ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย? (2)

“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

ธรรมชาติสร้างนิสัย ธรรมวินัยสร้างชาติ : ภูฏานยุคก่อนสมัยใหม่

ภูฏานและประเทศเพื่อนบ้าน

บนแผนที่โลกส่วนใหญ่ ภูฏาน เป็นเพียงก้อนสีเล็กๆ ที่ไม่มีที่พอเขียนชื่อประเทศตัวเอง ต้องล้นเกินพรมแดนออกไป ภูฏานมีเนื้อที่ประมาณ 46,500 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับพื้นที่ของ 6 จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง และแพร่ รวมกัน พรมแดนทิศเหนือของภูฏานติดกับทิเบต ซึ่งตอนนี้เป็นเขตปกครองอิสระของจีน ดินแดนอินเดียห้อมล้อมอีกสามทิศที่เหลือ เนปาลอยู่เลยไปเล็กน้อยทางทิศตะวันตก

เทือกเขาหิมาลัยอันปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทั้งปีทอดตัวยาวผ่านตอนบนของภูฏานทั้งแถบ ลดหลั่นลงมาบรรจบกันเป็นหุบเขาในบริเวณตอนกลางของประเทศ แล้วค่อยๆ ลดระดับลงจนจรดที่ราบทางตอนใต้ที่ต่อเนื่องมาจากอินเดีย ทำให้ภูฏานมีภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่ยอดเขาสีขาวโพลนที่สูงกว่า 7,000 เมตรทางตอนเหนือ ไปจนถึงที่ราบลุ่มเขียวขจีสูง 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามแนวขอบประเทศทางตอนใต้

ภูมิศาสตร์ของภูฏานและเพื่อนบ้าน

ภูฏานไม่มีทางออกทะเล แต่มีแม่น้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากยอดเขาหิมาลัย ตัดผ่านประเทศตามแนวเหนือ-ใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของภาคกลางและใต้ ส่งผลให้ชาวภูฏานส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณหุบเขาตอนกลางของประเทศ (ระดับความสูง 1,100 ถึง 2,600 เมตร) และบริเวณตอนใต้ (ระดับความสูง 300 ถึง 1,600 เมตร) เทือกเขาสูงชันจากเหนือไปใต้ที่ลดหลั่นลงมาจากหิมาลัย เป็นกำแพงกั้นระหว่างหุบเขาตอนกลางต่างๆ ตัดขาดชุมชนออกจากกัน ทิ้งให้หมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถไปมาหาสู่ระหว่างกันได้สะดวก หรือแม้แต่จะระแคะระคายว่ามีมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกันปักหลักตั้งรกรากอยู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาที่เห็นอยู่เจนตา

เป็นสาเหตุหลักที่ภูฏานมีภาษาท้องถิ่นถึง 20 กว่าภาษา และทั้งประเทศเพิ่งถูก “รวบรวม” เข้าอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองคนเดียวกันเมื่อไม่ถึง 500 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นประเทศเล็กนิดเดียวก็ตาม


“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

ธรรมชาติสร้างนิสัย ธรรมวินัยสร้างชาติ : ภูฏานยุคก่อนสมัยใหม่

ภูฏานและประเทศเพื่อนบ้าน

บนแผนที่โลกส่วนใหญ่ ภูฏาน เป็นเพียงก้อนสีเล็กๆ ที่ไม่มีที่พอเขียนชื่อประเทศตัวเอง ต้องล้นเกินพรมแดนออกไป ภูฏานมีเนื้อที่ประมาณ 46,500 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับพื้นที่ของ 6 จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง และแพร่ รวมกัน พรมแดนทิศเหนือของภูฏานติดกับทิเบต ซึ่งตอนนี้เป็นเขตปกครองอิสระของจีน ดินแดนอินเดียห้อมล้อมอีกสามทิศที่เหลือ เนปาลอยู่เลยไปเล็กน้อยทางทิศตะวันตก

เทือกเขาหิมาลัยอันปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทั้งปีทอดตัวยาวผ่านตอนบนของภูฏานทั้งแถบ ลดหลั่นลงมาบรรจบกันเป็นหุบเขาในบริเวณตอนกลางของประเทศ แล้วค่อยๆ ลดระดับลงจนจรดที่ราบทางตอนใต้ที่ต่อเนื่องมาจากอินเดีย ทำให้ภูฏานมีภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่ยอดเขาสีขาวโพลนที่สูงกว่า 7,000 เมตรทางตอนเหนือ ไปจนถึงที่ราบลุ่มเขียวขจีสูง 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามแนวขอบประเทศทางตอนใต้

ภูมิศาสตร์ของภูฏานและเพื่อนบ้าน

ภูฏานไม่มีทางออกทะเล แต่มีแม่น้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากยอดเขาหิมาลัย ตัดผ่านประเทศตามแนวเหนือ-ใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของภาคกลางและใต้ ส่งผลให้ชาวภูฏานส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณหุบเขาตอนกลางของประเทศ (ระดับความสูง 1,100 ถึง 2,600 เมตร) และบริเวณตอนใต้ (ระดับความสูง 300 ถึง 1,600 เมตร) เทือกเขาสูงชันจากเหนือไปใต้ที่ลดหลั่นลงมาจากหิมาลัย เป็นกำแพงกั้นระหว่างหุบเขาตอนกลางต่างๆ ตัดขาดชุมชนออกจากกัน ทิ้งให้หมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถไปมาหาสู่ระหว่างกันได้สะดวก หรือแม้แต่จะระแคะระคายว่ามีมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกันปักหลักตั้งรกรากอยู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาที่เห็นอยู่เจนตา

เป็นสาเหตุหลักที่ภูฏานมีภาษาท้องถิ่นถึง 20 กว่าภาษา และทั้งประเทศเพิ่งถูก “รวบรวม” เข้าอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองคนเดียวกันเมื่อไม่ถึง 500 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นประเทศเล็กนิดเดียวก็ตาม

ที่ราบลุ่มทางตอนใต้ดูเผินๆ เหมือนจะเป็น “ทางเข้า” หุบเขาตอนกลางที่ง่ายกว่าเทือกเขาหิมาลัยตอนเหนือ แต่เอาเข้าจริง มีแนวภูเขาสูงกว่า 2,000 เมตรกั้นกลางระหว่างที่ราบตอนใต้กับหุบเขาตอนกลาง บนเขาเต็มไปด้วยป่าดงดิบและหุบเหวอันตราย ทำให้สมัยก่อนการเดินทางระหว่างเมืองหลวงคือ ทิมพู ที่อยู่ในหุบเขาตอนกลาง ไปยังเมืองชายแดนภูฏาน-อินเดียชื่อ บุอาร์ ดูอาร์ ระยะทาง 100 กิโลเมตรเศษๆ ต้องใช้เวลาปีนเขาบุกป่านานกว่า 5 วัน

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

ข้อจำกัดทางกายภาพข้อนี้ที่เรามองไม่เห็นง่ายๆ จากแผนที่ ทำให้บรรพบุรุษของชาวภูฏานไม่ใช่ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในที่ราบทางตอนใต้ แต่กลับกลายเป็นชาวทิเบต เพื่อนบ้านทางทิศเหนือที่เดินทางอย่างทุลักทุเลผ่านช่องเขาธรรมชาติของหิมาลัย ที่หลายช่อง “เปิด” แม้ในฤดูหนาว เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในภูฏานจวบจนปัจจุบัน

แต่ถึงแม้จะไม่มีกำแพงภูเขากั้นแบ่งภาคกลางกับใต้ ชาวทิเบตก็อาจดั้นด้นมาถึงภูฏานก่อนชาวอินเดียอยู่ดี

ลองนึกดู – ระหว่างเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว กับอีกกลุ่มที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาแสนเย็นยะเยือกที่ต้องปีนป่ายหาพืชและสัตว์น้อยชนิดกินเพื่อยังชีพ ใครจะมีแรงจูงใจมากกว่ากันในการออกเดินทางแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าสำหรับลูกหลาน?

การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมักผลักดันให้มนุษย์ทำสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของเราเสมอ

……

ภูเขาสูงชันที่กินเนื้อที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ภูฏานมีประชากรบางตา ปัจจุบันทั้งประเทศมีประชากรเพียง 700,000 คน คิดเป็น 45 คนต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนภูเขาที่ระดับความสูงระหว่าง 3,500 ถึง 5,000 เมตร ยังชีพด้วยข้าวบาร์เลย์และพืชหัวที่ปลูกในที่นาแบบขั้นบันได (พืชหัวหลักของภูฏานคือมันฝรั่ง ชนิดหัวใหญ่ หวานมันอร่อยที่สุดในทัศนะผู้เขียนตั้งแต่เคยกินมันฝรั่งมา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ชอบ เพราะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ทำให้อาหารภูฏานไม่มีความหลากหลายเท่าไรนัก อาหารประจำชาติคือมันฝรั่งผัดพริกใส่เนยแข็งเรียกว่า เอมา ดาซี่ นอกนั้นก็เป็นแกงใส่กะทิแบบอินเดียที่คนไทยคุ้นเคยดี)

นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับที่สูง จะเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้เพราะความสูง ที่ระดับความสูงประมาณ 3,000 เมตร แต่ร่างกายจะสามารถปรับตัวให้คุ้นชินได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ที่ระดับความสูงเกิน 5,000 เมตร บริเวณภาคเหนือสุดของประเทศ ไม่มีต้นไม้สีเขียวให้เห็นอีกต่อไป ภูเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี

ความแตกต่างสุดขั้วของภูมิประเทศ ทำให้ภูฏานมีทิวทัศน์สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจตลอดสองข้างทางหลวงแผ่นดิน ที่เชื่อมหุบเขาหลักตอนกลางของประเทศทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากตะวันตกไปจรดตะวันออก ลัดเลาะไปตามขอบภูเขานับไม่ถ้วน

วิวหิมาลัยจากทางหลวง ความสูง 1,500 เมตร
วิวหิมาลัยจากทางหลวง ความสูง 1,500 เมตร

ถ้าวันไหนอากาศปลอดโปร่ง สีขาวโพลนของภูเขาภาคเหนือที่เห็นอยู่ไกลลิบ จะตัดกับสีเขียวชอุ่มของภูเขาภาคกลาง เย้ายวนให้นักท่องเที่ยวรีบหาที่หยุดรถถ่ายรูปก่อนที่ภูเขาจะหายเข้ากลีบเมฆ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถนนเลียบภูเขามีเพียงเลนเดียวเท่านั้น ไม่มีจุดพักรถหรือ “rest stop” เป็นระยะๆ เหมือนอย่างในอเมริกา แถมเป็นถนนที่หักโค้งแคบเฉลี่ยทุกๆ 6 วินาที ทำให้คนขับรถต้องบีบแตรตลอดเวลาเพื่อเตือนรถสวนที่มองไม่เห็นเพราะอยู่อีกข้างของหน้าผา รินเชน เพื่อนชาวภูฏานเล่าให้ฟังว่า เขาชอบขับรถตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน เพราะตอนกลางคืนปริมาณรถสวนน้อยกว่าตอนกลางวัน ทำให้ต้องระวังจะตกเขาอย่างเดียว ไม่ต้องระวังรถสวน แต่คำอธิบายนี้ทำให้ผู้เขียนนึกค้านอยู่ในใจ เพราะถนนเลียบเขาในภูฏานไม่มีเสาไฟฟ้าส่องทางยามดึก มีแต่สีขาวหม่นๆ ของชอล์กที่รัฐบาลทาไว้บนหน้าผาตามทาง เพื่อป้องกันไม่ให้รถชนภูเขา และสีขาวของเกาะปูนกั้นอันเตี้ยๆ ตามหัวโค้ง ทำให้น่าคิดว่าขับรถข้ามเขาในประเทศนี้ไม่ว่าจะเวลาไหนก็อันตรายทั้งนั้น แต่หลังจากได้เห็นรินเชนยืนตบมือหัวเราะชอบใจอยู่บนสปีดโบ้ทที่กำลังโต้คลื่นโคลงเคลงอยู่ในอ่าวไทย ท่ามกลางสีหน้าตื่นตระหนกของชาวไทยหลายคน ทั้งๆ ที่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เพื่อนได้นั่งเรือเที่ยวทะเล ผู้เขียนก็ถึงบางอ้อว่า ชะรอยคำว่า “อันตราย” ของคนภูฏานกับ “อันตราย” ของคนไทยนั้น คงต้องแตกต่างกันลิบลับเป็นแน่)

ถ้าวันไหนโชคดีเป็นพิเศษ ก็อาจได้เห็นยอดเขาหิมาลัยที่อยู่ในเขตทิเบต เมื่อรถวิ่งขึ้นที่สูงกว่า 3,000 เมตร มั่นใจได้ว่าภูเขาอยู่ในทิเบตถ้าเห็นเทือกเขาสีขาวโพลนหลายๆ เทือกเป็นแนวซ้อนกัน แสดงว่ายอดเขาที่ไกลสุดนั้นอยู่เลยภูฏานไปอีก

