พิพิธภัณฑ์ไทยในดวงใจ (1) : ตลาดสามชุก ตลาดร้อยปีมีชีวิต

[ดูรูปตลาดสามชุกทั้งหมดของผู้เขียนได้ที่ Flickr set หน้านี้ และดูรูป(ที่ถ่ายสวยกว่ากันมาก)ของต้น เพื่อนที่ไปด้วยกันได้ที่ Multiply album ของต้น]

วันที่ 13 ตุลาคม 2550 หนึ่งวันก่อนวันครบรอบปีของวันมหาวิปโยค 34 ปีก่อนที่แทบจะไม่มีใครจำได้แล้วว่ามีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนและเพื่อนขับรถหลีกหนีความทรงจำอันแสนสั้นของเพื่อนร่วมชาติและความอึดอัดอึกทึกของกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือตามทางหลวงสาย 340 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี

เป้าหมายของเราคือตลาดสามชุก อำเภอสามชุก ใกล้กับอำเภอเดิมบางนางบวช “ตลาดร้อยปี” ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหนึ่งใน “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ที่ดีที่สุดของประเทศ

ป้ายทางเข้าตลาดสามชุก

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อย่างโลตัสผุดขึ้นราวดอกเห็ดไปทั่วโลกเพื่อสนองความต้องการ 24/7 ของผู้บริโภค ตลาดเรือนไม้ถูกทยอยรื้อทิ้งและแทนที่ด้วยอาคารโบกปูนที่หน้าตาเหมือนกันหมดทุกแห่ง เป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อยที่ห้องแถวไม้ 2 ชั้นของตลาดสามชุกยังตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อน คนสามชุกทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ยังอาศัยอยู่ในนั้น สืบทอดวิถีชีวิตของบรรพบุรุษอย่างมีชีวิตชีวา และภาคภูมิใจกับอดีตที่คนนอกชุมชนส่วนใหญ่มองไม่เห็นคุณค่าอีกต่อไป

วันนี้ผู้เขียนตั้งใจจะไปหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดคนสามชุกจึงอยากอนุรักษ์วิถีชีวิตโบราณเอาไว้ แทนที่จะรับเงินค่าเวนคืนที่ดิน ย้ายออกไปทำมาหากินในเมืองใหญ่เหมือนชุมชนอื่นๆ อีกจำนวนมาก

เว็บไซต์ตลาดสามชุก เล่าประวัติความเป็นมาของตลาด และความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์ไว้ดังต่อไปนี้:

“…ตลาดสามชุก เป็นตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน พัฒนาการขึ้นจากตลาดเล็กๆ มาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นเมืองท่าที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นทั้งสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขาย ตลอดจนเป็นจุดที่พักพ่อค้าในการล่องเรือขึ้นลงกรุงเทพฯ หรือเมืองต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีท่าเรือจอดรับส่งสินค้า เรือโดยสาร เรือเมล์ เรือแดง เรือขนส่งสินค้า เช่น เรือขนข้าว เรือขนถ่าน เรือขนผัก ผลไม้ พืชไร่ สัตว์น้ำและสินค้านานาชนิด ด้วยเหตุนี้จึงดึงดูดให้คนต่างถิ่นเข้ามาทำมาหากินที่นี่โดยเฉพาะคนจีน โครงสร้างทางสังคมของเมืองสามชุกจึงประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มารวมกัน


[ดูรูปตลาดสามชุกทั้งหมดของผู้เขียนได้ที่ Flickr set หน้านี้ และดูรูป(ที่ถ่ายสวยกว่ากันมาก)ของต้น เพื่อนที่ไปด้วยกันได้ที่ Multiply album ของต้น]

วันที่ 13 ตุลาคม 2550 หนึ่งวันก่อนวันครบรอบปีของวันมหาวิปโยค 34 ปีก่อนที่แทบจะไม่มีใครจำได้แล้วว่ามีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนและเพื่อนขับรถหลีกหนีความทรงจำอันแสนสั้นของเพื่อนร่วมชาติและความอึดอัดอึกทึกของกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือตามทางหลวงสาย 340 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี

เป้าหมายของเราคือตลาดสามชุก อำเภอสามชุก ใกล้กับอำเภอเดิมบางนางบวช “ตลาดร้อยปี” ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหนึ่งใน “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ที่ดีที่สุดของประเทศ

