พระคุณของท่านพุทธทาสภิกขุ

ตัวกู - ตัวสู

วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักปฏิบัติผู้ทำคุณูปการมหาศาลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องในโอกาสนี้ หลายสำนักพิมพ์เช่น อัมรินทร์ สุขภาพใจ กลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ได้ทยอยนำหนังสือและบทความของท่านพุทธทาสมาพิมพ์ใหม่ หลายเล่มโดยเฉพาะของอัมรินทร์สอดแทรกด้วยภาพประกอบสี่สีสวยงาม ทำให้ถึงแม้จะมีแล้วก็อดซื้อฉบับพิมพ์ใหม่ไปเก็บไม่ได้ (ตอนนี้ลำพัง “คู่มือมนุษย์” เล่มเดียวที่บ้านก็ปาเข้าไปสามเล่มสามเวอร์ชั่นแล้ว เฮ้อ การสะสมหนังสือนี่มันเป็นกิเลสที่เลิกยากจริงๆ ด้วย)

หนังสือของท่านพุทธทาสมีมากมายหลายร้อยเล่ม ทุกเล่มล้วนอ่านง่ายด้วยภาษาปัจจุบันอันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน แต่ต้องอ่านใหม่หลายรอบอย่างช้าๆ เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็อ้างไม่ได้ว่าเข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ) เล่มที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือเล่มต่อไปนี้:


ตัวกู - ตัวสู

วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักปฏิบัติผู้ทำคุณูปการมหาศาลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องในโอกาสนี้ หลายสำนักพิมพ์เช่น อัมรินทร์ สุขภาพใจ กลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ได้ทยอยนำหนังสือและบทความของท่านพุทธทาสมาพิมพ์ใหม่ หลายเล่มโดยเฉพาะของอัมรินทร์สอดแทรกด้วยภาพประกอบสี่สีสวยงาม ทำให้ถึงแม้จะมีแล้วก็อดซื้อฉบับพิมพ์ใหม่ไปเก็บไม่ได้ (ตอนนี้ลำพัง “คู่มือมนุษย์” เล่มเดียวที่บ้านก็ปาเข้าไปสามเล่มสามเวอร์ชั่นแล้ว เฮ้อ การสะสมหนังสือนี่มันเป็นกิเลสที่เลิกยากจริงๆ ด้วย)

หนังสือของท่านพุทธทาสมีมากมายหลายร้อยเล่ม ทุกเล่มล้วนอ่านง่ายด้วยภาษาปัจจุบันอันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน แต่ต้องอ่านใหม่หลายรอบอย่างช้าๆ เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็อ้างไม่ได้ว่าเข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ) เล่มที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือเล่มต่อไปนี้:

  1. คู่มือมนุษย์ – ผลงานชิ้นเอกของท่านพุทธทาสที่ทุกคนควรอ่าน แล้วคุณจะได้รู้ว่า “คน” เราควรปฎิบัติตนอย่างไร เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็น “มนุษย์” ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างมี “จิตว่าง” ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกภายนอก
  2. แก่นพุทธศาสน์ – สรุปสาระสำคัญของโลกุตรธรรม ธรรมะเบื้องลึกที่ท่านพุทธทาสพยายามตลอดชั่วชีวิตของท่านที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่คนธรรมดา “ไม่มีวันเข้าถึง” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
  3. ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี – หนังสือเก่าที่เพิ่งหาเจอ รวบรวมหลักธรรมคำบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุในโอกาสต่างๆ ในหัวข้อ “ศิลปะแห่งการใช้สติในทุกกรณี” ชี้ให้เห็นคุณค่าของสติแบบเป็นรูปธรรมชัดเจนในแง่มุมใหม่ เปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัวในยุคปัจจุบันต่างๆ เช่น การงาน และค่านิยมของสังคมในประเด็นต่างๆ เช่นความงาม
  4. ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ [ไฟล์ PDF, 19 หน้า]- แนวคิดเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” ระบอบการปกครองในอุดมคติของท่านพุทธทาส รวบรวมโดยกลุ่มพุทธทาสศึกษา เป็นหนังสือแต่ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บด้วย
  5. หัวข้อธรรมในคำกลอน – รวบรวมบทกลอนบางบทของท่านพุทธทาส ที่แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพด้านนี้อย่างชัดเจน กลอนสอนธรรมะเหล่านี้มีความไพเราะแบบ “อ่านเอาเรื่อง” ไม่ใช่ “อ่านเอารส” อย่างกลอนแปดส่วนใหญ่
  6. พุทธทาสลิขิตคำกลอน – คล้ายเล่มบน แต่ทั้งเล่มทำจากต้นฉบับเดิม เขียนด้วยลายมือของท่านพุทธทาสเอง กระดาษดี น่าเก็บมากๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน “โครงการอนุรักษ์ต้นฉบับงานเดิมพุทธทาสภิกขุ” ของกลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์ ร่วมกับสุธีรัตนามูลนิธิ นอกจากเล่มนี้ก็มีเรื่อง พุทธทาสลิขิตข้อธรรม: บันทึกนึกได้เอง พินัยกรรม. เท่าที่นึกได้ และ คำสั้น ล้วนเป็นหนังสือดีน่าอ่าน เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยแง่คิดดีๆ จากท่านพุทธทาสแล้ว ยังทำให้คนอ่านเห็นวิธีการคิด และวิธีการทำงาน (ที่เป็นระบบมากๆ) ของท่านด้วย