วิวหิมาลัยจากทางหลวง ความสูง 3,000 เมตร
วิวหิมาลัยจากทางหลวง ความสูง 3,000 เมตร ลองสังเกต
สีของท้องฟ้า ต้องอยู่ที่สูงเกิน 2,000 เมตรขึ้นไปจึงจะเห็น
ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้มขนาดนี้ได้

“โชค” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการชมทัศนียภาพภูฏาน เพราะความแตกต่างอย่างสุดขั้วของภูมิประเทศที่อัดแน่นอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ทำให้ภูฏานมีภูมิอากาศที่แปรปรวน และแตกต่างกันสุดขั้วตามไปด้วย

ท้องฟ้าที่ดูปลอดโปร่งเมื่อสิบนาทีก่อน อาจเทมรสุมแบบไม่ลืมหูลืมตาภายในชั่วพริบตา และเปลี่ยนจากแดดจ้าเป็นลมหนาวได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง

ครึ่งตะวันออกของภูฏานอุ่นกว่าครึ่งตะวันตก ที่ถูกกระหน่ำด้วยพายุหิมะในฤดูหนาว ฤดูที่อากาศดีที่สุดของปีคือฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน เพราะอุณหภูมิกำลังสบายๆ ประมาณ 16-18 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวัน แม้ว่ากลางคืนดึกๆ อุณหภูมิจะแกว่งไปติดลบ พอเข้าต้นเดือนมิถุนายนลมจะเริ่มแรง พัดฝุ่นจากพื้นดินตลบขึ้นมาเป็นก้อน หลังคาบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นสังกะสีจะถูกลมพัดปลิวไปก็ตอนนี้ ชาวภูฏานไม่ตอกหลังคาบ้านติดกับตัวเรือน แต่จะใช้หินก้อนใหญ่ๆ ทับหลังคาไว้ เพื่อดูดความร้อนจากหินช่วงฤดูหนาว และยกหินออกเปิดหลังคาบ้านรับอากาศช่วงฤดูร้อน

บ้านคนภูฏาน
บ้านคนภูฏาน สังเกตอิฐบนหลังคา

มรสุมจะเริ่มถาโถมเข้าสู่บ้านเรือนราวๆ กลางเดือนมิถุนายน เป็นสัญญาณบอกว่าฤดูฝนมาถึงแล้ว ฝนจะตกหนักเรื่อยไปจนถึงเดือนกันยายน ตกหนักที่สุดในภาคใต้ของประเทศที่อยู่ใต้แนวกำแพงภูเขา เพราะต้องรับเอามรสุมจากทางใต้ที่ก่อตัวในอ่าวเบงกอลของอินเดีย พัดผ่านที่ราบลุ่มมาทางเหนือไปเต็มๆ ในฤดูนี้แทบไม่มีทางมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยเลย เพราะทั้งประเทศมีเมฆฝนปกคลุมตลอดทั้งวัน ฝนตกหนักจนทัวร์ไม่ทำเพราะการเดินทางอันตรายและมองเห็นทิวทัศน์แต่เพียงรางๆ เท่านั้น

เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน มรสุมทั้งหมดก็จะหายไป ท้องฟ้าเปิดรับฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็นสบายคล้ายกับตอนฤดูใบไม้ผลิ ติดลบตอนกลางคืนแต่อบอุ่นจากแสงแดดจ้าตอนกลางวัน ใครอยากล่องแก่งในภูฏานต้องมาฤดูนี้ เพราะน้ำหลากที่สุด อากาศจะดีเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เวลาที่ฤดูหนาวอันหฤโหดจะเวียนมาเยือนอีกครั้ง ขับไล่นักท่องเที่ยวทั้งหมดออกจากประเทศ รอเวลาที่ฤดูใบไม้ผลิรอบใหม่จะเวียนมาถึง

มรสุมและพายุหิมะที่กระหน่ำช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน ทำให้ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเป็นเพียงสองช่วงหกเดือนในรอบปีที่นักท่องเที่ยวไปเยือนภูฏานได้

