(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่, วันที่ห้า, วันที่หก, วันที่ 7 & 8)
วันที่เก้า
วอชิงตัน ดี.ซี. : 7/10/2013
เปิดม่านสัปดาห์แห่งประชุมอันชุลมุนวุ่นวายแล้ว โชคดีที่วันนี้ผู้เขียนมีแค่สองนัด ทั้งคู่อยู่ในรายการที่ขอไปเจอเอง (คือไม่ใช่ทาง Eisenhower แนะนำ) เป็นองค์กรที่ชอบมากๆ ทั้งคู่ เพราะติดตามผลงานผ่านเว็บมานาน คือ Center for Public Integrity (CPI) องค์กรข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อดังของอเมริกา กับ Center for Democracy and Technology (CDT) องค์กรขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพเน็ต
นัดเช้าไปพบ บิล บูเซ็นเบิร์ก (Bill Buzenberg) บรรณาธิการบริหาร CPI อุตส่าห์ฉายสไลด์แนะนำองค์กรให้เราดู เล่าเป็นฉากๆ เพลินมาก ผู้เขียนรู้จักข่าวที่เขาทำหลายชิ้น แต่ไม่เคยได้ฟังเบื้องหลังมาก่อนเลยตื่นตาตื่นใจพอสมควร ค่ายนี้เขาทำแต่ข่าวสืบสวนสอบสวนหรือข่าวเชิงลึก แต่ละซีรีส์ใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะนำเสนอได้ ตอนนี้มีนักข่าวในสังกัดประมาณ 40 คน
บิลบอกว่าจ้างทนายมานั่งประจำองค์กรเลย มีหน้าที่ส่งจดหมายขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการ (ด้วยกฎหมาย Freedom of Information) และฟ้องหน่วยงานถ้าไม่ให้ข้อมูล ส่วนใหญ่ใช้เวลา 6-9 เดือนกว่าจะได้ข้อมูลมา ที่นี่เขาเชื่อว่า “ความโปร่งใสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” (transparency change behavior) คือถ้าเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้ ถึงที่สุดรัฐก็ต้องเปลี่ยน เขายกตัวอย่างซีรีส์ข่าวสืบสวนชิ้นหนึ่งซึ่งเปิดโปงว่า บริษัทไหนจ่ายค่าเดินทางให้ผู้พิพากษาศาลประจำมลรัฐต่างๆ ไปเข้าร่วม “สัมมนาเพื่อการศึกษา” ในแต่ละปีมากที่สุด และจ่ายหนักขนาดไหน (ปกติธุรกิจจะเลี้ยงดูปูเสื่อด้วยการส่งไปงานสัมมนาในโรงแรมหรูๆ ที่ไหนสักแห่ง คล้ายกับนักธุรกิจไทย แต่ของไทยใช้วิธีที่ตรงกว่านี้มาก คือนัดตีกอล์ฟหรือกินข้าวกันเลยโดยเฉพาะถ้าเป็นเพื่อนร่วมรุ่น “หลักสูตรพิเศษ” ทั้งหลาย ไม่ต้องมาคิดหัวข้อสัมมนาให้เสียเวลา)
ซีรีส์นี้ใช้เวลาค้นข้อมูลกว่า 1.5 ปี จ้างนักศึกษาไปขุดและบันทึกข้อมูลจากกองแบบฟอร์มสูงเท่าหัวในห้องเก็บข้อมูลที่ศาล (เวลาผู้พิพากษาเดินทางไปสัมมนาต้องรายงานในแบบฟอร์มพวกนี้ตามระเบียบศาล) บิลบอกว่าหลังจากที่ซีรีส์นี้ถูกเผยแพร่ทางเว็บ ก็มีสื่อกระแสหลักหยิบไปเผยแพร่มากมาย (โดยให้เครดิต ต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติในไทย) สร้างแรงกระเพื่อมจนสุดท้ายสภาคองเกรสสหรัฐต้องออกกฎหมายห้ามนักล็อบบี้จ่ายเงินค่าเดินทาง
ถามว่าเขาใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกว่าจะทำข่าวสืบสวนเรื่องอะไรบ้าง เขาบอกว่าหลักกว้างๆ ที่ใช้ในการเลือกประเด็นข่าวของ CPI คือ 1) “เราทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ” คือยังไม่มีสื่อค่ายไหนเล่น 2) ประเด็นนี้สะท้อน “ปัญหาเชิงระบบ” อะไรสักอย่าง (คือไม่ใช่ว่าเป็นปัญหาระดับปัจเจก ไอ้นี่ชั่วไอ้นั่นเลว ฯลฯ) และ 3) ดูว่าเขามีทรัพยากร (คนและเงิน) พอที่จะไปเจาะเรื่องนี้หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์การล่วงละเมิดทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอีกซีรีส์ที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีสื่อค่ายไหนไปดู ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมหาวิทยาลัยอเมริกันส่วนใหญ่มี “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน” สำหรับนักศึกษาที่ถูกข่มขืนหรือลวนลามทางเพศ แต่สถิติของศูนย์เหล่านี้ถูกเก็บเป็นความลับ คนผิดส่วนใหญ่ก็ไม่ถูกลงโทษหรือไม่ก็ถูกลงโทษน้อยมาก
