ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ โดย เกษียร เตชะพีระ

ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ
โดย เกษียร เตชะพีระ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม การเคลื่อนไหวประท้วงของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” รอบ ๒ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้เป็นต้นมา นับเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจชวนขบคิดวิเคราะห์

โดยที่ยังไม่อาจคิดเรียบเรียงเป็นระบบครบถ้วนกระบวนความ ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตขั้นต้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและแนวโน้มของม็อบพันธมิตรฯในที่นี้: –

๑) การชุมนุมมาราธอนของพันธมิตรฯที่ยืดเยื้อมาได้นานร่วม ๑๐๐ วันเพราะได้แรงความชอบธรรมหรืออย่างน้อยก็อดกลั้นอดออมจากสาธารณชนที่ตระหนักเห็นความบกพร่องพิกลพิการของระบบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่

จะว่าไปแล้วตลอด ๑๐๐ วันที่ผ่านมานั้น ตัวรัฐบาลสมัครและระบบรัฐสภาเองนั่นแหละที่ราวกับเปิดช่องชงเรื่องตั้งลูกจุดประเด็น – ไม่ว่าโดยจงใจหรือไร้เจตนา ไม่ว่าโดยแผนการหรือเป็นไปตามระบบ – ให้พันธมิตรฯ หยิบไปเปิดโปงตีกินขยายความปลุกระดมความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจของสาธารณชนได้เรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่หยุดหย่อน

ตั้งแต่กรณีผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างปิดแคบรีบร้อนรวบรัด, คำปราศรัยในอดีตของรมว.จักรภพ, มรดกโลกเขาพระวิหาร, การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท. ทักษิณและครอบครัว, แผนเมกะโปรเจกต์บางโครงการ, การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทย, ไปจนถึงโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เบียดขับรุกรานเด็กนักเรียนและชาวบ้าน ฯลฯ

พูดอีกอย่างก็คือ โดยไม่ต้องเห็นด้วยกับเป้าหมายและวิธีการทั้งหมดทุกอย่างของพันธมิตรฯ แต่สาธารณชนก็รู้สึกได้ว่าระบบประชาธิปไตยรัฐสภายังแสดงอาการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอธิปัตย์ (centralism & monism ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เรื้อรังออกมาไม่หยุดหย่อนเหมือนดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่ จึงต้องการพลังอะไรสักอย่างไปคัดคานถ่วงดุลตรวจสอบมันไว้

หากศาลตุลาการและองค์กรอิสระเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบภายในระบบ พันธมิตรฯก็ทำตัวเสมือนเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบหนุนเสริมอยู่นอกระบบ – ในกรณีที่พลังภายในระบบทัดทานไม่ไหวหรือไม่ทันกาล

มองเฉพาะแง่มุมเดียวนี้ พันธมิตรฯจึงดูเหมือนแสดงบทบาทหน้าที่จำเป็นบางอย่างสำหรับระบบการเมืองแบบนี้ (systemic function)


ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ
โดย เกษียร เตชะพีระ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม การเคลื่อนไหวประท้วงของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” รอบ ๒ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้เป็นต้นมา นับเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจชวนขบคิดวิเคราะห์

โดยที่ยังไม่อาจคิดเรียบเรียงเป็นระบบครบถ้วนกระบวนความ ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตขั้นต้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและแนวโน้มของม็อบพันธมิตรฯในที่นี้: –

๑) การชุมนุมมาราธอนของพันธมิตรฯที่ยืดเยื้อมาได้นานร่วม ๑๐๐ วันเพราะได้แรงความชอบธรรมหรืออย่างน้อยก็อดกลั้นอดออมจากสาธารณชนที่ตระหนักเห็นความบกพร่องพิกลพิการของระบบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่

จะว่าไปแล้วตลอด ๑๐๐ วันที่ผ่านมานั้น ตัวรัฐบาลสมัครและระบบรัฐสภาเองนั่นแหละที่ราวกับเปิดช่องชงเรื่องตั้งลูกจุดประเด็น – ไม่ว่าโดยจงใจหรือไร้เจตนา ไม่ว่าโดยแผนการหรือเป็นไปตามระบบ – ให้พันธมิตรฯ หยิบไปเปิดโปงตีกินขยายความปลุกระดมความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจของสาธารณชนได้เรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่หยุดหย่อน

