ป่าสาละ กับการกลับมาทำ “งานประจำ”

salteam2.png

หลังจากที่เป็น “หอกอิสระ” อย่างสบายใจ (ยกเว้นตอนใกล้เวลาส่งงาน) มาเกือบเจ็ดปี ตอนนี้ก็ถึงเวลาทิ้งหอก กลับมาทำ “งานประจำ” อีกรอบแล้วค่ะ

เรื่องของเรื่องคือ เพิ่งตั้งบริษัทใหม่กับเพื่อนๆ ค่ะ ชื่อ “ป่าสาละ” (จากต้นสาละ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพาน) จะทำสองเรื่องใหญ่ๆ คือ “งานวิจัย” เกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน และ “ผลิตภัณฑ์” ที่เผยแพร่แนวคิดและความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ คอร์สอบรม เวิร์กช็อป ทัวร์ การจัดเสวนา ฯลฯ

โลโก้เราเป็นแบบนี้ (อาจเป็นโลโก้ที่ถูกต้องตามหลักพฤกษศาสตร์ทีสุดในประเทศไทย :p )

โลโก้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

บางคนอาจสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ไปตั้งบริษัทใหม่กับเพื่อนๆ มาแล้วสองสามแห่ง ยังเป็นนักเขียนอิสระ นักวิชาการอิสระ ฯลฯ ได้ แล้วทำไมครั้งนี้ถึงมองว่าเป็น “งานประจำ” ?

ความแตกต่างคือ กิจการอื่นที่ร่วมก่อตั้งกับเพื่อนๆ นั้นทำงานที่ตัวเอง ทำอยู่แล้ว (ตั้งบริษัทโอเพ่นเวิลด์มาก็แปลหนังสือให้) หรือไม่ก็ อยากทำแต่ทำไม่เป็น (ตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขึ้นมาทำข่าวสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นข่าวชนิดที่ตายแหงแก๋แน่นอนในสังคมไทยตราบใดที่ไม่เปลี่ยน “โมเดลธุรกิจสื่อ” เสียใหม่)

แต่ป่าสาละเป็นกิจการแรกที่ อยากทำและคิดว่าทำเป็น แต่ต้องหาคนมาช่วยกันทำ ตามพันธกิจอย่างเป็นทางการของบริษัทที่ว่า

“ป่าสาละ คือ บริษัทแรกในประเทศไทยที่มุ่งจุดประกายและดำเนินวาทกรรมสาธารณะว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ป่าสาละก่อตั้งในปี พ.ศ. 2556 โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลอิสระ เจ้าของผลงานหนังสือกว่า 40 เล่ม ร่วมกับ ภัทราพร แย้มละออ นักการตลาดและนักธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมด้วยผู้ร่วมอุดมการณ์อีกสามชีวิต ทีมงานป่าสาละทั้งห้าคนมุ่งมั่นจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการเปลี่ยนผ่านสังคมธุรกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”

ความหมายคือเราอยากเป็นส่วนเล็กๆ ในการดึงสังคมเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากวังวนปัจจุบัน ที่โดยรวมคนยังไม่เข้าใจความหมายและความจำเป็นของ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” และยังเข้าใจ “ซีเอสอาร์” แต่เพียงมิติที่คับแคบที่สุดเท่านั้น นั่นคือ การทำการกุศลของภาคธุรกิจ

จะทำงานแบบนี้ได้จริงก็ต้องยอมเลิกเป็นหอกอิสระ ดังนั้นตำแหน่งทางการนับจากนี้ไปคือ “กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้” ของบริษัท ป่าสาละ จำกัด

บริษัทนี้มีกรรมการผู้จัดการสองคน อีกคนคือดาว – ภัทราพร แย้มละออ – ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท รับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ ด้านการเผยแพร่ความรู้” ของบริษัท

แบ่งหน้าที่กันคร่าวๆ ว่า เอ็มดีคนแรกดูแลงานวิจัยเป็นหลัก คนที่สองดูแลงานเสวนาและงานต่างๆ ที่บริษัทปรากฏสู่สายตาสาธารณะ 

