บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (6)

vietnamese.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้า, วันที่หก)

วันที่เจ็ด

ฟิลาเดลเฟีย (เช้า) และวอชิงตัน ดี.ซี. (บ่าย) : 5/10/2013

วันนี้เป็นวันแห่งการกิน 🙂 เริ่มจากตอนเช้า ผู้เขียน พี่จุ๊ฟ (รัฐภูมิ) กับแฟน (พี่บี) และฟิฟิกกับเอลิซาจากอินโดนีเซีย (สองคนหลังนี่ตอนนี้สนิทกันมากแล้ว วันหลังจะเล่าเรื่องพวกเธอให้อ่าน) เดินจากโรงแรมไปกินโจ๊กสไตล์ฮ่องกงที่ร้าน Ting Wong ในไชน่าทาวน์ อร่อยใช้ได้เลย แต่แป้งก๋วยเตี๋ยวหลอดหนาไปหน่อย

ปาท่องโก๋และเป็ดย่าง

ขาไปเดินผ่านจิตรกรรมผนังตึก (mural) รูปมังกรสองชิ้น สีสันสวยดี ทำให้นึกถึง mural ผนังตึกหลังโรงแรม Marriott ที่เราเดินผ่านเกือบทุกวัน เป็นผลงานของโครงการเดียวกันคือ City of Philadelphia Mural Arts Program โครงการศิลปะสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการนี้คือ เจน โกลเด้น (Jane Golden) ก็เป็น US Eisenhower Fellow ด้วย ที่เจ๋งมากคือ จิตรกรรมผนังตึกในเมืองนี้ถ้าทำภายใต้โครงการ ไม่มีชิ้นไหนถูกมือดีมาป่วน ขีดฆ่า ละเลงสีทับเลย เพราะเขาเชื้อเชิญให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น รวมทั้ง “ศิลปินจิตรกรรมผนังตึก” (graffiti artists) ทั้งหลาย (ที่เมืองไทยยังไม่ให้คุณค่า เรียกว่า “พวกมือบอน” นั่นแหละ) พอคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจและร่วมสร้าง ไม่ได้ให้ระบายฟรีๆ เป็นอาสาสมัครหรือจิตอาสา แต่ได้ค่าจ้าง โครงการนี้หาทุนมาทำงานชิ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา และเจนก็ระดมทุนได้เก่งมาก

Chinatown Mural

จิตรกรรมผนังตึกในไชน่าทาวน์  

Eisenhower Fellowships Mural

“Tree of Knowledge” หลังตึกโรงแรม Marriott ชิ้นหลังสร้างเมื่อสิบปีก่อน ฉลอง Eisenhower Fellowships ครบรอบ 50 ปี (ที่มา: http://farm6.staticflickr.com/5258/5420013280_132b2b9238_z.jpg)

เดินผ่านสาขาธนาคารโปรดของผู้เขียนคือ Wells Fargo หลายแห่งในเมืองนี้ ไม่คุ้นตาเลยเพราะ Wells Fargo เมื่อก่อนทำธุรกิจแต่ฝั่งตะวันตกของอเมริกาเป็นหลัก ฝั่งตะวันออกไม่มี ทำให้นึกถึงบทสนทนากับแดน (รองผู้อำนวยการ Eisenhower Fellowships) วันก่อน เขาเล่าว่าเมื่อก่อนเป็นธนาคาร Wachovia แต่พอ Wells Fargo มาซื้อกิจการไปช่วงวิกฤตการเงิน ก็เลยกลายเป็น Wells Fargo แดนบอกว่าเขาเลิกใช้บริการของ Citibank มาสิบปีแล้วเพราะถูกเอาเปรียบ เล่าว่าก่อนหน้านี้ทำบัตรเสริมให้ลูกชายสองคนใช้ แต่ขอจำกัดวงเงิน overdraft (เบิกเกินบัญชี) จะได้ควบคุมไม่ให้ลูกใช้จ่ายเงินมากเกินไป แต่ธนาคารไม่ยอม เขาบอกว่าธนาคารทำแบบนี้ไม่ไหวเลย ชัดเจนว่าอยากได้ค่าธรรมเนียมเยอะๆ