ตั้งแต่กรณีผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างปิดแคบรีบร้อนรวบรัด, คำปราศรัยในอดีตของรมว.จักรภพ, มรดกโลกเขาพระวิหาร, การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท. ทักษิณและครอบครัว, แผนเมกะโปรเจกต์บางโครงการ, การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทย, ไปจนถึงโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เบียดขับรุกรานเด็กนักเรียนและชาวบ้าน ฯลฯ

พูดอีกอย่างก็คือ โดยไม่ต้องเห็นด้วยกับเป้าหมายและวิธีการทั้งหมดทุกอย่างของพันธมิตรฯ แต่สาธารณชนก็รู้สึกได้ว่าระบบประชาธิปไตยรัฐสภายังแสดงอาการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอธิปัตย์ (centralism & monism ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เรื้อรังออกมาไม่หยุดหย่อนเหมือนดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่ จึงต้องการพลังอะไรสักอย่างไปคัดคานถ่วงดุลตรวจสอบมันไว้

หากศาลตุลาการและองค์กรอิสระเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบภายในระบบ พันธมิตรฯก็ทำตัวเสมือนเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบหนุนเสริมอยู่นอกระบบ – ในกรณีที่พลังภายในระบบทัดทานไม่ไหวหรือไม่ทันกาล

มองเฉพาะแง่มุมเดียวนี้ พันธมิตรฯจึงดูเหมือนแสดงบทบาทหน้าที่จำเป็นบางอย่างสำหรับระบบการเมืองแบบนี้ (systemic function)

๒) ม็อบมาราธอนของพันธมิตรฯน่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งแรกของโลกที่ถ่ายทอดสดทางทีวีดาวเทียม, วิทยุและอินเทอร์เน็ต ๒๔/๗ (วันละ ๒๔ ชั่วโมง/สัปดาห์ละ ๗ วัน) ต่อเนื่องกันนานนับ ๑๐๐ วัน

ทำให้มันมีลักษณะผสมผสานอย่างพิสดารระหว่าง reality show กับการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง

ซึ่งเปลี่ยนขยายปรากฏการณ์ audience democracy (ประชาธิปไตยของผู้ชมในตะวันตกช่วงหลังนี้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ชมผู้ฟังบรรดานักการเมืองอาชีพเล่นบทบาทกันไปบนเวทีการเมืองแล้วก็ให้เรตติ้งคะแนนนิยมผ่านการสำรวจหยั่งเสียง) ออกไป

ให้สามารถมี virtual participants นอกสถานที่ชุมนุม (ผู้เสมือนเข้าร่วมจริง – ไปม็อบได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้านหรือออฟฟิศ) มากมายเหลือคณานับกว่าที่พบเห็นในที่ชุมนุม โดยเสียบหูฟังวิทยุคลื่น FM 97.75 หรือเปิดโฮมเธียเตอร์ช่องเอเอสทีวีดังสนั่นลั่นห้อง ให้ความรู้สึกเหมือนร่วมรับฟัง/รับเห็น/รับรู้/รู้สึกอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาไม่ว่ากำลังทำงาน ทานข้าวหรือเข้านอน

ทว่าผลด้านกลับของมันคือทำให้การชุมนุมของพันธมิตรฯน่าจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายรายวันแพงที่สุดในโลกด้วย เพราะไม่เพียงค่าเช่าเวทีอุปกรณ์แสงเสียง ค่าน้ำมันปั่นเครื่องไฟ ค่าสวัสดิการอาหารของคณะทำงาน วิทยากรและศิลปิน ยังมีเงินเดือนและค่าดำเนินการถ่ายทอดสดจากที่ชุมนุมของทีม เอเอสทีวีอีกต่างหาก รวมแล้วตกถึงวันละ ๕ แสน – ๑ ล้านบาทแล้วแต่จำนวนผู้ชุมนุม ขณะเงินบริจาคและรายได้จากการขายเสื้อยืดสิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงเข้ามาประมาณวันละ ๓ แสน – กว่า ๑ ล้านบาท

ด้วยเงินงบประมาณรายวันขนาดนี้คงพอให้การชุมนุมประท้วงปกติธรรมดาของชาวบ้านหรือแม้แต่ของ นปก. ที่ย่อมเยากว่ายืนยาวไปได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว

ปรากฏว่าใน ๒๕ วันแรกของการชุมนุม พันธมิตรฯมีรายได้ ๒๖ ล้านบาท ใช้จ่ายไป ๒๔ ล้านบาท (สุริยะใส กตะศิลา), ในการชุมนุมกว่า ๓ เดือน พันธมิตรฯผลิตเสื้อ “ลูกจีนรักชาติ” ออกขาย ๙ หมื่นตัว ได้เงินกว่า ๒๕ ล้านบาท (ชัยอนันต์ สมุทวณิช), จนหลังบุกยึดทำเนียบ พันธมิตรฯก็ยังมีเงินเหลือในบัญชี ๖.๖ ล้านบาทและทองคำแท่งหนัก ๘๐ บาท (จำลอง ศรีเมือง)

การชุมนุมแบบพันธมิตรฯ จึงมีภาระทางการเงินหนักเป็นพิเศษ ความข้อนี้บ่งชี้ลักษณะด้านฐานะเศรษฐกิจสังคมและวิถีชีวิตของฐานผู้สนับสนุนและเข้าร่วมได้พอสมควร

๓) พูดอย่างรวบยอด การชุมนุมของพันธมิตรฯคือพลังฝ่ายค้านทางการเมืองตัวจริงเสียงจริงในปัจจุบัน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแค่ตัวประกอบ (ใครยังจำได้ว่ามีพรรคฝ่ายค้านนี้อยู่บ้าง…?)

เพียงแต่ข้อต่างที่มีนัยสำคัญคือพันธมิตรฯ เป็นพลังฝ่ายค้านที่ต่อต้านทั้งระบบการเมือง (ในความหมาย a force of resistance to the whole political system) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านปกติธรรมดาในระบบการเมือง (ในความหมาย an opposition party in the political system)

พูดเพื่อเข้าใจง่ายๆ ได้ว่าพันธมิตรฯคือ “พรรค” ราชาชาตินิยมฝ่ายค้านตัวจริงนอกระบบรัฐสภา ที่ไม่ลงเลือกตั้งเพราะถึงลงก็คงแพ้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นซึ่งทุนหนาและกุมเสียงส่วนใหญ่ในชนบทแน่นกว่า

ทางเดียวที่ “พรรค” พันธมิตรฯจะชนะและยึดอำนาจรัฐได้จึงไม่ใช่ผ่านการเลือกตั้ง แต่ต้องโดยวิถีทางอื่น – ดังได้พิสูจน์ให้เห็นซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา – ไม่ว่าโดยการชุมนุมประท้วง, รัฐประหาร, หรือลุกขึ้นสู้ (general uprising – ปราโมทย์ นาครทรรพ) ในครั้งนี้ก็ตามที

การดำรงอยู่ของพันธมิตรฯรวมทั้งพลังทางการเมืองและสังคมซึ่งมีพวกเขาเป็นตัวแทนในฐานะขั้วหนึ่งของคู่ขัดแย้งหลักทางการเมืองปัจจุบันจึงเป็นปัจจัยแห่งความไร้เสถียรภาพในระบอบการเมืองอยู่แล้วโดยตัวของมันเองเป็นธรรมดา

ยิ่งกว่านั้นการที่พันธมิตรฯ เข้าใจว่าตนเองเป็นเครื่องมือแบบการเมืองมวลชนเพื่อไปบรรลุสิ่งซึ่งตนเองเข้าใจว่าเป็นพระราชประสงค์ขององค์พระประมุข โดยก้าวข้ามช่องทางสถาบันการเมืองทางการทั้งหมด (คำปราศรัยบนเวทีก่อนเป่านกหวีดบุกยึดทำเนียบของสนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย เป็นต้น) จึงน่าวิตกว่าจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิอาจทำงานตามครรลองกลไกกระบวนการปกติของมันได้ เกิดอาการไฟช็อตลัดวงจร กระทั่งหมดสภาพลง

กรณีตัวอย่างที่พอยกมาเปรียบเทียบได้ในบางแง่มุมคือสถานการณ์ในเมืองจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

๔) ในสายตาผม แนวโน้มน่าห่วงที่สุดของม็อบพันธมิตรฯ คือท่าทีต่อปัญหาจริยธรรมว่าด้วยวิธีการ (the ethics of means)

เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเห็นว่าถูกต้องดีงาม พันธมิตรฯไม่เลือกวิธีการที่ใช้ จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ จะชอบหรือไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือหลักการทางการเมืองอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นพอ เข้าทำนอง The end justifies the means. หรือเป้าหมายให้ความชอบธรรมกับวิธีการ

