(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)
โกเกี้ย
“ยุ้ยรู้มั้ย โกเกี้ยเป็นคนขี้เกียจค่ะ โกเกี้ยทำงานแค่วันละสิบนาทีเอง”
ภายในห้านาทีแรกที่รู้จักกัน โกเกี้ยก็เอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ทำเอาอึ้งไปพักใหญ่ๆ เพราะคำว่าคะขาฟังดูขัดกันเหลือเกินกับหน้าตาท่าทางของโกเกี้ย (เพราะโกเกี้ยไม่ใช่เกย์แน่ๆ เรื่องนี้คอนเฟิร์มสองวันให้หลัง หลังจากที่ฟังโกเกี้ยสาธยายสเป็คผู้หญิงฝรั่งให้ฟังอย่างละเอียดลออ ด้วยสายตาหยาดเยิ้มและรอยยิ้มกรุ้มกริ่มอันน่าหมั่นไส้เป็นอย่างยิ่ง)
ความคิดแรกที่แว่บเข้ามาในหัวคือ นี่เป็นการอวดรวยแบบคนขี้โม้ที่มักจะชอบอวดแบบอ้อมๆ แกล้งถ่อมตัวเพื่อล่อให้คนอื่นเอ่ยปากชม ตัวเองจะได้ไม่ต้องเอ่ยปากเอง เช่น บอกว่าเก้าอี้ตัวนี้ไม่กี่ตังค์ แล้วก็หยุดรอให้คนอื่นถามว่าราคาเท่าไหร่ ซื้อที่ไหนเหรอ หรือบอกว่าลูกเรียนหนังสืออยู่อเมริกา ทิ้งช่วงให้คนถามต่อว่า อยู่โรงเรียนไหนล่ะ เป็นสัญญาณให้เจ้าตัวโม้ชื่อโรงเรียนลูกได้อย่างสุภาพแนบเนียน ตามธรรมเนียมไทยที่ดี คือจะคุย จะโม้ จะโกงขนาดไหนไม่ว่า ขอแค่อย่าโฉ่งฉ่างเป็นพอ
เหตุที่ทำให้รู้สึกว่าโกเกี้ยแกล้งพูด คือตอนที่ได้ยินประโยคนี้ โกเกี้ยกำลังขับรถพาผู้เขียนเที่ยวหมู่บ้านที่ตัวเองเป็นเจ้าของ หมู่บ้านนี้มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ ครอบครัวของโกเกี้ยซื้อที่ดินจากชาวบ้านเมื่อหลายสิบปีก่อน สมัยที่หมู่บ้านจัดสรรยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย พัฒนาดูแลอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีลูกบ้านหลายร้อยครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่กันจริงๆ ไม่ใช่ซื้อที่ตั้งแต่บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ไว้เก็งกำไรขายคนอื่นต่อเหมือนกับคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก
(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)
โกเกี้ย
“ยุ้ยรู้มั้ย โกเกี้ยเป็นคนขี้เกียจค่ะ โกเกี้ยทำงานแค่วันละสิบนาทีเอง”
ภายในห้านาทีแรกที่รู้จักกัน โกเกี้ยก็เอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ทำเอาอึ้งไปพักใหญ่ๆ เพราะคำว่าคะขาฟังดูขัดกันเหลือเกินกับหน้าตาท่าทางของโกเกี้ย (เพราะโกเกี้ยไม่ใช่เกย์แน่ๆ เรื่องนี้คอนเฟิร์มสองวันให้หลัง หลังจากที่ฟังโกเกี้ยสาธยายสเป็คผู้หญิงฝรั่งให้ฟังอย่างละเอียดลออ ด้วยสายตาหยาดเยิ้มและรอยยิ้มกรุ้มกริ่มอันน่าหมั่นไส้เป็นอย่างยิ่ง)
ความคิดแรกที่แว่บเข้ามาในหัวคือ นี่เป็นการอวดรวยแบบคนขี้โม้ที่มักจะชอบอวดแบบอ้อมๆ แกล้งถ่อมตัวเพื่อล่อให้คนอื่นเอ่ยปากชม ตัวเองจะได้ไม่ต้องเอ่ยปากเอง เช่น บอกว่าเก้าอี้ตัวนี้ไม่กี่ตังค์ แล้วก็หยุดรอให้คนอื่นถามว่าราคาเท่าไหร่ ซื้อที่ไหนเหรอ หรือบอกว่าลูกเรียนหนังสืออยู่อเมริกา ทิ้งช่วงให้คนถามต่อว่า อยู่โรงเรียนไหนล่ะ เป็นสัญญาณให้เจ้าตัวโม้ชื่อโรงเรียนลูกได้อย่างสุภาพแนบเนียน ตามธรรมเนียมไทยที่ดี คือจะคุย จะโม้ จะโกงขนาดไหนไม่ว่า ขอแค่อย่าโฉ่งฉ่างเป็นพอ
เหตุที่ทำให้รู้สึกว่าโกเกี้ยแกล้งพูด คือตอนที่ได้ยินประโยคนี้ โกเกี้ยกำลังขับรถพาผู้เขียนเที่ยวหมู่บ้านที่ตัวเองเป็นเจ้าของ หมู่บ้านนี้มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ ครอบครัวของโกเกี้ยซื้อที่ดินจากชาวบ้านเมื่อหลายสิบปีก่อน สมัยที่หมู่บ้านจัดสรรยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย พัฒนาดูแลอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีลูกบ้านหลายร้อยครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่กันจริงๆ ไม่ใช่ซื้อที่ตั้งแต่บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ไว้เก็งกำไรขายคนอื่นต่อเหมือนกับคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก
