บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (33)

chicago-office.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสองวันที่ 23 & 24วันที่ยี่สิบห้าวันที่ยี่สิบหกวันที่ยี่สิบเจ็ดวันที่ยี่สิบแปดวันที่ยี่สิบเก้าวันที่ 30 & 31, วันที่สามสิบสอง, วันที่สามสิบสาม, วันที่สามสิบสี่, วันที่สามสิบห้า)

วันที่สามสิบหก

ชิคาโก :  4/11/2013

วันนี้มีนัดสองนัด นัดสุดท้ายเสร็จบ่ายสาม แต่สงสัยจะไม่ได้ไปเที่ยวไหนต่อเพราะวันนี้ทั้งหนาวทั้งลมแรง และอยากกลับโรงแรมไปเขียนคอลัมน์ส่งเมืองไทย เวลาลมพัดในประเทศนี้นี่อุณหภูมิติดลบไปอีก 10 องศาเซลเซียสได้ง่ายๆ วันนี้ 5 เซลเซียส แต่รู้สึกเหมือน -5 มากกว่า

นัดแรกวันนี้ไปเจอ ไซอีด คาริม (Syed Karim) ผู้อำนวยการนวัตกรรมของกองทุนพัฒนาและลงทุนในสื่อ – Media Development Investment Fund (MDIF)  กองทุนที่ลงทุน (ด้วยการปล่อยกู้หรือซื้อหุ้น) ในสื่ออิสระทั่วโลก ไซอีดนัดผู้เขียนไปเจอที่ร้านกาแฟแถวออฟฟิศเขา ผู้เขียนเลยไปนั่งทำงานกินกาแฟรอก่อน เพราะมั่นใจว่ากาแฟอร่อย ซึ่งก็เดาถูก 🙂

Syed Kalim

ถามไซอีดเรื่องความท้าทายของสื่ออิสระในประเทศกำลังพัฒนา เป้าหมายหลักในการลงทุนของ MDIF เขาตอบว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ การถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ลงโฆษณากับ Malaysiakini ในมาเลเซียถูกกรมสรรพากรเรียกสอบภาษี สื่ออิสระในยุโรปตะวันออกถูกรัฐหาเรื่องสั่งปิดสำนักงานด้วยการอ้างว่าละเมิดกฏระเบียบเรื่องอัคคีภัย (fire code) แต่บางครั้งสื่ออิสระก็ถูกเย้ายวนให้ทำผิดจรรยาบรรณเองเหมือนกัน อย่างกรณี “วารสารศาสตร์ใส่ซอง” (envelope journalism หมายถึงการติดสินบนสื่อให้ลงข่าวเชิงบวก) ในอินเดีย

ถามเรื่องพอร์ตลงทุนของ MDIF และลักษณะการลงทุน คำตอบคือวันนี้สองในสามของเงินลงทุนอยู่ในรูปหนี้ อีกหนึ่งในสามอยู่ในรูปหุ้น ในอนาคตการลงทุนด้วยการถือหุ้นจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น วันนี้ราวครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนอยู่ในหนังสือพิมพ์ประมาณสามสิบฉบับ ในจำนวนนี้ห้าฉบับมีกำไร ประเทศที่เขาคิดว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีคือ บราซิล อินโดนีเซีย และอินเดีย ผู้เขียนสังเกตว่าเป็นประเทศใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย

สื่ออิสระที่ทำกำไรได้นั้นแตกต่างจากสื่ออื่นอย่างไร ไซอีดบอกว่าเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” ที่แตกต่างมากกว่าอย่างอื่น แม้แต่ในสถานการณ์ที่ยากมากๆ ก็มีคนที่อุตสาหะ หาช่องทางทำกำไรได้ ยกตัวอย่างสื่อค่ายหนึ่งในซิมบับเว ตอนแรกผู้บริหารมองไม่เห็นศักยภาพของการทำรายได้จากข้อความขายของ (classifieds) จนกว่าจะหันมาใส่ใจ

