วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักปฏิบัติผู้ทำคุณูปการมหาศาลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องในโอกาสนี้ หลายสำนักพิมพ์เช่น อัมรินทร์ สุขภาพใจ กลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ได้ทยอยนำหนังสือและบทความของท่านพุทธทาสมาพิมพ์ใหม่ หลายเล่มโดยเฉพาะของอัมรินทร์สอดแทรกด้วยภาพประกอบสี่สีสวยงาม ทำให้ถึงแม้จะมีแล้วก็อดซื้อฉบับพิมพ์ใหม่ไปเก็บไม่ได้ (ตอนนี้ลำพัง “คู่มือมนุษย์” เล่มเดียวที่บ้านก็ปาเข้าไปสามเล่มสามเวอร์ชั่นแล้ว เฮ้อ การสะสมหนังสือนี่มันเป็นกิเลสที่เลิกยากจริงๆ ด้วย)
หนังสือของท่านพุทธทาสมีมากมายหลายร้อยเล่ม ทุกเล่มล้วนอ่านง่ายด้วยภาษาปัจจุบันอันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน แต่ต้องอ่านใหม่หลายรอบอย่างช้าๆ เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็อ้างไม่ได้ว่าเข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ) เล่มที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือเล่มต่อไปนี้:
วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักปฏิบัติผู้ทำคุณูปการมหาศาลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องในโอกาสนี้ หลายสำนักพิมพ์เช่น อัมรินทร์ สุขภาพใจ กลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ได้ทยอยนำหนังสือและบทความของท่านพุทธทาสมาพิมพ์ใหม่ หลายเล่มโดยเฉพาะของอัมรินทร์สอดแทรกด้วยภาพประกอบสี่สีสวยงาม ทำให้ถึงแม้จะมีแล้วก็อดซื้อฉบับพิมพ์ใหม่ไปเก็บไม่ได้ (ตอนนี้ลำพัง “คู่มือมนุษย์” เล่มเดียวที่บ้านก็ปาเข้าไปสามเล่มสามเวอร์ชั่นแล้ว เฮ้อ การสะสมหนังสือนี่มันเป็นกิเลสที่เลิกยากจริงๆ ด้วย)
หนังสือของท่านพุทธทาสมีมากมายหลายร้อยเล่ม ทุกเล่มล้วนอ่านง่ายด้วยภาษาปัจจุบันอันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน แต่ต้องอ่านใหม่หลายรอบอย่างช้าๆ เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็อ้างไม่ได้ว่าเข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ) เล่มที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือเล่มต่อไปนี้:
- คู่มือมนุษย์ – ผลงานชิ้นเอกของท่านพุทธทาสที่ทุกคนควรอ่าน แล้วคุณจะได้รู้ว่า “คน” เราควรปฎิบัติตนอย่างไร เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็น “มนุษย์” ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างมี “จิตว่าง” ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกภายนอก
- แก่นพุทธศาสน์ – สรุปสาระสำคัญของโลกุตรธรรม ธรรมะเบื้องลึกที่ท่านพุทธทาสพยายามตลอดชั่วชีวิตของท่านที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่คนธรรมดา “ไม่มีวันเข้าถึง” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
- ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี – หนังสือเก่าที่เพิ่งหาเจอ รวบรวมหลักธรรมคำบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุในโอกาสต่างๆ ในหัวข้อ “ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี” ชี้ให้เห็นคุณค่าของสติแบบเป็นรูปธรรมชัดเจนในแง่มุมใหม่ เปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัวในยุคปัจจุบันต่างๆ เช่น การงาน และค่านิยมของสังคมในประเด็นต่างๆ เช่นความงาม
- ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ [ไฟล์ PDF, 19 หน้า]- แนวคิดเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” ระบอบการปกครองในอุดมคติของท่านพุทธทาส รวบรวมโดยกลุ่มพุทธทาสศึกษา เป็นหนังสือแต่ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บด้วย
- หัวข้อธรรมในคำกลอน – รวบรวมบทกลอนบางบทของท่านพุทธทาส ที่แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพด้านนี้อย่างชัดเจน กลอนสอนธรรมะเหล่านี้มีความไพเราะแบบ “อ่านเอาเรื่อง” ไม่ใช่ “อ่านเอารส” อย่างกลอนแปดส่วนใหญ่
- พุทธทาสลิขิตคำกลอน – คล้ายเล่มบน แต่ทั้งเล่มทำจากต้นฉบับเดิม เขียนด้วยลายมือของท่านพุทธทาสเอง กระดาษดี น่าเก็บมากๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน “โครงการอนุรักษ์ต้นฉบับงานเดิมพุทธทาสภิกขุ” ของกลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ร่วมกับสุธีรัตนามูลนิธิ นอกจากเล่มนี้ก็มีเรื่อง พุทธทาสลิขิตข้อธรรม: บันทึกนึกได้เอง พินัยกรรม. เท่าที่นึกได้ และ คำสั้น ล้วนเป็นหนังสือดีน่าอ่าน เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยแง่คิดดีๆ จากท่านพุทธทาสแล้ว ยังทำให้คนอ่านเห็นวิธีการคิด และวิธีการทำงาน (ที่เป็นระบบมากๆ) ของท่านด้วย
คุณูปการและอัจฉริยภาพของท่านพุทธทาสนั้น มีพระ ผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญมากมายที่เขียนยกย่องด้วยความรู้ด้านธรรมะอันละเอียดลึกซึ้ง ผู้เขียนซึ่งเป็นเพียงพุทธศาสนิกหัดเดิน ไม่อาจหาญกล้าพรรณาคำสอนของท่านพุทธทาสที่ตัวเองก็รู้อยู่แค่เพียงเศษเสี้ยว เลยคิดว่าจะเขียนอธิบายเหตุผลส่วนตัวหลักๆ ที่ทำให้เลื่อมใสท่านมากดีกว่า 🙂
1. ท่านชี้ให้เห็นว่าแก่นแท้ของพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกับเรื่องตายแล้วเกิดใหม่
ก่อนผู้เขียนจะ “ค้นพบ” ท่านพุทธทาส ไม่เคยนึกว่าตัวเองเป็น “พุทธศาสนิก” ที่แท้จริง เพราะไม่เคยเชื่อว่าคนเราตายแล้วเกิดใหม่ และในเมื่อความเชื่อนี้ดูเหมือนจะเป็น “แก่น” ที่สำคัญของศาสนาพุทธ ก็เลยทึกทักไปว่า ชาตินี้คงไม่สามารถนับว่าตัวเองเป็นพุทธได้ สมัยเด็กๆ เวลากรอกแบบฟอร์มราชการต่างๆ จึงอยากกรอกช่อง “ไม่นับถือศาสนาใดๆ” แต่มันไม่เคยมีให้กรอก เลยต้องจำใจกาช่อง “พุทธ” แทนทุกครั้ง
ต่อมาได้อ่านข้อเขียนของท่านพุทธทาส ท่านว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องชาติหน้า ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมหรือแม้แต่บรรลุนิพพานได้ เพราะความเชื่อเรื่องชาติหน้าไม่ได้เป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนา
คำสอนนี้ทำให้ผู้เขียนตาสว่างขึ้นมา ท่านพุทธทาสอธิบายให้เห็นภาพว่า สังสารวัฏหรือวัฏจักรการเกิด-ดับนั้น เกิดขึ้นในระดับจิตของคนเรานี่แหละ ไม่ต้องไปดูระดับชีวิตทั้งชีวิต จิตของเรามีการเกิด ดับ และเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ในภพภูมิต่างๆ ตลอดชั่วอายุขัยของคนทุกคน (เช่น เวลาเราโมโห จิตเราก็ไปเกิดในภพอสูร พอเราใจเย็นลงได้ จิตก็ข้ามไปเกิดในภพมนุษย์ใหม่)
ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าจะเป็นพุทธศาสนิกจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้ว่ากิเลสยังพอกหนาเตอะเพียงใดก็ตาม :O
(ประเด็นนี้เคยเขียนถึงเมื่อปีที่แล้วในบล็อก เป็นภาษาอังกฤษ ตอนที่พยายามจะเขียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเมืองไทยให้ฝรั่งเข้าใจ :))
2. ท่านชี้ให้เห็นว่านิพพานไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป
ท่านพุทธทาสเป็นหนึ่งพระไทยจำนวนไม่กี่องค์ที่เน้นการสอนเรื่องโลกุตรธรรม หรือธรรมะชั้นสูงเพื่อการบรรลุนิพพาน (ธรรมะเพื่อฝึกจิตให้หลุดจากสภาวะทางโลก) แทนการสอนด้านโลกียธรรม หรือธรรมะทางโลกย์ ท่านพุทธทาสเน้นหลายครั้งว่า นิพพานนั้นไม่ใช่จุดหมายที่อยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับฆราวาสอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด ตรงกันข้าม พุทธศาสนิกทุกคนควรมุ่งศึกษาและปฏิบัติธรรมะระดับโลกุตร เพื่อให้เข้าถึงนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด
ในเมื่อท่านพุทธทาสเน้นโลกุตรธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวข้อธรรมที่ท่านเน้นย้ำมากที่สุดคือเรื่องสุญญตา (ความว่าง) ซึ่งเป็นข้อที่มักถูกละเลยในการปฏิบัติธรรม (เรามักจะท่องจำว่าแก่นของพุทธศาสนาคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น ทั้งๆ ที่ถ้าจิตไม่ว่างจริง หรือเข้าถึงสุญญตาไม่ได้ ก็ไม่สามารถทะลุไปสู่นิพพานได้)
คำสอนที่ผู้เขียนประทับใจมากคือ ท่านพุทธทาสสอนว่าคนเราประสบภาวะ “นิพพานชั่วคราว” อยู่เสมอๆ โดยไม่รู้ตัว และสามารถบรรลุนิพพานในชาตินี้ได้ ทุกคนไม่ควรรอหวังนิพพานในอนาคตหรือในชาติหน้า เพราะเราไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ดังคำของท่านจากเว็บกลุ่มพุทธทาสศึกษา ดังนี้:
ขอให้สังเกตอย่างยิ่งว่า เวลาไหนที่สบายที่สุดสำหรับคนเรา เวลาที่รู้สึกสบายที่สุดสูงสุด ก็คือเวลาที่จิตมันไม่มีความคิดรู้สึกว่าตัวตน ซึ่งมันก็มีอยู่ได้เองตามธรรมชาติ; แต่เรากลับไม่สนใจกลับมองข้ามไป. นี้คือสิ่งที่มีบุญคุณสูงสุดแก่เรา จะเรียกว่าพระนิพพานชั่วคราว, พระนิพพานตัวอย่าง, พระนิพพานน้อย ๆ ชั่วระยะอันสั้น คือระยะที่ว่างจากตัวตนนั่นแหละมันจึงรอดชีวิตอยู่ได้. พูดให้ชัดก็ต้องพูดว่า ชีวิตนี้รอดอยู่ได้เป็นปกตินี้ เพราะมีพระนิพพานน้อย ๆ เข้ามาแทรกเป็นระยะ ๆ อยู่อย่างนี้
ขอทุกคนอย่าได้มองข้ามไป, จะเป็นการเนรคุณอย่างยิ่งต่อพระนิพพานชนิดนี้ คือความที่ว่างจากตัวตนอยู่ได้เป็นระยะ ๆ; ตามธรรมชาติก็ดี, หรือตามที่เราควบคุมไว้ด้วยสติปัญญา คือการปฏิบัติธรรมะก็ดี, ให้รู้ว่า ชีวิตนี้รอดอยู่ได้นี้ เพราะพระนิพพานชั่วคราวหล่อเลี้ยงเอาไว้ถูกต้องสมบูรณ์ตามระยะตามสมควร เราจึงไม่เป็นบ้าและไม่ตาย; ถ้าขาดอันนี้เสีย ก็มีกิเลสตลอด ๒๔ ชั่วโมง วันเดียวก็ตายหมดแหละ ไม่มีอะไรเหลือ.