แต่ความคิดที่ว่าโกเกี้ยแกล้งพูดเพื่ออวดรวยนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อได้ยินเรื่องราวต่างๆ (รวมทั้งเรื่องส่วนตัวของโกเกี้ยที่ทำให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะเป็นคนแปลกหน้าที่โกเกี้ยเพิ่งรู้จักไม่นาน ไม่ใช่ญาติสนิทมิตรสหายมาจากไหน) ที่โกเกี้ยเล่าให้ฟังอย่างสนุกปากแล้ว ก็เกิดความเชื่อมั่นว่า โกเกี้ยหมายความทุกอย่างตามที่พูดจริงๆ เพราะหลายเรื่องที่เล่าให้ฟังนั้นไม่ใช่วีรกรรมใดๆ หากเป็นเรื่องของความบ้าบิ่นหรือความผิดพลาดอันเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบหรือกินเหล้าเกินขนาด ชนิดที่คงไม่มีใครอยากแต่งเรื่องขึ้นมาโกหกคนอื่น
ในฐานะคนไม่เอาใจใครที่เคยทำให้คนแวดล้อมเสียใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จากโทสะและทิฐิมานะของตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่าโกเกี้ยหยิบยื่นไมตรีให้จริงๆ ภายในชั่วโมงแรกที่ได้รู้จักกัน
เพราะเราสองคนมีอะไรๆ คล้ายกันหลายอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะต่างวัย ต่างเพศ ต่างความคิด ต่างฐานะ และถึงแม้ว่ารสนิยมในเพลงเร็กเก้ ความเร็วในการผวนประโยคสัปดน และความสามารถในการกินเหล้าของผู้เขียนจะเป็นรองโกเกี้ยอยู่หลายขุม
โกเกี้ยเป็นเศรษฐีติดดิน ผมยาวนุ่งกางเกงสามส่วนใส่แตะ ที่ชอบหยุดรถเพื่อแวะซื้อของกินข้างทางให้ชิม เช่น ลูกจันทน์ (ซึ่งผู้เขียนก็เพิ่งรู้จากโกเกี้ยว่า เป็น “อาหาร” ชนิดเดียวที่วัดอนุญาตให้พระฉันหลังเวลาเพลได้) และไก่ทอดอบขมิ้นไม้ละ 5 บาท (อร่อยมาก ถ้าใครอยากกิน – รถเข็นเจ้านี้อยู่หน้าโรงเจเก่าอำเภอกันตัง) พาเดินตลาดสดตอนเช้าเพื่ออธิบายว่าคนตรังเขาจ่ายตลาดอะไรบ้าง ภูมิใจในวิถีชีวิตเรียบง่ายไม่เร่งร้อนของคนตรัง และทำสะตอผัดกะปิอร่อยอย่าบอกใคร
แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดเกี่ยวกับโกเกี้ยคือความจริงใจที่โกเกี้ยมอบให้กับผู้อื่น ความซื่อสัตย์ที่โกเกี้ยมอบให้กับตัวเอง และความเป็นเด็กไม่ยอมโตที่ช่วยรักษาคุณสมบัติทั้งสองเอาไว้ได้
โกเกี้ยอาจไม่ใช่คนสุขุมลุ่มลึกถึงขนาดเป็น “นาย” คำพูดทุกคำของตัวเอง และความโผงผางเถรตรงอาจทำให้คนอื่นโกรธเอาได้ง่ายๆ แต่ถ้ามองในมุมกลับ การโพล่งคำพูดโดยปราศจากการกลั่นกรองใดๆ อย่างน้อยก็แสดงว่าคนพูดคิดหรือรู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ ไม่ได้เสแสร้ง
ในฐานะนักการเงินอาชีพที่จำต้องพูด “ความจริงครึ่งเดียว” เป็นประจำ เพื่อให้ลูกค้าสบายใจ ได้เงื่อนไขหรือข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม หลอกล่อขอข้อมูลที่เจ้าของไม่อยากให้ หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่ ผู้เขียนตั้งปณิธานกับตัวเองมาหลายปีแล้วว่า จะพยายามซื่อสัตย์กับตัวเองและคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งในและนอกเวลางาน
เพราะรู้สึกว่า ถ้าไม่ตั้งใจคิดก่อนพูด และตั้งใจพูดแต่ความจริง นับวันคำพูดจะยิ่งเบาหวิวขึ้นทุกที สารที่เป็นสัจจะลดลงเรื่อยๆ จนคำพูดนั้นไร้ความหมาย เชื่อถือไม่ได้
หากวาจาของมนุษย์เบาหวิวไร้น้ำหนัก วิญญาณของมนุษย์จะยังคงหนักแน่นอยู่ได้หรือ?