ผู้เขียนก็เลยแลกเปลี่ยนว่าธนาคารไทยก็ยังเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่มากเหมือนกัน เช่น ถ้าจ่ายยอดคงค้างบัตรเครดิตช้าไปแค่วันเดียว จะโดนแบงก์คิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดคือ 20% ตั้งแต่ วันที่เราจ่ายเงินซื้อสินค้า จนถึงวันที่เรามาชำระเงิน ไม่ใช่หนึ่งวัน แถมอาจโดนค่าธรรมเนียมจ่ายช้าอีกต่างหาก

(ถ้าเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมกันต่อปี แบบกฎหมายอเมริกันที่บังคับให้เปิดเผย APR (เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปทีแล้ว) สถานการณ์จะดีกว่านี้มาก แต่แบงก์ชาติเราดูเหมือนจะยัง “อ่อย” ให้แบงก์พาณิชย์ค่อนข้างมาก)

กลับจากกินข้าวเช้ามาถึงโรงแรมไม่นานก็ได้เวลาขึ้นรถบัสไปเมืองใหม่ คือวอชิงตัน ดี.ซี. เริ่มต้นโปรแกรมส่วนตัวของพวกเราอย่างเป็นทางการ แต่พวกเราส่วนใหญ่ (18 จาก 23 คน) เลือกไปดี.ซี. เป็นเมืองแรก ก็เลยขึ้นรถบัสด้วยกัน หลังสุดสัปดาห์นี้ไปคงจะเจอกันได้แต่เฉพาะเวลาอาหารเย็น เพราะระหว่างวันแต่ละคนต้องแยกย้ายไปตามนัดของตัวเอง

นั่งรถบัสสองชั่วโมงครึ่งก็ถึง ดี.ซี. คราวนี้เขาให้เราอยู่โรงแรมที่มีครัวในตัวทุกห้อง ครบเครื่องตั้งแต่ตู้เย็น ไมโครเวฟ จานชาม ช้อนส้อม โรงแรมนี้ชื่อ River Inn Hotel อยู่แถว Georgetown 

พักผ่อนสองชั่วโมงกว่าก็ได้เวลาออกมากินข้าวเย็น คราวนี้เพื่อนเวียดนาม 5 คนของเรา (ปีนี้เป็นปีแรกที่มี Fellow จากประเทศเวียดนาม) ขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพวกเราที่ร้านอาหารชื่อ Pho Viet นั่งแท็กซี่ไปเกือบครึ่งชั่วโมง คุ้มค่าการเดินทางเพราะอาหารร้านนี้อร่อยมากๆ

เฝอ

ขากลับไปโรงแรม จอห์นจากมาเลเซีย (ทำงานให้รัฐ มาที่นี่เพื่อดูงานเกี่ยวกับ venture capital ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียอยากส่งเสริม) แนะนำให้ผู้เขียนลดน้ำหนักตามสูตร “GM Diet” ซึ่งบริษัท General Motors ออกแบบให้พนักงาน และพิสูจน์แล้วว่าสำเร็จ จอห์นบอกว่านายเขาหนัก 80 กิโล ทำตามสูตรนี้แล้วน้ำหนักลด 8 กิโลในเวลาแค่ 2 สัปดาห์! ฟังดูแล้วน่ากลัวไม่ใช่เล่น เพราะต้องกินแต่ผักและผลไม้ไป 4 วัน วันที่ห้าถึงจะเริ่มกินเนื้อได้ แต่น่าลองพิสูจน์ ไว้กลับเมืองไทยเมื่อไหร่จะลองทำ

(จอห์นน่ารักมาก อุตส่าห์อีเมลสูตรที่ปรับอาหารบางอย่างเป็นผลไม้แถบเอเชียมาให้ผู้เขียนอ่านประกอบด้วย)