คุณูปการและอัจฉริยภาพของท่านพุทธทาสนั้น มีพระ ผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญมากมายที่เขียนยกย่องด้วยความรู้ด้านธรรมะอันละเอียดลึกซึ้ง ผู้เขียนซึ่งเป็นเพียงพุทธศาสนิกหัดเดิน ไม่อาจหาญกล้าพรรณาคำสอนของท่านพุทธทาสที่ตัวเองก็รู้อยู่แค่เพียงเศษเสี้ยว เลยคิดว่าจะเขียนอธิบายเหตุผลส่วนตัวหลักๆ ที่ทำให้เลื่อมใสท่านมากดีกว่า 🙂

1. ท่านชี้ให้เห็นว่าแก่นแท้ของพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกับเรื่องตายแล้วเกิดใหม่

ท่านพุทธทาสภิกขุ

ก่อนผู้เขียนจะ “ค้นพบ” ท่านพุทธทาส ไม่เคยนึกว่าตัวเองเป็น “พุทธศาสนิก” ที่แท้จริง เพราะไม่เคยเชื่อว่าคนเราตายแล้วเกิดใหม่ และในเมื่อความเชื่อนี้ดูเหมือนจะเป็น “แก่น” ที่สำคัญของศาสนาพุทธ ก็เลยทึกทักไปว่า ชาตินี้คงไม่สามารถนับว่าตัวเองเป็นพุทธได้ สมัยเด็กๆ เวลากรอกแบบฟอร์มราชการต่างๆ จึงอยากกรอกช่อง “ไม่นับถือศาสนาใดๆ” แต่มันไม่เคยมีให้กรอก เลยต้องจำใจกาช่อง “พุทธ” แทนทุกครั้ง

ต่อมาได้อ่านข้อเขียนของท่านพุทธทาส ท่านว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องชาติหน้า ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมหรือแม้แต่บรรลุนิพพานได้ เพราะความเชื่อเรื่องชาติหน้าไม่ได้เป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนา

คำสอนนี้ทำให้ผู้เขียนตาสว่างขึ้นมา ท่านพุทธทาสอธิบายให้เห็นภาพว่า สังสารวัฏหรือวัฏจักรการเกิด-ดับนั้น เกิดขึ้นในระดับจิตของคนเรานี่แหละ ไม่ต้องไปดูระดับชีวิตทั้งชีวิต จิตของเรามีการเกิด ดับ และเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ในภพภูมิต่างๆ ตลอดชั่วอายุขัยของคนทุกคน (เช่น เวลาเราโมโห จิตเราก็ไปเกิดในภพอสูร พอเราใจเย็นลงได้ จิตก็ข้ามไปเกิดในภพมนุษย์ใหม่)

ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าจะเป็นพุทธศาสนิกจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้ว่ากิเลสยังพอกหนาเตอะเพียงใดก็ตาม :O

