ผ่านพบได้ผูกพัน : ความประทับใจจากเมืองตรัง (จบ)

(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)

โกเซีย

หลังจากที่ได้เพลิดเพลินกับการมองเมืองตรังจากสายตาของคนต่างขั้วที่ต่างก็รักเมืองตรังทั้งคู่ ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะข้าวเย็นกับญาติสนิทมิตรสหายของเพื่อนต่างวัยคู่นี้ ในวันสิ้นปี พ.ศ. 2549 ที่บ้านของโกเซีย น้องชายของโกเกี้ยที่นิสัยไม่เหมือนกับโกเกี้ยเลย แต่ไม่ต่างกัน ‘สุดขั้ว’ เหมือนกับอาติ้ว

โกเซียเปรียบเสมือนเป็น ‘ทางสายกลาง’ ระหว่างคนทั้งคู่ รักความยุติธรรมและเคารพนับถือพุทธศาสนา แต่ไม่ถึงขนาดถือศีลแปดเคร่งครัดเหมือนอาติ้ว ชอบคุยเรื่องผู้หญิงด้วยแววตาเจ้าชู้ แต่ไม่ถึงขนาดมีสเป็คแหม่มในดวงใจเหมือนโกเกี้ย และจากประสบการณ์สั้นๆ ของผู้เขียนที่เห็นพวกเขาอยู่ด้วยกัน ในชีวิตจริงโกเซียก็ดูเหมือนจะเป็นผู้ทำหน้าที่ประนีประนอมไกล่เกลี่ย คอยเตือนสติและสอดแทรกมุมมองกึ่งกลางเวลาโกเกี้ยและอาติ้วเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่

เครื่องดักแมลงทรงศาลาไทย
เครื่องดักแมลงทรงศาลาไทย ในคลองบ้านโกเซีย

โกเซียเดินเหินไม่ได้มาหลายปีแล้วหลังจากประสบอุบัติเหตุ แต่ดูแกก็ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใด โกเซียมีสกู๊ตเตอร์สีสวยที่ขับเองไปมาในบริเวณหมู่บ้านได้ เจ้าสกู๊ตเตอร์ตัวนี้ดูดีกว่าเก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าทุกประเภทที่เคยเห็น เพราะนอกจากจะมีสีสันและหน้าตาน่าขับแล้ว สกู๊ตเตอร์ของโกเซียยังสมบุกสมบันอีกต่างหาก ทางขรุขระขนาดไหนโกเซียก็ขับลุยไปได้

บ่ายวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยม โกเซีย ‘ซิ่ง’ สกู๊ตเตอร์ตัวนี้พาชมทุ่งรอบบ้านที่กินเนื้อที่หลายสิบไร่ คลองน้ำใสไหลเย็น ไม่เห็นตัวปลาแต่เห็นแมลงหลายชนิดบินว่อนเครื่องดักแมลงทรงศาลาไทยที่ลอยอยู่เป็นระยะๆ บรรยากาศรอบคลองสงบเงียบ สายลมเจือกลิ่นเกลือโชยมาแตะจมูกเป็นช่วงๆ พอให้หายคิดถึงทะเลตรัง


(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)

โกเซีย

หลังจากที่ได้เพลิดเพลินกับการมองเมืองตรังจากสายตาของคนต่างขั้วที่ต่างก็รักเมืองตรังทั้งคู่ ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะข้าวเย็นกับญาติสนิทมิตรสหายของเพื่อนต่างวัยคู่นี้ ในวันสิ้นปี พ.ศ. 2549 ที่บ้านของโกเซีย น้องชายของโกเกี้ยที่นิสัยไม่เหมือนกับโกเกี้ยเลย แต่ไม่ต่างกัน ‘สุดขั้ว’ เหมือนกับอาติ้ว

โกเซียเปรียบเสมือนเป็น ‘ทางสายกลาง’ ระหว่างคนทั้งคู่ รักความยุติธรรมและเคารพนับถือพุทธศาสนา แต่ไม่ถึงขนาดถือศีลแปดเคร่งครัดเหมือนอาติ้ว ชอบคุยเรื่องผู้หญิงด้วยแววตาเจ้าชู้ แต่ไม่ถึงขนาดมีสเป็คแหม่มในดวงใจเหมือนโกเกี้ย และจากประสบการณ์สั้นๆ ของผู้เขียนที่เห็นพวกเขาอยู่ด้วยกัน ในชีวิตจริงโกเซียก็ดูเหมือนจะเป็นผู้ทำหน้าที่ประนีประนอมไกล่เกลี่ย คอยเตือนสติและสอดแทรกมุมมองกึ่งกลางเวลาโกเกี้ยและอาติ้วเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่