ระหว่างคนเลวที่ทำเลวอย่างเปิดเผยไม่ปิดบัง กับคนเลวน้อยกว่าที่แกล้งทำตัวเป็นคนดีพระศรีอาริย์ ผู้เขียนชื่นชมคนแรกมากกว่า และคิดว่าตัวตนของเขาน่าเคารพและค้นหา
คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนิทกับโกเกี้ยได้เร็วเป็นพิเศษ
โกเกี้ยเองบอกว่ารู้สึกสนิทกับผู้เขียนตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นหน้า เพราะได้ยินรุ่นพี่ที่ชวนไปตรังบรรยายนิสัยใจคอให้ฟังอย่างละเอียดลออ จนรู้สึกเหมือนรู้จักกันมานาน แต่ผู้เขียนคิดว่าคนอย่างโกเกี้ยคงไม่ตัดสินคนจากสิ่งที่ได้ยินจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว ที่เราสนิทกันเร็วนั้นคงเป็นเพราะเรามีส่วนคล้ายกันมากกว่า
โกเกี้ยบอกว่า ทำธุรกิจบ้านจัดสรรประสบความสำเร็จเพราะโชคมากกว่าฝีมือ เพราะทำมาตั้งแต่ตรังยังไม่มีบ้านจัดสรร ซื้อที่ดินได้ราคาถูก เนื่องจากเป็นคนขี้เกียจก็เลยไม่เคยคิดจะซื้อที่เพิ่มหรือขยายกิจการไปที่อื่น ปัจจุบันยกให้เมียเป็นคนดูแลหมดแล้ว
ในความคิดของโกเกี้ย “ความขี้เกียจ” เป็นนิสัยเสียส่วนตัวที่เผอิญไม่ทำให้ธุรกิจเจ๊ง แต่ผู้เขียนคิดว่าโกเกี้ยไม่ใช่คนขี้เกียจ หากเป็นเศรษฐีที่ “รู้จักพอ” ต่างหาก
คนขี้เกียจคงไม่สามารถทำธุรกิจอะไรก็ตามให้สำเร็จลงได้ แต่คนขยันที่รู้จักพอนั้น ทำธุรกิจสำเร็จถึงจุดหนึ่งแล้วก็พอใจที่จะดำเนินกิจการนั้นไปเรื่อยๆ เท่านั้น พอรักษาอัตรากำไรและไม่เพลี่ยงพล้ำเสียท่าคู่แข่ง ไม่ใช่คิดการใหญ่ขึ้นตลอดเวลา กู้เงินมหาศาลเกินขีดความสามารถในการชำระหนี้เพื่อไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ไม่มีความชำนาญ หรือขยายโครงการโดยไม่หาทางป้องกันหรือลดทอนปัจจัยความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่นอัตราแลกเปลี่ยน หรือวิกฤตการเมือง
ประโยชน์ข้อหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือการที่มันจารึกเส้นแบ่งระหว่างนักธุรกิจที่เก่งจริงๆ กับนักธุรกิจไม่เก่ง ให้เราเห็นอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่มีกระบวนการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบระเบียบ เชื่อใน “ภาพ” ที่คนสร้างมากกว่า “ข้อมูล” ที่ปรากฏ นักธุรกิจขี้โกงที่กลายเป็นหนี้เสียของธนาคาร ผู้เคยรวยจากการใช้อิทธิพลเป็นหลัก ไม่ใช่ความสามารถของตัวเองในการทำธุรกิจ จึงสามารถ “ฟอกตัว” กลับมามีหน้ามีตาในวงสังคมได้ใหม่ภายในเวลาไม่กี่ปี
ผู้เขียนคิดว่า คุณสมบัติข้อหนึ่งของนักธุรกิจที่เก่งจริงๆ คือต้องมี “ความรู้จักพอ” อย่างโกเกี้ย หรือหากยังมีความทะเยอทะยานอยู่ ก็รู้จัก “ความพอประมาณ” ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพอใจกับสถานภาพปัจจุบัน แต่หมายความว่าทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง ไม่กู้หนี้เกินความสามารถในการจ่าย ไม่หลอกลวงลูกค้า คู่ค้า หรือเจ้าหนี้ หาวิธีป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว หลักการนี้ก็เป็นมาตรฐานสากล (best practice) ในการทำธุรกิจทั่วโลก ไม่ใช่ของใหม่ และไม่จำเป็นต้องพะยี่ห้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่อย่างใด แม้ว่าจะเข้าข่ายนั้นก็ตาม เพราะ “ข้อด้อย” ประการหนึ่งของกระบวนทัศน์ “เศรษฐกิจพอเพียง” คือความที่มันเป็น “แนวคิดพระราชทาน” ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ชอบเอาไปใช้แอบอ้างผิดๆ ในทางที่ตัวเองเข้าใจ ทำให้แนวคิดนี้เกิดความเฟ้อและเฝือไปอย่างน่าเสียดาย
อย่าว่าแต่ฝรั่งเลย คนไทยเราด้วยกันหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ คิดว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” (sufficiency economy) คือเรื่องเดียวกันกับ “เศรษฐกิจพอสำหรับใช้เอง” (self-sufficiency economy) ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะความพอเพียงแบบแรกเป็นเรื่องของหลักการ (principle) หรือแม้กระทั่งมโนทัศน์ (state of mind) มากกว่าวัตถุ แต่ความพอเพียงแบบหลังเป็นเรื่องของวัตถุ (material) เท่านั้น ถ้าไปดูพระราชดำรัสจริงๆ และสิ่งที่สภาพัฒน์ฯ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพยายามทำ ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่นพระราชดำรัสปี 2540 ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วยว่าจะแปลเป็น self-sufficient (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า self-sufficient คือ self-sufficient นั้นหมายความว่าผลิตอะไรที่มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง พึ่งตนเอง
…แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางกว่านี้ คือคำว่า “พอ” ก็ “เพียงพอ”, “เพียงนี้พอ” !
…พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”
ผู้เขียนคิดว่า สาเหตุหนึ่งที่ฝรั่งทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ยาก ว่าไม่ใช่แค่ผลิตพอตอบสนองความต้องการบริโภคขั้นพื้นฐาน เป็นเพราะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “sufficiency economy” แทนที่จะใช้คำว่า “moderation economy” ซึ่งตรงกับความหมายที่แท้จริงมากกว่า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เองจะทรงใช้ศัพท์ sufficiency เป็นประเดิม พระองค์เองก็ทรงพัฒนาแนวคิดนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากนักคิดคนอื่นๆ และในกระแสพระราชดำรัสปี 2540 ที่ยกมาข้างต้นก็ปรากฎชัดเจนว่า ถึงตอนนั้นพระองค์เองก็ทรงดำริว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไปไกลกว่าสิ่งที่คำว่า sufficiency สื่อ
ความสำเร็จหรือล้มเหลวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำตัวตรงตามพระราชดำรัสมากน้อยเพียงใด (ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เพราะพระราชดำรัสส่วนใหญ่สื่อหลักการระดับปรัชญา มากกว่าขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม) หากขึ้นอยู่กับว่านักวิชาการและคนไทยทั่วไปจะพร้อมใจกัน “ถอดเสื้อเหลือง” ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่
เพราะไม่มีปรัชญาใดๆ ในโลกที่จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังได้ หากคนไม่สามารถวิพากษ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และรื้อสร้างอย่างเสรี เพื่อพัฒนาให้ดีกว่าเดิม
เล่าเรื่องโกเกี้ยอยู่ดีๆ กลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปได้ แต่คงไม่เป็นไร เพราะเชื่อว่าโกเกี้ยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของคนที่อยู่อย่างพอเพียง แม้ว่าโกเกี้ยเองอาจปฏิเสธเสียงแข็ง
โลกนี้เต็มไปด้วยคนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งชาวบ้านในชนบทไทยมากมาย ที่ดำรงชีวิตอย่างพอเพียงโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำตาม “ปรัชญา” อะไรอยู่ คล้ายกับที่ผู้เขียนรู้จักคนหลายคนที่บอกว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ดำเนินชีวิตตรงตามหลักศาสนาพุทธยิ่งกว่าคนอื่นที่อ้างว่าตัวเองเป็นพุทธเพราะเข้าวัดและบริจาคเงินบ่อย แต่กลับไม่เคยแสดงเมตตาธรรมแม้กระทั่งกับคนใกล้ชิด
โกเกี้ยเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
……
ราวกับจะตอกย้ำว่าเราสนิทกันเร็วแค่ไหน “ที่เที่ยว” แห่งแรกที่โกเกี้ยพาไป ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวอะไรที่ไหน แต่เป็นภูเขาที่โกเกี้ยซื้อมาทั้งลูกเมื่อไม่กี่ปีก่อน
ใช่ โกเกี้ยเป็นเจ้าของภูเขาทั้งลูกจริงๆ – นี่เป็นหนึ่งใน “งานอดิเรก” มากมายที่เริ่มทำหลังจากคิดว่าตัวเอง “พอแล้ว” กับการทำธุรกิจบ้านจัดสรรนั่นแหละ
ตัวอย่าง “งานอดิเรก” อื่นๆ ของโกเกี้ยได้แก่ การเปิดสถานีวิทยุท้องถิ่นเป็นของตัวเอง (ตอนแรกเปิดแต่เพลงเร็กเก้ทั้งวัน แต่โดนคนฟังด่า ตอนนี้เลยเปิดเพลงฝรั่งยุค 60s แทน) สร้างบ้านต้นไม้หลังสำนักงานขายในหมู่บ้าน และจัดรายการ “โกเี้กี้ยสอนหลาน” ให้เด็กๆ ในหมู่บ้านฟังฟรีทุกเดือน
