บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (4)

2013fellows-photo.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่)

วันที่ห้า

ฟิลาเดลเฟีย: 3/10/2013

โปรแกรมวันนี้ไม่มีอะไรมาก ช่วงเช้ามี คอนนี ชุง (Connie Chung) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากบริษัทโบอิ้งมาสอนพวกเราเรื่องเทคนิคการสื่อสาร เป็นอะไรที่หลายคนรู้อยู่แล้ว แต่ฟังอีกทีก็ดีเหมือนกัน ผู้เขียนสรุปคำแนะนำของเขาได้ประมาณนี้ –

  1. อย่า “พูดทิ้งหางเสียง” (up-speak) คือจบประโยคด้วยการลากเสียงขึ้นเป็นเสียงสูง เหมือนกับกำลังถามคำถาม
  2. อย่าใช้คำฟุ่มเฟือยที่ใช้กันเกร่อ เช่น “like” และ “you know” (ถ้าเป็นภาษาไทยคงเป็นคำทำนอง “คือว่า” และ “ทางด้าน”)
  3. หลีกเลี่ยงประโยคน่ารำคาญ (ดูรูป)

Most annoying phrases

  1. ให้ความสำคัญกับ “ภาษากาย” ด้วย เช่น เวลาพูดให้มองตาผู้ฟัง นั่งโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อแสดงว่ากำลังใส่ใจ ไม่ใช่เอนหลังพิงพนัก เพราะภาษากายคือ 55% ของการสื่อสารทั้งหมด น้ำเสียงอีก 38% สิ่งที่เราพูดคิดเป็น 7% ของการสื่อสารเท่านั้น
  2. อย่าเอาเศษเหรียญใส่ในกระเป๋ากางเกง เพราะเวลาเดินมันจะส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งน่ารำคาญ

การบรรยายช่วงเช้าปิดท้ายด้วยการให้พวกเราฝึกแนะนำตัวภายใน 30 วินาที เรียกว่า “elevator pitch” เสมือนหนึ่งแนะนำตัวในลิฟท์ ต้องพูดจบก่อนลิฟท์จอด ซึ่งไม่ง่ายเลยนะ ต้องบอกว่าชื่ออะไร ทำงานอะไร และเป้าหมายจาก Fellowship ครั้งนี้คืออะไร เขาตั้งกล้องให้เราแต่ละคนพูดหน้ากล้อง บอกว่าจะส่งคลิปวีดีโอมาให้ดูตัวเองวันหลัง เป้าหมายของ elevator pitch คือฝึกให้เราแนะนำตัวอย่างรวดเร็วและได้ใจความ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เราจะไปเจอในโปรแกรมส่วนตัวจะรู้จักว่า Eisenhower Fellowships คืออะไร และพวกเราทำอะไร (บางคนท้วงว่า เขาควรสอน elevator pitch ที่สรุป Fellowship นี้ภายใน 30 วินาทีให้ด้วย เพราะอธิบายโครงการที่เรามานี่ยากกว่าอธิบายตัวเองเยอะ)

ตอนบ่ายแก่ๆ เขาให้พวกเราแต่งชุดประจำชาติหรือสูท ไปงานเลี้ยงรับรองพวกเราที่โรงแรม Four Seasons ซึ่งเชิญสปอนเซอร์ใหญ่ของโครงการ (บริษัทเชฟรอน) กับคณะกรรมการมูลนิธิ (trustees) มาด้วย รวมทั้ง US Eisenhower Fellow หลายคน ได้เจอเหล่าพลพรรครีพับลิกัน (ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส) ที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิอีกหลายคน ส่วนใหญ่รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเอาไหน และอินเทอร์เน็ตทำให้คนไม่ฟังซึ่งกันและกัน

คุณคีธ กรรมการคนหนึ่ง อายุ 80 แล้ว แต่ความจำยังดีมาก เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ แกบอกว่าตอนแรกประเทศนี้ก่อตั้งเป็น “สาธารณรัฐ” นะ รัฐบุรุษผู้เขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ด้วยซ้ำ เพราะกลัวม็อบ

Eisenhower SE Asia Fellows 2013

พวกเราจับกลุ่มกันถ่ายรูปตามประเทศ เพศ ชายชุดดำ ฯลฯ ผู้ชายหลายคนใส่เนคไท “Eisenhower Fellowships” สีฟ้าคาดทอง มีโลโก้ EF ตรงปลาย เนคไทนี้วินห์ (Vinh) Fellow จากเวียดนามที่เป็นเจ้าของเครือโรงงานสิ่งทอทำพิเศษมาแจกเพื่อนๆ ถ้าเป็นผู้หญิงจะได้ผ้าพันคอลายเดียวกันแทน

Eisenhower SE Asia: Thailand Fellows 2013

หลังจากถ่ายรูปหมู่เสร็จ พวกเราก็ถูกต้อนเข้าไปในห้องประชุม ไม่ใช่ห้องจัดเลี้ยง แบ่งเป็นโต๊ะเล็กๆ โต๊ะละสามคน อยากให้คุยกันเรื่องอาเซียนกับ จอห์น วูล์ฟ ประธาน Eisenhower Fellowships ร่วมกับเพื่อนๆ และ trustees ก่อนอาหาร ที่จริงโปรแกรมนี้ตอนแรกจะมีคุณ เคิร์ท แคมพ์เบล (Kurt Campbell) อดีตนักการทูต มานำการสนทนา แต่แกป่วยเลยมาไม่ได้

