บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (22)

bigbrother.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบ, วันที่ยี่สิบเอ็ด, วันที่ยี่สิบสอง)

วันที่ยี่สิบสาม

ลอส แองเจลีส : 22/10/2013

ผู้เขียนบินข้ามฟากจากไมอามี มาที่ลอส แองเจลีส (แอล.เอ.) ตั้งแต่เมื่อคืน กว่าจะถึงโรงแรมก็เกือบเที่ยงคืน หลับเป็นตายไปเลย

ที่นี่เขาให้นอนโรงแรมติด USC Annenberg School for Communication and Journalism เพราะมีนัดที่นี่ แทนที่จะนอนโรงแรมใกล้ย่านช็อปปิ้ง ผู้เขียนนั่งแท็กซี่ตอนเช้าเข้าเมืองไปร้าน Coach แถว Rodeo Drive ซื้อกระเป๋าให้เพื่อนก็หมดเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ซื้อเสร็จต้องนั่งแท็กซี่ถ่อกลับมาทางใต้ ไปนัดที่ USC Annenberg อีก ซึ่งก็ไม่ค่อยได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ เพราะคนที่อยากเจอมากๆ คือ อาจารย์ เฮนรี เจนกินส์ (Henry Jenkins) แกไม่อยู่ ได้เจอแค่อาจารย์อีกคน ชื่อ อีริน ไรลีย์ (Erin Reilly) แทน ซึ่งเก่งน้อยกว่ากันมาก :p

อาจารย์เอรินพาผู้เขียนไปร่วมประชุมกับกลุ่ม Civic Paths ซึ่งก่อตั้งโดย อ. เจนกินส์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกที่สนใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อดิจิตอล (digital media literacy) และพฤติกรรมการใช้สื่อของเด็กและวัยรุ่น ตามแนวที่ อ. เจนกินส์ สนใจ สังเกตว่าสมาชิกกลุ่มที่มาประชุม (6-7 คน) เป็นผู้หญิงทุกคน มีผู้ชายอยู่คนเดียว

ผู้เขียนถามว่า จริงหรือที่เขาว่าวันนี้วัยรุ่นอเมริกันใช้เฟซบุ๊กน้อยลง เพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว (เฟซบุ๊กถูกโจมตีว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เอาข้อมูลผู้ใช้ไปขายสปอนเซอร์โฆษณาอยู่เนืองๆ) พวกเธอตอบว่าไม่แน่ใจ ดูเหมือนเป็นข่าวลือที่ลือกันต่อๆ มา มากกว่าจะเป็นสถิติอะไรจริงจัง แต่สำหรับพวกเธอเองตอนนี้ก็ใช้โปรแกรมอื่นนอกจากเฟซบุ๊กมากขึ้น อย่าง SnapChat และ Google Chat

ถามว่าทำไมคนอเมริกันไม่ตื่นตระหนกตกใจเรื่อง NSA ดักข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่านี้ หลายคนมองว่าเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ “ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรตราบใดที่อันตรายไม่เกิดกับตัวเอง” บางคนมองว่าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการไม่ทำข่าวของสื่อด้วย ข้อดีคือเวลาเกิดเรื่องทำนองนี้ ส่วนใหญ่คนที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์หรือเซเลบในโลกจริงจะต่อต้าน อย่างตอนที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัว ดาราหลายคนโกรธจนเลิกใช้ พอดาราขยับตัวสื่อเลยต้องทำข่าว คนเลยได้รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น

คุยกันชั่วโมงกว่า ออกมาได้เดินดูแคมปัสสวยๆ ของ Annenberg ไม่นานก็ต้องต่อแท็กซี่ไปสนามบิน บินไปซานฟราน สรุปว่าได้อยู่เมืองนี้แค่ไม่กี่ชั่วโมง

Annenberg

โดยรวมรู้สึกว่าตั้งแต่มาโครงการนี้ แอล.เอ. เป็นเมืองแรกที่ผู้เขียน “ไม่ได้อะไร” ในแง่ของความรู้ใหม่ๆ หรือคนน่าสนใจที่อยากติดต่อขอทำงานด้วยหรือหาความรู้ต่อไปในอนาคต แต่อย่างน้อยก็รู้สึกดีที่ได้ซื้อกระเป๋าให้เพื่อน และแว่บไป Rodeo Drive หนึ่งเดี๋ยวก็ยังดี 🙂


