บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (9)

me-rebecca.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้า, วันที่สิบ)

วันที่สิบเอ็ด

วอชิงตัน ดี.ซี.  : 9/10/2013

ตารางวันนี้ไปคุยครบทั้งสามเรื่องที่สนใจจะมาคุยที่อเมริกาเลย (เรียกเป็นภาษาทางการว่า “fellowship interests”) ตั้งแต่ไปคุยเรื่องโมเดลธุรกิจสื่อ(แทรกการเมืองอเมริกัน)กับ Wall Street Journal ตอนเช้า ก่อนเที่ยงไปคุยเรื่องการเซ็นเซอร์เน็ตกับ ซินเธีย หว่อง (Cynthia Wong) นักวิจัยด้านนี้คนโปรดของผู้เขียน บ่ายแก่ๆ ไปคุยเรื่องการกำกับเน็ตและการขับเคลื่อนประเด็นออนไลน์กับ รีเบ็คกา แม็คคินนอน (Rebecca MacKinnon) อดีตผู้อำนวยการซีเอ็นเอ็นประจำปักกิ่ง ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้ง Global Voices และนักรณรงค์เสรีภาพเน็ต

บางคนอาจสงสัยว่า Wall Street Journal (WSJ) อยู่นิวยอร์ก ทำไมต้องมีสาขาที่วอชิงตันดีซี คำตอบคือฝ่ายการเมืองระดับชาติ (National Politics) อยู่ที่นี่ เพราะต้องส่งคนไปเกาะติดทำเนียบขาวและสภาต่างๆ ผู้เขียนมาคุยกับ อารอน ซิทเนอร์ (Aaron Zitner) ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวการเมืองระดับชาติของ WSJ

Aaron Zitner

เราคุยเรื่อง government shutdown กับการเมืองเมกากันก่อนเพราะดูเหมือนเขาจะอยากคุยเรื่องนี้ (ที่จริงใครๆ ก็อยากคุยเรื่องนี้) คำถามแรกคือ เขารู้สึกแปลกใจหรือเปล่าที่เกิด government shutdown เขาตอบว่าไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร คนอเมริกันส่วนใหญ่คงแปลกใจกว่า นักข่าวการเมืองรู้ดีว่า สามวันในดีซีเท่ากับ “นานมาก” เพราะนักการเมืองที่นี่ไม่ตัดสินใจอะไรๆ จนกว่าจะถึงนาทีหรือวินาทีสุดท้าย ดังนั้นเลยคิดว่าคงจะไม่เห็นสองพรรคใหญ่ตกลงกันได้จนกว่าจะถึง “เส้นตาย” จริงๆ (ซึ่งอาจไม่ใช่วันที่ 17 ตุลาคมอย่างที่หลายคนบอกว่าจะเป็นวันที่รัฐบาลเมกาผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะยังพอมีเงินก้นถุงพอถูไถไปได้อีก 1-2 อาทิตย์)

ถามอารอนว่า ในสายตาของเขา การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดในสังคมการเมืองสหรัฐในรอบ 20 ปีที่เขาทำงานมาคืออะไร เขาตอบว่าคือการสูญเสียอิทธิพลของพรรคการเมือง ในอดีต พรรคการเมืองหาเงินเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อส่งคนในสังกัดตัวเองลงสมัคร และก็หาเงินได้เยอะมาก นักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเลยต้องฟังเสียงพรรค แหกคอกไม่ค่อยได้ นอกจากนั้นผู้แทนก็ “ยื่นหมูยื่นแมว” กันในสภาเป็นเรื่องปกติในการเจรจาต่อรอง เช่น ฉันจะช่วยผ่านงบให้เธอได้สร้างสะพานใหม่ในรัฐของเธอนะ ถ้าเธอยกมือผ่านร่างกฎหมายที่ฉันเสนอ การยกมือแลกผลประโยชน์แบบนี้เรียกว่า “hard vote”