เครื่องดักแมลงทรงศาลาไทย
เครื่องดักแมลงทรงศาลาไทย ในคลองบ้านโกเซีย

โกเซียเดินเหินไม่ได้มาหลายปีแล้วหลังจากประสบอุบัติเหตุ แต่ดูแกก็ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใด โกเซียมีสกู๊ตเตอร์สีสวยที่ขับเองไปมาในบริเวณหมู่บ้านได้ เจ้าสกู๊ตเตอร์ตัวนี้ดูดีกว่าเก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าทุกประเภทที่เคยเห็น เพราะนอกจากจะมีสีสันและหน้าตาน่าขับแล้ว สกู๊ตเตอร์ของโกเซียยังสมบุกสมบันอีกต่างหาก ทางขรุขระขนาดไหนโกเซียก็ขับลุยไปได้

บ่ายวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยม โกเซีย ‘ซิ่ง’ สกู๊ตเตอร์ตัวนี้พาชมทุ่งรอบบ้านที่กินเนื้อที่หลายสิบไร่ คลองน้ำใสไหลเย็น ไม่เห็นตัวปลาแต่เห็นแมลงหลายชนิดบินว่อนเครื่องดักแมลงทรงศาลาไทยที่ลอยอยู่เป็นระยะๆ บรรยากาศรอบคลองสงบเงียบ สายลมเจือกลิ่นเกลือโชยมาแตะจมูกเป็นช่วงๆ พอให้หายคิดถึงทะเลตรัง

โกเซียกันพื้นที่ใหญ่หลายสิบไร่ไว้ทำสองอย่างเท่านั้นคือ เลี้ยงวัว กับเลี้ยงม้า ตอนนี้มีม้าสองตัว สีน้ำตาลสวยตัวเล็ก กับสีขาวตัวใหญ่ เจ้าตัวสีขาวกำลังท้องแก่จวนคลอด ยืนนิ่งๆ ให้เราถ่ายรูปอย่างใจเย็น โกเซียบอกว่า เจ้าตัวสีน้ำตาลซนกว่า คนเลี้ยงต้องพาไปวิ่งเล่นในทุ่งบ่อยๆ คนเลี้ยงม้าสองตัวนี้ก็ไม่ใช่โคบาลอาชีพที่ไหน แต่เป็นคนเมืองตรังที่โกเซียจ้างมา เพราะบอกโกเซียว่าชอบม้า เขาหัดขี่ม้าและเลี้ยงม้าด้วยตัวเองตั้งแต่แรก ได้แผลไปหลายแผลจนกว่าจะเป็น ใครเห็นลีลาการขี่ม้าของ ‘โคบาลจำเป็น’ ผู้นี้คงดูไม่ออกว่าเขาไม่ใช่โคบาลอาชีพ คงมีแต่มืออาชีพตัวจริงเท่านั้นที่จะสังเกตเห็นความเก้งก้างหรืออะไรสักอย่างที่ ‘ไม่ถูกหลัก’ ของการขี่ม้าแบบมืออาชีพ

ม้าที่โกเซียเลี้ยงไว้
ม้าที่โกเซียเลี้ยงไว้ ตัวสีขาวกำลังท้องแก่

แต่จะว่าไป ชุดมาตรฐานที่ให้นิยาม ตีกรอบ และวัดระดับ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ของอาชีพส่วนใหญ่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักการเงิน ทนาย วิศวกร หรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน ก็เป็นเพียงสิ่งที่คนกลุ่มแรกซึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของตัวเองร่วมกันกำหนดขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่วิถีทางและอัตราค่าจ้าง(แพงๆ)ของอาชีพตน และกีดกัน ‘มือสมัครเล่น’ ออกไปจากสนามการแข่งขัน

เจตนารมณ์ของมืออาชีพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อจุดเริ่มของมาตรฐานเหล่านี้มี ‘จรรยาบรรณ’ เป็นหัวใจสำคัญ ทำให้ระดับ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอำนวยความปลอดภัยหรือความสะดวกสบายให้กับผู้รับบริการ โดยเฉพาะสำหรับบริการที่มีมิติทางสังคมหรือศีลธรรมสูง เช่น การรักษาพยาบาลผู้ป่วย