……

ธรรมชาติอันสวยงามแต่โหดเหี้ยมไร้ความปรานี บังคับให้ชาวภูฏานส่วนใหญ่แม้ในปัจจุบันดำรงชีวิตอยู่อย่างล่อแหลมเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย หากเดินเขาหรือขับรถพลาดนิดเดียวอาจหมายถึงการดิ่งลงเหวสู่ปรโลก หากโชคร้ายอาจถูกเสือ หมี หรือสัตว์ป่าอันตรายชนิดอื่นๆ ขย้ำตายระหว่างทาง

ภูมิประเทศอันตัดกันสุดขั้ว แปลว่ามรสุมและพายุหิมะอาจก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไร้สัญญาณบ่งบอก เวลาปีนเขา ชาวภูฏานทุกคนถูกสอนตั้งแต่เล็กให้ระวังหมอกภูเขา (“mist” ในภาษาอังกฤษ) ที่สามารถลอยมาปกคลุมเขาทั้งลูกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มองไม่เห็นทาง ทำได้อย่างเดียวคืออยู่เฉยๆ รอให้หมอกจาง มิฉะนั้นอาจหลงทางหรือตกเขาตายได้ เพราะหมอกนี้อยู่ได้หลายชั่วโมงหรือเป็นวันๆ ไม่มีใครคาดเดาได้ ทำให้ชาวภูฏานไม่ขนของพะรุงพะรัง “ค่ำไหนนอนนั่น” และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลา

…จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในปัจจุบันยังมีชาวภูฏานอาศัยอยู่บนที่สูงกว่า 5,000 เมตร ทางตอนเหนือของประเทศ ใช้ชีวิตกึ่งร่อนเร่ด้วยการเลี้ยงจามรีเอาขน เนื้อ นม และเนยแข็ง

…ไม่น่าแปลกใจ ที่พุทธศาสนิกชาวภูฏานผู้เคร่งครัด จะปีนเขาหลายกิโลเป็นกิจวัตรไปปลีกวิเวกเจริญภาวนาอยู่ในถ้ำหรือศาลาเล็กๆ ที่อยู่บนชะง่อนเขาสูงกว่า 2,000 เมตร

หนูน้อยชื่อพีมา ในชุดประจำชาติ
หนูน้อยชื่อพีมาในชุดประจำชาติ แต่งตัวหล่อเหลามาเที่ยว
งานเมืองพาโรกับคุณพ่อคุณแม่

และไม่น่าแปลกใจ ที่พื้นเพชาวภูฏานมีนิสัยเด็ดเดี่ยวไม่กลัวใคร รักพวกพ้องแต่ก็รักสันโดษ ขยันทำงานแต่ใจเย็น พูดน้อยแต่ยิ้มง่าย และเหนือสิ่งอื่นใด พึ่งตนเองได้และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง

วงสนทนาในหมู่ชาวภูฏานจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย ถึงวีรกรรมของชาวบ้านที่เผชิญกับเรื่องผจญภัยต่างๆ โดยไม่คาดฝัน (คงเป็น “วีรกรรม” เฉพาะสำหรับพวกเรานักท่องเที่ยวคนเมืองผู้เดียงสาต่อโลก แต่เป็น “เรื่องสนุก” ธรรมดาๆ สำหรับคนภูฏาน)

เพื่อนชาวภูฏานเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนเราไปเยือนไม่นานนักว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งพาฝูงวัวไปกินหญ้า เห็นเงาตะคุ่มๆ ในหญ้า นึกฉุนว่าวัวตัวนี้หลบไปนอนเลยหยิบหินขึ้นมาขว้างใส่ ปรากฎว่าเงานั้นไม่ใช่วัวแต่เป็นหมีตัวใหญ่ ตื่นมาด้วยความโกรธ ไล่ตะปบคนขว้างหินจนหนังศีรษะกับกะโหลกหลุดออกมาซีกหนึ่ง เผยให้เห็นเนื้อสมองแดงๆ ข้างใน ชายคนนั้นสู้กับหมีด้วยมือเปล่าต่อ จนหมีวิ่งหนีไป แล้วเก็บซีกกะโหลกตัวเองขึ้นมา เดินกลับบ้านไปซดเหล้าหนึ่งถ้วยก่อน แล้วค่อยเดินหลายกิโลไปโรงพยาบาล ประคองซีกกะโหลกตัวเองไว้ในมือ พอถึงโรงพยาบาลก็ไปนั่งต่อคิวรอหมออย่างใจเย็น!

