บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (30)

boston-globe.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสองวันที่ 23 & 24วันที่ยี่สิบห้าวันที่ยี่สิบหกวันที่ยี่สิบเจ็ดวันที่ยี่สิบแปดวันที่ยี่สิบเก้าวันที่ 30 & 31, วันที่สามสิบสอง)

วันที่สามสิบสาม

บอสตัน :  1/11/2013

วันนี้มีสองนัดสุดท้ายในเมืองบอสตัน พรุ่งนี้ (เสาร์เช้า) ต้องบินไปชิคาโกแล้ว เสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูขบวนพาเหรด Boston Red Sox ทีมเบสบอลประจำเมืองที่คว้าชัย World Series

เช้านี้มีนัดกับ จอช เบนตัน (Josh Benton) ผู้อำนวยการ Nieman Journalism Lab ของฮาร์วาร์ด เป็นฝ่ายใหม่ของ Nieman Fellowships ซึ่งให้ทุนนักข่าวมาเรียนที่ฮาร์วาร์ดมาหลายสิบปี คุณสุทธิชัย หยุ่น แห่งเครือเนชั่นก็เคยได้ทุนนี้ด้วย ผู้เขียนไปเจอเขาร่วมกับเต๋าและธาว (Thao) Fellow ชาวเวียดนาม ผู้อำนวยการเอ็นจีโอที่ทำงานด้านผลพวงจากสงครามเวียดนาม รวมถึงกับระเบิดและผู้ที่พิการจากระเบิด

จอชเป็นคนรุ่นใหม่ (อายุไล่เลี่ยกับผู้เขียน) และเคยทำงานเป็นนักข่าว เขามองต่างจาก “คนแก่” หลายคนที่ได้คุยระหว่างโปรแกรมนี้ว่า วันนี้สื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ “ดีกว่า” ในอดีตทุกยุคที่ผ่านมาทั้งหมด โซเชียลมีเดียทำให้นักข่าวตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แถมยังแก้ปัญหา “สื่อเป็นตัวแทนใคร?” (representation problem) ได้ดี สำหรับข่าวที่ฉายมุมมองของ “คนทั่วไป” (“man on the street” stories)

จอชมองว่าสื่อลงทุนกับการพัฒนาห้องข่าวได้มากกว่าที่เป็นอยู่มาก วันนี้สื่อใช้งบเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นกับการพัฒนาห้องข่าว งบกว่าร้อยละ 50 หมดไปกับเงินเดือน ค่าน้ำมัน ฯลฯ

เต๋าถามเรื่องทักษะที่จำเป็นของนักข่าวในยุคดิจิตอล จอชตอบว่าทักษะพื้นฐานที่จำเป็นก็ไม่ต่างจากในอดีต คือเขียนหนังสือได้ดี ถามคำถามที่ฉลาด แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ นักข่าวต้อง “เปิดรับดิจิตอล” (digital openness) มากขึ้น ที่ผ่านมาการปรับตัวใช้เทคโนโลยีเกิดขึ้นเป็นวงจร กล่าวคือ ตอนแรกนักข่าวจะรู้สึกต่อต้าน (“ไอ้เว็บนี่มันอะไรกัน มีแต่เรื่องไร้สาระ เราไม่ต้องไปอยู่บนนั้นหรอก”) ก่อนที่จะถูกสถานการณ์บังคับให้ใช้ ที่ผ่านมาการใช้เว็บ ทวิตเตอร์ บล็อกเกอร์ (“บล็อกเกอร์พวกนี้ไร้สาระ เราไม่ต้องเขียนบล็อกหรอก” แต่วันนี้นักข่าวจำนวนมากก็เขียนบล็อกด้วย) ของนักข่าวเดินตามวงจรนี้หมด จอชบอกว่าเสียเวลา เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ นักข่าวควรใช้มันทันทีเลย คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

วันนี้กูเกิลทำให้ข่าวเจาะทำได้ลึกกว่าข่าวเจาะในอดีตมาก และโซเชียลมีเดียก็เป็นวิธีที่จะสร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างนักข่าวกับคนอ่านที่ดีกว่าในอดีต ผู้เขียนถามว่าสื่อกับหลายคนประณามเว็บอย่าง Huffington Post ว่า “ขโมย” เนื้อหาจากเว็บคนอื่นมาขึ้นเว็บตัวเอง จอชตอบว่าถ้าดูภาพรวมแล้ว Huffington Post มีนักข่าวกว่า 400 คน ได้รางวัลพูลิตเซอร์ เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของข่าวที่ทำ ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าสื่อควรทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน คือทำข่าวเอง (original reporting) ประกอบกับดึงเนื้อหาอื่นมาโชว์ (aggregation) ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เรื่องโมเดลหารายได้ จอชบอกว่าวันนี้มีโมเดลใหม่ๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับความถนัดของสื่อแต่ละเจ้า เช่น New England Center for Investigative Reporting ซึ่งเขาเป็นกรรมการด้วย มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายคอร์สอบรมให้กับนักเรียนระดับ ม.ปลาย ที่สนใจการทำข่าวสืบสวนสอบสวน