(ประเด็นนี้เคยเขียนถึงเมื่อปีที่แล้วในบล็อก เป็นภาษาอังกฤษ ตอนที่พยายามจะเขียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเมืองไทยให้ฝรั่งเข้าใจ :))

2. ท่านชี้ให้เห็นว่านิพพานไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป

ท่านพุทธทาสเป็นหนึ่งพระไทยจำนวนไม่กี่องค์ที่เน้นการสอนเรื่องโลกุตรธรรม หรือธรรมะชั้นสูงเพื่อการบรรลุนิพพาน (ธรรมะเพื่อฝึกจิตให้หลุดจากสภาวะทางโลก) แทนการสอนด้านโลกียธรรม หรือธรรมะทางโลกย์ ท่านพุทธทาสเน้นหลายครั้งว่า นิพพานนั้นไม่ใช่จุดหมายที่อยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับฆราวาสอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด ตรงกันข้าม พุทธศาสนิกทุกคนควรมุ่งศึกษาและปฏิบัติธรรมะระดับโลกุตร เพื่อให้เข้าถึงนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด

ในเมื่อท่านพุทธทาสเน้นโลกุตรธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวข้อธรรมที่ท่านเน้นย้ำมากที่สุดคือเรื่องสุญญตา (ความว่าง) ซึ่งเป็นข้อที่มักถูกละเลยในการปฏิบัติธรรม (เรามักจะท่องจำว่าแก่นของพุทธศาสนาคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น ทั้งๆ ที่ถ้าจิตไม่ว่างจริง หรือเข้าถึงสุญญตาไม่ได้ ก็ไม่สามารถทะลุไปสู่นิพพานได้)

คำสอนที่ผู้เขียนประทับใจมากคือ ท่านพุทธทาสสอนว่าคนเราประสบภาวะ “นิพพานชั่วคราว” อยู่เสมอๆ โดยไม่รู้ตัว และสามารถบรรลุนิพพานในชาตินี้ได้ ทุกคนไม่ควรรอหวังนิพพานในอนาคตหรือในชาติหน้า เพราะเราไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ดังคำของท่านจากเว็บกลุ่มพุทธทาสศึกษา ดังนี้:

ขอให้สังเกตอย่างยิ่งว่า เวลาไหนที่สบายที่สุดสำหรับคนเรา เวลาที่รู้สึกสบายที่สุดสูงสุด ก็คือเวลาที่จิตมันไม่มีความคิดรู้สึกว่าตัวตน ซึ่งมันก็มีอยู่ได้เองตามธรรมชาติ; แต่เรากลับไม่สนใจกลับมองข้ามไป. นี้คือสิ่งที่มีบุญคุณสูงสุดแก่เรา จะเรียกว่าพระนิพพานชั่วคราว, พระนิพพานตัวอย่าง, พระนิพพานน้อย ๆ ชั่วระยะอันสั้น คือระยะที่ว่างจากตัวตนนั่นแหละมันจึงรอดชีวิตอยู่ได้. พูดให้ชัดก็ต้องพูดว่า ชีวิตนี้รอดอยู่ได้เป็นปกตินี้ เพราะมีพระนิพพานน้อย ๆ เข้ามาแทรกเป็นระยะ ๆ อยู่อย่างนี้

ขอทุกคนอย่าได้มองข้ามไป, จะเป็นการเนรคุณอย่างยิ่งต่อพระนิพพานชนิดนี้ คือความที่ว่างจากตัวตนอยู่ได้เป็นระยะ ๆ; ตามธรรมชาติก็ดี, หรือตามที่เราควบคุมไว้ด้วยสติปัญญา คือการปฏิบัติธรรมะก็ดี, ให้รู้ว่า ชีวิตนี้รอดอยู่ได้นี้ เพราะพระนิพพานชั่วคราวหล่อเลี้ยงเอาไว้ถูกต้องสมบูรณ์ตามระยะตามสมควร เราจึงไม่เป็นบ้าและไม่ตาย; ถ้าขาดอันนี้เสีย ก็มีกิเลสตลอด ๒๔ ชั่วโมง วันเดียวก็ตายหมดแหละ ไม่มีอะไรเหลือ.

