ผ่านพบได้ผูกพัน : ความประทับใจจากเมืองตรัง (3)

[ขออภัยที่โพสตอนต่อของเรื่องนี้ช้าไปมาก ยังหาข้อมูลบางเรื่องไม่ครบถ้วน ตอนจบจึงต้องเลื่อนไปเล็กน้อย (ไม่น่าจะเกิน 1-2 วันข้างหน้า) ระหว่างนี้ก็ขอบ่นเรื่องการเซ็นเซอร์แบบไร้สาระ (อีกแล้ว) และยึดฟิล์มของหนังไทยที่ผู้เขียนรอดูมาหลายเดือน แต่คงไม่มีโอกาสดูในโรงแล้ว คือเรื่องแสงศตวรรษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่: กรณี แสงศตวรรษ : กลัวความจริง และ เมื่อกองเซ็นเซอร์ดับ “แสงศตวรรษ” เมื่ออ่านจบแล้ว ถ้าคุณเห็นด้วยว่าประเทศไทยควรยกเลิกกองเซ็นเซอร์ หันมาใช้ระบบเรทติ้งเหมือนประเทศอื่นๆ ขอเชิญร่วมลงนามสนับสนุนการแก้กฎหมาย และแสดงความคิดเห็นในกระทู้นี้บนกระดานสนทนาของมูลนิธิหนังไทย]

ผ่านพบได้ผูกพัน : ความประทับใจจากเมืองตรัง (3)

(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)

อาติ้ว

อาติ้ว คือสามีของโซ้ยโกว เจ้าของร้านอาหารดังผู้เอื้อเฟื้อที่พักให้กับผู้เขียน วิธีง่ายที่สุดที่จะอธิบายให้คนไม่รู้จักเห็นภาพว่าอาติ้วเป็นคนอย่างไร อาจเป็นการเติมคำว่า “ไม่” เข้าไปข้างหน้านิสัยแต่ละอย่างของโกเกี้ย แล้วก็ขยับนิสัยเหล่านั้นไปทางขั้วตรงข้ามที่ห่างไกลกับนิสัยของโกเกี้ยให้ไกลที่สุดเท่าที่จะคิดออก เช่น:

อาติ้วไม่ชอบกินเหล้าต่างน้ำ (จริงๆ ไม่กินเหล้าเลยด้วยซ้ำ เพราะถือศีลแปด) ไม่ชอบฟังเพลงเร็กเก้ (จริงๆ ไม่ฟังเพลงวัยโจ๋วัยจ๊าบทุกชนิด และฟังข่าวบ่อยกว่าฟังเพลง) ไม่ชอบโม้เรื่องแหม่มฝรั่งในสเป็คให้คนรอบข้างฟัง (จริงๆ ดูเหมือนอาติ้วจะไม่มี ‘สเป็ค’ อะไรทั้งนั้น อาจยกเว้นเพียงพระสงฆ์ในดวงใจ) ไม่ไว้ผมยาว (จริงๆ ตัดผมเกรียนติดหนังหัว ดูเผินๆ คล้ายทิดสึกใหม่) และไม่ชอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (จริงๆ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มายาวนานและไม่เคยเปลี่ยนใจ)

จากอดีตหัวคะแนนและนักกิจกรรมประชาธิปไตยตัวยงตั้งแต่สมัย 6 ตุลา 19 อาติ้วผันตัวมาเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้เคร่งครัด ตื่นตีสองทุกเช้ามานั่งสมาธิเป็นชั่วโมง ก่อนจะล้มตัวนอนต่อมาตื่นแต่เช้ามืดทุกวัน

แต่ถึงจะมีนิสัยต่างกันสุดโลกขนาดนี้ อาติ้วก็เป็นเพื่อนกับโกเกี้ยมานานหลายสิบปี เป็นเพื่อนสนิทกันมากเสียด้วย ใครที่ไม่รู้จักคนทั้งคู่คงคิดไม่ถึงว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนกันได้