Josh Benton

ผู้เขียนถามเรื่องแนวโน้มการหารายได้จากการจัดอีเวนท์ ซึ่งสื่อหลายค่ายทำมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจุดไหนจึงถือว่า “ข้ามเส้น” ไปละเมิดจรรยาบรรณสื่อ จอชตอบว่าสิ่งสำคัญคือต้อง “โปร่งใส” เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าทำอะไร กรณี Washington Post ผิดมหันต์เพราะปิดเงียบเป็นความลับ ถ้าไม่ปิดเป็นความลับก็ไม่มีปัญหา

เต๋าถามว่า คิดอย่างไรกับนักข่าวหลายคนที่มองว่าควรได้ค่าตอบแทน (หรือขึ้นเงินเดือน) จากการใช้โซเชียลมีเดีย ทวีต บล็อก ฯลฯ เวลาทำข่าว จอชบอกว่าไม่ได้สิ ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานสมัยนี้ไปแล้ว นักข่าวไม่มีสิทธิมาเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่ม แต่ต้องเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีทำงาน ซึ่งก็ไม่ใช่งาน “หนัก” อะไร เพราะมี “ของ” จากการทำข่าวอยู่แล้ว จอชเปรียบเปรยว่า ลองคิดถึงการผลิตไม้หน้าสาม ได้ขี้เลื่อยเป็นกองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าหาวิธีใช้ขี้เลื่อยเป็นประโยชน์ได้ยิ่งดี

จอชบอกว่าความท้าทายสองเรื่องของสื่อสมัยนี้คือ 1) ความตายของการโฆษณาดั้งเดิม (traditional advertising หมายถึงการซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อ) ที่กำลังคืบคลานเข้ามา วันนี้รายได้จากโฆษณาออนไลน์ร้อยละ 95  อยู่ในมือบริษัทเน็ตห้าแห่งที่ไม่ใช่องค์กรสื่อ อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ฯลฯ ทุกวันนี้บริษัทโฆษณาสามารถ “ซื้อสื่อตามโปรแกรม” (programmatic buying) ยิงเป้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องได้โดยตรง จากข้อมูลพฤติกรรมที่สะสมผ่านเน็ต ไม่ต้องติดต่อผ่านองค์กรสื่ออีกต่อไป และ 2) การรายงานข่าวระดับท้องถิ่น ซึ่งลดขนาดและคุณภาพลงเรื่อยๆ เมื่อสื่อประสบปัญหาทางการเงิน เพราะธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตช่วยเสริมการรายงานข่าวระดับชาติ (national reporting) กับระดับประเด็น (topical reporting) แต่ไม่ช่วยเสริมการทำข่าวท้องถิ่น ฉะนั้นต้องหาวิธีอื่นที่จะฟื้นฟูการทำข่าวในระดับนี้

คุยกับจอชเสร็จผู้เขียนก็พาเต๋ากับธาวไปกินข้าวเที่ยงที่ Border Café ใน Harvard Square เจ้าเก่าที่พาเอลิซาไปกินเมื่อวาน สั่งอาหารเหมือนเดิมเด๊ะ 🙂

หลังจากนั้นพวกเราแยกย้ายกันไปนัดใครนัดมัน ผู้เขียนขึ้นรถไฟใต้ดินไป Boston Globe หนังสือพิมพ์โปรดที่เคยอ่านทุกวันสมัยเป็นนักเรียน ตึกของ Globe ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบอสตัน ใกล้กับ University of Massachusetts Boston เป็นถิ่นที่ผู้เขียนไม่เคยไป พอขึ้นมาถึงสถานี เจอรถเมล์ฟรีก็เลยขึ้นไปเลยโดยไม่ถามทาง ปรากฏว่ารถเมล์เลยเข้าไปในแคมปัส U. Mass ผู้เขียนเลยต้องเดินสิบห้านาทีกลับมาใหม่ -_- แต่ก็สนุกดี เพราะระหว่างทางได้เจอประติมากรรม Sunflower for Vincent โดย มาร์ค ดี ซูเวโร (Mark di Suvero) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ตอนเจอไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร ต้องเดินไปอ่านป้าย) กับต้นไม้สวยๆ หลายต้น

