมีส่วนร่วม” (engagement) ของคนอ่านนั้นวัดไม่ง่าย และแต่ละค่ายก็อาจมีคำตอบไม่เหมือนกัน ความท้าทายอยู่ที่ว่าห้องข่าวแต่ละแห่งจะเลือกตัวชี้วัดอะไรดี เพราะที่ใช้ๆ กันอยู่นั้นไม่เพียงพอและวัดไม่ตรงจุด

ทอดด์ คันนิงแฮม (Todd Cunningham) จากมหาวิทยาลัยเดียวกันเสริมว่า เขาเพิ่งมานำทีม Media Impact Project โครงการใหม่ซึ่งได้ทุนจากมูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ กำลังค้นคว้าเรื่องนี้โดยเฉพาะ โฟกัสในระยะแรกจะเน้นการวัดผลกระทบของห้องข่าวที่ได้ทุนจากมูลนิธิเกตส์และมูลนิธิไนท์ (Knight)

เจมส์ โรบินสัน (James Robinson) หัวหน้าทีมวิเคราะห์ข้อมูลการเสพข่าว (news analytics) จากหนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งอาจเป็นทีมวิเคราะห์แนวนี้ทีมเดียวในวงการสื่ออเมริกา บอกว่าเขามาทำงานที่นี่ได้ 8 ปีแล้ว แต่เมื่อก่อนไม่ได้อยู่ในห้องข่าว แยกออกไปนั่งต่างหาก แต่ประมาณหนึ่งปีที่แล้วย้ายเข้าไปอยู่ในห้องข่าวเพื่อทำงานกับนักข่าวโดยตรง

เจมส์เล่าว่า คำถามที่นักข่าวส่วนใหญ่ชอบถามคือ “มีคนเข้าไปดูกี่คน?” เวลาข่าวที่เขาเขียนถูกเอาขึ้นเว็บ กลายเป็นตัวเลขที่เอาไว้คุยเบิ้ลกัน อารมณ์ประมาณเปรียบเทียบเงินเดือน (“ของกูได้สามหมื่นวิว” “กูได้เป็นแสน” ฯลฯ)  เครื่องมือวัดตัวเลขพวกนี้ที่ผ่านมาถูกสร้างโดยนักการตลาดเพื่อการขายโฆษณา จะได้รู้ว่ามีคนเข้ามาดูเว็บกี่คน แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ “แล้วมันดีหรือเปล่า?” เพราะไม่ใช่ว่าทุกข่าวที่มีคนเข้ามาอ่านเป็นล้านๆ จะ “มีความหมาย” หรือ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” เชิงบวก ความหมกมุ่นกับ “ขนาด” (มีคนคลิกอ่านกี่คน ฯลฯ) ยึดโยงกับความจำเป็นทางธุรกิจ เพราะยิ่งมีคนคลิกเยอะยิ่งได้ค่าโฆษณาเยอะ แต่ในแง่ของการพัฒนาวิชาชีพข่าว นักข่าวจะต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้มากขึ้น มองเห็นมากขึ้นว่ามาถึงเว็บข่าวแล้วทำอะไรบ้าง

เจมส์บอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้จากงานนี้คือ ต้องทำงานกับนักข่าวตรงๆ ไม่ใช่แค่มุดทำงานกับข้อมูลเท่านั้น ส่วน ดาเนียล ซีเบิร์ก (Daniel Sieberg) จากกูเกิลบอกว่า ตอนนี้กูเกิลทำงานกับนักข่าวและค่ายสื่อทั่วโลก ไม่นานมานี้เพิ่งเปิดตัวเว็บ Media Tools รวบรวมเครื่องมือต่างๆ ของกูเกิลที่ช่วยในการทำข่าว วิเคราะห์ข้อมูล ติดตามและตีความพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น Consumer Survey ชี้ว่าคนคิดอะไรในระยะสั้น ส่วน Google Trends ช่วยทำความเข้าใจว่าตอนนี้คนในเน็ตสนใจเรื่องอะไรอยู่

Session 2 speakers

ท็อดด์เสริมว่า เครื่องมือทั้งหมดนี้ไม่มีประโยชน์ถ้านักข่าวไม่รู้ว่ากำลังพยายามเข้าถึง “ใคร” กันแน่ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ก่อนเลือกตัวชี้วัดความสำเร็จ นักข่าวต้องตอบคำถามก่อนว่า อยากให้ข่าวชิ้นนี้ทำอะไร? เปลี่ยนความคิดคน? ทำให้คนตระหนักมากขึ้นในประเด็นนี้? กระตุ้นให้คนลุกออกไปเปลี่ยนแปลง? เมื่อตอบคำถามนี้ได้แล้ว คำตอบนั่นเองคือสิ่งที่จำเป็นต้องวัด

ดาเนียลบอกว่า สื่อแคร์เรื่อง “การมีส่วนร่วม” (engagement) มาก โซเชียลมีเดียมอบโอกาสให้วัดเรื่องทำนองนี้มากกว่า เครื่องมืออย่าง Google Hangout บอกได้ว่าคนดูหยุดดูนาทีที่เท่าไร บางทีสื่อต้องคิดนอกกรอบบ้าง เช่น ไม่มีใครอยากนั่งดูคลิปวีดีโอคนคุยกันยาว 45 นาที ต้องคิดวิธีที่จะดึงดูดคนมากขึ้น