สมัยนี้ hard vote ทำได้ยากกว่าเดิมมากเพราะกฎหมายใหม่ๆ ห้ามทำ และพรรคการเมืองก็มีอิทธิพลน้อยลงเรื่อยๆ ต่อนักการเมือง เพราะนักการเมืองมีกลไกระดมทุนหาเสียงใหม่ๆ ที่ไม่ต้องผ่านพรรค เช่น คณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งระดมทุนให้แคมเปญหาเสียงโดยเฉพาะ เรียกว่า Political Action Committee (PAC) และ Super PAC แบบหลังนี่ระดมทุนได้ไม่จำกัดจำนวนจากใครก็ได้ ตราบใดที่ไม่ให้เงินนักการเมืองหรือแคมเปญหาเสียงโดยตรง (แต่รณรงค์หาเสียงช่วยนักการเมืองได้) พอนักการเมืองพึ่งพรรคน้อยลงก็เริ่มแกว่งไปอยู่ใต้อิทธิพลของคนและบริษัทที่บริจาคเงินให้ PAC มากขึ้น

ถามว่าเขาคิดว่าสถานการณ์ government shutdown จะส่งผลต่อการเลือกตั้งกลางเทอม (ปี 2014) ยังไง อารอนมองว่าดุลอำนาจจะยังเหมือนเดิม คือพรรครีพับลิกันจะคุมเสียงข้างมากในสภาล่าง เดโมแครตคุมเสียงข้างมากในสภาสูง (นักวิจารณ์คนอื่นเห็นต่างไปนะ) ผลโพลล่าสุดชี้ว่าคะแนนนิยมของโอบามาลดเหลือเพียง 37% ส่วนสภาคองเกรส (รวมทั้งสภาล่างสภาสูง) ได้คะแนนนิยมเพียง 5% เท่านั้น ต่ำเตี้ยทั้งคู่ เขาบอกว่าคน “ยังโกรธไม่มากพอ” (โกรธโอบามาหรือรีพับลิกันก็ตาม) ที่จะเปลี่ยนดุลอำนาจ ตอนนี้จากห้าร้อยกว่าที่นั่งในสภา มีเพียง 9 ที่นั่งเท่านั้นที่มีคะแนนเสียงไล่เลี่ยกัน และอีกราว 25 ที่นั่งที่อาจเปลี่ยนพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผู้เขียนถามเขาเรื่องสถานการณ์ของสื่อ เขาเห็นโมเดลใหม่ๆ ที่น่าสนใจบ้างไหม เขาขอให้เล่าโมเดลของไทยพับลิก้าให้ฟังก่อน เลยสรุปสั้นๆ ว่าตอนนี้เรามีรายได้จากการจัดสัมมนา ThaiPublica Forum เป็นหลัก พ่วงโฆษณาบนเว็บ เพราะงานสัมมนาเรามีนักข่าวกระแสหลักให้ความสนใจมาก คนฟังราว 40% เป็นนักข่าวค่ายอื่น มาทำข่าวและเสนอข่าว ถึงแม้หลายค่ายจะยังไม่ยอมให้เครดิตเรา การที่เอางานของเราไปออกเป็นข่าวก็ทำให้สปอนเซอร์ยอมจ่ายสตางค์

เล่าจบแล้วอารอนก็บอกว่าน่าสนใจ ทำให้เขานึกถึงโมเดลของ National Journal ว่าแล้วก็เปิดเว็บนี้ให้ดู อธิบายว่าสมัยก่อนค่ายนี้ทำแต่นิตยสารชื่อเดียวกันเท่านั้น ไม่มีเว็บ คิดค่าสมาชิกแพงถึง $6,000 ต่อปี เพราะนำเสนอข่าว “วงใน” วอชิงตันที่นักล็อบบี้ต้องอ่าน (เนื้อหามีทั้งประวัตินักการเมือง ข่าวซุบซิบในทำเนียบขาว บทวิเคราะห์ดุลอำนาจ ฯลฯ) แต่พอเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตก็เริ่มลำบาก เพราะเว็บใหม่ๆ อย่าง Politico นำเสนอเนื้อหาแบบเดียวกันโดยไม่คิดเงิน ผู้บริหารของ National Journal ก็เลยต้องเปลี่ยนโมเดล ตอนนี้ได้เงินจากงานอีเว้นท์ต่างๆ คล้ายกับเราเลย