เรื่องเศร้าคือในปัจจุบัน เจตนารมณ์ของมืออาชีพรุ่นแรกปัจจุบันถูกบิดเบือนไปมากโดยมืออาชีพเห็นแก่ได้จำนวนมาก ในแทบทุกสาขาอาชีพ ทนายหลายคนช่วยลูกค้าหาช่องทางหลบเลี่ยงกฎหมาย นักบัญชีหลายคนช่วยบริษัทตกแต่งตัวเลข นักการเงินหลายคนช่วยผู้ถือหุ้นโกงเงินหุ้นส่วน แพทย์หลายคนช่วยกระเป๋าเงินตัวเองด้วยการจ่ายยาแพงเกินความจำเป็น ฯลฯ

หลายครั้ง ‘มืออาชีพ’ เหล่านี้ใช้วิธีการที่ลำพังสามัญสำนึกของคนธรรมดาก็บอกได้ว่า ‘น่าเกลียด’ ถ้าเพียงแต่ความจริงจะถูกเปิดโปงออกมาเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นับวัน ดูเหมือนมืออาชีพหลายคนจะยิ่ง ‘หวง’ วิชาความรู้ของตัวเองมากกว่าเดิม โชคดีที่เว็บไซต์ดีๆ ในอินเทอร์เน็ตมากมายกำลังช่วยทลายเส้นแบ่งของความไม่รู้ที่กั้นกลางระหว่าง ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ มืออาชีพ กับ ‘คนธรรมดา’ ลงบ้าง แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ดี

‘มือสมัครเล่น’ ที่ตั้งใจทำงานอย่างสุจริตและรักงานที่ตัวเองทำ เหมือนกับโคบาลจำเป็นที่ทำงานให้โกเซีย จึงอาจมี ‘ความเป็นมืออาชีพ’ สูงกว่ามืออาชีพแท้ๆ ที่ทำงานแบบเสียไม่ได้ หรือตั้งหน้าตั้งตาทุจริตเพื่อลูกค้าหรือเพื่อตัวเองท่าเดียว

หากใครคิดว่ามิติของ ‘จรรยาบรรณ’ ปัจจุบันไม่ควรนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ เพราะเป็น ‘ส่วนเกิน’ ที่แต่ละคนต้องคิดเอาเอง ไม่ใช่กฏเกณฑ์ตายตัวทางกฎหมาย ผู้เขียนก็คิดว่าในกรณีนั้น ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ก็ไร้ความหมาย เลิกพูดเรื่องนี้กันไปเลยดีกว่า

เพราะมืออาชีพเก่งๆ ที่ไร้จรรยาบรรณ ก็ไม่ต่างอะไรกับขโมยที่เก่งในการยกเค้าบ้านคนอื่น

วัวแรกเกิด บริเวณบ้านโกเซีย
วัวแรกเกิด บริเวณบ้านโกเซีย

นอกจากโกเซียจะเลี้ยงม้าสองตัวนี้ ก็ยังเลี้ยงวัวอีกนับสิบตัวในทุ่งหน้าบ้าน แม่วัวตัวหนึ่งเพิ่งคลอดลูกไม่กี่ชั่วโมงก่อนผู้เขียนไปเยือนบ้านโกเซีย แม่วัวเดินตามลูกต้อยๆ ด้วยสายตาห่วงหาอาทร คอยเอาจมูกดุนก้นเจ้าวัวน้อย ที่ยังไม่คุ้นเคยกับวิธีใช้ขาสี่ข้างของตัวเอง มันยืนขาสั่นตัวโยนไปมา ทำท่าว่าจะหกล้มหลายครั้ง แต่ด้วยความช่วยเหลือของแม่ (แอบต่อเข้าข้างตัวเองนิดหน่อยว่า และด้วยกำลังใจจากคนดู) ในที่สุดมันก็เดินได้ด้วยตัวเอง มีแม่วัวเดินตามอยู่ไม่ห่าง

ชีวิตช่างเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ดังที่ เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury) หนึ่งในนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด เคยรำพึงว่า “เราเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในจักรวาลที่เป็นไปไม่ได้” (We are an impossibility in an impossible universe.)