[ขออภัยที่โพสตอนต่อของเรื่องนี้ช้าไปมาก ยังหาข้อมูลบางเรื่องไม่ครบถ้วน ตอนจบจึงต้องเลื่อนไปเล็กน้อย (ไม่น่าจะเกิน 1-2 วันข้างหน้า) ระหว่างนี้ก็ขอบ่นเรื่องการเซ็นเซอร์แบบไร้สาระ (อีกแล้ว) และยึดฟิล์มของหนังไทยที่ผู้เขียนรอดูมาหลายเดือน แต่คงไม่มีโอกาสดูในโรงแล้ว คือเรื่องแสงศตวรรษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่: กรณี แสงศตวรรษ : กลัวความจริง และ เมื่อกองเซ็นเซอร์ดับ “แสงศตวรรษ” เมื่ออ่านจบแล้ว ถ้าคุณเห็นด้วยว่าประเทศไทยควรยกเลิกกองเซ็นเซอร์ หันมาใช้ระบบเรทติ้งเหมือนประเทศอื่นๆ ขอเชิญร่วมลงนามสนับสนุนการแก้กฎหมาย และแสดงความคิดเห็นในกระทู้นี้บนกระดานสนทนาของมูลนิธิหนังไทย]

ผ่านพบได้ผูกพัน : ความประทับใจจากเมืองตรัง (3)

(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)

อาติ้ว

อาติ้ว คือสามีของโซ้ยโกว เจ้าของร้านอาหารดังผู้เอื้อเฟื้อที่พักให้กับผู้เขียน วิธีง่ายที่สุดที่จะอธิบายให้คนไม่รู้จักเห็นภาพว่าอาติ้วเป็นคนอย่างไร อาจเป็นการเติมคำว่า “ไม่” เข้าไปข้างหน้านิสัยแต่ละอย่างของโกเกี้ย แล้วก็ขยับนิสัยเหล่านั้นไปทางขั้วตรงข้ามที่ห่างไกลกับนิสัยของโกเกี้ยให้ไกลที่สุดเท่าที่จะคิดออก เช่น:

อาติ้วไม่ชอบกินเหล้าต่างน้ำ (จริงๆ ไม่กินเหล้าเลยด้วยซ้ำ เพราะถือศีลแปด) ไม่ชอบฟังเพลงเร็กเก้ (จริงๆ ไม่ฟังเพลงวัยโจ๋วัยจ๊าบทุกชนิด และฟังข่าวบ่อยกว่าฟังเพลง) ไม่ชอบโม้เรื่องแหม่มฝรั่งในสเป็คให้คนรอบข้างฟัง (จริงๆ ดูเหมือนอาติ้วจะไม่มี ‘สเป็ค’ อะไรทั้งนั้น อาจยกเว้นเพียงพระสงฆ์ในดวงใจ) ไม่ไว้ผมยาว (จริงๆ ตัดผมเกรียนติดหนังหัว ดูเผินๆ คล้ายทิดสึกใหม่) และไม่ชอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (จริงๆ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มายาวนานและไม่เคยเปลี่ยนใจ)

จากอดีตหัวคะแนนและนักกิจกรรมประชาธิปไตยตัวยงตั้งแต่สมัย 6 ตุลา 19 อาติ้วผันตัวมาเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้เคร่งครัด ตื่นตีสองทุกเช้ามานั่งสมาธิเป็นชั่วโมง ก่อนจะล้มตัวนอนต่อมาตื่นแต่เช้ามืดทุกวัน

แต่ถึงจะมีนิสัยต่างกันสุดโลกขนาดนี้ อาติ้วก็เป็นเพื่อนกับโกเกี้ยมานานหลายสิบปี เป็นเพื่อนสนิทกันมากเสียด้วย ใครที่ไม่รู้จักคนทั้งคู่คงคิดไม่ถึงว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนกันได้

