บ้านเมือง ‘เดินได้’ ด้วยรัฐธรรมนูญ ‘ล้าหลัง’ ?

เพิ่งพูดถึงตรรกะพิสดารของพรรคประชาธิปัตย์ไปเมื่อสองวันก่อน เช้านี้ตื่นมาอ่านข่าวก็เห็นตรรกะประหลาดพิสดารยิ่งกว่านั้นอีก แถมคนพูดก็เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในบ้านเมืองเสียอีก จึงขอบันทึกความเห็นของตัวเองสั้นๆ ไว้ในบล็อกนี้

จากข่าวประชาไท (ตัวหนาในเนื้อข่าว เน้นโดยผู้เขียน):

“ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาหลายอย่างที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติในเร็วๆ นี้ เพราะมองว่าเป็นการทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังไปจากเดิม รวมทั้งมีความล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 …อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงการลงประชามติ ก็จะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้วที่จะทำให้ประเทศชาติและการเมืองไทยสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ซึ่งดีกว่าการที่จะเอาแต่เคลื่อนไหวคัดค้าน โดยไม่ช่วยให้สามารถก้าวเดินไปทางไหนได้เลย นอกจากการสร้างให้เกิดความขัดแย้ง”

ตรรกะนี้พิสดารเพราะ: น่าสงสัยว่ารัฐธรรมนูญที่ ‘ล้าหลัง’ กว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 จะสามารถทำให้ประเทศชาติและการเมืองไทย ‘ก้าวเดิน’ ต่อไปได้อย่างไร?? หรืออาจารย์เสน่ห์กำลังมองว่า ความก้าวหน้าของประเทศชาติไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะมัวมาเสียเวลากับการร่างรัฐธรรมนูญกันทำไม?

ถ้าหากอาจารย์เสน่ห์มองว่าการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือกตั้งเกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ (คือใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ) ได้เร็วกว่าเดิม เรามีอะไรเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นจริง ในเมื่อทหารและทุกฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งก็คือทุกฝ่ายยกเว้นประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้อยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจ) ย่อมอ้างถึงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็น ‘ตรายืนยันความชอบธรรม’ ว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอีกรอบหนึ่ง?

นอกจากนั้น ความเห็นของอาจารย์เสน่ห์ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงบางประเด็น เพราะหลายคนที่ออกมาคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ใช่คัดค้านเฉยๆ โดยไม่เสนอทางออกใดๆ ยกตัวอย่างเช่น แถลงการณ์
ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนักวิชาการจากทั่วประเทศ
ก็ระบุข้อเรียกร้องชัดเจนว่า “…ให้นำเอารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับมาใช้ใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงสองประเด็นคือ – ๑) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน ๖๐ วัน และ ๒) รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่นักการเมืองไม่มีอำนาจเข้ามากำกับควบคุมการแก้ไข แต่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อการนี้โดยเฉพาะ” ซึ่งถ้าทำตามข้อเสนอนี้ การเลือกตั้งก็จะเกิดได้ภายในสิ้นปีนี้ เหมือนกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในปัจจุบัน อาจจะช้ากว่ากันเพียง 30-45 วันเท่านั้น

มีข่าวอื่นๆ ที่เห็นการใช้ตรรกะพิสดารแบบนี้ไม่น้อย ผู้เขียนจะพยายามหาเวลารวบรวมและนำมาโพสในโอกาสต่อๆ ไป รวมทั้งความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2550.