โกเซียยิ้มตาเป็นประกายแล้วบอกว่า ยังไม่ได้คิดชื่อให้ลูกวัวตัวนี้เลย แต่จำวันเกิดมันง่ายดี เพราะเกิดวันสิ้นปีพอดี ปีที่ผ่านไปมีลูกวัวเกิดใหม่สามตัวแล้ว เกิดวันดีๆ ทั้งนั้น

โกเซียเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี และไม่เคยคิดว่าความพิการของตัวเองเป็นปมด้อย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพี่หน่อย ภรรยาของโกเซีย คอยดูแลปรนนิบัติอย่างดี

แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ โชคดีที่โกเซียมีฐานะดีพอที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่กับความพิการได้อย่างมีคุณภาพ เพราะคนพิการยังเป็น ‘คนชายขอบ’ ที่สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร หรือบางครั้งก็แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นว่าพวกเขามีตัวตน

หนังสือเกี่ยวกับคนพิการที่เพิ่งอ่านจบไปไม่นาน 4 เล่ม คือ เต้นรำในความมืด, เสียงจากโลกเงียบ โดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และดาวบางดวง, สะพานไม้ โดย โอปอล์ ประภาวดี ซึ่งทั้งหมดนี้จัดพิมพ์โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนพิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนตาบอด คนหูหนวก เด็กออทิสติก ฯลฯ ได้อย่างดีเยี่ยมและงดงาม

คนพิการที่เรื่องราวถูกถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือแตกต่างกันมากเท่าที่คนกลุ่มหนึ่งจะแตกต่างกันได้ ทั้งวัย เพศ คุณวุฒิการศึกษา ฐานะ ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันคือ สิ่งที่พวกเขาต้องการจากคนสมประกอบที่สุดไม่ใช่ความสงสารเวทนา หากเป็น ‘ความเข้าใจ’ และ ‘การยอมรับ’ ในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมคนอื่น และมีศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

สื่อต่างๆ โดยเฉพาะทีวี มักจะนำเสนอเรื่องราวของคนพิการในฐานะเป็น ‘ผลลัพธ์’ ของเหตุการณ์ร้ายๆ อะไรสักอย่าง ประหนึ่งว่าคนพิการต้องลำบาก ก้มหน้ารับ ‘ผลกรรม’ ที่พวกเขาหรือคนอื่นเป็นผู้ก่อ ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นตลอดชีวิต ไม่ใช่ในฐานะมนุษย์ผู้มีลมหายใจ ที่กำลังพยายามใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างมีศักดิ์ศรี

เวลาทีวีเสนอข่าวคนพิการทีไร ก็มักจะนำเสนอแต่เรื่องราวในอดีตของพวกเขา ก่อนที่จะประสบโชคร้ายที่ทำให้พิการ และแทบทุกครั้งข่าวทำนองนี้ก็จะจบลงด้วยประโยคสรุปทำนอง ‘ความประมาททำให้ xxx ต้องเสียขาทั้งสองข้าง และสูญสิ้นความหวังทุกอย่างในชีวิต’

ตราบใดที่สื่อยังไม่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนพิการ ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาที่ต้องการการยอมรับและความเข้าใจจากเพื่อนมนุษย์ และกลไกสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองได้ เช่น สื่อการศึกษา การฝึกทักษะและเครื่องมือประกอบอาชีพ (ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กระบะล๊อตเตอรี่ หรือเก้าอี้โอเปอเรเตอร์ อาชีพสองอย่างเท่านั้นที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าคนพิการทำได้) มากกว่าความสงสารและเงินบริจาคเป็นครั้งคราว สังคมไทยก็คงจะยังคงมีอคติและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคนพิการ มองว่าพวกเขาเป็นเพียง ‘ผู้เคราะห์ร้าย’ ที่ ‘ช่วยตัวเองไม่ได้’ ไปอีกนาน

……

พวกเรา (หมายถึงผู้เขียน โกเซีย และลูกเพื่อนชาวเชียงใหม่ของโกเซียที่มาเที่ยวช่วงปิดเทอม) เพลิดเพลินกับการเอาใจช่วยเจ้าลูกวัวจนลืมเวลา กว่าจะรู้ตัวอีกที พระอาทิตย์ก็คล้อยต่ำลงจนแทบจะลับขอบฟ้าไกลลิบ ทอแสงอาบทุ่งหญ้าเป็นสีทองอ่อนๆ วัวตัวขาวทุกตัวกลายเป็นสีกลีบมะลิเหลืองอ่อน รวมทั้งเจ้าตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่ถึงครึ่งวัน