ความสนิทชิดเชื้อระหว่างคนสองขั้วคู่นี้ ซึ่ง ‘สัมผัส’ ได้เมื่อเห็นเขาอยู่ด้วยกัน แต่ ‘เข้าใจ’ ไม่ได้ เป็นบทพิสูจน์สัจธรรมที่ว่า เรื่องของ ‘หัวใจ’ เช่น ‘ความเป็นเพื่อน’ นั้น อยู่เหนือเหตุผลทุกชนิด

“ด้ายที่มองไม่เห็น สร้างปมที่แน่นหนาที่สุด” (Invisible threads make strongest ties)

วาทะอมตะของนิทเช่ ยังกังวานอยู่ในใจของผู้เขียน แม้ว่าวาทะนี้อาจไม่คุ้นหูนักอ่านชาวไทยเท่ากับ “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” ของอังตวน เดอ แซง-เตกซูเปรี ผู้เขียน “เจ้าชายน้อย” หนึ่งใน ‘หนังสือเด็ก’ ยอดนิยมที่ผู้ใหญ่ควรอ่านมากกว่าเด็ก

วีรกรรมของอาติ้วเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่เลื่องลือในหมู่ลูกหลานและเพื่อนฝูง เกิดขึ้นในวันที่อาติ้วขับรถออกจากบ้านพร้อมเป็ดตัวหนึ่ง ซึ่งอาติ้วอาสาจะนำไปส่ง เป็ดตัวนี้อยู่ในถุงขยะสีดำที่มัดปากถุงไว้ ด้วยกลัวว่ามันจะวิ่งหนี

ระหว่างทาง อาติ้วได้ยินเสียงกุกกักดังขึ้นเรื่อยๆ จากถุงขยะ เมื่อเปิดปากถุงออกดู ก็พบว่าเป็ดกำลังทำปากพะงาบๆ เพราะขาดอากาศหายใจ อาการใกล้ตายเต็มแก่

อาติ้วไม่รีรอ รีบเอาเป็ดออกมาจากถุง แล้วจัดการผายปอดให้เป็ด!

ในเมื่ออาติ้วเป็นพุทธศาสนิกผู้เคร่งครัดที่ ‘น่ารัก’ ขนาดนี้ ผู้เขียนจึงตอบตกลงด้วยความยินดี เมื่อแกรับอาสาพาผู้เขียนไปเที่ยวเมืองตรังต่อจากโกเกี้ย

และผู้เขียนก็ไม่ผิดหวัง เพราะเมืองตรังที่ผู้เขียนได้พบเห็นจากสายตาของอาติ้ว แตกต่างจากเมืองตรังที่โกเกี้ยพาไปเที่ยวชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องร้าย เพราะมุมมองของคนหลายคนต่อสิ่งเดียวกัน ย่อมมีได้หลากหลายเท่ากับจำนวนมนุษย์บนพื้นโลก มุมมองที่ ‘แตกต่าง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘แตกแยก’ เหมือนแม่เหล็กต่างขั้ว หาก ‘เติมเต็ม’ ซึ่งกันและกัน เหมือนชิ้นส่วนของเล่นที่ต้องประกอบเข้าด้วยกันจึงจะสมบูรณ์

เพราะผู้เขียนมีโอกาสได้มองเมืองตรังจากสายตาของคนสองขั้วที่แทบไม่มีอะไรเหมือนกัน ยกเว้น ‘หัวใจ’ อันกว้างขวางที่รักเมืองนี้ในแบบของตัวเอง เมืองตรังจึงยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ โลดแล่นดุจมีชีวิต มิใช่ภาพถ่ายสองมิติที่สีสันย่อมเลือนหายไปตามกาลเวลา

……

เพียงแค่ผู้เขียนเอ่ยปากถามว่า คนตรังตักบาตรวันปีใหม่หรือเปล่า อาติ้วก็อาสาพาไปดูพิธีตักบาตรของเทศบาลเมืองตรังทันที