เหตุผลที่พันธมิตรฯอ้างมักมี ๒ ประการด้วยกัน คือ

ก) ศัตรูที่เราสู้ด้วยเป็นคนสกปรกเลวทรามต่ำช้าถึงขนาดฝ่ายมันเองก็ไม่เลือกวิธีการเวลาสู้กับเรา ฉะนั้น จัดการกับคนชั่วช้าแบบนี้ ก็ไม่ต้องเลือกหรือจำกัดรูปแบบวิธีการเหมือนกัน มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อมัน (ประพันธ์ คูณมี, และชุดคำอธิบายเหตุที่พยายามบุกยึดสถานี NBT ของผู้นำพันธมิตรฯ)

ข) สิ่งที่เรามุ่งพิทักษ์ปกป้องไว้นั้นสำคัญสูงสุดเสียจนกระทั่งกดลบกลบทับหลักเกณฑ์หลักการอื่น ๆ ทั้งหมด หลักเกณฑ์หลักการอื่นจึงชาชืดจืดจางลงสิ้นเมื่อนำมาเปรียบด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสิ่งสำคัญสุดยอดไว้ แม้จะต้องละเมิดหักรานหลักเกณฑ์หลักการอื่นไปบ้าง ก็ต้องทำ (สนธิ ลิ้มทองกุล)

พันธมิตรฯจึงพร้อมหยิบฉวยประเด็นร้อนแรงแหลมคมต่าง ๆ ไม่ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ปลุกความคลั่งชาติเรื่องดินแดน ฯลฯ มาเป็นยุทธวิธีปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและทักษิณ

ผมไม่เห็นด้วยกับท่าทีเช่นนี้ ผมเห็นว่ามันสุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะปลุกพลังรุนแรงที่อาจควบคุมไว้ไม่อยู่ขึ้นมาจนพลอยไปทำร้ายทำลายผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรืออย่างเกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังเห็นมนุษย์คนอื่นเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อและเป็นเครื่องบูชายัญสังเวยเป้าหมายความเชื่อของตนเอง

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ว่า วิธีการคือหน่ออ่อนที่จะเติบใหญ่ขยายตัวกลายเป็นเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า (Means is the end in the process of becoming.) ฉะนั้นหากเลือกวิธีการเลวร้ายตอนนี้แม้ในนามของเป้าหมายที่ดีงามในอนาคต แต่ในที่สุดแล้ววิธีการเลวร้ายที่เลือกก็รังแต่จะเติบใหญ่ขยายตัวลงเอยกลายเป็นเป้าหมายที่เลวร้ายในบั้นปลายนั่นเอง

ฐานคิดทางปรัชญาของปฏิบัติการไม่รุนแรงและอารยะขัดขืนที่แท้จึงได้แก่หลักความเป็นเอกภาพของคุณค่าทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (moral unity of the end and the means) เป้าหมายดี ต้องเลือกใช้วิธีการดีด้วย, หากเลือกใช้วิธีการเลว เป้าหมายจะออกมาดีนั้นเป็นไปไม่ได้

๕) ตอนนี้บ้านเมืองของเรากำลังอยู่ตรงริมเหวแห่งการลุกขึ้นสู้ทั่วไปของประชาชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาล

เป็นจุดเดียวกับที่บ้านเมืองเราเคยเดินมาถึง ณ วันสุกดิบก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕….และแล้วเราก็ถลำลึกลงไป

เราเดินมาถึงจุดนี้วันนี้ได้ก็เพราะความผิดพลาดใหญ่บ้างเล็กบ้างและที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

จากจุดนี้ไปอีกนิดเดียว น่ากลัวว่าไฟจะลุกเผาบ้านเผาเมือง เลือดไทยจะนองถนนด้วยฝีมือไทยกันเองอีก

จะหยุดและหลีกพ้นหุบเหวนี้ได้

-ฝ่ายรัฐต้องถอนกำลังฝ่ายความมั่นคงหลีกห่างออกมาจากการเผชิญหน้ากับมวลชนพันธมิตรฯ ทุกที่ทุกแห่งอย่างเร่งด่วน

-ผู้นำพันธมิตรที่ถูกออกหมายจับทั้ง ๙ คนต้องมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อเข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมตามกฎหมายทันที

จากนี้กระบวนการทางการเมืองและกฎหมายจะได้ดำเนินต่อไปตามกฎเกณฑ์กติกาของมัน แทนที่จะเดินหน้าสู่การทำร้ายทำลายกันที่ทุกฝ่ายล้วนพ่ายแพ้