วันที่ยี่สิบสี่

ซาน ฟรานซิสโก : 23/10/2013

บินจากแอล.เอ. มาถึงซานฟรานซิสโกเมื่อคืน อากาศหนาวกว่าแอล.เอ ค่อนข้างมาก ทำเอาประหลาดใจเพราะไม่นึกมาก่อนว่าอากาศของสองเมืองนี้จะแตกต่างกันขนาดนี้ ตื่นเช้ามาเจอหมอกลงจัดอีกต่างหาก

Fog in SF

ผู้เขียนมาอยู่ที่นี่สามคืน ไม่ได้นอนค้างโรงแรม แต่มานอนค้างบ้านเพื่อนที่เป็นแก๊งเล่นบอร์ดเกมด้วยกันในเมืองเบิร์กลีย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองซานฟรานไปทางตะวันออกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง นั่งรถไฟ BART ไปมาระหว่างวันได้ แต่ถ้าวันไหนมีนัดที่ Palo Alto (ถิ่นมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด) หรือซิลิคอน วัลเลย์ ก็จะต้องเผื่อเวลาเพิ่มอีกครึ่งชั่วโมง เพราะอยู่ทางตอนใต้เลยซานฟรานไปอีก

นัดแรกเช้าวันนี้ผู้เขียนไปหา พอล เฮอร์แมน (Paul Herman) ที่ร้านกาแฟในเมืองซานฟราน พอลเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาสังกัดบริษัท McKinsey แต่เซ็งกับข้อจำกัดของวิธีวัดผลแบบเดิมๆ ที่มองเห็นแต่ผลตอบแทนทางการเงิน มองไม่เห็นผลกระทบ (เชิงบวกหรือลบ) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทต่างๆ เลยลาออกจาก McKinsey มาตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ HIP Investor พัฒนาดัชนีลงทุนแบบใหม่ที่ดูทั้งสามด้าน คือผลตอบแทนทางการเงิน ทางสังคม (“Human Impact” ในชื่อ HIP) และทางสิ่งแวดล้อม (“Planet” ในชื่อ HIP)

พอลจะว่าไปก็เป็น  “เพื่อน” ผู้เขียนไปแล้วเพราะรู้จักกันมากว่า 5 ปี เริ่มหยอกล้อกันเล่นได้โดยไม่โกรธ ผู้เขียนรู้จักพอลเพราะทุกปีเขาจะบินมาเป็นกรรมการตัดสินแผนธุรกิจเพื่อสังคมงานเดียวกันกับผู้เขียน คือ Global Social Venture Competition รอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เว็บไซต์) ซึ่ง Thammasat Business School เป็นเจ้าภาพทุกปี

นัดของผู้เขียนกับพอลเป็นการหารือเรื่องแผนธุรกิจของป่าสาละ บริษัทใหม่ของผู้เขียน ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพเน็ตหรือสื่อดิจิตอล เลยไม่ควรนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Eisenhower Fellowship (แต่ลีห์ เจ้าหน้าที่ผู้ใจดีของผู้เขียนก็จัดแจงนัดให้ด้วย) พอลแนะนำผู้เชี่ยวชาญในวงการ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ของอเมริกาให้ผู้เขียนหลายคน ส่วนใหญ่คงไม่มีเวลานัดเจอตัวเป็นๆ แต่จะพยายามโทรฯ คุยให้ครบก่อนกลับเมืองไทย