อาติ้วออกตัวว่าไม่ได้มางานนี้หลายปีแล้ว แต่รูปแบบการจัดงานคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะคนตรังชอบอยู่กันอย่างง่ายๆ ไม่กระตือรือร้น ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงเกิดขึ้นช้ามาก

บรรยากาศงานตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ สนามกีฬากลางจังหวัดตรัง
บรรยากาศงานตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ของเทศบาลตรัง

เราไปถึงสนามกีฬากลางจังหวัดตั้งแต่เช้ามืด ชาวตรังหลายร้อยคนมาจับจองโต๊ะอยู่ก่อนแล้ว ค่อยๆ ทยอยแกะห่อของออกมาตักบาตร ปีนี้เทศบาลนิมนต์พระมา 95 รูป เท่ากับปีก่อนๆ แม้ว่าเทศบาลจะเตรียมโต๊ะให้ หลายคนก็ขนโต๊ะมาเองจากบ้าน คงรู้ว่าวันนี้คนเยอะจนโต๊ะไม่พอ สังเกตเห็นหลายคนตระเตรียมกับข้าวมาอย่างดี ไม่ใช่อาหารกระป๋องแบบที่เห็นคนส่วนใหญ่ตักบาตรวัดธาตุทองในกรุงเทพฯ วัดชื่อดังแถวบ้านของผู้เขียนที่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่จัดงานศพยอดนิยมไปแล้ว ศาลาจำนวนนับร้อยแน่นขนัดตลอดเวลา

นอกจากความสะดวกสบายในการเดินทาง (เพียงไม่กี่ก้าวจากสถานีรถไฟฟ้าสาขาเอกมัย) สาเหตุหลักที่คนนิยมจัดงานศพที่วัดธาตุทองน่าจะเป็น ‘ความรวดเร็ว’ ของพิธีกรรม ที่จบเร็วเหมือนอาหาร ‘แดกด่วน’ ของร้านแม็คโดนัลด์ พระก็ตั้งหน้าตั้งตาสวดมนต์ฉบับย่อที่ไม่มีใครสนใจฟัง คนก็เดินแจกน้ำแจกอาหารสำเร็จรูปจากเอสแอนด์พีหรือครัวการบินไทย ผู้ร่วมพิธีก็พนมมือไปคุยกันไป ถ้าไม่มัวหมกมุ่นอยู่กับการเช็คหรือส่งข้อความบนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนงานรัดตัวที่ไปงานศพเพื่อพบญาติหรือเข้าสังคมเป็นหลัก

งานศพที่วัดธาตุทองจบภายใน 20-25 นาที นับเป็นสถิติที่น่าจะเร็วที่สุดในประเทศแล้ว ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับงานศพที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ซึ่งพระสวดมนต์ฉบับเต็มภาษาบาลีและตามด้วยคำแปลไทย เพื่อช่วยให้ญาติโยมฟังรู้เรื่อง แถมบางครั้งก็จะได้ฟังเทศน์จากท่านปัญญานันทะภิกขุ เจ้าอาวาสวัดผู้เลื่องลือในการเทศน์แบบ ‘บ้านๆ’ แต่กินใจ ใครโชคดีได้ฟังคำด่าแบบตรงไปตรงมาของท่าน ถ้าไม่เจริญมรณานุสติกันบ้างก็คงได้ความละอายแก่ใจกลับบ้านพอให้ละกิเลสได้หลายวัน

ความแตกต่างระหว่างวัดที่เน้น ‘พุทธพาณิชย์’ เป็นหลัก กับวัดที่เน้น ‘พระธรรมคำสั่งสอน’ เป็นหลัก มองออกไม่ยากเลย ถ้าลองเปิดใจให้กว้างพอ