ถามเขาว่า WSJ ต้องปรับตัวมากไหม ท่าทางจะไปได้ดีเพราะเป็นสื่อใหญ่ค่ายแรกที่เก็บเงินคนที่อ่านผ่านเน็ต (paywall) โดยไม่เสียยอดคนอ่าน และยังมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นแหล่งข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่ขาดไม่ได้สำหรับนักธุรกิจ ถึงยังไงก็น่าจะมีคนอยากจ่ายเงินอ่าน อารอนตอบว่ารายได้ของ WSJ ยังไม่ลดลงก็จริง แต่ตัวสื่อเองก็กำลังปรับตัว ทำสื่อใหม่เยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะวีดีโอคลิปกับรายการทีวีบนเว็บ เช่น WSJ Live ซึ่ง “เราทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ฝ่ายขายบอกว่าให้ทำอีกเยอะๆ เพราะมีโฆษณาจ่อลงเยอะ” เขายกตัวอย่างว่า รายการที่ขายโฆษณาได้ดีคือ WSJ Startup of the Year เป็น reality show แต่ละตอนมีโค้ชมาสอนบริษัทแรกตั้ง (start-up) ในทักษะต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การทำ elevator pitch ฯลฯ

เขายกตัวอย่างโครงการสื่อใหม่หลายชิ้นของ WSJ โดยให้ทิม บรรณาธิการออนไลน์เปิดให้ผู้เขียนดู ตั้งแต่เกมออนไลน์ วีดีโอที่ใช้ต้นทุนผลิตสูงมากอย่าง Everything You Need to Know about the Fiscal Cliff (ซึ่งเขาลงทุนจ้าง RSA Animate มาทำแอนิเมชั่นประกอบเลยทีเดียว) ไปจนถึง interactive video ที่อธิบายโอบามาแคร์แบบเข้าใจง่ายและดูสนุก เพราะทำเป็นละครสั้นเลยทีเดียว เขาบอกว่าการผลิตสื่อใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่ทำในออฟฟิศนี่แหละ มีส่วนน้อยมากที่จ้างคนข้างนอกทำ ว่าแล้วเขาก็พาไปเดินทัวร์ฝ่ายต่างๆ ในออฟฟิศ รวมทั้งสตูดิโอขนาดเล็กที่เอาไว้ถ่ายคลิปขึ้นเว็บ ออฟฟิศที่นิวยอร์กสามารถควบคุมกล้องด้วยรีโมท ทำให้ไม่ต้องจ้างช่างกล้องประจำดีซี (มีแต่ช่างเทคนิคสองคนที่ทำหน้าที่เช็คกล้อง ตั้งกล้องก่อนถ่าย)

Studio room

อารอนบอกว่า สิ่งที่เป็น “ปริศนา” สำหรับเขาคือ หนังสือพิมพ์ที่ผลิตข่าวคุณภาพอย่าง Boston Globe กับ LA Times สูญเสียคนอ่านจำนวนมหาศาล หนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวไม่ค่อยดีนักบางฉบับกลับรักษาฐานคนอ่านเอาไว้ได้ เขาสงสัยว่า “คุณภาพ” ของเนื้อหาสำคัญขนาดไหน ในเมื่อเว็บอย่าง Quartz และ Business Insider ซึ่งแทบไม่เคยเปิดประเด็นข่าวเอง เอาข่าวของคนอื่นมาเขียนใหม่หรือรายงานเหตุการณ์ให้เร็วกว่าคนอื่นและไม่ทำข่าวเชิงลึก – เว็บเหล่านี้ล้วนได้คนอ่านมหาศาลและโตเร็วมาก เขาเลยสงสัยว่า “บนเว็บ คุณอาจจะแค่ต้อง “ดีพอ” (good enough) โดยไม่ต้อง “ดีมาก”  ไม่จำเป็นต้องเน้นคุณภาพคนก็อ่านแล้วก็ได้”

อย่างไรก็ตาม อารอนเชื่อว่าคุณภาพก็ยังสำคัญสำหรับสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่มีชื่อเสียงเดิมที่ต้องรักษาอย่าง WSJ และเขาก็ทึ่งกับโมเดลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นธุรกิจ “พิสูจน์ความแท้ของคลิปวีดีโอ” (video authentication) ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่ากำลังโตเร็วเพราะเป็นที่ต้องการมาก ในเมื่อตอนนี้มีวีดีโอที่คนถ่ายเองและโพสขึ้นเน็ตวันละเป็นล้านๆ ชิ้น คำถามคือถ้าสื่ออยากใช้วีดีโอในการทำข่าว จะรู้ได้อย่างไรว่าวีดีโอชิ้นนั้นเป็น “ของแท้” หรือปลอมขึ้นมา เขาบอกว่าตอนนี้อดีตนักข่าวบีบีซีหลายคนไปเปิดธุรกิจนี้แล้ว