ป้ายทางเข้าตลาดสามชุก

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อย่างโลตัสผุดขึ้นราวดอกเห็ดไปทั่วโลกเพื่อสนองความต้องการ 24/7 ของผู้บริโภค ตลาดเรือนไม้ถูกทยอยรื้อทิ้งและแทนที่ด้วยอาคารโบกปูนที่หน้าตาเหมือนกันหมดทุกแห่ง เป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อยที่ห้องแถวไม้ 2 ชั้นของตลาดสามชุกยังตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อน คนสามชุกทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ยังอาศัยอยู่ในนั้น สืบทอดวิถีชีวิตของบรรพบุรุษอย่างมีชีวิตชีวา และภาคภูมิใจกับอดีตที่คนนอกชุมชนส่วนใหญ่มองไม่เห็นคุณค่าอีกต่อไป

วันนี้ผู้เขียนตั้งใจจะไปหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดคนสามชุกจึงอยากอนุรักษ์วิถีชีวิตโบราณเอาไว้ แทนที่จะรับเงินค่าเวนคืนที่ดิน ย้ายออกไปทำมาหากินในเมืองใหญ่เหมือนชุมชนอื่นๆ อีกจำนวนมาก

เว็บไซต์ตลาดสามชุก เล่าประวัติความเป็นมาของตลาด และความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์ไว้ดังต่อไปนี้:

“…ตลาดสามชุก เป็นตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน พัฒนาการขึ้นจากตลาดเล็กๆ มาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นเมืองท่าที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นทั้งสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขาย ตลอดจนเป็นจุดที่พักพ่อค้าในการล่องเรือขึ้นลงกรุงเทพฯ หรือเมืองต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีท่าเรือจอดรับส่งสินค้า เรือโดยสาร เรือเมล์ เรือแดง เรือขนส่งสินค้า เช่น เรือขนข้าว เรือขนถ่าน เรือขนผัก ผลไม้ พืชไร่ สัตว์น้ำและสินค้านานาชนิด ด้วยเหตุนี้จึงดึงดูดให้คนต่างถิ่นเข้ามาทำมาหากินที่นี่โดยเฉพาะคนจีน โครงสร้างทางสังคมของเมืองสามชุกจึงประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มารวมกัน

หมู่อาคารไม้สองชั้นเรียงรายเป็นแถวบนเนื้อที่กว้างขวาง สะท้อนถึงชุมชนที่พัฒนาจากการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนค้าขายทางน้ำที่เคยรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง เป็นที่รวมของผู้คนหลากหลาย โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำการค้า มีศาสนสถาน เช่น ศาลเจ้า วัดในฝั่งตลาด โรงมหรสพ ร้านกาแฟโรงแรม ร้านค้าทองคำ ร้านถ่ายรูป ร้านขายยาโบราณ ร้านเสริมสวย ร้านรวงต่างๆ มากมายที่ขึ้นชื่อว่านำสมัยในระยะนั้น หลายคนรู้สึกผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ในฐานะเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำมาหากิน เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

…หลังจากที่มีการตัดถนนผ่านทำให้คนเริ่มหันไปใช้ถนนเป็นเส้นทางคมนาคมมากขึ้น ตลาดจึงเริ่มซบเซา ส่งผลกระทบต่อชาวตลาดสามชุก ทั้งวิถีชีวิต สังคม ความเป็นอยู่ และด้านเศรษฐกิจ

ชาวตลาดสามชุกกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในนาม “คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก” ได้พูดคุยเพื่อพยายามฟื้นฟูชุมชนและตลาด อันเป็นการเริ่มต้นค้นหาความมั่นคงที่ถูกสั่นคลอนของชุมชนให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2545 เมืองสามชุกได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองนำร่องของ “โครงการปฏิบัติชุมชนและเมืองน่าอยู่” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมืองแนวใหม่ โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดพัฒนาเมืองของตนเอง

ตลาดสามชุก มองจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน

การพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ได้เกิดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากภาคีในท้องถิ่นด้วยดี เช่น การฟื้นฟูตลาดสามชุก การทำความสะอาดตลาด การอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมเก่า การปรับปรุง “บ้านขุนจำนงจีนารักษ์” อาคารไม้สามชั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกคนรุ่นหลังให้เห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ และเก็บรักษา ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและท้องถิ่น ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม เป็นมรดกให้ลูกหลาน พัฒนาตลาดสามชุกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของย่านตลาดต่อไป”

……

ก่อนถึงตัวตลาดสามชุกประมาณ 100 เมตร มีป้ายบอกทางเข้าที่จอดรถสองแห่ง เก็บค่าจอด 20 บาทตลอดทั้งวัน ทันทีที่จอดเสร็จก็จะมีมอเตอร์ไซค์พ่วงที่นั่งอลูมิเนียม นั่งได้คันละ 3 คน มาเสนอไปส่งที่หน้าตลาด ในราคาคนละ 5 บาท

ของเล่นสังกะสี

ทันทีที่มอเตอร์ไซค์จอดให้เราลง สีสันฉูดฉาดจากของเล่นสังกะสีหลายแผงตรงปากทางเข้าตลาดก็พุ่งเข้ามาเตะตาและกระตุกต่อมความจำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงวัยเด็กทันที แต่ละแผงมีของเล่นสังกะสีหลายแบบให้เลือก ตั้งแต่เครื่องบิน หุ่นยนต์ รถไฟไขลาน ลิงถีบจักรยาน ม้าหมุน ฯลฯ สนนราคาตั้งแต่ 100-400 บาท

คนขายของเล่นเล่าให้ฟังว่าของเล่นสังกะสีบางชิ้นเป็นของเก่าเอามาขาย ของใหม่ไม่ได้ทำในไทยแล้ว มีคนไปซื้อในเมืองจีนแล้วเอามาขายอีกทอดหนึ่ง สังเกตดูคร่าวๆ ก็รู้สึกว่าของใหม่ฝีมือสู้ของเก่าไม่ได้ แต่ก็คงไม่เป็นไร เพราะสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ฝีมือดีไม่ดี เหมือนไม่เหมือนของจริงก็ไม่เคยสนใจจะรู้หรอก เพราะใช้แต่จินตนาการเล่น

บางครั้ง ความตระหนักรู้ใน “ความจริง” อาจทำให้เราไม่สามารถมีความสุขอยู่กับปัจจุบันได้ และเมื่อเรารู้อะไรแล้วก็ลบความรู้นั้นออกเองไม่ได้ ยกเว้นว่ามันจะเลือนหายไปเองตามเวลา ทิ้งไว้แต่ร่องรอยในสมอง พอให้เรารู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยรู้เรื่องนี้นานแล้ว

นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ใหญ่มีความสุข “ยาก” กว่าเด็ก ทั้งๆ ที่มีอะไรๆ มากกว่า

ของเล่นอีกอย่างที่เห็นแล้วนึกอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งคือ “ตุ๊กตาล้มลุก” ทำจากไม้ (จริงๆ มันคงมีชื่อที่เป็นทางการกว่านี้ แต่ผู้เขียนไม่เคยรู้ว่าคืออะไร เลยเรียกเอาเองแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก) เป็นรูปสัตว์ยืนบนแป้น ลำตัวทุกส่วนทำจากลูกปัดทาสีขึงด้วยเส้นด้าย พอกดปุ่มด้านล่าง เส้นด้ายก็จะคลายตัว ทำให้ขาสัตว์อ่อนยวบและหัวโค้งคอตกลงมา ที่ตลาดสามชุกมีขายหลายแบบ ราคาตัวละ 55 บาท แพงกว่าสมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเป็น 10 เท่า แต่เวลาก็ผ่านไปกว่า 20 ปีแล้ว จะให้ตัวละ 5 บาทเหมือนเดิมคงเป็นไปไม่ได้ แค่รู้ว่ายังมีคนทำขายอยู่ก็แปลกใจและดีใจหายแล้ว