ผู้เขียนจับใจความสิ่งที่เพื่อนๆ พูดได้ว่า “อาเซียน” ในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่การร่วมมือทางการเมืองและวัฒนธรรมยังอยู่ห่างไกล บางคนมองว่าแบบนี้ก็ดีแล้ว บางคนอย่าง ดร.เถียน จักษุแพทย์และผู้บริการโรงพยาบาลจากสิงคโปร์ มองว่าแค่แก้ปัญหาข้ามพรมแดนอย่างเช่นหมอกพิษ (ลอยเข้าสิงคโปร์ทุกปี เกิดจากไฟป่าและการเผาพื้นที่ถางป่าในอินโดนีเซีย) ยังทำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นมาก

โชคดีที่พอได้เวลาเข้าห้องจัดเลี้ยง ผู้เขียนได้นั่งติดกับคนที่ชอบพรรคเดโมแครตเป็นครั้งแรกตั้งแต่มาที่นี่ ก็เลยกินข้าวอร่อยขึ้นมาหน่อย ;p (แต่กับข้าวของโรงแรมนี้ก็อร่อยสมคำร่ำลือ โดยเฉพาะปลาย่าง)

คริสเตียน ไกส์เลอร์ (Christiane Geisler) กับ เกร็ก โกลด์แมน (Greg Goldman) ที่นั่งติดกับผู้เขียน พูดเหมือนกันว่าเขาและเธอสนับสนุนประธานาธิบดีโอบามา บอกว่าปัญหา government shutdown ต้องโทษพวกรีพับลิกันขวาจัดที่ขัดขวางกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่หรือโอบามาแคร์ ทั้งที่ศาลฎีกาก็ตีความแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และการที่โอบามาชนะเลือกตั้งสองครั้งด้วยการชูนโยบายนี้เป็นหลักตอนหาเสียง ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ที่เพียงพอแล้วว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่อยากได้โอบามาแคร์ พวกขวาจัดนั่นแหละที่อยากชักใบให้เรือเสีย อยากทำให้โอบามาดูแย่ในสายตาประชาชน

เกร็กเป็น US Eisenhower Fellow เลือกไปเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2003 วันนี้เขาช่วยระดมทุนให้กับสวนสัตว์ฟิลาเดลเฟีย บอกว่าเป็นคนผิวขาวไม่กี่คนแล้วในเมืองนี้ที่ยังส่งลูกไปเรียนโรงเรียนรัฐ ไม่ใช่โรงเรียนเอกชน เพราะค่าเทอมเดี๋ยวนี้แพงมาก ผู้เขียนถามว่าทำไมพวก Tea Party (ขวาจัด) ไม่กี่คนถึงได้กล้า(และบ้า)ขนาดนี้ เขาตอบว่าพวกนักการเมืองฮาร์ดคอร์เดี๋ยวนี้ก็มีสาวกที่ฮาร์ดคอร์เหมือนกัน แม้จะทำให้ประชาชนคนอื่นโกรธ แต่การทำตัวฮาร์ดคอร์ก็จะการันตีว่าจะชนะเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในสมัยต่อไป

ดอรี เฟรนด์ (Dorie Friend) ผู้อาวุโส (อายุ 80 กว่าแล้ว) อดีตอธิการบดี Swarthmore College และกรรมการมูลนิธิ บอกว่าพรรค Tea Party ในสภากำลังขัดขวางการทำงานของรัฐ ผู้เขียนเลยแลกเปลี่ยนว่าฝ่ายค้านในไทยก็คล้ายกัน เป็นพวก “ดีแต่พูด” แต่ทำงานไม่ค่อยเก่ง เวลาค้านก็ชอบตั้งหน้าตั้งตาค้าน เน้นการดิสเครดิตรัฐบาลและหาเรื่องฟ้องขึ้นศาล (บางเรื่องก็ควรฟ้อง แต่หลายเรื่องก็หยุมหยิมจนดูเป็นการ “หาเรื่อง” มากกว่า) มากกว่าจะ “เสนอทางเลือก” ที่โดดเด่นน่าเลือก และ “หาจุดร่วม” กับรัฐบาลเพื่อทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

แกเล่าเรื่องนึงที่น่าสนใจดี หลังจากที่ผู้เขียนบ่นเรื่องการเมืองเหลืองแดงแบ่งพรรคแบ่งพวกในไทยให้ฟัง แกบอกว่าการเมืองอังกฤษสมัยก่อนมีแนวคิดเรื่อง “loyal opposition” หมายความว่า แม้เป็นฝ่ายค้านก็ต้องหวังดีต่อชาติ คือไม่ใช่ค้านตะบี้ตะบันหั่นแหลกทุกเรื่อง แต่ยอมประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาลในเรื่องสำคัญๆ ที่จะผลักดันประเทศไปข้างหน้า หลังจากที่พวกเราแยกย้ายกันกลับบ้าน แกอุตส่าห์เขียนอีเมลมาอธิบายต่อว่า “In my view the “Tea Party” in current USA politics is ignorant of this history. And… they make the mistake of “valuing the purity of their principles over the integrity of their compromises.”

ผู้เขียนแปลประโยคสุดท้ายได้ความว่า ฝ่ายค้าน(หรือใครก็ตาม)ไม่ควร “ให้คุณค่ากับความบริสุทธิ์ของหลักการ มากกว่าบูรณภาพของการประนีประนอม” – ฟังแล้วน่าคิดไม่น้อย แต่ไม่รู้ว่ามีนักการเมืองไทยสักกี่คนที่คิดเรื่องแบบนี้