หลังจากที่ CPI ตีพิมพ์ซีรีส์นี้บนเว็บ สื่อหลักจำนวนมากก็เอาข่าวไปเผยแพร่จนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอเมริกาต้องออกมาประณามมหาวิทยาลัยและออกกฎระเบียบใหม่
แน่นอนว่าทำข่าวสืบสวนที่ไปเหยียบตาปลาคนอื่นขนาดนี้ย่อมหนีไม่พ้นการถูกฟ้อง ตั้งแต่ก่อตั้งมา 24 ปี CPI ถูกฟ้องหมิ่นประมาทสามครั้ง ชนะคดีทุกครั้ง ครั้งล่าสุดถูกมาเฟียรัสเซียฟ้อง เขาชนะคดีแต่ต้องใช้เวลาสู้คดีในชั้นศาลถึง 3 ปี เสียประกันหมิ่นประมาทไประหว่างทาง วันนี้โชคดีที่มีสำนักงานกฎหมายหลายแห่งยอมว่าความให้แบบไม่คิดค่าตอบแทน (เรียกว่า “pro bono” คือได้เครดิตในฐานะนักกฎหมายถึงแม้ไม่ได้เงิน – ระบบนี้บ้านเรายังไม่มี) และก็ได้ประกันหมิ่นประมาทคืนมาดังเดิม
ถามเรื่องระดมทุน เขาบอกว่าอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากมูลนิธิกว่า 50 แห่ง และประชาชนอีกหลายพันคน เป็นอิสระไม่มีปัญหาใดๆ กับผู้บริจาค เขายกตัวอย่างว่าในซีรีส์ “Secrecy for Sale” ซึ่งเปิดโปงรายชื่อเศรษฐีที่ใช้บริการหมู่เกาะหนีภาษีอย่าง บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ (ที่จริงซีรีส์นี้ทำในนาม International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ซึ่งถือเป็นหน่วยหนึ่งของ CPI) เขาก็เปิดเผยข้อมูลการใช้บริการของอภิมหาเศรษฐี จอร์จ โซรอส ด้วย ถึงแม้ว่า Open Society Institute มูลนิธิโซรอสจะเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ของ CPI ก็ตาม
ตอนเที่ยงแวะกินข้าวที่ร้าน Park Place Gourmet กินอาหารหลุมตักเองเหมือนอยู่โรงเรียนประจำ แต่อร่อยใช้ได้ คิดราคาตามน้ำหนักอาหารที่ตัก ปอนด์ละ $7.29 🙂
ช่วงบ่ายไปพบ เอ็มมา ลานโซ (Emma Llanso) นักนโยบายกฎหมายประจำ Center for Democracy and Technology (CDT) องค์กรขับเคลื่อนเสรีภาพเน็ตซึ่งผู้เขียนใช้บริการ (อ่านบทความบนเว็บ) ของเขามานานหลายปี คุยกันสนุกมากเลย เพราะเขาถามผู้เขียนพอๆ กับที่ถามเขา เลยเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากกว่าการไปขอความรู้ทางเดียว
เอ็มมาบอกว่า ตอนนี้ภัยคุกคามเสรีภาพเน็ตที่น่ากลัวที่สุดในความคิดของเธอคือการสอดส่องติดตามล้วงข้อมูลส่วนตัวของภาครัฐ จากกรณี NSA กับ Edward Snowden ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เธอบอกว่าตลกร้ายคือ กรณีนี้ทำให้องค์การสหประชาชาติเริ่มอยากเข้ามากำกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง เพราะมองว่าถ้าสหประชาชาติไม่ก้าวเท้าเข้ามา รัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเผด็จการอาจเซ็นเซอร์เน็ต สอดส่องและปิดปากคนมากกว่าเดิม สิ่งที่ CDT กังวลคือ ไม่ว่า “กลไกกำกับ” อินเทอร์เน็ตแบบไหนจะเกิด มันจะบีบขับภาคประชาสังคมออกไป กลายเป็นเรื่องของรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นหลัก (“กำกับ” ในที่นี้ใช้ในความหมาย governance คือรวมถึงการกำกับดูแลกันเองด้วย ไม่ใช่ regulation จากรัฐอย่างเดียว)
ถามว่าธรรมชาติ “กระจายศูนย์” (decentralized) ของอินเทอร์เน็ต คือไม่มีใครเป็น “ผู้นำ” เหมือนรัฐ เป็นอุปสรรคในการทำงานเรื่องกลไกกำกับเน็ตหรือเปล่า เธอบอกว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน แต่ที่เป็นปัญหากว่าคือการทะเลาะกันเองของเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องเน็ต บางทีผลักดันประเด็นไม่ได้เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเรื่องจุดต่าง แทนที่จะมองจุดร่วม แนะให้ผู้เขียนไปสมัคร mailing list ชื่อ Best Bits เพราะในนั้นเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับเน็ตแลกเปลี่ยนกันเรื่องหลักการกำกับเน็ตที่ควรเป็น