ย้อนกลับไปที่วันปีใหม่เมืองตรัง สังเกตเห็นว่าคุณป้าที่อยู่โต๊ะติดกันกับเราเอาแต่ข้าวสวย น้ำตาล กับน้ำพริกมะขามมาตักบาตร หยิบทั้งสามอย่างใส่เป็นถุงๆ อย่างประณีต เมื่อเห็นแววตาสนเท่ห์ของผู้เขียน คุณป้าก็บอกว่า แบ่งมาจากลูกสาวเมื่อเช้า ลูกสาวป้าเขาทำน้ำพริกมะขามขาย เรากินอะไร เราก็อยากให้พระได้กินด้วยน่ะลูก

อดนึกชื่นชมคุณป้าไม่ได้ มันต้องได้อย่างนี้สิ ถึงจะเป็น ‘ชาวพุทธ’ ตัวจริง

ถึงแม้ถุงข้าวกับน้ำพริกมะขามของคุณป้าจะดูลีบๆ ไม่น่ากินเท่าไหร่ ก็ดูจริงใจและเต็มไปด้วยแรงศรัทธายิ่งกว่าวิธีตักบาตรของชนชั้นกลางในกรุงเทพหลายคนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็น ‘ชาวพุทธ’ แต่เจียดเงินครั้งละไม่กี่ร้อยแบบเสียไม่ได้ สั่งคนรับใช้ที่บ้านให้ไปจัดการซื้อของมาตักบาตร หรือไม่ก็ไปซื้อถังสังฆทานสีเหลืองแบบสำเร็จรูปมาถวายวัด โดยไม่เคยสังเกตว่าข้าวของเครื่องใช้ในถังนั้นหลายอย่างก็หมดอายุไปนานแล้ว เพราะคนทำสังฆทานจำนวนมากตั้งใจเอาของหมดอายุมาหลอกขายคนอื่น

พระยืนพรมน้ำมนต์ให้ผู้มาตักบาตรวันปีใหม่
พระยืนพรมน้ำมนต์ให้ผู้มาตักบาตร

ระหว่างคนจนที่ตั้งใจอุทิศเงินเก็บหรือส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันให้กับการทำบุญ กับคนรวยที่ทำบุญแบบ ‘มักง่าย’ ราวกับการทำบุญนั้นไม่ต่างจากทุกอย่างที่ซื้อด้วยเงินได้ง่ายๆ ผู้เขียนเชื่อว่าตาชั่งแห่งกรรมคงยุติธรรมพอที่จะไม่คำนวณผลบุญผิดพลาด

อาติ้วใช้ช่วงเวลาว่างระหว่างการนิมนต์พระ สอนเทคนิคการนั่งสมาธิให้กับผู้เขียน ที่บ่นให้แกฟังว่าอยากนั่งสมาธิได้ทุกวัน แต่ความที่เป็นคนจิตใจวอกแวกและไม่ค่อยมีเวลา ทำให้ทำไม่ค่อยได้ อาติ้วสอนว่า การนั่งสมาธิเป็นการฝึกสติ ฝึกให้จิตใจไม่วูบวาบ จมอยู่ในทุกข์หรือสุขมากเกินไป ดังนั้นถึงแม้จะมีเวลานั่งสมาธิก่อนนอนเพียงวันละ 5-10 นาทีก็ควรจะลองดู เพราะเวลาแค่นี้อาจเข้าไม่ถึงสมาธิ แต่จะช่วยใจให้สงบได้ ของแบบนี้ต้องฝึกไปนานๆ ให้เป็นนิสัย เวลาเรานั่งสมาธินานๆ เข้า จะได้สมาธิ มีสัมปชัญญะ นั่งแล้วจะเห็นเวทนา ธรรมะข้อต่างๆ จะผุดขึ้นมาจากจิตเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร

ว่าแล้วอาติ้วก็สอนเทคนิคการนั่งสมาธิว่า ถ้ากลัวง่วง ลองเอานิ้วชี้ของมือขวาแตะหัวแม่มือของมือซ้ายเวลานั่ง แทนที่จะแตะหัวแม่มือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน เพราะแบบหลังทำให้เรารู้สึกสบายกว่า เลยมีโอกาสหลับง่ายกว่า ซึ่งแปลว่าทำสมาธิยากขึ้น