ประเด็นน่าคิดที่เขาพบคือ ค่ายสื่อยักษ์ใหญ่มักจะเชื่อว่า “กลยุทธ์” ของฝ่ายบริหารและผู้จัดการระดับกลางในองค์กร (middle management) คือสิ่งที่จะช่วยให้สื่อรอดชีวิต แต่ที่จริงมันอยู่ที่ระดับ “ปฏิบัติจริง” (tactical) มากกว่า แม้จะคิดกลยุทธ์มาดีขนาดไหน ถ้าไม่มีการลงมือปฏิบัติที่ดีพอ ไม่หาคนทำงาน นักข่าวไม่ทำงานหนักตลอดเวลา ก็ยากที่จะรอด

ถามเรื่องแนวโน้มการใช้มัลติมีเดีย โซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำข่าว ไซอีดมองว่าถึงที่สุดแล้วข่าวก็ยังคงต้องเป็น “การเล่าเรื่อง” เหมือนในอดีต อาจมีเครื่องมือมากขึ้นมาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะดึงดูดคนอ่านก็ยังคงเหมือนเดิม ใครเล่าเรื่องเก่งกว่าคนนั้นชนะ

เป้าหมายในการลงทุนของ MDIF วันนี้คือ พยายามดันให้สื่ออิสระที่เขาใส่เงินทำกำไรให้ได้ภายใน 3 ปี วันนี้สิ่งที่สำคัญสำหรับสื่อคือ ต้องใส่ใจข้อมูลคนอ่าน (analytics) เน้น “การเติบโตของฐานคนอ่าน” (audience growth) แทนที่จะเน้น “การเติบโตของเงินโฆษณา” (advertising growth) เพราะวันนี้สื่อดิจิตอลมีช่องทางทำเงินมากมายนอกเหนือจากโฆษณา และเอเยนซีโฆษณาก็ไม่เคยฉลาดหลักแหลมอะไร มีหน้าที่หมุนเงินไปมาและกินส่วนต่างเท่านั้น

ไซอีดบอกว่าเขาไม่เชื่อว่าสื่อทุกค่ายจะต้อง “ทำทุกอย่าง” ตั้งแต่สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ เขามองว่าแทนที่จะพยายามทำทุกอย่าง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีไปเลยจะดีกว่า

ผู้เขียนถามว่า MDIF มีทั้งคำว่า “พัฒนา” (development) อยู่ในชื่อ ทั้งคำว่า “ลงทุน” (investment) แต่ดูจะเน้น “ลงทุน” มากกว่า เพราะเห็นพอร์ตมีแต่สื่อในประเทศกำลังพัฒนาที่สื่อมีเสรีภาพแล้วระดับหนึ่ง ไม่ใช่ประเทศเผด็จการอย่างจีนหรือพม่า เขาตอบว่าใช่ MDIF ทำงานไม่ได้ในประเทศที่ยังไม่อนุญาตให้มีสื่ออิสระ เพราะถึงที่สุดแล้วต้องหาทางพิทักษ์เงินลงทุน เขาจะไม่เข้าไปในประเทศที่รัฐไม่คุ้มครองนักลงทุน ตลาดอีกประเภทที่เขามองว่าท้าทายมากสำหรับ MDIF คือ ตลาดที่สื่อหลักมีส่วนแบ่งตลาดสูงมาก อย่างเช่นบราซิล ค่ายสื่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสองค่ายรวมกันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 90 ทำให้บริษัทเล็กๆ แข่งขันด้วยยากมาก แต่ตลาดประเภทนี้เขาก็ยังมีความหวัง และยังเข้าไปลงทุน เพียงแต่ต้องใช้เวลา สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับ MDIF วันนี้ไม่ต่างจาก venture capital อื่น คือหาแหล่งลงทุนที่ดี