หากไปเล่าให้ใครฟังว่าเศรษฐีคนหนึ่งควักเงินซื้อภูเขาทั้งลูก ร้อยทั้งร้อยก็คงพูดแกมอิจฉาว่า เศรษฐีที่มีเงินเหลือเฟือก็ทำอะไรเพี้ยนๆ แบบนี้แหละ เพราะรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร คนรวยซะอย่าง จะทำอะไรก็ไม่มีใครว่า เศรษฐีพันล้านฝรั่งหลายคนยังซื้อเกาะทั้งเกาะมาเป็นของตัวเองเลยมิใช่หรือ
แต่การซื้อภูเขาของโกเกี้ยมีเบื้องหน้า-เบื้องหลังที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่านั้น และน่าหมั่นไส้น้อยกว่านั้น
โกเกี้ยบอกว่า ตั้งใจจะปลูกบ้านอยู่บนภูเขาลูกนี้ตอนแก่ แต่ไม่อยากอยู่บ้านใหญ่ๆ แพงๆ อยากอยู่เรือนไม้แบบบ้านทางตอนใต้ของแท้ ตอนนี้กำลังหาซื้อเรือนไม้เก่าๆ พวกนี้อยู่ เพราะอยากอนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู
เวลาโกเกี้ยไปหาซื้อบ้านก็ไม่ได้หาแต่บ้านอย่างเดียว แต่บอกคนขายว่าอยากได้บ้านที่มี “คนอยู่” (หมายถึงผี) ติดมาด้วย คนอยู่ใหม่จะได้ไม่เหงา
แกพูดเหมือนเป็นเรื่องขบขัน แต่ผู้เขียนคิดว่า โกเกี้ยหาบ้านที่มีผีเพราะอยากช่วยชาวบ้านมากกว่า เพราะบ้านไม้ที่มีผีอยู่นั้น อย่าว่าแต่โละทิ้งขายเป็นไม้กระดานให้คนอื่นเลย ลำพังเจ้าของบ้านเองจะหาคนมาเช่าบ้านนั้นอยู่ก็คงยากมากๆ ท้ายที่สุดก็คงทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้บ้านนั้นผุพังไปเอง
ตอนนี้โกเกี้ยซื้อบ้านมีผีมาประกอบขึ้นใหม่แล้วสองหลัง หลังหนึ่งมาไกลจากจังหวัดอื่น บ้านหลังที่สามไม่แน่ใจว่ามีผีหรือเปล่า ยังประกอบไม่เสร็จ โกเกี้ยพาปีนบันไดชั่วคราวขึ้นไปดู ชี้ให้ดูพื้นไม้กระดานในบ้าน พื้นตรงกลางห้องตีกระดานถี่เป็นพิเศษ โกเกี้ยบอกว่า นี่เป็นที่ไว้เครื่องครัวต่างๆ เวลาอาหารหกลงไปใต้ถุน ไก่ที่เลี้ยงไว้จะได้กิน ช่องถี่ๆ นี้คนตรังเอาไว้โปรยข้าวสารให้ไก่กินด้วย ส่วนตรงมุมหนึ่งของห้องนั้นเอาไว้วางเตา คนใต้ใช้รมควันอาหาร เช่น ปลา ควันจะลอยลอดพื้นกระดานขึ้นมาจากใต้ถุน เหมือนเคบินไม้แบบฝรั่งที่บรรยายในหนังสือเรื่อง “บ้านเล็กในป่าใหญ่” โกเกี้ยบอกว่า เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้รู้ว่า คนไทยกับฝรั่งมีอะไรๆ เหมือนกันมากกว่าที่คิด ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะคนที่เผชิญกับสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กัน ก็คงคิดหาวิธีเอาตัวรอดที่ลงท้ายแล้วไม่ต่างกันมากนัก
ชาวประมงทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันกี่ร้อยกี่พันกิโล ก็ยังใช้เรือใช้พายและเครื่องมือจับปลาคล้ายๆ กัน ที่บ่งบอกความเป็น “ชาวประมง” เลย (อาจจะยกเว้นเพียงชาวอินธูในทะเลสาบอินเลของพม่าเท่านั้น ที่พายเรือด้วยเท้าและทำ “สวนเกษตรลอยน้ำ” (floating garden) เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น)
ความที่ผู้เขียนเป็นคนซุ่มซ่าม ทำให้ไม่วายตกบันไดตอนลงจากบ้าน แถมทำซี่บันไดหักเป็นของฝากอีกต่างหาก โชคดีที่โกเกี้ยรวบตัวไว้ได้ทัน ไม่อย่างนั้นการไปเที่ยวเมืองตรังครั้งนี้คงจบลงตั้งแต่วันแรก
เมื่อถามว่า บ้านมีผีพวกนี้จะให้ใครอยู่ โกเกี้ยตอบว่า เอาไว้ให้นักท่องเที่ยว(ที่ไม่กลัวผี)เช่าแบบโฮมสเตย์ หรือถ้าไม่มีใครอยากอยู่ก็ไม่เป็นไร เอาไว้ให้ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ที่ชอบพอกันมาอยู่ฟรี อีก 10-20 ปีข้างหน้า อยากชวน “คนน่ารักๆ” ให้มาอยู่ด้วยกัน