พวกเราเข้าบ้านไปทันเห็นรายงานข่าวการวางระเบิดกรุงเทพฯ หลายจุด วงสนทนาเปลี่ยนเกียร์อย่างฉับพลันมาเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข่าวลือ และข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองที่กำลังร้อนระอุพอๆ กับอากาศ

เป็นหัวข้อที่เข้ากันดีกับอาหารปักษ์ใต้บนโต๊ะ ที่มีรสเผ็ดร้อน ดุดัน และหลากหลายไม่ต่างจากคนท้องถิ่น

เนื่องจากผู้เขียนอยู่ในแวดวงกลุ่มคนผู้พิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ทั้ง ‘มืออาชีพ’ เจ้าของร้านอาหารชื่อดังอย่างโซ้ยโกว และเหล่า ‘มือสมัครเล่น’ ที่ทำอาหารอร่อยมากอย่างโกเกี้ย (จานเด็ด: สะตอผัดกะปิใส่หมู) ภรรยา (จานเด็ด: วุ้นมะพร้าวอ่อน) และเพื่อนๆ กินได้ตั้งแต่ข้าวแกงข้างถนนยันอาหารจีนขึ้นเหลา ขอแค่อร่อยจริงเท่านั้น ทำให้แกงคั่วไก่บ้านที่ทำเองในครัว จึงอยู่ร่วมโต๊ะกับน้ำพริกกะลารสจัดจากพังงา ราคาย่อมเยาแต่ต้องถ่อไปซื้อถึงที่ และไส้กรอกเยอรมันราคาแพง จาก Bei Otto ร้านอาหารชื่อดังจากกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่แปลกแยก

ความรุ่มรวย (ไม่ใช่ความร่ำรวย เพราะนี่คือเรื่องของน้ำพักน้ำแรงและน้ำใจ ไม่ใช่เรื่องเงิน) ของอาหารมื้อนี้ทำให้นึกถึงคุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มตลอดกาล ที่บรรยายใน บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร หนังสือโปรดของผู้เขียนเล่มหนึ่งว่า วิธีดูความอุดมสมบูรณ์ของครัวคนใต้วิธีหนึ่งคือดูจากแอ่งน้ำครำใต้ถุนบ้าน หรือที่คนใต้เรียกว่า ‘แอ่งขี้กลา’ ยิ่งแอ่งขี้กลามีขนาดกว้างและมีเศษอาหารมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแปลว่าบ้านนั้นกินดีอยู่ดีมากเท่านั้น

ในเมืองเปี่ยมเสน่ห์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีน้ำใจต่อกันอย่างเมืองตรัง ขนาดของแอ่งขี้กล่าคงสะท้อนจำนวนแขกที่เจ้าของบ้านเชื้อเชิญมาร่วมโต๊ะด้วย ใต้ถุนบ้านไหนมีแอ่งขี้กล่าขนาดใหญ่แปลว่าไม่ได้กินดีอยู่ดีอย่างเดียว แต่แปลว่าคืนก่อนนั้นมีงานเลี้ยงสังสรรค์ เจ้าของบ้านคงไม่ได้ทำอาหารเยอะๆ ไว้กินกันเองไม่กี่คน ไม่เหมือนกับคนเห็นแก่ตัวหลายคนในกรุงเทพฯ ที่ผู้เขียนโชคร้ายที่(ดัน)รู้จัก

ไม่ทันได้สังเกตแอ่งขี้กลาใต้บ้านโกเซีย แต่เชื่อว่ามันต้องใหญ่แน่ๆ โดยเฉพาะเมื่อเห็นโกเซียและพี่หน่อยเทเศษอาหารออกไปนอกหน้าต่าง แกบอกว่า นี่แหละปุ๋ยชั้นดีสำหรับต้นไม้ ถ้าเก็บทิ้งลงถังขยะคงเสียดายแย่

หลังจากที่วงสนทนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการเมืองจนคลังข้อมูลและข่าวลือของทุกคนอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว หัวข้อสนทนาก็เริ่มเฉไฉไปสู่เรื่องสัพเพเหระ แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน ที่ล้วนแต่คุยสนุกทั้งนั้น