Me and Aaron Zitner

ขากลับขอถ่ายรูปกับอารอนเป็นที่ระลึก คนที่ถ่ายรูปนี้ให้คือนักข่าวที่เปิดข่าวเรื่อง Yellen ได้เป็นผู้ว่าฯ ธนาคารกลางเป็นคนแรกของวงการ (อารอนบอกว่า WSJ สกู๊ปเรื่องนี้ได้ก่อนค่ายอื่นอยู่แล้วเพราะตามติดมานานมาก รู้จักแหล่งข่าวที่เป็นตัวเต็งทุกคน) ตอนเล็งกล้องเขาเลยบอกให้เราทั้งคู่พูดว่า “Yellen” สามที 🙂

คุยกับอารอนที่ WSJ เพลินมากจนไม่มีเวลากินข้าวเที่ยง เพราะออกจากออฟฟิศเขาเที่ยงครึ่ง ต้องรีบไปนัดบ่ายโมงกับ ซินเธีย หว่อง (Cynthia Wong) นักวิจัยเรื่องเสรีภาพเน็ตคนโปรดของผู้เขียน แปลบทความของเธอหลายชิ้นสมัยที่อยู่ CDT แต่ตอนนี้เธอย้ายมาอยู่ Human Rights Watch (HRW) ได้ปีกว่าแล้ว

Me with Cynthia Wong

ถามซินเธียว่า ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานกับองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนใหญ่ที่สุดในโลก งานวิจัยของเธอที่ CDT ก็ดูจะตรงกับความสนใจอยู่แล้ว เธอตอบว่า CDT ทำงานเรื่องเทคโนโลยีกับรณรงค์เชิงนโยบายมากกว่า เธอไม่ถนัดงานผลักดันนโยบาย ถนัดงานวิจัยและอยากวิจัยในสิ่งที่ช่วยคนอื่น มองว่านักสิทธิมนุษยชนตื่นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ มากเวลาพูดถึงประเด็นอินเทอร์เน็ต ทั้งที่หลายเรื่องอย่างเช่นการสอดส่องติดตามพฤติกรรมออนไลน์ของรัฐ (state surveillance) คุกคามนักสิทธิมนุษยชนโดยตรง

ผู้เขียนถามว่า HRW ไปไกลเท่ากับองค์การสหประชาชาติและนักเทคโนโลยีบางคนหรือเปล่าที่เสนอว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชน เธอบอกว่าไม่ขนาดนั้น แต่มองว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็น ปัจจัยสำคัญ ที่จะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานอื่นๆ อาทิ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิความเป็นส่วนตัว ฯลฯ มากกว่า (รัฐบาลไทยก็ลงนามรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับเขาเหมือนกัน แต่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ผู้เขียนว่าการบังคับใช้กติกานี้ยากมากๆ ในเมื่อประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกายังไม่ทำตาม แล้วจะไปบังคับใครได้ล่ะ)

ไม่นานมานี้ซินเธียเพิ่งเขียนรายงานเรื่องการปฏิรูปโทรคมนาคมในพม่า ว่าคืบหน้าไปมากตั้งแต่เปิดประเทศ แต่ยังไม่ดีพอ ยังไม่มีกฎหมายใหม่ ตอนนี้เธอเน้นวิจัยเรื่องการสอดส่องโดยรัฐ (state surveillance) เป็นพิเศษ เพราะโครงสร้างทางกฎหมายยังล้าหลังมากในประเทศส่วนใหญ่ ยิ่งกฎหมายยังไม่ดี รัฐยิ่งละเมิดสิทธิประชาชนได้ง่ายโดยที่มีคนรู้น้อยมาก ไม่กี่วันก่อนที่โลกจะรู้เรื่อง NSA กับ Edward Snowden ซินเธียเล่าว่า HRW ก็ออกรายงานเรื่องระบบสอดส่องของรัฐบาลอินเดีย แนวโน้มตอนนี้คือรัฐบาลประเทศต่างๆ จะบังคับหรือกดดันให้บริษัท (ไอเอสพี บริษัทเน็ต ฯลฯ) เป็นคนเซ็นเซอร์เน็ตแทนรัฐ ผู้เขียนบอกว่ารัฐบาลไทยทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เป็นผู้นำแฟชั่น!