ว่าแล้วแววตาก็เปล่งประกายแห่งความสุขในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่โกเกี้ยคงอยากให้มาถึงเร็วๆ
จากบ้านไม้ผีสิง โกเกี้ยพาเดินลัดเลาะไปอีกข้างหนึ่งของเขา ไปดูอาคารปูนปั้นเล็กๆ เหมือนศาลเจ้า ตรงกลางมีธูปเทียนของไหว้ บนแท่นคอนกรีตมีรูปสลักงูจงอางขนาดใหญ่ 2 ตัว ทำจากไม้ โกเกี้ยบอกว่า นี่เป็นศาลงูที่ชาวบ้านสร้างขึ้นบูชางูใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ตัวยาวกว่า 5 เมตร โกเกี้ยจ้างคนมาขยายศาลให้ใหญ่กว่าเดิม เพราะไม่อยากลบหลู่ความเชื่อของชาวบ้าน ศาลนี้มีคนมาไหว้เยอะ ร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยเจองูด้วยตัวเอง แต่ลูกน้องคนหนึ่งเคยเจอมาแล้ว ระหว่างขับรถขึ้นเขาบริเวณนี้ตอนฝนตกหนัก อยู่ดีๆ งูตัวยาวก็โผล่หัวเลยฝากระโปรงรถขึ้นมา แผ่แม่เบี้ยใส่ แล้วก็เลื้อยกลับเข้าไปในป่าตามเดิม
เขาของโกเกี้ยลูกนี้นอกจากจะมีงูอาศัยอยู่แล้ว ยังมีบ่อเลี้ยงปลากัดหลายสิบบ่อ โกเกี้ยบอกว่าน้ำบนเขาลูกนี้สะอาดมาก ใช้เลี้ยงปลากัดได้ดี ชาวบ้านก็เลยมาขุดบ่อเลี้ยงปลากัดที่นี่ ใช้ตาข่ายคลุมกันแมลง ถึงโกเกี้ยจะซื้อภูเขาไปแล้วก็ไม่คิดอยากจะถมบ่อปลากัดเหล่านี้ ว่าแล้วก็พาไปคุยกับคุณลุงที่ดูแลบ่อปลากัด และปลูกบ้านอยู่ในบริเวณนี้ด้วย
ปลากัดที่คุณลุงช้อนขึ้นมาให้ดูนั้นตัวเล็ก ขนาดไม่เกิน 2 ข้อนิ้ว สีดำมะเมื่อม ไม่เหมือนกับปลากัดหลากสีที่เห็นขายในกรุงเทพฯ คุณลุงบอกว่าขายได้ตัวละ 10-100 บาท อาหารที่ป้อนปลากัดคือ ยุงหรือลูกน้ำ กับหอยก้น ปลากัดที่อยู่ในบ่อเห็นหน้ากันตลอดจะจำกันได้ ไม่กัดกัน เวลาจะให้มันกัดกันต้องช้อนขึ้นไปแยกอยู่ตัวละขวดก่อน เพราะจะทำให้มันจำหน้ากันไม่ได้
หากเทียบกับมนุษย์บางคนที่จำหน้ากันได้ แต่กัดกันเพราะความโลภบังตา ปลากัดดูจะเป็น “สัตว์ประเสริฐ” กว่ามาก เพราะอย่างน้อยมันก็ทำเพราะสัญชาตญาณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่กิเลสซึ่งมนุษย์มีสิทธิที่จะขานรับหรือปฏิเสธ
นอกจากภูเขาลูกนี้ โกเกี้ยยังขับรถพาไปดูภูเขาอีกลูกหนึ่ง ที่ซื้อไว้นานก่อนหน้าลูกนี้ บอกว่าลูกแรกนี้ตั้งใจจะให้เป็นของน้องชาย ชื่อโกเซีย ตอนนี้ใช้พื้นที่ทำสวนปาล์ม ต่อจากเจ้าของที่คนเดิม แต่ต้นทุนกับรายได้เกือบจะเท่ากัน แปลว่าไม่มีกำไร โกเซียไม่เดือดร้อน เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่จ้างให้มาดูแลสวนนี้ ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจจริงๆ
หลังจากพาไปเที่ยวที่ของตัวเองจนทั่ว โกเกี้ยก็พาผู้เขียนไปเที่ยวอำเภอกันตัง ประกอบคำบรรยายตลอดทาง ทำให้ได้รู้ว่าโกเกี้ยเป็นหนึ่งในคนตรังส่วนน้อยที่ไม่ชอบคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและ “นายหัว” ขวัญใจคนตรังตลอดกาล
เมื่อถามว่าทำไมไม่ชอบ โกเกี้ยอธิบายว่าคุณชวนทำงานไม่เป็น ดูอย่างเขื่อนปากเมงนั่นปะไร เป็นเขื่อนคอนกรีตที่รัฐบาลสมัยคุณชวนหมดงบสร้างไปหลายร้อยล้านบาท บอกว่าสร้างมากั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมถนน แทนที่จะเลื่อนถนนเข้าข้างใน ซึ่งใช้เงินน้อยกว่าและได้ผลกว่า ตอนนี้พอมีเขื่อนคอนกรีตใหญ่ยักษ์ขวางทางน้ำ ต้นไม้แถวนั้นเลยตายหมด หรือไม่ก็แกร็นๆ ไม่เขียวชอุ่มเหมือนที่หาดอื่นๆ