นอกจากของเล่นสังกะสีแล้ว ของขายย้อนยุคอีกอย่างที่หาซื้อในกรุงเทพฯ แทบไม่ได้แล้ว คือหมากฝรั่งและลูกอมกล่องเล็กๆ ยี่ห้อลัคกี้, progress, นกแก้ว ฯลฯ ที่มีหลายสีหลายแบบให้เลือก จำได้ลางๆ ว่ารสชาติไม่เอาอ่าวเท่าไหร่ แต่ชอบซื้อตอนเด็กๆ เพราะอยากเก็บกล่องให้ครบทุกลาย พ่อค้าที่ตลาดสามชุกขายกล่องละ 1 บาท ฉลากลูกอมบางยี่ห้ออย่างหมากฝรั่งลัคกี้ไม่มีภาษาไทย มีแต่ภาษาอินโด สอบถามได้ความว่าไม่มีโรงงานไหนในเมืองไทยผลิตแล้ว เลยต้องเอาเข้ามาจากอินโดนีเซีย จะได้ขายให้ครบเซ็ต นึกชมเชยพ่อค้าว่าช่างมีความพยายามดีจริงๆ 🙂

ลวดลายฉลุไม้ ขนมปังขิง

สองเท้าเดินตลาดพลาง สองตาก็คอยแหงนดูลวดลายฉลุไม้สวยๆ บนบ้านเรือนในตลาด ซึ่งยังอยู่ในสภาพดีมากๆ สะท้อนให้เห็นว่าชาวตลาดสามชุกมีจิตใจอนุรักษ์สูงมาก เพราะการซ่อมแซมต่อเติม (ที่มีสมาคมสถาปนิกสยามมาช่วย) มีน้อยมากจนสังเกตแทบไม่เห็น ส่วนใหญ่ดูเหมือนเป็นการปูหลังคาใหม่ หรือเสริมโครงสร้างภายในบ้านให้คงทนกว่าเดิมมากกว่า ไม่ใช่เอาไม้ใหม่มาสร้างบ้านเลียนแบบของเดิม (ซึ่งเป็นการ “จำลอง” ไม่ใช่การ “อนุรักษ์” ของเก่าที่มีอยู่เดิม)

ลวดลายฉลุไม้ในตลาดมีชื่อเป็นทางการว่า “ขนมปังขิง” ซึ่ง “นายรอบรู้” อธิบายว่า มาจากคำว่า “Gingerbread” ในภาษาอังกฤษ เป็นลายสถาปัตยกรรม “…ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ แห่งอังกฤษ มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งคล้ายขิง …เหมือนกับขนมปังโบราณชนิดหนึ่งของชาวตะวันตก” ลวดลายขนมปังขิงตามบ้านเรือนในตลาดสามชุกมีถึง 19 แบบ จะหาห้องแถวไม้ที่อื่นที่สมบูรณ์และหลากหลายขนาดนี้ในประเทศคงยากมากแล้ว

ป้ายต่อต้านโลตัส

ตลาดสามชุกประสบความ “สำเร็จ” ค่อนข้างมาก ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินกันขวักไขว่ กะด้วยสายตาไม่น่าจะต่ำกว่า 200-300 คน พ่อค้าแม่ค้าหลายคนบอกว่าคนเยอะทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ยิ่งวันหยุดยาวยิ่งเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนมาเที่ยววันธรรมดาแล้ว

แต่ถึงแม้ว่าตลาดสามชุกจะขายดีเพียงใด ป้ายต่อต้านโลตัสที่ขึงอยู่ทั่วไปในตลาด ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าโลตัสมาเปิดที่นี่จริงๆ นักท่องเที่ยวจะน้อยลงหรือไม่ และตลาดสามชุกจะ “ตาย” จริงหรือ?

คุณยายขายกระยาสารท

คุณยายอารมณ์ดีคู่หนึ่งที่ขายกระยาสารทอยู่ติดกับแผงขายหมูแดดเดียวเจ้าอร่อย (คนขายหมูแดดเดียวนำเสนอด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า คุณยายคู่นี้เป็นฝาแฝดคู่แรกของอำเภอสามชุก) เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้โลตัสกำลังสร้างอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำท่าจีน เยื้องกับตลาดสามชุกพอดี คิดว่าจะสร้างเสร็จภายในปลายปี 2007 เมื่อสร้างเสร็จแล้วคนขายขนมโบราณอย่างคุณยายคงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก แต่ร้านที่ขายของอย่างอื่น พวกของใช้ของชำจะแย่ เพราะชาวบ้านจะไปซื้อที่โลตัสกันหมด