ก่อนเที่ยงผู้เขียนไปหา แดนนี โอไบรอัน (Danny O’Brien) ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของ Electronic Frontier Foundation องค์กรรณรงค์เสรีภาพเน็ตในดวงใจ แดนนีกับผู้เขียนก็เป็นเพื่อนกันไปแล้วกลายๆ จากตอนที่พี่จิ๋ว (จีรนุช เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ประชาไท) ถูกฟ้องข้อหาละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในฐานะ “ตัวกลาง” และถูกศาลตัดสินว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา เพราะลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย “ไม่เร็วพอ” ในความคิดของศาล (กฏหมายไทยวันนี้ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่คุ้มครองผู้ให้บริการ และไม่มีการกำหนดขั้นตอนที่จะระบุ “เจตนา” ของผู้ให้บริการในการร่วมมือกระทำความผิด แย่กว่ามาตรฐานสากลมากๆ และส่งผลให้คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากต่างประเทศ แต่น่าเสียดายและน่าน้อยใจที่องค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนในไทยกลับไม่ใส่ใจเท่าที่ควร นี่เป็นปัญหาของวัฒนธรรมที่แวดล้อมกฎหมายหมิ่นฯ ของไทย คือพอประชาไทถูกหลายคนมองว่าเป็น “เว็บหมิ่นฯ” ปุ๊บ คนก็ไม่สนใจจะติดตามดูว่าคดีนี้ยุติธรรมกับจำเลยหรือไม่อย่างไร)

แดนนีพาผู้เขียนขึ้นรถไฟไป “Google Campus” สำนักงานใหญ่ของกูเกิลในเมือง เมาเท่น วิว ทางตอนใต้ของตัวเมืองซานฟราน ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง ระหว่างนั่งรถไฟเราคุยกันหลายเรื่อง หลักๆ อัพเดทอาชีพการงานว่าทำอะไรในช่วงสามปีที่ไม่ได้เจอกัน แดนนีมองว่าการรณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวออนไลน์ (ซึ่งแซงโค้งมาเป็นอันดับหนึ่งหลังเกิดกรณีฉาว NSA/Snowden) เป็นเรื่องที่หว่านล้อมให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต่างๆ ยอมร่วมมือกับภาคประชาสังคมยากมาก เพราะกระทบกับโมเดลธุรกิจโดยตรง (เช่น โมเดลธุรกิจเฟซบุ๊กขึ้นอยู่กับการขายข้อมูลของผู้ใช้ให้กับสปอนเซอร์ ต้องละเมิดความเป็นส่วนตัวไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง) ต่างจากเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกระทบกับรายได้น้อยกว่า บริษัทต่างๆ จึงเต็มใจที่จะ “แสดงจุดยืน” ในเรื่องนี้มากกว่า

หลังจากตื่นเต้นกับความใหญ่โตโอ้โถงอลังการของกูเกิลพอเป็นพิธี (ที่นี่ขนาดจักรยานก็ทาสีโลโก้ของกูเกิลด้วย) เราก็ได้รับเชิญให้ไปทานข้าวเที่ยงฟรีในห้องอาหารของบริษัท มีอาหารให้เลือกหลายร้าน ตั้งแต่เม็กซิกัน ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ พวกเราเลือกร้านอาหารเม็กซิกันเพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวอาคาร

เรานั่งคุยไปกินไปกับ พอล นิโคลัส (Paul Nicholas) เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายของกูเกิล ซึ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะพา Eisenhower Fellows อีกหลายคนเดินทัวร์แคมปัส ผู้เขียนรู้สึกว่ามาคุยกับนายคนนี้ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร เพราะเขายังอายุน้อย กลายเป็นว่าเขานั่งฟังแดนนีเล็กเชอร์มากกว่าจะเล่าเรื่องกูเกิลให้ฟัง เพราะแดนนีมีความรู้และประสบการณ์มากกว่ามาก (ที่จริงเราจะเจอเจ้านายของเขาอีกที แต่บังเอิญนายติดงานด่วน เลยส่งนายคนนี้มาแทน) ทำให้ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่อย่างน้อยก็ได้คุยกับรอส หัวหน้าทีมเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของกูเกิล ที่วอชิงตัน ดี.ซี. มาแล้ว เลยไม่มีคำถามหนักอกมาถามพอล ถือว่าได้มาเดินเที่ยวแคมปัสของกูเกิลก็แล้วกัน 🙂

Big Brother

Google = Big Brother?