ผู้เขียนถามซินเธียว่า เราควรขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพเน็ตยังไง เธอคิดตรงกันว่าควรพูดเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะการเซ็นเซอร์เน็ตส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ (บริษัทเน็ตขนาดเล็กไม่โต นวัตกรรมไม่เกิด เน็ตช้า ฯลฯ) เธอบอกว่าตอนนี้บริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่อย่าง Google, Facebook, Linkedin จับมือกันเป็น Asia Internet Coalition สมาคมพ่อค้าระดับภูมิภาคแล้ว ล่าสุดออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ของเวียดนาม และคัดค้านข้อเสนอแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย (ซึ่งไม่คุ้มครองตัวกลางตามมาตรฐานสากลที่พึงมี พูดง่ายๆ คือจะให้ตัวกลางต้องรับผิดไปโดยปริยายสำหรับเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์)

ซินเธียบอกว่ามีอีกสามเรื่องที่ HRW กำลังทำ และเสนอว่านักรณรงค์เสรีภาพเน็ตคนอื่นควรทำ เรื่องแรกคือเอาข้อเสนอของ Frank LaRue (ผู้ตรวจการของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก – ชื่อตำแหน่งทางการคือ UN Special Rapporteur on the Promotion and Protection of the Right to Freedom of Opinion and Expression) เกี่ยวกับ hate speech มาทำให้เป็นแนวปฏิบัติ (โดยเฉพาะข้อเสนอที่เกี่ยวกับกลไกกำกับนอกกฎหมาย) เรื่องที่สอง ร่วมมือกับบริษัทเน็ต ผลักดันกฏระเบียบที่เพิ่มความโปร่งใส เช่น ลงนามในจดหมายร่วมกับ Global Network Initiative ขอให้รัฐบาลสหรัฐอนุญาตให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของชาติ” (เช่น เปิดเผยว่ารัฐขอให้ส่งข้อมูลลักษณะใดบ้างที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ) เพราะตอนนี้กฎหมายสหรัฐไม่ยอมให้เปิดเผยข้อมูลทำนองนี้เลย เรื่องที่สาม พยายามชี้ให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของอินเทอร์เน็ต คนจะได้ไม่มองว่ามันมีแต่เรื่องแย่ๆ เท่านั้น

นัดสุดท้ายของวันนี้ไปเจอขวัญใจของผู้เขียนอีกคน คือ รีเบ็คกา แม็คคินนอน (Rebecca Mackinnon) อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นประจำปักกิ่ง ผันตัวมาเขียนบล็อก ก่อตั้ง Global Voices เว็บสรุปข่าวจากบล็อกที่ใหญ่ที่สุดในโลก วันนี้เป็นนักคิดนักเขียนและนักรณรงค์เสรีภาพเน็ตชื่อดัง ซินเธียก่อนจากกันบอกผู้เขียนว่า ปลายปีนี้จะสอนวิชา “ความรับผิดชอบของธุรกิจโทรคมนาคม” ร่วมกับรีเบ็คกาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อยากไปนั่งเรียนด้วยมากเลย 🙂 

Me and Rebecca MacKinnon

คุยกับรีเบ็คกาหลายเรื่อง เธอบอกว่าปัญหาหนึ่งที่หลายประเทศเจอเหมือนกันคือ จนถึงวันนี้ยังมีทนาย ผู้พิพากษา ตำรวจ และฝ่ายนิติบัญญัติน้อยคนมากที่ “เข้าใจ” อินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าเน็ตทำงานยังไง บางคนบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะพอเด็กรุ่นใหม่โตไปทำอาชีพเหล่านี้แล้วสถานการณ์จะดีขึ้นเอง รีเบ็คกามองว่าไม่จริง กว่าจะถึงตอนนั้นอินเทอร์เน็ตก็มีหน้าตาแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิงแล้ว เธอพูดติดตลกว่า “อาจจะเชื่อมเครือข่ายลงลึกถึงระดับโมเลกุลแล้วก็ได้” ผู้เขียนเลยบอกว่า ปัญหานี้ประเทศไทยก็เหมือนกัน ถ้างั้นน่าจะต้องมีโครงการอบรมทนาย ผู้พิพากษา ตำรวจ ฯลฯ ที่จัดระดับประเทศและภูมิภาคได้