เมื่อเราคุยกันเรื่องโลกร้อน พี่หนาน เพื่อนสนิทคนหนึ่งของแก๊งค์โกเซียก็เล่าเรื่องหมู่เกาะสุรินทร์ให้ฟังว่า สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะแนวปะการังของหมู่เกาะแห่งนี้เสื่อมโทรมเร็วมาก ทั้งๆ ที่รัฐบาลท้องถิ่นมีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สูงติดอันดับโลก จำกัดโควตานักท่องเที่ยวให้เหลือเพียงเดือนละ 200 คน แต่ก็ไม่ได้ผล ทำให้นักวิจัยหลายคนสนใจมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อหาว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานี้คืออะไรกันแน่ ทีมวิจัยชุดหนึ่งตั้งสมมุติฐานว่ากระแสน้ำอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เลยทดลองโยนทุ่นไปรอบๆ เกาะ แล้วดูว่าน้ำพัดมันไปที่ไหน ก็พบว่าทุ่นส่วนใหญ่ลอยเข้าไปอยู่ในอ่าวแม่ยาย แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นทุ่นหรือสารเคมีอื่นๆ ก็ถูกน้ำพัดเข้าไปอยู่ในอ่าวนี้ด้วย เมื่อนักวิจัยตักน้ำจากอ่าวแม่ยายไปวิเคราะห์ก็พบว่า มีผงซักฟอกจำนวนมากที่สะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20-30 ปี คงลอยจากบ้านคนแถวๆ นี้มารวมตัวกันในอ่าว และพบต่อไปว่า สารเคมีในผงซักฟอกเป็นสารที่กระตุ้นให้ปะการังสีขาวโตเร็วเกินไป จนเบียดบังปะการังชนิดอื่นๆ ทำให้แนวปะการังลดน้อยลงอย่างที่เห็น

พี่หนานสรุปอย่างน่าคิดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายเรื่องก็เป็นอย่างนี้ คือบางทีเราไม่ได้ตั้งใจจะทำลายธรรมชาติ แต่ไม่มีทางรู้เลยว่าการกระทำของเราจะก่อให้เกิดผลร้ายอะไรบ้าง เพราะผลของมันจะปรากฎก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปเป็นสิบๆ ปี และบางทีเราก็ไม่สามารถสาวไปถึงสาเหตุได้ด้วยซ้ำ

……

พี่กัน กับน้องปู

บ้านของพี่กัน
บ้านของพี่กัน

ก่อนที่ผู้เขียนจะกลับกรุงเทพฯ โกเกี้ยชี้ให้ดูบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ น่ารัก มีคลองล้อมรอบ ที่อยู่ติดกับบ้านโซ้ยโกว บอกว่าอยากแนะนำให้รู้จักกับเจ้าของบ้าน แต่เสียดายที่ช่วงปีใหม่เธอไปเที่ยวที่อื่น เจ้าของบ้านนี้เป็นสถาปนิกสาวโสดชื่อพี่กัน เป็นลูกสาวโรงแรมชื่อดังในขอนแก่น แต่ไม่อยากสานต่อธุรกิจของครอบครัว ต้องการใช้ชีวิตแบบเงียบๆ มาเที่ยวเมืองตรังแล้วชอบบรรยากาศ เลยตัดสินใจปลูกบ้านอยู่ที่นี่ พี่กันชอบดำน้ำ เป็นคู่หูดำน้ำของโกเกี้ยก่อนที่โกเกี้ยจะเลิกดำ แต่พี่กันยังดำอยู่ เพราะงานอดิเรกที่เธอชอบทำที่สุดคือการดำน้ำเก็บขยะที่คนทิ้งลงใต้น้ำ เอามาดัดแปลงเป็นศิลปะตกแต่งบ้าน

ช่วงที่เกิดสึนามิ พี่กันเป็นหนึ่งในคนตรังจำนวนไม่น้อยที่อาสาไปดำน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลางทะเล หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่พี่กันช่วยชีวิตไว้ เป็นสาวเมืองตรังอายุเพียง 24 ปีที่ไปทำงานบนเกาะพีพี ชื่อน้องปู ซึ่งกลายเป็นผู้พิการนอนแน่นิ่งอยู่กับที่ ทนทรมานกับอาการกล้ามเนื้อขมวดเกร็งที่บรรเทาได้ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ราคาหมื่นกว่าบาท ทุกๆ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าครอบครัวน้องปูจะรับไหว