Sunflower sculpture

คนที่ต้อนรับผู้เขียนคือ ไมเคิล เวิร์คแมน (Michael Workman) ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการออกแบบดิจิตอล” (Digital Design Director) ของหนังสือพิมพ์ Boston Globe รับผิดชอบการออกแบบเว็บ BostonGlobe.com และ Boston.com ทั้งหมด ผู้เขียนขอโทษขอโพยที่ไปสาย แต่เขาไม่ว่าอะไร แถมยื่น “กำหนดการเยือน” พิมพ์อย่างดีบนกระดาษ A4 ให้ดู เป็นกำหนดการเฉพาะสำหรับผู้เขียนคนเดียว บอกว่าเขาจัดให้ผู้เขียนเจอบุคลากร 4 คนในห้องข่าว อ่านแล้วรู้สึกเกรงใจมาก

Boston Globe

ก่อนอื่นไมเคิลพาผู้เขียนเดินดูบรรยากาศในห้องข่าว Globe เริ่มจากโรงพิมพ์ ซึ่งเขาบอกว่าวันนี้พิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นซึ่งวางขายในเมืองบอสตันและรอบนอกด้วย อย่างเช่น Wall Street Journal, New York Times ฯลฯ ฟังแล้วคล้ายกับ Philadelphia Inquirer ที่ไปดูงานเมื่อสามสัปดาห์ก่อน วันนี้หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ประสบปัญหาเดียวกัน และส่วนใหญ่ก็พยายามแก้ปัญหา หารายได้เพิ่มด้วยวิธีคล้ายๆ กัน คือถ้าไม่หาวิธีสร้างรายได้จากเนื้อหาที่ผลิตไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ก็ต้องหาทางเอา “ศักยภาพเหลือใช้” ของสินทรัพย์อย่างแท่นพิมพ์ไปหารายได้เพิ่ม

Printers

คนแรกที่ไมเคิลพาผู้เขียนไปคุยด้วยคือ ชิคี เอสเตบาน (Chiqui Esteban) บรรณาธิการฝ่ายกราฟฟิก เป็นหัวหน้าทีม 5 คน รับผิดชอบกราฟฟิกและอินเทอร์แอ็กทีฟทุกอย่างของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ เขาบอกว่าเขารับผิดชอบงานกราฟฟิกประจำวันที่จะต้องขึ้นคู่กับข่าว พยายามสร้างกราฟฟิกสำหรับเว็บและฉบับหนังสือพิมพ์พร้อมกัน โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับสื่อ เช่น เส้นทางพาเหรดของทีม Red Sox (ฉลองที่ได้แชมป์ World Series) บนเว็บใช้ Google Maps ส่วนฉบับหนังสือพิมพ์ใช้วาดแผนที่ 3D เฉลี่ยแล้วเขารับผิดชอบกราฟฟิกวันละ 3-12 ชิ้น

ชิคีบอกว่า เขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีม “ออกแบบข้อมูล” (Data Design) ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ แสดงผล และทำข่าวจากข้อมูล ประเด็นที่สำคัญคือ นักข่าวควรทำงานร่วมกับทีมของเขาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่มา “สั่ง” ให้ทำกราฟฟิกหลังจากที่เขียนข่าวเสร็จแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นส่วนใหญ่เขาจะไม่มีเวลาทำกราฟฟิกให้ทันปิดเล่ม ทำให้กราฟฟิกออกมาไม่ดีหรือไม่มีเลย

Newsroom

คุยกับชิคีจบก็ได้เวลาเดินไปคุยกับฝ่ายใหม่เอี่ยมของที่นี่ คือ “Media Lab” ตั้งอยู่ในห้องซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของฝ่ายขายข้อความรับสมัครงานหรือสินค้า (classifieds) อันยิ่งใหญ่เพราะเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหนังสือพิมพ์ แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตฝ่ายนี้ก็ถูกยุบไปหลายปีแล้ว Boston Globe เปลี่ยนพื้นที่เป็นที่ทำงานของ Media Lab กับ tech start-ups ในโครงการ incubator คล้ายกับที่ Philadelphia Inquirer บุกเบิก 