ฟังแล้วผู้เขียนก็เลยแซวว่าเขาน่าจะลบตัว D ออกไปจากชื่อ เปลี่ยนเป็น MIF แทน 😉

วันนี้ MDIF อยากวัด “ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน” จาก “คุณภาพข่าว” ที่เกิดขึ้น ไซอีดคิดว่าน่าจะวางระบบการวัดผลที่วัดระดับความเป็นภววิสัยของข่าว ฯลฯ ถามว่าแล้วโครงการ Media Impact ล่ะ เขาบอกว่าอันนั้นยังติดอยู่ในโลกวิชาการมากเกินไป ต้องรอดูไปอีกสักพัก เรื่องนี้ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง เพราะหลายองค์กรก็วัดผลตอบแทนทางสังคมอย่างละเอียดมากๆ แล้ว อย่างเช่น Department for International Development (DFID) ของประเทศอังกฤษ

ก่อนจากกัน ไซอีดให้ข้อคิดว่า สำหรับสื่อดิจิตอลสมัยนี้ “ความหลากหลายสำคัญต่อการเอาตัวรอด การเน้นทักษะเฉพาะทางสำคัญต่อการเติบโต” (diversity is key to survival; specialization is key to growth.)

จบจากไซอีดผู้เขียนมีนัดกับ คริสตัล ธอมัส (Cristal Thomas) รองผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ (Deputy Governor) ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน USA Eisenhower Fellow ปีนี้ จะเดินทางไปเยือนเมืองไทยและตุรกีในปี 2014 เพื่อศึกษาระดับประกันสุขภาพถ้วนหน้า การให้บริการสาธารณสุขในชนบท และความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ จริงๆ สถาบันจัดให้ผู้เขียนไปพบเธอเพราะอยากให้รู้จักกันไว้ และคงอยากให้ผู้เขียนช่วยแนะนำคนไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องที่เธอสนใจ ผู้เขียนก็เลยไม่ได้คุยเรื่องความสนใจของผู้เขียนเท่าไร เพราะเรื่องสื่อ อินเทอร์เน็ต และการเคลื่อนไหวออนไลน์ดูจะอยู่ไกลจากความสนใจของเธอค่อนข้างมาก 🙂 คริสตัลบ่นให้ฟังว่า เรื่องประกันสุขภาพ นโยบาย Obamacare กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง การเมืองมากจนคุยกันด้วยเหตุด้วยผลกันดีๆ ไม่ได้แล้วว่านโยบายนี้มีข้อดีและข้อเสียตรงไหนบ้าง

คริสตัลเล่าว่า อิลลินอยส์เป็นรัฐที่สามในสหรัฐที่กำลังจะออก “พันธบัตรการลงทุนเพื่อสังคม” หรือ Social Impact Bond (SIB) หลังจากที่นิวยอร์กกับแมสซาชูเส็ทท์ออกไปแล้วก่อนหน้านี้ โดย SIB ของอิลลินอยส์จะเน้นการช่วยเหลือ “เยาวชนเสี่ยงติดคุกซ้ำ” เนื่องจากวันนี้อิลลินอยส์มีอัตราการติดคุกซ้ำสองสูงถึงร้อยละ 76 (อาชญากรที่ต้องโทษร้อยละ 76 พอพ้นโทษออกมาแล้วก็ทำผิดอีก ต้องกลับเข้าคุกใหม่)

ที่ทำการมลรัฐอิลลินอยส์ที่มาพบคริสตัลเป็นตึกที่สวยแปลกตาแบบสมัยใหม่ ผิดกับตึกราชการทั่วไป เธอบอกว่าตั้งใจออกแบบให้สื่อว่ารัฐนี้เน้น “ความโปร่งใส” เป็นหลัก ออฟฟิศของทุกคนโปร่งโล่งอยู่รายรอบห้องโถงวงกลม มองเห็นซึ่งกันและกัน หน้าตึกและรอบตึกก็มีประติมากรรมสาธารณะตั้งอยู่หลายชิ้น ที่ชอบชิคาโกมากส่วนหนึ่งก็เพราะงานศิลปะพวกนี้ 🙂

Public art

ภายในอาคารที่ทำการมลรัฐอิลลินอยส์

Public art 2

ศิลปะหน้าอาคารที่ทำการมลรัฐอิลลินอยส์

Public art 3