(หากท่านอยากเห็นสภาพปัจจุบันของน้องปู คลิ้กที่นี่ (คำเตือน: อาจทำให้สะเทือนใจ))

พี่กัน โซ้ยโกว และเพื่อนคนอื่นๆ จึงช่วยกันเขียนเรื่องราวสั้นๆ ของน้องปู พิมพ์แจกไปตามบ้านคนรู้จัก และเอากล่องรับบริจาคไปตั้งไว้ในร้านอาหารของโซ้ยโกว

แผ่นพับแผ่นนั้นมีข้อความต่อไปนี้:

“เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิผ่านมาเกือบครบปีแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์หาได้มีเพียงจำนวนผู้ประสบภัยโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวและผู้ใกล้ชิด มาถึงวันนี้หลายคนหลายครอบครัวจากจำนวนผู้เคราะห์ร้ายนับหมื่นในไทย ค่อย ๆ ปรับฟื้นร่างกายและจิตใจคืนมา แต่ยังมีเหยื่อสึนามิอีกมากที่ต้องเผชิญกับฝันร้ายที่ไม่มีทีท่าจะจบสิ้น

ปู (อุไรวรรณ เพ็ชรอินทร์) ลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้าบนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ คือหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกคลื่นยักษ์กลืนกินไปในวันนั้นและได้รับความช่วยเหลือจากเรือมหิดลนำส่งโรงพยาบาลสิริโรจน์ ภูเก็ต หัวใจเธอหยุดเต้นไปช่วงหนึ่ง ตกอยู่ในสภาวะโคม่าถึง 9 วัน เอ็นร้อยหวายขาด แม้สามารถรอดชีวิตตื่นมา แต่ในวันนี้สภาพของเธอกลับเลวร้ายยิ่งกว่า จากหญิงสาวอายุ 24 ปี ร่างกายแข็งแรงทำงานพึ่งพาตัวเองและส่งเงินจุนเจือครอบครัว กลับกลายเป็นคนพิการนอนนิ่งกับที่ แม้สมองจะรับรู้ แต่บางส่วนของสมองเสียหายเนื่องจากขาดออกซิเจนไปช่วงหนึ่งทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ร่างกายแขนขา แข็งแกร็ง ฝ่อลีบ พูดจาแทบจับคำไม่ได้ กินอาหารได้เพียงของเหลวและอาหารบด และเจ็บปวดเพราะเส้นเอ็นทั่วร่างกายที่หดเกร็ง อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปูต้องทนและทำใจยอมรับสภาพว่าตัวเองจะเป็นเช่นนี้ไปตลอด เพราะไม่สามารถรักษาได้

นับจากวันที่เกิดคลื่นยักษ์จนถึงวันนี้ ปูอยู่ในความดูแลของพี่สาวและพี่เขย (ปาริชาติ และอรรถพล ศีรษะน้อย) ซึ่งเป็นผู้รับภาระดูแลและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการรักษาพยาบาลปูมาตลอด ผู้หารายได้เข้าครอบครัวมีเพียงคนเดียวคือ อรรถพล (พี่เขย) ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ส่วนปาริชาติ (พี่สาว) เป็นแม่บ้านเต็มเวลาดูแลบ้านและลูก 3 คน อายุ 10 ขวบ 6 ขวบ และ 4 ขวบ และต้องรับหน้าที่พยาบาลดูแลน้องสาว ทั้งป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดตัว พลิกตัว ทำกายภาพ และจัดการเรื่องการขับถ่าย เพราะปูไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้เลย

แม้อรรถพลผู้เป็นพี่เขยและสมาชิกทุกคนในครอบครัวของปาริชาติจะเต็มใจรับภาระดูแลปู เพราะปูเป็นน้องสาวคนเล็กที่ปาริชาตเป็นผู้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก และปูก็ช่วยดูแลหลาน ๆ ทั้ง 3 คนมาตั้งแต่เกิด ก่อนจะไปทำงานจนเกาะพีพีจนประสบกับเคราะห์ร้ายดังกล่าว แต่ลำพังเพียงเงินเดือนข้าราชการของอรรถพลเพียงคนเดียว ต้องเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวถึง 5 คน ซึ่งมีคนพิการรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นภาระหนักที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัว ทั้งในด้านความเป็นอยู่โดยรวมและค่าเทอมค่าเรียนของเด็ก ๆ ทั้ง 3 คน