เมื่อพิธีตักบาตรผ่านพ้นไปพร้อมกับบาตรของพระทุกองค์ที่ล้นจนต้องเทของถวายใส่กระสอบเป็นระยะๆ ให้เด็กวัดหลายสิบคนช่วยกันแบก ก็ได้เวลาปล่อยลูกโป่งสีชมพูสวยหลายร้อยลูกขึ้นฟ้า และเวลาที่หลายคนรอคอย – การปราศรัยโดยคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและ ‘นายหัว’ ตลอดกาลของคนตรัง

ผู้เขียนฟังภาษาใต้ไม่ออก แต่โชคดีที่คุณชวนพูดช้ากว่าคนใต้ทั่วไป ทำให้พอจะจับใจความได้ (คงเป็นเพราะแกไม่ได้พูดหาเสียง ไม่อย่างนั้นคงมันส์และฟังไม่รู้เรื่องกว่านี้หลายเท่า) บทปราศรัยของคุณชวนมีทั้งเรื่องข่าวเมืองตรัง ข่าวบ้านเมือง และความเห็นของแกต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับคนใต้ – กลุ่ม ‘คอการเมือง’ ที่เหนียวแน่นที่สุดในประเทศ คุณชวนบอกว่า เมืองตรังกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากแรงกดดันสองด้านคือ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผลักดันให้คนย้ายถิ่นฐานไปอยู่จังหวัดอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ และกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวในแถบนี้ โดยเฉพาะถ้ากระบี่มีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้นเรื่อยๆ ประสบปัญหาสภาพแวดล้อมทรุดโทรม จะทำให้คนหันมาเที่ยวเมืองตรังมากขึ้น

คำพูดของคุณชวนตรงกับสิ่งที่โกเกี้ยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อวันก่อน ทำให้นึกสงสัยว่า วันหนึ่งถ้าเมืองตรังเปลี่ยนไปจริงๆ จากเมืองชายทะเลที่มีเสน่ห์แบบเรียบง่าย กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่พลุกพล่านไม่แพ้ภูเก็ต เหล่า ‘เศรษฐีติดดิน’ เจ้าถิ่นอย่างโกเกี้ยและอาติ้ว ผู้ชิงชังความวุ่นวายและมีฐานะดีพอที่จะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ได้ที่พวกเขาต้องการ จะย้ายไปอยู่ที่ไหน?

แต่เมื่อเห็นสีหน้ามีความสุขของอาติ้วเวลาคุยทักทายกับคนรู้จักหลายสิบคน (คาดว่าหลายคนในนั้นน่าจะเป็นหัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์) ที่งานตักบาตร และคิดถึงสีหน้าแบบเดียวกันของโกเกี้ยเวลาคุยกับแม่ค้าในตลาดที่พาเที่ยววันก่อนแล้ว ก็เชื่อว่าพวกเขาคงอยากอยู่เมืองตรังจนตาย ไม่ว่าจะอนาคตจะเป็นอย่างไร

ลองโกเกี้ยถึงขนาดลงทุนซื้อภูเขาทั้งลูกมาเป็นของตัวเองไว้อยู่ตอนแก่ คงไม่ยอมไปไหนง่ายๆ

คนเราลองรักใครหรืออะไรเข้าแล้ว ย่อมยอมเสียสละความสบายของตัวเองเพื่อให้คนรักได้สบาย และมองข้อบกพร่องของเขาหรือเธอว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับข้อบกพร่องของตัวเอง