ผู้เขียนคิดว่าเคยรู้ตัวว่าเข้าถึง “นิพพานชั่วคราว” เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต ประสบการณ์นี้ทุกครั้งเกิดขึ้นตอนไปส่องกล้องดูดาวยามดึก ประสบการณ์นี้เคยเล่าคร่าวๆ เป็นบทความแรกของบล็อกนี้เลยนะ สงสัยจะซาบซึ้งกับการดูดาว วินเซนท์ แวน โกะห์ และคำสอนของท่านพุทธทาสพอๆ กัน 🙂
นอกจากนี้ การที่ท่านพุทธทาสเน้นสอนเรื่องสุญญตา ทำให้ท่านศึกษาและเผยแพร่แนวคิดของพุทธนิกายเซน ซึ่งเป็นแนวที่เน้นเรื่องนี้ มากกว่าพระไทยองค์อื่นๆ ผู้เขียนคิดว่าคำสอนเรื่อง “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ของท่านนั้น เป็น “เซน” ยิ่งกว่าคำสอนของพระเซนในญีุ่ปุ่นบางรูปเสียอีก
3. ท่านชี้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของศาสนาแน่นอน และอธิบายลักษณะของการเมืองในอุดมคติ
แม้ว่าท่านพุทธทาสจะเน้นคำสอนด้านโลกุตรธรรม ท่านก็ไม่ละเลยโลกียธรรม โดยเฉพาะข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งท่านย้ำบ่อยครั้งว่าเป็นขอบเขตของศาสนาแน่นอน เพราะเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ข้อเขียนด้านการเมืองของท่านพุทธทาสมีหลายเล่ม แต่ที่ผู้เขียนชอบมากคือเรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม [ไฟล์ PDF, 19 หน้า] ซึ่งกลุ่มพุทธทาสศึกษารวบรวมขึ้นเป็นเล่ม และให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บ
ความบางตอนจากหนังสือ:
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัดนี้เราจะพูดกันถึงสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งจะเป็นศาสนาไหนก็ได้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ตามหลักของธรรมชาติ ขอให้ทำความรู้สึกสำหรับจะฟังความหมายของคำ ๆ นี้ตามหลักแห่งพระศาสนาโดยตรง ความรู้สึกของผู้ฟังขณะนี้ควรจะเกลี้ยงเกลาไปจากความคิดเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนว่า ขึ้นชื่อว่าสังคมนิยมละก็ ต้องเป็นระบบชนกรรมาชีพที่ยื้อแย่งนายทุน หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกันเลย.
พูดกันอย่างธรรมสัจจะอย่างตั้งต้นไปใหม่… ธรรมสัจจะนี่คือตัวแท้ตัวจริงของธรรม ของธรรมะก็ได้ ของธรรมชาติก็ได้ เป็นสิ่งเดียวกัน ตัวแท้ตัวจริงของธรรมชาตินั้นก็เป็นสังคมนิยม คือว่ามันไม่มีอะไรที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ มันต้องอาศัยกันและกัน ไม่มีแผ่นดินต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีต้นไม้แผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร หรือว่าน้ำจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีแผ่นดิน
…โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวคน และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ. ระบอบการปกครองในโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวคนตัวบุคคลคือมือใครยาวสาวได้สาวเอานี้ จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบอยู่ด้วยพระธรรม หรือพระเจ้า แล้วแต่จะเรียก ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม.
สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง, ไม่เห็นแก่ตัวกูคนเดียว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จึงจะเรียกว่าสังคมนิยม แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย ; เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน. การเห็นแก่สังคมผิด ๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า “ธัมมิก” ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้ เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม-ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรมะ.
ถ้าเอาแนวคิดของท่านพุทธทาสจากหนังสือเรื่องนี้ มาผนวกเข้ากับแนวคิดในหนังสือฟรีอีกเล่ม ของท่านธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) เรื่อง ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ [ไฟล์ PDF, 93 หน้า] เราจะได้ระบอบการปกครอง (ธรรมาธิปไตย) และระบบเศรษฐกิจ (ธัมมิกสังคมนิยม) ที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ สมควรเป็นสังคมในอุดมคติของมนุษย์ทั้งโลกเลยทีเดียว.