คุณยายเล่าต่อว่า ตอนแรกเจ้าของที่ฟากโน้นบอกพวกเราว่าจะไม่ขายที่ให้โลตัส แต่แล้วเขาก็ไปตกลงขายกันเงียบๆ เทศบาลก็ยอมให้สร้าง พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยปิดตลาดไป 1 วัน (ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตั้งแต่ตลาดสามชุกเปิดเป็น “ตลาดร้อยปี” มา ไม่เคยปิดเลย) ไปเดินขบวนประท้วงที่กรุงเทพฯ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าโลตัสจะทำให้ตลาดสามชุกซบเซาจริงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่มาเที่ยวตลาดสามชุกเพราะตั้งใจมาซึมซับบรรยากาศเก่าแก่ของตลาด ซื้อหรือดูข้าวของโบราณ และกินกับข้าวและขนมอร่อยๆ ที่หากินไม่ค่อยได้แล้ว มากกว่าจะมาหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน (ประเมินคร่าวๆ ด้วยสายตา ร้านขายของชำและเครื่องใช้แบบเดียวกับที่หาซื้อได้ในโลตัส มีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของร้านค้าทั้งตลาด) จึงได้แต่ภาวนาอยู่ในใจว่า ถึงแม้โลตัสอาจทำให้ชาวบ้านแถวนั้นมาเดินตลาดน้อยลงบ้าง แต่ความโดดเด่นในฐานะ “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ของตลาดสามชุกน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ลดลง แรงกายแรงใจของคนสามชุกจะได้ไม่เสียเปล่า

ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่เคยคิดว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็น “มารร้าย” ที่ทุกท้องถิ่นควรปฏิเสธอย่างไม่มีเงื่อนไข (เพราะรัฐสามารถกำกับดูแลให้สร้างได้ในทางที่ไม่ทำให้โชห่วยเดือดร้อน เช่น บังคับให้สร้างในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน) ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่า แผนของโลตัสที่ตั้งใจสร้างเยื้องกับตลาดสามชุกพอดี เป็นการ “เอาเปรียบ” ชาวสามชุกอย่างน่าเกลียดไม่น้อย เพราะเป็นการ “เกาะกระแส” ความนิยมของตลาดที่ชาวสามชุกสั่งสมมาด้วยความยากลำบาก โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ถ้าเทศบาลสามชุกจะเห็นใจชาวบ้านสักนิด ก็น่าจะสั่งโลตัสให้ย้ายไปสร้างที่อื่นได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย จังหวัดนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีโลตัสเสียหน่อย

เสียดายที่ข้าราชการไทยมักเข้าข้างนายทุนใหญ่จนเกินงาม มากกว่าจะเห็นหัวชาวบ้านหรือทุนเล็ก ทั้งๆ ที่ถ้าว่ากันตามหลักความยุติธรรมพื้นฐานหรือสามัญสำนึกแล้ว รัฐควรมีหน้าที่ยื่นมือเข้าโอบอุ้มคนตัวเล็กที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ไม่ใช่ช่วยคนตัวใหญ่ที่ได้เปรียบทุกประตูอยู่แล้วให้สุขสบายมากกว่าเดิม

ก่อนเดินจากมา คุณยายคะยั้นคะยอให้ชิมกระยาสารทที่แกบอกว่ากวนเองทุกวัน แถมโฆษณาส่งท้ายด้วยแววตาเป็นประกายว่า นี่ 72 ปีแล้วนะ ยังทำมาหากินเองได้

คุณยายที่ขายสบู่สมุนไพรติดกันเล่าว่า จริงๆ แล้วโครงการอนุรักษ์ตลาดร้อยปีมีที่มาจากตอนที่ราชพัสดุมาบอกให้ชาวบ้านย้ายออก เพราะจะทุบบ้านทิ้งทำเป็นตึกแถว เสนอเงินค่าเวนคืนให้ และบอกว่าจะปลูกกระต๊อบชั่วคราวในวัดสามชุกให้อยู่ไปก่อน แต่ชาวบ้านไม่ยอม ก็เลยรวมตัวกันหาหนทาง โชคดีมีมูลนิธิชุมชนไท และอีกหลายองค์กรมาช่วยอนุรักษ์เอาไว้