ผู้เขียนคิดว่าเคยรู้ตัวว่าเข้าถึง “นิพพานชั่วคราว” เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต ประสบการณ์นี้ทุกครั้งเกิดขึ้นตอนไปส่องกล้องดูดาวยามดึก ประสบการณ์นี้เคยเล่าคร่าวๆ เป็นบทความแรกของบล็อกนี้เลยนะ สงสัยจะซาบซึ้งกับการดูดาว วินเซนท์ แวน โกะห์ และคำสอนของท่านพุทธทาสพอๆ กัน 🙂

นอกจากนี้ การที่ท่านพุทธทาสเน้นสอนเรื่องสุญญตา ทำให้ท่านศึกษาและเผยแพร่แนวคิดของพุทธนิกายเซน ซึ่งเป็นแนวที่เน้นเรื่องนี้ มากกว่าพระไทยองค์อื่นๆ ผู้เขียนคิดว่าคำสอนเรื่อง “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ของท่านนั้น เป็น “เซน” ยิ่งกว่าคำสอนของพระเซนในญีุ่ปุ่นบางรูปเสียอีก

3. ท่านชี้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของศาสนาแน่นอน และอธิบายลักษณะของการเมืองในอุดมคติ

แม้ว่าท่านพุทธทาสจะเน้นคำสอนด้านโลกุตรธรรม ท่านก็ไม่ละเลยโลกียธรรม โดยเฉพาะข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งท่านย้ำบ่อยครั้งว่าเป็นขอบเขตของศาสนาแน่นอน เพราะเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ข้อเขียนด้านการเมืองของท่านพุทธทาสมีหลายเล่ม แต่ที่ผู้เขียนชอบมากคือเรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม [ไฟล์ PDF, 19 หน้า] ซึ่งกลุ่มพุทธทาสศึกษารวบรวมขึ้นเป็นเล่ม และให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บ

ความบางตอนจากหนังสือ:

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัดนี้เราจะพูดกันถึงสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งจะเป็นศาสนาไหนก็ได้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ตามหลักของธรรมชาติ ขอให้ทำความรู้สึกสำหรับจะฟังความหมายของคำ ๆ นี้ตามหลักแห่งพระศาสนาโดยตรง ความรู้สึกของผู้ฟังขณะนี้ควรจะเกลี้ยงเกลาไปจากความคิดเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนว่า ขึ้นชื่อว่าสังคมนิยมละก็ ต้องเป็นระบบชนกรรมาชีพที่ยื้อแย่งนายทุน หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกันเลย.

พูดกันอย่างธรรมสัจจะอย่างตั้งต้นไปใหม่… ธรรมสัจจะนี่คือตัวแท้ตัวจริงของธรรม ของธรรมะก็ได้ ของธรรมชาติก็ได้ เป็นสิ่งเดียวกัน ตัวแท้ตัวจริงของธรรมชาตินั้นก็เป็นสังคมนิยม คือว่ามันไม่มีอะไรที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ มันต้องอาศัยกันและกัน ไม่มีแผ่นดินต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีต้นไม้แผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร หรือว่าน้ำจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีแผ่นดิน

…โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวคน และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ. ระบอบการปกครองในโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวคนตัวบุคคลคือมือใครยาวสาวได้สาวเอานี้ จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบอยู่ด้วยพระธรรม หรือพระเจ้า แล้วแต่จะเรียก ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม.

สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง, ไม่เห็นแก่ตัวกูคนเดียว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จึงจะเรียกว่าสังคมนิยม แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย ; เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน. การเห็นแก่สังคมผิด ๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า “ธัมมิก” ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้ เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม-ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรมะ.

ถ้าเอาแนวคิดของท่านพุทธทาสจากหนังสือเรื่องนี้ มาผนวกเข้ากับแนวคิดในหนังสือฟรีอีกเล่ม ของท่านธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) เรื่อง ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ [ไฟล์ PDF, 93 หน้า] เราจะได้ระบอบการปกครอง (ธรรมาธิปไตย) และระบบเศรษฐกิจ (ธัมมิกสังคมนิยม) ที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ สมควรเป็นสังคมในอุดมคติของมนุษย์ทั้งโลกเลยทีเดียว.