ความรักสถานที่ก็ไม่ต่างกัน

ใครที่ยังยึดถือความสบายของตัวเองเป็นใหญ่ และมองเห็นแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น น่าจะไม่เคยมีความรักที่แท้จริง สิ่งที่ทึกทักเอาว่าเป็น ‘ความรัก’ นั้น อาจจะเป็น ‘ความหลง’ หรือ ‘ความเห็นแก่ตัว’ ที่ชอบใส่หน้ากากหลอกเราว่าเป็นความรัก และหลายครั้งหน้ากากนั้นก็ใส่สบายเสียจนเราไม่กล้าถอดมันออก ถึงแม้จะรู้แล้วว่าเป็นหน้ากากก็ตาม

คุณชวนปราศรัยสนุกสมคำร่ำลือ แม้ว่าเสียงแกจะดูเหนื่อยและเนือยไปบ้าง คุณชวนบอกว่า หลังเกิดรัฐประหารแล้ว ปัญหาเฉพาะหน้าของเมืองไทยคือการล้างระบอบทักษิณ อย่าเพิ่งไปมองระยะยาว แต่ผู้เขียนก็นึกแย้งในใจว่า แล้วถ้า ‘ปัญหาระยะยาว’ จำนวนมากมันผูกพันอยู่กับ ‘ปัญหาเฉพาะหน้า’ ล่ะ เราอาจต้องคิดดีๆ คิดให้ยาวๆ เวลาแก้ปัญหา พยายามคิดแบบมีวิสัยทัศน์ไปไกลๆ ไม่อย่างนั้นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเราอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมมากในระยะยาวก็เป็นได้

ข้างบนอัฒจันทร์เหนือทางออกสนามกีฬา มีพระอาวุโสรูปหนึ่งยืนพรมน้ำมนต์ให้กับญาติโยมที่มาตักบาตร ปากก็พึมพำให้ศีลให้พร ผู้เขียนเลยพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย

บริเวณวัด
ต้นโพธิ์ใหญ่หน้าพระอุโบสถ

หลังเสร็จพิธี อาติ้วพาไปวัดแห่งหนึ่งเพื่อเยี่ยมหลวงพี่และขนพระพุทธรูปไปไว้ในรถ เพราะอาติ้วรับอาสานำส่งพระพุทธรูปรุ่นนี้ให้กับญาติโยมที่จองไว้ก่อนหน้านี้ เป็นพระพุทธรูปองค์สีดำ ขนาดหน้าตักประมาณ 12 นิ้ว พระพักตร์งดงามอ่อนช้อยคล้ายกับองค์ที่ประดิษฐานในห้องพระที่บ้านของผู้เขียน วัดนี้มีบรรยากาศร่มรื่น ข้างใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กลางลานวัดมีศาลเจ้าเล็กๆ ติดป้ายบอกว่าตรงนี้เคยมีฤาษีมาอาศัยอยู่ด้วย

เสร็จธุระแล้วอาติ้วก็พาไปนั่งจิบชาสมุนไพรร้อนๆ ที่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพแห่งหนึ่งในตัวเมือง บรรยากาศร่มรื่นผิดกับร้านติ่มซำกับร้านข้าวต้มที่โกเกี้ยพาไปกิน คิดในใจว่าร้านอย่างนี้โกเกี้ยต้องไม่เข้าแน่ๆ

แต่ในเมื่อชีวิตเราต้องการทั้งมุมสงบเพื่อคุยกับตัวเอง ดำดิ่งให้รู้ซึ้งถึงก้นบึ้งของจิตใจ และมุมพลุกพล่านเพื่อคุยกับคนอื่น เปิดใจดวงเดียวกันนั้นให้ขยายใหญ่ขึ้น เราจึงต้องการทั้งร้านอาหารแบบที่นั่งคนเดียวเงียบๆ ได้ และร้านอาหารแบบพลุกพล่านที่ทุกคนคุยกันโขมงโฉงเฉง แล้วแต่จังหวะอารมณ์จะเรียกร้อง

เพราะก่อนที่เราจะเป็น ‘คนเต็มคน’ ได้ หัวใจของคนเราควรมีทั้ง ‘ความลึก’ และ ‘ความกว้าง’ มิใช่หรือ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)