เจ๊เบี้ยว ขายไอสกรีมกะทิ

คุณยายขายกระยาสารทไม่ได้เป็นแม่ค้าเพียงคู่เดียวที่ดูมีความสุขกับการขายของ และภูมิใจกับการเป็น “ชาวสามชุก” ผู้เขียนสังเกตว่าร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มีคนขายของเดี่ยวๆ แต่ขายกันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง พ่อแม่ลูก หรือแม้แต่ตายาย พ่อแม่ และลูก คนสามรุ่นช่วยกันขายของ อย่างไอสกรีมเจ๊เบี้ยว ไอศกรีมกะทิเจ้าอร่อยที่ปกติขายอยู่หน้าร้านแม่บ๊วย บางปลาม้า วันนี้มาเปิดสาขาที่ตลาดสามชุกเป็นวันแรก ลูกชายเจ๊เบี้ยวบอกว่ามาอยู่เป็นเพื่อนแม่ แถมขอผู้เขียนถ่ายรูปกับแม่ด้วย น่ารักจริงๆ

บางบ้านคุณตาคุณยายแก่แล้วจึงไม่ได้ช่วยลูกหลานขายของ แต่ก็ยังนั่งอยู่หน้าบ้านในฐานะ “มัคคุเทศก์” ประจำถิ่น คอยเล่าความเป็นมาของข้าวของโบราณภายในบ้านให้กับผู้มาเยือนเป็นฉากๆ ขอให้เอ่ยปากถามเท่านั้น

สาคูสมุนไพร

ถึงแม้ว่าบ้านไม้และข้าวของโบราณในตลาดสามชุกจะมีมากมายมหาศาล สิ่งที่ดูเหมือนจะมากมายละลานตายิ่งกว่าคือประเภทของอาหารการกิน ซึ่งเป็น “จุดขาย” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ไปเยือนตลาด ความที่ผู้เขียนมีความรู้เรื่องอาหารเพียงแค่หางอึ่ง จึงไม่สามารถบอกได้ว่า อาหารหรือขนมที่มีคำว่า “โบราณ” ต่อท้ายแทบทุกแผงนั้น “โบราณ” จริงหรือไม่ หรือเป็นของโบราณนำมาประยุกต์ขาย หรือเป็นของใหม่ที่คนขายตั้งชื่อหลอกแขกเฉยๆ แต่ไม่ว่าความจริงใจของแต่ละแผงจะแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม ความหลากหลายของอาหารและขนมโบราณในตลาดนี้ก็ทำให้ตลาดสามชุกมีเสน่ห์และ “น่าเดิน” อย่างยิ่ง แค่เดินอ่านชื่อขนมที่แทบไม่เคยเห็นในกรุงเทพฯ ก็สนุกแล้ว (โปรดเติมคำว่า “โบราณ” ต่อท้ายเอาเอง) – เกสรลำเจียก ขนมไข่ปลา กะลอจี๊ ขนมกง ข้าวหอมธัญพืชอบหม้อดิน (ร้านนี้น่ารักมาก เพราะพิมพ์แผนที่ตลาดสามชุกแจกฟรี แถมอีกด้านยังมีสูตรการทำข้าวหอมประจำร้านให้อ่านแบบไม่กลัวใครเลียนแบบอีกด้วย) สาคูสมุนไพร (มีสามรสให้เลือกตามรูป) คนขายขนมหลายแผงจะเชื้อเชิญด้วยคำพูดประมาณ “ลองชิมดูก่อน ไม่ซื้อไม่เป็นไร” ทำให้อดชิมไม่ได้ทุกที

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ยังไม่นับร้านอาหารที่ขึ้นชื่อหลายเจ้า ส่วนใหญ่ขายมานานกว่า 70-80 ปีแล้ว สืบทอดสูตรลับแห่งความอร่อยจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก จากลูกสู่หลานโดยไม่มีตกหล่น ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่เกี๊ยวเจ๊กอ้าว ข้าวห่อใบบัวร้านพี่หรั่ง น้ำพริกแม่กิมลั้ง เป็ดย่างร้านจ่าเฉิด กาแฟโบราณร้านเจ๊ชั่ง ปลาสลิดร้านพี่จิต ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์