Media Lab

แดน แม็คลัฟลิน (Dan MacLaughlin) หนุ่มน้อยหน้ามน ตำแหน่ง “Creative Technologist” ซึ่งได้ทุนจากมูลนิธิไนท์ (เช่นเคย) ให้มาทำงานที่นี่อธิบายว่า หน้าที่ของเขาใน Media Lab คือ “สร้างผลิตภัณฑ์” ใหม่ๆ ให้กับหนังสือพิมพ์ บางครั้งด้วยการจับมือกับนักวิจัยหรือนักเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น โครงการ “Mapping the Globe” ซึ่งทำร่วมกับ MIT Center for Civic Media (นำโดย Ethan Zuckerman ที่ไปคุยเมื่อวานซืน) แสดงข้อมูล “สถานที่” ซึ่ง Globe ไปทำข่าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผ่านแผนที่บอสตัน สามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลอื่น เช่น อัตราอาชญากรรม ระดับรายได้ ฯลฯ ได้ (เพื่อดูว่า Globe ทำงานได้ดีเพียงใด เช่น ถ้าถิ่นไหนอาชญากรรมสูงแต่มีข่าวออกน้อย ก็แปลว่า Globe ยังทำงานได้ไม่ดีพอ)

Dan McLaughlin

แดนบอกว่า ความท้าทายที่เขาคิดว่ายากที่สุดคือ ที่นี่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผลิตภัณฑ์ที่เขาคิดได้ (เช่น แอพมือถือ) กว่าจะทำเสร็จอาจ “ไม่เจ๋ง” อีกต่อไปแล้ว หรือมีคนอื่นตัดหน้า ฟังแล้วก็ได้แต่อวยพรให้แข่งกับคนอื่นทัน!

Classifieds info

ทางเข้า Media Lab มีป้ายรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของฝ่าย Classifieds ในอดีต ซึ่งวันนี้ไม่มีแล้ว

คนต่อไปที่ผู้เขียนไปเจอคือ แดน เซเดก (Dan Zedek) รองผู้อำนวยการด้านการออกแบบ เขาบอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือความหลากหลายของ “งานออกแบบ” ในวันนี้ ย้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่เขาเข้าทำงานใหม่ๆ คำว่า “ดีไซน์” ที่นี่หมายถึง feature design (การออกแบบรูปเล่มหนังสือพิมพ์) แต่วันนี้ความรับผิดชอบของเขาครอบคลุมเว็บไซต์ 2 แห่ง อีบุ๊กอย่างน้อย 1 เล่มต่อเดือน แอพมือถือ และอื่นๆ อีกมากมาย

แดนมองว่า Boston Globe กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของสื่อดิจิตอลได้ค่อนข้างดี เช่น ปรับหน้ากีฬาให้มีสีสันมากขึ้น เพิ่มเซ็กชั่นเกี่ยวกับ “แฟนกีฬา” เช่น แฟนทีมอเมริกันฟุตบอลกลุ่มไหนจัดปาร์ตี้หลังเกมได้มันส์ที่สุด ส่วนเรื่องข้อมูล วันนี้นักข่าวก็มีเครื่องมือที่ใช้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น Chartbuilder โค้ดโดยนักข่าวของ Quartz เป็นโปรแกรมสร้างกราฟสวยๆ จากข้อมูลที่ใช้ง่ายและเร็วมาก

แดนบอกว่าเขารู้สึกตื่นเต้นกับอนาคต เพราะวันนี้ Globe กำลังปรับตัว และกำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยและนักเทคโนโลยีมากมาย หาวิธีเอากรุข่าวและข้อมูลมหาศาลของหนังสือพิมพ์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เรื่องหนังสือพิมพ์จะ “ตาย” หรือเปล่าแดนบอกว่าน่าจะอีกนานสำหรับเมืองนี้ เพราะบอสตันเป็นเมืองที่มีหนอนหนังสือเยอะ (และเป็นเมืองมหาวิทยาลัย) น่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ยอดขายของหนังสือพิมพ์ไม่ตกลงอย่างฮวบฮาบเหมือนกับที่อื่น