วันที่แปด

วอชิงตัน ดี.ซี : 6/10/2013

วันนี้วันอาทิตย์ ดังนั้นจึงเป็นวันแห่งการกินอีกวัน :p (ก็แน่นอน เอาคนเอเชีย(ตะวันออกเฉียงใต้)มาอยู่รวมกัน!) เริ่มจากตอนเที่ยงพวกเราคนไทยพาเพื่อนๆ ไปเลี้ยง (เราตกลงกันว่าควรเลี้ยงเพื่อนๆ เพราะคืนก่อนรับเลี้ยงทีมเวียดนามไปแล้ว) ร้านอาหารไทยชื่อ Rice & Spice ซึ่งเป็นร้านของเพื่อนพี่บี (แฟนของพี่จุ๊ฟ) เปิดร้านอาหารไทยในดีซีมา 15 ปีแล้ว ตอนนี้มี 4 สาขาทั่วเมือง อาหารอร่อยดีและหลากหลายด้วย มีตั้งแต่ยำปลาดุกฟู กะเพราะไก่ ไปจนถึงเย็นตาโฟ ผัดขี้เมา ข้าวเหนียวสังขยาก็มี ทุกคนเอ็นจอยจนหลายคนบอกว่ากินข้าวเย็นไม่ไหวแล้ว ทีมมาเลเซียกับอินโดซึ่งตอนแรกจะผนึกกำลังกันเลี้ยงคืนนี้ ก็เลยบอกว่าจะยกยอดไปเลี้ยงคืนพรุ่งนี้แทน

ผัดขี้เมาไก่

ผัดขี้เมาไก่

Ice cream  

ไอศกรีมกะทิกับกล้วยทอด

ตอนบ่ายผู้เขียนกลับมานั่งทำงานที่โรงแรม ตกเย็นออกไปเจอเพื่อนๆ ชาวอินโดนีเซียที่ช็อปปิ้งมอลล์ใหญ่แถว Pentagon City ไม่ได้ซื้ออะไร เพราะไม่อยากแบกของไปอีก 5 สัปดาห์ แต่เดินดูคนอื่นซื้อของก็เพลินดี

Fellow จากอินโดนีเซียปีนี้มีสามคน แต่ละคนไม่มีอะไรเหมือนกันเลยแต่มาเป็นเพื่อนกันได้ 🙂 เริ่มจาก เมเกน หนุ่มเจ้าสำอางวัย 32 ซีอีโอของ ICDX ตลาดตราสารอนุพันธ์จาการ์ตา มาจากตระกูลอภิมหาเศรษฐีของอินโด คือ วิดยายา (Widjaja) กลุ่ม Sinar Mas ซึ่งติดอันดับ Top 20 เศรษฐีเอเชียตลอดเวลา เทียบได้กับเสี่ยเจริญเบียร์ช้างของเมืองไทย แต่เมเกนนิสัยดี ผู้เขียนคิดว่าจริงใจ ไม่ถือตัว ไม่หยิ่ง ใช้ของแบรนด์เนมทุกอย่างแต่ก็ล้างจานเอง :p

คนที่สองชื่อ ฟิเฟก (Fifiek) เป็นนักกฎหมาย อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลอินโด คนนี้เป็นแม่ลูกสาม อายุมากกว่าผู้เขียนหลายปี พวกเราเรียกเธอว่า “มาม่า” หรือไม่ก็ “มาม่าซัง” เพราะคอยดูแลตักเตือนเหมือนพวกเราเป็นลูกหลาน

ส่วนคนสุดท้ายคือ เอลิซ่า (Elisa) เป็นสถาปนิก เชี่ยวชาญเรื่องผังเมือง นิสัยคล้ายกับผู้เขียนหลายอย่างตั้งแต่ 1) เข่าหลุดข้างละหลายรอบเหมือนกัน 2) ขี้ลืมเหมือนกัน 3) พ่อเป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน 4) แม่คอยจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมเหมือนกัน ก็เลยสนิทกันอย่างรวดเร็ว ที่ไม่เหมือนกันคือเอลิซาแต่งงานแล้ว และไม่ซุ่มซ่าม 🙂

ตอนเย็นพวกเราหลายคนกินง่ายๆ เพราะอืดจากมื้อกลางวัน สองสามวันมานี้เราผลัดกันลองใช้บัตร per dium รูดค่าแท็กซี่อย่างสนุกสนาน (บัตรนี้หน้าตาเหมือนบัตรเครดิต แต่รูดได้เฉพาะในร้านอาหาร แท็กซี่ กับร้านสะดวกซื้อเท่านั้น)