Google bike

จักรยานในแคมปัสของกูเกิล

Google android

Google Android

หลังจบจากกูเกิล ผู้เขียนติดสอยห้อยตามแดนนีต่อไป เรานั่งแท็กซี่ไปมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมือง พาโล อัลโต ย้อนกลับจากกูเกิลมาทางซานฟรานประมาณสิบนาที ที่นี่แดนนีมีนัดบรรยายเรื่องความปลอดภัยของนักข่าวในยุคแห่งการสอดแนมของรัฐ ให้กับนักข่าวในโครงการ Knight Fellowship at Stanford รุ่นล่าสุด (สปอนเซอร์โดยมูลนิธิไนท์ตามระเบียบ)

Stanford

Me and Danny

เราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันในสแตนฟอร์ดก่อนบรรยาย อยากเข้าไปดูโบสถ์ Memorial Church กลางมหาวิทยาลัยที่เขาว่ากันว่าข้างในสวยงามมาก แต่ไม่มีเวลาเดินเข้าไปดูข้างใน

Knight Fellows

บรรยากาศสบายๆ ของชาว Knight Fellows

การบรรยายของแดนนีสนุกดี นักข่าวให้ความสนใจเยอะมาก คอยตั้งคำถามตลอดเวลา แดนนีพยายามอธิบายว่า ถ้า NSA ดักข้อมูลของนักข่าวได้ รู้ว่านักข่าวติดต่อพูดคุยกับใคร ก็หมายความว่าความเป็นอิสระของนักข่าวคนนั้นถูกบั่นทอน เพราะแหล่งข่าวไม่เป็นความลับอีกต่อไป ประเด็นที่เขาและ EFF พยายามรณรงค์ก็คือ “นักข่าวทุกคนควรสามารถปรับ (calibrate) ระดับความเสี่ยงที่ตัวเองแบกรับ” เช่น ถ้าทำข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ก็ควรรู้จักการเข้ารหัสขั้นสูง ลงทุนซื้อเน็ตบุ๊กถูกๆ มาใช้สำหรับรายงานข่าวชิ้นนี้โดยเฉพาะ เผื่อถ้าถูกตำรวจจับจะได้ไม่เสียข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ไปด้วย

เขาบอกว่า “ช้างตัวใหญ่ในห้อง” (ที่ยังไม่มีใครมองเห็น) คือประเด็นที่ว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่ๆ อย่างกูเกิล ไมโครซอฟท์ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่าง ซิสโก้ (Cisco) เปรียบเสมือน “ถังน้ำผึ้ง” ในสายตารัฐ คือรู้สึกว่าจะเอามือล้วงไปตักมาเมื่อไรก็ได้ อยากสั่งให้ส่งข้อมูลให้เมื่อไรก็ต้องส่ง แดนนีเสริมว่า บริษัทฮาร์ดแวร์อย่างซิสโก้ตอนนี้ยังไม่อนาทรร้อนใจใดๆ ที่ขายฮาร์ดแวร์ให้กับรัฐบาลที่เซ็นเซอร์เน็ตอย่างจีน ส่วนบางบริษัทก็ทำตัวดีขึ้นต่อเมื่อเกิดเรื่องหรือถูกเปิดโปงแล้วเท่านั้น เช่น Yahoo! เพิ่งยอมใช้ https:// (ปลอดภัยกว่า http:// เฉยๆ) เป็นค่าตั้งต้น (default) หลังจากที่มีข่าวว่า NSA รวบรวม contact list ทั้งอีเมลและ Instant Messenger (IM) ของประชาชนชาวอเมริกัน