เธอมอง CDT ว่าเป็นองค์กร “ตรงกลาง” (moderate) ถ้าเทียบกับ Electronic Frontier Foundation และ American Civil Liberties Union ซึ่ง “สุดขั้ว” (extreme) กว่าเวลารณรงค์เรื่องเสรีภาพเน็ต สิทธิของผู้ใช้เน็ต ฯลฯ สอดคล้องกับความคิดของผู้เขียนว่า ทุกวงการที่ขับเคลื่อนประเด็นสังคมควรจะมีทั้งพวก “แข็ง” กับพวก “อ่อน” พวกแข็งคอยผลักประเด็นและชี้ให้เห็นว่าอุดมคติอยู่ตรงไหน คือเป็นนักอุดมคตินิยมมากกว่าสัมฤทธิ์ผลนิยม (idealist มากกว่า practical) ส่วนพวกอ่อนกว่าก็ต้องมีเพราะรัฐ ธุรกิจ ฯลฯ จะอยากร่วมมือด้วยมากกว่าร่วมมือกับพวกแข็ง คิดแบบสัมฤทธิ์ผลนิยมมากกว่าอุดมคตินิยม ค่อยๆ ก้าวไปในทิศทางที่ควรเป็น
CDT อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจ คืออยากขยับงานที่ทำไประดับนานาชาติมากขึ้น จากที่เน้นแต่ประเด็นในประเทศอเมริกาเป็นหลัก ผู้เขียนบอกว่าความท้าทายใหญ่คือ ประเทศอื่นโดยเฉพาะในเอเชียไม่มีฐานคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่ชัดเจน จารึกไว้ในรัฐธรรมนูญและสังคมมีจิตสำนึกเรื่องนี้อย่างหนักแน่นเหมือนกับอเมริกา แต่ละประเทศมี “จุดอ่อนไหว” ซึ่งตีกรอบเสรีภาพในการแสดงออกให้แคบลง ด้วยการให้รัฐมีอำนาจตีความ “การกระทำผิด” ในจุดอ่อนไหวนี้อย่างกว้างขวางและคลุมเครือจนใช้กลั่นแกล้งกันง่ายมาก
จุดอ่อนไหวนี้ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในไทยเป็นประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเทศอื่นหลายประเทศเป็นประเด็นศาสนาอิสลาม บางประเทศเป็นเรื่องภัยก่อการร้าย ฯลฯ ผู้เขียนเลยเสนอว่า เขาน่าจะมองหา “จุดร่วม” ที่แต่ละประเทศมีเหมือนกันมากกว่า เช่น เหตุผลทางเศรษฐกิจ คือถ้าสามารถพิสูจน์ให้เห็นด้วยข้อมูลว่า การเซ็นเซอร์เน็ตในแต่ละประเทศมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ (ธุรกิจขนาดเล็กเกิดไม่ได้ เน็ตช้าลง ฯลฯ) อย่างไรและคิดเป็นมูลค่าเท่าไร รัฐและประชาชนก็อาจค่อยๆ เริ่มไตร่ตรองว่า การใช้วิธีเซ็นเซอร์เน็ตนั้นนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยัง “ได้ไม่คุ้มเสีย” อยู่หรือเปล่า
เอ็มมาบอกว่าเห็นด้วย น่าจะลองทำดู เธอยกตัวอย่างว่าตอนนี้ CDT ก็ใช้วิธีคล้ายกัน คือชี้ให้เห็น “ทางเลือกอื่นที่ดีกว่า” เช่น ร่วมมือกับนักวิจัยทำการศึกษา ประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ทั้งหลาย ผลการวิจัยพิสูจน์ว่า การใช้เครื่องมือออนไลน์ (เช่น โปรแกรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย) สามารถช่วยผู้ปกครองดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกหลานให้ห่างไกลจากภัยคุกคามและเว็บโป๊ต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายควบคุมเพื่อคุ้มครองเด็ก ซึ่งจะไปลิดรอนสิทธิของผู้ใช้เน็ตที่เป็นผู้ใหญ่โดยปริยาย
ตกเย็นก็แน่นอน ….ในเมื่อ Fellows เวียดนามกับไทยเลี้ยงเพื่อนๆ ไปแล้ว ก็ได้เวลา Fellows จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์รวมตัวกันเลี้ยงบ้าง (เพราะอาหารคล้ายกันละมัง) เขาพาเราไปร้าน Kopitiam ซึ่งอร่อยมากเลย แต่กินกันไม่หวาดไม่ไหวเพราะเจ้าภาพสั่งอาหารมาเยอะเกิน ผู้เขียนหอบชาก๋วยเตี๋ยวกลับบ้านไปกินคืนพรุ่งนี้ต่อ -_-