เจมส์เสริมว่า การใช้ page view เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของข่าวคล้ายกับการบอกว่า ความรักภรรยาของผมวัดได้จากการนับว่าให้ดอกไม้เธอไปแล้วกี่ดอก แต่ข่าวโดยเฉพาะข่าวที่มี “หางยาว” (long tail – ดึงดูดความสนใจนานหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ไปแล้ว) อาจต้องใช้ตัวชี้วัดอื่น ดาเนียลยกตัวอย่างว่า สื่อกีฬาหลายค่ายพบว่าแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอลกลับมาอ่าน Twitter feed ย้อนหลังหนึ่งวันหลังเกมจบ เพื่อรื้อฟื้นความสนุกขึ้นมา

ดานาบอกว่า ประเด็นสำคัญคือต้องดูหัวข้อข่าว กะจังหวะหัวข้อให้ตรงกับเหตุการณ์ การทำการตลาดเนื้อหาเป็นเรื่องสำคัญ ตัวชี้วัดโดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมของคนอ่านสามารถใช้ กำหนดกลยุทธ์ ได้ ไม่ใช่มีประโยชน์แค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น

ท็อดด์แนะว่า สื่อควรแยกแยะระหว่างเนื้อหาประเภทต่างๆ ด้วย ไม่ใช่เนื้อหาทุกประเภทที่คนจะอยากแชร์หรือลงมือทำตาม ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ อาการของโรค ไม่ใช่เรื่องที่คนอยากเผยแพร่หรือเล่ากันตลกๆ พฤติกรรมเรื่องนี้จึงเป็นการ “หาข้อมูลเพิ่มเติม” ไม่ใช่ “สร้างข้อมูลเพิ่มเติม” ในเน็ต

ดานาบอกว่า ตัวชี้วัดของสื่อดิจิตอลเป็นวงจรต่อเนื่อง เป็นเรื่องของการค้นหาเป้าหมาย ค้นหากลุ่มเป้าหมาย ทบทวนตัวชี้วัดตลอดเวลา ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของคนอ่านด้วย เช่น สำรวจความคิดเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบข่าวแต่ละชิ้น

มีคำถามจากคนฟังว่า องค์กรที่ให้เงินสื่อ ทั้งมูลนิธิและสปอนเซอร์ต่างๆ หมกมุ่นกับตัวชี้วัดด้านขนาด อยากรู้แค่ว่ามีคนคลิกอ่านเท่าไร จะทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้หันมาใช้ตัวชี้วัดอื่นมากขึ้น เจมส์ตอบว่าต้องอธิบายบริบทของตัวเลขให้ได้ ให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดานาเสริมว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ให้ทุนจะอยากเห็นตัวเลขที่เกี่ยวกับขนาด เพราะอย่าลืมว่าโฆษณาก็สำคัญจริงๆ และบริษัทที่จะลงโฆษณาก็ต้องไปขออนุมัติจากผู้บริหารหรือคณะกรรมการ ไม่ง่ายที่จะให้เข้าข้างสื่อ แต่ถึงที่สุดทุกคนย่อมอยากได้ข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่าเดิม โปร่งใสกว่าเดิม ฉะนั้นสื่อควรแสดงตัวเลขที่ผู้ให้ทุนอยากเห็น แต่เสนอเพิ่มว่า “คุณควรจะดูข้อมูลพวกนี้ด้วยนะ เพราะมันมีประโยชน์ X Y Z”

(ชอบการบรรยายของ ดานา ชิน มาก จนตกเย็นไปอ่านบทความเพิ่มเติมและสไลด์จากเว็บไซต์ของเธอ

AP Booth

บูธสำนักข่าว AP ในงาน

Session 3: “Data Journalism: The Tower of Babel Problem

Session สุดท้ายของวันที่ผู้เขียนเข้าเป็นการบรรยายเรื่อง “วารสารศาสตร์ข้อมูล” (data journalism) โดย ทราวิส สไวซ์กู๊ด (Travis Swicegood) จาก Texas Tribune ซึ่งตอนนี้เป็นที่ฮือฮาและชื่นชมว่า เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับทั้งประเทศอเมริกาที่ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลได้อย่างสง่างามและมีกำไร ส่วนหนึ่งด้วยการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน เช่น ขุดคุ้ยและนำเงินเดือนข้าราชการทั้งรัฐเท็กซัสมาใส่ในฐานข้อมูล โค้ดเป็นแอพข้อมูลออนไลน์ให้ทุกคนใช้ฟรีบนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์

เขาบรรยายสนุกดี แต่ผู้เขียนว่ามันคงเทคนิคและ geek เกินไปมากสำหรับคนทั่วไป ผู้เขียนเลยจะไม่ลงรายละเอียดก็แล้วกัน สรุปคร่าวๆ คือ เขาบอกว่าโปรแกรมเมอร์กับนักข่าวต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และโปรแกรมเมอร์ต้องคิดถึง “นิยาม” ของสิ่งต่างๆ ให้ชัด เพราะมันจะตีกรอบกำหนดแอพข้อมูลว่าทำอะไรได้แค่ไหน

ตอนเย็นผู้เขียนไปกินข้าวกับเต๋าที่ร้าน Hooters ใกล้โรงแรม เป็นร้าน “อเมริกันจ๋า” ที่สุดตั้งแต่มาโปรแกรมนี้ ภาพถ่ายคงอธิบายได้ดีกว่าคำพูด :p

Hooters

บรรยากาศในร้าน Hooters

Chicken wings

ปีกไก่ชุบแป้งทอด