ปัจจุบัน ทุกคนในครอบครัวต่างพยายามทำใจยอมรับสภาพความพิการของปูได้แล้วว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ สิ่งที่ทุกคนหวังว่าน่าจะทำได้คือการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เธอได้รับ เช่น การฉีดยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเกร็ง ซึ่งยานี้จะมีสิทธิ์อยู่ได้ 3 เดือน ค่าฉีดครั้งละหมื่นกว่าบาท ลำพังเพียงรายรับของอรรถพลนั้นไม่พอสำหรับยาตัวนี้ เพราะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในครอบครัวก็หนักอยู่แล้ว

แม้ผลกระทบจากสึนามิ ทำให้ปูต้องทนรับความพิการไปตลอดชีวิต แต่หากรัฐ มูลนิธิ หรือหน่วยงานบรรเทาทุกข์อื่น ๆ สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของครอบครัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลปู หรือค่าย่าฉีดคลายกล้ามเนื้อ สภาพความเป็นอยู่และความเจ็บปวดของปูก็น่าจะผ่อนหนักเป็นเบาไปได้บ้าง

รายการช่วยเหลือน้องปูที่ผ่านมา

หากท่านต้องการร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้องปู สามารถโอนเงินเข้าบัญชีน้องปู ปาริชาติ ศรีษะน้อย ธนาคารกรุงไทย สาขาตรัง หมายเลข 903-0-27010-1 หรือถ้าท่านใดมีไอเดียเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐหรือมูลนิธิใดก็ตามที่น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวน้องปูได้ ขอความกรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบล็อกนี้ หรืออีเมล์ผู้เขียนเป็นการส่วนตัว จะเป็นพระคุณอย่างสูง

……

เมืองตรังยังมีเรื่องราวมากมายที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ ในช่วงเวลาอันแสนสั้นที่ได้ผ่านพบและผูกพัน เช่น ติ่มซำอร่อยที่ราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ กินกันแทบตาย 3 คน 15 เข่ง ออกมาแค่ 160 บาทเท่านั้น ราคานี้กินติ่มซำร้านดีๆ ในฮ่องกงได้ประมาณเข่งครึ่งเท่านั้น โกเกี้ยคุยทับด้วยว่า ร้านที่พาไปกินนี่คนตรังเรียก ‘แพง’ แล้ว เพราะขายติ่มซำเข่งละ 10 บาท เจ้าอื่นขายเข่งละ 8 บาท

จังหวะชีวิตที่ไม่เร่งร้อนของคนตรัง ผนวกกับน้ำใจของคนและน้ำทะเลสีสวย ทำให้เมืองตรังมีเสนห์อันยากจะลืมเลือน ขนาดยุงเมืองตรังยังบินช้าๆ เชื่องๆ ตบง่ายมาก ไม่เหมือนกับยุงกรุงเทพฯ ที่บินเร็ว เจ้าเล่ห์แสนกล ชอบลอบกัด และทิ้งรอยแดงเป็นจ้ำๆ ที่อยู่นานหลายวัน

ถ้าคุณเชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างในชีวิต เมืองตรังอาจทำให้คุณเปลี่ยนใจ

ถ้าคุณกำลังอยากออกเดินทางเพื่อ ‘ตามหาตัวเอง’ (ตามภาษาเท่ๆ ที่นักเขียนเขาใช้กัน ผู้เขียนก็ไม่ค่อยแน่ใจว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่) เมืองตรังอาจไม่ทำให้คุณบรรลุเป้าหมาย แต่จะช่วยทำให้หัวใจของคุณพองโตขึ้นแน่นอน

ขอเพียงแต่คุณเปิดใจต้อนรับเมืองตรัง เมืองตรังจะเข้าไปจับจองพื้นที่่ในใจคุณ.

(ขอขอบคุณ โซ้ยโกว โกเกี้ย โกเซีย อาติ้ว พี่หนาน ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายของบุคคลเหล่านี้ที่ได้รู้จัก พี่เจง รุ่นพี่ผู้แสนดีที่เอื้อเฟื้อผู้เขียนตลอดมา และหนังสือ “ผ่านพบไม่ผูกพัน” ของอาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล สำหรับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อเรื่องนี้)