Dan Zedek

ช่วงท้ายของวันผู้เขียนกลับไปคุยกับ ไมเคิล เวิร์คแมน ผู้จัดการกำหนดการเยือนทั้งหมดให้ เขาก็มองโลกในแง่ดีคล้ายกับแดน โดยบอกว่าอัตราการสมัครอ่าน Boston Globe ฉบับดิจิตอลพุ่งสูงกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีก่อน และวันนี้บรรณาธิการทุกคนก็รู้แล้วว่า ไม่อาจก้มหน้างุดๆ ทำงานของตัวเองไปโดยไม่สนใจฝั่งธุรกิจอีกต่อไป เพราะโมเดลการหารายได้แบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ไมเคิลพยายามหานวัตกรรมเกี่ยวกับการโฆษณา อีกหน่อยอาจใช้โมเดลลงเนื้อหามีสปอนเซอร์ (sponsored content) คล้ายกับ BuzzFeed วันนี้ Boston Globe ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่เริ่มใช้ sponsored content กับเว็บ Boston.com ซึ่งเป็นของ Globe เหมือนกันแต่พุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่มากกว่า ข่าวไม่ “ซีเรียส” หรือลงลึกเท่ากับ Globe

ไมเคิลมองว่า การขึ้นมาอยู่ในโลกออนไลน์บังคับให้หนังสือพิมพ์ต้องคิดใหม่เรื่อง “วิธีเล่าเรื่อง” เขายกตัวอย่างซีรีส์ 68 Blocks ของ Globe ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก ซีรีส์นี้ส่งนักข่าวสองคนไปใช้ชีวิตอยู่ในเขตที่ยากจนที่สุดของเมืองบอสตันเป็นเวลา 2 เดือน ถ่ายทอดเรื่องราวบนเว็บด้วยส่วนผสมระหว่างข้อเขียน รูปภาพ อินเทอร์แอกทีฟ ฯลฯ ส่วนหนึ่งของกระบวนการทำข่าวคือ ไปค้น Instagram ควานหารูปที่มีคนถ่ายในเขตนี้ เลือกรูปมา 15 ภาพ เขียนอีเมลไปขออนุญาตใช้ภาพจากคนถ่าย พร้อมคำถามว่า “คุณคิดอะไรอยู่ตอนที่ถ่ายรูปนี้?” ผลที่ได้คืองานข่าวที่เจ๋งมาก เพราะได้เนื้อหาจริงจากประชาชนจริงๆ ที่ไม่มีการเสแสร้ง ไม่ผ่านการคัดกรองก่อน เพราะคนที่ถ่ายรูปเหล่านี้ตอนถ่ายไม่มีทางรู้เลยว่าหนังสือพิมพ์ Boston Globe จะติดต่อขอรูปไปใช้

ไมเคิลมองว่าคนยังสนใจข่าวและกระหายอยากได้ข่าวคุณภาพอยู่ เว็บทำให้คนเข้าถึงข้อมูลง่ายกว่าเดิม เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คนทุกยุคก็ยังอยากได้ข้อมูล คำถามคือพวกเรา (สื่อ) จะสร้างรายได้จากเนื้อหาได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เฟซบุ๊กสร้าง “เวที” (platform) สำหรับการบริโภคข่าวที่ดีกว่าเว็บของสื่อ คนอ่านไม่รู้สึกอยากมาอ่านข่าวที่เว็บสื่อ อ่านเอาจากลิงก์ที่เพื่อนๆ แชร์บนเฟซบุ๊กก็พอ เขาบอกว่าเราต้องพยายามทำให้เว็บหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเราเข้าถึงคนอ่านได้ง่ายกว่าเดิม คัดสรรเนื้อหาที่นำเสนอตามรสนิยมของคนอ่านแต่ละคน (personalize) และดึงดูดให้คนแชร์เนื้อหากัน

ไมเคิลทิ้งท้ายว่า “คุณต้องมีเนื้อหาที่คนอ่านแคร์ เนื้อหาที่คนอยากคลิกเข้าไป ไม่ว่าจะทำการตลาดเก่งแค่ไหน หรือออกแบบเจ๋งขนาดไหน ทั้งหมดนี้ไม่มีวันเวิร์กเลยถ้าหากเนื้อหาไม่เจ๋งจริง”

ตกเย็นผู้เขียนมีนัดกินข้าวกับลูกผู้เขียนลูกน้องที่ทำงานในบอสตัน ตอนแรกอยากไปกินร้าน Ocean Wealth ร้านโปรดของผู้เขียน แต่เพิ่งรู้ว่าร้านนี้ปิดไปนานแล้ว 🙁 ก็เลยไปกินกันที่ร้าน Peach Farm แทน ซึ่งก็อร่อยดี โดยเฉพาะล็อบสเตอร์ผัดแบบฮ่องกง แต่คิดว่าก็ยังสู้ Ocean Wealth ไม่ได้อยู่นั่นเอง

Lobster

Split peas