แดนนีสรุปว่า วันนี้เรารู้แล้วว่าสิ่งที่ NSA ทำคือ พยายามทำให้สูตรการเข้ารหัส “อ่อน” ลง และส่งคนไปนั่งเป็นพนักงานในบริษัทต่างๆ เพื่อขโมยข้อมูลมาให้ สิ่งที่นักข่าวทำได้คือ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในการทำงานของตัวเอง โดยอาจตั้งต้นจาก “คู่มือความปลอดภัยสำหรับนักข่าว” (Journalist Security Guide) โดย CPJ ซึ่งเขาแนะนำว่า สองอย่างที่นักข่าวควรทำคือ ใช้โปรแกรมเข้ารหัสทั้งไดร์ฟ (whole-disk encryption) และคิดดูว่าข้อมูลอะไรที่อยากพิทักษ์รักษา(จากเงื้อมมือของรัฐ)จริงๆ แล้วก๊อปปี้ข้อมูลเฉพาะส่วนนั้นใส่ USB drive ถือติดตัว หรือเน็ตบุ๊กที่ซื้อมาทำข่าวนี้โดยเฉพาะ อย่าใส่ไว้ในโน้ตบุ๊ก โปรแกรมที่เขาแนะนำให้นักข่าวใช้ได้แก่ Tails, Tor Project, TrueCrypt นอกจากนี้นักข่าวก็ควรใช้ 2-step verification เวลาใช้ Gmail (ต้องใส่ทั้งพาสเวิร์ดและโค้ดที่กูเกิลส่งให้ทางโทรศัพท์มือถือ) ไม่ใช่ใช้พาสเวิร์ดชั้นเดียว เพื่อป้องกันการแฮ็ก

โปรแกรมและเว็บไซต์อื่นๆ ที่แดนนีแนะนำได้แก่ Riseup.net (โฮสที่จะไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวของคุณให้กับทางการเด็ดขาด ถึงต้องติดคุกก็ยอม), Cryptocat (พยายามทำให้การเข้ารหัส PGP ในการติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องง่าย) และ Off-the-Record Messaging (โปรแกรมแชทที่ใช้การเข้ารหัส)

มีนักข่าวถามว่า พวกอีเมลขยะ (สแปม – spam) กำจัดได้ไหม แดนนีตอบว่าในแง่หลักการ เขามองว่าสัญญาณของระบบนิเวศที่ “มีสุขภาพดี” คือมีปรสิตอาศัยอยู่ ในแง่หนึ่งอีเมลขยะเป็นผลพวงจากการที่มีอินเทอร์เน็ตเปิด เราควรยอมรับว่าอีเมลขยะกำจัดให้หมดสิ้นไปไม่ได้ แต่โปรแกรมอ่านอีเมลสมัยนี้ รวมถึงอีเมลบนเว็บ ก็มีวิธีกำจัดอีเมลขยะที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

หลังแดนนีพูดจบ ผู้เขียนมีเวลาคุยกับนักข่าว Knight Fellow ทั้งหลายเล็กน้อย แตกต่างหลากหลายดีแต่ทุกคนพยายามทำโครงการที่ผนวกเทคโนโลยีเข้ากับการทำข่าวก่อนเรียนจบ (โปรแกรมนี้ยาวไม่ถึงหนึ่งปี จุดขายหลักคือ นักข่าวจะได้พบปะพูดคุยและอาจได้ทำงานร่วมกับนักเทคโนโลยีและนักลงทุนในซิลิคอน วัลเลย์)

Stanford at dusk

ออกมาจากสแตนฟอร์ดก็ค่ำพอดี เรานั่งแท็กซี่ไปต่อรถไฟ กลับไปกินข้าวเย็นที่บ้านแดนนีกับแฟน ได้เจอลูกสาววัยเจ็ดขวบของเขา นั่งเฝ้าจอคอมพิวเตอร์ไม่สนใจพวกเราเลย แฟนของแดนนีหมวกหนึ่งเป็นนักเขียนและกวี ผู้เขียนเลยเอาหนังสือกลอนของสำนักพิมพ์ชายขอบ (สำนักพิมพ์ของตัวเองซึ่งตีพิมพ์แต่กลอน) มาให้เธอสี่เล่ม เธอสนใจถามถึงเนื้อหาและกวีไทยใหญ่เลย แม้จะอ่านภาษาไทยไม่ออก บรรจงเขียนคำแปลชื่อบทกวีและผู้แต่งไว้ในปกในของหนังสือทุกเล่ม

Dyson the curious cat

ไดสัน แมวจอมอยากรู้อยากเห็นที่บ้านแดนนี