หนึ่งใน “ไฮไลท์” ของตลาดสามชุกคือบ้านขุนจำนงจีนารักษ์ (ชื่อเดิม หุย แซ่เฮง) นายอากรบ่อนเบี้ยคนแรกของอำเภอ เป็นอาคารไม้ผสมปูน 3 ชั้น สร้างในปี พ.ศ. 2459 ถือว่าหรูหราที่สุดในละแวกนี้ ปัจจุบันลูกหลานยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน เป็นที่แสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณของตระกูล และเป็นที่แสดงนิทรรศการประจำชุมชน ชั้นล่างมีโมเดลตลาดสามชุก และประวัติร้านค้าต่างๆ ในตลาด รวมทั้งมีแผนที่ตลาดแจกฟรีให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

วันที่เราไปเยือนมี “มัคคุเทศก์น้อย” ตัวเล็กชื่อแชมป์ พาชมรอบพิพิธภัณฑ์ แชมป์บอกว่าอายุ 14 ปี ทำงานเป็นมัคคุเทศก์อาสาทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ผลัดกับเด็กๆ อีกสามสี่คน แชมป์พาเราไปดูต้นการะเวกที่มีอายุเท่ากับบ้านหลังนี้ (เก้าสิบกว่าปีแล้ว) บอกว่ากระเบื้องที่ปูพื้นในบ้านสั่งมาจากอิตาลี ล็อตเดียวกับกระเบื้องที่ปูพื้นพระที่นั่งอนันตสมาคมในกรุงเทพฯ และบอกว่าสมัยก่อนบ้านขุนจำนงฯ เป็นโรงฝิ่น กับบ่อนไฮโล (สมัยที่ทั้งสองอย่างยังเป็นของถูกกฎหมาย) ว่าแล้วก็ชี้ให้ดูหมอนกระเบื้องเคลือบที่ใช้นอนสูบฝิ่น และถาดสำหรับเล่นไฮโลที่ตั้งโชว์อยู่ในตู้

กล้องถ่ายรูปโบราณ 180 กว่าปี

“ของดี” ในตลาดสามชุกจาระไนสามวันก็ไม่จบ เพราะดูเหมือนว่าทุกร้าน ทุกบ้านที่เราผ่าน ล้วนมีของโบราณอย่างน้อยหนึ่งอย่างตั้งโชว์ พร้อมเจ้าของบ้านที่ยินดีอธิบายที่มาที่ไปให้เราฟังโดยไม่ต้องเอ่ยปากถาม เช่นกล้องถ่ายรูปโบราณรุ่นปี ค.ศ. 1826 ที่ตั้งโชว์อยู่หน้าร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า พี่เจ้าของร้านกับเมียอธิบายให้เราฟังว่านี่เป็นกล้องของเตี่ย เป็นกล้องโกดักรุ่นแรกๆ ที่ยังไม่มีชัตเตอร์ในตัว ฟิล์มมีราคาแพงมาก มีคนมาเสนอซื้อตลอดเวลาแต่แกไม่อยากขาย เลยเขียนบนป้ายไว้เลยว่า “กรุณาอย่าถามราคา”