จวบจนปัจจุบัน ผู้ชายชาวภูฏานก็ยังพกของสองสิ่งติดตัวตลอดเวลาไม่ต่างจากที่บรรพบุรุษของเขาเคยทำ: ถ้วยเหล้า และมีด

อย่างแรกไว้ดื่มเวลาไปแวะเยือนบ้านคนอื่น (ภูฏานมีประเพณี “ใครมาเยือนถึงเรือนต้องต้อนรับ” เหมือนกับคนไทย)

อย่างที่สองไว้ป้องกันตัวเวลาเจอศัตรู หรือสัตว์ป่าระหว่างทาง

……

ประวัติศาสตร์ที่บันทึกได้ของภูฏานเริ่มขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีที่แล้ว เมื่อพระอรหันต์ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์องค์หนึ่งชื่อ ครูรินโปเช หรือชื่อบาลีว่า ปทุมสมภพ (Padmasambhava) ขี่เสือบินมาจากทิเบต ร่อนลงบนชะง่อนเขาสูงในหุบเขาพาโร ซึ่งชะง่อนเขานี้ต่อมาเรียกว่า “รังเสือ” หรือ ตักซัง ในภาษาท้องถิ่น เมื่อปี พ.ศ. 1290 และเริ่มเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน (หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ตันตระ) ให้กับชาวภูฏานซึ่งสมัยก่อนนับถือเพียงภูตผีและเทวดาในความเชื่อท้องถิ่น

ครูรินโปเช หรือพระปทุมสมภพ
ครูรินโปเช หรือพระปทุมสมภพ พระที่ชาวภูฏานเคารพ
ที่สุด นี่เป็นผ้าถักผืนใหญ่ เรียกว่า “ตังก้า” ตังก้าผืนนี้เก่า
แก่กว่า 300 ปี คลี่ออกมาให้คนชมปีละครั้งเท่านั้นใน
เทศกาลเมืองพาโร คลี่ออกตั้งแต่เช้ามืด ต้องคลี่เก็บก่อน
ตังก้าจะโดนแสงอาทิตย์ยามสาย เชื่อกันว่าใครที่ปฏิบัติ
ธรรมมาจนแก่กล้า จะสามารถบรรลุนิพพานได้ เมื่อเพ่ง
สมาธิมองตังก้าผืนนี้

ครูรินโปเชประสบความสำเร็จในการเผยแพร่พระธรรมในภูฏาน จนทำให้ชาวภูฏานขนานนามว่าเป็น “พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง” หลังจากนั้นมีพระทิเบตอีกหลายรูปที่ธุดงค์มาสานต่อเจตนารมณ์ ทำให้ศาสนาพุทธนิกายนี้ได้รับความเลื่อมใสจากประชาชนทั้งประเทศภายในพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งนอกจากสอนศาสนาแล้ว พระจากทิเบตเหล่านี้ยังเป็นผู้นำทางการเมืองและการทหารอีกด้วย เพราะทิเบตยกทัพมาตีภูฏานอยู่เนืองๆ และในภูฏานเองก็เกิดการต่อสู้ระหว่างนิกายย่อยต่างๆ ในพุทธวัชรยาน เพื่อช่วงชิงอิทธิพลระหว่างกัน (วัชรยานจากทิเบตแตกสาขาออกเป็นนิกายย่อยสี่โรงเรียน คือ คายุ นิงมา ศักยา และ เกลัก ในภูฏานคายุและนิงมามีอิทธิพลสูงสุด พระทะไลลามะองค์ปัจจุบันเป็นพระในนิกายเกลัก)

ในที่สุดราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ภูฏานทั้งประเทศก็ถูกรวมให้เป็นปึกแผ่นภายใต้พระลามะนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ชื่อ ชับดรุง นกาวัง นัมกัล ผู้เป็นพระในสายคายุชื่อ ดรุกปา (คำว่า “ดรุก” แปลว่า “มังกร”) ชับดรุงผู้นี้รวบรวมกฎหมายให้เป็นปึกแผ่น ยึดอำนาจจากพระในนิกายอื่นๆ แต่ยอมให้คู่แข่งสำคัญของคายุ คือนิกายนิงมา เผยแพร่ศาสนาในภูฏานต่อไปได้ในภาคกลางและตะวันออกของประเทศ ปัจจุบันพระในนิกายนิงมานี้มีจำนวนประมาณหนึ่งในสามของพระทั้งหมดในภูฏาน อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากชาวบ้าน ที่เหลือเป็นพระในสายดรุกปา คายุ ของชับดรุง ที่สถาปนาขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ พระเหล่านี้เลี้ยงดูโดยภาครัฐ