บางคนอาจไม่รู้จักดาว แต่ในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม (social business) ที่ยังตั้งไข่ของไทย ดาวเป็นคนหนึ่งที่ทุ่มเทและปลุกปั้นเรื่องนี้มายาวนาน โดยเฉพาะในบทบาทผู้จัดการงานประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก (Global Social Venture Competition) รอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เว็บไซต์ GSVC-SEA) และงานเสวนา GSVC Symposium ให้สำเร็จลุล่วงติดต่อกันมาหลายปี และตัวดาวเองก็เป็นสมาชิกในทีมนักศึกษาของคณะบัญชีฯ ม.ธรรมศาสตร์ ทีมแรกจากประเทศไทยที่ชนะรางวัลในการแข่งขัน GSVC รอบสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รางวัลรองชนะเลิศ

ดาวสนใจเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะการวัด “ผลลัพธ์ทางสังคม” (social impact) เป็นพิเศษ ส่วนตัวเจ้าของบล็อกสนใจเรื่องธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการประเมิน “ต้นทุนแฝง” ของธุรกิจ (externalities) เป็นพิเศษ เราเลยคิดว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้ เพราะแน่นอนว่าวงการธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นส่วนสำคัญของโลกธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืนกว่าเดิม ซึ่งจะต้องมองเห็นต้นทุนแฝงที่ตัวเองก่ออย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อนร่วมงานของเราอีกสามคนในบริษัทคือ แก้ว (ภรตา) กิ๊ก (กรณิศ) และ กล้วย (ศศิวิมล) เป็นรุ่นน้องของเรา แบ็คกราวน์ของทีม “3G” นี้มีตั้งแต่จบด้านบริหารธุรกิจ นิเทศ และการจัดการสิ่งแวดล้อม (ที่อเมริกาสมัยนี้นิยมเรียกว่า “green MBA”)

ทุกคนมาทำงานประจำในบริษัท

ส่วนตัวเจ้าของบล็อก เนื่องจากงานท่วมหัวเอาตัวไม่ค่อยรอดอยู่แล้ว วิธีเดียวที่จะทำงานให้ป่าสาละเป็น “งานประจำ” โดยไม่ทิ้งงานอื่นได้คือ จัดการให้งานเขียน งานแปล งานวิจัย ฯลฯ ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในร่มของ “งานบริษัท” ให้ได้มากที่สุด

ทีมงานป่าสาละ

(ในรูป จากซ้ายไปขวาคือ แก้ว ดาว เจ้าของบล็อก และกิ๊ก ส่วนกล้วยไม่อยู่ในรูปเพราะวันนั้นติดงานอื่น)

เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในด้านต่างๆ ที่ธุรกิจดั้งเดิมไม่ถนัด ตั้งแต่ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิผู้บริโภค สิทธิชุมชน ฯลฯ มาประกอบกับความเข้าใจว่า “มูลค่าทางธุรกิจ” (business value) ของการใส่ใจในประเด็นเหล่านี้มีอะไรบ้าง

เราจึงพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เหล่านี้ในการทำงาน และหวังว่าจะสามารถสร้าง “สะพาน” เชื่อมระหว่างโลกของนักธุรกิจ กับโลกของนักพัฒนาสังคมได้

สื่อต้องการ “เนื้อหา” (content) และตอนนี้ทุกคนก็กำลังเห่อแต่เนื้อหา จนหลายคนหลงลืมไปว่าสังคมไทยต้องการสิ่งที่พื้นฐานกว่านั้นมาก นั่นคือ “ความรู้” (knowledge)

พวกเราทั้งห้าคนไม่ค่อยมีความรู้ แต่มีความตั้งใจเกินร้อย ฉะนั้นก็คงทำอะไรๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย 

ฝากป่าสาละไว้ในอ้อมใจนะคะ ไว้บริษัทเปิดเว็บ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เมื่อไรจะมาแจ้งความคืบหน้าอีกทีค่ะ 🙂