ฟังเรื่องนี้แล้วก็เข้าใจว่าทำไมโกเกี้ยจึงชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มากกว่าเยอะ แต่ยังไม่ได้คุยเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมืองกันเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่มัวแต่ฟังโกเกี้ยคุยจนเพลิน ก็มัวแต่ดูวิวสวยๆ สองข้างทาง เอาไว้โอกาสหน้าไปเมืองตรังคงได้ถกเรื่องการเมืองกันยาวเหยียดกว่านี้
โกเกี้ยพูดภาษาใต้แบบปนภาษากลาง ฟังรู้เรื่องกว่าที่เคยได้ยินคนใต้คุยกัน โกเกี้ยบอกว่าคนตรังส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน พูดภาษาใต้ไม่เหมือนกับคนไทยใต้ แต่สำเนียงใต้ของคนไทยใต้แถวนี้ก็ไม่เหมือนกับคนพัทลุงหรือกระบี่ คนใต้ด้วยกันฟังสำเนียงแล้วจะรู้ว่ามาจากไหน
คนจีนในเมืองตรังสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าที่ขึ้นบกที่อำเภอกันตังเมื่อหลายร้อยปีก่อน กันตังเลยเป็นบริเวณแรกในแถบนี้ที่เจริญ สมัยก่อนคนจากพัทลุง กระบี่ ฯลฯ ต้องเดินทางมาซื้อของที่กันตัง ต่อมาพอเรือพาณิชย์มีขนาดใหญ่ขึ้น (ตามเทคโนโลยีการต่อเรือที่ดีขึ้น) จอดที่ท่าเรือกันตังไม่ได้อีกเพราะน้ำตื้นเกินไป ต้องไปที่อื่น กันตังเลยค่อยๆ สูญเสียสถานะศูนย์กลางความเจริญของแถบนี้ไป
สมัยก่อน ตรังเป็นฐานผลิตพริกไทยให้ยุโรป ต่อมาก็เป็นฐานผลิตเครื่องเทศเพื่อส่งออกอีกเช่นกัน แล้วค่อยกลายมาเป็นแหล่งผลิตยางพารา แถวๆ อำเภอทับเที่ยงในปัจจุบัน
ตอนขับรถเที่ยวอำเภอกันตัง โกเกี้ยชี้ให้ดูอาคารหลายหลังที่คนเจาะผนังเป็นรูๆ ล่อให้นกนางแอ่นมาทำรังจากน้ำลายของมัน แล้วเอาไปขาย รังนกเป็นธุรกิจที่ได้ราคาดีมาก กิโลหนึ่งขายได้หลายร้อยบาทถึงหลายหมื่นบาท ทำให้คนทำตั้งตัวเป็นเศรษฐีย่อมๆ ได้ภายในเวลาไม่นาน แต่บางครั้ง ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนบางคน ก็ต้องแลกกับความสูญเสียของส่วนรวม เมื่อคนเลือกเจาะตึกโบราณสวยๆ ที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว แทนที่จะสร้างตึกใหม่ให้นกอยู่
(พูดถึงรังนก ก็มีเรื่องเศร้าแต่จริงที่หวังว่าจะได้รับการเผยแพร่ไปเยอะๆ คนจะได้เลิกกินรังนกในที่สุด ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า รังนกที่ถือกันว่า “ดีที่สุด” ในหมู่ผู้นิยมรับประทานนั้น ไม่ใช่รังที่ทำเสร็จหมาดๆ ก่อนที่นกจะบินเข้าไปออกและกกไข่ (รังจึงสะอาดเอี่ยมไม่มีเศษขน) หากเป็น “รังนกเกรดเลือด” ซึ่งซื้อขายกันในราคาเรือนแสน ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเจือสีแดงของเลือดนก สาเหตุที่รังนกมีเลือดนกก็คือ เมื่อพ่อแม่นกถูกขโมยรังไปก่อนออกไข่ สัญชาตญาณก็จะบังคับให้พวกมันเร่งคายเสลดออกมาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยที่ยังไม่เกิดมีรังทันเวลา นกก็ไม่ต่างจากคน ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องคายเสลดไม่หยุดหย่อนจะเกิดอะไรขึ้น นั่นเป็นสาเหตุที่เลือดออกมาปนกับน้ำลาย จนย้อมรังเป็นสีแดงฉาน เมื่อคนมาเก็บรังนั้นไป พ่อแม่นกซึ่งเสียเลือดไปมาก และลูกอ่อนที่ไม่มีรังอยู่ ก็ย่อมตายคามือมนุษย์อย่างไร้ทางเลือก)