โรงแรมอุดมโชค

บางบ้านหรือร้านค้าในตลาดไม่ได้มีของโบราณโชว์เพียงอย่างเดียว แต่ยังอนุรักษ์สภาพดั้งเดิมในบ้านเอาไว้ให้ดูด้วย เช่น โรงแรมอุดมโชค โรงแรมแห่งที่สองในตลาด ปัจจุบันเป็นร้านกาแฟ ไม่ได้เป็นโรงแรมแล้วแต่ยังอนุรักษ์ห้องพักบนชั้นสองเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวดู บางร้านไม่เพียงแต่อนุรักษ์สภาพดั้งเดิมเอาไว้อย่างเดียว แต่เจ้าของร้านยังสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของรุ่นเตี่ยหรืออากงเอาไว้อย่างแทบไม่มีผิดเพี้ยน อาทิเช่น ร้านขายยาแผนโบราณ ฮกอันโอสถ ที่เปิดให้บริการมากว่า 70 ปีแล้ว เจ้าของร้านคนปัจจุบันคือ คุณสุนิภา เหลืองศรีดี (เล็ก) สืบทอดตำรายาสมุนไพรไทยโบราณมาจากคุณพ่อ (นายเสี่ยง แซ่เตีย หมอยาชาวแต้จิ๋ว) ยังใช้มีดหั่นยาสมุนไพร เครื่องชั่ง และครกตำยาอันเดียวกับที่คุณพ่อใช้ คุณเล็กบอกว่าไม่ขายยาจีนแล้วเพราะ “คนทำยาจีนตายหมดแล้ว” ลูกค้าของร้านนี้ส่วนใหญ่เป็นขาประจำ สมุนไพรที่ใช้ทำยาสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ ยาไทยโบราณที่ขายดีที่สุดในร้านคือยาเบาหวาน ประกอบด้วยสมุนไพร 8 ชนิด ถ้าอยากจะจดสูตรไปก็ได้ ไม่หวง (แต่เราไม่ได้ถาม เพราะถึงถามไปก็ทำไม่เป็นอยู่ดี)

ร้านฮกอันโอสถ

เวลาสามชั่วโมงที่เราเดินเล่นถ่ายรูปในตลาดสามชุก มีไม่พอที่จะนั่งคุยกับคนเก่าแก่ของที่นี่อย่างละเอียด แต่สามชั่วโมงก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความภาคภูมิใจใน “ความโบราณ” ของชุมชน ตลอดจนสายใยแห่งความผูกพันอันแน่นแฟ้นที่โยงใยชุมชนทั้ง 4 ซอยเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

สิ่งที่ผู้เขียนค้นพบในตลาดสามชุกคือ เสน่ห์ของตลาดแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ความโบราณของบ้านเรือน อาหาร หรือข้าวของ หากอยู่ที่ความรักและความภาคภูมิใจของคนสามชุกในตัวเตี่ย อาม้า อากง หรือบรรพบุรุษคนอื่นๆ ของพวกเขา ที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยความอุตสาหะจนทำให้ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรือง ลูกหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นตัวเอง

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นโคลงกลอนสดุดีบุญคุณของบิดามารดา แปะติดข้างฝาหรือตั้งโชว์ในหลายๆ บ้าน

มีวิธีอีกใดเล่าที่ลูกหลานจะแสดงความรักและความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ ที่ดีไปกว่าการอนุรักษ์ส่วนเสี้ยวจากชีวิตของพวกเขา ให้ยังคงเป็น “อดีตที่มีชีวิต” อยู่ในปัจจุบัน?

ผู้เขียนคิดว่า เหตุผลที่พี่เจ้าของกล้องโบราณไม่ยอมขายกล้อง หรือเหตุผลที่แปะซิม เจ้าของโรงแรมอุดมโชคคนปัจจุบันไม่ยอมรื้อห้องพักเก่าๆ บนชั้นสอง ก็คงไม่ต่างกันมากนักกับเหตุผลที่คนส่วนใหญ่มี “ของเก่า” ที่ไม่ยอมขายหรือโยนทิ้ง ไม่ว่ามันจะเก่าคร่ำครึขนาดไหนก็ตาม

คุณค่าของ “ของ” บางชนิด ไม่สามารถตีออกมาเป็นตัวเงินได้

คุณค่าของอดีตก็เช่นกัน

ใครเล่าจะสามารถตีราคาสิ่งที่ทำให้เราสำเหนียกว่า “รากเหง้า” ของเราอยู่หนใด?

ถ้าเราไม่สนใจรากเหง้าของตัวเอง เราจะก้าวไปในอนาคตอย่างมั่นคงได้หรือ?

คำถามที่ผู้เขียนตั้งไว้ในใจก่อนไปเยือนตลาดสามชุก ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนในแววตาของคนสามชุกทุกคนยามเอ่ยชื่อบรรพบุรุษของพวกเขา

ขอขอบคุณตลาดสามชุก “ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา” ที่เตือนใจให้ผู้เขียนตระหนักในคุณค่าของ “อดีต” อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนทำให้รู้สึกอิ่มท้องและอิ่มใจ ชนิดที่ไม่มีวันจะหาได้ในคาร์ฟูร์ แม็คโคร หรือโลตัส.