เธอมองว่าปัญหาการเซ็นเซอร์เน็ตและการสอดส่องดูแลของรัฐที่เราเจอทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ “สถาบัน” ต่างๆ ของเราไม่พร้อมที่จะกำกับเรื่องที่เชื่อมโยงระดับโลก เพราะอินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกแต่ประเทศต่างๆ ยังกำกับภายในประเทศ ผู้เขียนถามว่าแล้วองค์การสหประชาชาติล่ะ หลายคนมองว่าอาจกำกับเน็ตได้ เธอบอกว่าถ้ายูเอ็นก้าวเข้ามาจริงๆ จะ “เกิดหายนะเหมือนตอนที่คนพยายามสร้างระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศ”

รีเบ็คกาเล่าว่า กรณี Snowden ออกมาแฉ NSA ทำให้บริษัทใหญ่และรัฐบาลประเทศต่างๆ ตอนนี้อ้างเรื่อง “อธิปไตยข้อมูล” (data sovereignty) มากขึ้น เพราะกังวลว่าข้อมูลที่เก็บใน “cloud” (คือไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่เซิร์ฟเวอร์จริงๆ ต้องอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลก) จะถูกรัฐบาลสหรัฐสอดแนมอย่างลับๆ ตอนนี้หลายคนในรัฐบาลเยอรมันเลยอ้างว่า ถ้าจะก่อตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ ก็จะต้องโฮสข้อมูลในประเทศเยอรมนีด้วย ห้ามเก็บไว้ใน cloud อีกต่อไป เธอมองว่าถ้าหากรัฐบาลอเมริกันไม่ทำตัวให้ดีขึ้น อีกหน่อยอินเทอร์เน็ตทุกประเทศอาจกลายเป็นแบบเมืองจีน คือถูกรัฐกำกับและสอดแนมทุกซอกมุม

รีเบ็คกาบอกว่า สิ่งที่ควรส่งเสริมมากกว่าการกำกับเน็ตแบบ “บนลงล่าง” คือ สนับสนุนความพยายามของประชาชนคนใช้เน็ตที่จะร่างกฎหมายอินเทอร์เน็ตซึ่งสอดคล้องกับบริบทของตัวเอง เธอยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่ร่างกฎหมายเน็ตที่ประชาชนร่างเองเพิ่งผ่านเข้าสู่สภา และร่างกฎหมาย Marco Civil ของประเทศบราซิล ซึ่งเป็น “รัฐธรรมนูญอินเทอร์เน็ต” และภาคประชาชนมีส่วนร่วมเช่นกัน

ผู้เขียนถามเรื่อง government shutdown กับความเห็นเรื่องโอบามา รีเบ็คกาบอกว่าเธอผิดหวังกับโอบามามาก หลายคนก็คิดตรงกัน Committee to Protect Journalists (เธอเป็นกรรมการด้วย) เพิ่งออกรายงานว่า รัฐบาลโอบามา “ไม่เป็นมิตรกับสื่อมากที่สุดนับจากประธานาธิบดีนิกสันเป็นต้นมา” ผู้เขียนบอกว่าอาจเป็นเพราะเขาเป็น “คนนอก” ไม่คุ้นเคยกับสื่อหรือเปล่า เธอบอกว่าอาจเป็นไปได้ และอาจเป็นเพราะโอบามารู้สึก “เหลิง” ก่อนที่เขาจะชนะเลือกตั้ง เพราะสื่อค่อนข้างเป็นมิตรด้วย แต่พอชนะเลือกตั้งแล้วสื่อก็ต้องจิกกัดติดตามตรวจสอบ เพราะนั่นคือหน้าที่สื่อ แต่พอโอบามาไม่ชินก็เลยกลายเป็นฉุนเฉียวกับสื่อไปเลย

ก่อนจากกันรีเบ็คกาอวยพรให้ผู้เขียนมุดทำงานเรื่องนี้ต่อไป เพราะงานขับเคลื่อนเสรีภาพเน็ตเป็นงานยาก ใช้เวลานานมากกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่าเธอคอยมองหาช่องโหว่แล้วคอยดูว่า จะอุดมันได้อย่างไร แต่ถึงยังไงเธอก็เป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะถ้าไม่มีใครทำงานทีละเล็กละน้อย ป่านนี้พวกเรา (หมายถึงผู้เขียน เธอ และผู้ช่วย เป็นผู้หญิงทั้งสามคน) ก็คงไม่ได้มานั่งคุยกันที่นี่

รีเบ็คกาให้หนังสือ Consent of The Networked แถมเซ็นให้ผู้เขียนด้วย 😀

Consent of Networked