หลังจากที่พาผู้เขียนถ่ายรูปในกันตังจนจุใจแล้ว โกเกี้ยก็ขับรถขึ้นแพขนานยนต์ (แพที่รับส่งรถยนต์ข้ามฝั่ง คิดราคาคันละ 25 บาท) ข้ามฟากไปเที่ยวหาดลาดยาว ระหว่างข้ามฟาก สังเกตเห็นโรงงานปลาป่น(ที่ใช้เลี้ยงสัตว์)ติดกันหลายโรง โกเกี้ยบอกว่าโรงงานพวกนี้กำลังจะหายไปจากเมืองตรังหมดแล้ว เพราะขาดทุนตลอด ตอนนี้เดินเครื่องแค่เดือนละ 5 วัน เพราะน้ำมันแพง เรือหาปลาก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้จอดเฉยๆ ในน้ำติดกันหลายสัปดาห์ เพราะปลาหายาก น้ำมันก็แพง ออกทะเลไปก็ไม่คุ้ม ออกทีต้องไปไกลถึงมหาสมุทรอินเดียแล้ว
หาดยาวมีคนเยอะพอๆ กับหาดเจ้าไหมที่ผู้เขียนขับรถโซ้ยโกวไปเที่ยววันก่อน โกเกี้ยพาไปกินส้มตำที่ร้านเล็กๆ มุมหนึ่งของหาด พื้นปูนผนังคอนกรีต ที่ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเปิดขายอาหาร เพราะไม่มีตู้กระจกแขวนไก่ ฯลฯ อยู่หน้าร้านเหมือนร้านทั่วไป ภายในร้านเงียบเหงาไม่มีคนกิน โกเกี้ยบอกว่า หลายปีที่แล้วโกเกี้ยมาที่หาดนี้แล้วติดใจ เลยขอเช่าบ้านหลังนี้รายเดือน กะว่าเอาไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ แต่แล้วก็ไม่ได้มาบ่อยเท่าที่อยากมา เพราะไปติดใจหาดไร่เลย์ที่กระบี่มากกว่า พอดีลูกน้องคนหนึ่งของโกเซียผู้เป็นน้องชายอยากหางานทำ โกเซียเลยให้ทุนมาเปิดร้านขายส้มตำที่นี่ และคิดค่าเช่ารายเดืิอนในอัตราคนกันเอง
หลังจากกินส้มตำเสร็จ โกเกี้ยก็เรียกเจ้าของร้าน (ที่เป็นลูกน้องโกเซีย) มาแล้วบอกว่า น่าจะปรับปรุงร้านให้ดีกว่านี้ เพราะช่วงปีใหม่นี้ก็มีคนมาเที่ยวหาดยาวเยอะ แต่ไม่มีใครเข้าร้านนี้เพราะดูไม่น่าเข้า น่าจะทำกิจกรรมให้ดึงดูดลูกค้าหน่อย เช่น ตั้งโต๊ะทำบาร์บีคิวปิ้งหรือย่างอาหารหน้าร้าน แล้วก็น่าจะหาคูลเลอร์ใหญ่ๆ มาตั้งหน้าร้าน ขายน้ำแข็งและน้ำดื่มด้วย เพราะลองสังเกตดูสิ จะเห็นคนที่มาเที่ยวหาดยาวส่วนใหญ่เอาอาหารมาปิกนิกชายหาด แต่ไม่ได้เอาน้ำติดมาด้วย ถ้าขายน้ำกับน้ำแข็งน่าจะดี
พอให้คำแนะนำทางธุรกิจเสร็จแล้วโกเกี้ยก็วางธนบัตรใบละพัน บอกว่าไม่ต้องทอน แล้วก็ชวนผู้เขียนเดินขึ้นรถไปเที่ยวต่อ
นี่คือพฤติกรรมของคนที่บอกว่าไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ชอบเล่าเรื่องผู้หญิงฝรั่งในฝัน และบอกผู้เขียนอย่างภาคภูมิใจว่า กำลังยุให้ลูกสาววัยรุ่นมีแฟน และไปเที่ยวกลางคืน อย่าเอาแต่เรียนอย่างเดียว เพราะผู้หญิงถ้ามีแฟนตอนเป็นสาวแรกแย้มนั้นเหมือนกับผู้ซื้อ คือมีอำนาจการต่อรองเยอะ สามารถเลือกของที่ผู้ขาย (ผู้ชาย) แย่งกันขายได้ แต่ผู้หญิงมีอายุที่ไม่น่ามองเท่าสาวๆ จะกลายเป็นผู้ขาย ผู้ชายเปรียบเสมือนผู้ซื้อ ดังนั้น ในเมื่อผู้ซื้อย่อมมีอำนาจการต่อรองมากกว่าผู้ขาย ผู้หญิงจึงควรหาแฟนตั้งแต่อายุยังน้อย
ความมีเมตตาและน้ำใจที่เจ้าตัวคงไม่ยอมรับ ทำให้โกเกี้ยคล้ายกันมากกับคนตรังอีกคนที่ผู้เขียนมีโอกาสรู้จัก ทั้งๆ ที่ดูเผินๆ ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยแม้แต่น้อย
คนผู้นั้นคือ อาติ้ว สามีของโซ้ยโกว ผู้เอื้อเฟื้อที่พักให้ผู้เขียนระหว่างเยือนเมืองตรัง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)