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชับดรุงที่ยั่งยืนมาจวบจนปัจจุบัน คือการใช้ระบบการปกครองแบบคู่ขนาน โดยแบ่งอำนาจการปกครองสูงสุดระหว่างตำแหน่งผู้นำทางธรรม (พระสังฆราชสูงสุด) เรียกว่า เจอ เคนโป และผู้นำทางโลกย์ เรียกว่า เดซี ดรุก แบ่งประเทศออกเป็นมณฑล เรียกว่า ซ้องคัก แต่ละมณฑลมีผู้นำทั้งทางโลกย์ (เจ้าเมือง เรียกว่า เพนล็อป) และทางธรรม ปกครองจากปราสาทขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ซ้อง ซ้องเป็นทั้งป้อมปราการที่ป้องกันมณฑลจากการรุกรานของศัตรู เป็นศูนย์กลางการปกครอง สถานที่ราชการ และเป็นที่ตั้งวัดประจำมณฑลและกุฏิพระ การใช้ซ้องเป็นสถานที่ราชการและประกอบพิธีทางศาสนานั้น กระทำสืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน

ซ้องที่สำคัญในภูฏาน

ชับดรุงปกครองประเทศจากซ้องประจำมณฑลพูนาคา ซึ่งเป็นหนึ่งในซ้องที่สวยงามที่สุดของประเทศ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ปัจจุบันศพของชับดรุงถูกเก็บรักษาไว้ในห้องศักดิ์สิทธิ์ด้านในสุดของซ้อง ไม่อนุญาตให้คนธรรมดาหรือแม้แต่พระมหากษัตริย์เข้าไปเยือน

ซ้องที่เมืองพูนาคา

เห็นได้ว่าพระทิเบตไม่เพียงแต่นำพระธรรมมาเผยแพร่เท่านั้น แต่ยังวางรากฐานการปกครองและรวบรวมประเทศเป็นปึกแผ่น จับอาวุธต่อสู้เพื่อสันติสุขของประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนภูฏานส่วนใหญ่นับถือและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันตักซัง จุดที่ครูรินโปเชนำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่ เป็นที่ตั้งของวัดอันสวยงามเป็นที่เคารพบูชาที่สุดของคนภูฏาน ตั้งอยู่บนชะง่อนเขาสูงกว่า 3,000 เมตร มีพระสงฆ์อาศัยอยู่สืบเนื่องมากว่าพันปี

ตักซัง ถ่ายจากร้านกาแฟระหว่างทาง ตักซังมองจากจุดชมวิวที่สอง รูปนี้เื่พื่อนชาวภูฏานถ่ายให้

ชัยชนะอันเด็ดขาดของนิกายดรุกปา คายุของชับดรุง ทำให้ปัจจุบันคนภูฏานเรียกประเทศตัวเองว่า ดรุก ยุล (Druk Yul) ซึ่งแปลว่า ดินแดนแห่งมังกรคำราม ที่โลดแล่นอยู่บนธงชาติภูฏานบนพื้นเหลืองตัดสีแสด สีเหลืองแสดงอำนาจของพระมหากษัตริย์ และสีแสดเหมือนจีวรพระ เป็นสัญลักษณ์ของวัดในนิกายดรุกปา

ธงชาติภูฏาน

หลังสิ้นชับดรุง ภูฏานก็เข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองอันร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อเจ้าเมืองของมณฑลต่างๆ แย่งชิงอำนาจระหว่างกัน สงครามนี้กินเวลากว่าสองร้อยปี จนกระทั่งเจ้าเมืองของมณฑล ตรงซา ชื่อ อูเก็น วังชุก กำชัยชนะเด็ดขาดเหนือเจ้าเมืองอื่นๆ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน ในปี พ.ศ. 2450

หลังจากนั้นภูฏานก็อยู่อย่างสงบสุขเรื่อยมา จนกระทั่งรัฐบาลจีนบุกยึดประเทศทิเบตในปี พ.ศ. 2502 เหตุการณ์ก็บังคับให้ประเทศเล็กๆ ตัดสินใจก้าวขึ้นบนเวทีโลกเป็นครั้งแรก…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)